ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาคำว่าเอาต์ซอร์ส (Outsource) เป็นคำที่เราเริ่มได้ยินบ่อยและคุ้นหูมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในแวดวงธุรกิจทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่าการเอาต์ซอร์สนั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและโดดเด่นในการจัดการโซ่อุทาน
ดร.อัศม์เดช วานิชชินชัย |
. |
. |
มีคาถากันเจ๊งบทหนึ่งที่ผมมักอ่านพบจากคำให้สัมภาษณ์ในหลายวาระของอัครอภิมหาเศรษฐีระดับโลกชาวไทยท่านหนึ่ง ซึ่งผมก็เองเชื่อและเห็นด้วยอย่างสนิทใจว่าผู้บริหารที่อยากใหญ่นั้นควรต้องท่องดัง ๆ ให้ขึ้นใจว่า “จงทำเฉพาะสิ่งที่ตนเองชำนาญ ส่วนสิ่งที่ตนไม่ชำนาญนั้น จงหาผู้ที่ชำนาญมาช่วยทำให้” |
.. |
ผมเชื่อว่าหากผู้บริหารสามารถท่องคาถาบทนี้ได้ มีความข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแล้ว นอกจากจะช่วยกันเจ๊งได้แล้ว ก็ยังจะสามารถช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่งคั่ง มั่งคงและรวดเร็วอีกด้วย |
. |
ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาคำว่าเอาต์ซอร์ส (Outsource) เป็นคำที่เราเริ่มได้ยินบ่อยและคุ้นหูมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในแวดวงธุรกิจทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่าการเอาต์ซอร์สนั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและโดดเด่นในการจัดการโซ่อุทาน |
. |
คำว่าเอาต์ซอร์สนั้นถ้าแปลตรง ๆ ตัวจากรากศัพท์ก็คือแหล่งจากภายนอก (Out = ภายนอก, Source = แหล่ง) หมายถึง การนำธุรกรรมที่เคยทำด้วยตนเองไปให้บุคคลหรือหน่วยงานภายนอกช่วยทำแทน ธุรกรรมที่เอาต์ซอร์สออกไปนั้นเป็นได้ทั้งการผลิตสินค้า เช่น งานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ (House Brand) หรือไพรเวตแบรนด์ (Private Brand) หรืออาจเป็นงานบริการทั้งงานบริการลูกค้าภายนอกและภายในองค์กรเอง |
. |
เช่น งานขนส่งสินค้า บริหารคลังสินค้า ซ่อมบำรุงเครื่องจักร ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ งานสอนในมหาวิทยาลัย จัดหาคนงาน งานบัญชี งานแม่บ้าน ฯลฯ การเอาต์ซอร์สนั้นตรงกันข้ามกับการอินซอร์ส (Insource) หรืออินเฮาส์ (Inhouse) ซึ่งหมายถึงการทำธุรกรรมนั้น ๆ ด้วยตนเองหรือทำกันเองภายในบริษัท ซึ่งทั่วไปแล้วคนไทยเรามักไม่ค่อยใช้คำนี้กันสักเท่าไร จะมีใช้บ้างก็กับการจัดฝึกอบรมภายในบริษัทที่เรียกกันว่า Inhouse Training |
. |
ผมเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดคนทำงานในบริษัทส่วนมากก็คงจะคุ้นเคยกับพนักงานเอาต์ซอร์สที่มาทำงานเป็นแม่บ้านหรือพนักงานรักษาความปลอดภัยให้กับบริษัทของเรา ซึ่งงานเอาต์ซอร์สทั้งสองนี้น่าจะเป็นงานพื้นฐานที่อยู่ใกล้ตัวและคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันมากที่สุด บริษัทส่วนใหญ่ที่ผมได้ติดต่อในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามักใช้บริการทั้งสองผ่านบริษัทเอาต์ซอร์ส มีเพียงไม่กี่บริษัทที่ยังคงทำงานทั้งสองนี้เอง |
. |
ซึ่งเมื่อถามถึงเหตุผลจากบริษัทเหล่านี้ก็มักได้คำตอบว่าทำเองถูกกว่าซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นเหตุผลหลัก และอาจได้รับเหตุผลสนับสนุนแก้เขินเพิ่มเติมเล็กน้อยด้วยว่าเอาต์ซอร์สทำงานไม่ดี เราทำเองได้ดีกว่า (ทั้ง ๆ ที่บางแห่งยังไม่เคยใช้บริการเอาต์ซอร์สเลยด้วยซ้ำ) บางท่านอรรถาอธิบายเพิ่มเติมให้ฟังเบ็ดเสร็จว่าถ้าบริษัทจ้างคนงานมาทำงานพื้นฐานเหล่านี้เองก็แค่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดให้กับพนักงานโดยตรง |
. |
แต่ถ้าหากจ้างจากบริษัทเอาต์ซอร์ส บริษัทเอาต์ซอร์สก็จะคิดค่าหัวคิวเพิ่มเข้าไปทำให้ต้องจ่ายเงินให้บริษัทเอาต์ซอร์สมากขึ้น สรุปแล้วคือทำเองถูกกว่า ไปให้เขาชาร์ตค่าหัวคิวทำไม ผมคิดว่าเหตุผลที่กล่าวมานั้นรับฟังได้ และถูกต้องส่วนหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ |
. |
ซึ่งการเติบโตและการพัฒนาธุรกิจเอาต์ซอร์สยังไม่ค่อยสมบูรณ์ ขาดความเป็นมืออาชีพ และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาเพียงแค่ค่าใช้จ่ายทางตรงที่เป็นตัวเงินเท่านั้นก็อาจจะพบว่าการทำธุรกรรมต่าง ๆ เองอาจมีต้นทุนต่ำกว่าการให้เอาต์ซอร์สทำแทน |
. |
แต่ลองจินตนาการดูนะครับว่า ถ้าแม่บ้านลาป่วยหรือลาออกใครจะเป็นคนขัดห้องน้ำ แม้ว่าจะรักบริษัทที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเรากันสักเท่าไรแต่ผมก็เชื่อว่าคงไม่มีพนักงานคนใดอาสาหรือแม้กระทั่งอยากจัดเวรหรือเสี่ยงจับฉลากกันไปขัดห้องน้ำเป็นแน่ ปัญหาต่อไปที่จะต้องพบต่อคือใครจะเป็นผู้สรรหา รับสมัครและสอนงานแก่แม่บ้าน |
. |
หัวหน้าฝ่ายบุคคลจะต้องไปประกาศรับสมัครแม่บ้าน 1 ตำแหน่ง คอยสัมภาษณ์ผู้ที่มาสมัคร เมื่อได้แม่บ้านที่ถูกใจแล้วหัวหน้าฝ่ายบุคคลก็ต้องมาคอยอบรมสอนงานต่าง ๆ ให้ ไปซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาดให้ และเมื่อแม่บ้านผ่านการทดลองงานแล้วก็อาจต้องไปตัดเครื่องแบบให้แม่บ้านอีกตั้ง 2 ชุด |
. |
ความยุ่งยากเหล่านี้เป็นต้นทุนแฝงหรือต้นทุนทางอ้อมที่เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็งในส่วนที่อยู่ใต้น้ำที่มีขนาดมหาศาลแต่คนส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นและไม่ให้ความสำคัญ แต่มักใส่ใจกับภูเขาน้ำแข็งในส่วนที่อยู่เหนือน้ำหรือต้นทุนทางตรงที่เป็นเม็ดเงินเพียงเล็กน้อยแต่มองเห็นได้ชัดกว่าเท่านั้น |
. |
หัวหน้าฝ่ายบุคคลซึ่งมีค่าตัวและความรับผิดชอบค่อนข้างสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงควรจะใช้เวลาและความทุ่มเทในการบริหารทรัพยากรบุคคลในระดับกลยุทธ์ให้มากกว่าการทำงานธุรการสนับสนุนตำแหน่งงานที่มีความสำคัญทางกลยุทธ์น้อยแต่กลับมีความหยุมหยิมยุ่งยากมากเช่นนี้ ในองค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขันและมีเป้าหมายในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด |
. |
ฝ่ายบุคคลมิใช่มีหน้าที่เพียงแค่ทำงานบุคคล (เป็นแค่แผนก Personnel) เท่านั้นแต่ยังต้องมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (มีแผนก Human Resource Development) และในบางบริษัทถึงขั้นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาองค์กร (ตั้งเป็นแผนก Organization Development) กันแล้ว บริษัทเหล่านี้จึงนิยมเอาต์ซอร์สธุรกรรมที่ไม่ใช่เป็นงานสำคัญที่เป็นหลักในการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้บริษัทเอาต์ซอร์สช่วยดำเนินการแทน |
. |
เมื่อพิจารณากันอย่างละเอียดรอบคอบแล้วก็จะพบว่าการเอาต์ซอร์สที่ถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพนั้นจะมีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจต่าง ๆ ในโซ่อุปทานทั้งทางตรงและทางอ้อมได้จากการลดต้นทุนความสูญเสียแฝงต่าง ๆ รวมถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจอื่น ๆ ได้อย่างมหาศาล |
. |
จนท้ายที่สุดแล้วการเอาต์ซอร์สจะสามารถช่วยลดต้นทุนรวมได้มากกว่าและแถมช่วยเพิ่มยอดขายและความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งให้กับองค์กรได้อีกด้วย ในบทความนี้ผมจึงจะขอพูดถึงข้อดีของการเอาต์ซอร์สจากมุมมองของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเชิงกลยุทธ์เป็นหลักโดยยกตัวอย่างต่าง ๆ ในภาคปฏิบัติจริงประกอบให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น |
. |
เพื่อสร้างมโนคติที่ดีในการเอาต์ซอร์สให้กับผู้บริหาร เพื่อให้ผู้บริหารได้กลับมาลองคิดพิจารณานำการเอาต์ซอร์สเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจตนอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าการเอาต์ซอร์สก็ไม่ได้มีแต่ข้อดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีข้อเสียและข้อจำกัดต่าง ๆ เมื่อนำมาใช้ประยุกต์ในองค์กรที่มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา |
. |
ผมเชื่อว่าหลายท่านอาจเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีในการทำงานกับเอาต์ซอร์สจนบางท่านอาจถึงขั้นมีอคติกับการเอาต์ซอร์สเลยทีเดียว แต่การถูกมีดบาดเพียงครั้งสองครั้งนั้นไม่ได้หมายความว่ามีดนั้นไม่ดีเสมอไป และก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรใช้มีดนั้นไปอีกตลอดชีวิต แต่น่าจะหมายความว่าเราใช้มีดเล่มนั้นไม่เป็น พร้อมทั้งควรจะกลับไปพิจารณาทบทวนและฝึกฝนตนเองให้สามารถใช้มีดนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า |
. |
ไฉน เอาต์ซอร์สจึงสำคัญ |
ใน Industrial Technology Review ฉบับที่ 203 ผมได้ใช้ทฤษฎีที่สำคัญทางเศรษฐศาสตร์ 2 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ (Absolute Advantage Theory) และทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage Theory) อธิบายถึงมูลเหตุแห่งการค้าเสรีและการจัดการโซ่อุปทาน ซึ่งจะทำให้การเอาต์ซอร์สข้ามชาติมีบทบาทสำคัญยิ่งในการดำเนินธุรกิจในอนาคต และทฤษฎีนี้ยังสามารถอธิบายถึงความจำเป็นในการเอาต์ซอร์สแม้จะเป็นภายในประเทศเดียวกันเองได้อีกด้วย |
. |
ทั้งนี้ทฤษฎีทั้งสองนั้นยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นในเรื่องต้นทุนเป็นหลัก แต่ที่จริงแล้วการเอาต์ซอร์สนั้นยังเอื้อประโยชน์กับองค์กรและกับโซ่อุปทานได้ในมิติอื่น ๆ ที่อาจสำคัญกว่าด้านต้นทุนอีกมากมาย เช่น ด้านการจัดการองค์กร การจัดการกลยุทธ์ การจัดการความเสี่ยง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ ฯลฯ |
. |
ในตอนนี้ผมจึงจะขอกล่าวถึงบทบาทการเอาต์ซอร์สในการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรและโซ่อุปทานในมิติต่าง ๆ เฉพาะประเด็นหลัก ๆ ที่น่าสนใจในระดับกลยุทธ์ พร้อมทั้งยกตัวอย่างในภาคปฏิบัติจริงประกอบ ทั้งนี้ประโยชน์ที่แต่ละองค์กรจะได้รับนั้นจะแตกต่างและมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบด้วย |
. |
เช่น ประเภทและขนาดของธุรกิจ อำนาจในการต่อรอง ความพร้อมขององค์กรที่ต้องการเอาต์ซอร์สและบริษัทที่รับเอาต์ซอร์สเอง ฯลฯ องค์กรหรือโซ่อุปทานที่ไม่พร้อมหรือไม่เหมาะสมกับการเอาต์ซอร์สนั้น นอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์จากการเอาต์ซอร์สแล้ว ยังอาจได้รับความเสียหายจากการเอาต์ซอร์สด้วย |
. |
ช่วยให้การบริหารจัดการง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้น |
เมื่อมีการเอาต์ซอร์สธุรกรรมที่มีความสำคัญน้อยแต่มีความยุ่งยากมากออกไป จะช่วยให้การบริหารจัดการองค์กรง่ายขึ้นและมีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างองค์กรจะมีความกะทัดรัดขึ้น ไม่ใหญ่โตอุ้ยอ้ายเหมือนแต่ก่อน โครงสร้างสายการบังคับบัญชาจะไม่ซับซ้อน ล่าช้า |
. |
การตัดสินใจและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในสภาวะที่มีการแข่งขันที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการสนับสนุนเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของการจัดการโซ่อุปทาน ตัวอย่างเช่น ในรถยนต์หนึ่งคันจะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนนับหมื่นชิ้น หากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องผลิตชิ้นส่วนเองทั้งหมดก็จะต้องลงทุนและบริหารโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เองหลายร้อยโรง |
. |
ซึ่งแต่ละโรงงานก็จะต้องผลิตชิ้นส่วนที่แตกต่างกันและมีวิธีการผลิตเฉพาะที่แตกต่างกันอีก ทำให้มีความยุ่งยากซับซ้อนในการบริหารจัดการมาก โรงงานผลิตรถยนต์ที่จริงแล้วจึงเป็นเพียงแค่โรงงานประกอบรถยนต์ โดยบริษัทประกอบรถยนต์ให้เอาต์ซอร์สช่วยผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เป็นชุดชิ้นส่วน (Modular) และส่งมาให้ตนประกอบเท่านั้น |
. |
ทั้งนี้บริษัทรถยนต์อาจให้บริษัทลูกที่ตนเองเป็นผู้ถือหุ้นหลักเป็นผู้ผลิตเฉพาะชิ้นส่วนสำคัญที่เป็นเทคโนโลยีหลักของยานยนต์ เช่น เครื่องยนต์ ให้ หรือตนอาจเข้าไปถือหุ้นหรือร่วมทุนในบริษัทเอาต์ซอร์สหลักบางแห่งเพื่อให้สามารถควบคุมการตัดสินใจบางส่วนได้เท่านั้น การเอาต์ซอร์สงานแม่บ้าน หรืองานรักษาความปลอดภัยก็ช่วยลดความหยุมหยิมยุ่งยากในการบริหารงานพื้นฐานเหล่านี้ได้เช่นกัน |
. |
การเอาต์ซอร์สจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการบรรลุวัตถุประสงค์หลักของการโซ่อุปทานโดยลดความยุ่งยากซับซ้อนในการบริหารจัดการโซ่อุปทาน ช่วยให้ระบบการส่งมอบสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้ามีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และยืดหยุ่น สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและต่อความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
. |
ช่วยให้มุ่งเน้นทุ่มเทที่ความสามารถในการแข่งขันหลักได้ |
เมื่อองค์กรมีความกะทัดรัด คล่องตัว และบริหารจัดการได้ง่ายแล้ว ผู้บริหารก็จะสามารถมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่อย่างจำกัด เช่น เวลา เงินทุน บุคลากร องค์ความรู้ ฯลฯ ไปกับธุรกรรมหลักที่เป็นความสามารถหลักในการแข่งขันที่แท้จริงขององค์กร (Core Competency) ได้อย่างเต็มที่ มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น |
. |
ตัวอย่างเช่น ไนกี้พบว่าความสามารถในการแข่งขันที่เป็นจุดขายหรือสร้างมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง (Value Added) ในอุตสาหกรรมรองเท้ากีฬานั้นอยู่ที่นวัตกรรมการออกแบบและการสร้างแบรนด์เป็นสำคัญ มิใช่อยู่ที่การผลิตรองเท้ากีฬาให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด |
. |
ซึ่งปัจจุบันโรงงานต่าง ๆ ก็สามารถผลิตรองเท้ากีฬาให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดได้ไม่ยากนัก ไนกี้จึงมุ่งเน้นและทุ่มเททรัพยากรไปกับการใช้สมองที่แพง ๆ ของตนในการออกแบบและสร้างนวัตกรรมรองเท้ากีฬารุ่นใหม่เพื่อตอบสนองรสนิยมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในธุรกิจที่เป็นแฟชั่นเช่นนี้ |
. |
พร้อมทั้งทุ่มเทจ้างนักกีฬาที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น ไทเกอร์วูดส์ มาช่วยสร้างแบรนด์เพื่อธำรงรักษาความจงรักภักดีของลูกค้าเอาไว้ ส่วนงานการผลิตรองเท้ากีฬานั้นก็เอาต์ซอร์สให้โรงงานที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพจากตนแล้วว่ามีความสามารถผลิตให้ได้ตามมาตรฐานที่ตนกำหนดผลิตให้ |
. |
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นโรงงานที่อยู่ในโลกกลุ่มที่สามที่มีค่าแรงราคาถูกช่วยใช้แรงงานราคาถูก ๆ ของตนผลิตให้เสร็จแล้วก็ติดแบรนด์ของไนกี้และนำออกขายทั่วโลก (ซึ่งคนในประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ยังหลงภูมิใจกับการได้ใช้แรงงานราคาถูก ๆ ของตนช่วยผลิตรองเท้าแบรนด์ดัง และภูมิใจในความมีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าเพิ่มเพียงเล็กน้อยให้กับรองเท้าหรูเหล่านี้อีกด้วย) |
. |
ในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ก็เช่นกัน หัวใจหลักที่เป็นความสามารถในการแข่งขันของโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์หรือมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงก็อยู่ที่การออกแบบยนตรกรรมและการสร้างแบรนด์ บริษัทผลิตรถยนต์จึงทุ่มเททรัพยากรไปกับการออกแบบ ค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมทางยนตรกรรม |
. |
สร้างแบรนด์และพัฒนาช่องทางการตลาดและบริการเป็นหลัก ส่วนงานผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ก็ให้เอาต์ซอร์สที่ผ่านการรับรองคุณภาพด้วยมาตรฐานคุณภาพต่าง ๆ เช่น ISO/TS 16948 แล้ว ช่วยผลิตชิ้นส่วนให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ตนเองกำหนด |
. |
โดยตนเพียงแค่นำชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันเสร็จแล้วติดแบรนด์ของตนเองและทำการตลาดเองเท่านั้น การมุ่งเน้นเฉพาะที่ความสามารถในการแข่งขันหลักในระดับกลยุทธ์นี้เป็นพลังที่สำคัญยิ่งในการผลักดันให้องค์กรและโซ่อุปทานเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยความความแตกต่างและเหนือชั้น (Differentiation Strategy) กว่าคู่แข่งยิ่ง ๆ ขึ้น |
. |
ช่วยให้ต้นทุนต่ำและควบคุมได้ |
การสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุน (Cost Leadership Strategy) เป็นสาเหตุหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่บริษัทส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการเอาต์ซอร์ส ในโลกนี้ไม่มีใคร ประเทศไหนหรือบริษัทใดเก่งทุกเรื่อง แต่ละบริษัทนั้นต่างก็มีทักษะและความชำนาญในการธุรกรรมแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ธุรกรรมการผลิตหรือบริการหลายอย่างที่บริษัทของเราทำเองอาจมีต้นทุนสูงกว่าการให้เอาต์ซอร์สทำแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงต้นทุนแฝงต่าง ๆ |
. |
เช่น ความยุ่งยาก คุณภาพ ความรวดเร็ว ฯลฯ เข้ามาประกอบด้วย ต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ต่ำของเอาต์ซอร์สมาจากหลายเหตุปัจจัย เช่น ความสามารถในหาแหล่งวัตถุดิบและแรงงานราคาถูกกว่า การมีความชำนาญเฉพาะทางจากการทำเฉพาะธุรกรรมนั้นมาเป็นเวลานาน (Division of Labor and Specialization) ทำให้มีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี มีความสูญเสียน้อย |
. |
รวมถึงมีต้นทุนที่ต่ำจากการประหยัดจากขนาดผลิตที่มาก (Economy of Scale) เพราะเป็นผู้ทำธุรกรรมนั้น ๆ แทนให้กับลูกค้าหลายรายในปริมาณรวมกันที่มากกว่าจึงทำให้มีต้นทุนคงที่ต่อหน่วยที่ต่ำกว่า (เช่น ค่าเสื่อมราคา ต้นทุนวิจัยและพัฒนา) ซึ่งลูกค้าย่อมได้อานิสงค์จากต้นทุนที่ต่ำของเอาต์ซอร์สไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงและค่อนข้างเสรีที่บังคับให้เอาต์ซอร์สเองต้องแข่งขันด้านราคาในการให้บริการลูกค้าตามไปด้วย |
. |
ปัจจุบันการนำการเอาต์ซอร์สมาเป็นกลยุทธ์หัวหอกในการลดต้นทุนไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงระดับจุลภาคหรือการเอาต์ซอร์สระหว่างบริษัทภายในประเทศเดียวกันเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปใช้ในระดับมหภาคโดยเอาต์ซอร์สข้ามชาติ (Global Outsourcing) ตามกระแสการค้าเสรีเลยทีเดียว |
. |
ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อมีการลดภาษีศุลกากรขาเข้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีแล้วจะมีการเสาะแสวงหาแหล่งสินค้าและบริการที่มีราคาถูกกว่าและคุณภาพดีกว่าจากประเทศสมาชิกที่อยู่ในเขตและในข้อตกลงการค้าเสรีมาแทนการใช้สินค้าและบริการภายในประเทศที่มีราคาสูงกว่า แต่กลับมีคุณภาพด้อยกว่ามากขึ้นเรื่อย ๆ |
. |
ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ในการซื้อสินค้าและพบว่าสินค้ายี่ห้อเดียวเมื่อขายในห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ต่างกันมีราคาต่างกันมากกว่า 10% หรือสินค้าคนละยี่ห้อแต่มีคุณภาพใช้ได้เหมือนกัน (คุณภาพอาจด้อยกว่าเล็กน้อย แต่ยังคงผ่านเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ หรือหากไม่ให้ดูยี่ห้อลูกค้าอาจแยกไม่ออก) |
. |
เช่น สินค้าเฮ้าส์แบรนด์บางอย่างราคาต่ำกว่าแบรนด์ปกติมากกว่า 40% เมื่อมีการเปิดการค้าเสรีจะทำให้มีตลาดหรือแหล่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่กว่าตลาดภายในประเทศหลายเท่าตัว นอกจากขนาดที่ใหญ่ขึ้นมากแล้วตลาดเสรีนี้ยังเป็นตลาดใหม่ที่เรายังไม่ค่อยรู้จักหรือคุ้นเคย จึงน่าจะมีโอกาสในตลาดแห่งนี้รอคอยให้เราค้นหากันอยู่อีกมาก อยู่ที่ว่าเราจะขยันเพียงพอที่จะเสาะแสวงหามันจนเจอหรือไม่เท่านั้นเอง |
. |
ดังนั้นหากบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและแหล่งความรู้เกี่ยวกับแหล่งสินค้าในที่ต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ การลดต้นทุนด้วยการเอาต์ซอร์สหรือจัดซื้อจากแหล่งสินค้าใหม่ที่มีราคาถูกว่าและคุณภาพดีกว่าก็จะเป็นอาวุธที่ทรงพลังยิ่งในการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้กับองค์กรและกับโซ่อุปทานได้ |
. |
ช่วยพัฒนาธุรกรรมสนับสนุน |
แม้ว่าธุรกรรมสนับสนุนที่เอาต์ซอร์สออกไปนั้นจะไม่ใช่ธุรกรรมหลักขององค์กร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกรรมสนับสนุนเหล่านั้น ไม่มีความสำคัญต่อองค์กรหรือต่อโซ่อุปทานเอาซะเลย ธุรกรรมเหล่านั้นยังคงมีความสำคัญเพียงแต่สำคัญในลำดับรอง ๆ ลงไปเท่านั้น ดังนั้นจึงยังควรได้รับการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถสนับสนุนธุรกรรมหลักที่มักได้รับการพัฒนาไปมากกว่าได้ทัน |
. |
แม้ว่าธุรกรรมหลักจะพัฒนาก้าวไกลไปมากสักแค่ไหนก็ตาม หากธุรกรรมสนับสนุนไม่ถูกพัฒนาตามไปด้วยก็จะทำให้โซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจนั้นขาดสะบั้นลง ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม (Margin ที่ปลายลูกศรของ Value Chain) ให้กับสินค้าหรือบริการและไม่สามารถส่งมอบคุณค่านั้นให้กับลูกค้าได้ในที่สุด |
. |
เช่น หากผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (เช่น ชาเขียวหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ) มีการทำการโฆษณาและการขายที่ดีจนสินค้าเป็นที่ต้องการของลูกค้าแล้ว แต่กลับมีการจัดการโลจิสติกส์ที่ไม่ดี มีการจัดเก็บสินค้าคงคลังไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ ก็จะไม่สามารถสร้างยอดขายในโซ่อุปทานได้ |
. |
การโฆษณานั้นอาจกลายเป็นการโฆษณาให้คู่แข่งและอาจถูกสินค้าของคู่แข่งแย่งตลาดไปด้วยซ้ำ เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นสินค้าที่ใช้ทดแทนกันได้ ในทางตรงกันข้าม ธุรกรรมสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพอาจช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกรรมหลักขององค์กรหรือโซ่อุปทานได้ |
. |
เช่น กรณีของพิซซ่าหรืออาหารจังค์ฟู้ดเอ๊ยฟาสต์ฟู้ด ที่ปัจจุบันมักใช้จุดขายที่ความสะดวกและรวดเร็วโดยใช้วินมอเตอร์ไซด์เอาต์ซอร์สที่รู้จักพื้นที่ดีเข้ามาช่วยจัดส่งฟาสต์ฟู้ดไปยังพื้นที่ทุกตรอกซอกซอยให้ถึงมือลูกค้าภายในเวลา 30 นาที เข้ามาช่วยเพิ่มยอดขายจากเดิมที่ต้องขายเพียงในห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์สโตร์เท่านั้น การขนส่งหรือส่งมอบที่มีประสิทธิภาพนี้ทำให้ธุรกิจเติบโตกว่าเท่าตัว |
. |
การใช้เอาต์ซอร์สช่วยให้การเคลมประกันรถยนต์เมื่อเกิดอุบัติเหตุอย่างรวดเร็วของบริษัทประกันก็มีส่วนช่วยให้ธุรกรรมหลักคือการขายประกันมีความโดดเด่น แตกต่างและเติบโตได้ด้วยเช่นกัน เช่น กรณีของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ที่ใช้สโลแกนในโฆษณาว่า “มาเร็ว-เคลมเร็ว-ซ่อมเร็ว” หรือ สโลแกนที่ไปเกทับบริษัทพิซซ่าที่เป็นต้นฉบับแนวคิดนี้อีกทีว่า “สินมั่นคงประกันภัยถึงไวกว่าพิซซ่า” นั่นเอง |
. |
การเอาต์ซอร์สนั้นสามารถช่วยให้ผลการปฏิบัติงานสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น คุณภาพ การส่งมอบ ต้นทุน ฯลฯ ดีขึ้น เพราะบริษัทเอาต์ซอร์สที่ดีจริงย่อมต้องมีความเชี่ยวชาญ ชำนาญ และมีเทคโนโลยีเฉพาะในด้านนั้น ๆ เนื่องจากธุรกรรมที่ตนเองรับเอาต์ซอร์สทำแทนลูกค้านั้นถือเป็นธุรกรรมหลักของตน (แต่กลับเป็นธุรกรรมรองของลูกค้า) หรือเป็นหม้อข้าวของตนที่ต้องให้ความใส่ใจและทุ่มเทเป็นพิเศษ บริษัทเอาต์ซอร์สงานโลจิสติกส์โดยเฉพาะ |
. |
เช่น FedEx ย่อมพร้อมที่จะลงทุนในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เข้ากับสัญญาณดาวเทียมที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบติดตามสถานะของสินค้าและรถขนส่ง (Tracking) แบบเรียลไทม์ผ่านอินเตอร์เน็ตได้ว่าสินค้าหรือรถอยู่ที่ตำแหน่งใด ขั้นตอนใด และจะสามารถส่งมอบสินค้าได้ในเวลาใด เทคโนโลยีดังกล่าวมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกค้ากำหนดช่วงเวลาในการส่งมอบสินค้า (Window Time) สั้น ๆ และการแข่งขันด้านความรวดเร็วและตรงเวลามีความสำคัญยิ่งเช่นในปัจจุบัน |
. |
จากความทุ่มเทของบริษัทเอาต์ซอร์สในการพัฒนาธุรกรรมซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในธุรกิจของตน ลูกค้าจึงมักจะได้รับการนำเสนอนวัตกรรม แนวความคิด และบริการใหม่ ๆ จากเอาต์ซอร์สซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่ช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้าได้ |
. |
ในขณะที่เอาต์ซอร์สเองก็จะได้รับค่าบริการหรือความจงรักภักดีมากขึ้นจากบริการใหม่และมูลค่าเพิ่มที่ตนสร้างให้กับลูกค้าซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ลูกค้าเองยังอาจได้รับภาพลักษณ์ ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือจากลูกค้าของตนเพิ่มขึ้นจากชื่อเสียงของเอาต์ซอร์สที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักกันอย่างดี |
. |
เช่น การใช้บริการจัดส่งของ FedEx และ DHL การใช้ผ้าเบรก Bendix หรือระบบล็อคเกียร์โซเล็กซ์ในรถยนต์ เป็นต้น ดังนั้นแม้ว่าธุรกรรมที่เอาต์ซอร์สออกไปนั้นจะถือเป็นธุรกรรมรองของธุรกิจของลูกค้าเองแต่หากบริษัทคัดเลือกเอาต์ซอร์สที่เหมาะสม มีความเป็นมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกรรมนั้น |
. |
จริง ๆ แล้ว ธุรกรรมเหล่านั้นก็จะได้รับการพัฒนาและอาจมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกรรมหลักและสร้างความแตกต่างในการส่งมอบคุณค่าไปยังลูกค้าได้ การเอาต์ซอร์สจึงเป็นเสมือนการยืมพลังของเอาต์ซอร์สหรือคู่ค้ามาช่วยในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กรได้อีกทางหนึ่ง |
. |
ช่วยสร้างรายได้ |
เป้าหมายสุดท้ายซึ่งเป็นเป้าหมายหลักขององค์กรคือการสร้างกำไร และปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดกำไรก็คือรายได้ การใช้เอาต์ซอร์สที่มีเครือข่ายในการกระจายสินค้า หรือมีทักษะความเป็นมืออาชีพในการขายและการตลาดมากกว่าสามารถช่วยขยายกิจการขององค์กรให้เติบโตและมียอดขายเพิ่มขึ้นได้จากการเข้าถึงตลาดได้มากกว่าและมีโอกาสทางธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น |
. |
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจการผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ผู้ประกอบการหลายรายก่อตั้งธุรกิจมาจากความสามารถหรือความเก่งในการผลิตสินค้าชนิดหนึ่ง แต่ไม่เก่งเรื่องการขายและกระจายสินค้า หรืออาจมีข้อจำกัดด้านเงินลงทุนในการพัฒนาเครือข่ายกระจายสินค้า |
. |
ตัวอย่างเช่นจากกรณีศึกษาของโรงงานผลิตน้ำปลาและน้ำมันหอยรายหนึ่งที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี จากเดิมที่สามารถขายและกระจายสินค้าได้เพียงภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงเนื่องจากมีเซลล์แมนและรถขนส่งจำนวนน้อย ในระบบการขายแบบรถตระเวนขาย (Van Sales) เมื่อรถขนส่งและเซลล์ไปถึงร้านค้าที่มักอยู่ในตลาดและในที่ชุมชนที่กว่าจะหาที่จอดรถขนส่งได้ก็มักจะใช้เวลานาน |
. |
เมื่อเซลล์แมนไปขายของก็มักจะได้ออเดอร์เล็ก ๆ เนื่องจากมีสินค้าไปนำเสนอเพียงไม่กี่ชนิด และเมื่อขายในตลาดเล็ก ๆ หากจะทำการโฆษณาผ่านสื่อใหญ่ ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ ที่มีเครือข่ายการโฆษณาทั่วประเทศก็จะไม่คุ้มเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการการโฆษณาเป็นต้นทุนคงที่ซึ่งหากขายสินค้าเพียงภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงก็จะไม่คุ้มค่าโฆษณา ข้อจำกัดทางการตลาด |
. |
การขายและการกระจายสินค้าไปสู่ร้านค้าย่อยนี้ทำให้ต้นทุนแฝงในการกระจายสินค้าสูง และยอดขายของบริษัทเติบโตได้ไม่มากนัก แต่หากโรงงานแห่งนี้ใช้เอาต์ซอร์สที่มีความเป็นมืออาชีพด้านการขายและกระจายสินค้า (เช่น ดีทแฮมท์หรือเบอร์ลี่ยุคเกอร์) ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศช่วยกระจายสินค้าให้ (อาจใช้เพียงช่วยกระจายสินค้าโดยตนยังคงทำการขายเอง หรือใช้ช่วยทั้งขายและกระจายสินค้า) |
. |
เอาต์ซอร์สเหล่านี้มีเครือข่ายโลจิสติกส์ทั้งคลังสินค้าและรถขนส่งในการกระจายสินค้าอยู่ทั่วประเทศ มีประสบการณ์ในการตลาดและการขาย และมีความชำนาญในพื้นที่ต่าง ๆ ทุกตรอกซอกซอยมากกว่า ย่อมทำให้บริษัทมีโอกาสสร้างยอดขายและการเติบโตได้มากกว่า การใช้เครือข่ายโลจิสติกส์และทรัพยากรของเอาต์ซอร์สเข้ามาช่วยจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว สำหรับบริษัทที่มีทุนน้อยไม่สามารถพัฒนาเครือข่ายในการกระจายสินค้าและขยายกิจการเองได้ |
. |
ช่วยลดความเสี่ยง |
สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอน และความไม่แน่นอนก็คือความเสี่ยง แม้จะมีคำว่ากล่าวว่าเสี่ยงมากก็ได้รับผลตอบแทนมาก หรือ High Risk, High Return แต่ผมเชื่อว่าในธุรกิจทั่วไปนั้นผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งพนักงานนั้นมักไม่ชอบความเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่ไม่ค่อยมีเหตุผล |
. |
บริษัทสมัยใหม่ส่วนใหญ่จึงต้องมีการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) กัน การเอาต์ซอร์สธุรกรรมที่ไม่สำคัญออกไปช่วยลดความเสี่ยงเมื่อสถานการณ์ทางธุรกิจไม่เป็นไปตามที่คาดหมายได้มาก เนื่องจากการเอาต์ซอร์สเป็นการแปลงต้นทุนคงที่ไปเป็นต้นทุนแปรผัน ต้นทุนคงที่เป็นความเสี่ยงของบริษัทเพราะไม่ว่าบริษัทจะขายของได้หรือไม่ได้ก็ตาม ต้นทุนคงที่จะยังคงวิ่งอยู่ตลอด |
. |
ในขณะที่ต้นทุนแปรผันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบริษัทมีการขายหรือมีรายได้เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หากเศรษฐกิจไม่ดีและมีความจำเป็นที่จะต้องลดกำลังการผลิตและลดจำนวนพนักงานจริง ๆ การ Lay Off พนักงานเอาต์ซอร์สย่อมมีปัญหาน้อยกว่าการ Lay Off พนักงานประจำ พนักงานของบริษัทเองหรือพนักงานถาวรเป็นเสมือนต้นทุนคงที่ |
. |
ในขณะที่พนักงานเอาต์ซอร์สหรือพนักงานชั่วคราวเป็นเสมือนต้นทุนแปรผัน การลงทุนซื้อสินทรัพย์ถาวร เช่น อาคาร เครื่องจักร หรือรถขนส่ง ก็มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสินทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์เฉพาะ (Specific Asset) ที่ใช้ในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งซึ่งมักจะไม่มีสภาพคล่อง |
. |
กล่าวคือซื้อมาง่ายแต่ขายคืนหรือแปลงเป็นเงินสดได้ยาก เช่น ซอฟต์แวร์หรือเครื่องจักรที่ใช้ผลิตสินค้าเฉพาะอย่าง หากธุรกิจไม่เติบโตตามคาด การขายสินทรัพย์เหล่านี้ก็จะทำได้ยากหรือแม้ขายได้ก็มักจะขายไม่ได้ราคา (ส่วนใหญ่มักขายไม่ได้หรือขายได้แค่มูลค่าซาก) แต่หากบริษัทใช้การเอาต์ซอร์สก็เพียงบอกระงับการผลิตเท่านั้น |
. |
การเอาต์ซอร์สนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงของลูกค้าเองแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทเอาต์ซอร์สเองได้ด้วย เนื่องจากบริษัทเอาต์ซอร์สามารถแชร์ความเสี่ยงร่วมกัน (Risk Pooling) จากฐานลูกค้าที่หลากหลายในโซ่อุปทานของตนและจากความหลากหลายของธุรกิจ เช่น เมื่อวงการก่อสร้างซบเซาและมีความต้องการใช้บริการรถขนส่งวัสดุก่อสร้างน้อยลง บริษัทเอาต์ซอร์สก็ยังคงมีลูกค้าในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังคงเติบโตหรือถดถอยน้อยกว่าใช้บริการทดแทนได้ส่วนหนึ่งทำให้บริษัทไม่เสียหายมากนัก |
. |
การแปลงต้นทุนคงที่ให้เป็นต้นทุนแปรผันนี้นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงแล้วยังสามารถช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับบริษัทได้เนื่องจากบริษัทไม่ต้องลงทุนเงินจำนวนมากทั้งก้อนในสินทรัพย์ถาวรแต่สามารถแบ่งจ่ายหรือผ่อนเป็นค่าบริการรายเดือนให้กับบริษัทเอาต์ซอร์สแทน ซึ่งการแปลงเงินลงทุน (Investment) เป็นค่าใช้จ่าย (Expense) นี้ยังช่วยให้ผู้บริหารสามารถทำตัวเลขทางบัญชี เช่น ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset: ROA) และอัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratio) ให้สูงขึ้นและดูดีในสายตาของผู้ถือหุ้นได้อีกด้วย |
. |
ช่วยกระตุ้นพนักงาน |
มีคำพูดสวยหรูที่ผู้บริหารมักพูดหาเสียงกับพนักงานว่า พนักงานทุกคนสำคัญเหมือนกันไม่ว่าจะมีตำแหน่งใหญ่หรือเล็ก แล้วอาจเปรียบเทียบเพิ่มเติมไปอีกว่าแม้ว่าน็อตตัวเล็ก ๆ หากหลุดจากเครื่องยนต์ก็อาจถึงกับทำให้เครื่องจักรทำงานไม่ได้ คำกล่าวนี้มักทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตัวน้อย ๆ ที่ได้ยินรู้สึกเคลิบเคลิ้มและอิ่มเอมใจไปได้ชั่วขณะ แต่หากเอาคำพูดนี้มาคิดพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจะพบว่าแล้วคำว่าสำคัญเหมือนกันนั้นไม่ได้หมายความว่าสำคัญเท่ากัน |
. |
ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วพนักงานในองค์กรสำคัญเหมือนกันแต่สำคัญไม่เท่ากัน ในสนามรบนั้นผู้ที่จะขึ้นมาเป็นแม่ทัพใหญ่ได้มักเป็นนายทหารที่เติบโตมาจากหน่วยรบเท่านั้น ทหารธุรการแม้ว่าจะเก่งกาจและขยันขันแข็งสักเพียงใดก็ไม่สามารถขึ้นเป็นผู้นำกองทัพได้ ในสนามธุรกิจก็เช่นเดียวกันผู้ที่จะขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดในบริษัทได้มักเติบโตมาจากหน่วยงานซึ่งเป็นหน่วยรบหรือเป็นหน่วยงานหลักที่สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรซึ่งมักมีอยู่เพียงไม่กี่หน่วยงาน |
. |
เช่น ในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคผู้บริหารสูงสุดมักมาจากฝ่ายขายและการตลาดเนื่องจากเป็นธุรกิจที่แข่งขันด้านกลยุทธ์ทางการขายและการตลาดเป็นหลัก ในขณะที่ผู้บริหารสูงสุดในธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะพวกรับจ้างผลิตที่ไม่มีแบรนด์เป็นของตนเอง มักเติบโตมาจากฝ่ายผลิตที่แข่งขันที่ต้นทุนและคุณภาพเป็นสำคัญ พนักงานในหน่วยงานสนับสนุน |
. |
เช่น ฝ่ายซ่อมบำรุง บัญชี บุคคล ธุรการ ฯลฯ ต่อให้เก่งขั้นเทพเรียกพี่ก็มักไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดได้ ความด้อยโอกาสในการเติบโตหรือไม่มีอนาคตที่สดใสจากการเลือกเรียน เลือกงานหรือเลือกบริษัทผิดนี้ทำให้พนักงานในหน่วยงานสนับสนุนโดยเฉพาะพวกคนรุ่นใหม่ที่มักไวไฟเอ๊ยมีไฟในการทำงาน |
. |
เมื่อเติบโตมาถึงจุดสูงสุดในหน่วยงานตนเองแล้วก็มักหมดไฟ ขาดแรงกระตุ้นจูงใจในการพัฒนาตนเองและหน่วยงานให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น เนื่องจากคิดว่าทำดีไปก็ไม่เข้าตากรรมการ แต่หากมีการเอาต์ซอร์สงานสนับสนุนเหล่านี้ออกไปแล้ว พนักงานที่เคยทำงานสนับสนุนเหล่านี้ในองค์กร จะกลายเป็นพนักงานในหน่วยงานหลักหรือหน่วยรบของบริษัทเอาต์ซอร์ส |
. |
งานที่เคยเป็นงานสนับสนุนของธุรกิจในบริษัทเดิมก็จะกลายเป็นงานหลักของธุรกิจของบริษัทเอาต์ซอร์สไป พนักงานเหล่านี้ก็จะมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) ที่โดดเด่นและสดใสขึ้น และสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในบริษัทเอาต์ซอร์สได้ ทำให้พนักงานเหล่านี้มีแรงกระตุ้นและความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองและองค์กรมากขึ้นตามไปด้วย |
. |
บริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดีส่วนใหญ่ก็จะแปลงสภาพพนักงานของตนไปเป็นเอาต์ซอร์สด้วยความนุ่มนวล เช่น เมื่อบริษัทจะเอาต์ซอร์สงานบริหารคลังสินค้าหรืองานโลจิสติกส์อื่น ๆ ก็มักจะขอให้บริษัทที่มารับช่วงเอาต์ซอร์สไปช่วยพิจารณารับพนักงานเดิมไปด้วย (พนักงานเองได้รับเงินชดเชยไปก้อนหนึ่งแล้ว) ซึ่งส่วนมากบริษัทเอาต์ซอร์สก็มักจะยินดี |
. |
เนื่องจากแม้ว่าจะมีการเอาต์ซอร์สงานออกไปแต่ก็ยังต้องมีคนทำธุรกรรมนั้น ๆ อยู่ การใช้พนักงานเดิมจึงช่วยให้การส่งมอบงานมาสู่บริษัทเอาต์ซอร์สมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะนอกจากพนักงานเดิมจะชำนาญและรู้งานดีอยู่แล้ว พนักงานเดิมยังมีสัมพันธภาพที่ดีกับบริษัทเดิมซึ่งจะทำให้การทำงานของเอาต์ซอร์สง่ายขึ้น |
. |
นอกจากนี้บริษัทอาจให้แยกหน่วยงานสนับสนุนนั้นไปตั้งเป็นบริษัทลูกขึ้นมารับงานเอาต์ซอร์สไปแล้วโอนย้ายพนักงานไปเป็นพนักงานในบริษัทลูกแทน หรืออาจให้พนักงานรวมตัวกันไปตั้งเป็นบริษัทเอาต์ซอร์สเองและให้สิทธิพิเศษรับงานเอาต์ซอร์สจากบริษัทในช่วงระยะเวลาหนึ่งอาจสัก 3-5 ปีโดยไม่มีคู่แข่ง |
. |
เพื่อช่วยประคับประคองให้บริษัทเอาต์ซอร์สของอดีตพนักงานตนเองเติบโตและเข้มแข็งพอที่จะยืนบนลำแข้งต้นในธุรกิจนี้เองได้ วิธีการนี้จะทำให้พนักงานจากที่เดิมเคยเป็นแค่ลูกจ้างกลับกลายเป็นนายจ้างหรือเจ้าของกิจการเอง ซึ่งก็จะยิ่งช่วยให้กระตุ้นและผลักดันให้เกิดการพัฒนาตนเองยิ่ง ๆ ขึ้นไป |
. |
ผมคิดว่าประโยชน์ในข้อนี้เป็นเพียงแค่ผลพลอยได้ในทางทฤษฎีจากการตกบันไดพลอยโจนที่ไหน ๆ ก็จะเอาต์ซอร์สแล้วก็หาเหตุพูดให้ดูดีกันสักหน่อย เพราะในโลกธุรกิจคงมีเพียงไม่กี่บริษัทที่ตัดสินใจเอาต์ซอร์สโดยมีพื้นฐานหลักอยู่บนความคิดที่ต้องการให้พนักงานมีความก้าวหน้าในอาชีพ และผมก็คิดว่าพนักงานที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทแล้ว (แม้จะอยู่ในหน่วยงานรอง) ส่วนใหญ่มักจะไม่อยากเปลี่ยนงานมาทำงานหลักในบริษัทเอาต์ซอร์สักเท่าไร |
. |
เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่นั้นมักไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่ผู้บริหารอาจตัดสินใจเอาต์ซอร์สจากความด้อยประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานในหน่วยงานสนับสนุนอันอาจเป็นผลมาจากการขาดความกระตือรือร้นที่มีสาเหตุมาจากความรู้สึกไม่มีความก้าวหน้าของพนักงาน หรือเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันตามที่ได้กล่าวแล้วในข้างต้นเป็นหลัก |
. |
ข้อคิดท้ายเรื่อง |
การเอาต์ซอร์สนั้นนอกจากจะช่วยให้องค์กรสามารถมุ่งเน้นและทุ่มในการพัฒนาธุรกรรมหลัก (Primary Activity) ของตนเองโดยเฉพาะแล้ว ยังเป็นการยืมทรัพยากรหรือยืมพลังของบริษัทเอาต์ซอร์สมาช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกรรมสนับสนุน (Supportive Activity) ขององค์กรอีกด้วย ซึ่งหากธุรกรรมสนับสนุนนี้ได้รับการพัฒนาตามธุรกรรมหลักไปเป็นอย่างดีแล้ว |
. |
ธุรกรรมสนับสนุนก็อาจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมหรือเกิดการเสริมประสานให้ธุรกรรมหลักมีความโดดเด่นและแตกต่างมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งความสามารถในการแข่งขันโดยรวมที่เข้มแข็งได้ทั้งจากการเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) และสร้างความแตกต่าง (Differentiation) การเอาต์ซอร์สจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มในโซ่คุณค่า (Value Chain) และพัฒนาโซ่อุปทานขององค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับองค์กรที่ต้องการการเติบโตอย่างก้าวกระโดด |
. |
ผมคิดว่าอุปสรรคสำคัญที่องค์กรหลายแห่งยังไม่ให้ความสำคัญกับการเอาต์ซอร์สเท่าที่ควรนั้นส่วนหนึ่งมาจากตัวบริษัทเอาต์ซอร์สเอง เนื่องจากธุรกิจเอาต์ซอร์สในประเทศไทยเองยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาและมีความเป็นมืออาชีพเท่าที่ควร เอาต์ซอร์สส่วนใหญ่ยังคงเน้นการขายของและขายแรงงานมากกว่าขายองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ |
. |
ส่วนอุปสรรคที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร (ลูกค้า) เองที่มักมองเห็นเพียงแค่ต้นทุนทางตรงที่เม็ดเงินเพียงเล็กน้อยที่ต้องจ่ายให้กับเอาต์ซอร์สเพิ่มขึ้น แต่กลับมองไม่เห็นต้นทุนแฝงทางอ้อมและโอกาสทางธุรกิจอื่น ๆ ที่มีมูลค่ามหาศาลแต่อาจมองไม่เห็นเป็นเม็ดเงินได้ง่าย ๆ เท่านั้น ดังนั้นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีความคิดเชิงบวกจึงควรทำใจให้กว้างเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดที่มักคิดแต่ว่า “เราจะเสียอะไรเมื่อเอาต์ซอร์ส หรือบริษัทเอาต์ซอร์สจะได้อะไรจากเรา เป็นเราจะได้อะไรจากการเอาต์ซอร์สบ้าง” |
. |
และมองให้ออกว่าในธุรกิจนั้นไม่ได้มีแต่ Win-lose (ได้เสีย), Zero Sum Game (เกมที่ผลรวมเป็นศูนย์ กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งได้อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเสีย) หรือ Conflict of Interest (ผลประโยชน์ทับซ้อน) เสมอไป แต่ยังมี Win-Win (ได้ได้) และ Synergy (การเสริมประสาน) ซ่อนอยู่ด้วย |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด