นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-industrial Estate) ถือว่าเป็นการประยุกต์หลักทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมในระดับจุลภาคอีกรูปแบบหนึ่ง และยังเป็นแนวคิดที่นักอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอย่างมาก ด้วยความเชื่อว่า แนวคิดเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาสำคัญ ๆ ของการดำเนินกิจการนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันได้
ศิริรัตน์ ศิริพรวิศาล |
. |
. |
ในฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้หยิบยกเอาแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม (Industrial Ecology) มานำเสนอ ซึ่งเป็นแนวทฤษฎีที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบอุตสาหกรรม โดยการมุ่งเน้นให้มีการปรับปรุงการไหลของวัสดุและพลังงานให้เป็นวงจรปิดมากที่สุดเพื่อลดการสูญหายของวัสดุไปจากระบบอุตสาหกรรมพร้อมทั้งลดปัญหามลภาวะจากของเสียทางอุตสาหกรรมไปพร้อม ๆ กัน |
. |
แนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค การประยุกต์ระดับมหภาค (Macro Scale Application) มักจะเกี่ยวข้องกับการวางแผน การออกแบบ วางกรอบนโยบายที่เอื้อให้เกิดระบบนิเวศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ระบบนิเวศอุตสาหกรรมทั้งมวลของโลก (Global Industrial Ecosystem) หรือระบบนิเวศอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค (Regional Industrial Ecosystem) เป็นต้น |
. |
ส่วนการประยุกต์ระดับจุลภาค (Micro Scale Application) ก็จะหมายถึงการนำเอาหลักทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมไปประยุกต์ในระดับองค์กร กลุ่มองค์กร หรือชุมชนของสถานประกอบการอุตสาหกรรม นั่นเอง ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพิจารณาการประยุกต์แนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมในการวางแผน ออกแบบ และดำเนินกิจการ |
. |
นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-industrial Estate) ถือว่าเป็นการประยุกต์หลักทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมในระดับจุลภาคอีกรูปแบบหนึ่ง และยังเป็นแนวคิดที่นักอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอย่างมาก ด้วยความเชื่อว่า แนวคิดเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาสำคัญ ๆ ของการดำเนินกิจการนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะปัญหาการกระจุกตัวของกากอุตสาหกรรมจำนวนมาก และปัญหามลพิษที่ถูกระบายออกสู่สภาพแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียง นั่นเอง |
. |
นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-Industrial Estates) |
นิคมอุตสาหกรรมถือว่าเป็นโครงสร้างอย่างหนึ่งของระบบอุตสาหกรรมยุคใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยความประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) กล่าวคือ การย้ายสถานประกอบการอุตสาหกรรมหลาย ๆ แห่งมาไปตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกันและใช้ปัจจัยพื้นฐานหรือระบบสาธารณูปโภคเดียวกันจะช่วยเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุนด้านสาธารณูปโภค |
. |
นอกจากนั้น อุสาหกรรมยังได้รับประโยชน์จากบริการต่าง ๆ ที่นิคมอุตสาหกรรมมอบให้ ผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้ากันมีความใกล้ชิดกัน ช่วยให้สามารถสื่อสารกันหรือส่งมอบสินค้าระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุนด้านการขนส่ง ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีทั้งต่อสถานประกอบการและต่อผู้ให้บริการนิคมอุตสาหกรรมไปพร้อม ๆ กัน |
. |
แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น นิคมอุตสาหกรรมก็สามารถสร้างผลกระทบด้านลบขึ้นได้ โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม การที่มีสถานประกอบการจำนวนมากตั้งอยู่บนเขตที่ดินเดียวกัน ทำให้กิจกรรมทางอุตสาหกรรมในพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมมีความเค้น สถานประกอบการแต่ละแห่งจะมีการถ่ายเทของเสียออกมาพร้อม ๆ กัน |
. |
จนทำให้ระบบนิเวศข้างเคียงไม่สามารถรองรับหรือฟื้นสภาพได้ทัน จนทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วกว่าเขตอื่น ๆ และยิ่งกว่านั้นยังอาจสิ่งผลกระทบต่อเนื่องถึงสุขภาพและสวัสดิภาพของคนในชุมชนรอบ ๆ นิคมอุตสาหกรรม |
. |
ตารางที่ 1 รายผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มักพบในเขตนิคมอุตสาหกรรม |
. |
เพื่อที่จะรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายนั้น นิคมอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องเตรียมการและใช้ความพยายามอย่างมากในการจัดการต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งก็จะมีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างรัดกุม ทั้งในการวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการควบคุมมลพิษ เช่น จัดให้มีโรงงานบำบัดน้ำเสียภายในนิคม ฯ จัดให้มีระบบขนถ่ายขยะและกากอุตสาหกรรมออกนอกระบบ รวมถึงการวางข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้เช่าพื้นที่นิคม ฯ เป็นต้น |
. |
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ เหล่านั้น ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองงบประมาณทั้งสิ้น และในความเป็นจริงปัญหาสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ อย่างก็ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีการริเริ่มแนวคิดเรื่อง นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ ขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ จะช่วยคลี่คลายทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งหลายเผชิญอยู่ได้ |
. |
ความหมายและคุณลักษณะของนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ |
โดยทั่วไปเวลาที่กล่าวถึงคำว่า Eco-industrial Estate หลายท่านอาจจะใช้คำแปลว่า นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ก็ได้ แต่เพื่อให้ได้ความหมายที่ครอบคลุมมากที่สุด ในบทความนี้จึงขอใช้คำว่า นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ แทน ทั้งนี้ก็เพราะคำว่า Eco ซึ่งเป็นคำอุปสรรค (Prefix) นั้นแท้จริงแล้วมีความหมายสองนัย คือ Ecological ซึ่งแปลว่า เชิงนิเวศ และ Economy ซึ่งแปลว่า เชิงเศรษฐกิจ ดังนั้น นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ จึงหมายถึงดังนี้ |
. |
นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-industrial Estate) หมายถึง กลุ่มของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นยกระดับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจ โดยอาศัยระบบสาธารณูปโภคร่วมกัน และให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันในการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ทั้งในเรื่องพลังงานและวัสดุต่าง ๆ โดยการทำงานร่วมกันพร้อม ๆ กัน |
. |
กลุ่มธุรกิจเหล่านี้จะมุ่งเน้นผลประโยชน์สะสม ผลประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับร่วมกันมากกว่า ผลรวมของผลประโยชน์ของแต่สถานประกอบการ หรือผลประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว สำหรับตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ ได้แก่ ธุรกิจ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องให้ทั้ง 4 ด้านมีความเหมาะสม คุ้มค่า และสมดุลกันทั้งหมด |
. |
นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศจะมีความแตกต่างจากนิคมอุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรมทั่วไปตรงที่ นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถานประกอบการในนิคม ฯ มีการแลกเปลี่ยนผลพลอยได้ ของเสียและทรัพยากรระหว่างกัน และมีการพึ่งพาทรัพยากรระหว่างกันมากขึ้น |
. |
นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศที่สมบูรณ์จะมีการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างเป็นวงจรปิด ของเสียหรือวัสดุเหลือทิ้งจากสถานประกอบการหนึ่งจะถูกป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับอีกสถานประกอบการหนึ่ง ทำให้ของเสียที่สะสมในสายธารของเสีย (Waste Stream) น้อยลง และขณะเดียวกัน ต้นทุนในการควบคุมและกำจัดมลพิษก็ลดลงด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม นั่นเอง |
. |
ดังนั้น ถ้าหากใช้แนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมมาอธิบาย ก็อาจจะสรุปคุณลักษณะสำคัญของนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ ได้ดังนี้ |
. |
2. มีความพยายามที่จะลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยการใช้วัสดุทดแทนที่หมุนเวียนได้ มีการแลกเปลี่ยนวัสดุระหว่างกันและการจัดการของเสียอย่างครบวงจร |
. |
3. มีความพยายามในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยอาศัยการออกแบบอาคารสถานที่ มีการกู้คืนพลังงาน และมีการจัดลำดับการใช้พลังงานอย่างเป็นระบบ (Energy Cascading) |
. |
4. มีความพยายามในการอนุรักษ์วัสดุโดยการ นำกลับไปใช้ใหม่ (Reuse) การกู้คืน (Recovery) และการรีไซเคิล (Recycling) |
. |
อุปสรรคของนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ |
ถึงแม้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศจะมีข้อได้เปรียบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐศาสตร์ แต่ในทางปฏิบัติ การดำเนินกิจการนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศก็ยังต้องเผชิญความยุ่งยากหลายประการ ดังต่อไปนี้ |
. |
1. ผู้เช่าที่มีความเข้ากันได้ (Compatible Tenants) ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศซึ่งมุ่งเน้นให้มีการไหลเวียนของวัสดุและพลังงานเป็นระบบปิด คือ การวางแผนเกี่ยวกับผู้เช่าพื้นที่ซึ่งต้องมีความเข้ากันได้ในเชิงของนิเวศอุตสาหกรรม นั่นหมายความว่า สถานประกอบการที่จะเข้ามาตั้งในนิคมอุสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศจะต้องมีความหลากหลาย และเป็นกิจการที่มีความเกี่ยวเนื่องกันในเชิงของการใช้วัสดุและพลังงาน |
. |
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีกิจการเฟอร์นิเจอร์เข้ามาตั้งก็จะต้องวางแผนว่า วัสดุเศษเหลือจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์นั้นเหมาะที่จะเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมใด และจากนั้นจึงส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนั้น ๆ ย้ายเข้ามาประกอบการในนิคม ฯ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก |
. |
2. ความเป็นไปได้ในเชิงการค้า (Commercial Viability) นักลงทุนยังไม่มั่นใจว่าการลงทุนในโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศจะมีความคุ้มค่าเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีหลักประกันความสำเร็จที่เพียงพอ และที่สำคัญคือ การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศจะเห็นผลช้า เพราะต้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลายอย่างและค่อนข้างซับซ้อน ทำให้ระยะเวลาการคืนทุนช้ากว่าการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ |
. |
3. ความเสี่ยง (Risk) เช่นเดียวกับแนวคิดเชิงนวัตกรรมทั่วไปที่มักจะมีความเสี่ยงสูง นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศเป็นแนวคิดใหม่ที่ยังความเสี่ยงหลายประการแอบแฝงอยู่ ซึ่งความเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่ง เกี่ยวข้องกับการพึ่งพากันระหว่างองค์กร โดยเฉพาะในเชิงวัสดุและพลังงาน (Industrial Symbiosis) เมื่อเป็นเช่นนั้น องค์กรที่เกี่ยวข้องก็จะต้องพยายามรักษาเสถียรภาพการดำเนินงานให้สม่ำเสมอตลอดเวลา เพราะถ้าหากการดำเนินงานขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเกิดความขัดข้องขึ้น ก็จะทำให้องค์กรอื่นได้รับความเสียหายตามไปด้วย |
. |
4. ปรัชญาธุรกิจที่ไม่ลงรอยกัน (Competing Philosophies) ในขณะที่นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศต้องการความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ แต่เนื่องจากปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของแต่ละสถานประกอบการไม่เหมือนกัน และในบางกรณีก็อาจจะไม่ลงรอยกันนัก ซึ่งจุดนี้ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญอีกข้อหนึ่งสำหรับนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ กรณีเช่นนี้ก็คล้าย ๆ กับการร่วมทุนระหว่างสองกิจการ บางครั้งก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนค่านิยมของแต่ละองค์กรให้มีความสอดคล้องต้องกันมากขึ้น ซึ่งก็มีความยุ่งยากอยู่พอสมควร |
. |
ตารางที่ 2 ความได้เปรียบ (เชิงทฤษฎี) ของนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ |
. |
กรณีศึกษา: ชุมชนอุตสาหกรรม Kalundborg |
กรณีตัวอย่างของนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศที่ถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุดได้แก่ ชุมชนอุตสาหกรรม Kalundborg ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่ดำเนินกิจการในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ |
. |
* โรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหิน Asnaes * โรงงานผลิตพลาสเจอร์บอร์ด GYPROC * โรงงานด้านเภสัชกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ Nordisk/Novozymes * บริษัทด้านการฟื้นสภาพดิน A/S Bioteknisk Jordrens * โรงกลั่นน้ำมัน STATOIL |
. |
บริษัทเหล่านนี้ได้สร้างความสัมพันธ์เชิงนิเวศระว่างกัน โดยการขายผลิตผลพลอยได้ (By Product) จากกิจการของตนให้กับบริษัทเพื่อนบ้านอย่างเป็นระบบตามแบบแผนของระบบนิเวศอุตสาหกรรม (รูปที่ 1 และ 2) |
. |
* โรงงานไฟฟ้า Asnaes ถือว่าเป็นศูนย์กลางของระบบ โดยมีการรีไซเคิลพลังงานความร้อนจากการผลิตกระแสไฟฟ้าให้อยู่ในรูปไอร้อน (Steam) ส่งตรงไปยัง STATOIL และ Novo Nordisk นอกจากนั้นยังส่งความร้อนที่หลงเหลืออยู่ส่วนหนึ่งไปยังเรือนเพาะปลูกและฟาร์มเลี้ยงปลาของเกษตรกรในท้องถิ่น ซึ่งในส่วนนี้สามารถทุ่นการใช้พลังงานจากน้ำมันได้ถึง 3,500 ตัน/ปี |
. |
นอกจากนั้น กระบวนการแยกซัลเฟอร์จากเขม่าควันในโรงงานไฟฟ้ายังทำให้เกิดแคลเซียมซัลเฟต ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตแผ่นกระเบื้องได้ Asnaes จึงขายผลิตผลพลอยได้นี้ให้กับ Gyproc เพื่อใช้เป็นวัสดุทดแทนแร่ยิปซัม และของเหลือทิ้งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งจากโรงงานไฟฟ้าแห่งนี้คือ เถ้าลอย (Fly Ash) ก็ยังสามารถขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้อีกด้วย |
. |
* โรงกลั่นน้ำมัน STATOIL มีผลิตผลพลอยได้ที่สำคัญคือแก๊สธรรมชาติ ซึ่งเดิมทียังนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้เนื่องจากมีส่วนผสมของซัลเฟอร์มากเกินไป จนกระทั่งปี ค.ศ.1991 ได้มีการนำกระบวนการแยกซัลเฟอร์เข้าไปติดตั้ง จึงทำให้ได้แก๊สที่บริสุทธิ์เพียงพอสำหรับการเผาไหม้ STATOIL ขายแก๊สที่ได้นั้นให้กับ Gyproc และ โรงงานไฟฟ้า Asnaes ซึ่งในการนี้สามารถลดการใช้ถ่านหินได้ถึง 30,000 ตันต่อปี |
. |
นอกจากนั้นยังขายซัลเฟอร์ที่แยกออกมาได้ให้กับโรงงานเคมี Kemira ด้วย ความร้อนที่กู้คืนได้จากประบวนการกลั่นยังถูกนำไปใช้ในการผลิตน้ำอุ่นให้กับฟาร์มเลี้ยงปลาของเกษตรกรในท้องถิ่นด้วย |
. |
* สำหรับโรงงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพรายใหญ่อย่าง Novo Nordisk พวกเขามีกากตะกอนจำนวนมากจากกระบวนการหมัก กากตะกอนเหล่านี้ถูกนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยชีวภาพสำหรับการเพาะปลูกพืชได้ และ Novo Nordisk ยังถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ให้สามารถนำกากตะกอนจากก้นบ่อเลี้ยงปลาไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพได้เช่นกัน |
. |
รูปที่ 1 แผนผังแสดงความสัมพันธ์เซิงนิเวศอุตสาหกรรมที่ Kalundborg (Hansen 2003) |
. |
กรณีตัวอย่างที่กล่าวมาได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จคู่ควบที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใน Kalundborg ได้รับ ทั้งการลดการละสมการของเสีย และการลดต้นทุน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นักอุตสาหกรรมทั้งหลายคาดหวังจะได้รับจากนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ ดังนั้น ถึงแม้การสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ จะมีความยุ่งยากอยู่พอสมควร แต่หลักการของนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศก็ยังเป็นแนวคิดที่หลาย ๆ ฝ่ายให้การสนับสนุน เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางในการจัดการนิคมอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนกว่า |
. |
แนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมได้ให้เค้าโครงการดำเนินงานที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะสามารถสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศขึ้นอย่างไร ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนตลอดไปจนถึงเครื่องมือและหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจเพื่อการดำเนินงานต่างชึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจการนิคมอุตสาหกรรมลงได้ ส่วนที่เหลือก็คงจะต้องพึ่งความเอาจริงเอาจังของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนักวิชาการและนักอุตสาหกรรม ในการร่วมกันผลักดันให้เกิด นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ ที่แท้จริงขึ้นมา |
. |
รูปที่ 2 แผนผังแสดงปริมาณการไหลเวียนของน้ำในระบบอุตสาหกรรมที่ Kalundborg (GJ/yr) ในปี ค.ศ.2002 (Hansen 2004) |
. |
WT = Wastewater Treatment FGD = Fluegas Desulfurization mill. = Million 1 GJ = 109 joules (J, SI) 2.39 105 kilocalories (kcal) 9.48 ? 105 British thermal units (BTU) 1 m3 (SI) = 103 liters (L) 264.2 gallons (gal) |
. |
เอกสารอ้างอิง |
* Cõté, R.P. and Cohen-Rosenthal, E. (1998) Designing eco-industrial parks: a synthesis of some experiences. Journal of Cleaner Production 6, p 181–188 |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด