จากกระแสตื่นตัวด้านการอนุรักษ์พลังงานอันเป็นผลพวงมาจากสภาวะโลกร้อนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาราคาพลังงานซึ่งมีแนวโน้มใหญ่ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นโครงการในระดับมหภาคที่ริเริ่มโดยภาครัฐที่มีการบังคับใช้หรือรณรงค์ส่งเสริมในระดับประเทศ
ดร.อัศม์เดช วานิชชินชัย |
. |
. |
จากกระแสตื่นตัวด้านการอนุรักษ์พลังงานอันเป็นผลพวงมาจากสภาวะโลกร้อนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาราคาพลังงานซึ่งมีแนวโน้มใหญ่ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นโครงการในระดับมหภาคที่ริเริ่มโดยภาครัฐที่มีการบังคับใช้หรือรณรงค์ส่งเสริมในระดับประเทศ เช่น การใช้กลไกราคาหรือภาษีกึ่งบังคับกึ่งกระตุ้นให้มีการใช้พลังงานทดแทน |
. |
การส่งเสริมให้ใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 (ทั้งนี้ไม่รวมถึงเครื่องสแกน GT200 ที่อ้างว่าใช้พลังงานไฟฟ้าสถิตจากตัวผู้ใช้นะครับ) การรณรงค์ให้ทำความสะอาดที่กรองอากาศ เช็คลมยางและขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการประหยัดพลังงานผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงการที่รัฐบาลเคยมีนโยบายให้ถอดเนคไทถอดสูททำงานเพราะเราเป็นประเทศร้อนไม่จำเป็นต้องแต่งกายเลียนแบบฝรั่ง (ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ทำตามนโยบายของตนเองได้เพียงไม่กี่สัปดาห์) |
. |
หรือการที่รัฐมนตรีบางคนที่ขี่จักรยานหรือนั่งรถเมล์มาทำงาน (เพียงวันเดียว) เพื่อเป็นตัวอย่างในการอนุรักษ์พลังงาน ฯลฯ และในระดับจุลภาคที่บริษัทต่าง ๆ ในภาคเอกชนริเริ่มและลงทุนกันเองเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานหรืออาจได้รับการส่งเสริมบางส่วนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในภาครัฐ เช่น เงินให้เปล่าหรือเงินกู้ยืมเพื่อการปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน หรือโครงการปรึกษาแนะนำในการลดต้นทุนพลังงานในสถานประกอบการของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงาน เป็นต้น |
. |
โครงการหรือกิจกรรมในการอนุรักษ์พลังงานภายในองค์กรนั้นมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน จึงต้องการการบริการจัดการที่แตกต่างกันด้วย ในที่นี้ผมขอจำแนกกิจกรรมเหล่านี้ออกเป็น 2 กลุ่มหลักเพื่อให้เห็นความเหมือนและความแตกต่างซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดขององค์กร เช่น เงินทุน บุคลากร เวลา ฯลฯ ในการบริหารจัดการ โดยในกลุ่มกิจกรรมด้านการจัดการพลังงานยังสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ |
. |
1) กิจกรรมด้านวิศวกรรมพลังงาน (Energy Engineering) 2) กิจกรรมด้านการจัดการพลังงาน (Energy Management) 2.1) การจัดการพลังงานทางตรง (Direct Energy Management) 2.2) การจัดการพลังงานทางอ้อม (Indirect Energy Management) |
. |
1) กิจกรรมด้านวิศวกรรมพลังงาน (Energy Engineering) |
กิจกรรมด้านวิศวกรรมพลังงานนั้นเน้นที่การปรับปรุง ซ่อมบำรุง (Maintenance) หรือแม้กระทั่งออกแบบนวัตกรรมและเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือระบบงานวิศวกรรม (Innovation) ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานโดยตรงเป็นหลัก เช่น การเปลี่ยนจากบอยเลอร์น้ำมันเตาเป็นบอยเลอร์ถ่านหินหรือฟืน การใช้กะลาปาล์มผสมกับถ่านหินเพื่อใช้ในบอยเลอร์ การใช้ฉนวนหุ้มท่อนำความร้อน การพันสายทองแดงใหม่ในมอเตอร์ การออกแบบและเดินสายไฟหรือท่อลมใหม่ |
. |
การเปลี่ยนเครื่องจักรหรืออุปกรณ์รุ่นเก่าที่กินพลังงานมากมาใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่กินพลังงานน้อยกว่าแทน (เช่น การเปลี่ยนโคมไฟ 2 หลอดแต่ไม่มีแผ่นสะท้อนแสงด้านหลังเป็นโคมไฟแบบหลอดเดียวแต่มีแผ่นสะท้อนแสงด้านหลังซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดไฟและหลอดไฟได้แล้วยังให้ความสว่างได้มากกว่าด้วย หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่โรงพยาบาลหรือมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งถึงกับออกมาช่วยโฆษณาว่าจะเปลี่ยนแอร์เป็นรุ่นใหม่ทั้งหมดเพราะประหยัดไฟและคุ้มค่ากว่ารุ่นเก่า) |
. |
กิจกรรมด้านวิศวกรรมพลังงานมักต้องการเงินลงทุนมากน้อยตามระดับการเปลี่ยนแปลง ในบางโครงการอาจต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลในการออกแบบ ปรับปรุงหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ การตัดสินใจดำเนินการจึงมักต้องใช้เวลาคิดตัดสินใจอย่างรอบคอบเป็นเวลานานในการเก็บข้อมูลและคิดคำนวณว่าจะสามารถประหยัดพลังงานได้จริง ๆ เท่าไหร่และจะถึงจุดคุ้มทุนเมื่อไร ผู้ที่รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลตอบแทนที่จะได้รับมักเป็นวิศวกรหรือผู้จัดการที่รับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง ส่วนผู้ที่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการลงทุนในโครงการประเภทนี้มักมีเพียงคณะผู้บริหารระดับสูงในองค์กรเท่านั้น |
. |
เนื่องจากโครงการด้านวิศวกรรมพลังงานนั้นต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางทางเทคนิควิศวกรรมพลังงานมาก บุคลากรในองค์กรที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านนี้จึงมีน้อย ส่วนใหญ่มักเป็น วิศวกรหรือช่างในฝ่ายวิศวกรรมหรือซ่อมบำรุง |
. |
ในหลายองค์กรแม้ว่าจะมีบุคลากรเหล่านี้อยู่ แต่บุคลากรเหล่านี้อาจไม่มีความชำนาญ ไม่รู้ลึกรู้จริงในการออกแบบ ติดตั้งหรือปรับปรุงนวัตกรรมด้านพลังงาน หรือไม่มีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการตรวจวัดและวิเคราะห์ด้านวิศวกรรมพลังงานโดยเฉพาะ หลายโครงการจึงมักต้องใช้วิศวกรที่ปรึกษาหรือช่างจากภายนอกเข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาหรือทำงานด้านนี้แทน |
. |
เมื่อองค์กรได้ดำเนินการออกแบบและติดตั้งงานด้านวิศวกรรมพลังงานจนสมบูรณ์แล้ว ผลงานจากโครงการวิศวกรรมพลังงานมักจะให้ผลตอบแทนที่ชัดเจน สามารถวัดผลเป็นเม็ดเงินจากต้นทุนด้านพลังงานที่ลดลงได้ มากน้อยตามระดับการลงทุน ผลตอบแทนที่ได้มักคุ้มค่าเนื่องจากได้มีการวิเคราะห์การลงทุนและจุดคุ้มทุนกันอย่างละเอียดรอบคอบก่อนการลงทุนแล้ว |
. |
นอกจากนี้ผลที่ได้รับมักมีความยั่งยืนตามอายุการใช้งานของระบบที่ได้ออกแบบทางวิศวกรรมไว้แล้ว หากระบบต่าง ๆ นั้นได้รับการบำรุงรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้เนื่องจากโครงการด้านวิศวกรรมพลังงานนั้นมักใช้เครื่องหรืออุปกรณ์เป็นตัวควบคุมคนหรือควบคุมการใช้พลังงานตามโปรแกรมหรือรูปแบบการใช้งานที่ได้ออกแบบไว้ |
. |
2) กิจกรรมด้านการจัดการพลังงาน (Energy Management) |
กิจกรรมด้านการจัดการพลังงานนั้นเน้นที่วิธีการบริหารจัดการพลังงาน โดยลดความสูญเปล่า (Wastes) และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยความมีส่วนร่วมทั้งที่โดยสมัครใจและถูกบังคับของพนักงานในองค์กร เช่น การตั้งให้ลิฟต์เปิดเฉพาะบางชั้น การรณรงค์ขอความร่วมมือให้ช่วยกันประหยัดน้ำประหยัดไฟ การออกกฎระเบียบให้ปิดไฟและแอร์ในเวลากลางวันหรือก่อนเลิกงาน 15 นาที การตั้งแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา ฯลฯ |
. |
กิจกรรมด้านนี้มักใช้เงินลงทุนน้อยหรือแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพียงแต่ต้องการจิตสำนึก (Awareness) และความมีส่วนร่วม (Participation) ของพนักงานเป็นหลัก การตัดสินใจดำเนินโครงการต่าง ๆ จึงมักไม่ต้องใช้เวลาเก็บข้อมูล คิดวิเคราะห์หรือตัดสินใจกันนาน เพียงขอความเห็นชอบและขอความมีส่วนร่วมกึ่ง ๆ บังคับจากหัวหน้างานหรือผู้แทนพนักงานเท่านั้น |
. |
เนื่องจากกิจกรรมด้านนี้ไม่ต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิควิศวกรรมลึก ๆ แต่ต้องการเพียงจิตสำนึกและความมีส่วนร่วมเป็นหลัก บุคลากรทุกคนในองค์กรจึงสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ได้ |
. |
แม้ผมจะเชื่อว่าพนักงานส่วนใหญ่นั้นต่างก็มีจิตสำนึกในการประหยัดพลังงานให้บริษัทและอนุรักษ์พลังงานให้กับโลกในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังอาจมีไม่มากพอและไม่จริงจังกันเท่าที่ควร พนักงานบางคนในบางครั้งบางเวลาอาจเผลอคิดไปว่าน้ำไฟของบริษัทเป็นของหลวงหรือของฟรีไม่ใช่ของตนหรืออาจเห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยเมื่อเทียบกับยอดขายมหาศาลของบริษัท |
. |
แม้ในระดับครัวเรือนที่เราจะต้องจ่ายค่าพลังงานกันเอง คนจำนวนมากก็ยังคงละเลยไม่ได้ปิดไฟหรือโทรทัศน์ขณะไม่ได้ใช้งาน หรือไม่ได้ดับเครื่องรถยนต์เมื่อจอดรถรอกันอย่างจริงจังเท่าที่ควรทั้ง ๆ ที่เป็นค่าใช้จ่ายของตนเอง หากสมบัติของตนเองยังไม่รัก แล้วจะไปรักสมบัติของบริษัทหรือของส่วนรวมกันได้อย่างไร สาเหตุของความละเลยนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคิดว่าพลังงานที่สูญเปล่า |
. |
เหล่านี้เป็นเงินเพียงจำนวนเล็กน้อย หรือเห็นกับความสะดวกสบาย (Convenience) ส่วนตนมากกว่าจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานหรือทรัพยากร (Conservation) ของส่วนร่วม ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นและอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้ทำให้อัตราการใช้น้ำมันภายในประเทศลดลง หรือแม้ว่าการไฟฟ้าจะเคยมีโปรโมชั่นรณรงค์ลดการใช้ไฟฟ้าโดยลดค่าไฟให้กับครัวเรือนที่มีการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนน้อยลงแต่โครงการดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร |
. |
กิจกรรมด้านการจัดการพลังงานแบบมีส่วนร่วมจึงมักไม่มีความยั่งยืนหากปราศจากการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสมจริง ๆ เนื่องจากกิจกรรมในกลุ่มนี้เป็นกิจกรรมที่เน้นความมีส่วนร่วมจากมนุษย์จำนวนมากซึ่งมักมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่แน่นอน ควบคุมไม่ได้ และเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวมให้เป็นผู้ควบคุมการใช้พลังงานเป็นหลัก |
. |
แม้ว่าการค่อย ๆ ปลูกฝังให้พนักงานมีจิตสำนึกหรือสร้างนิสัยในการอนุรักษ์พลังงานนั้นจะเป็นเรื่องสำคัญหรือเรื่องใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลความจริงที่จะอบรมหรือดัดนิสัยให้พนักงานที่เป็นผู้ใหญ่หรือไม้แก่แล้วเกิดความซาบซึ้งจนเปลี่ยนพฤติกรรมกลายเป็นผู้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานได้โดยฉับพลัน จริงจัง และต่อเนื่อง |
. |
โดยทั่วไปแล้วไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ส่งเสริมในเรื่องใดก็ตาม (เช่น เรื่องการซื้อสินค้าไทย วัฒนธรรมไทย ความสะอาด สิ่งแวดล้อม) มักปรากฏว่าคนเรามักเห่อไปตามกระแสแฟชั่นในช่วงแรก ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมมักจะย่อหย่อนกลับไปเป็นเหมือนเดิมเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งนั้นก็เป็นความบกพร่องของหน่วยงานหรือตัวผู้รณรงค์ส่งเสริมที่แผ่วหรือขาดความต่อเนื่องในการรณรงค์ส่งเสริมเองด้วย ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้วการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมจากจิตสำนึกหรือจิตอาสาของพนักงานจึงไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผลหรือมีความยั่งยืนเท่าที่ควร |
. |
ในระยะสั้นนั้นผมคิดว่าเรื่องด่วนที่ควรทำในการอนุรักษ์พลังงานก็คือการออกเป็นกฎระเบียบให้พนักงานมีส่วนร่วมกึ่งบังคับ (Compulsory) ในการอนุรักษ์พลังงานซึ่งจะให้ผลที่รวดรวดเร็วและประสิทธิผลดีกว่าแค่การรณรงค์ให้พนักงานมีส่วนร่วมด้วยความสมัครใจ (Voluntary) |
. |
ซึ่งหากบริษัทมีการบังคับใช้กฎระเบียบในการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเพียงพอโดยบริษัทเองก็มิได้ย่อหย่อนเองด้วยแล้ว ก็จะสามารถค่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานให้มีความคุ้นเคยจนเกิดเป็นนิสัยในการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืนไปในที่สุด กล่าวคือการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืนต้องเริ่มจากใช้กฎระเบียบควบคุมคน แล้วค่อยให้คนควบคุมการใช้พลังงานอย่างประหยัดอีกทอดหนึ่งนั่นเอง |
. |
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบกิจกรรมด้านวิศวกรรมพลังงาน กับกิจกรรมด้านการจัดการพลังงาน |
. |
กิจกรรมด้านการจัดการพลังงานนั้นก็สามารถแบ่งได้เป็นอีก 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ |
2.1) การจัดการพลังงานทางตรง (Direct Energy Management) |
เป็นกิจกรรมที่เน้นการลดค่าใช้จ่ายทางตรงด้านพลังงาน เช่น การปิดบอยเลอร์ก่อนเวลาเลิกงานจริงเพื่อใช้ความร้อนที่เหลือ การเหลื่อมเวลาเปิดเครื่องจักรเพื่อลดโหลดไฟฟ้า การรณรงค์ให้ช่วยกันปิดไฟ จอคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องจักรเมื่อไม่ใช้งาน เป็นต้น แม้ว่ามาตรการในการลดค่าใช้จ่ายทางตรงด้านพลังงานจะเป็นมาตรการที่เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับพลังงาน แต่รูปแบบหรือลูกเล่นในการจัดการพลังงานในด้านนี้ในบริษัททั่วไปที่ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมากนักยังมีค่อนข้างจำกัด |
. |
เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ในองค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานออฟฟิศนั้นยังเกี่ยวข้องกับเพียงพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก จึงมักจะไม่ค่อยเห็นเม็ดเงินจากการลดโสหุ้ยพลังงานเหล่านี้ได้ชัดเจน และโสหุ้ยด้านนี้มักมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนโดยรวมของทั้งองค์กร กิจกรรมการลดพลังงานทางตรงจึงมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อสร้างจิตสำนึกและความมีส่วนร่วมที่ดีในการอนุรักษ์พลังงานเป็นหลัก |
. |
2.2) การจัดการพลังงานทางอ้อม (Indirect Energy Management) |
เนื่องจากธุรกรรมทุกอย่างในองค์กรนั้นต้องการพลังงาน ต้นทุนพลังงานจึงแฝงอยู่ในทุกธุรกรรมในองค์กร เช่น ในกระบวนการผลิตนั้นย่อมต้องใช้พลังงานในการแปรรูปวัตถุดิบไปเป็นสินค้าสำเร็จรูป ดังนั้น |
. |
• หากมีงานเสียหรืองานซ่อมในกระบวนการผลิตมากก็จะต้องผลิตสินค้าทดแทนหรือซ่อมงานมาก การลดงานเสียหรืองานซ่อมก็สามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้ |
. |
• หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพหรือจำนวนการผลิตต่อชั่วโมงได้ก็ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) และทำให้ต้นทุนพลังงานต่อหน่วย เช่น ค่าไฟ ค่าเชื้อเพลิงบอยเลอร์ต่อหน่วยลดลง |
. |
กิจกรรมเพิ่มผลผลิตหรือกิจกรรมลดต้นทุนทุกกิจกรรมในองค์กรจึงถือได้ว่าเป็นกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสามารถบูรณาการเข้าด้วยกันได้ ด้วยเหตุนี้ขอบเขตของการจัดการพลังงานทางอ้อมจึงกว้างกว่า และมีสีสันลูกเล่นได้มากกว่าการจัดการพลังงานทางตรงมาก ทำให้แม้ว่าจะเป็นการจัดการพลังงานทางอ้อมแต่ก็มักจะมีผลต่อการลดต้นทุนพลังงานได้มากกว่าการจัดการพลังงานทางตรง |
. |
ดังนั้นองค์กรจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดการพลังงานทางอ้อมนี้ให้มากโดยใช้กระแสของการอนุรักษ์พลังงานเป็นตัวกระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพิ่มผลผลิตต่าง ๆ ให้มากและจริงจังขึ้น |
. |
การบูรณาการกิจกรรมเพิ่มผลผลิตเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน |
ตัวอย่างการบูรณาการการอนุรักษ์พลังงานเข้ากับเครื่องมือหรือกิจกรรมการเพิ่มผลผลิตที่เป็นที่รู้จักกันดีและมีการประยุกต์ใช้กันอย่างกว้างขวางแล้วในองค์กรแล้ว เช่น |
. |
• การบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม (Total Productive Maintenance: TPM) ที่มีลักษณะเด่นที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน (Total) ในการดูแล บำรุงรักษาเครื่องจักรเบื้องต้น เช่น การทำความสะอาด การตรวจสอบสภาพเบื้องต้น ฯลฯ ผ่านกิจกรรมการบำรุงรักษาเครื่องจักรด้วยตนเอง (Self Maintenance: SM หรือ Autonomous Maintenance: AM) |
. |
ในการดำเนินกิจกรรม SM/AM ในทางปฏิบัติ ผมมักเห็นแต่พนักงานโรงงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้โดยดูแลรักษาทำความสะอาดเครื่องจักรของตนเอง แต่พนักงานออฟฟิศกลับแทบไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้เลย |
. |
ดังนั้นผมจึงอยากเห็นพนักงานออฟฟิศได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม SM/AM อย่างง่าย ๆ เช่น ถอดแผ่นกรองอากาศ (Filter) ที่อยู่หลังแอร์ในออฟฟิศของตนเองมาล้างน้ำทำความสะอาดด้วยตนเอง ซึ่งทันทีหลังถอดแผ่นกรองอากาศมาล้างทำความสะอาดแล้วก็จะพบว่าแอร์เย็นขึ้น ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงให้สัมผัสได้อย่างชัดเจนว่าแอร์ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและกินไฟน้อยลง |
. |
นอกจากนี้ความมีส่วนร่วมในการทำความสะอาดแอร์ด้วยตนเองของพนักงานออฟฟิศยังช่วยแก้ข้อครหาเชิงตัดพ้อที่ผมมักได้ยินจากคนโรงงานว่าไม่ว่ากิจกรรมอะไร ๆ (เช่น กิจกรรมประชุมก่อนเริ่มงาน ความปลอดภัย กลุ่มคิวซีซี ไคเซ็น TPM ฯลฯ) ก็มักมาลงแต่คนโรงงานเป็นหลัก หรือพนักงานโรงงานมักถูกบังคับให้ทำอย่างจริงจังในขณะที่พนักงานออฟฟิศมักทำแค่ฉาบฉวย หน่อมแน้มพอเป็นพิธีเท่านั้นเอง |
. |
• กิจกรรม 5ส ก็สามารถบูรณาการเข้ากับการอนุรักษ์พลังงานโดยอาจเป็นเทคนิค 5ส แบบพื้นฐานง่าย ๆ ที่พบเห็นกันอยู่แล้วในทุกองค์กร เช่น การทำ ส.สะดวก โดยติดหมายเลขหลอดไฟและสวิตช์ไฟเพื่อให้เปิดไฟได้ถูกต้อง การเขียนป้ายเตือนให้ปิดไฟเมื่อเลิกใช้ หรือห้ามปรับอุณหภูมิแอร์ ฯลฯ หรืออาจทำ ส.สะอาดโดยทำความสะอาดแอร์หรือเครื่องจักรดังตัวอย่าง SM/AM ข้างต้นเพื่อลดการกินไฟของเครื่องจักรและอุปกรณ์ |
. |
ทั้งนี้อาจใช้กระแสของการอนุรักษ์พลังงานช่วยกระตุ้นความมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานของพนักงานในพื้นที่ 5ส ให้มากขึ้นโดยให้คะแนนพิเศษเป็นโบนัสในการตรวจ 5ส ประจำเดือนสำหรับเทคนิค 5ส ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ หรืออาจจัดเป็นแคมเปญ 5ส เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือเดือนแห่ง 5ส เพื่อการอนุรักษ์พลังงานได้ |
. |
• เทคนิคการควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) อาจทำได้ง่าย ๆ โดยติดประกาศเผยแพร่ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและสาธารณูปโภคให้พนักงานได้เห็นเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในการควบคุมและลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน (เทคนิคการควบคุมด้วยการมองเห็น หรือ Visual Control ก็ถือเป็นเทคนิคที่สำคัญในการทำ ส.สะดวก ด้วยเช่นกัน) |
. |
ซึ่งผมเห็นหลายองค์กรที่ได้เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ให้พนักงานทราบแล้วพบว่าพนักงานให้ความร่วมมือในการควบคุมค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี และจะดียิ่งขึ้นหากสามารถแยกค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้ละเอียดมากขึ้นเป็นรายแผนก ซึ่งแม้ว่าแต่ละแผนกจะมีภาระงานที่ไม่เหมือนกันทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็สามารถเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายของตนเองกับเดือนที่ผ่านมาได้ หรือถึงแม้ว่าจะเปรียบเทียบไม่ได้แต่คนโดยทั่วไปก็จะมีความระมัดระวังในการใช้ทรัพยากรมากขึ้นเมื่อถูกชี้วัด |
. |
ทั้งนี้ผมเชื่อว่ามนุษย์นั้นกลัวการควบคุมและตรวจสอบ หากมีการวัดและเผยแพร่ข้อมูลด้านการใช้ทรัพยากรของแต่ละคนหรือแต่ละหน่วยงานแล้วย่อมจะทำให้คนมีความรอบคอบในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ตัวอย่างที่น่าจะเห็นได้ชัดเจนจากมาตรการที่หลายบริษัทใช้ในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการถ่ายเอกสารที่หากไม่มีการวัดและแสดงผลจำนวนการถ่ายเอกสารแล้วจะทำให้มีการถ่ายเอกสารสิ้นเปลืองมาก |
. |
ทันทีที่มีควบคุมหรือแสดงผลจำนวนในการถ่ายเอกสาร (เช่น มีสมุดบันทึกการถ่ายเอกสาร ควบคุมการเบิกกระดาษ ใช้บัตรรูด หรือกดรหัสเมื่อถ่ายเอกสาร) ก็จะทำให้มีการถ่ายเอกสารน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ยิ่งการควบคุมและแสดงผลลงลึกและละเอียดเท่าไร (เช่น จากระดับบริษัท สู่ระดับแผนก และระดับบุคคลตามลำดับ) ก็จะยิ่งช่วยให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น |
. |
• กิจกรรมไคเซ็นและข้อเสนอแนะ เช่น ข้อเสนอแนะให้แต่ละแผนกประสานงานกันเพื่อฝากกันไปทำธุระนอกบริษัท (เช่น ไปธนาคาร ไปไปรษณีย์ ไปซื้ออุปกรณ์สำนักงาน ฯลฯ) ในคราวเดียวกัน หรือข้อเสนอแนะของแม่บ้านที่นำขวดน้ำ 1 ลิตรไปถ่วงในโถชักโครกเพื่อประหยัดน้ำ 1 ลิตรในการกดชักโครกแต่ละครั้ง ฯลฯ |
. |
ทั้งนี้ก็อาจรณรงค์ความมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานผ่านกิจกรรมไคเซ็นและข้อเสนอแนะโดยมีแคมเปญหรือรางวัลพิเศษสำหรับข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน เช่น จัดให้มีเดือนแห่งไคเซ็นและข้อเสนอแนะเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เดียวกับกิจกรรม 5ส ได้เช่นกัน |
. |
ทั้งนี้ยังมีเครื่องมือและกิจกรรมเพิ่มผลผลิตอีกมากมายที่สามารถบูรณาการเข้ากับการอนุรักษ์พลังงานได้ เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Green Productivity (GP), ISO 14001, การรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ฯลฯ ทั้งนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมเพิ่มผลผลิตในองค์กรเองจะต้องเป็นผู้ที่คิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการบูรณาการให้เหมาะสมกลมกลืนกับกิจกรรมและพนักงานในองค์กรของตนเอง |
. |
การจัดการโซ่พลังงาน (Energy Chain Management) |
นอกจากนี้กิจกรรมการจัดการพลังงานในระดับองค์กรนั้นไม่ได้หมายรวมถึงแค่การลดต้นทุนพลังงานภายในองค์กรตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการลดต้นทุนพลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อมให้หรือร่วมกับคู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stake Holder) อื่น ๆ ภายนอกองค์กร เช่น ชุมชน และสังคมโดยรวมด้วย จนอาจเรียกว่าเป็นการจัดการโซ่พลังงานร่วมกัน โดยองค์กรอาจใช้กระแสความตื่นตัวในเรื่องโลกร้อนเข้ามาช่วยสร้างความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น |
. |
• การที่โรงแรมต่าง ๆ มักติดป้ายขอความร่วมมือให้แขกที่พักหลายคืนใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเดิมเพื่อลดการซักผ้าเช็ดตัวและลดต้นทุนของทางโรงแรมเอง (เป็นหลัก) โดยอ้างถึงกระแสลดโลกร้อนเป็นตัวช่วย หรือการที่สายการบินแห่งชาติของประเทศหนึ่งมีนโยบายงดการแจกถุงพลาสติกให้ผู้โดยสายเที่ยวบินในประเทศใช้ใส่กล่องอาหารว่างที่ไม่ได้ทานลงมาจากเครื่องบิน โดยใช้การบังคับด้วยเหตุผลด้านโลกร้อนประกอบ (ทำให้ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วเครื่องบินด้วยราคา High Cost ต้องถือกล่องอาหารว่างกระเตงไปพร้อมกับกระเป๋าสัมภาระที่พะรุงพะรังอยู่แล้ว |
. |
ซึ่งโดยที่จริงแล้วถ้วย และช้อนพลาสติก รวมถึงครีมเทียมและน้ำตาลที่อยู่ในกล่องอาหารว่างทุกกล่องอาจทำให้โลกร้อนได้มากกว่า เพราะผู้โดยสารกว่าครึ่งนั้นไม่ได้ดื่มชา กาแฟ และต้องทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปเฉย ๆ ในขณะที่ผู้โดยสารอาจใช้ถุงพลาสติกที่ถือลงมาไปใช้ซ้ำ หรือ Reuse ได้ต่อ หรือสายการบินอาจเพียงลดความหนาของถุงพลาสติกลงเพื่อความประหยัดก็ได้) |
. |
• การทำ Milk Run ซึ่งเป็นเทคนิคที่โดดเด่นเทคนิคหนึ่งในการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยใช้รถขนส่งสินค้าขนาดใหญ่จอดแวะรับสินค้าจากบรรดาซัพพลายเออร์ที่อยู่ในเส้นทางเดียวขนส่งไปยังลูกค้ารายเดียวกันในคราวเดียวกัน เพื่อลดค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าพนักงานขนส่ง และค่าเช่ารถ ในการแยกกันส่งสินค้าด้วยรถขนส่งขนาดเล็กหลายคันของซัพพลายเออร์แต่ละราย และช่วยลดความยุ่งยากในการรับสินค้าของลูกค้า เมื่อซัพพลายเออร์มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้อยลงก็สามารถให้ส่วนลดในการซื้อสินค้ากับลูกค้าเองได้มากขึ้น |
. |
• การปรับปรุงเพื่อลดงานเสียหรืองานซ่อมในกระบวนการผลิตในโรงงานผ่านกิจกรรมกลุ่มคุณภาพ หรือ กลุ่มคิวซีซี (Quality Control Circle: QCC) ที่อาจทำกันเองภายในบริษัทหรือทำร่วมกับลูกค้าหรือซัพพลายเออร์ ซึ่งสามารถช่วยให้ต้นทุนด้านพลังงาน (และต้นทุนอื่น ๆ) ของบริษัทในการผลิตงานใหม่ทดแทนงานเสียหรือในการซ่อมงานลดลง |
. |
ซึ่งหากมองในมุมมองของการจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) แล้ว หากบริษัทมีต้นทุนในการผลิตสินค้า 100 บาท โดยเป็นต้นทุนพลังงาน 5% (หรือ 5 บาท) และต้นทุนวัตถุดิบ 70% (หรือ 70 บาท) และซัพพลายเออร์เองก็มีต้นทุนด้านพลังงานในการวัตถุดิบชิ้นนั้น 5% ของต้นทุนวัตถุดิบ 70 บาท (หรือ 3.5 บาท) |
. |
ถ้าบริษัทสามารถลดของเสียลงได้ 1 ชิ้น นอกจากจะช่วยลดต้นทุนพลังงานในการผลิตสินค้าของบริษัทเองไปได้ 5 บาท แล้วยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในการช่วยลดต้นทุนพลังงานของซัพพลายเออร์ในการผลิตวัตถุดิบมาทดแทนอีก 3.5 บาทด้วย ซึ่งแม้ว่าซัพพลายเออร์อาจจะไม่ค่อยชอบนักเพราะรู้สึกว่าตนขายสินค้าได้น้อยลง |
. |
แต่การปรับปรุงการทำงานร่วมกันก็จะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานของโลกในการผลิตวัตถุดิบ และลดมลภาวะให้กับสังคมได้ ซึ่งหากซัพพลายเออร์พยายามมองในแง่ดีขึ้นไปอีกก็อาจพบว่าการที่ลูกค้ามีงานเสียน้อยลง จะทำให้มีความเข้มแข็งด้านต้นทุนดีขึ้น อันอาจจะนำมาซึ่งแรงกดดันในการต่อรองราคากับซัพพลายเออร์น้อยลงในอนาคต ลูกค้าและซัพพลายเออร์จึงควรมีการบริหารจัดการโซ่พลังงาน หรือ Energy Chain Management ร่วมกัน |
. |
ข้อคิดท้ายเรื่อง |
กิจกรรมหรือโครงการอนุรักษ์พลังงานในปัจจุบันนั้นมีรูปแบบที่หลากหลาย จึงต้องการบุคลากรและทรัพยากรในการบริหารจัดการที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ทั้งนี้กิจกรรมอนุรักษ์พลังงานในองค์กรส่วนใหญ่แล้ว สามารถบูรณาการเข้ากับกิจกรรมการเพิ่มผลผลิตและกิจกรรมอื่น ๆ ที่ได้ทำกันอยู่แล้วอย่างแพร่หลายทั้งภายในองค์กรเองและระหว่างองค์กรได้ |
. |
จึงควรบูรณาการกิจกรรมเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดการเสริมประสาน (Synergy) ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมเพิ่มผลผลิตเดิมมีสีสันและได้รับการยอมรับมากขึ้นจากกระแสตื่นตัวด้านการอนุรักษ์พลังงาน และพนักงานเองก็จะไม่รู้สึกว่าการอนุรักษ์พลังงานเป็นกิจกรรมใหม่ที่บริษัทหามาให้ทำเสริมเพิ่มจากกิจกรรมเดิมที่พนักงานก็รู้สึกว่ามีมากอยู่แล้ว |
. |
ในระดับบุคคลเองนั้น บุคคลควรพึงสำนึกเสมอว่าแม้ว่าเงินที่เราจ่ายค่าพลังงานนั้นจะเป็นของเรา แต่พลังงานนั้นไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของโลกและของมนุษย์ทุกคนร่วมกันไม่ว่าจะเป็นคนในรุ่นนี้หรือรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตข้างหน้า การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานในระดับบุคคลซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สุดในสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญ |
. |
หากทุกคนในองค์กรใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า องค์กรก็จะใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า หากทุกองค์กรใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าประเทศก็จะใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และหากทุกประเทศใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าโลกก็จะใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในที่สุด ทั้งนี้แม้ว่าการสร้างจิตสำนึกและความสมัครใจในการอนุรักษ์จะเป็นเรื่องใหญ่ |
. |
แต่ในทางปฏิบัติแล้วมักทำได้ยากและไม่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรหรือชุมชนขนาดใหญ่ เนื่องจากการอนุรักษ์ (Conservation) นั้นมักจะต้องแลกด้วยความสะดวก (Convenience) หากประหยัดก็จะไม่ค่อยสะดวก และถ้าหากสะดวกก็จะไม่ค่อยประหยัด คนส่วนใหญ่มักเห็นความสะดวกส่วนตนมากกว่าการประหยัดส่วนรวม |
. |
ดังนั้นการบังคับใช้กฎระเบียบ หรือกฎหมาย (Compulsory) ในการอนุรักษ์พลังงานจึงเป็นเรื่องด่วนที่ต้องทำก่อนทั้งในระดับองค์กรและในระดับประเทศ (เช่น พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน) โดยต้องใช้กฎระเบียบควบคุมคน แล้วค่อยให้คนควบคุมการใช้พลังงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพียงพอจนเกิดเป็นความสมัครใจหรือจิตอาสา (Voluntary) ในการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืนในที่สุด |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด