พลังงาน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตรวมถึงการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยการจัดการพลังงาน ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในทำนองเดียวกันกับต้นทุนพลังงาน ก็มักจะถูกมองว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเศรษฐศาสตร์กระบวนการ และประสิทธิภาพพลังงาน ก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความสามารถในการแข่งขัน
ศิริพร วันฟั่น |
. |
. |
พลังงาน (Energy) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตรวมถึงการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยการจัดการพลังงาน (Energy Management) ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ในทำนองเดียวกันกับต้นทุนพลังงาน (Energy Costs) ก็มักจะถูกมองว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเศรษฐศาสตร์กระบวนการ (Process economics) และประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency) ก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) |
. |
ในการประกอบธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องนำกลยุทธ์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการ (Administration) การเงิน (Finance) หรือการผลิต (Production) มาใช้ร่วมกัน เพื่อความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ และการจัดการพลังงาน (Energy Management) ก็ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งว่าด้วยเรื่องของแหล่งพลังงาน (Energy Resources) โดยการค้นหาแนวทางการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และลดการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองลง เพื่อที่จะรักษาปริมาณการใช้พลังงาน (Energy Consumption) และต้นทุนพลังงาน (Energy Costs) ผ่านวิธีการควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด |
. |
ประโยชน์ที่ได้จากการจัดการพลังงานจะแตกต่างกันตามแต่ละสภาวการณ์ โดยโอกาสในการที่จะประหยัด (Saving) ยอดรวมการใช้พลังงานรายปีสำหรับพลังงานจากไอน้ำ อากาศ น้ำ ไฟฟ้า และก๊าซ ควรที่จะลดลงได้ 10 % หรือมากกว่านั้น ซึ่งโอกาสเช่นที่ว่านี้สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ โรงงาน ไม่เว้นแม้แต่โรงงานที่มีการบริหารจัดการที่ดีอยู่แล้ว |
. |
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องอาศัยความพยายามและความตระหนัก รวมทั้งไม่มองข้ามความสำคัญในการจัดการการใช้แหล่งพลังงานในสถานประกอบการตนเอง ซึ่งเป็นหนทางหลักที่จะช่วยลดต้นทุนดำเนินงาน (Operating Costs) โดยประโยชน์หลัก ๆ ของโปรแกรมการจัดการพลังงานที่ดีนั้น มักจะแสดงให้เห็นเด่นชัดในยามที่สถานประกอบการมีแผนงานที่จะเพิ่มสาธารณูปโภค (Facilities) สำหรับการผลิตของโรงงาน |
. |
ซึ่งผลจากการดำเนินการที่ดีของโปรแกรมนี้ จะส่งผลให้การติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น Steam Boilers, Air Compressor และ Electrical Services อาจจะเลื่อนออกไปได้หรือติดตั้งเพิ่มในปริมาณที่น้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจะเป็นเช่นนี้โดยกินระยะเวลาหลายปี กรณีเช่นนี้ก็จะทำให้สามารถประหยัดดอกเบี้ยลงได้อีกทางหนึ่ง จากการที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุน (Capital Investment) เพิ่มมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น |
. |
ทั้งนี้การจัดตั้งโปรแกรมการจัดการพลังงานต้องอาศัยพันธะสัญญา (Commitment) จากทุกระดับขององค์กร เพื่อที่ว่ารูปแบบการใช้พลังงาน (Energy Usage Patterns) ในทุก ๆ หน่วยงานจะสามารถทบทวนและปรับใช้อยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง โดยเทคนิคพื้นฐานในการจัดการพลังงานที่จะกล่าวต่อไปนี้ สามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของสถานประกอบการโดยไม่จำกัดขนาดหรือประเภทของกิจการ |
. |
องค์ประกอบพื้นฐานของโปรแกรมการจัดการพลังงาน (Basic Elements of Energy Management Program) |
1. พันธะสัญญาจากผู้บริหารระดับสูง (Top Management Commitment) โดยผู้บริหารระดับสูงต้องตัดสินใจและให้พันธะสัญญาต่อโปรแกรมการจัดการพลังงาน ซึ่งต้องแสดงออกถึงความจริงใจและความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น ทั้งในส่วนของบุคลากรและงบประมาณเพื่อความต่อเนื่องของแผนงาน |
. |
ทั้งนี้ก็เพราะผู้ปฏิบัติงานจะใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดกับโปรแกรมก็ต่อเมื่อผู้บริหารของพวกเขาตระหนักถึงความสำคัญของโปรแกรมนี้อย่างสม่ำเสมอ และถ้าปราศจากการส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหาร ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่โปรแกรมการจัดการพลังงานจะประสบผลสำเร็จลงได้ |
. |
2. ระบุหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลที่มีต่อโปรแกรม (Program Responsibility) |
. |
ในการวางแผนงานและการดำเนินการโปรแกรมการจัดการพลังงานนั้น ต้องระบุหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการโปรแกรมการจัดการพลังงาน (Energy Management Program Committee) ให้ชัดเจน โดยคณะกรรมการนี้จะประกอบไปด้วย ผู้ประสานงานการจัดการพลังงานของโรงงาน (Plant Energy Management Coordinator) ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยผู้บริหาร โดยจะรับหน้าที่เป็นผู้นำของคณะกรรมการและเป็นผู้รายงานตรงต่อฝ่ายบริหาร |
. |
ทั้งนี้ส่วนมากแล้วมักจะพบว่า ประสิทธิผลของโปรแกรมจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับความพยายามและระยะเวลาที่ผู้ประสานงานจะมีให้กับโปรแกรม รวมถึงผู้ประสานงานจะต้องมีภาระหน้าที่พร้อมกับอำนาจในการตัดสินใจ ทั้งนี้ก็เพื่อความคล่องตัวของแผนงาน |
. |
ส่วนสมาชิกที่เหลือ ก็จะเป็นตัวแทนที่มาจากแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พลังงาน เช่น ฝ่ายผลิต ฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายจัดซื้อ และฝ่ายซ่อมบำรุง เป็นต้น ซึ่งสมาชิกแต่ละคนควรที่จะจัดเตรียมข้อเสนอแนะถึงผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อพื้นที่งานของตนเอง โดยประมวลมาจากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานในส่วนงานที่รับผิดชอบ |
. |
และถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันบ้างสำหรับโปรแกรมการจัดการพลังงานในแต่ละสถานประกอบการ แต่การระบุถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้นั้น จะช่วยให้สามารถดำเนินงานตามโปรแกรมฯ อย่างได้ผล |
. |
ในบางกรณีที่มีความสลับซับซ้อน ผู้ประสานงานการจัดการพลังงานของโรงงาน ก็อาจมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากที่ปรึกษา (Consultant) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการพลังงานที่จะคอยให้คำปรึกษา และรวมไปถึงให้คำชี้แนะคณะกรรมการในการที่จะบ่งชี้ว่าส่วนใดของพื้นที่งานของตนเอง ที่สามารถจะใช้การจัดการพลังงานเข้าไปพัฒนาและประหยัดการใช้พลังงานได้ |
. |
นอกจากนี้ ยังอาจจะต้องช่วยชี้แนะในการดำเนินการตรวจประเมินพลังงาน (Energy Audit) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสำเร็จของโปรแกรมการจัดการพลังงานจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกันของบุคลากรในทุกระดับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการคงไว้ซึ่งความตระหนักและยึดมั่นในพันธะสัญญาร่วมกัน |
. |
3. จุดมุ่งหมายของโปรแกรมการจัดการพลังงาน (Program Goals) โดยจุดมุ่งหมายในการประหยัดพลังงาน (Energy Saving Goal) ควรที่จะถูกตั้งไว้ในชั้นต้น เพื่อที่จะระบุได้ถึงเป้าหมาย (Target) ของโปรแกรม ซึ่งจุดมุ่งหมายอาจจะได้รับการทบทวนภายหลังจากที่ได้มีการวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบถึงศักยภาพในการประหยัดพลังงาน |
. |
การที่จุดมุ่งหมายในชั้นต้นจะตั้งไว้สูงเพียงไรหรือควรจะได้รับการทบทวนหรือไม่ หรือจุดมุ่งหมายควรจะแสดงออกมาอย่างไรนั้น ควรจะขึ้นอยู่กับแต่ละสภาวการณ์ ในบางกรณีจุดมุ่งหมายควรที่จะมีลักษณะเป็นการเฉพาะ (Specific) วัดผลได้ (Measurable) และควรเสนอสิ่งจูงใจ (Incentive) อย่างเพียงพอให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่ร่วมมือกันจนสามารถบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายได้ |
. |
เป้าหมายในระยะสั้น (Short–term Target) ที่สามารถประหยัดพลังงานได้ประมาณ 5 % ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ก็ถือว่าอยู่ในระดับทั่วไปที่ยอมรับได้ แต่ถ้าเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงพร้อมกับใช้ระยะเวลาดำเนินการที่ยาวนานเกินไป อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียความกระตือรือร้นของผู้ดำเนินการได้ ทั้งนี้จุดมุ่งหมายตามสภาพความเป็นจริง (Realistic Goals) จะเป็นการดีที่สุด โดยพิจารณาขึ้นมาจากการประยุกต์ใช้เกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ (Standards) ซึ่งจะช่วยระบุได้ว่าพลังงานปริมาณเท่าใดที่สมควรจะถูกใช้สำหรับการใช้ประโยชน์ในแต่ละส่วนงาน |
. |
ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานในการใช้พลังงานของอุตสาหกรรม (Industry Standards) หรือการคำนวณจากปริมาณพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ตามทฤษฎี (Calculation of Theoretical Energy Requirements) สามารถที่จะให้เกณฑ์พื้นฐานเพื่อจะใช้เปรียบเทียบได้ว่า ผลการปฏิบัติงานส่วนใดในปัจจุบันที่สามารถนำมาวัดผลได้ โดยจุดมุ่งหมายและเกณฑ์มาตรฐานควรที่จะจัดตั้งเป็นหน่วยพลังงานที่คุ้นเคยหรือรับทราบโดยทั่วไปของสถานประกอบการนั้น ๆ เช่น Therms, kWh, MMBtu หรือ Lb. เป็นต้น |
. |
4. การวางแผนงานสำหรับโปรแกรมการจัดการพลังงาน (Program Planning) โดยเทคนิคในขั้นแรกของโปรแกรมการจัดการพลังงาน คือการดำเนินการตรวจประเมินพลังงาน (Energy Audit) ซึ่งจะถูกดำเนินการในรูปแบบการสำรวจเป็นชุด ๆ (A Series of Surveys) ที่จะแสดงให้เห็นว่าแต่ละส่วนงานมีการใช้พลังงานและ/หรือสิ้นเปลืองพลังงานอย่างไรบ้าง |
. |
โดยข้อมูลที่ได้จะนำมาใช้ตั้งเป็นฐาน (Base) สำหรับใช้วัดผล และใช้ตั้งเป็นอัตราส่วนความเข้มพลังงาน (Energy Intensity Ratios) ซึ่งเป็นอัตราส่วนของจำนวนพลังงานที่ถูกใช้ไปต่อหน่วยผลผลิตที่โรงงานผลิตขึ้นมาได้ |
. |
สำหรับการวางแผนงานที่มีผลในทางปฏิบัตินั้น จะทำให้ทราบว่าส่วนงานหลัก ๆ มีการใช้พลังงานในปริมาณเท่าใด ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญยิ่ง ถ้าปราศจากข้อมูลในส่วนนี้แล้ว ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถตั้งเกณฑ์มาตรฐานและวัดผลการปฏิบัติงานในแต่ละส่วนของอุปกรณ์ สายการผลิต หรือฝ่ายงานได้ |
. |
ทั้งนี้สำหรับรายการตรวจประเมิน (Audit Lists) ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการทำงานนั้น จะมีการจดบันทึกปริมาณพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ตามทฤษฎี (Theoretical Energy Requirements) ในแต่ละขั้นตอน รวมถึงปริมาณพลังงานที่ถูกใช้ตามความเป็นจริง (Actual Energy Used) และผลต่าง (Variance) ระหว่างปริมาณพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ตามทฤษฎีและปริมาณพลังงานที่ถูกใช้ตามความเป็นจริง |
. |
ซึ่งจุดมุ่งหมายจะอยู่ที่การลดตัวเลขความแตกต่างให้มีค่าน้อยที่สุด โดยอาศัยการชี้บ่งว่าการดำเนินงานใดที่สิ้นเปลืองพลังงานและสามารถจะได้รับการแก้ไขโดยการดำเนินการของผู้ปฏิบัติงานและช่างซ่อมบำรุง ทั้งนี้จุดมุ่งหมายอาจแสดงออกมาในรูปของงบประมาณพลังงาน (Energy Budget) ก็ได้ ตามตัวอย่างตารางที่ 1 |
. |
ตารางที่ 1 แบบฟอร์มแสดงงบประมาณพลังงาน (Energy Budget) |
. |
การตรวจประเมินจะเปิดเผยว่าสถานที่ใดที่มีความจำเป็นในการตรวจวัดการไหลของพลังงาน (Energy Flow Measurement) และสมควรที่จะติดตั้งเครื่องวัดพลังงานหรือไม่ โดยอาจพิจารณาจากต้นทุนพลังงานรายปี ถ้ามียอดเกิน 5 เท่าของต้นทุนเครื่องวัดพลังงาน ก็สมควรที่จะติดตั้ง ทั้งนี้พลังงานสามารถถูกวัดในหน่วยพลังงานใด ๆ ก็ได้ |
. |
แต่ควรสอดคล้องกันเมื่อยามต้องการหน่วยพลังงานที่สมมูลกันกับทุกแหล่งพลังงานที่ใช้ เช่น kilowatt–hour (kWh) หรือ MMBtu ที่อาจถูกใช้เป็นตัวหาร (หมายเหตุ : 1 x 106 Btu = 293 kWh = 1 MMBtu = 100,000 Btu = 1 Therm) อย่างไรก็ตาม การตรวจประเมินพลังงานควรที่จะดำเนินการเป็น 3 ช่วงด้วยกัน ดังนี้คือ |
. |
ช่วงที่ 1 การเก็บรวบรวมข้อมูล (Phase I–Data Gathering) โดยตรรกะแล้ว สิ่งแรกที่สามารถเริ่มดำเนินการตรวจประเมินการใช้พลังงานได้ ก็คือ ตรวจสอบจากบิลค่าใช้จ่ายพลังงานของสาธารณูปโภค (Utility Bills) ซึ่งอย่างน้อย ๆ ก็ควรมีข้อมูลในช่วงระยะเวลา 1 รอบปีที่ผ่านมา |
. |
เพื่อที่จะสามารถนำไปตั้งเป็นข้อมูลพื้นฐาน ที่จะใช้ในการคาดการณ์และเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานในปัจจุบันได้ ส่วนข้อมูลในส่วนของคลังอุปกรณ์ที่ใช้พลังงาน (Inventory of Energy–using Equipment) ก็ควรที่จะถูกจัดเตรียมไว้เช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงข้อมูลพื้นฐานการใช้พลังงาน (โดยมากแล้วสังเกตได้จากแผ่นป้ายชื่อของอุปกรณ์นั้น ๆ – Nameplates) ดังแสดงตัวอย่างในตารางที่ 2 |
. |
ตารางที่ 2 แบบฟอร์มบันทึกข้อมูลการจัดการพลังงานของคลังอุปกรณ์ที่ใช้ก๊าซหรือไฟฟ้า (Energy Management Equipment Inventory Record–gas/Electric) |
. |
ข้อมูลพลังงานที่ใช้ที่ควรถูกตรวจประเมินต่อไป คือ ข้อมูลการใช้พลังงานโดยรวมของแต่ละหน่วยงานและแยกย่อยออกเป็นแต่ละระบบและอุปกรณ์ ทั้งนี้จำนวนรายละเอียดของการสำรวจจะขึ้นอยู่กับแต่ละสภาวการณ์ ซึ่งประการแรกในการสำรวจทางกายภาพของโรงงาน ควรจะชี้บ่งถึงการสิ้นเปลืองพลังงานซึ่งสังเกตได้และควรจะได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังแสดงเป็นตัวอย่างในตารางที่ 3 |
. |
การสำรวจนี้ควรที่จะดำเนินการทีละหน่วยงาน และในขั้นตอนการดำเนินงานใด ๆ ที่สิ้นเปลืองพลังงานควรที่จะนำมาจัดทำเป็นเอกสารวิธีการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม สำหรับธุรกิจการค้า (Commercial Business) นั้น การใช้พลังงานส่วนมากแล้วจะเป็นไปเพื่อดูแลและจัดการสถานที่ (Housekeeping) เช่น เครื่องปรับอากาศ แสงสว่าง และระบบจ่ายน้ำอุ่น เป็นต้น |
. |
ในขณะที่การสำรวจโรงงานอุตสาหกรรมกระบวนการนั้น นอกจากจะครอบคลุมการดูแลจัดการสถานที่ตามปกติแล้ว ยังรวมถึงประเด็นอื่น ๆ อีก เช่น ท่อสาธารณูปโภครั่ว ฉนวนเสื่อมสภาพ อุปกรณ์ถูกปล่อยให้หมุนไปเปล่า ๆ แทนที่จะปิดเครื่อง หรือมีบางส่วนของการดำเนินงานหรือการซ่อมบำรุงที่ดำเนินการอย่างไม่เหมาะสม |
. |
ช่วงที่ 2 ดุลพลังงาน (Phase II–Energy Balances) การสำรวจลำดับถัดมาควรจะเป็นการพัฒนาดุลพลังงานสำหรับแต่ละกระบวนการ หน่วยงาน และอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้พลังงาน วัตถุประสงค์แรกเริ่มของดุลพลังงานอาจจะพิจารณาไปที่ประสิทธิภาพโดยรวม (Overall Efficiency) ของหม้อไอน้ำ (Boiler) หรือเตาหลอม (Furnace) |
. |
ซึ่งการที่จะก่อให้เกิดคุณค่ามากที่สุด จะอยู่ที่การบ่งชี้วิถีทางที่อุปทานพลังงานจะถูกใช้ประโยชน์ได้อย่างสมเหตุสมผล โดยการเปรียบเทียบเกณฑ์มาตรฐานที่ทราบหรือที่มีอยู่ก่อนหน้า อันจะทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการใช้พลังงานอย่างไร้ประสิทธิภาพหรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ขอบเขตมีมากแค่ไหน |
. |
ซึ่งดุลพลังงานจะเป็นการวัดปริมาณพลังงานที่ป้อนเข้าสู่ระบบเปรียบเทียบกับพลังงานที่ทิ้งไป โดยดุลพลังงานเช่นนี้อาจจะอ้างถึงช่วงใดช่วงหนึ่งของระยะเวลาดำเนินงาน เช่น ระยะเวลา 1 ชั่วโมง หรือช่วงระยะเวลาที่ใช้จนครบรอบการดำเนินงานอย่างเสร็จสมบูรณ์ หรืออาจอยู่บนฐานของจำนวนหน่วยของวัสดุที่ถูกผลิต |
. |
การสร้างดุลพลังงานนั้น สามารถดำเนินการได้ทั้งแบบง่ายและแบบซับซ้อน และเมื่อการวิเคราะห์รายละเอียดเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการแบ่งย่อยระบบออกเป็นส่วนประกอบสำคัญหลาย ๆ ส่วน และสร้างดุลพลังงานให้เกิดขึ้นกับแต่ละส่วนย่อยนั้น ๆ และจากข้อมูลบันทึกเกี่ยวกับการวัดพลังงานที่ป้อนเข้าสู่ระบบกับปริมาณหน่วยผลิตที่ออกมา ก็สามารถที่จะคำนวณอัตราส่วนความเข้มของพลังงานได้ ทั้งนี้การใช้พลังงานระหว่างช่วงนอกเวลางานปกติก็ควรที่จะได้รับการสำรวจด้วยเช่นกัน |
. |
ตัวอย่างแบบฟอร์มดังตารางที่ 4 สามารถที่จะถูกใช้ในการติดตามตรวจสอบการใช้พลังงานของโรงงาน หน่วยงาน และกระบวนการได้ โดยแบบฟอร์มนี้สามารถที่จะดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของพื้นที่งานได้ และถ้าระบบงานมีความสลับซับซ้อนมาก ก็อาจจำเป็นต้องใช้ระบบติดตามตรวจสอบแบบออนไลน์ (On–line Monitoring Systems) ซึ่งสามารถที่จะติดตั้งเพื่อติดตามตรวจสอบพลังงานที่ใช้ ณ ที่หน่วยงานนั้น ๆ หรือที่ระดับสายการผลิต |
. |
ช่วงที่ 3 การวิเคราะห์ (Phase III–Analysis) การวิเคราะห์ทางวิศวกรรม (Engineering Analysis) ต้องการการประเมินในการควบคุมกระบวนการ (Process Control) โดยคำนึงถึงผลตอบแทนสูงสุด ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลที่จำเป็นประกอบการวิเคราะห์ด้วย เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ มูลค่าผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบของวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ |
. |
มูลค่าปัจจุบันของความผันแปรทางกระบวนการ ข้อจำกัดของปฏิบัติการ (เช่น ขีดจำกัดทางด้านความปลอดภัย) และคุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ต้องสัมพันธ์กับผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Return) ผ่านทางรูปแบบกระบวนการและยุทธศาสตร์ทางปฏิบัติการที่ดีเยี่ยม ที่จะช่วยให้ผลตอบแทนที่ย้อนกลับมาคุ้มค่ามากที่สุด |
. |
ถ้าปราศจากการตรวจประเมินพลังงาน ก็เป็นการยากที่จะค้นพบว่าจะอนุรักษ์พลังงานได้อย่างไร และจะวัดผลความสำเร็จของโปรแกรมการจัดการพลังงานได้อย่างไรเช่นกัน ซึ่งถ้ามีการตรวจประเมินพลังงานเช่นนี้แล้ว ก็มีโอกาสที่จะพัฒนามาตรการที่นำไปสู่การใช้พลังงานอย่างรอบคอบได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับขั้นตอนดำเนินการที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน |
. |
5. การนำโปรแกรมการจัดการพลังงานมาปฏิบัติ (Program Implementation) โดยการสิ้นเปลืองพลังงานที่สังเกตได้จากการสำรวจในแรกเริ่ม ควรที่จะได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และมีการจดบันทึกวิธีการแก้ไขนั้นไว้ด้วย ซึ่งการสิ้นเปลืองพลังงานเหล่านี้ สามารถที่จะถูกขจัดไปได้โดยการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนดำเนินการที่ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก และสามารถที่จะให้ผลในการประหยัดพลังงานได้ประมาณ 5–20 เปอร์เซ็นต์ |
. |
การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการตรวจประเมิน จะเปิดเผยให้เห็นว่าแหล่งพลังงานใด (เช่น ไอน้ำ ก๊าซ และไฟฟ้า) ที่แสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพที่สุดและสมควรจะได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน โดยการวิเคราะห์ต้นทุนและผลกำไร (ถ้าสามารถเปรียบเทียบอยู่บนพื้นฐานของต้นทุนพลังงานในอนาคต ก็จะเป็นการดี) จะเปิดเผยถึงผลดำเนินงานของแต่ละโครงการพัฒนาที่มีศักยภาพ และสามารถจัดลำดับความสำคัญได้อีกด้วย โดยโครงการใดที่ถูกคัดเลือกก็ควรที่จะนำมาปฏิบัติเมื่อได้รับการรับรองแล้ว |
. |
6. การพัฒนาของความพยายามอย่างต่อเนื่องในการจัดการพลังงาน (Development of Continuing Energy Management Efforts) โดยอัตราส่วนความเข้มพลังงานสำหรับทั่วทั้งโรงงาน ทุก ๆ ปฏิบัติการของหน่วยงาน และแต่ละกระบวนการที่มีนัยสำคัญ ควรที่จะถูกคำนวณอย่างสม่ำเสมอ (เช่น รายเดือน) และเปรียบเทียบกับมูลค่าที่มากที่สุด ซึ่งอัตราส่วนนี้จะเป็นเหมือนสิ่งที่คอยเฝ้าติดตามตรวจสอบ เพื่อแสดงถึงแนวโน้มที่ไม่พึงปรารถนาและควรได้รับการแก้ไขให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ |
. |
การออกแบบสำหรับโครงการที่ต้องลงทุน ก็ควรที่จะได้รับการประเมินในเรื่องประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency) โดยต้นทุนในอนาคตและอุปทานด้านความมั่นคงของพลังงานสำหรับโครงการที่ถูกเสนอ ก็ควรที่จะได้รับการพิจารณาด้วยเช่นกัน |
. |
การรายงานอย่างสม่ำเสมอที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของทุกหน่วยงานในการดำเนินการโปรแกรมการจัดการพลังงานถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ส่วนการวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน (Performance Analysis) ในแต่ละระบบที่มีการใช้พลังงาน ก็ควรจะกระทำอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน และควรที่จะแสดงให้เห็นถึงผลการปฏิบัติงานในรูปแบบของพลังงานที่ถูกใช้ ผลลัพธ์ที่ออกมา จำนวนชั่วโมงการทำงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในห้องปฏิบัติการ และอัตราส่วนความเข้มพลังงาน |
. |
ในช่วงเวลาปกติ ผู้ประสานงานโปรแกรมการจัดการพลังงานควรที่จะจัดประชุมเพื่อทบทวนความก้าวหน้า รายการส่วนต่าง ๆ ของโครงการที่ถูกปรับปรุง และจัดตั้งจุดมุ่งหมายใหม่ |
. |
สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ ทุก ๆ คนในองค์กรต้องเข้ามามีส่วนร่วมในโปรแกรมการจัดการพลังงาน โดยความสนใจของผู้ปฏิบัติงานควรที่จะถูกกระตุ้นให้เกิดความตระหนักอยู่ตลอดเวลา โดยการให้ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เอกสารตีพิมพ์เผยแพร่สำหรับผู้ปฏิบัติงาน ป้ายประกาศ และการบรรลุเป้าหมายของแต่ละส่วนงานก็ควรได้รับการเผยแพร่ด้วยเช่นกัน |
. |
ผู้ประสานงานโปรแกรมการจัดการพลังงานควรที่จะรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะต่อผู้บริหาร ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารมีโอกาสที่จะได้ทบทวนโปรแกรมและแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของผู้บริหารอีกด้วย |
. |
ตารางที่ 3 แสดงตัวอย่างการสำรวจการประหยัดพลังงาน (Energy Saving Survey) |
. |
ตารางที่ 4 แบบฟอร์มบันทึกข้อมูลการใช้พลังงานรายเดือน (Monthly Energy Use Record) |
. |
หมายเหตุ: รูปแบบแบบฟอร์มตามตารางด้านบนนี้ สามารถที่จะปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละส่วนงานหรือกระบวนการที่ใช้พลังงาน เช่นเดียวกันกับอัตราส่วนความเข้มพลังงาน (Energy Intensity Ratios) สำหรับแหล่งพลังงานอื่น ๆ เช่น Compressed Air, Steam, Condensate, or Water ก็สามารถเพิ่มเติมเข้าไปได้เช่นเดียวกัน |
. |
เอกสารอ้างอิง |
* Guidelines for Energy Management Overview; ENERGY STAR Partners 2010. |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด