ตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ธุรกิจ บริษัทส่วนใหญ่ทั้งหลายจะสร้างกระบวนการ (Process) ของตัวเองสำหรับทุก ๆ สิ่งที่ต้องทำหรือดำเนินการ คุณคงจะพอนึกภาพของกระบวนการธุรกิจ (Business Process) ต่าง ๆ ได้บ้างจากชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ละบริษัทต่างก็มีกระบวนการธุรกิจที่แตกต่างกัน มีความซับซ้อนที่แตกต่างกัน จนบริษัทหนึ่ง ๆ ไม่อาจดำเนินการกระบวนการธุรกิจได้ทั้งหมด จึงต้องจัดจ้างจากภายนอก (Outsourcing) หรือรับช่วงการผลิต (Sub-contract) ทำให้บริษัทที่ต้องจัดจ้างกิจกรรมการดำเนินงานจากภายนอกจะต้องคำนึงถึงคุณภาพหรือสมรรถนะของการดำเนินงานของผู้รับจ้าง
ดร.วิทยา สุหฤทดำรง |
. |
. |
ตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ธุรกิจ บริษัทส่วนใหญ่ทั้งหลายจะสร้างกระบวนการ (Process) ของตัวเองสำหรับทุก ๆ สิ่งที่ต้องทำหรือดำเนินการ คุณคงจะพอนึกภาพของกระบวนการธุรกิจ (Business Process) ต่าง ๆ ได้บ้างจากชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือเป็นเรื่องส่วนตัว |
. |
แต่ละบริษัทต่างก็มีกระบวนการธุรกิจที่แตกต่างกัน มีความซับซ้อนที่แตกต่างกัน จนบริษัทหนึ่ง ๆ ไม่อาจดำเนินการกระบวนการธุรกิจได้ทั้งหมด จึงต้องจัดจ้างจากภายนอก (Outsourcing) หรือรับช่วงการผลิต (Sub-contract) |
. |
ทำให้บริษัทที่ต้องจัดจ้างกิจกรรมการดำเนินงานจากภายนอกจะต้องคำนึงถึงคุณภาพหรือสมรรถนะของการดำเนินงานของผู้รับจ้าง บางครั้งบริษัทต่าง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะประเมินสมรรถนะ (Performance) หรือผลการปฏิบัติงานของบริษัทที่ต้องจัดจ้างมาจากภายนอก (Outsourcing) ได้ |
. |
จึงเก็บไว้ดำเนินงานเองดีกว่าที่จะให้บริษัทจากภายนอกเข้ามาดำเนินการ มีบริษัทมากมายในระดับโลกที่พยายามจะจัดจ้างบริษัทจากภายนอกเข้ามาดำเนินการกิจกรรมที่ตัวเองไม่มีความชำนาญ ดีกว่าดำเนินการ เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีกว่า และที่สำคัญต้นทุนต่ำกว่า กิจกรรมนี้เราเรียก ว่า Business Process Outsourcing (BPO) |
. |
Outsourcing |
ตั้งแต่ทศวรรษ 1970s และ 1980s บริษัทต่าง ๆ ได้ปรับปรุงกระบวนการธุรกิจของตนเองโดยใช้แนวคิด Total Quality Management (TQM) ต่อมาในทศวรรษ 1990s บริษัทต่าง ๆ ก็ได้หันมาใช้แนวคิดของ Business Process Reengineering (BPR) จนในปัจจุบันหลายบริษัทได้นำเอาหลายแนวคิดมาใช้รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นโซ่อุปทาน (Supply Chain) Six Sigma และ Lean Manufacturing |
. |
แต่กระบวนการธุรกิจก็ยังไม่ได้ให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ยิ่งตอนใกล้กับช่วงปลายศตวรรษที่ 20 มีแนวโน้มของการจัดจ้างจากภายนอกมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนการจัดจ้างจากภายนอกจะเป็นกิจกรรมหรือตำแหน่งงานที่ไม่ค่อยมีความสำคัญมากต่อกระบวนการธุรกิจมากนัก |
. |
ส่วนมากจะเป็นงานธุรการหรืองานซ่อมบำรุงต่าง ๆ งานประเภทนี้จัดได้ว่ายังไม่ใช่กิจกรรมหลัก (Primary Activities) ในโซ่คุณค่า (Value Chain) แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป หลายบริษัทเริ่มที่จะจัดจ้างหาบริษัทจากภายนอกมาทำงานในกิจกรรมหลักในโซ่คุณค่า ซึ่งบางครั้งก็มีความเกี่ยวเนื่องกับคนงานเป็นพัน ผลิตภัณฑ์ในระดับโลกแทบทุกผลิตภัณฑ์ล้วนมีกิจกรรมจัดจ้างจากภายนอกทั้งสิ้น |
. |
เพราะผลิตภัณฑ์ในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น บริษัทหนึ่ง ๆ คงไม่สามารถดำเนินการได้ทุกอย่าง ในปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ไม่ได้จัดจ้างกิจกรรมการผลิตจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว แต่กิจกรรมการบริการต่าง ๆ ก็ถูกจัดจ้างจากภายนอกเช่นกัน และยิ่งไปกว่านั้นมีการจัดจ้างกันในระดับนานาชาติไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า |
. |
แต่หลายบริษัทก็ยังคงกระบวนการหลัก ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพของสินค้าไว้ทำเองเป็นส่วนใหญ่ บริษัทระดับนานาชาติส่วนใหญ่ก็พยายามที่จะใช้ประโยชน์จากการจัดจ้างจากภายนอก แต่ส่วนมากก็เป็นกระบวนการที่เป็นการทำรายการธุรกิจ (Business Transactions) ที่ไม่ซับซ้อนและมีขนาดใหญ่หรือเป็นจำนวนมาก ๆ ส่วนกระบวนการที่ซับซ้อนหรือที่สำคัญทางบริษัทก็คงเก็บไว้ทำเอง |
. |
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการขาดแคลนมาตรฐานของกระบวนการธุรกิจนั่นเอง จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะดำเนินการจัดจ้างจากภายนอก แต่ก็ยังไม่มีกฎเกณฑ์อะไรในการตัดสินใจการจัดจ้างจากภายนอก นอกจากความไว้ใจในความสามารถของบริษัทที่มารับจ้างและต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าถึงแม้จะไม่มีกฎเกณฑ์ในการจัดจ้างจากภายนอก |
. |
อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายบริษัทที่ดำเนินการจัดจ้างจากภายนอก ประเด็นที่สำคัญในการจัดจ้างจากภายนอกก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องต้นทุนที่ถูกกว่า ซึ่งใช้ในการประเมินบริษัทที่เข้ามาเสนอบริการ ดังนั้นการที่ไม่มีมาตรฐานของกระบวนการธุรกิจอาจจะเป็นคำตอบของความไม่ประสบผลสำเร็จของการจัดจ้างจากภายนอกที่เกิดขึ้น |
. |
ชนิดของมาตรฐานของกระบวนการ |
กระบวนการธุรกิจ คือ สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรนั้นทำงานได้อย่างไร ซึ่งจะประกอบไปด้วยกลุ่มของกิจกรรมที่มุ่งมั่นในการทำให้วัตถุประสงค์ขององค์กรนั้นประสบผลสำเร็จเพื่อตอบสนองลูกค้าขององค์กร กระบวนการอาจจะเล็กหรือใหญ่ก็ได้ หรือจะเป็นการทำงานข้ามฝ่าย (Cross Functional) |
. |
เช่น การจัดการคำสั่งซื้อ หรือจะให้แคบลงไปอีก คือ การป้อนข้อมูลเข้าระบบ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการย่อยของกระบวนการการจัดการคำสั่งซื้อ ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่องค์กรกำหนดกระบวนการต่าง ๆ จึงทำให้เกิดความยากลำบากในการตกลงกันและสื่อสารกันตลอดทั่วทั้งองค์กร |
. |
บริษัทต่าง ๆ จึงพยายามที่จะทำให้กระบวนการของตัวเองเป็นมาตรฐานด้วยเหตุผลหลายอย่าง สำหรับในองค์กรแล้วความเป็นมาตรฐานสามารถที่จะอำนวยความสะดวกในการสื่อสารในองค์กรว่าธุรกิจนั้นดำเนินการได้อย่างไร ทำให้เกิดการส่งต่องานกันราบเรียบตรงจุดเชื่อมต่อระหว่างกระบวนการ และสามารถที่จะเปรียบเทียบสมรรถนะของกระบวนการระหว่างกันได้ ในองค์กรหนึ่ง ๆ กระบวนการที่เป็นมาตรฐานนั้นทำให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากกว่า มีการเชื่อมโยงที่ดีกว่า |
. |
ทุกวันนี้ความเป็นมาตรฐานของระบบสารสนเทศในองค์กรได้ผลักดันให้องค์กรปรับตัวในการสร้างมาตรฐานของกระบวนการมากขึ้น เพราะว่าทุกกระบวนการในองค์กรต้องใช้ข้อมูลสารสนเทศที่มีมาตรฐานเดียวกัน จะเห็นได้ว่ามีหลายองค์กรที่หันมาใช้ซอฟต์แวร์มาตรฐานแทนการเขียนหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาเอง ซึ่งการเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้ตามความต้องการของตัวเอง โดยขาดการสร้างความเป็นมาตรฐานของกระบวนการธุรกิจจะทำให้ความยืดหยุ่นขององค์กรลดลง |
. |
กระบวนการที่เป็นมาตรฐานนั้นจะทำให้การจัดจ้างจากภายนอกนั้นง่ายขึ้นในมุมมองของการประเมินสมรรถนะการดำเนินงานเชิงกระบวนการ การที่จะทำให้การจัดจ้างจากภายนอกนั้นมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น องค์กรนั้นจะต้องมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างอื่น ๆ อีกนอกเหนือไปจากต้นทุน นั่นก็คือ มาตรฐานของกระบวนการ |
. |
1) SCOR การติดต่อสื่อสารกันระหว่างผู้จ้างและผู้รับจ้างในการเสนอการบริการจากภายนอกองค์กร หรือแม้แต่การสื่อสารระหว่างแผนกหรือฝ่ายต่าง ๆ ในองค์กรเป็นปัญหาพื้นฐานในการจัดการและการดำเนินการ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการกำหนดขอบเขตของการดำเนินงาน |
. |
โดยเฉพาะการดำเนินการตามการไหลของกิจกรรมต่าง ๆ (Flow of Activities) องค์กรต่าง ๆ นั้นก็ต้องการกลุ่มมาตรฐานของกระบวนการต่าง ๆ ที่สามารถใช้สื่อสารได้ภายในองค์กรและสื่อสารกับผู้รับจ้างจากภายนอกในการดำเนินกระบวนการที่กำหนด |
. |
กิจกรรมของกระบวนการและมาตรฐานการไหลได้เริ่มมีขึ้นมาในหลาย ๆ กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เห็นได้ชัดในการเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานของกระบวนการ คือ Supply Chain Council (SCC) ซึ่งเป็นผู้กำหนดกระบวนการโซ่อุปทานที่ เรียกกันว่า SCOR (Supply Chain Operation Reference) |
. |
โดยมีอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้าร่วมกันออกแบบและกำหนดเป็นมาตรฐานที่ใช้กันภายในกลุ่มสมาชิก โดยอาศัยผู้ร่วมมือจากสมาชิกในการออกแบบและลงคะแนนเลือกในการเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน (กรุณาหาบทความด้าน SCOR ได้จากบทความก่อน ๆ ของผม ในวารสารเล่มนี้ หรือจากหนังสือ ลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ของผมได้ เนื่องมาจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ของคอลัมน์) |
. |
ลักษณะการกำหนดมาตรฐานของ SCOR นี้มีความแตกต่างจากมาตรฐานของ ISO 9000 อยู่หลายประเด็น ซึ่งที่จริงแล้ว ISO9000 ก็ถือว่าเป็นมาตรฐานที่คนทั่วโลกให้การยอมรับและลงทุนไปกับมาตรฐานนี้พอสมควร มีทั้งการยอมรับและการไม่ยอมรับในแนวคิดนี้ มาตรฐาน SCOR นั้นไม่ต้องมีหน่วยงานที่ให้การรับรอง (Certified Agency) ไม่ต้องมีผู้ตรวจประเมิน ไม่ต้องเสียค่าตรวจประเมิน เหมือนกับมาตรฐาน ISO 9000 ที่เราเห็น ๆ กันอยู่ |
. |
มาตรฐาน SCOR ไม่มีข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ที่ผู้นำไปใช้ต้องทำตาม ใครจะใช้แค่ไหนก็ได้ ไม่มีใครว่า เพราะว่าไม่มีการตรวจประเมิน แล้วจะวัดผลกันอย่างไร มาตรฐาน SCOR ไม่มีการวัดผลว่าใครจะผ่านมาตรฐานนี้หรือไม่ เพียงแต่นำไปใช้งานเลย |
. |
ถ้ากระบวนการของผู้นำไปใช้งานสามารถติดต่อสื่อได้ ทำธุรกิจได้ มีกำไร เจริญเติบโต ถือว่าใช้ได้ เหมือนกับการเรียนภาษาอังกฤษ บางคนได้เกรด A ในวิชาภาษาอังกฤษ แต่พูดไม่รู้เรื่อง ในขณะเดียวกันบางคนไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษมาแต่สามารถสื่อสารได้ สำหรับมาตรฐาน SCOR นั้นไม่ได้เน้นที่การให้รับรองแต่การเน้นที่การสรรหาสมาชิกผู้ที่จะนำไปใช้ เพราะความเป็นมาตรฐานนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีคนใช้กันมากขึ้น |
. |
2) ISO 9000 ส่วนมาตรฐาน ISO นั้นเป็นมาตรฐานที่เกิดจากหน่วยงานที่ออกข้อกำหนดของมาตรฐาน แล้วก็มีผู้ที่นำไปใช้โดยผ่านการให้การรับรอง แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าผู้ที่ได้รับการรับรองนั้นจะมีสมรรถนะตามที่คาดหวัง แต่ถ้ามองดูให้ละเอียดแล้วมาตรฐานของ ISO ทำให้เกิดการสื่อสารที่เป็นมาตรฐานเดียวกันภายในองค์หนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่ไม่เป็นมาตรฐานระหว่างองค์กร ISO ทำให้แต่ละองค์กรเขียนเอกสารที่แสดงถึงการดำเนินการขององค์กรออกมาในทิศทางเดียวกัน |
. |
แต่ก็ยังไม่ใช่เป็นการแสดงถึงความเป็นมาตรฐานของกระบวนการธุรกิจที่แท้จริง ดังนั้นเอกสาร ISO ของแต่ละบริษัทจะมีหัวข้อที่เหมือนกัน แต่รายละเอียดไม่เหมือนกัน จึงเป็นไปได้ว่าบุคคลภายนอกอาจจะไม่เข้าใจในรายละเอียดในระดับของกระบวนการของแต่ละบริษัท เพราะ ISO 9000 ไม่ได้กำหนดมาตรฐานในระดับกระบวนการไว้ |
. |
เมื่อพูดถึงความเป็นกระบวนการธุรกิจแล้ว จะต้องมีการวัดประเมินสมรรถนะด้วยตัววัดหรือ Metric สำหรับกระบวนการแต่ละชนิด มาตรฐาน ISO 9000 นั้นไม่ได้มีการกำหนดตัววัดที่เป็นมาตรฐานหรือเหมือนกันสำหรับองค์กรหนึ่ง แต่สำหรับมาตรฐาน SCOR นั้นกำหนดตั้งแต่ชนิดของกระบวนการและตัววัดสมรรถนะของกระบวนการที่ทุก ๆ องค์กรจะต้องใช้ให้เหมือนกัน หรือพูดจาภาษาเดียวกัน ดังนั้นการที่องค์กรใดจะดำเนินการอยู่ได้นั้น จะต้องสร้างการเชื่อมโยงกันระหว่างกระบวนการธุรกิจทั้งภายในและภายนอก |
. |
การที่กระบวนการธุรกิจจะเชื่อมโยงกันได้ก็ต้องมีมาตรฐานเดียวกันหรือพูดจาภาษาเดียวกัน เพื่อให้เกิดการไหลของวัตถุดิบเพื่อการแปรสภาพไปเป็นผลิตภัณฑ์ ไม่ว่ามาตรฐาน ISO 9000 หรือ มาตรฐาน SCOR จะมีความแตกต่างกันอย่างไร ก็มีจุดประสงค์ในการทำให้ในองค์กรหรือในโซ่อุปทานได้สื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง |
. |
3) CMMI มาตรฐานที่สำคัญของกระบวนการที่กำลังเป็นที่นิยมในวงการการพัฒนาซอฟท์แวร์ คือ CMM (Capability Maturity Model) และการจัดการกระบวนการธุรกิจได้นำเอามาประยุกต์ใช้เป็น CMMI (Capability Maturity Model Integration)ซึ่งผมเคยเขียนถึงมาก่อนหน้านี้แล้ว (กรุณาหารายละเอียดได้จากบทความที่ผ่านมา) |
. |
จากมุมมองของมาตรฐาน ISO 9000 และ SCOR ที่มุ่งเน้นไปที่ตัวกระบวนการและการเชื่อมต่อของกระบวนการ CMM กลับมองความเป็นมาตรฐานในลักษณะของความสามารถขององค์กรในเชิงกระบวนการธุรกิจต่าง ๆ เหมือนกับการจัดลำดับของนักกีฬาอาชีพต่าง ๆ หรือการแบ่งกลุ่มนักกีฬา เป็น กลุ่มนักเรียน กลุ่มสมัครเล่น กลุ่มมืออาชีพ และกลุ่มอาวุโส CMMI ทำให้องค์กรต่าง ๆ |
. |
นอกจากรู้จักกระบวนการธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ ที่เป็นคู่ค้าด้วยกันแล้ว ด้วยกระบวนการธุรกิจที่เป็นมาตรฐานแล้ว และยังสามารถรับรู้ความสามารถของการจัดการกระบวนการธุรกิจขององค์กรนั้น ๆ ด้วย CMMI มองการพัฒนากระบวนการธุรกิจขององค์กรในมุมมองของการพัฒนาอย่างต่อเนื่องขององค์กรไปถึงจุดที่เหมาะสมที่สุด (Optimal) ขององค์กร |
. |
CMMI นั้นมีลักษณะคล้ายกับ ISO ตรงที่จะต้องมีการตรวจประเมิน เพื่อให้ได้การรับรองตามระดับต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน การนำเอามาตรฐาน CMM และ CMMI มาใช้นั้นยังคงแพร่หลายอยู่ในวงการซอฟต์แวร์เท่านั้น และมีการเริ่มนำเอามาใช้ในวงการการจัดการกระบวนการธุรกิจบางแล้ว CMMI นั้นเป็นมาตรฐานของการจัดการกระบวนการ ไม่ใช่มาตรฐานของการไหลของกระบวนการหรือมาตรฐานของการวัดสมรรถนะของกระบวนการ |
. |
องค์กรที่มีความสามารถถึงระดับที่ 2 จะมีแนวทางพื้นฐานและสามารถที่ทำซ้ำได้ในการจัดการโครงการต่าง ๆ ในระดับที่ 3 นั้นองค์กรนั้นจะมีการพัฒนาระบบ สำหรับในระดับที่ 4 นั้นจะมีการจัดการที่ดีขึ้นมีการกำหนดวิธีการคิดต่าง ๆ ในการควบคุมและการลดแปรปรวนของกระบวนการที่ใช้ร่วมกัน (Common Process) ผ่านการจัดการ และระดับที่ 5 นั้นองค์กรได้พัฒนาไปสู่การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อทีจะบริหารการเปลี่ยนแปลง |
. |
บูรณาการทั้งสามมาตรฐาน |
ถ้าพิจารณาดูมาตรฐานของกระบวนการและการจัดการทั้ง 3 แล้ว จะเห็นว่ามาตรฐานทั้ง 3 นั้นมีความแตกต่างกันในจุดที่มุ่งเน้น เพราะมีเป้าหมายต่อกระบวนการคนละมุมมอง แต่ละมุมมองนั้นก็มีประโยชน์กับกระบวนการเหมือนกัน ISO 9000 นั้นเน้นที่มาตรฐานของการสื่อสารภายในองค์กรตามหัวข้อกำหนดที่ผู้กำหนดมาตรฐานกำหนดออกมา |
. |
แต่ในความคิดผมนั้นคิดว่า ISO 9000 เป็นมาตรฐานที่อ่อนที่สุดในมุมมองของการติดต่อสื่อสารระหว่างองค์กรและการจัดการกระบวนการ (Process Improvement) แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะสร้างวัฒนธรรมในองค์กรโดยใช้ ISO เป็นเครื่องในการสื่อสารวิธีการทำงานอย่างง่าย ๆ ส่วน SCOR นั้นผมถือว่าเป็นมาตรฐานของกระบวนการที่สำคัญและมีผลต่อการจัดการกระบวนการมากที่สุด |
. |
SCOR นั้นเป็นโครงสร้างพื้นฐานของกระบวนการธุรกิจและมีความป็นมาตรฐานมากที่สุดในการกำหนดรายละเอียดของกระบวนการ ทั้งการไหลของกิจกรรมในกระบวนการ มาตรวัดสมรรถนะของกระบวนการและข้อปฏิบัติที่ดีที่สุดของกระบวนการ ที่สำคัญ SCOR ถูกใช้ไปทั่วทั้งวงการธุรกิจและอุตสาหกรรม มีบริษัทในระดับโลกหลาย ๆ บริษัทได้นำเอา SCOR มาใช้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน |
. |
ตรงนี้เองที่ทำให้ SCOR มีความเป็นมาตรฐานของกระบวนการที่เหนือกว่า ISO 9000 แต่ข้อด้อยของ SCOR คือ การที่ไม่มีองค์กรที่ให้การรับรองการใช้มาตรฐาน SCOR ที่จริงแล้วจุดประสงค์ของการตั้งมาตรฐานของ SCOR นั้นก็เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการพัฒนากลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งต่างจากมาตรฐาน ISO ถูกกำหนดออกมาจากองค์กรกลาง |
. |
เมื่อเปรียบเทียบกับ CMMI แล้ว SCOR มีข้อด้อยในเชิงการจัดกลุ่มหรือเปรียบเทียบสมรรถนะขององค์ที่ต้องการวัด มาตรฐานของ SCOR ให้รายละเอียดลึกลงไปถึงขั้นตอน มาตรวัดและวิธีการตัดสินใจต่าง ๆ ในกระบวนการ แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดในการจัดกลุ่มขององค์กรตามความสามารถ เพราะว่าทุกองค์ที่นำเอา SCOR ไปใช้ไม่หมายความว่าจะประสพความสำเร็จทุกราย จึงต้องมีการประเมินในภาพรวมของการปรับปรุงกระบวนการ (Process Improvement) ตามวุฒิภาวะหรือประสบการณ์ในการจัดการและการเรียนรู้ของแต่ละองค์กร |
. |
ผมมีความเชื่อว่าถ้าเราเข้าใจมาตรฐานแต่ละตัว โดยเห็นส่วนเด่นและส่วนด้อยของมาตรฐานแต่ละตัว แล้วนำมาเสริมซึ่งกันและกันในเป้าหมายเดียวกัน ผลจากการรวมกันหรือการบูรณาการมาตรฐานนี้เราก็จะได้การใช้งานมาตรฐานของกระบวนการที่ให้ประโยชน์ต่อวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด