เนื้อหาวันที่ : 2010-08-10 14:27:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7881 views

มองให้เห็นเป็น Inventory (ตาดีได้ ตาร้ายเสีย)

คำว่า Inventory หรือ Stock มีคำแปลเป็นภาษาไทยได้หลากหลาย เช่น สินค้าคงคลัง พัสดุคงคลัง วัสดุคงคลัง หรืออาจเรียกเป็นทับศัพท์ตรง ๆ ว่า สต็อก คำเหล่านี้สามารถใช้แทนกันได้ตามความเหมาะสมของบริบทที่กำลังกล่าวถึง ในบริบทของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน และการจัดการการผลิตและปฏิบัติการ นั้น Inventory มักหมายถึง สินค้าคงคลังที่เก็บไว้เพื่อใช้ในการผลิต ขายหรือส่งมอบให้กับลูกค้าทั้งลูกค้าภายในและลูกค้าภายนอก

ดร.อัศม์เดช  วานิชชินชัย
Assadej_v@yahoo.com
มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี

.

.

คำว่า Inventory หรือ Stock มีคำแปลเป็นภาษาไทยได้หลากหลาย เช่น สินค้าคงคลัง พัสดุคงคลัง วัสดุคงคลัง หรืออาจเรียกเป็นทับศัพท์ตรง ๆ ว่า สต็อก คำเหล่านี้สามารถใช้แทนกันได้ตามความเหมาะสมของบริบทที่กำลังกล่าวถึง ในบริบทของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Logistics and Supply Chain Management) และ

.

การจัดการการผลิตและปฏิบัติการ (Production and Operations Management) นั้น Inventory มักหมายถึง สินค้าคงคลังที่เก็บไว้เพื่อใช้ในการผลิต ขายหรือส่งมอบให้กับลูกค้าทั้งลูกค้าภายใน (Internal Customer) และลูกค้าภายนอก (External Customer) สินค้าคงคลังในบริบทนี้มักพิจารณาตามสถานะในกระบวนการผลิตซึ่งมีอยู่ 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ 

.

* วัตถุดิบ (Raw Material: RM)
* งานระหว่างกระบวนการ (Work in Process หรือ Work in Progress: WIP) และ
* สินค้าสำเร็จรูป (Finish Goods: FG)

.

นอกจากนี้ในโรงงานยังมีพัสดุคงคลังประเภทรองในรูปแบบอื่นอีก เช่น อะไหล่เครื่องจักร วัสดุสิ้นเปลืองที่เป็นโสหุ้ย (Overhead) ในการผลิต (เช่น กระดาษทราย เทปกาว) ฯลฯ 

.

หนังสือหรือหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการจัดการสินค้าคงคลังมักกล่าวถึงเฉพาะพัสดุคงคลังตามสถานะในการผลิตดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ที่จริงแล้วนิยามของสต็อกนั้นมิใช่มีเพียงแค่วัตถุดิบ งานระหว่างกระบวนการ และสินค้าสำเร็จรูปที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น  

.

สำหรับผมแล้วสต็อก คือ “อะไรก็ได้ที่มีการหมุนเวียน รับเข้ามา เก็บเอาไว้ เพื่อใช้หรือจ่ายออกไปในอนาคต” และสต็อกก็มิได้ปรากฏอยู่แต่เพียงในโรงงานเท่านั้น แต่ยังปรากฏในส่วนงานหรือหน่วยงานต่าง ๆ ในวงจรธุรกิจ แม้กระทั่งในชีวิตประจำวันของเรา นอกจากนี้ศาสตร์ในการจัดการพัสดุคงคลังนั้นก็มิได้จำกัดหรือประยุกต์ใช้ได้เพียงในบริบทของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หรือการจัดการการผลิตและปฏิบัติการเท่านั้น แต่ยังคงประยุกต์ใช้ในการจัดการด้านอื่นหรือในมิติอื่นได้อีกด้วย เช่น 

.
1. การจัดการการเงิน 

เงินนั้นก็ถือได้ว่าเป็นสต็อกชนิดหนึ่งได้เช่นกัน เพราะเรารับและเก็บเงินไว้เพื่อให้มีสภาพคล่อง (Liquidity) เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในอนาคต สมุดบัญชีธนาคารที่มีการบันทึกการรับ การจ่ายเงินและแสดงจำนวนเงินที่เหลืออยู่ในบัญชีก็เปรียบได้กับใบบันทึกสต็อก (Stock Card) ที่มักใช้ควบคุมการรับ การจ่าย และดูยอดคงเหลือของสต็อกในสถานประกอบการทั่วไป

.

การที่บริษัทเก็บเงินสด (หรือเงินฝากระยะสั้นในธนาคารหรือสินทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งมีสถานะและสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด) ไว้มากเกินไปเพื่อให้บริษัทคงสภาพคล่องที่สูง และ (มัก) ง่ายต่อการบริหารเงิน โดยไม่ได้นำไปใช้คืนเงินกู้หมุนเวียนระยะสั้นที่บริษัทกู้ยืมมา ก็จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสต็อกเงินสดมากเกินความจำเป็น (เช่น ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่าและดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำกว่า)

.

ในทางตรงกันข้ามหากบริษัทเก็บสต็อกเงินสดไว้น้อยเกินไป บริษัทก็อาจขาดสภาพคล่อง กล่าวคือไม่มีเงินสดเพียงพอในการจ่ายค่าแรง ค่าสาธารณูปโภค ค่าวัตถุดิบที่ต้องจ่ายเป็นเงินสด ฯลฯ ทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงักหรืออาจถึงขั้นล้มละลายไปได้ในที่สุด          

.

บริษัทที่มีประสิทธิภาพจึงควรมีการวางแผนคาดการณ์ความต้องการเงินสดหรือทำงบกระแสเงินสดล่วงหน้า เพื่อคงเงินสดหรือสภาพคล่องในบริษัทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป งบกระแสเงินสดดังกล่าวก็เทียบเคียงได้กับการวางแผนการรับและเก็บสินค้าคงคลังในบริษัท และผู้จัดการฝ่ายการเงินก็ทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการสินค้าคงคลัง (Material Manager) ได้เช่นกัน 

.

ในระดับบุคคล การนำเงินในอนาคตมาใช้ผ่านวงเงินเครดิตส่วนบุคคลที่กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายก็สามารถนำหลักการจัดการสินค้าคงคลังเข้ามาช่วยบริหารเงินในอนาคตเหล่านี้ได้เช่นกัน เนื่องจากในการกู้หรือเบิกเงินสดแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่าย 2 ประเภท ได้แก่

.
1. ค่าธรรมเนียมในการกู้ (Ordering Cost) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ไม่ว่าจะกู้มากหรือน้อยเท่าไรก็ตาม
2. ดอกเบี้ย (Holding Cost) เป็นค่าใช้จ่ายแปรผันตามจำนวนเงินที่กู้ กู้มากจ่ายมากกู้น้อยจ่ายน้อย 
.

ดังนั้นหากเราทยอยกู้เงินครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการกู้มากแต่จะจ่ายดอกเบี้ยน้อย ในทางตรงข้ามหากกู้เงินครั้งละมาก ๆ แต่น้อยครั้งก็จะเสียค่าธรรมเนียมการกู้น้อยแต่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยมาก จากลักษณะของค่าใช้จ่ายดังกล่าว เราจึงสามารถประยุกต์หลักการของการสั่งซื้อด้วยปริมาณที่ประหยัด (Economy Order Quantity: EOQ) เข้ามาช่วยคำนวณจำนวนเงินที่ควรกู้ในแต่ละครั้งเพื่อให้มีต้นทุนทางการเงินรวมที่ต่ำที่สุดได้ (ต้นทุนทางการเงินรวม = ค่าธรรมเนียมรวม + ดอกเบี้ยรวม)

.

ดังนั้นทั้งราชาและราชินีเงินผ่อน หรือผู้ที่นิยมหรือสนใจในเรื่องการกู้ยืมดังกล่าวจึงควรศึกษาเพิ่มเติมในเรื่อง EOQ แต่ต้องนำหลักการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ ไม่สามารถใช้สูตร EOQ ทั่วไปแบบตรง ๆ ได้  เนื่องจากเงื่อนไขบางอย่างไม่ตรงตามสมมุติฐานพื้นฐานของ EOQ        

.

เช่น เมื่อเราใช้เงินที่กู้มาไปเรื่อย ๆ และจำนวนเงินเหลือน้อยลงแล้ว แต่เรายังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยเท่าจำนวนเงินเต็มที่กู้มา ดอกเบี้ยไม่ได้ลดลงตามจำนวนเงินที่เหลืออยู่ เป็นต้น หลักการคำนวณนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการกู้เงินในระดับบริษัทเพื่อให้มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำที่สุดได้เช่นเดียวกัน

.
2. ของสะสม หรือของเก็งกำไร

เคยมีคนถามผมว่าของสะสมที่เราสะสมตามรสนิยมหรือตามความชอบเฉพาะส่วนบุคคล เช่น แสตมป์ พระเครื่อง ภาพเขียน ศิลปวัตถุ อัญมณี เครื่องประดับ หรือแม้กระทั่งปลาสวยงามบางชนิด ฯลฯ จะถือเป็นพัสดุคงคลังได้หรือไม่ สำหรับผมแล้วสิ่งของเหล่านั้นจะถือเป็นพัสดุคงคลังหรือไม่นั้นต้องกลับไปพิจารณาตามนิยามที่ผมได้ให้ไว้ข้างต้น และพิจารณาตามวัตถุประสงค์ในการเก็บว่าต้องการเก็บไว้เพื่อเชยชมเฉย ๆ (ไม่มีการหมุนเวียน) หรือเก็บไว้เพื่อเก็งกำไร (มีการหมุนเวียน)

.

หากผู้สะสมซื้อหาของสะสมเหล่านั้นมาเพื่อเก็บไว้ชื่นชมตามความนิยมส่วนบุคคลโดยไม่มีเจตจำนงเพื่อหมุนเวียนหรือขายไปเพื่อให้ได้กำไรจากส่วนต่างราคาขายและราคาซื้อในระยะเวลาอันสั้น ก็ถือว่าของสะสมเหล่านั้นเป็นเพียงสินทรัพย์ธรรมดา (หรือถือเป็นสินทรัพย์ถาวร หรือ Fixed Asset) ไม่ถือเป็นพัสดุคงคลัง (หรือไม่ถือเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน หรือ Current Asset) แต่อย่างใด     

.

แต่หากเราซื้อหาของสะสมเหล่านั้นมาโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเก็งกำไรจากราคาของสิ่งสะสมเหล่านั้นที่อาจสูงขึ้น และเราต้องการให้มีการหมุนเวียนหรือซื้อขายของสะสมเหล่านั้นบ่อย ๆ ก็ต้องถือได้ว่าของสะสมเหล่านั้นเป็นพัสดุคงคลังเพื่อเก็งกำไร (Speculative Stock) ตัวอย่างเช่น ร้านเช่าพระเครื่อง (ซึ่งที่จริงแล้วก็คือการซื้อขายพระเครื่องเพื่อการพาณิชย์) ร้านรับซื้อขายแสตมป์สะสม หรือฟาร์มที่เพาะพันธุ์ปลาสวยงามเพื่อการขายไม่ใช่เพื่อการดูเล่น ฯลฯ 

.

ราคาของสิ่งสะสมเหล่านี้มักไม่ได้มาจากคุณค่าแท้ที่เป็นคุณประโยชน์ทางกายภาพที่แท้จริงของสิ่งของเหล่านั้น แต่มักเป็นราคาที่มาจากมูลค่าเทียมที่ตอบสนองความต้องการทางจิตใจของบุคคลผู้มีอันจะกินเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมักมีเงินเหลือเฟือจากการใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวันแล้วไม่รู้จะเอาเงินที่เหลือไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์เป็นหลัก 

.

นอกจากนี้ยังมีพัสดุคงคลังเพื่อเก็งกำไรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของสะสมอีก เช่น การซื้อทองคำแท่งเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรดังที่นิยมทำกันในช่วงที่ราคาทองคำมีแนวโน้มที่สูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรือการที่เราต่อคิวเติมน้ำมันรถยนต์จนเต็มถังในตอนเย็นวันก่อนที่น้ำมันจะขึ้นราคา เป็นต้น     

.

การจัดการสินค้าคงคลังเหล่านี้มักต้องใช้ศาสตร์ด้านการตลาด (Marketing) การพยากรณ์ (Forecasting) หรือการจัดการอุปสงค์ (Demand Management) มาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อคาดการณ์และปั่นให้ของสะสมเหล่านั้นมีมูลค่าสูงขึ้น (ทั้งคุณค่าแท้และมูลค่าเทียม) และกระตุ้นให้มีการหมุนเวียนพัสดุคงคลังเหล่านี้มากขึ้น

.
3. ธุรกิจบริการ

ความแตกต่างหลักประการหนึ่งระหว่างธุรกิจผลิตสินค้า และธุรกิจบริการที่คนส่วนใหญ่มักนึกถึงและสังเกตได้ก็คือ ความสามารถในการจับต้องได้ของผลิตภัณฑ์ (Product) ธุรกิจผลิตสินค้านั้นจุดขายหลักอยู่ที่การผลิตสินค้าที่จับต้องได้ (Tangible Goods) ในขณะที่ธุรกิจบริการนั้นจุดขายหลักอยู่ที่การผลิตบริการที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Service) แต่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึก

.

แม้สิ่งที่จับต้องไม่ได้จะเป็นคุณลักษณะเด่นของธุรกิจบริการแต่ในธุรกิจบริการเองส่วนใหญ่ก็ยังคงมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสินค้าคงคลังอยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม มากน้อยตามประเภทธุรกิจ อาทิเช่น 

.

*  ในพาณิชย์ธุรกิจ (Commercial Business) ที่เป็นธุรกิจซื้อมาขายไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าส่งค้าปลีก ซูเปอร์สโตร์ ฯลฯ ความสำเร็จหรือล้มเหลวของธุรกิจเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสิทธิภาพในการจัดการสินค้าคงคลัง เนื่องจากสินค้าคงคลังเป็นจุดขายหรือผลิตภัณฑ์หลักของกิจการที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวบริการเอง     

.

การจัดการสินค้าคงคลังในธุรกิจเหล่านี้ค่อนข้างตรงไปตรงมา และสามารถใช้เทคนิคการจัดการสินค้าคงคลังที่ใช้กันโดยทั่วไปในการบริหารจัดการธุรกิจได้โดยตรง เช่น การสั่งซื้อด้วยปริมาณที่ประหยัด (EOQ) การให้ซัพพลายเออร์เป็นผู้บริหารสินค้าคงคลังให้ (Vendor Managed Inventory: VMI) สต็อกฝากขาย ฯลฯ ในบทความนี้ผมจึงจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในการจัดการสินค้าคงคลังในธุรกิจเหล่านี้

.

*  ในธุรกิจโรงแรมอาจมีสต็อกวัสดุสิ้นเปลือง เช่น สบู่ แชมพู กระดาษทิชชู่ ฯลฯ ไว้ให้บริการลูกค้า ซึ่งวัสดุสิ้นเปลืองเหล่านี้ถือเป็นพัสดุคงคลังรอง หรือต้นทุนรอง หรือโสหุ้ยของโรงแรมที่ไม่ได้มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์มากนัก สินค้าคงคลังหลักซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญและเป็นตัวทำรายได้หลักในธุรกิจโรงแรม ได้แก่ ห้องพัก ซึ่งโรงแรมได้ลงทุนสร้างขึ้นตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ

.

ทุกเช้าโรงแรมจะมีสต็อก ได้แก่ จำนวนห้องพักทั้งหมดในโรงแรม รอขายให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ หากสต็อกห้องพักที่มีในวันนี้ไม่ถูกลูกค้าซื้อหรือใช้บริการ ห้องพักเหล่านั้นก็จะเสียโอกาสในการขายและมูลค่าของห้องพักในวันนั้น ๆ ก็จะหายไปเฉย ๆ ไม่สามารถเก็บสต็อกห้องพักสะสมไว้ใช้ในวันรุ่งขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น หากโรงแรมมีห้องพัก 300 ห้อง แต่มีลูกค้ามาพักในคืนวันพฤหัสบดีเพียง 200 ห้อง

.

แม้ว่าจะมีลูกค้าต้องการห้องพักในคืนวันศุกร์รวม 400 ห้อง ทางโรงแรมก็ไม่สามารถเก็บสต็อกห้องพักอีก 100 ห้องที่เหลือในวันพฤหัสบดีให้ลูกค้าที่ต้องการในคืนวันศุกร์ได้ ดังนั้นทางโรงแรมอาจต้องมีการสนับสนุนการขาย โปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม ใช้กลยุทธ์ราคา ฯลฯ เพื่อดึงดูดหรือเปลี่ยนให้ลูกค้ามาใช้บริการห้องพักในช่วงวันธรรมดามากขึ้น                         

.

ธุรกิจที่มีสต็อกลักษณะคล้ายกับห้องพักในโรงแรม ได้แก่ ธุรกิจสายการบินที่มีสต็อกที่นั่งในแต่ละเที่ยวบิน ภัตตาคารที่มีสต็อกที่นั่งในภัตตาคาร สปาที่มีสต็อกพนักงานที่ให้บริการลูกค้าได้ ฯลฯ ธุรกิจเหล่านี้สามารถใช้เทคนิคการจัดการที่เรียกว่า Yield Management หรือ Revenue Management เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสต็อกเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างรายได้หรือกำไรสูงสุดให้กับองค์กรได้

.

*  ในอาคารจอดรถที่มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระบบเซนเซอร์ หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์บันทึกการเข้าออก ฯลฯ เข้ามาช่วยในการบันทึกและนับจำนวนรถเข้าออก ก็จะสามารถบริหารจัดการสต็อกพื้นที่จอดรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถเช็คจำนวนรถที่มีอยู่แล้วในอาคารจอดรถ และจำนวนรถที่ลูกค้าสามารถเข้ามาจอดเพิ่มได้อีก จากการหักลบจำนวนรถที่เข้าและออกจากอาคารจอดรถนั้น ด้วยสูตรพื้นฐานของการจัดการพัสดุคงคลัง ดังนี้

.
จำนวนรถที่จอดทั้งหมด = จำนวนรถที่จอดอยู่ก่อนแล้ว + จำนวนรถเข้า – จำนวนรถออก
จำนวนรถที่เข้าจอดได้อีก = จำนวนที่จอดรถทั้งหมด - จำนวนรถที่จอดทั้งหมด
.

ระบบดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ที่จะขับรถเข้ามาจอดในอาคารทราบว่าพื้นที่จอดรถเต็มแล้วหรือยัง มีที่เพียงพอที่จะให้ตนจอดรถได้อีกหรือไม่ หากพื้นที่เต็มแล้วก็ไม่ต้องเสียเวลาขับรถเข้ามาวนหาที่จอดอีก ตัวอย่างเช่น หากเมื่อคืน รปภ. ได้ไปนับสต็อกรถจริงที่จอดค้างอยู่ในอาคารและพบว่ามีรถจอดค้างคืนอยู่ 50 คัน

.

วันนี้มีรถเข้ามาจอดใหม่อีก 500 คันและมีรถขับออกไป 100 คัน จะมีรถที่จอดในอาคารทั้งหมด 450 คัน (รวมทั้งที่อาจจอดแล้วหรือกำลังวนหาที่จอดอยู่) หากที่จอดรถรับรถได้ 600 คัน ก็จะสามารถรับรถได้เพิ่มอีก 150 คัน เป็นต้น 

.

ระบบและวิธีการดังกล่าวสามารถใช้ในการคำนวณจำนวนรถและความหนาแน่นของการจราจรในแต่ละช่วงเวลาบนทางด่วนที่มีการรับจ่ายค่าทางด่วนด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงคำนวณจำนวนและความหนาแน่นของผู้โดยสารในแต่ละช่วงเวลาที่อยู่ในระบบของรถไฟฟ้าได้อีกด้วย การทราบจำนวนผู้ใช้บริการที่อยู่ในระบบและทราบความหนาแน่นในแต่ละช่วงเวลาจะช่วยให้การจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นในการให้บริการ (เช่น จำนวนบุคลากรผู้ให้บริการ ช่องให้บริการ ฯลฯ) มีประสิทธิภาพมากขึ้น

.
4. บุคลากร

มักมีคำกล่าวว่าพนักงานถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดขององค์กร ซึ่งหากเราเชื่อว่าคำกล่าวนี้เป็นจริงแล้ว พนักงานก็น่าจะถือเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์ถาวร ทั้งนี้เนื่องจากองค์กรสรรหาและจ้างพนักงานเอาไว้ก็เพื่อใช้งานให้เพียงพอกับความต้องการในการทำธุรกิจ และพนักงานเองก็มีการหมุนเวียน (Turn Over) รับเข้าและลาออกจากบริษัท     

.

ดังนั้นจำนวนพนักงานก็สามารถถือได้ว่าเป็นสต็อกแรงงานของบริษัทและสามารถใช้หลักการจัดการสินค้าคงคลังในการบริหารจัดการสต็อกแรงงานได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น หากองค์กรสรรหาพนักงานมาเร็วเกินไป (เช่น จ้างพนักงานเข้ามาก่อนสร้างโรงงานเสร็จหรือก่อนซื้อเครื่องจักรนานเกินไป) หรือมีจำนวนพนักงานมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานหรือจัดเก็บสต็อกแรงงานมากเกินความจำเป็น 

.

ในทางตรงกันข้ามหากองค์กรจ้างพนักงานมาช้าเกินไปหรือมีจำนวนพนักงานน้อยเกินไปก็จะทำให้เสียโอกาสในการทำงานผลิตหรือขายสินค้า ดังนั้นแผนกต่าง ๆ จึงควรทราบเวลานำ (Lead Time) ที่แผนกบุคคลต้องใช้ในการหาสต็อกแรงงานให้กับตนเพื่อให้สามารถวางแผนการสรรหาแรงงานได้อย่างเหมาะสม 

.

บางบริษัทอาจคำนวณเปอร์เซ็นต์พนักงานที่ขาดงานในแต่ละวัน (ตามสิทธิ์ในการลาและจากสถิติจากการลาป่วย) และจ้างพนักงานส่วนหนึ่งไว้เป็นสต็อกแรงงานสำรอง (Float) ตามเปอร์เซ็นต์การขาดงานของพนักงานเพื่อหมุนเวียนไม่ให้กระบวนการผลิตสะดุดหรือหยุดชะงัก ในขณะที่บางบริษัทอาจบริหารความเสี่ยงในด้านการขาดแคลนสต็อกแรงงานโดยใช้บริษัทเอาต์ซอร์ส (Outsource) ช่วยหาพนักงานให้

.

นอกจากนี้องค์กรยังอาจใช้หลักการจำแนกสต็อกตามลำดับความสำคัญ หรือการจัดกลุ่ม ABC ในการจัดกลุ่มพนักงานเป็นพนักงานประเภท Active, Inactive หรือ Dead Stock (หรือพนักงานประเภทตายซากที่พัฒนาไม่ได้แล้ว) เพื่อใช้ในการพัฒนาและจัดการพนักงานประเภทต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อจะมีการ Layoff พนักงาน ฝ่ายบุคคลก็มักจะจัดกลุ่มพนักงานตามลำดับความสำคัญของพนักงานต่อองค์กร และ Layoff ตามลำดับความสำคัญด้วยเช่นกัน

.
ข้อคิดท้ายเรื่อง

ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าทรัพยากรต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรานั้นมีมุมมองของความเป็นสต็อกแฝงอยู่ และสามารถใช้ศาสตร์ในการจัดการสต็อกเข้ามาช่วยบริหารจัดการทรัพยากรนั้น ๆ ได้ รอบตัวเราและรอบองค์กรของเรายังมีสต็อกอื่น ๆ แฝงอยู่อีกมากมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองออกหรือไม่ว่ามันคือสต็อก (ตาดี ๆ มองออกก็ได้ประโยชน์ ตาไม่ดี มองไม่ออกก็เสียโอกาส) และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือสามารถคิดต่อไปได้หรือไม่ว่าจะประยุกต์ใช้ศาสตร์ ๆ นี้ในการบริหารจัดการทรัพยากรเหล่านั้นได้อย่างไร 

.

ความรู้ก็ถือเป็นสต็อกอีกอย่างหนึ่งที่เก็บไว้ในสมองของเรา แม้ว่าจะเป็นสต็อกหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนก็ตาม ศาสตร์ในการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management: KM) ที่กำลังได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวางก็มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหมุนเวียนนำความรู้ที่มีอยู่ทั้งภายในตัวบุคคลและภายในองค์กรออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (สรรหาองค์ความรู้ใหม่ รักษาองค์ความรู้ไว้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ออกไป) เช่นเดียวกับการจัดการสต็อกคงคลังทั่วไป 

.

ดังนั้นสำหรับคนที่มีความรู้มากจนท่วมหัวแต่กลับเอาตัวไม่รอดหรือประยุกต์ใช้องค์ความรู้เหล่านั้นไม่เป็น เมื่อพิจารณาตามหลักของการจัดการสต็อกแล้ว ทั้งสต็อกตัวคนและสต็อกความรู้นั้นก็เป็นได้แค่เพียง Dead Stock ที่ไร้ค่าเท่านั้น 

.

คำว่าโลจิสติกส์เดิมนั้นเป็นศัพท์ทางการทหาร และศาสตร์ด้านการจัดการโลจิสติกส์ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในแวดวงธุรกิจในขณะนี้ก็ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากมุมมองของการส่งกำลังบำรุงในการทำสงครามในสมัยก่อน โดยเทียบเคียงสนามการค้าเป็นเสมือนสนามรบที่ต้องการการจัดการโลจิสติกส์ที่รวดเร็ว ถูกต้อง และต้นทุนต่ำ ในการส่งมอบสินค้าและบริการให้กับลูกค้า

.

การที่หน่วยงานราชการมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบการทำงานและให้บริการอย่างก้าวกระโดดในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็เนื่องมาจากมีการประยุกต์ใช้หลักการในการบริหารธุรกิจ (Business Administration) เข้าไปใช้ในการบริหารรัฐกิจ (Public Administration) อย่างจริงจัง

.

ดังนั้นจินตนาการหรือความสามารถในการคิดนอกกรอบและมองต่างมุมเพื่อหาช่องทางในการประยุกต์ใช้ศาสตร์ต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ (ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นด้านการจัดการพัสดุคงคลังเท่านั้น) ในงานประเภทอื่น ๆ ที่เมื่อดูเพียงผิวเผินแล้วเหมือนเป็นงานคนละเรื่องกันได้ จึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับนักบริหารที่ต้องการความสำเร็จที่โดดเด่นในยุคสมัยแห่งการแข่งขันนี้ ดั่งคำกล่าวของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” หรือ “Imagination is more important than knowledge” (Albert Einstein)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด