เนื้อหาวันที่ : 2010-02-18 19:14:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 11932 views

แนวคิดต้นทุน (Cost Concepts) (ตอนที่ 1)

หากผู้บริหารมีความเข้าใจถึงความแตกต่างของแนวคิดของต้นทุนแต่ละประเภทจะทำให้สามารถนำข้อมูลที่ได้จากระบบบัญชีต้นทุนไปใช้กับการตัดสินใจและการควบคุมการดำเนินงานในแต่ละสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น

ผศ. วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

.

.

ผู้บริหารต้องการข้อมูลต้นทุนเพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น

• ผู้จัดการฝ่ายผลิตต้องการข้อมูลต้นทุนผลิตภัณฑ์ เพื่อการประเมินค่าทางการตลาดก่อนที่จะทำการตัดสินใจเกี่ยวกับราคาผลิตภัณฑ์
• การเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตของแต่ละพื้นที่การผลิตเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจว่าจะเลือกทำการผลิตที่ใด
• การควบคุมการดำเนินงานจะบรรลุผลได้ต้องนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจริงมาเปรียบเทียบกับข้อมูลงบประมาณ

.

• การเข้าประมูลราคาต้องการข้อมูลต้นทุนประมาณการ เพื่อกำหนดราคาในการแข่งขันในแต่ละกรณีข้างต้น ผู้บริหารต้องการใช้ข้อมูลต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อประกอบการตัดสินใจในแต่ละกรณีที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้บริหารต้องการใช้ข้อมูลต้นทุนที่มีความเหมาะสมในลักษณะที่แตกต่างกันไปตามประเด็นที่ต้องทำการตัดสินใจในแต่ละกรณี

.

ด้วยเหตุนี้ถ้าผู้บริหารมีความเข้าใจถึงความแตกต่างของแนวคิดของต้นทุนแต่ละประเภทจะทำให้สามารถนำข้อมูลที่ได้จากระบบบัญชีต้นทุนไปใช้กับการตัดสินใจและการควบคุมการดำเนินงานในแต่ละสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น

.
การจำแนกต้นทุนตามหน้าที่งาน

ระบบบัญชีทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร คำว่า “ต้นทุน” (Cost) มีหน่วยวัดเป็นเงินตรา เป็นการอธิบายถึงมูลค่าของสินค้าหรือการบริการที่ใช้ไปแล้วทำให้ได้มาซึ่งประโยชน์ในปัจจุบันและในอนาคต ต้นทุนรายการหนึ่ง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นค่าใช้จ่าย คำว่า “ค่าใช้จ่าย” (Expenses) เป็นข้อมูลทางบัญชีที่เกิดขึ้นแล้วจะถูกนำไปรายงานไว้ในงบกำไรขาดทุน

.

ค่าใช้จ่ายนำไปใช้แทนต้นทุนได้ ถ้าได้รับผลประโยชน์จากต้นทุนนั้นแล้วในงวดเวลาเดียวกับที่จะจัดทำงบกำไรขาดทุน เช่น ต้นทุนสินค้าที่ขาย (Cost of Goods Sold)

.

 จากลักษณะที่กล่าวข้างต้น ค่าใช้จ่ายจึงสามารถเรียกได้ว่าเป็น “ต้นทุนงวดเวลา” (Period Costs) เช่น ค่าโฆษณา ค่าวิจัยและพัฒนาที่จ่ายให้ไปในลักษณะซึ่งไม่สามารถจับคู่ได้โดยง่าย ว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่จำหน่ายออกไปในงวดเวลาใดเวลาหนึ่งโดยเฉพาะ ค่าขนส่งสินค้าที่ขาย ส่วน “ต้นทุนผลิตภัณฑ์” (Product Costs) เป็นต้น

.

ทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อปริมาณการผลิต หรือส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ในระหว่างงวดเวลาหนึ่ง ๆ ต้นทุนผลิตภัณฑ์จะถูกโอนไปเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนสำหรับงวดเวลาหนึ่ง ๆ ตามปริมาณหน่วยสินค้าที่จำหน่ายได้จริงสำหรับงวดเวลานั้น ๆ โดยรายงานในชื่อบัญชีว่า “ต้นทุนสินค้าที่ขาย” (Cost of Goods Sold)

.

สำหรับต้นทุนผลิตภัณฑ์ส่วนที่ยังคงอยู่กับสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไปจะถูกสะสมอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์คงเหลือ รายงานเป็นสินค้าคงเหลือส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียนในงบดุล

.

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับงวดเวลาหนึ่ง ๆ อาจจะไม่ได้หมายความรวมไปถึงต้นทุนทุกรายการที่เกิดขึ้นหรือได้จ่ายไปในระหว่างงวดเวลานั้น เช่น การผลิตกระเป๋าที่ทำจากผ้า กระเป๋า 1 ใบ ต้องการใช้วัตถุดิบที่ผ้าผืนขนาด ? เมตร ผ้า 1 เมตร มีราคาเมตรละ 40 บาท เท่ากับกระเป๋า 1 ใบมีต้นทุนค่าผ้าซึ่งเป็นวัตถุดิบทางตรงในการผลิตใบละ 10 บาท

.

ในระหว่างเดือนมกราคมได้จ่ายซื้อและใช้วัตถุดิบที่เป็นผืนผ้า เป็นเงินทั้งหมด 400 บาท ถ้าในเดือนมกราคมจำหน่ายกระเป๋าไปได้ 30 ใบ ต้นทุนวัตถุดิบทางตรงที่เป็นค่าผ้าจะรายงานเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน โดยรายงานรวมกับค่าแรงงานทางตรงและค่าใช้จ่ายในการผลิตแฝงอยู่ในชื่อบัญชีต้นทุนสินค้าที่ขายเป็นเงิน 300 บาท (ค่าใช้จ่าย)

.

ส่วนต้นทุนวัตถุดิบทางตรงที่เป็นผ้าส่วนที่เหลือซึ่งได้มีการจ่ายชำระเงินและเบิกผ้าไปใช้ในกระบวนการผลิตทั้งหมดแล้วอีก 100 บาท ยังไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่าย (ต้นทุนงวดเวลา) แต่จะสะสมรวมกับค่าแรงงานทางตรงและค่าใช้จ่ายในการผลิตรายงานเป็นสินทรัพย์ในงบดุลในชื่อบัญชี สินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ (ต้นทุนผลิตภัณฑ์)

.

ในอดีตนั้นโครงสร้างพื้นฐานของระบบบัญชีได้สะท้อนถึงความต้องการในการประเมินค่าต้นทุนผลิตภัณฑ์ เพื่อรายงานในงบการเงินนำเสนอต่อบุคคลภายนอก การนำเสนอข้อมูลต่อบุคคลภายนอกนั้นต้องการให้ระบุต้นทุนที่เกิดขึ้นโดยการโอนไปยังต้นทุนสินค้าที่ขายหรือสินค้าคงเหลืออย่างใด

.

ระบบการบัญชีต้นทุนแบบดั้งเดิมได้ทำการจำแนกต้นทุนออกเป็นต้นทุนการผลิต (Manufacturing Costs) และต้นทุนที่ไม่ใช่การผลิต (Nonmanufacturing Costs) ซึ่งเป็นการพิจารณาตามหน้าที่งาน แสดงดังแผนภาพต่อไปนี้

.

.
จากแผนภาพข้างต้น อธิบายรายละเอียดต้นทุนแต่ละกลุ่มได้ดังนี้
1. ต้นทุนการผลิต เป็นต้นทุนทั้งหมดของการแปรสภาพวัตถุดิบที่นำเข้าให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น

• ต้นทุนทางตรง (Direct Costs) ได้แก่ วัตถุดิบทางตรง (Direct Materials) เช่น ไม้ เหล็ก หนังสัตว์ที่ใช้ในการทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ และค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor) เช่น ค่าจ้างพนักงานในการตัดไม้ เหล็ก หนังสัตว์ ค่าจ้างพนักงานในการประกอบเป็นชิ้นงาน ค่าจ้างพนักงานในการตกแต่งชิ้นงาน

.

• ต้นทุนทางอ้อม (Indirect Costs) ได้แก่ วัตถุดิบทางอ้อม (Indirect Materials) เช่น กาวที่ใช้ทาเพื่อเชื่อมชิ้นส่วน วัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในการเชื่อม น๊อตที่ใช้ในการยึดประกอบชิ้นส่วน ค่าแรงงานทางอ้อม (Indirect Labor) เช่น เงินเดือนพนักงานประจำคลังวัตถุดิบ เงินเดือนหัวหน้าโรงงาน ค่าจ้างแรงงานพนักงานทำความสะอาด

.

ค่าใช้จ่ายในการผลิตอื่น ๆ ที่สนับสนุนการทำงานของแผนกงานผลิตหลัก (Manufacturing Support) เช่น ค่าเสื่อมราคาเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรในการผลิต ค่าเช่าพื้นที่โรงงาน ค่าภาษีโรงเรือน ค่าเบี้ยประกันภัยโรงงาน ค่าสาธารณูปโภคในพื้นที่โรงงาน

.

2. ต้นทุนที่ไม่ใช่การผลิต ต้นทุนในการดำเนินงานทั้งหมดที่นอกเหนือไปจากต้นทุนการผลิต
• ต้นทุนการจัดจำหน่าย เป็นต้นทุนในการจัดส่งสินค้าที่ผลิตเสร็จไปส่งมอบให้กับลูกค้า
• ต้นทุนการขาย ได้แก่ รายการเงินเดือนพนักงานขาย ค่านายหน้าพนักงานขาย ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในสำนักงานขาย

.

• ต้นทุนทางการตลาด ได้แก่ รายการค่าโฆษณา ค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
• ต้นทุนการวิจัยและพัฒนา ได้แก่ ค่าใช่จ่ายในการออกแบบ ค่าใช้จ่ายในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาด
• ต้นทุนการบริหารและงานทั่วไป ได้แก่ เงินเดือนผู้บริหารงานในสำนักงาน เงินเดือนพนักงานปฏิบัติงานสำนักงาน เช่น บัญชี การเงิน บุคคล เงินเดือนทนายความที่ปรึกษา ค่าตรวจสอบบัญชี

.

ในกรณีรายงานข้อมูลต้นทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอต่อบุคคลภายนอก ต้นทุนการผลิตเท่านั้นที่จะถูกรวมคำนวณเป็นมูลค่าสินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ ต้นทุนที่ไม่ใช่การผลิตจะเป็นต้นทุนงวดเวลาและรายงานเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน

.

ต้นทุนการผลิตทางตรง (Direct Manufacturing Costs) ต้นทุนของทรัพยากรใด ๆ ที่สามารถระบุปริมาณการใช้ไปเข้าสู่หน่วยผลิตภัณฑ์ได้โดยตรง ทำให้คิดจำนวนเงินของรายการต้นทุนเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน ต้นทุนการผลิตทางตรงประกอบด้วยวัตถุดิบทางตรงและค่าแรงงานทางตรง

.

วัตถุดิบทางตรง (Direct Materials Costs) เป็นต้นทุนของวัตถุดิบและชิ้นส่วนประกอบทั้งหมดที่สามารถบอกปริมาณการใช้และจำนวนเงินต้นทุนเข้าสู่หน่วยผลผลิตขั้นสุดท้ายได้ง่ายและชัดเจน

.

ลักษณะของหน่วยต้นทุนสามารถจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ หน่วยต้นทุนระหว่างกลาง และหน่วยต้นทุนสุดท้าย โดยหน่วยต้นทุนระหว่างกลางจะมีขนาดใหญ่กว่า มีลักษณะเป็นส่วนงานย่อยภายในองค์กร เช่น แผนกงาน สาขา สายผลิตภัณฑ์

.

ในขณะที่หน่วยต้นทุนสุดท้ายจะเป็นผลผลิตที่ได้จากการดำเนินกิจกรรมของหน่วยต้นทุนระหว่างกลาง ทำให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือการบริการส่งมอบให้แก่ลูกค้าที่เป็นบุคคลภายนอกองค์กร เช่น การบริการแต่ละรูปแบบของธนาคารพาณิชย์ โปรโมชั่นต่าง ๆ ของเอไอเอส สินค้าหรือผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยของโซนี่

.
ตัวอย่างของหน่วยผลผลิตขั้นสุดท้ายของกิจการต่าง ๆ

•    สเวนเซ่นส์เปิดสาขาเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ชื่นชอบไอศกรีม สาขาแต่ละสาขาถือเป็นหน่วยต้นทุนระหว่างกลาง แต่ไอศกรีมที่ลูกค้าค้าซื้อถือเป็นหน่วยต้นทุนสุดท้าย

.

•    มิสเตอร์ โดนัท เปิดสาขาเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ชื่นชอบโดนัท สาขาแต่ละสาขาถือเป็นหน่วยต้นทุนระหว่างกลาง แต่โดนัทที่ลูกค้าค้าซื้อถือเป็นหน่วยต้นทุนสุดท้าย

.

•    ซีเอ็ดบุ๊คทำการผลิตหนังสือหลายประเภท มีสาขาจัดจำหน่ายหลายสาขา สาขาจัดจำหน่ายเป็นหน่วยต้นทุนระหว่างกลาง หนังสือที่ลูกค้าซื้อแต่ละเล่มเป็นหน่วยต้นทุนสุดท้าย

.
ตัวอย่าง

ถ้าการผลิตผ้าม่านหนึ่งผืน มีความต้องการใช้ผ้าจำนวน 2 เมตร ราคาผ้าเมตรละ 30 บาท ต้นทุนวัตถุดิบทางตรงสำหรับผ้าม่านหนึ่งผืนจะคำนวณได้ดังนี้

.

ต้นทุนวัตถุดิบต่อหน่วยผลผลิต  = ราคาวัตถุดิบต่อเมตร x จำนวนผ้าที่ใช้ต่อผ้าม่านหนึ่งผืน
= 30 บาท x 2 เมตร
= 60 บาทต่อผืน

.

ค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor Costs) เป็นค่าจ้างแรงงานที่จ่ายให้กับพนักงานที่ทำหน้าที่ในกระบวนการผลิตแต่ละแผนกงานย่อยโดยตรง เช่น โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปอาจจะมีแผนกงานตัดผ้า แผนกเย็บ-ตามแบบ แผนกตกแต่ง (เจาะรังดุม ติดกระดุม หรือตกแต่งอื่น ๆ ตามแบบ)

.

ตัวอย่าง

ถ้าการผลิตผ้าม่านหนึ่งผืน มีความต้องการใช้ชั่วโมงแรงงานในการตัด เย็บ ตกแต่ง ประมาณ 1/2 ชั่วโมง อัตราค่าแรงงานของพนักงานที่ทำหน้าที่งานในแผนกงานดังกล่าวเท่ากับ 25 บาท ต้นทุนค่าแรงงานทางตรงสำหรับผ้าม่านหนึ่งผืนจะคำนวณได้ดังนี้

.
ต้นทุนค่าแรงงานทางตรงต่อหน่วยผลผลิต

= อัตราค่าแรงงานทางตรงต่อชั่วโมง x เวลาที่ใช้ต่อการผลิตผ้าม่านหนึ่งผืน
= 25 บาท x 1/2 ชั่วโมง
= 12.50 บาทต่อผืน

.

ต้นทุนการผลิตทางตรงเป็นต้นทุนที่สามารถโอนเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ได้โดยตรง วัดค่าต้นทุนที่โอนโดยการนำปริมาณของทรัพยากรที่ใช้ไปในการผลิต ปกติแล้วต้นทุนทางตรงสามารถคำนวณได้ตามสมการดังนี้
C = P x Q

.

กำหนดให้
C = ต้นทุนของทรัพยากรนำเข้าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์
P = ราคาต่อหน่วยของทรัพยากรนำเข้ากระบวนการผลิตต่อหน่วยผลิตภัณฑ์
Q = ปริมาณ (จำนวน) ของทรัพยากรที่นำเข้ากระบวนการผลิตต่อหน่วยผลิตภัณฑ์

.

ต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากวัตถุดิบทางตรง และค่าแรงงานทางตรงจัดเป็นต้นทุนการผลิตทางอ้อมทั้งหมด ต้นทุนเหล่านี้เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลายที่สนับสนุนกระบวนการผลิตสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันไป

.

ด้วยเหตุนี้จึงอาจเรียกต้นทุนการผลิตทางอ้อมเหล่านี้ว่าต้นทุนที่สนับสนุนการผลิต (Manufacturing Support Costs) ซึ่งมักถูกเรียกในอีกชื่อว่าโสหุ้ยการผลิต (Manufacturing Overhead)

.

ต้นทุนของงานในส่วนนี้เป็นต้นทุนที่ไม่เพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิต หรือไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ถึงความสำคัญของงานที่มีต่อการเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้ ต้นทุนที่สนับสนุนการผลิตมีความหมายรวมถึงค่าจ้างและสวัสดิการของผู้จัดการฝ่ายผลิต หัวหน้างาน และพนักงานที่ทำกิจกรรมซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ มีความต้องการใช้จำนวนเท่าใด

.

กิจกรรมเหล่านี้ ได้แก่ การจัดซื้อและตรวจรับวัตถุดิบ การจัดตารางและการจัดการการผลิต การเตรียมเครื่องจักรเพื่อการผลิต การขนย้ายวัตถุดิบและงานระหว่างทำ การตรวจสอบคุณภาพ การบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง การซ่อมบำรุงเครื่องจักร งานทางด้านวิศวกรรม การบำรุงรักษาความสะอาดและความปลอดภัยของโรงงาน

.

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมานั้นเป็นหน้าที่งานที่มีความจำเป็นต่อการอำนวยความสะดวกต่อการทำงานของกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งส่วนที่เป็นงานสนับสนุนและงานหลัก (กระบวนการผลิต) ภายในโรงงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

.

แต่เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับหน่วยผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเป็นการยากที่จะหาหน่วยวัดค่าใดที่จะโอนต้นทุนเข้าสู่หน่วยผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ ได้อย่างชัดเจน การโอนต้นทุนทางอ้อมเข้าสู่ผลิตภัณฑ์จึงมักใช้วิธีการปันส่วนอย่างง่ายซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้ข้อมูลทางการเงินสำหรับบุคคลภายนอกองค์กร

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด