เนื้อหาวันที่ : 2010-04-28 18:41:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9981 views

Forwarder ผู้จัดการโซ่อุปทาน Trade Logistics

การซื้อขายหรือการค้า (Trade) กิจกรรมนี้เป็นเป้าหมายสูงสุดของธุรกิจ ที่สำคัญคือ กิจกรรมนี้เองที่ก่อให้เกิดการไหลของสินค้าระหว่างองค์กรและมีการเปลี่ยนแปลงสถานะความเป็นเจ้าของ จากผู้ขายไปยังผู้ซื้อโดยผ่านการขนย้ายหรือการขนส่ง

ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

.

.

ระยะนี้คงจะได้ยินคำว่า ลอจิสติกส์ กันหนาหูมาก เพราะรัฐบาลประกาศว่า ลอจิสติกส์เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ และก็มีคำขยายความเพิ่มเติมต่อยอดจากลอจิสติกส์อีกหลายคำ เช่น Transport Logistics, Trade Logistics, Manufacturing Logistics และคำอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกมาก ไม่ต้องตกใจกลัวครับ ! ทุกคำมีความหมายเพียงแต่เราจะเข้าใจได้ลึกซึ้งเหมือนชาวตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษหรือไม่ ? เมื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน

.

สำหรับบทความนี้ผมอยากจะมาเน้นกันที่กิจกรรมนอกกระบวนการผลิตบ้าง แต่ก็เป็นโซ่หนึ่งที่สำคัญมากในโซ่อุปานสำหรับวงการธุรกิจการค้า โซ่ที่ว่านี้คือ การซื้อขายหรือการค้า (Trade) นั่นเอง เพราะกิจกรรมนี้เป็นเป้าหมายสูงสุดของธุรกิจ ที่สำคัญคือ กิจกรรมนี้เองที่ก่อให้เกิดการไหลของสินค้าระหว่างองค์กรและมีการเปลี่ยนแปลงสถานะความเป็นเจ้าของ จากผู้ขายไปยังผู้ซื้อโดยผ่านการขนย้ายหรือการขนส่ง

.
Trade: Domestics and International

เมื่อพูดถึงการค้าแล้ว เราคงจะต้องแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ การค้าภายในประเทศ และ การค้าระหว่างประเทศ ทั้งสองประเภทนี้มีความสัมพันธ์กันโดยตรง แต่ความซับซ้อนหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นไม่เหมือนกัน การค้าภายในประเทศโดยมากจะเกี่ยวเนื่องกับการผลิต การค้าส่งและการค้าปลีก การค้าภายในประเทศนั้นไม่ค่อยจะมีความซับซ้อนในกระบวนการมากนัก แต่จะต้องอาศัยความเร็วและในการตอบสนองต่อลูกค้า ส่วนเรื่องลอจิสติกส์ของการค้าภายในประเทศก็เป็นการขนส่ง การจัดเก็บและการกระจายสินค้าตามปกติในทุกรูปแบบทั้งทางน้ำ  

.

ทางบก ทางรถไฟและทางอากาศ ส่วนการค้าระหว่างประเทศจะแตกต่างก็ตรงที่มีการขนส่งข้ามประเทศที่จะต้องมีขั้นตอนทางพิธีศุลกากรและขั้นตอนอื่น ๆ อีกมากมายในการนำเข้าวัตถุดิบหรือการส่งออกสินค้า ส่วนมากเมื่อพูดถึง Trade Logistics ผมจะหมายถึงกิจกรรมลอจิสติกส์ที่เกี่ยวโยงกับการค้าระหว่างประเทศ ส่วนการค้าภายในประเทศนั้นผมจะหมายถึง Retail Logistics หรือลอจิสติกส์การค้าปลีก

.

เมื่อใดที่มีการส่งสินค้าเข้าออกระหว่างประเทศเราก็คงจะเคยได้ยินพวกบริษัท Freight Forwarder และ Shipping Company บริษัทเหล่านี้ มีบทบาทกับลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอย่างไรบ้าง ? Freight Forwarder นั้นคือ ตัวแทน (Agent) ในการจัดหาจัดเตรียมการขนส่งสินค้าสำหรับลูกค้าหรือผู้ที่ต้องการจะส่งสินค้า

.

หน้าที่ของ Freight Forwarder จะเหมือนกับบริษัททัวร์สำหรับการขนส่งสินค้าหรือเป็นผู้ออกแบบลอจิสติกส์สำหรับการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้รับ กิจกรรมของ Freight Forwarder จะทำการจองพื้นที่สำหรับ Cargo สำหรับผู้ส่งสินค้า จัดเตรียมเอกสารการส่ง และกิจกรรมอื่น เช่น การบรรจุภัณฑ์สำหรับการจัดส่งและการประกันภัยการส่งสินค้า

.

หลาย ๆ บริษัท Freight Forwarder ยังเสนอความช่วยเหลือในเรื่องลอจิสติกส์การขนส่ง (Transport Logistics) ที่มี Freight Consolidation, Custom Brokerage การจัดการคลังสินค้า การกระจายสินค้า และการบริการเพิ่มเติมอื่น ๆ อีก ยิ่งไปกว่านั้น Freight Forwarder ยังมีเครือข่ายของสำนักงานและตัวแทนสำหรับการนำเข้าและส่งออกอยู่ทั่วโลก Freight Forwarder ส่วนมากจะเป็นกิจการที่ไม่มีสินทรัพย์     

.

ซึ่งหมายความว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องบิน เรือ หรือ ยานพาหนะในการขนส่งทั้งหลาย เมื่อ Freight Forwarder จองพื้นที่ในการส่งสินค้าสำหรับลูกค้า บริษัท Forwarder จะมีความยืดหยุ่นในการเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดและตารางการขนส่ง บริษัท Forwarder ตามปกติจะมีสัญญาการให้บริการกับหลายสายการบินและสายเดินเรือเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าไปทั่วโลก

.

บางบริษัท Forwarder ได้พัฒนาไปเป็น Integrators หรือผู้ให้บริการครบวงจรที่เป็นทั้งเจ้าของและควบคุมทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น เครื่องบิน หรือรถบรรทุกที่ใช้สำหรับการให้บริการการส่งสินค้า เช่นนั้นแล้ว ผู้ให้บริการครบวงจรก็มีอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทพัสดุภัณฑ์และประเภทสินค้าหนัก ผู้ให้บริการครบวงจรประเภทพัสดุภัณฑ์จะให้บริการขนส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ขนาดเล็ก    

.

เช่น UPS, FedEx และ DHL บริการประเภทนี้จะเห็นได้ตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วไปที่ให้บริการส่งแบบ Door to Door บริษัท FedEx เองก็มีสาขาให้บริการประเภทนี้อยู่ที่เชียงใหม่เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว ส่วนผู้ให้บริการครบวงจรขนส่งสินค้าหนักก็จะขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์หนักไปตามเส้นทางการขนส่งในรูปแบบต่าง ๆ การใช้บริการครบวงจรนี้ค่อนข้างจะเสียค่าใช้จ่ายมากแต่ก็มีความสะดวกและรวดเร็ว

.

บริษัท Forwarder ก็ยังได้ประโยชน์จากการเป็นตัวกลางในการขนส่งสินค้า ตามปกติแล้ว Forwarder จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าผู้ให้บริการครบวงจรขนส่งสินค้า (Integrator) สำหรับข้อเสนอการให้บริการ เพราะ Forwarder จะใช้ผู้ขนส่งสินค้าและรูปแบบของการขนส่งที่มีความหลากหลายมากกว่า ที่จริงแล้ว Forwarder เองก็สามารถเสนอการให้บริการแบบ Door to Door ได้เหมือนกัน แต่ผู้ให้บริการครบวงจรขนส่งสินค้า (Integrator) อาจจะเสียเปรียบ Forwarder ตรงเครือข่ายการดำเนินงานระหว่างประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน

.

ในการขนส่งสินค้าทางทะเลนั้นบริษัท Forwarder 0tมีบทบาทเป็นผู้ส่งหลักมากกว่า ส่วนในการขนส่งทางอากาศนั้น มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการขนส่งมาจาก Forwarder เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการครบวงจรขนส่งสินค้า (Integrator) ธุรกิจ Cargo สำหรับสายการบินส่วนมากจะมาจาก Forwarder เหมือนกัน ซึ่งได้ซื้อพื้นที่บรรทุกไว้ล่วงหน้าของสายการบินนานาชาติต่าง ๆ ไว้ Forwarder จึงมีความยืดหยุ่นสูงที่สามารถจองพื้นที่ Cargo ของสายการบินได้หลายสาย

.

ที่จริงแล้ว Freight Forwarder ไม่ใช่บริษัทรับส่งพัสดุภัณฑ์ ผู้นำเข้าและส่งออกที่พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจะพบว่า Forwarder ได้เสนอทางเลือกในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้มากกว่าบริษัทรับส่งพัสดุภัณฑ์ทั่วไป แม้กระทั่งบางครั้ง Forwarder ยังจองพื้นที่ในการส่งสินค้าให้กับบริษัทรับส่งพัสดุภัณฑ์ ผู้ส่งสินค้าออกหน้าใหม่ควรจะเข้าใจว่า Forwarder ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำการค้าระหว่างประเทศมานานแล้ว

.

ประสบการณ์ตรงนี้ทำให้บทบาทของ Forwarder บดบังบทบาทของการขนส่งไป ยิ่งไปกว่านั้นสัญญาอัตราการขนส่งที่ Forwarderได้ทำกับสายเรือหรือเครื่องบินก็ได้ราคาถูกกว่าที่ผู้ส่งจะไปหามาเอง เนื่องจากความซับซ้อนของลอจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศ สายการบิน  สายเรือมักจะติดต่อกับ Forwarder มากว่าที่จะติดต่อกับผู้ส่งออกโดยตรง

.
ส่งทางเรือ หรือ ทางเครื่องบิน 

Forwarder สามารถที่จะแนะนำลูกค้าว่าจะจัดส่งทางไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน ส่วนใหญ่ของการค้าทั่วโลกจะใช้การขนส่งสินค้าทางทะเล แม้ว่าการขนส่งทางอากาศจะรวดเร็วแต่ก็มีราคาแพงเป็น 7-10 เท่าของการขนส่งทางทะเล 40 % ของการค้าโลกจะถูกส่งทางอากาศไปกับเครื่องบินขนสินค้าหรือไปกับเครื่องบินโดยสาร การขนส่งสินค้าทางอากาศส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่เน่าเสียง่ายหรือมีอายุสั้น

.

ทั้งยังรวมไปถึงสินค้าที่มีวงจรชีวิตสั้นประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่จะต้องเติมเต็มสินค้าคงคลังในการตอบสนองต่อตลาดอย่างรวดเร็ว ส่วนการขนส่งทางทะเลจะเป็นสินค้าประเภท รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าทั่วไปที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก และไม่ต้องการตอบสนองที่รวดเร็ว ยังพอที่จะรอการขนส่งทางทะเลที่ใช้เวลายาวนานได้

.

Forwarder ยังสามารถที่จะช่วยให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายได้และยังสามารถประสานทำให้ตารางการผลิตของผู้ส่งออกได้สอดคล้องตรงตามความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศได้ Forwarder ยังเป็นผู้รวบ (Consolidate) สินค้าของผู้ส่งออกกับผู้ส่งออกรายอื่น ๆ ให้ครบตู้ Container ตามขนาดหรือ ปริมาณตามจำนวนมาตรฐานเพื่อที่จะให้ราคาที่ประหยัดที่กว่าการส่งแต่เพียงรายเดียว

.
Forward Thinking

ลอจิสติกส์การค้า (Trade Logistics) จะเกี่ยวข้องกับการวางแผนและการประสานงานกับบริษัทและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ในการขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้า ผู้ส่งออกไม่ควรที่สนใจแค่การขนส่งแต่เพียงเรื่องเดียว แต่ควรจะคาดการณ์ในเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็นในการส่งสินค้า (Shipping) การวางแผนการขนส่งสินค้าจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะถ้ามีการรวมการส่งสินค้าจากหลายผู้ส่งออกเข้าไว้ด้วยกันและเลือกรูปแบบการขนส่งที่ประหยัดที่สุด  

.

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบทบาทของบริษัท Forwarder ซึ่งเป็นผู้วางแผนและอำนวยความสะดวกให้กับการจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ณ จุดที่มีการซื้อขายและรับส่งสินค้าระหว่างบริษัท กิจกรรมตรงนี้มีทั้งกิจกรรมลอจิสติกส์และกิจกรรมโซ่อุปทาน แต่เราขาดความเข้าใจในแต่ละบทบาทที่มีส่วนได้ส่วนเสียในโซ่อุปทานและโซ่คุณค่าตรงนี้

.

โซ่อุปทาน (Supply Chain) ของลอจิสติกส์การค้า (Trade Logistics) คือ ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า การจัดการโซ่อุปทานของลอจิสติกส์การค้า คือ ข้อตกลง (Agreement) ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อให้ทั้งสองได้ประโยชน์และมีความพึงพอใจมากที่สุด กิจกรรมการจัดการโซ่อุปทานนั้นก็ต้องมาจากทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ซื้อและผู้ขายที่จะต้องวางแผนข้อมูลและทรัพยากรต่าง ๆ ให้คุ้มค่าที่สุดในการซื้อขายกัน

.

แต่กิจกรรมลอจิสติกส์ตรงนี้เป็นกิจกรรมที่เพิ่มคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ (Value added Logistics) เท่านั้น ไม่มีการแปรรูปของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ นอกจากการจัดเก็บหรือการเคลื่อนย้ายสินค้าไปสู่ผู้ซื้อสินค้าและผู้บริโภค จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่าลอจิสติกส์ (Logistics) และการขนส่ง (Transportation) นั้นมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด   

.

จากภาพ เป็นภารกิจของลอจิสติกส์การค้า (Trade Logistics) คือ การส่งสินค้าจากบริษัท A ไปยังบริษัท B แต่การจะส่งสินค้าจาก A ไป B สำหรับการค้าระหว่างประเทศคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เหมือนส่งจดหมายหรือพิซซ่า เพราะสินค้ามีขนาดใหญ่และปริมาณมาก และมีระยะทางในการขนส่งที่ไกลและข้ามประเทศหรือข้ามฝากฝั่งโลกเลยทีเดียว

.

เมื่อใดก็ตามที่มีการซื้อขายข้ามประเทศ นั่น คือ การค้าโลก (Global Trade) เส้นทางการเดินทางของสินค้าจาก A ไป B เรียกว่า Logistics Pipeline หรือ เส้นทางการไหลของลอจิสติกส์ จากภาพจะเห็นได้ว่าเส้นทางไหลของลอจิสติกส์ของสินค้าถูกบรรทุกไปในหลายรูปแบบของการขนส่ง (Modes of Transportation) จากรถบรรทุกบนบก

.

จาก (1) บริษัท A มายัง (2) คลังสินค้า และ (3) ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อรอผ่านพิธีการทางศุลกากรที่ (4) และจากนั้นก็รอขนขึ้นยานพาหนะที่ท่า (Port) ต่าง ๆ เช่น ท่าเรือ ท่าอากาศยาน แล้วแต่ว่าจะขนส่งข้ามประเทศ (International Transport) ในรูปแบบไหน ทั้งทางบก ทางอากาศและทางทะเล แล้วแต่ความเหมาะสม   

.

จากนั้นก็จะผ่านกระบวนการในลักษณะเดียวกันเมื่อเดินทางถึงประเทศเป้าหมายจุดถึงจุดหมายที่บริษัท B (11) ดังนั้น โซ่อุปทานของการขนส่ง (Transport Supply Chain) จากบริษัท A ไปยัง บริษัท B คือ บริษัทขนส่ง คลังสินค้า ศุลกากร ท่าเรือ และผู้ให้บริการความสะดวกโซ่อุปทานการขนส่ง คือ Freight Forwarder นั่นเอง ซึ่งจะต้องประสานงานกับให้กับ Freight Forwarder ของคู่ค้า

.

จากบทบาทของ Forwarder ที่ได้อธิบายมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าบทบาทของ Forwarder เป็นกิจกรรมลอจิสติกส์โดยแท้ที่ไม่ได้มองแค่การขนส่งแต่จะเป็นผู้วางแผนของการขนส่งในแต่ละช่วงและในแต่ละรูปแบบของการขนส่งโดยมีเป้าหมายให้สินค้านั้นถึงผู้รับเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

.

มีข้อสังเกตว่าบทบาทของ Forwarder นั้นไม่ใช่แค่การจัดลอจิสติกส์และการขนส่งเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ในการจัดการโซ่อุปทานของลอจิสติกส์การค้าในการประสานงานระหว่างสายการบิน สายเรือ บริษัทรถบรรทุก ศุลกากร จนถึงผู้รับสินค้า คิดว่าบทความนี้น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านมีมุมมองด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานกว้างขึ้น

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด