มีหนังสือด้านการจัดการหลายเล่มที่กล่าวถึงการจัดการเชิงพุทธ โดยการนำเอาแนวคิดทางพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการจัดการ แม้แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ก็ยังมีเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธด้วยเหมือนกัน ผู้เขียนจึงมีแนวคิดว่าน่าจะมีการนำเอาแนวคิดทางพุทธศาสนามาอธิบายความเป็นองค์รวมของการจัดการโซ่อุปทานบ้าง ถึงแม้ว่าแนวคิดของการจัดการโซ่อุปทานที่นำเสนอจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ลองมามองเรื่องเดิมในมุมมองของพุทธศาสนาบ้าง เพื่อว่าจะได้แนวคิดเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่เป็นอยู่ เพื่อทำให้เรามีความเข้าใจโซ่อุปทานอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ดร.วิทยา สุหฤทดำรง |
. |
. |
มีหนังสือด้านการจัดการหลายเล่มที่กล่าวถึงการจัดการเชิงพุทธ โดยการนำเอาแนวคิดทางพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการจัดการ แม้แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ก็ยังมีเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธด้วยเหมือนกัน ผมก็เลยมีแนวคิดว่าน่าจะมีการนำเอาแนวคิดทางพุทธศาสนามาอธิบายความเป็นองค์รวมของการจัดการโซ่อุปทานบ้าง จึงเป็นที่มาของบทความนี้ |
. |
ถึงแม้ว่าแนวคิดของการจัดการโซ่อุปทานที่ผมนำเสนอจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่ผมตอกย้ำกันอยู่เสมอ แต่ในคราวนี้ลองมามองเรื่องเดิมในมุมมองของพุทธศาสนาบ้าง เพื่อว่าจะได้แนวคิด (Thinking) เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่เป็นอยู่ เพื่อทำให้เรามีความเข้าใจโซ่อุปทานอย่างลึกซึ้งขึ้น |
. |
ศีลในโซ่อุปทาน |
ศีล หมายความถึง ปกติ ศีลในโซ่อุปทานก็จะหมายถึงการทำให้โซ่อุปทานเป็นปกติหรือสิ่งที่ควรจะทำแล้วมีผลให้โซ่อุปทานเป็นปกติในการดำเนินธุรกิจ ศีลธรรมจึงหมายถึง ความจริงหรือหลักการที่ทำให้เกิดความปกติสุขในชีวิตหรือธุรกิจ โดยธรรมชาติเมื่อเราได้ข้อมูลว่าอะไรบ้างอย่างเป็นปกติหรือเหตุการณ์ปกติ เราจะรู้สึกถึงความนิ่งหรือสงบ |
. |
แต่ธรรมชาติของความนิ่งมีอยู่สองอย่างคือ มีชีวิตและไม่มีชีวิตแล้ว เราคงจะไม่อยากให้มีความนิ่งหรือความสงบนั้นเป็นความไม่มีชีวิต แต่ภายใต้ความสงบหรือความนิ่งที่เห็นจากภายนอกนั้นย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหรือความเป็นพลวัตรอยู่เบื้องหลังเสมอ โซ่อุปทานที่มองจากจากภายนอกแล้วดูเหมือนนิ่งนั้นหมายถึงโซ่อุปทานที่ควบคุมได้ภายใต้ความเป็นพลวัตรที่อยู่เบื้องหลัง |
. |
ในทางศาสนาพุทธ ศีล หมายถึง ข้อห้ามซึ่งถ้าเราปฏิบัติตามข้อห้ามเหล่านั้น ชีวิตน่าจะเป็นสุขขึ้น ผมก็เลยมองศีลหรือข้อห้ามสำหรับโซ่อุปทานไว้สัก 6 ข้อเพื่อว่าผู้บริหารโซ่อุปทาน ถ้าได้ปฏิบัติในเบื้องต้นแล้ว จะนำพาให้โซ่อุปทานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า |
. |
ศีลข้อที่ 1 ต้องประสานงาน (Co-ordination) ธรรมชาติของโซ่อุปทานนั้นมีความหลากหลายของความสามารถในการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า การประสานงานเป็นเหมือนการรู้ถึงผู้มีส่วนร่วมหรือหุ้นส่วนในการทำงานหรือกิจกรรม ถ้าไม่มีการประสานงานกัน กิจกรรมในโซ่อุปทานคงจะไปไม่ถึงเป้าหมาย |
. |
ศีลข้อที่ 2 ต้องสื่อสารกัน (Communication) โซ่อุปทานก็เหมือนสังคมที่ต้องการติดต่อสื่อสาร สังคมใดที่ไม่มีการสื่อสารจะทำให้การดำเนินชีวิตหรือกิจกรรมในสังคมนั้นอาจจะมีปัญหา เพราะไม่มีข้อมูลในการตัดสินใจ |
. |
ศีลข้อที่ 3 ต้องทำงานร่วมกัน (Collaboration) โซ่อุปทานนั้นมีคนหลายประเภท หลายความสามารถจึงต้องทำงานร่วมกันโดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน แบ่งปันหรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน |
. |
ศีลข้อที่ 4 ต้องสร้างและเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม (Culture Change) เมื่อสังคมเป็นการอยู่รวมกันก็ต้องมีสิ่งที่จะต้องตกลงร่วมกัน โซ่อุปทานก็เช่นกัน ต้องมีอะไรบางอย่างที่มีข้อตกลงร่วมกันที่ทำให้สมาชิกในโซ่อุปทานเห็นและเข้าใจเหมือนกัน การทำงานและการพัฒนาจะได้ไปพร้อม ๆ กัน |
. |
ศีลข้อที่ 5 ต้องมีการวางแผน (Planning) ทุกอย่างในโลกต้องมีที่มาและที่ไป เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโซ่อุปทานเป็นเพราะมาจากต้นเหตุของการคิดและตัดสินใจของสมาชิกในโซ่อุปทาน คนหรือสมาชิกในโซ่อุปทานต้องคิดและตัดสินเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า |
. |
ศีลข้อที่ 6 ต้องปรับตัว (Adaptation) ในอดีตการปรับตัวอาจจะยังไม่มีความสำคัญมากนักในการอยู่รอด หรือไม่ใช่โจทย์ใหญ่ของธุรกิจ แต่ในเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวเราอย่างรวดเร็ว ศีลข้อนี้ก็เลยกลับมาเป็นประเด็นที่สำคัญในการจัดการธุรกิจและรวมถึงการจัดการโซ่อุปทาน |
. |
สมาธิในโซ่อุปทาน |
สมาธิ คือ การตื่นอยู่หรือการรู้ตัวอยู่เสมอ สมาธิในโซ่อุปทานจึงหมายถึงการที่โซ่อุปทานนั้นรับรู้สภาพของโซ่อุปทานอยู่ตลอดเวลาว่ามีสภาพอย่างไร ดังนั้นโซ่อุปทานที่มีสมาธิดี หมายถึงมีการตรวจประเมินสมรรถนะของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อการปรับตัวเองหรือการเตรียมตัวพร้อมที่จะเผชิญหน้าเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ในการจัดการโซ่อุปทานก็เช่นกันจะต้องมีการวัดสมรรถนะของตัวเองเปรียบเทียบกับในอดีตและปัจจุบันรวมทั้งการพัฒนาที่มองไปในอนาคตด้วย |
. |
นอกจากจะมองตัวเองแล้วยังต้องมองที่คู่แข่งและคนอื่นเพื่อการเปรียบเทียบเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด คงไม่ใช่ว่ามีแค่นี้พอเพียงแล้วไม่ต้องการแล้ว ในมุมของธุรกิจบางครั้งเราไม่มีสิทธิ์ที่จะกำหนดความเป็นไปของธุรกิจ ถ้าเราไม่วิ่งตามเราก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องออกจากวงโคจรของธุรกิจไป ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้เกิดความยั่งยืนอยู่ได้ |
. |
การประเมินตัวเองและการพัฒนาตัวเองเท่าที่จะอยู่รอด การได้ตำแหน่งแชมป์มานั้นไม่ยากเท่าที่จะรักษาตำแหน่งนั้นไว้ เพราะคนใหม่หรือคู่แข่งจะเข้ามาในเกมการแข่งขันอยู่เรื่อย ๆ และที่สำคัญโจทย์ธุรกิจจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เช่นกัน ถ้าผู้นำองค์กรธุรกิจมีสมาธิในการจัดการธุรกิจก็ต้องมีการตรวจประเมินองค์กรของตนเองในมุมมองด้านต่าง ๆ ทั้งการเงิน นวัตกรรม ลูกค้า และโซ่อุปทาน เพื่อการปรับตัว |
. |
ปัญญาในโซ่อุปทาน |
เมื่อชีวิตของคนเรามีศีลและสมาธิ ก็ย่อมมีปัญญา (Wisdom) ในการจัดการปัญหาชีวิต สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้ นั่นอาจจะเป็นหลักคำสอนในศาสนาพุทธที่เราได้รับรู้กันมานาน ไม่ว่าจะอยากฟังหรือไม่ก็ตาม แต่จะนำไปปฏิบัติใช้กันหรือไม่ ก็ไม่รู้ ผมนำเอาหลักคิดของศาสนาพุทธมาประยุกต์กับหลักการจัดการในโซ่อุปทาน ผมเปรียบเทียบการจัดการโซ่อุปทานเหมือนกับการดำเนินชีวิต |
. |
ชีวิตจะดำเนินไปไม่ได้ ถ้าไม่มีการคิดหรือตัดสินใจ เราจะมีชีวิตอย่างไรก็เพราะเราตัดสินใจไปอย่างนั้น จะไปโทษโชคชะตาอย่างเดียวไม่ได้ เช่นเดียวกับธุรกิจหรือโซ่อุปทานที่ดำเนินไปด้วยวัตถุประสงค์และการตัดสินใจของแต่ละบุคคลหรือการตัดสินใจของผู้บริหารในโซ่อุปทานในการจัดการการไหลของวัตถุดิบที่ถูกแปรสภาพไปเป็นวัตถุดิบหรือการไหลของคุณค่า |
. |
การตัดสินใจที่ดีหรือที่เรียกว่าที่มีปัญญานั้นหมายถึงการมีสติหรือได้รับรู้ข้อมูลสารสนเทศอย่างรอบด้าน ข้อมูลสารสนเทศที่ดีย่อมมาจากการรับรู้อย่างมีเหตุมีผล รู้ถึงที่มาที่ไป รู้ถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลที่จะใช้ตัดสินใจเพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามศีลในการใช้ชีวิตหรือหลักปฏิบัติในการจัดการโซ่อุปทาน ถ้าเรามีศีล เราก็จะมีสมาธิดี และปัญญาก็จะตามมา |
. |
ปัญญา คือ การมีความเข้าใจ (Understanding) มีการเข้าถึง (Modeling) และการวิเคราะห์ (Analysis) ในความสัมพันธ์ปัญหาที่เกี่ยวโยงกับปัจจัยขาเข้าและปัจจัยขาออก และปัจจัยรอบด้านของปัญหา ปัญญาสำหรับการจัดการโซ่อุปทานนั้นหมายถึงการกำหนดถึงแบบจำลองของการตัดสินใจ (Decision Model) และการวิเคราะห์ (Analysis) บนแบบจำลองที่กำหนดไว้สำหรับปัญหาต่าง ๆ |
. |
ในการจัดการโซ่อุปทาน ผู้บริหารหรือผู้จัดการในโซ่อุปทานจึงต้องใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาต่าง ๆ มากกว่าการใช้ความรู้สึก ยิ่งปัญหาในโซ่อุปทานมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร ผู้บริหารยิ่งต้องใช้ปัญญาในการจัดการเพิ่มมากขึ้น |
. |
ทางสายกลางโซ่อุปทาน |
ผลลัพธ์ของการดำเนินชีวิตหรือการปฏิบัติการในกระบวนการโซ่อุปทานที่ได้การใช้ ศีล สมาธิ ปัญญา คือ ประโยชน์สุขของชีวิต (Happiness in Your Life) นั่นเอง ส่วนของธุรกิจนั้นผลลัพธ์ที่คาดหวัง คือ การที่องค์กรธุรกิจสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน (Sustainable Company) แต่ชีวิตของคนเราย่อมมีความสุขคลุกเคล้าความเศร้าปนน้ำตา |
. |
ที่สุดแล้วทุกคนก็ต้องมองหาคำตอบสุดท้ายของชีวิตว่า ความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงไหน คงไม่ใช่ที่เงินทองแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเงินทองไม่อาจซื้อชีวิตไว้ได้ หรือถึงแม้บางคนร่ำรวยเงินทองแต่ไม่มีความสุข อย่างไรก็ตามแล้วความสุขของทุกคนไม่เหมือนกันตามแต่หน้าที่และบทบาทของแต่ละคน ที่สำคัญอยู่ที่ความพอดีของบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนที่ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปอยู่ที่ทางสายกลาง |
. |
สำหรับในการจัดการโซ่อุปทาน การบรรลุผลสำเร็จจนถึงทางสายกลางในการจัดการ ผมมองถึงการจัดสรรทรัพยากรที่ได้จุดที่เหมาะสมที่สุด (Optimal) และโดยภาพรวมของธุรกิจนั้นอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน เป้าหมายของธุรกิจคงจะไม่ใช่การได้กำไรสูงของผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง แต่จะต้องเป็นผลประโยชน์ในภาพรวมของธุรกิจ |
. |
ดังนั้นการที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้ คงไม่ได้อยู่ที่มุมองของผลกำไรจากผลิตภัณฑ์ แต่อยู่ที่โซ่อุปทานขององค์กรธุรกิจนั้นสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าอย่างต่อเนื่องตามกาลเวลาได้หรือไม่ ถ้าองค์กรธุรกิจมีโซ่อุปทานที่ปรับตัวได้ (Adaptive Supply Chain) โอกาสของการตอบสนองขององค์กรธุรกิจได้ดีขึ้น ความเป็นได้ของความยั่งยืนของธุรกิจก็มีมากขึ้นด้วย ทางสายกลางหรือความเหมาะสมที่สุดนั้นไม่ได้อยู่นิ่งที่จุดเดียวกันตลอดไป |
. |
ความสุขของแต่ละช่วงของชีวิตคนเราไม่เหมือนกันใช้ทรัพยากรไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจที่แต่ละช่วงของวงจรชีวิตมีผลิตภัณฑ์ที่สร้างกำไรให้กับองค์กรไม่เหมือนกัน แน่นอนที่สุดที่แต่ละผลิตภัณฑ์ในแต่ละช่วงวงจรชีวิตจะใช้ทรัพยากรในการผลิตที่แตกต่างกันออกไป |
. |
การนำพาชีวิตหรือองค์กรธุรกิจไปสู่ทางสายกลางหรือจุดที่เหมาะสมที่สุด (Optimization) จะต้องอาศัยความเข้าใจในชีวิตตัวเองหรือเข้าใจโซ่คุณค่าและโซ่อุปทานขององค์กรธุรกิจ การวิเคราะห์และการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของชีวิตแต่ละคนหรือแต่ละองค์กรเพื่อปรับเปลี่ยนสภาพการดำเนินชีวิตหรือการจัดการโซ่อุปทานเพื่อให้อยู่รอดและอย่างยั่งยืน |
. |
สรรพสิ่งในโลกหรือธรรมชาติของธุรกิจ |
ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือ ตามหาความจริง: วิทยาศาสตร์กับพุทธธรรม ศาสตร์ที่เป็นคนละเรื่องเดียวกัน ที่เขียนโดยอาจารย์ โอฬาร เพียรธรรม ซึ่งได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสนาพุทธไว้ได้ดีมาก ๆ ผมขออนุญาตนำเอาความรู้ที่เกี่ยวกับสรรพสิ่งในมุมมองของศาสนาพุทธที่ท่านอาจารย์โอฬารเขียนไว้ คือ กฎไตรลักษณ์ ซึ่งประกอบด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา |
. |
อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ต้องแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา สำหรับธุรกิจหรือโซ่อุปทานนั้นก็มีความเป็นพลวัตรแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาตามวงจรชีวิตของธุรกิจ ไม่มีธุรกิจใดอยู่อย่างยืนยงตลอดไป จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตามสังขารหรือโครงสร้างของธุรกิจ |
. |
ทุกขัง คือ การที่สรรพสิ่งต้องถูกบีบบังคับให้ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ผมมองข้อนี้เป็นเรื่องของการกำหนดข้อกำจัดต่าง ๆ ในการดำเนินงานหรือดำเนินชีวิต ซึ่งมีผลมาจากอนิจังที่ทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นสังขาร ร่างกาย การสูญเสียคนที่รักหรือของรัก อะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปตามใจเราที่อยากจะให้เป็น ที่สุดก็เป็นทุกข์ใจ ธุรกิจก็เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพความต้องการของตลาด คนทำธุรกิจก็ต้องปรับตัวในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองตลาด |
. |
อนัตตา คือ การไม่ตัวตนที่แท้จริงของมันเลยหรืออีกความหมายหนึ่ง คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจของใคร (หรือสิ่งใด) ได้ สำหรับข้อนี้น่าจะเป็นภาพรวมของชีวิตที่ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วที่สุดก็ไม่มีอะไรเลย ผมมองว่าที่สุดแล้วเราบังคับใครไม่ได้ตลอดไป เราไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรเลย แม้แต่ร่างกายของเราเองก็ยังไปต้องหมดไปตามกาลเวลา ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นเลย แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราเป็นเจ้าของ คือ ใจเราเอง แต่ก็ไม่ง่ายที่จะเข้าใจหรือควบคุมใจของตัวเราเองได้ |
. |
สำหรับธุรกิจนั้นยิ่งมองเห็นได้ง่ายเลยว่า ที่จริงแล้วแล้วเราไม่ได้เป็นเจ้าของหรือควบคุมลูกค้าได้เลย เราไม่ได้เป็นเจ้าของใจของลูกค้าเลย มันเป็นภาพหรือเหตุการณ์ในชั่วขณะหนึ่งที่ลูกค้ามีใจตรงกับเราและซื้อสินค้าของเรา และนั่นก็ไม่ใช่ตลอดไปด้วย ลูกค้าพร้อมที่จะลืมหรือหายไปจากตลาดและสูญความสัมพันธ์กับสินค้าเรา |
. |
ข้อนี้อธิบายได้ยากครับ เพราะการไม่มีตัวตนนั้นคงจะเป็นอะไรที่ทุกคนไม่อยากได้และไม่อยากเป็น ผมมองว่าการดำเนินชีวิตหรือธุรกิจเป็นการเดินทางไปสู่ที่ใดที่หนึ่งซึ่งเป็นจุดจบ อยู่ตรงไหนและเมื่อใดก็ไม่รู้ จะมีสภาพอย่างไรก็ไม่รู้ และสุดท้ายทุกคนสรุปว่า คือ ความไม่มีหรือว่างเปล่า |
. |
ซึ่งผมคิดว่า คงหมายถึงการหมดสภาพหรือเกินความสามารถการรับรู้ของมนุษย์อย่างเราทั่วไป จริง ๆ แล้วอาจจะมีอะไรก็ได้ เพราะตอนเราตายไป เราตายแต่กาย แต่ใจหรือวิญญาณเราไปไหนไม่รู้ ถูกแปลงสภาพไปเป็นอะไรก็ไม่รู้ มันเกินความรู้ของเรา เราจึงคิดว่าสุดท้ายชีวิตบนโลกก็ต้องหมดไปในที่สุด คือ ความว่างเปล่าไม่มีตัวตน |
. |
ผมมองธุรกิจว่าสุดท้าย ธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ก็ต้องหมดไปตามวงจรชีวิต เพียงแต่ใครจะอยู่ได้นานกว่ากัน แม้แต่โลกของเราเองมีเกิดก็มีดับ แต่อายุของโลกนั้นคงจะยืนยาวกว่าชีวิตทั่วไปบนโลก ก็เหมือนกับระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ประกอบไปด้วยธุรกิจการค้าและโซ่อุปทานต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด ๆ ที่มีวงจรชีวิตที่สั้นยาวต่างกัน ทำให้บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ไม่สามารถยึดติดกับผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งตลอดไป จำเป็นต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจหรือองค์กรนั้นอยู่รอด ก็เหมือนคนที่ตายไป ก็มีคนใหม่เกิดมาแทนที่ทำให้โลกหรือสังคมนั้นอยู่ได้ |
. |
ที่สุด คือ กฎแห่งกรรม |
ผลของกระทำในการดำเนินชีวิตหรือผลการดำเนินงานในธุรกิจ ย่อมเป็นผลจากการกระทำในอดีต เป็นเหมือนกฎแห่งกรรม ซึ่งมีโดยย่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ช้าก็เร็ว ลองคิดดูดี ๆ ว่าจริงหรือไม่ แม้แต่การจัดโซ่อุปทานที่มีปัญหาเบื้องต้นในการจัดการสินค้าคงคลังที่มีอยู่มากเกินความต้องการหรือขาดแคลนจนไม่มีส่งให้ลูกค้า ด้วยเป็นผลมาจากการกระทำก่อนหน้านี้เองหรือการวางแผน |
. |
ถ้าไม่อยากได้ชั่วหรือไม่อยากมีของเกินหรือของขาดแคลนในโซ่อุปทาน ก็ต้องกลับไปเปลี่ยนความคิดเสียก่อนหรือการวางแผนใหม่ แล้วจึงค่อยมาเปลี่ยนตัวเองหรือเปลี่ยนกระบวนการ ความดีจึงเกิดขึ้นและโซ่อุปทานก็จะเกิดจุดที่เหมาะสมในการทำกำไรหรืออยู่อย่างได้อย่างยั่งยืน วงจรชีวิตใดในระบบโลกดูเหมือนจะมีความคล้ายคลึงกันเกือบหมด ถ้าศึกษาและมีความเข้าใจในระบบใดระบบหนึ่งแล้ว ลองเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์และเปรียบเทียบความเหมือนขององค์ประกอบกับระบบอื่น ๆ |
. |
เพื่อว่าแนวคิดการแก้ปัญหาของระบบหนึ่งอาจจะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาอีกระบบก็ได้ และผมต้องขอออกตัวว่าความรู้ทางด้านพุทธศาสนามีอยู่เท่าที่เคยร่ำเรียนมาในโรงเรียนแต่เด็ก ๆ เคยอ่านมาบ้างแต่ไม่มาก แต่พอจะมองอะไรที่เป็นหลักพื้นฐานและมั่นใจว่านำใช้ได้เพื่อให้เกิดแนวคิดในเบื้องต้น ส่วนรายละเอียดที่ลึกลงไปของพุทธศาสนานั้นคงจะไม่เหมือนกับโซ่อุปทานอย่างแน่นอน |
. |
แต่พุทธศาสนาและโซ่อุปทานนั้นมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกันอย่างแน่นอน โอกาสหน้าผมคงจะนำมาเสนออีกอย่างแน่นอน และสุดท้ายถ้ามีข้อผิดพลาดในเรื่องพุทธศาสนาตรงไหน ต้องขออภัยด้วยครับ! เพราะว่าผมนับถือศริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกครับ! แต่มีความสนใจในหลักคิด แต่สุดท้ายแล้วทุกศาสนาก็นำมาซึ่งประโยชน์สุขของทุกคนในสังคมโลก! |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด