เนื้อหาวันที่ : 2010-10-05 16:37:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 25394 views

การออกแบบระบบน้ำหมุนเวียน (Reclaim Water)

น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่ต้องมีการบริหารและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคและบริโภค ดังนั้นการบริหารทรัพยากรน้ำต้องมีการวางแผนในระยะสั้นและระยะยาว ที่ต้องการความร่วมมือและความตั้งใจจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการบริหารทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ขวัญชัย กุลสันติธำรงค์
KC Engineering Consultant
kwanchai2002@hotmail.com

.

.

น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่ต้องมีการบริหารและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคและบริโภค ดังนั้นการบริหารทรัพยากรน้ำต้องมีการวางแผนในระยะสั้นและระยะยาว

.

เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ การวางแผนชลประทานทั้งระบบ และการรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องการความร่วมมือและความตั้งใจจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการบริหารทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

.

ระบบน้ำหมุนเวียน (Reclaim Water) เป็นระบบนำน้ำที่ใช้แล้วนำมาบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า ซึ่งใช้งานอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ในบทความฉบับนี้ต้องการนำเสนอถึงการออกแบบระบบน้ำหมุนเวียนสำหรับใช้ในอาคาร ขอเชิญท่านผู้อ่านติดตามในรายละเอียดที่น่าสนใจได้เลยครับ 

.
แหล่งกำเนิดของน้ำหมุนเวียนและการใช้งาน

แหล่งกำเนิดของน้ำหมุนเวียน คือ น้ำที่ใช้แล้ว (Grey Water) และน้ำฝน (Rain Water) โดยน้ำที่ใช้แล้วที่นำกลับมาใช้ใหม่ ได้แก่ น้ำจากอ่างล้างมือ (Wash Basin) น้ำจากอ่างอาบน้ำหรือฝักบัว โดยไม่รวมน้ำใช้แล้วจากเครื่องล้างจาน น้ำชักโครก หรือน้ำจากการซักเสื้อผ้า ซึ่งน้ำใช้แล้วประเภทหลังนี้ไม่เหมาะที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากอาจจะมีสารปนเปื้อน สารเคมี ไขมัน หรือเศษอาหาร เป็นต้น

.

การนำน้ำหมุนเวียนกลับมาใช้งานใหม่จะนำมาใช้เป็นน้ำชักโครก (Toilet Flushing) น้ำรดน้ำต้นไม้ (Garden Watering) น้ำล้างรถ (Car Washing) เป็นต้น ไม่แนะนำให้นำน้ำหมุนเวียนมาผลิตเป็นน้ำดื่ม หรือเป็นน้ำสำหรับรดไม้ผลหรือพืชผัก

.

ตารางที่ 1 สรุปแหล่งน้ำหมุนเวียนจากน้ำใช้แล้ว (Grey Water) และน้ำฝน (Rain Water) และการใช้งาน

.
ระบบน้ำหมุนเวียน (Reclaimed Water System)

ระบบน้ำหมุนเวียนประกอบด้วยถังเก็บน้ำหมุนเวียนสำหรับกักเก็บน้ำใช้แล้วหรือน้ำฝนไว้ที่ชั้นล่างของอาคาร พร้อมเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากถังเก็บน้ำหมุนเวียนไปยังจุดจ่ายน้ำ (Outlet) โดยตรงหรือสูบน้ำไปยังถังพักน้ำที่ชั้นบนแล้วปล่อยน้ำไปยังจุดจ่ายน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง (Gravity Supply)

.

รูปที่ 1 แสดงไดอะแกรมของระบบน้ำหมุนเวียนจาก (ก) น้ำฝน (ข) น้ำที่ใช้แล้ว (Grey Water) โดยเป็นระบบการสูบน้ำโดยตรง (Direct Fed Reclamation System) จากถังเก็บน้ำหมุนเวียนที่ชั้นล่างไปยังจุดจ่ายน้ำสำหรับเป็นน้ำชักโครก 

.

รูปที่ 1 Direct Fed Reclamation System (ก) น้ำฝน (Rain Water) (ข) น้ำที่ใช้งานแล้ว (Grey Water)

.

รูปที่ 2 แสดงไดอะแกรมของน้ำหมุนเวียนจาก (ก) น้ำฝน (ข) น้ำที่ใช้งานแล้ว (Grey Water) โดยการสูบน้ำจากถังเก็บน้ำหมุนเวียนที่ชั้นล่างไปยังถังพักน้ำที่ชั้นบน (High Level Storage Tank) แล้วจ่ายเป็นน้ำชักโครกไปยังจุดจ่ายน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง เรียกว่าเป็นระบบ Indirect Fed Reclamation System

.

รูปที่ 2 Indirect Fed Reclamation System (ก) น้ำฝน (Rain Water) (ข) น้ำที่ใช้งานแล้ว (Grey Water)

.

ระบบ Direct Fed System จะสร้างแรงดันที่จุดจ่ายน้ำสูงกว่าระบบ Indirect Fed or Gravity Fed System ซึ่งอาจจะมีความจำเป็นสำหรับการใช้งานบางประเภทเช่น Washing Machine หรือ Pressure Hose อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติแล้วควรใช้งานระบบน้ำหมุนเวียนที่แรงดันน้ำต่ำกว่าแรงดันของระบบน้ำดี (Cold Water System) เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากระบบน้ำหมุนเวียนไปยังระบบน้ำดีจากอุบัติเหตุจากการต่อท่อข้ามระบบกัน (Cross Connection)

.
ความต้องการทั่วไปของระบบน้ำหมุนเวียน

1. ท่อน้ำสำหรับใช้กับน้ำใช้แล้วควรเป็นท่อที่ทนต่อการผุกร่อนหรือการเปลี่ยนแปลงทางเคมี เช่นท่อ HDPE, PVC, ABS  

.

2. การรองน้ำฝนปกติจะรองจากรางน้ำ (Gutter) ที่หลังหลังคาและไหลผ่านท่อน้ำไปยังถังเก็บน้ำ เพื่อให้น้ำฝนสะอาดและมีคุณภาพดีขึ้น จึงต้องติดตั้งระบบกรองน้ำเพื่อคัดแยกวัสดุปนเปื้อนที่ไหลมากับน้ำฝนก่อนผ่านเข้าถังเก็บน้ำ โดยทั่วไปแล้วระบบกรองน้ำที่ดีจะช่วยลดปริมาณแบคทีเรียในน้ำรวมทั้งทำให้ไม่ต้องใช้กระบวนการฆ่าเชื้อที่มีค่าใช้จ่ายสูงในการเพิ่มคุณภาพน้ำ

.

3. การทำเครื่องหมายบนท่อ (Labeling) ทั้งท่อน้ำฝนและท่อน้ำใช้แล้วมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับท่อน้ำใช้แล้วต้องมีการทำเครื่องหมายอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการต่อท่อข้ามระบบระหว่างท่อน้ำดีและท่อน้ำใช้แล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดการปนเปื้อนขึ้นได้

.

4. สำหรับน้ำที่ใช้แล้ว ควรมีถังเก็บน้ำให้มีขนาดเล็กที่สุดเพื่อใช้น้ำในถังให้หมดได้เร็ว เพื่อไม่ให้มีเวลาสำหรับแบคทีเรียในการแบ่งตัว ขนาดความจุที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำหมุนเวียนและวิธีการบำบัด ในกรณีน้ำใช้แล้วที่ผ่านการบำบัดแล้ว

.

โดยทั่วไปมีขนาดความจุไม่ควรเกิน 3 วัน เนื่องจากน้ำใช้แล้วมีอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอกว่าน้ำฝน เนื่องจากน้ำฝนมีวัสดุปนเปื้อนน้อยกว่าน้ำใช้แล้ว จึงสามารถเก็บน้ำฝนไว้ได้นานกว่า อาจจะเก็บน้ำฝนได้นานอย่างน้อย 20 วันหรือมากกว่าโดยขึ้นกับความสะอาดของน้ำฝนและวิธีการบำบัด ทำให้เก็บน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงที่ฝนไม่ตก

.
อุปกรณ์ในระบบน้ำหมุนเวียน (System Components of Reclaim Water)
1. ถังเก็บน้ำด้านล่าง (Low Level Tanks)

รูปที่ 3 แสดงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องติดตั้งที่ถังเก็บน้ำด้านล่างโดยแบ่งเป็น (ก) ถังเก็บน้ำใช้แล้ว และ (ข) ถังเก็บน้ำฝน

.
จากรูปที่ 3 มีรายละเอียดดังนี้

1.  ถังเก็บน้ำด้านล่างอาจจะติดตั้งที่ระดับดินหรือใต้ดินแต่ต้องสามารถเข้าถึงได้เพื่อทำความสะอาดภายในถังและซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำ ถังเก็บน้ำต้องมีการระบายอากาศเพียงพอเพื่อป้องกันการสะสมของก๊าซภายในถัง ฝาปิดถังเก็บน้ำต้องมีความแข็งแรงและมั่นคงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ 

.

ถังเก็บน้ำควรยกสูงขึ้นจากระดับดินเล็กน้อยเพื่อป้องกันเศษดินหรือวัชพืชหลุดเข้าไปในถังเก็บน้ำ โดยส่วนใหญ่ถังเก็บน้ำควรสร้างด้วย Glass Reinforced Plastic หรือ High Density Polyethylene สำหรับถังเก็บน้ำฝนต้องมืดสนิทเพื่อป้องกันไม่ให้ตะไคร่น้ำเจริญเติบโตอยู่ภายใน 

.

2. เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำนิ่งและเกิดกลิ่นเหม็นภายในถังโดยไม่ต้องมีการฆ่าเชื้อจึงจำเป็นต้องมีการเติมอากาศให้น้ำภายในถัง วิธีการหนึ่งที่จะทำได้โดยการเติมน้ำฝนเข้าถังที่ระดับต่ำ วิธีนี้จะทำให้เกิดฟองอากาศภายในถังซึ่งก็เป็นการเติมอากาศให้กับน้ำนั่นเอง นอกจากนี้ปลายท่อต้องหักขึ้น เพื่อไม่ทำให้ตะกอนที่ก้นถังฟุ้งกระจายขึ้น 

.

3. ติดตั้งจุดเติมน้ำจากการประปา โดยปลายท่อของน้ำจากการประปาจะอยู่เหนือจุดรับน้ำโดยมีช่องว่าง (Air Gap) ทำให้น้ำไหลลงไปในกรวยรับน้ำได้โดยสะดวกและไม่มีโอกาสที่น้ำใช้แล้วจะสัมผัสกับปลายท่อ

.

4. ลูกลอย (Float Switch) ติดตั้งภายในถังซึ่งใช้เปิดวาล์วเมนน้ำเข้าถังเมื่อน้ำในถังอยู่ที่ระดับต่ำ และสั่งปิดวาล์วเมนน้ำเมื่อน้ำในถังสูงขึ้นมาระดับหนึ่ง เพื่อให้เติมน้ำหมุนเวียนเข้าไปในถัง

.

5. น้ำฝนต้องมีการกรองที่จุดรับน้ำ นอกจากนี้ควรมีการติดตั้งเครื่องกรองที่จุดน้ำเข้าถังเพื่อกรองเอาชิ้นส่วนขนาดใหญ่ เช่นเศษผม และสบู่ เครื่องกรองต้องอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่ายเพื่อตรวจสอบและทำความสะอาด 

.

6. ท่อน้ำล้น (Overflow Pipe) จากถังเก็บน้ำฝนต้องต่อไปที่ Surface Water Drain ส่วนท่อน้ำล้นของถังเก็บน้ำใช้แล้วต้องต่อไปที่ Foul Water Drain

.

7. เพื่อป้องกันน้ำไหลย้อนกลับเข้าไปในถังผ่านท่อน้ำทิ้ง (Drain Pipe) ต้องติดตั้ง Non–return Valve โดยการปรับ Non–return Valve กลับสู่ตำแหน่งเดิมทำได้ด้วยมือเท่านั้น (Manually Reset)

.

8. เครื่องสูบน้ำชนิด Submersible Pump ติดตั้งภายในถังเก็บน้ำ หรืออาจจะใช้เครื่องสูบน้ำชนิด Self–priming Pump ติดตั้งภายนอกถังก็ได้ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมกันมาก เครื่องสูบน้ำจะทำงานโดยรับคำสั่งจาก Pressure Switch ที่ติดตั้งที่ท่อเมน และ Low Level Switch จะสั่งหยุดปั๊มเมื่อน้ำจวนจะหมดถัง

.

9. ติดตั้ง Floating Filter ที่จุดน้ำเข้าของเครื่องสูบน้ำ ซึ่งจะกรองน้ำก่อนเข้าเครื่องสูบน้ำ ตำแหน่งของ Floating Filter จะอยู่ใต้ผิวน้ำเล็กน้อยซึ่งเป็นจุดที่น้ำสะอาดที่สุดของถังเก็บน้ำ

.

10. ติดตั้งถังตกตะกอน (Sediment Removal Tank) และถังฆ่าเชื้อ (Disinfection Tank) เพื่อบำบัดน้ำใช้แล้ว โดยกระบวนการบำบัดต้องมีคุณสมบัติที่เรียกว่า Fail Safe Mode กล่าวคือถ้าระบบบำบัดไม่ทำงาน ระบบต้องสั่งหยุดการสูบน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้สูบน้ำที่สกปรกไปทั่วทั้งอาคาร

.
2. ถังพักน้ำด้านบน (High Level Tank)

รูปที่ 4 แสดงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องติดตั้งที่ถังพักน้ำด้านบนสำหรับพักน้ำใช้แล้วและน้ำฝน

.

จากรูปที่ 4 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ถังพักน้ำควรติดตั้งในสถานที่ที่มีการระบายอากาศได้ดีและอยู่ห่างจากผู้อาศัยในอาคาร
2. Float Switch ที่ติดตั้งในถังพักน้ำด้านบนจะสั่งเติมน้ำจากการประปาถ้าน้ำในถังพักน้ำอยู่ในระดับต่ำ โดยที่ปลายท่อของน้ำจากการประปาจะอยู่เหนือจุดรับน้ำโดยมีช่องว่าง (Air Gap) ทำให้ไม่มีโอกาสที่น้ำใช้แล้วจะสัมผัสกับปลายท่อเติมน้ำของการประปา

.

3. ติดตั้งท่อระบายน้ำล้นพร้อมลูกลอยเพื่อส่งสัญญาณแจ้งเหตุขัดข้อง

4. สำหรับน้ำใช้แล้ว ต้องต่อท่อน้ำทิ้ง (Drain Pipe) ไปที่ท่อโสโครก (Soil Stack) ซึ่งในกรณีที่มีปัญหาใด ๆ เกี่ยวกับการทำงานของระบบหรือไม่มีการดึงน้ำไปใช้เป็นระยะเวลานานเกินกว่า 3 วัน ระบบจะสั่งระบายน้ำทั้งหมดทิ้งผ่านท่อน้ำทิ้งและสั่งเติมน้ำใหม่ เพื่อเป็นการป้องกันน้ำเสื่อมคุณภาพ

.
3. การบำบัดน้ำหมุนเวียน (Treatment of Reclaimed Water )

ระบบน้ำหมุนเวียนต้องการการบำรุงรักษาที่เพียงพอและต่อเนื่องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบบำรุงรักษาปกติของอาคาร ระบบน้ำหมุนเวียนที่มีเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายในปริมาณน้อย มีระยะเวลากักเก็บน้ำไม่นานนัก และผู้ใช้น้ำมีโอกาสน้อยที่จะสัมผัสถูกน้ำ เช่น ใช้เป็นน้ำชักโครก ใช้เป็นน้ำในเครื่องซักผ้า เป็นต้น สามารถใช้ระบบบำบัดน้ำหมุนเวียนที่ใช้บำบัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่มีคุณภาพต่ำได้

.

สำหรับระบบน้ำหมุนเวียนที่มีเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายและผู้ใช้น้ำมีโอกาสสูงที่จะสัมผัสถูกน้ำ เช่นน้ำแรงดันสูงสำหรับล้างทำความสะอาดยานพาหนะ เป็นต้น ต้องใช้ระบบบำบัดน้ำที่ป้องกันการติดเชื้อที่มีคุณภาพสูง
น้ำที่ผ่านการใช้งานแล้ว

.

เช่น น้ำอาบน้ำ เป็นน้ำที่มีโอกาสที่จะมีทำให้เกิดโรคติดต่อในคนได้ เนื่องจากอาจจะมีของเหลวจากตัวคน หรือสารปนเปื้อนที่เกิดขึ้นขณะอาบน้ำดังนั้นการน้ำที่ใช้แล้วต้องคำนึงถึงประเภทของแหล่งกำเนิดและการประยุกต์ใช้งานประกอบด้วย

.

ในกรณีของน้ำฝน ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วจะมีความปลอดภัยมากกว่าน้ำที่ใช้งานแล้วก็ตาม การบำบัดน้ำฝนก็ต้องคำนึงแหล่งน้ำฝนและการนำไปใช้งานเช่นเดียวกัน น้ำฝนที่กักเก็บได้จากพื้นที่ที่รับน้ำฝนที่สะอาดและผ่านการกรองเพื่อขจัดเศษวัสดุธรรมชาติต่าง ๆ

.

แล้วจัดได้ว่าเป็นแหล่งน้ำหมุนเวียนที่มีเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายน้อยมากและถ้านำมาใช้เป็นน้ำชักโครกหรือน้ำรดน้ำต้นไม้แล้ว การบำบัดโดยการฆ่าเชื้อก็อาจจะไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามการทำความสะอาดพื้นที่รับน้ำฝนเป็นประจำเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนเกิดการปนเปื้อนจากมูลสัตว์หรือวัชพืช

.

น้ำฝนที่นำมาใช้พ่นหรือทำให้เป็นละอองน้ำ (Spray) เช่นระบบสปริงเกอร์รดน้ำต้นไม้ หรือน้ำฉีดแรงดันสูงสำหรับล้างรถยนต์ อาจจะต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วย
น้ำหมุนเวียนที่ผ่านการบำบัดแล้วบางครั้งอาจจะเรียกกันว่า Green Water 
การบำบัดน้ำหมุนเวียนมีวิธีการต่าง ๆ ได้แก่

.

ก. การกรอง (Filtration) น้ำหมุนเวียนทั้งหมดต้องผ่านการกรองก่อนที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ เครื่องกรองน้ำสามารถติดตั้ง ณ จุดก่อนที่น้ำจะเข้าถังพักน้ำด้านล่าง (Low Level Collection Tank)

.

การติดตั้งเครื่องกรองน้ำมีข้อดีคือทำให้แยกเอาอนุภาคหรือสารอาหารของแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับน้ำออกมาได้ก่อนที่จะเข้าสู่ถังเก็บ ทำให้คุณภาพดีขึ้นและเก็บไว้ในถังเก็บน้ำได้นานขึ้น อย่างไรก็ตามการติดตั้งเครื่องกรองในตำแหน่งนี้เครื่องกรองจะทำงานหนักและต้องมีการบำรุงรักษา ตรวจสอบและทำงานเครื่องกรองมากเป็นพิเศษ อาจจะใช้ระบบทำความสะอาดเครื่องกรองอัตโนมัติ (Automatic Back Flushing) ได้เพื่อลดงานในส่วนนี้

.

ข. การฆ่าเชื้อ (Disinfection) โดยทั่วไปการฆ่าเชื้อด้วยสารเคมี (Chemical Disinfection) กับน้ำฝนอาจจะไม่เหมาะสมเนื่องจากมีความเสี่ยงที่สารเคมีอาจจะไหลล้น (Overflow) ไปยังระบบระบายน้ำ การใช้ระบบบำบัดชนิดผ่านแสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Light Treatment) กับน้ำฝนเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าโดยน้ำฝนต้องผ่านการกรองมาก่อนแล้ว

.

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ระบบบำบัดชนิดนี้กับน้ำใช้แล้ว โดยน้ำใช้แล้วต้องผ่านการกรองเอาสารแขวนลอยออกก่อน เพื่อให้น้ำใสเพียงพอที่แสงจะผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

อย่างไรก็ตามยังมีทางเลือกอื่นในการฆ่าเชื้อของน้ำใช้แล้ว โดยการเติมสารฆ่าเชื้อชนิดของเหลวหรือชนิดเม็ดลงในถังเก็บน้ำที่ชั้นล่างเพื่อฆ่าแบคทีเรีย วิธีที่แพร่หลายในขณะนี้คือการใช้สารฆ่าเชื้อชนิดที่มีคลอรีนหรือโบรมีนเป็นส่วนประกอบ สารฆ่าเชื้อส่วนใหญ่เมื่อใช้แล้วจะทำให้น้ำเปลี่ยนสีซึ่งมีข้อดีคือทำให้ผู้ใช้น้ำรู้ว่าน้ำหมุนเวียนที่ใช้ได้ผ่านการบำบัดแล้ว

.

นอกจากนี้ระบบนี้ต้องมีระบบเพื่อความปลอดภัย (Failsafe System) ในกรณีที่สารฆ่าเชื้อหมดหรือระบบขัดข้องไม่สามารถเติมสารได้ ระบบเพื่อความปลอดภัยต้องทำงานอินเตอร์ล็อคกับอุปกรณ์อื่นเพื่อป้องกันการจ่ายน้ำที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อไปใช้งาน

.
การส่งน้ำหมุนเวียนเพื่อใช้งาน (Distribution of Reclaimed Water)

น้ำใช้แล้วที่ผ่านการบำบัดแล้วอาจมีคุณสมบัติกัดกร่อน (Corrosive Properties) เนื่องจากเกลือที่ไม่ละลายที่คงอยู่ในน้ำใช้แล้วตั้งแต่ต้น หรือสารเคมีตกค้างจากการบำบัด ด้วยเหตุผลนี้ควรใช้ท่อน้ำชนิดพลาสติก เช่น Cross Linked Polyethylene (PEX) หรือ Polybutylene (PB) ถ้าต้องติดตั้งท่อน้ำเหล่านี้ภายนอกอาคาร ท่อน้ำต้องมีคุณสมบัติทนต่อรังสีอัลตราไวโอเลต

.

นอกจากนี้การออกแบบงานท่อของระบบน้ำหมุนเวียนต้องทำให้ปลายท่อสั้นที่สุด เพื่อไม่ให้มีน้ำตกค้างอยู่ในท่อเป็นเวลานาน เช่น เกินกว่า 3 วัน อาจต้องออกแบบการเดินท่อกลับไปยังระบบบำบัดด้วย สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมากก็คือ การป้องกันการต่อท่อข้ามระบบระหว่างระบบน้ำดีและระบบน้ำหมุนเวียน โดยต้องรักษาความดันน้ำของระบบน้ำหมุนเวียนให้ต่ำกว่าระบบน้ำดี เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการต่อท่อข้ามระบบกันโดยอุบัติเหตุ

.

เพื่อลดอุบัติดังกล่าวต้องมีการทำเครื่องหมายบนท่อน้ำ (Labeling) โดยใช้รหัสสีพร้อมตัวอักษรทุกระยะ 0.5–1.0 เมตรตลอดความยาวท่อ นอกจากนี้อุปกรณ์สุขภัณฑ์ที่จ่ายน้ำจากระบบน้ำหมุนเวียนต้องติดป้ายห้ามใช้ดื่ม และระบุวิธีการใช้ที่ถูกต้องเช่นใช้สำหรับชักโครก (Toilet Flushing) หรือใช้รดน้ำต้นไม้เท่านั้น เป็นต้น

.

การทำงานของระบบ (System Operation)

ก. ระบบควบคุม (Control System)

ระบบควบคุมของระบบน้ำหมุนเวียนมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงให้แก่ระบบซึ่งระบบควบคุมต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

.

- เติมสารฆ่าเชื้ออัตโนมัติ (Automatic Disinfectant Dosing) พร้อมหยุดการทำงานของระบบโดยอัตโนมัติและระบายน้ำทิ้งหากสารฆ่าเชื้อหมด
- ระบายน้ำจากถังพักน้ำระดับสูง (High Level Tank) อัตโนมัติ ถ้าไม่มีการดึงน้ำไปใช้เกิน 3 วัน

.

- หยุดทำงานของระบบโดยอัตโนมัติและระบายน้ำจากถังเก็บน้ำที่ชั้นล่างทิ้งอัตโนมัติในกรณีที่มีน้ำไหลย้อนกลับจากท่อน้ำทิ้งมาที่ถังเก็บน้ำ
- ส่งสัญญาณแจ้งเหตุ (Alarm Indication) ในกรณีปั๊มน้ำไม่ทำงาน อุปกรณ์กรองน้ำตัน หรือน้ำไหลกลับจากท่อน้ำทิ้ง

.
ข. คุณภาพน้ำ (Water Quality)

ระบบน้ำหมุนเวียนที่ติดตั้งต้องได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจได้ว่าน้ำหมุนเวียนที่ผลิตมีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับ คุณสมบัติดังกล่าวได้แก่

.

- สภาพที่เห็น (Appearance) น้ำหมุนเวียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำที่ใช้งานแล้ว (Grey Water) มักจะขุ่นเนื่องจากมีสารแขวนลอยขนาดเล็กถึงแม้จะผ่านการกรองมาแล้วก็ตาม สารเคมีบำบัดบางชนิดอาจทำให้น้ำเปลี่ยนสีหรือมีกลิ่น ดังนั้นจำเป็นต้องมีการทดสอบความใสของน้ำเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำหมุนเวียนสามารถใช้ได้

.

- แบคทีเรีย (Bacteria) ต้องมีการตรวจสอบถึงประสิทธิผลในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วต้องมีการทดสอบด้วยวิธี Total Coliform Count และวิธี Faecal Coliform Counts เชื้อคอลิฟอร์มเป็นกลุ่มของแบคทีเรียหลายชนิดที่มีอยู่ทั่วไปในดิน น้ำจากแม่น้ำและในอุจจาระ

.

การตรวจหาเชื้อคอลิฟอร์มเป็นเครื่องชี้ที่ดีถึงความสำเร็จในฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ถ้าน้ำที่ผ่านการทดสอบแล้วไม่พบเชื้อคอลิฟอร์มแสดงว่าน้ำดังกล่าวปราศจากแบคทีเรียที่เป็นอันตราย เช่น E. coli หรือ Legionella

.

- สารคลอรีนตกค้าง (Residual Chlorine) หากมีการเติมสารคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อ ต้องมีการตรวจหาระดับคลอรีนในน้ำเพื่อให้แน่ใจว่าระดับคลอรีนในน้ำอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ 

.

โดยปกติไม่มีความต้องการเฉพาะตามกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานสำหรับน้ำหมุนเวียนที่ใช้เป็นน้ำชักโครก น้ำรดน้ำต้นไม้และน้ำล้างรถยนต์ จากตารางที่ 3 ข้างล่างแสดงคุณภาพที่ยอมรับได้สำหรับการใช้งานประเภทต่าง ๆ

.

ตารางที่ 2 แสดงคุณภาพน้ำที่ยอมรับได้สำหรับการใช้เป็นน้ำชักโครก น้ำรดน้ำต้นไม้ และน้ำล้างยานพาหนะ

.
ค. การบำรุงรักษาระบบ (System Maintenance)

ระบบน้ำหมุนเวียนที่ติดตั้งใช้งานต้องได้รับบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอถือเป็นส่วนหนึ่งของการบำรุงรักษางานระบบประกอบอาคารเพื่อให้แน่ใจว่าระบบทำงานได้อย่างถูกต้องและคุณภาพน้ำเป็นที่ยอมรับได้ การบำรุงรักษาระบบเป็นหัวใจแห่งความสำเร็จของระบบน้ำหมุนเวียน

.

ดังนั้นการศึกษาความเป็นไปได้ของระบบน้ำหมุนเวียนในแต่ละโครงการควรที่จะนำเงื่อนไขการบำรุงรักษามาเป็นข้อพิจารณาประการหนึ่งในการตัดสินความเป็นไปได้ของโครงการด้วย

.

ผู้ติดตั้งหรือผู้ผลิตระบบน้ำหมุนเวียนต้องจัดทำและส่งมอบคู่มือปฏิบัติการและบำรุงรักษาพร้อมรายละเอียดของการทำงานของระบบและวิธีการบำรุงรักษา

.

ตารางที่ 3 ความต้องการในการบำรุงรักษาระบบน้ำหมุนเวียน

.

เอกสารอ้างอิง

1. Reclaimed water, CIBSE Knowledge Series , 2005
2. Water reclaimed standard BSRIA TN 7/2002
3. Public health engineering CIBSE Guide G, 2004

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด