การทำตลาดในรูปแบบของการเน้นรับสมาชิกขายตรง เน้นเชิญชวนให้เข้าสมัครสมาชิก หรือไม่ก็เสนอผลตอบแทน ปรากฏการณ์นี้ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการขายตรงที่เน้นในเรื่องของการขยายฐานลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่ต้องการขายเพื่อทำยอด หรือเพื่อซื้อสินค้าใช้เอง ก็จะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินต่อองค์กรมากขึ้นเท่านั้น
ในช่วงที่ผ่านมาหากใครสนใจดูพวกโฆษณาประเภทเครื่องสำอางต่าง ๆ คงจะพอเริ่มเห็นการทำตลาดในรูปแบบของการเน้นรับสมาชิกขายตรงกันมาก โดยรูปแบบของการโฆษณาก็จะเน้นนำดารานักร้องดัง ๆ เชิญชวนให้เข้าสมัครสมาชิก หรือไม่ก็เสนอผลตอบแทน เช่น เงินเดือนในระดับสูง, รถประจำตำแหน่ง, ผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับเมื่อสมัครสมาชิก ฯลฯ ในลักษณะของปรากฏการณ์นี้ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการขายตรงที่เน้นในเรื่องของการขยายฐานลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่ต้องการขายเพื่อทำยอด หรือเพื่อซื้อสินค้าใช้เอง ก็จะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินต่อองค์กรมากขึ้นเท่านั้น |
. |
เมื่อมาพูดถึงการขายตรงในลักษณะนี้ หากใครที่เคยเข้าไปสัมผัสก็จะพบว่ามีกลยุทธ์ในการทำงานที่หลากหลาย ทั้งการเน้นการขายสินค้า และการขยายฐานของสมาชิกด้วยการสร้างเครือข่ายของทีม ซึ่งหน้าที่ของทีมก็คือ การสร้างยอดขายและการหาสมาชิก เมื่อทำงานบรรลุเป้าหมายก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นมูลค่าของเงินตามแต่ข้อตกลง |
. |
ดังนั้นหากทีมใดมีการทำงานที่ดี ประสานสัมพันธ์กัน ทำยอดขายทะลุเป้า ผลตอบแทนที่ได้ก็มากขึ้นตามสัดส่วน แต่หากตรงกันข้าม นอกจากจะไม่ได้ผลตอบแทนแล้ว ดีไม่ดีอาจต้องขาดทุน และล้มเลิกไปในที่สุด |
. |
ทีมเวิร์กคืออะไร |
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าทีมนั้นมีความสำคัญต่อการทำงานเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในโครงการต่าง ๆ นั้นนอกจากจะต้องการบุคลากรซึ่งรวมกันเป็นทีมแล้ว ผลการทำงานที่เกิดจากทีมจะต้องมีประสิทธิภาพด้วย จึงจะเรียกว่าเป็นทีมเวิร์ก หรือทีมทำงาน |
. |
โดยความหมายของทีมเวิร์กนั้น นอกจากจะเป็นผู้ร่วมงานที่ทำงานให้โครงการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายแล้ว ทีมเวิร์กจะต้องมีปัจจัยขั้นต้นดังต่อไปนี้ |
- มีความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน - มีการปฏิบัติงานไปในแนวทางเดียวกัน - มีความมุ่งมั่นต่อการทำงาน - มีความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน - มีความเคารพต่อกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้น - มีการแบ่งปันผลตอบแทนที่ได้รับร่วมกัน - มีเป้าหมายหลักเดียวกัน - ฯลฯ |
. |
เหล่านี้ถือเป็นเพียงปัจจัยขั้นต้นที่เราใช้ในการวิเคราะห์ทีมของโครงการว่า เป็นทีมเวิร์กที่เหมาะสมสำหรับโครงการหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อทีมมีคุณลักษณะเหล่านี้แล้ว การทำงานของทีมจะประสบผลสำเร็จเสมอไป คำถามคือ….ทำไม ? |
. |
สาเหตุที่ทำให้ทีมล้มเหลว |
การทำงานร่วมกันเป็นทีม หรือทีมเวิร์กนั้นนับเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุดในการที่จะทำให้โครงการนั้นบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การที่โครงการมีทีมเวิร์กที่มีประสิทธิภาพนั้น นับเป็นเปอร์เซ็นต์ที่จะส่งเสริมความสำเร็จของโครงการ ในโครงการหนึ่งอาจจัดแบ่งทีมงานออกเป็น 2 ทีมเพื่อทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น ทีม A เป็นทีมที่มีหน้าที่ควบคุมและดูแลการผลิตให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหา เช่น เครื่องจักรชำรุด ผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย ทีม B จะต้องเข้ามารับผิดชอบในการแก้ปัญหาดังกล่าว |
. |
แล้วทำไมถึงได้มีสาเหตุของการล้มเหลวปรากฏขึ้นมาในทีม ในเมื่อแต่ละทีมก็มีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป แต่ยังคงไว้ซึ่งเป้าหมายเดียวกัน ? |
. |
สำหรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนี้อยากจะยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดทีมอเมริกันฟุตบอล โดยเนื้อเรื่องก็จะชูประเด็นในเรื่องของการคัดนักกีฬาซึ่งเป็นนักกีฬาที่มีฝีมือและความสามารถในด้านกีฬาประเภทนี้ แต่แตกต่างกันด้วยสีผิว ทำให้เกิดปัญหาของการเหยียดผิวขึ้นมาในทีม เมื่อมีการฝึกซ้อมครั้งใดก็ไม่สามารถพัฒนาการเล่นให้ได้ตามเป้าหมายซักที วันหนึ่งโค้ชซึ่งเป็นชาวผิวดำก็เลยปรับรูปแบบใหม่ด้วยการให้นักกีฬาทั้งหมด ร่วมกันเข้าค่ายเพื่อฝึกซ้อม ประสานสัมพันธ์ภายในค่ายด้วยการทำกิจกรรมทุกอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน การซ้อมกีฬา เรื่องส่วนตัวต่าง ๆ ทุกคนในทีมจะต้องทราบร่วมกัน ซึ่งก็ส่งผลให้การฝึกซ้อมนั้นเริ่มมีความเข้าขากันและพัฒนาฝีมือไปได้อย่างรวดเร็ว จนในที่สุดก็สามารถแข่งขันและเอาชนะคู่แข่งจนได้เป็นแชมป์ไปในที่สุด |
. |
เมื่อดูจบแล้วก็มานึกว่าสาเหตุที่ทีมนั้นประสบความสำเร็จ นอกจากความสามารถของตัวนักกีฬาเองแล้วนั้น การร่วมแรงร่วมใจกันในการฝึกซ้อมและแข่งขัน ซึ่งเป็นจุดที่โค้ชสร้างขึ้นกับทีมก็เป็นหัวใจหลักสำคัญที่นำทีมสู่ความสำเร็จ อาจเรียกได้ว่า ทีมที่เก่งนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำงาน แต่การทำงานร่วมกันในลักษณะของทีมเวิร์กต่างหากเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ |
ย้อนกลับมาสู่โครงการต่าง ๆ หากมีทีมที่มีสมาชิกที่มีความสามารถเพียงใด หรือมีการแบ่งทีมออกเป็นแต่ละส่วนรับผิดชอบ ทีมนั้นก็อาจมีการทำงานที่ล้มเหลวได้ สาเหตุหลักที่พอจะระบุถึงได้ของความล้มเหลว เช่น |
. |
- การขาดผู้รู้จริง |
ในการสร้างทีมขึ้นมานั้น ถึงแม้จะประกอบไปด้วย คนเก่งมารวมกันมากมาย แต่ถามว่าในจำนวนนั้นมีผู้รู้จริงในเรื่อง หรือโครงการนั้น ๆ หรือไม่ คำตอบที่ได้อาจจะมี มีบ้าง หรือ ไม่มีเลย ก็ได้ เพราะคนเรานั้นมีความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน ดังนั้นแนวคิดหลักของการที่จะหาสมาชิกมาร่วมทีมจึงควรที่คัดคนที่มีความรู้จริงในเรื่องนั้น ๆ มากกว่าคนที่มีความเก่งไปเสียทุกเรื่อง |
. |
- การขาดผู้นำ |
คำว่าผู้นำนั้นไม่ใช่หมายถึงหัวหน้างาน หรือผู้มีอำนาจสูงสุดในการบัญชาการเพียงอย่างเดียว แต่อาจต้องรวมถึง คุณสมบัติในการนำพาทีมไปสู่จุดมุ่งหมายของโครงการ ซึ่งคุณสมบัติของผู้นำนั้นนอกจากจะต้องมีความสามารถที่หลากหลายในการบริหาร ยังต้องสามารถปรับสภาพของทีมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ด้วย |
. |
- การขาดการฝึกอบรม |
การฝึกอบรมถือเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยพัฒนาทีมให้มีความรู้ไปในแนวทางเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่จะต้องมีการแข่งขันกันในทุก ๆ ด้าน การฝึกอบรมจึงถือเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่สะดวกต่อการพัฒนาทีมเป็นอย่างดี ลองคิดดูว่า หากเราได้ทีมที่มีการฝึกอบรมให้ความรู้เป็นประจำ ย่อมจะมีพื้นฐานของความรู้ที่เพิ่มพูนไปในแนวทางเดียวกัน การทำงานก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่าทีมที่ไม่ได้รับการฝึกอบรม |
. |
เทคนิคสำหรับการสร้างและบริหารทีมเวิร์ก |
ทีมนั้นถือเป็นหัวใจหลักของงาน สำหรับโครงการใดหากมีทีมที่มากไปด้วยปริมาณแต่ขาดคุณภาพ ก็อาจเทียบไม่ได้กับทีมที่มีปริมาณน้อย แต่มากไปด้วยประสิทธิภาพ |
สำหรับการที่จะหาทีมที่ความเพียบพร้อมในระดับที่สมบูรณ์แบบนั้น คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัญหาหลายประการ เช่น การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้, องค์กรไม่มีงบประมาณสำหรับจ้างบุคลากร, มีการกำหนดตำแหน่งสำหรับทีมเป็นที่เรียบร้อย ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นการยากที่เราจะได้ทีมที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทีมที่เราจัดตั้งขึ้นมานั้น จะไม่สามารถทำงานได้ เพราะการทำงานในลักษณะของทีมเวิร์กนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องได้บุคลากรที่มีความครบถ้วนหรือสมบูรณ์แบบเลยก็ได้ แต่สามารถที่จะใช้เทคนิคในการปรับทีมนั้นให้มีการทำงานแบบทีมเวิร์กซึ่งจะเป็นวิธีการที่ดี และใช้ในการบริหารโดยทั่วไป |
. |
ในการที่ทีมจะมีการทำงานแบบทีมเวิร์กนั้น ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาทันทีทันใด แต่จะต้องเกิดขึ้นควบคู่กับการทำงาน และผู้ที่มีหน้าที่ในการทำให้เกิดทีมเวิร์กในทีมก็จะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจหรือหน้าที่ในการบริหารทีมโดยตรง ซึ่งก็คงไม่พ้นผู้จัดการหรือผู้บริหารโครงการ โดยเป้าหมายหลักของการบริหารทีม หรือการสร้างทีมเวิร์ก จะต้องสร้างคุณลักษณะดังต่อไปนี้ให้เกิดกับทีม |
- กำหนดหน้าที่ของทีมในการทำงานอย่างชัดเจนไม่คลุมเครือ - กำหนดและถ่ายทอดรูปแบบการดำเนินงานของโครงการให้กับทีมได้รับทราบทั่วถึง - กำหนดมอบหมายงานให้ถูกต้องและเหมาะสมกับความสามารถของทีม - กำหนดและให้อำนาจการตัดสินใจในเรื่องที่ทีมหรือสมาชิกรับผิดชอบ - ให้ความยุติธรรมต่อการทำงานของสมาชิกในทีม - มีการจัดฝึกอบรมให้กับทีมเสมอ - กำหนดนโยบายในการปรับเปลี่ยนการทำงานของทีม - สร้างขวัญและกำลังใจให้กับทีม - สร้างรูปแบบของงานที่กระตุ้นการทำงานของทีมในแบบของทีมเวิร์ก - คุณลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างขึ้นในทีม โดยผู้บริหารโครงการ หรือผู้จัดการทีม จะต้องอาศัยเทคนิคหลาย ๆ ด้าน เพื่อที่จะให้เกิดความเป็นทีมเวิร์กดังต่อไปนี้ - เทคนิคการจัดประชุม - เทคนิคการสร้างศูนย์กลางข้อมูลของโครงการ - เทคนิคการปรับเปลี่ยนทีม - เทคนิคการฝึกอบรม - เทคนิคการให้รางวัล - เทคนิคการสร้างขวัญและกำลังใจ |
. |
เทคนิคการจัดประชุม |
เทคนิคการจัดประชุมนั้นถือเป็นเทคนิคทั่วไปที่ต้องปฏิบัติ เพื่อก่อให้เกิดการพบประกันของทีม, การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน, การพูดคุยสร้างสัมพันธ์ในทีม ซึ่งถือเป็นเรื่องปลีกย่อยที่เกิดขึ้น แต่เป้าหมายหลักจริง ๆ ของการประชุม คือ การกำหนดหน้าที่ให้กับทีมและชี้แจงรูปแบบการทำงานให้สมาชิกได้รับทราบและรับไปปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เราอาจจะเห็นว่าในองค์กรนั้น อย่างน้อยที่สุด เมื่อเริ่มโครงการอะไรก็ตามแต่จะต้องมีการจัดประชุมในครั้งแรกเพื่อแจกแจงงาน ยิ่งถ้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ก็ยิ่งต้องมีการประชุมหลายระดับนับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ไปจนถึงพนักงาน เพื่อที่จะได้รับทราบถึงแนวทางปฏิบัติ |
. |
รูปที่ 1 ลำดับขั้นของการจัดประชุม |
. |
สำหรับวิธีการหรือลำดับขั้นตอนของการปะชุมนั้น ก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะขององค์กร อาจมีพิธีการหรือไม่มีเลยก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่หากเป็นการประชุมกันในครั้งแรก เราอาจมีลำดับขั้นของการประชุมดังต่อไปนี้ |
. |
ขั้นที่ 1 การแนะนำสมาชิกของทีม การแนะนำสมาชิกของทีมนั้น ถือเป็นการเปิดตัวทั้งตัวเองและผู้อื่นในการประชุมระดับใหญ่ ๆ ก็อาจมีเพียงการแนะนำเฉพาะผู้บริหารระดับสูง หรือหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นการประชุมเฉพาะทีม เช่น อาจมีผู้เข้าร่วมประชุมเพียง 10-20 คน ก็ควรที่จะมีการแนะนำตัวกันทุกคน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ์ภายในทีม |
. |
ขั้นที่ 2 อธิบายถึงภาพรวมของโครงการเมื่อแต่ละฝ่าย หรือสมาชิกในทีมได้ทำความรู้จักกันแล้ว ก็จะวกกลับเข้ามาในเนื้อหาของโครงการ ผู้จัดหรือผู้บริหารโครงการจะต้องอธิบายถึงภาพรวมของโครงการทั้งหมดเพื่อให้สมาชิกได้ทำความเข้าใจไปพร้อมกัน ซึ่งภาพรวมของโครงการนั้นควรที่จะเน้นในเรื่องที่สำคัญ เช่น |
- รูปแบบหรือการดำเนินการของโครงการมีลักษณะอย่างไร - เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์หลักของโครงการ - กลยุทธ์หรือเทคนิคในการทำงานของโครงการ |
. |
ขั้นที่ 3 อธิบายถึงภาวะหรือสภาพการณ์สำคัญ ของโครงการที่มีต่อ ธุรกิจ, ผู้บริโภค, เศรษฐกิจ, การเมือง ฯลฯ เพื่อแสดงให้ทีมเห็นถึงความสำคัญและความเจริญเติบโตของโครงการ |
. |
ขั้นที่ 4 ร่วมกันพิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ของทีมที่ได้รับว่า ควรมีการปรับปรุงในจุดใดบ้าง ซึ่งขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนของการระดมความคิดเห็นของทีม วิเคราะห์ถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จุดนี้ถือเป็นจุดสำคัญที่ทีมสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการหรือขั้นตอนให้เหมาะสมกับความสามารถ โดยมีเป้าหมายหลักที่ความสำเร็จของโครงการ |
. |
ขั้นที่ 5 สรุปบทบาทและหน้าที่ เมื่อมีการพิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ของทีมไปแล้ว จะต้องสรุปถึงบทบาทหน้าที่ หรือภารกิจออกมาให้ชัดเจนในรูปแบบของรายงาน อาจจะใช้วิธีการจดบันทึกในที่ประชุมก่อน เพื่อให้ทราบเป็นเบื้องต้น ในครั้งต่อไปจึงจัดทำเป็นรายงานการประชุมเผยแพร่ หรือติดประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน |
. |
ขั้นที่ 6 กำหนดวิธีการประสานงานระหว่างทีม สำหรับโครงการใดที่มีการแบ่งทีมออกรับผิดชอบงาน จะต้องมีการลำดับการติดต่อ หรือ ประสานงานให้ชัดเจน เช่น ทีม A เป็นทีมรับสินค้า เมื่อเสร็จงานจะต้องเอาเอกสารส่งต่อไปยังทีม B ซึ่งถือเป็นการชี้แจงถึงขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติให้แต่ละทีมทราบ |
. |
ขั้นที่ 7 อธิบายถึงหัวข้อหลักของแผนสำหรับโครงการ เมื่อทีมมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง และทราบถึงสายงานที่เกี่ยวข้อง ผู้จัดหรือ ผู้บริหารโครงการจะต้องอธิบายถึง แผนของโครงการที่วางไว้ ตั้งแต่เริ่มไปจนเสร็จสิ้นในโครงการ ในลักษณะของการนำเสนอ จะต้องพูดถึงรายละเอียดของหัวข้อหลัก ๆ ให้ครบทุกข้อ และถ้าหากมีสื่อ เช่น เอกสาร, แผนผัง, การฉายสไลด์ ประกอบด้วยก็จะทำให้ทีมทราบและเข้าใจถึงแผนได้ดียิ่งขึ้น |
. |
ขั้นที่ 8 ระบุภาวะเสี่ยงหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ไม่มีการทำงานใดที่จะไม่มีข้อผิดพลาดหรือปัญหา ดังนั้นเมื่อมีการประชุมทีม จะต้องระดมความคิดวิเคราะห์ถึงปัญหา หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดกับโครงการ เช่น ความเสี่ยงจากการลงทุน จากภัยธรรมชาติ โรคระบาด หรือปัญหาในข้อกำหนดของเวลา แรงงาน ค่าจ้าง ฯลฯ |
. |
ขั้นที่ 9 กำหนดความรับผิดชอบ จากปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับโครงการนั้น การแก้ไขปัญหาจะต้องร่วมกันแก้ไขจากทุกทีม แต่จะต้องมีการระบุตัวสมาชิกในทีมมารับผิดชอบ เพื่อที่จะได้คอยติดตามและควบคุมปัญหาหรือความเสี่ยงนั้น ๆ ได้อีกระดับ |
. |
ขั้นที่ 10 มอบหมายการดำเนินการต่อไป เมื่อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ครบถ้วน ก็ถึงขั้นตอนของการกล่าวปิดท้าย ซึ่งควรเป็นการกล่าวมอบหมายงานให้สมาชิกในทีมนำไปปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย |
. |
จากขั้นตอนทั้ง 10 ขั้นตอนนี้ ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ หรือเป็นปัจจัยหลักของการจัดประชุม ซึ่งอาจกินเวลามากน้อยแตกต่างกัน ในบางองค์กรที่มีเครือข่ายของทีมขนาดใหญ่ ก็อาจจะมีการบันทึกเทปการประชุมในแต่ละครั้งเพื่อไว้ทบทวนหรือ ให้ทีมอื่นได้ศึกษาถึงหลักและวิธีการทำงาน สำหรับองค์กรหรือทีมที่มีขนาดเล็กหากต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับการประชุม อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีผู้บันทึกการประชุมในแต่ละครั้ง เพื่อจดรายละเอียดของการประชุมไว้เป็นข้อมูลในการติดตามผลการทำงานของทีมต่อไป |
. |
เทคนิคการสร้างศูนย์กลางข้อมูลของโครงการ |
หลังจากที่ได้มีการประชุม หรือพบปะและมอบหมายงานในการทำงานของแต่ละทีมไปเป็นที่เรียบร้อย การดำเนินงานของทีมนั้นจะถูกต้อง หรือตรงตามประเด็นอย่างไร ก็จะต้องมีการควบคุมและตรวจสอบจากหัวหน้าทีมอีกที แต่หากเราต้องการสร้างทีมเวิร์กให้เกิดขึ้นกับทีม ประเด็นที่จะช่วยในการติดตามและตรวจสอบได้ดี และไม่รู้สึกถึงการจับผิดหรือควบคุมจนเกินเหตุก็คือการจัดศูนย์กลางของข้อมูล |
. |
รูปแบบของการจัดศูนย์กลางข้อมูลของโครงการนั้น อาจจัดในหลายรูปแบบ เช่น การจัดบอร์ดติดประกาศ, การจัดห้องแสดงผลการดำเนินการ, การบันทึกเทปขั้นตอนการทำงาน หรือแม้แต่ในปัจจุบัน การนำเอาเทคโนโลยีในด้านคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน เก็บข้อมูลต่าง ๆ ก็ถือเป็นสื่อที่รวบรวมข้อมูลไว้ได้มากและนำเสนอได้เป็นอย่างดี แล้วข้อมูลอะไรที่จะต้องนำมาเก็บไว้ที่ศูนย์กลางข้อมูล ? |
. |
อย่างน้อยที่สุดก็ควรที่จะเริ่มจาก การติดประกาศข้อมูลและรายละเอียดของโครงการ แผนการทำงาน, ความคืบหน้า, การตรวจสอบงาน ซึ่งควรจัดเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เมื่อสมาชิกในทีมเข้ามาดูรายละเอียดของโครงการ ก็สามารถเข้าใจได้ทันที ส่วนต่อไปก็เป็นบอร์ดติดประกาศข้อมูลของทีม ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วยผังสมาชิกในทีม ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แผนการดำเนินงาน ความคืบหน้าหรือผลงานของทีมที่โดดเด่น |
. |
การสร้างศูนย์กลางข้อมูลสำหรับโครงการนั้น นอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์ถึงการทำงานของทีมแล้วนั้น ยังเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการทงานของทีมไปในตัว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อทีม A ทำงานไปได้ 30 % ทีม B ทำงานไปได้ 40% ทีม A ก็ต้องพยายามเร่งการทำงานให้ทันทีม B หรือเวลาที่กำหนดในโครงการใกล้ระยะเวลาของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติ ทีมก็จะต้องจัดเตรียมความพร้อมเพื่อให้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ |
.. |
. |
เทคนิคการปรับเปลี่ยนทีม |
การปรับเปลี่ยนทีมนั้นก็เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีมให้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งการสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ ไปจนกระทั่งการคัดสมาชิกในทีมออก การปรับเปลี่ยนทีมนั้นถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง เนื่องจากมีผลโดยตรงกับทีม ซึ่งผู้จัดหรือผู้บริหารโครงการ จะต้องมีเหตุผลที่ดีพอในการปรับเปลี่ยนทีม |
.. |
เทคนิคการปรับเปลี่ยนทีมนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถือเป็นเรื่องที่ยากต่อการปฏิบัติจริง เนื่องจากสาเหตุหลาย ๆ ประการ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนบุคลากร จึงจำเป็นต้องฝืนทนทำงานกับทีมเดิมที่มีอยู่, การเกรงอกเกรงใจในทีมเนื่องจากมีความเป็นญาติมิตร หรือเป็นหุ้นส่วนกัน ทำให้ไม่สามารถปรับหรือคัดสมาชิกในทีมออกได้ จริง ๆ แล้วปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้จัดหรือผู้บริหารโครงการจะต้องพยามแก้ไขหากมีอำนาจเพียงพอและสามารถสั่งการได้ ในหลาย ๆ องค์กรที่ต้องการให้โครงการต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ จะใช้วิธีการปรับเปลี่ยนทีม ซึ่งมีทั้งการปรับเฉพาะบุคคลหรือปรับทั้งทีม |
.. |
. |
เมื่อพูดถึงการปรับเปลี่ยนทีมอยากจะขอยกตัวอย่างของทีมเลือกตั้งในประเทศสหรัฐ ผู้ที่จะสมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็จะมีการจัดตั้งทีมเพื่อช่วยในการหาเสียง โดยจะใช้วิธีการหยั่งเสียงในแต่ละรัฐ ผู้สมัครก็จะมีทีมที่เป็นฝ่ายสนับสนุนและคอยดำเนินการต่าง ๆ ให้ ถึงแม้ว่าจะมีความต้องการสมาชิกของทีมในการช่วยสนับสนุนการหาเสียงเพียงใด ก็ได้ทราบว่าได้มีการคัดสมาชิกออกจากทีมหาเสียง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและให้ทีมมีความกระชับมากยิ่งขึ้น จริง ๆ แล้วเราอาจจะนึกว่าการมีสมาชิกในทีมที่ช่วยกันเยอะ ๆ น่าจะดี ซึ่งก็ไม่ถูกต้องเสมอไป หากมีแต่ปริมาณไม่มีคุณภาพ การปรับทีมด้วยการคัดออกเพื่อให้ได้เฉพาะผู้ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะเป็นการประหยัดงบประมาณในการใช้จ่าย ยังเป็นการเสริมแรงแก่ผู้ร่วมงานที่เหลือว่าเป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการทำงานต่อไปอีกด้วย ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนทีมก็จะต้องมีเหตุผลที่ดีพอเพื่ออธิบายกับทีมได้ |
.. |
เทคนิคการฝึกอบรม |
ทีมเวิร์กที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะมีการประสานการทำงานร่วมกันแล้ว ยังต้องมีความรู้ในแนวทางเดียวกัน ซึ่งเทคนิคการฝึกอบรมเป็นเทคนิคที่จะทำให้ได้ความรู้มาสู่ทีมอย่างเท่าเทียมกัน |
.. |
นอกจากนี้การฝึกอบรมถือเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาในการที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนทีมได้ เมื่อใดก็ตามที่ทีมเริ่มขาดประสิทธิภาพของการทำงาน ผู้จัดหรือบริหารโครงการสามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทีมได้ด้วยการจัดฝึกอบรม ซึ่งการจัดฝึกอบรมนั้นสามารถที่จะทำได้หลากหลายวิธี เช่น |
.. |
การบรรยาย |
เป็นการเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาให้ความรู้กับทีมเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถจากประสบการณ์ สำหรับผู้เชี่ยวชาญที่จะเชิญมาในการบรรยายนั้น อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง แต่อาจจะใช้สมาชิกที่มีประสบการณ์ในด้านนั้น ๆ มาจัดบรรยายให้ความรู้กับทีมได้ |
. |
การจัดดูงาน |
ถึงแม้การดูงานจะต้องใช้งบประมาณในการฝึกอบรมสูง แต่การที่ได้ให้ทีมได้เห็นสภาพจริงของงานนับเป็นประโยชน์ต่อโครงการเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะเข้าไปสัมผัสถึงกระบวนการจริง ยังสามารถที่จะเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงาน, สภาพโรงงาน, เครื่องจักร, บุคลากร ฯลฯ |
. |
การทดลองปฏิบัติ |
การฝึกอบรมด้วยการให้ทีมนั้นได้ทดลองปฏิบัติ จะเป็นทั้งการฝึกอบรมและจัดเตรียมทีมไปในตัว ลองนึกไปถึงเมื่อครั้งที่เราอยู่ในวัยเรียน การเรียนรู้ก็จะต้องมีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ โดยเฉพาะในรายวิชาช่าง ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ในทางทฤษฏีก่อนว่าชิ้นส่วนนั้น ชิ้นส่วนนี้คืออะไร มีหลักการทำงานหรืออยู่ในส่วนใดของเครื่องจักร จากนั้นถึงเวลาปฏิบัติกับเครื่องจักรจริงก็จะมีความเข้าใจในชิ้นส่วนต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้ทดลองจับถอดประกอบจริง แรก ๆ อาจจะมีการประกอบถูกผิดบ้าง แต่ครั้งต่อไปก็จะมีความชำนาญและสามารถดัดแปลงขั้นตอนการถอดประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้รวดเร็วและชำนาญมากขึ้น เช่นเดียวกับทีม ที่เดิมมีความรู้อยู่แล้ว หากได้มีการฝึกอบรมด้วยการฝึกปฏิบัติ ทีมก็จะเกิดความมั่นใจในการทำงาน ยังถือเป็นการต่อยอดความรู้เดิมที่มีอยู่ให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นไปอีก |
. |
เทคนิคการให้รางวัล |
เทคนิคการให้รางวัลนั้น ถือเป็นเทคนิคง่าย ๆ และเป็นเทคนิคที่ส่งผลต่อทีมเป็นอย่างสูง จังหวะและโอกาสถือเป็นจุดสำคัญของการให้รางวัล ผู้ที่ต้องการพัฒนาทีมจะต้องรู้ถึงโอกาสที่จะให้รางวัล เช่น ให้รางวัลเมื่องานสำเร็จ, ให้รางวัลปลอบใจลูกทีม หรือ ให้รางวัลในช่วงเทศกาลหรืองานพิธีสำคัญต่าง ๆ |
. |
การให้รางวัลในช่วงหรือโอกาสที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้ทีมนั้นไม่เห็นคุณค่าหรือภาคภูมิใจในรางวัลที่ได้รับ เช่น ให้รางวัลกับทีมด้วยการจัดเที่ยวในช่วงวันหยุดพักผ่อนของสมาชิกทีม ซึ่งถือเป็นการเบียดเบียนเวลาพักผ่อนที่ทีมควรจะได้รับ แต่ถ้าจัดให้เป็นช่วงเวลาที่ปกติเป็นเวลาการทำงานให้เป็นเวลาของการจัดเที่ยวจะถือเป็นรางวัลที่ให้คุณค่ากับทีมมากกว่า |
. |
ในเรื่องของรางวัล สำหรับรางวัลที่จะให้กับทีมนั้น ก็มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สิ่งของ, เงินทอง, การเชิดชูเกียรติ ฯลฯ ซึ่งความสำคัญของของรางวัลนั้นขึ้นอยู่กับคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ว่าส่งผลต่อผู้รับมากเพียงใด บางทีมอาจมีความต้องการในด้านทรัพย์สินเงินทอง เมื่อได้รับในรางวัลที่ตรงใจก็มีความรู้สึกถึงคุณค่าของรางวัลและก่อเกิดกำลังใจในการทำงาน แต่บางทีมอาจจะต้องการการยกย่องเชิดชูเกียรติแทนเพื่อเป็นที่นับหน้าถือตาและเป็นเกียรติแก่ตนเองและครอบครัว |
. |
การที่เราจะรู้ว่าควรเลือกให้รางวัลอย่างไรกับทีมนั้น คำตอบสำหรับการเลือกของรางวัลอันดับแรกจะต้องวิเคราะห์ถึงศักยภาพขององค์กรก่อนว่า มีความสามารถเพียงใด การที่จะนำเอาผลกำไรทั้งหมดไปเป็นรางวัลแก่สมาชิกของทีมก็กระไรอยู่ เมื่อทราบถึงศักยภาพขององค์กรในการมอบรางวัลแล้ว อันดับต่อมาก็ต้องพิจารณาถึงความสำเร็จของทีมที่สมควรได้รับรางวัลว่าทำความสำเร็จให้กับโครงการมากน้อยแค่ไหน ถ้ามากรางวัลที่ให้กับทีมก็ควรมากตามไปด้วย จากนั้นพิจารณาถึงความต้องการของทีม หากเป็นองค์กรเล็ก ๆ ก็อาจจะลองถามความต้องการของทีมเลยก็ได้ |
. |
แต่สำหรับองค์กรที่ต้องการความเป็นมาตรฐาน เพื่อเป็นแรงขับให้กับสมาชิกของทีมในการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัล องค์กรควรที่จะกำหนดการให้รางวัลตามเกณฑ์ของความสำเร็จ อย่างเช่นในพวกธุรกิจขายตรง ก็จะกำหนดจำนวนเงินเป็นเป้าของรางวัลที่จะได้รับ เช่น ได้รับเงินโบนัส, สร้อยคอ, ส่วนลด, เงินเดือน, สวัสดิการ, การประกันชีวิต ฯลฯ ซึ่งรางวัลที่มอบให้กับทีมนั้น นอกจากเงินทอง ก็ควรเป็นสิ่งที่ส่งเสริมคุณค่าทางจิตใจ |
. |
เทคนิคการสร้างขวัญและกำลังใจ |
การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทีมนั้นนับเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ทีมมีความฮึกเหิมต่อการทำงาน รูปแบบของการสร้างขวัญและกำลังใจนั้นอาจมีวิธีปฏิบัติได้หลาย ๆ วิธี อย่างในเรื่องของการให้รางวัลก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการสร้างขวัญและกำลังใจ แต่นอกจากนี้ผู้จัดหรือผู้บริหารโครงการยังสามารถที่จะปฏิบัติได้ด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น |
- การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับสมาชิกในทีม - การเข้าร่วมทำงานกับทีมในทุกสภาพการณ์ - การให้ความเคารพนับถือ และยกย่องสมาชิกในทีม - การติดคำขวัญหรือข้อความที่ให้กำลังใจกับทีม - การแบ่งปันรางวัลที่ได้รับแก่สมาชิกในทีม - ฯลฯ |
. |
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจกับทีม ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกในทีมมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการ |
. |
ทีมของเราเป็นทีมเวิร์กหรือยัง |
ถึงขั้นตอนนี้เราก็ได้เห็นถึงความสำคัญของการมีทีมที่เป็นทีมเวิร์ก คำถามสำคัญก็คือว่า ทีมที่เรามีอยู่นั้นมีความเป็นทีมเวิร์กมากน้อยเพียงใด หากยังไม่มีทีมเวิร์กปรากฏขึ้นมาหรือมีทีมเวิร์กในทีมน้อยมาก ผู้นำหรือผู้บริหารโครงการก็จะต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปในข้างต้นนั้นช่วยในการจัดการ แต่เทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ก็ไม่อาจจะไม่เป็นผลต่อทีมเลยก็ได้ หากผู้นำหรือ ผู้บริหารโครงการละเลยต่อความสำคัญในการสร้างทีมเวิร์กให้กับทีม ซึ่งถือเป็นจุดบกพร่องอย่างยิ่งต่อโครงการ |
. |
ดังนั้นการสร้างทีมให้เป็นทีมเวิร์กนอกจากที่จะมีเทคนิค หรือวิธีการบริหารทีมต่าง ๆ แล้วผู้นำหรือผู้บริหารโครงการจะต้องให้ความสำคัญและสร้างทีมให้กลายเป็นทีมเวิร์กอย่างจริงจังด้วย |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด