เนื้อหาวันที่ : 2010-02-05 19:29:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3512 views

ท่านรู้หรือไม่ ! แหล่งพลังงาน ขุมทรัพย์ของความอยู่รอดของเศรษฐกิจไทย

พลังงาน มีคำจำกัดความว่า ความสามารถในการทำงาน หรือ ความสามารถที่ทำให้เกิดการทำงาน การทำงาน ในที่นี้หมายถึงการเคลื่อนไหววัตถุ การยกของ การหุงต้ม การให้แสงสว่าง ทั้งหลายเหล่านี้ก็คือตัวอย่างของการทำงาน เมื่อมนุษย์รับประทาน อาหารร่างกายจะแปลงอาหารให้เป็นพลังงานเพื่อการทำงาน เมื่อเราเดินหรือวิ่งหรือแม้แต่คิด อ่านหรือเขียนร่างกายเผาพลาญอาหารซึ่งเป็นแหล่งพลังงานให้สามารถทำงาน ในทำนองเดียวกันยานยนต์ เครื่องบิน เรือ และเครื่องจักร ก็ล้วนเป็นการแปลงเชื้อเพลิงซึ่งเป็นแหล่งพลังงานอีกรูปแบบหนึ่งไปเป็นการทำงานเช่นกัน

บูรณะศักดิ์ มาดหมาย 
สำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
chakan_m@yahoo.com

.

หลายคนคงบ่นกันว่าทำไมราคาน้ำมันแพงขึ้นทุกวัน ๆ ปัจจุบันอย่างเช่น ออกเทน 95 ราคาอยู่ที่ 22.14 (บาท/ลิตร) และออกเทน 91 ราคาอยู่ที่ 21.34 (บาท/ลิตร) (20 พ.ค. 2548) ปกติแล้วผู้เขียนจะเขียนเกี่ยวกับความรู้ทฤษฎีทางด้านการจัดการพลังงาน   

.

มาฉบับนี้ ลองเขียนให้กับผู้อ่าน ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับพลังงาน แหล่งที่มาของพลังงาน และการนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า หลายท่านคงจะทราบกันดีแต่ว่ายังมิได้ใส่ใจมากเท่าไหร่นัก แต่ปัจจุบันโดยเฉพาะผู้ใช้รถอย่างผู้เขียนซึ่งได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการใช้รถที่ไม่ประหยัดน้ำมันเอาเสียเลย ทำให้เงินในประเป๋าของท่านเบาบางลงไปได้  

.

พลังงาน มีคำจำกัดความว่า ความสามารถในการทำงาน หรือ ความสามารถที่ทำให้เกิดการทำงาน การทำงาน ในที่นี้หมายถึงการเคลื่อนไหววัตถุ การยกของ การหุงต้ม การให้แสงสว่าง ทั้งหลายเหล่านี้ก็คือตัวอย่างของการทำงาน

.

เมื่อมนุษย์รับประทาน อาหารร่างกายจะแปลงอาหารให้เป็นพลังงานเพื่อการทำงาน เมื่อเราเดินหรือวิ่งหรือแม้แต่คิด อ่านหรือเขียนร่างกายเผาพลาญอาหารซึ่งเป็นแหล่งพลังงานให้สามารถทำงาน ในทำนองเดียวกันยานยนต์ เครื่องบิน เรือ และเครื่องจักร ก็ล้วนเป็นการแปลงเชื้อเพลิงซึ่งเป็นแหล่งพลังงานอีกรูปแบบหนึ่งไปเป็นการทำงานเช่นกัน

.

.

แหล่งพลังงาน 

แหล่งพลังงานมีอยู่หลายชนิดที่สามารถทำให้โลกเราเกิดการทำงาน และหากศึกษาวิเคราะห์ในเชิงลึกแล้วจะพบว่าแหล่งต้นตอของพลังงานที่ใช้ทำงานในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็ล้วนมาจากพลังงานอันมหาศาลที่แผ่จากดวงอาทิตย์มาสู่โลกเรา พลังงานจากดวงอาทิตย์นี้นอกจากจากจะสามารถใช้ประโยชน์จากแสงและความร้อนในการทำงานโดยตรง

.

เช่น การให้แสงสว่าง การให้ความร้อน ความอบอุ่น การตากแห้งต่าง ๆ แล้วก็ยังก่อให้เกิดแหล่งพลังงานอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น พลังงานลม ในรูปของพลังงานจลน์ของลม พลังงานน้ำ ในรูปของพลังงานศักย์ของน้ำฝนที่ตกลงมา และถูกกักเก็บไว้ในที่สูง พลังงานมหาสมุทร ในรูปของพลังงานจลน์ของคลื่นและกระแสน้ำและพลังงานความร้อนในน้ำของมหาสมุทร                          

.

พลังงานชีวมวล ในรูปของพลังงานเคมีของชีวมวล พลังงานฟอสซิล ในรูปของพลังงานเคมีของถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ แหล่งพลังงานดังกล่าวนี้อาจกล่าวเป็นอีกนัยว่าเป็นแหล่งพลังงานทางอ้อมของดวงอาทิตย์ก็ได้ ฉะนั้นขอยกแหล่งกำเนิดของพลังงานที่สามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานให้เราใช้ทุกวันนี้ได้ ดังต่อไปนี้ 

.

.
แหล่งกำเนิดไฟฟ้าพลังงานน้ำ

น้ำ เป็นทรัพยากรที่ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อชีวิตของมนุษย์อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะใช้บริโภค ดื่ม อาบ หรือใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ๆ โลกของเราประกอบด้วยบริเวณที่เป็นผืนน้ำร้อยละ 75 และเป็นพื้นดินร้อยละ 25 มีสาเหตุใหญ่มาจากความร้อนที่แผ่จากดวงอาทิตย์ให้กับน้ำบนโลกเราทำให้เกิดไอน้ำระเหยขึ้นไปเป็นก้อนเมฆ และตกลงมาเป็นน้ำฝนและหากถูกกักเก็บไว้เป็นแหล่งน้ำบนที่สูงบนภูเขา หรือถูกเก็บไว้หลังเขื่อนที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ก็จะกลายเป็นพลังงานศักย์ของน้ำ

.

ปัจจุบันพลังงานน้ำเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาเป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีการนำพลังงานชนิดต่าง ๆ มาผลิตกระแสไฟฟ้า ได้แก่ ถ่านหินร้อยละ 40 นิวเคลียร์ร้อยละ 20 ก๊าชธรรมชาติร้อยละ  19 น้ำมันร้อยละ 10 พลังน้ำร้อยละ 8 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นั้นถือว่าเป็นหน่วยปฏิบัติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาคที่อยู่อาศัย ภาคการขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

.

ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีการสร้างเขื่อนหลายแห่ง ทั่วประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในภาคการเกษตร และในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามภูมิภาคต่าง ๆ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 2,007 เมกะวัตต์หรือประมาณร้อยละ 30.1 ของกำลังการผลิตทั้งหมด มีเขื่อนที่สำคัญ ๆ ในการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ 15 แห่ง ดังต่อไปนี้

.

1. เขื่อนแก่งกระจาน ตั้งอยู่ ณ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 19,000กิโลวัตต์ ให้พลังงานเฉลี่ยปีละ 70 ล้านกิโลวัตต์

.

2. เขื่อนวชิราลงกรณ์ เป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 300,000กิโลวัตต์ ให้พลังงานเฉลี่ยปีละ 760 ล้านกิโลวัตต์

.

3. เขื่อนห้วยกุ่ม เป็นเขื่อนที่สร้างตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงทราบถึงการขาดแคลนของนำในพื้นที่ทำการเกษตร กำลังการผลิตเครื่องละ 1,060 กิโลวัตต์

.

4. เขื่อนจุฬาภรณ์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง เฉลี่ยปีละ 1,060 กิโลวัตต์ชั่วโมง
5. เขื่อนท่าทุ่งนา เป็นเขื่อนที่ ตั้งอยู่ ณ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 38 เมกกะวัตต์ ให้พลังงานเฉลี่ยปีละ 170 กิโลวัตต์ชั่วโมง

.

6. เขื่อนน้ำพุง เป็นเขื่อนที่สร้างตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงทราบถึงการขาดแคลนของนำในพื้นที่ทำการเกษตร กำลังการผลิตเครื่องละ 1,060 กิโลวัตต์

.

7. เขื่อนบางลาง เป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 72,000กิโลวัตต์ ให้พลังงานเฉลี่ยปีละ 200 ล้านกิโลวัตต์

.

8. เขื่อนปากมูล เป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 136,000กิโลวัตต์ ให้พลังงานเฉลี่ยปีละ 280 ล้านกิโลวัตต์

.

9. เขื่อนรัชประภา เป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฏร์ธานี สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 240,000กิโลวัตต์ ให้พลังงานเฉลี่ยปีละ 554 ล้านกิโลวัตต์

.
10. เขื่อนศรีนครินทร์ เป็นเขื่อนที่ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 720,000 กิโลวัตต์
11. เขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 743,800 เมกะวัตต์
12. เขื่อนสิริกติ์ เป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 375,000 กิโลวัตต์
.

13. เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 24.50   ล้านกิโลวัตต์
14. เขื่อนลำตะคอง เป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 400 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
15. เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ ณ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 55 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

.
ขั้นตอนการนำน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้า

น้ำเป็นพลังงานที่สามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ทำให้เราได้รับประโยชน์ทั้งการนำน้ำมาเป็นประโยชน์ทางการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย ซึ่งเราเรียกว่า อ่างเก็บน้ำ โดยอาศัยโรงไฟฟ้าที่ต้องอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยอาศัยความเร็วและแรงดันสูงมาหมุนกังหันน้ำ โดยพอจะสรุปขั้นตอนได้ดังนี้

.

• น้ำในอ่างเก็บน้ำจะต้องอยู่ในระดับที่สูงกว่าโรงไฟฟ้า จะทำให้น้ำมีระดับแรงดันที่มีความเร็วสูงสามารถมีกำลังมหาศาลในการไปหมุนกังหันให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำงานและมีแรงหมุนที่เร็วมากพอทำให้เครื่องปั่นไฟฟ้าทำงาน สะสมพลังงานออกมาเป็นกระแสไฟฟ้าได้

.

• น้ำที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำจะถูกปล่อยให้ไหลมาตามท่อน้ำ เพื่อควบคุมทิศทางให้มีความเร็วยิ่งขึ้น เข้าไปในโรงไฟฟ้า ที่มีเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าที่อยู่ตำกว่าทำงาน

.

• เมื่อน้ำไหลผ่านมาตามท่อจะไหลผ่านไปยังเพลาของเครื่องกังหันน้ำซึ่งต่ออยู่กับเพลาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำให้โรเตอร์หมุน เกิดการเหนี่ยวนำในเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ได้พลังงานออกมา

.

.
แหล่งกำเนิดไฟฟ้าพลังงานลม 

ลมเกิดมาจากความร้อนที่แผ่จากดวงอาทิตย์สู่โลกเราให้กับอากาศไม่เท่าเทียมกัน ทำให้อากาศร้อนที่เบากว่าลอยขึ้นและอากาศเย็นที่หนักกว่าลอยเข้ามาแทนที่ เช่น อากาศใกล้บริเวณศูนย์สูตรจะร้อนกว่าอากาศใกล้บริเวณขั้วโลกอากาศที่เบากว่าจะลอยตัวขึ้นขณะที่อากาศหนักกว่าจะเคลื่อนเข้ามาแทนที่

.

ลมมิใช่เพียงแต่สามารถทำให้เรารู้สึกสบายในยามอากาศร้อนในช่วงของฤดูร้อนปลายต้นเดือนเมษายน ของทุกปีในบ้านเราเท่านั้น แต่เรายังสามารถนำความเร็วลมที่เกิดขึ้นสามารถนำมาปั่นเครื่องปั่นไฟฟ้ากังหันให้หมุนและเปลี่ยนมาเป็นระบบกระแสไฟฟ้าได้ ในปัจจุบันได้มีการสร้างกังหัน สำหรับผลิตกระไฟฟ้าได้ด้วย 

.

การได้มาของพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม ก็คงมิต่างอะไรกับพลังงานน้ำมากนัก ปัจจุบันในประเทศไทยมีกังหันที่สามารถผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ แต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนักเนื่องด้วยการลงทุน เทคโนโลยี และสภาวะแวดล้อมที่ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ แต่ก็นับได้ว่าเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกหนึ่งของประเทศไทยเลยทีเดียวที่ต้องมีการพัฒนาจนสามารถสร้างเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

.

.
แหล่งกำเนิดไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ)

เชื้อเพลิงฟอสซิลเกิดจากการย่อยสลายของสิ่งมีชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เมื่อพืชและสัตว์สมัยดึกดำบรรพ์ เสียชีวิตลง จะถูกย่อยสลายและทับถมกันเป็นชั้น ๆ อยู่ใต้ดินหรือใต้พิภพ ซึ่งใช้เวลาหลายล้านปีกว่าที่จะเปลี่ยนซากเหล่านี้ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล

.

พลังงานฟอสซิลนี้ก็ถือว่าเป็นแหล่งกักเก็บที่เกิดขึ้นหลายล้านปีก่อนของสิ่งมีชีวิตในยุคนั้น พลังงานเหล่านี้จะถูกปลดปล่อยออกมาได้หรือเอามาใช้ทำงานได้ก็มีอยู่วิธีเดียวเท่านั้นคือ การเผาไหม้ซึ่งจะทำให้คาร์บอนและไฮโดรเจนที่อยู่ในเชื้อเพลิงรวมกับออกซิเจนในอากาศเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ 

.

นอกจากนี้ยังมีสารอื่น ๆ อันเป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตที่เจือปนอยู่ในเชื้อเพลิงอีก เช่น ซัลเฟอร์และไนโตรเจน ก็จะถูกปลดปล่อยออกมาเป็นก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOX) และไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ

.

สรุปได้ว่าพลังงานจากดวงอาทิตย์ คาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำเมื่อสมัยล้าน ๆ ปีก่อนนี้ถูกสะสมไว้ในเชื้อเพลิงฟอสซิลในรูปของไฮโดรคาร์บอน และเมื่อนำมาเผาไหม้ก็จะได้พลังงานออกมาเพื่อการทำงานพร้อม ๆ กับคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำซึ่งอาจรวมถึงสารอื่น ๆ ที่เจือปนอีกด้วยและโปรดสังเกตว่าระยะเวลาการสร้างและสะสมกับระยะเวลาการเผาเพื่อใช้งานมันต่างกันมาก ๆ นอกจากนี้ยังดูดคาร์บอนไดออกไซด์ และอื่น ๆ ในสมัยนั้นมาคายออกสู่บรรยากาศในสมัยนี้อีกเป็นจำนวนมากอีกด้วย

.

และเมื่อเทียบระยะเวลาของการแปลงรูปพลังงานจากดวงอาทิตย์เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลกับแหล่งพลังงานชนิดอื่นที่แปลงรูปมาจากดวงอาทิตย์ เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ ก็แตกต่างกันมาก ๆ อีกเช่นกัน ซึ่งหากเชื้อเพลิงฟอสซิลถูกนำไปใช้ประโยชน์แล้วก็ถือได้ว่าใช้แล้วหมดไปไม่สามารถจะสร้างขึ้นมาใหม่ได้อีกต่อไป       

.

สำหรับแหล่งพลังงานอื่นจะสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้อีกเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ยังมีดวงอาทิตย์แผ่พลังงานมายังโลกเรานี้ ซึ่งเราเรียกพลังงานที่สร้างขึ้นมาใหม่ได้นี้ว่า พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy

.

ปัจจุบันมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อการทำงานเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เช่น การขนส่ง การผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม คำถามมีอยู่ว่าแล้วมันจะมีโอกาสถูกใช้หมดไหม มีการคาดคะเนกันมากมายในเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะประมาณได้คร่าว ๆ ว่าเชื้อเพลิงนี้คงจะถูกใช้หมดไปหรือเหลือน้อยมากในระยะเวลาไม่กี่ร้อยปี 

.

ในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว ถ่านหินนับว่ามีปริมาณมากที่สุด น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงที่มีความยืดหยุ่นและสะดวกในการใช้ประโยชน์มากที่สุด ส่วนก๊าซธรรมชาติจะเป็นพลังงานที่สะอาดมากที่สุด

.

จากมนุษย์ในยุคปัจจุบันได้กอบโกยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดนี้แล้วยังจะมีเหลือให้มนุษย์รุ่นหลังมีโอกาสได้รับประโยชน์จากทรัพยากรนี้บ้างไหม ในสภาวะปัจจุบันทางออกที่จะยืดอายุการใช้ให้นานออกไปก็เห็นจะมีอยู่ไม่กี่หนทาง เช่น การใช้อย่างประหยัดเท่าที่จะจำเป็นและใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

และด้วยสภาพอัตราการใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้ของมนุษย์เราในปัจจุบันจะทำให้ปริมาณสำรองที่มีอยู่ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ และราคาของเชื้อเพลิงก็มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุด ๆ หนึ่ง ที่จะต้องมีแหล่งพลังงานอื่นที่มีปริมาณและศักยภาพมากพอและสามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ หรือนำมาทำงานได้ใกล้เคียงกันในราคาที่แข่งขันกันได้และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับที่ยอมรับได้ด้วย

.

แหล่งกำเนิดไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล ที่รู้จักกันทั่วไปคือ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ สามรถนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มีผลกันมากทั้ง ภาคอุตสาหกรรมและภาคที่อยู่อาศัย ซึ่งในการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้านั้น จะใช้พลังงานความร้อนของ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง น้ำมันดีเซล ดังตัวอย่างรูปแสดงขั้นตอนนำน้ำมันดีเซลมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า

.

.

เมื่อเราพิจารณาถึงน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ อันที่จริงแล้วเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ซึ่งมีการใช้จุดเดือดถึง 180-370 องศาเซลเซียส สามารถจุดระเบิดเร็วและเผาไหม้ได้หมดภายใต้สภาวะในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่

.

1. น้ำมันดีเซลหมุนเร็วหรือน้ำมันโซล่า เหมาะสมกับเครื่องยนต์และเครื่องจักรกล มีความเร็วรอบสูงกว่า 1,000 รอบต่อนาที เช่น รถเก๋ง รถปิกอัพ รถโดยสาร รถบรรทุก รถแทรกเตอร์ งานก่อสร้าง การเกษตร รถโฟร์กลิฟต์ รถเครน เรือหางยาว เรือประมง เป็นต้น

.

2. น้ำมันดีเซลหมุนช้าหรือน้ำมันขี้โล้ เป็นน้ำมันที่ผสมระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเตาในอัตราตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ใช้ได้กับเครื่องยนต์ดีเซล เหมาะสมกับเครื่องยนต์และเครื่องจักรกล มีความเร็วรอบ 500 - 1,000 รอบต่อนาที เช่น เครื่องยนต์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนเดินทะเลและการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น

.

เพราะฉะนั้น เราก็ทราบกันแล้วว่าในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น เราได้นำน้ำมันดีเซลหมุนช้าหรือน้ำมันขี้โล้ นั้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า 

.

ปัจจุบันเรามีแหล่งน้ำมันดิบในการนำมาผลิตน้ำมันดีเซลในประเทศไทย เพียง แหล่ง 19 ได้แก่
1. แหล่งสิริกิติ์ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 19 แหล่ง
2. แหล่งกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมและแหล่งอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 2 แหล่ง
3. แหล่งบึงม่วง อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชรและแหล่งบึงหญ้า อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย จำนวน 2 แหล่ง
4. แหล่งวิเชียรบุรี-ศรีเทพและนาสนุ่น จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 3 แหล่ง
5. แหล่งทานตะวันและแหล่งเบญจมาศ บริเวณอ่าวไทยห่างจากชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปทางทิศตะวันออก 2 แหล่ง
6. แหล่งนางนวล บริเวณนอกชายฝั่งทางทิศตะวันออกของจังหวัดชุมพรจำนวน 2 แหล่ง
7. แหล่งฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 แหล่ง

.

จากข้อมูลที่ได้จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเรามีปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลประมาณ 18,700 ล้านลิตร และมีการนำเข้าน้ำมันดีเซลประมาณ 600 ล้านลิตร มีการศึกษาวิจัยว่า มีปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลถึงจำนวน 43 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.6 ของปริมาณน้ำมันที่ใช้ในประเทศ มีสัดส่วนการใช้สูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ

.

.
แหล่งกำเนิดไฟฟ้าอื่น ๆ 

มนุษย์จะสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานอื่นอีกไหมนอกจากที่กล่าวไว้ ถ้าจะมีก็คงเป็นแหล่งที่ไม่มีสาระสำคัญอะไรหรือเป็นแหล่งที่ไกลจากความเป็นจริงที่มนุษย์เราจะนำมาใช้ประโยชน์หรือทฤษฏีและเทคโนโลยีของเรายังเข้าไม่ถึง เช่น พลังงานสายฟ้าจากก้อนเมฆ

.

แร่ธาตุที่เป็นแหล่งพลังงานที่อยู่นอกโลกเรา เช่น ดวงจันทร์ หรือดาวดวงอื่น ๆ เป็นต้น พลังงานที่มนุษย์เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์จริงในโลกนี้ก็ล้วนมีแหล่งจากที่ได้กล่าวไว้แล้วทั้งหมดและก็มีความเป็นไปได้ที่จะกล่าวอ้างถึงแหล่งพลังงานอื่น ๆ อีกซึ่งหากวิเคราะห์หรือพิสูจน์ลงไปแล้วก็มีต้นตอไม่พ้นแหล่งดังกล่าวได้

.

พลังงานชีวมวล (Bio Mass) คงจะเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่สำหรับคนไทยในปัจจุบันนี้ เนื่องจากภาครัฐพยายามที่จะส่งเสริม สนับสนุน และพยายามที่จะเร่งศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการผลิตพลังงานจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

.

พืชทั้งหลายในโลกเราก่อเกิดขึ้นมาได้ล้วนแต่อาศัยพลังงานจากดวงอาทิตย์ พืชทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์แล้วเก็บสะสมไว้เพื่อการดำรงชีพและเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ราก ลำต้น ใบ ดอกไม้ และผล

.

ขบวนการสำคัญที่เก็บสะสมพลังงานแสงอาทิตย์นี้เรียกกันว่ากระบวนการสังเคราะห์แสงโดยอาศัยสารคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) บนพืชสีเขียวที่ทำตัวเสมือนเป็นโรงงานเล็ก ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากอากาศ และน้ำ (H2O) จากดินมาทำปฏิกิริยากันแล้วผลิตเป็นสารประกอบกลุ่มหนึ่งขึ้นมา เช่น น้ำตาล แป้ง และเซลลูโลส ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่าคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) พลังงานแสงอาทิตย์นี้จะถูกสะสมในรูปแบบของพันธเคมี (Chemicalbonds) ของสารประกอบเหล่านี้

.

สัตว์ทั้งหลายมีทั้งกินพืชและสัตว์ มนุษย์กินพืช และสัตว์การกินกันเป็นทอด ๆ (ห่วงโซ่อาหาร) ของสิ่งมีชีวิต ทำให้มีการถ่ายทอดพลังงานเคมีจากพืชไปสู่สัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปคือ การทำงานของสิ่งมีชีวิตโดยพื้นฐานล้วนอาศัยพลังงานจากดวงอาทิตย์และการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตก็เป็นแหล่งสะสมพลังงานที่ได้รับจากดวงอาทิตย์อีกเช่นกัน

.

พลังงานชีวมวล ก็คือ พลังงานที่สะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิตที่สามารถนำมาใช้ทำงานได้ เช่น ต้นไม้ กิ่งไม้ หรือเศษวัสดุจากการเกษตรหรืออุตสาหกรรม เช่น แกลบ ฟาง ชานอ้อย ขี้เลื่อย เศษไม้ เปลือกไม้ มูลสัตว์        

.

รวมทั้งของเหลือหรือขยะจากครัวเรือนมนุษย ์เราได้ใช้พลังงานจากชีวมวลมาเป็นเวลานานแล้วจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการนำมาใช้ประโยชน์ในสัดส่วนที่ไม่น้อยเลยโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างบ้านเราตามชนบทก็ยังมีการใช้ไม้ฟืนหรือถ่านในการหุงหาอาหาร

.

ภาระที่หนักหน่วงของภาครัฐในปัจจุบันเกี่ยวกับปัญหาด้านพลังงาน ก็คือ การจัดสร้างแหล่งกำเนิดไฟฟ้า ให้เพียงพอต่อความต้องการ ของพลเมืองประเทศไทย ต้องสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ มาใช้เป็นเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า

 .

ณ ปัจจุบัน ภาวะของน้ำมันซึ่งเป็นวัตถุดิบ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศ แพงขึ้นทุกวันต้องใช้เงินทุน ของประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ไปจัดซื้อน้ำมันมาใช้ วัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรกรรมในประเทศไทย จำพวกแกลบ, ฟางข้าว, ปาล์ม, มะพร้าว, ชานอ้อย, ซังข้าวโพด, เศษไม้และมูลสัตว์                             

 .

ส่วนใหญ่เกษตรกรนำมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับการเพาะปลูกฉพาะ ชานอ้อยเหลือทิ้งปีละ 13 ล้านตัน แกลบปีละ 5 ล้านตัน และเหง้ามันสำปะหลัง 1.7 ล้านตัน เกษตรกรทำนา มักเผาฟางข้าวทิ้ง หลังเก็บเกี่ยวกลายเป็นม่านควัน ทำให้เกิดเหตุรถชนกันหลายครั้งหลายหน วัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรกรรมทุกวันนี้ ยังไม่มีการนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างจริงจัง ทั้งที่ของเหลือใช้พวกนี้คือพลังงานชีวมวล 

 .

พลังงานชีวมวล (BIOMAS) หรือไบโอแมส คือพลังงานหมุนเวียน ที่ไม่มีวันหมด เป็นพลังงานที่ยั่งยืน และสำคัญของประเทศไทย เชื้อเพลิงชีวมวล หรือไบโอแมส ได้มาจากวัสดุเหลือใช้ ทางด้านการเกษตร มีมากตามลักษณะ ของการกสิกรรมในภาคต่าง ๆ มีการผลิตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

.

ไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลนี้ ไม่เป็นภัยต่อชีวิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้เกิดการสะสมของ CO2 ในบรรยากาศ เพราะมีความสมดุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไม่เพิ่มก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

 .

รัฐบาลหันมาเล็งการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลโดยเป็น โครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กไว้ใช้เอง ในอุตสาหกรรม และเมื่อเหลือใช้ก็ให้นำมาขายให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) โครงการนี้ มีผู้เข้าร่วมสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้ว 31 แห่ง แบ่งเป็นใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง 12 แห่ง ชานอ้อย 7 แห่ง ชานอ้อยผสมเชื้อเพลิงอื่น 2 แห่ง เหง้ามันสำปะหลัง 1 แห่ง

 .

เปลือกไม้ผสมกะลาปาล์ม 1 แห่ง และปัจจุบันภาคเอกชนเริ่มดำเนินการ  โรงไฟฟ้าที่ ต.ลำภูรา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งบริษัท กัลฟ์อิเล็กตริก เป็นเจ้าของโครงการฯจะใช้เศษไม้ยางพารา และกะลาปาล์มเป็นเชื้อเพลิง จะทำให้ชาวสวนยางและชาวสวนปาล์มในพื้นที่ อ.ห้วยยอด ขายเศษไม้ยางพาราที่เหลือทิ้งพวกนี้ ในราคาสูงถึงตันละ 250 บาท ส่วนกะลาปาล์ม ราคาก็จะขึ้นอยู่ที่ฤดูกาลว่าจะมีเหลือมากน้อยแค่ไหน

 .
แล้วเราจะเลือกสนับสนุนแหล่งพลังงานชนิดไหนดี

แหล่งพลังงานแต่ละชนิดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ดังกล่าวมาแล้วนั้นล้วนแต่มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป การพิจาณาถึงความเหมาะสมในการเลือกใช้แหล่งพลังงานไม่ว่าจะนำมาใช้ประการใดก็ตาม    

 .

เราต้องคำนึงถึงความเหมาะสมโดยนำมาเปรียบเทียบกันและศึกษาความเป็นไปได้ของการนำมาใช้ว่าพลังงานใดเหมาะสมที่จะทำการพัฒนาให้เป็นพลังงานทางเลือกของเราได้ โดยทั่วสามารถพิจารณา ปัจจัยสำคัญที่นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อการเลือกใช้ให้เหมาะสมมีอยู่ 3 ด้าน คือ

 .

1. ความสามารถทางด้านเทคนิคหรือเทคโนโลยี ที่จะแปลงแหล่งพลังงานมาใช้ประโยชน์ได้นั้นมีกี่ชนิด ประกอบด้วยอุปกรณ์อะไร แต่ละชนิดมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร (เช่น ประสิทธิภาพ อายุการใช้งาน ระยะเวลาในการติดตั้ง และก่อสร้าง) จะต้องวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด     

 .

ทั้งนี้ อาจรวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการลดมลภาวะประกอบอีกด้วยและแน่นอนที่สุดว่าแหล่งพลังงานที่จะเลือกนั้นจะต้องมีปริมาณหรือศักยภาพมากพอที่จะมีความเหมาะสมในเชิงเศรษฐศาสตร์อีกด้วย

 .

2. ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่ครอบคลุมถึงต้นทุนที่ลงไปครั้งแรก (เช่น อุปกรณ์ การติดตั้ง และก่อสร้าง เป็นต้น) ค่าเชื้อเพลิง ค่าดำเนินการ ค่าบำรุงรักษา ดอกเบี้ย และอายุการใช้งานเพื่อเปรียบว่าเทคโนโลยีของการใช้แหล่งพลังงานแต่ละชนิดมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด หรืออาจกล่าวว่าชนิดไหนถูกกว่ากัน

 .

3.ผลกระทบสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษาว่าเทคโนโลยีของการใช้แหล่งพลังงานแต่ละชนิดมีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับไหน และระดับไหนถึงจะเหมาะสมและยอมรับได้

 .

มนุษย์เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากพลังงาน เป็นผู้บริโภคพลังงาน (ต้นเหตุ) มนุษย์ก็ต้องเป็นผู้เลือกและผลที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบก็จะย้อนกลับมากระทบต่อมนุษย์อีกเช่นกัน (ปลายเหตุ)  

 .

ดังนั้น ปัจจัยทั้งสามนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมขนาดใหญ่ที่การลงทุนสูง เช่น การผลิตไฟฟ้า ยิ่งต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ให้รอบคอบมากขึ้น นอกจากปัจจัยทั้งสามดังกล่าวแล้ว อาจมีการพิจารณาถึงปัจจัยด้านความมั่นคงของประเทศประกอบอีกด้วย

 .

การยอมรับของสังคมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่มนุษย์ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าจะใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานอะไรก็ตาม ย่อมจะต้องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย และมีเทคโนโลยีอะไรบ้าง (ซึ่งหมายถึงต้นทุน) ที่จะช่วยให้ลดผลกระทบอันนี้และผลกระทบระดับไหนถึงเป็นที่ยอมรับได้ ปัญหาของสิ่งแวดล้อมมีทั้งผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว (ปัญหาของคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นที่คาดคะเนว่าจะเกิดปัญหาระยะยาวได้)

 .

มีคนอีกจำนวนมากที่อาจสงสัยว่าแล้วแหล่งพลังงานหมุนเวียนนั้นไม่เหมาะสมหรือ ในเมื่อแหล่งพลังงานชนิดนี้เกิดได้ตามธรรมชาติและไม่มีต้นทุนด้านตัวแหล่งพลังงานเองเหมือนเชื้อเพลิงอื่น ๆ เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานได้ฟรี

 .

เช่น แสงอาทิตย์ และลม เป็นต้น อันที่จริงแล้วแหล่งพลังงานหมุนเวียนนี้ส่วนใหญ่จะยังคงติดปัญหาในเชิงเศรษฐศาสตร์ หรืออาจกล่าวได้ว่าการลงทุนทางเทคโนโลยียังสูงมาก ถึงแม้สมมุติว่ามีการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้ต้นทุนถูกลงจนกระทั่งมีความเหมาะสมในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วก็ตาม แหล่งพลังงานชนิดนี้ส่วนใหญ่ก็ยังต้องการเนื้อที่เป็นบริเวณกว้างมาก ๆ ในการนำมาใช้ประโยชน์ 

 .

ประเด็นที่จะต้องมีการพิจารณาตามมาก็คือ พื้นที่ในโลกเรามีจำกัด มีการจัดแบ่งการใช้ประโยชน์หลายประการด้วยกันคือ เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์เพื่อการทำเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ) พื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ

 .

ซึ่งหากพิจารณาถึงปัจจัยเหล่านี้แล้ว พื้นที่ที่จะสามารถจัดสรรไปใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงานหมุนเวียนนี้ก็น่าจะมีขีดจำกัด และเมื่อเทียบกับปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดของโลกทั้งในปัจจุบันและการขยายตัวในอนาคตแล้ว พลังงานที่ต้องใช้พื้นที่มากดังกล่าวนี้ก็น่าจะสามารถเข้ามามีบทบาทในระดับหนึ่งเท่านั้น

 .

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำนั้น ถึงแม้อาจจะมีความเหมาะสมในเชิงเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ต้องเสียพื้นที่ (โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเขา) เป็นบริเวณกว้างเพื่อกักเก็บน้ำฝนเป็นพลังงานศักย์สำหรับผลิตไฟฟ้า แต่ก็ยังมีปัญหาการยอมรับของสังคมที่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่ป่าไม้ และวงจรชีวิตของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ สำหรับประโยชน์ต่อสังคมนั้น นอกเหนือจากจะผลิตไฟฟ้านั้นก็ยังมีอื่น ๆ อีกมากมายเช่นกัน เช่น ช่วยกันบรรเทาภัยน้ำท่วม ช่วยระบบชลประทาน

 .

การผลิตไฟฟ้าโดยตรงจากแสงอาทิตย์โดยใช้เทคโนโลยีของโซลาเซลล์ (Solar Cell หรือ Photovoltaic Cell) หรือเซลล์แสงอาทิตย์ เทคโนโลยีนี้ในทางปฏิบัติแล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่าสามารถนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้จริง ๆ

 .

แต่เนื่องจากซิลิกอนซึ่งเป็นวัสดุหลักที่เป็นที่นิยมนำมาทำเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ ในปัจจุบันถึงแม้จะสกัดมาจากทรายเป็นส่วนใหญ่แต่ด้วยการที่มันต้องการความบริสุทธิ์ของซิลิกอนสูงมาก ๆ ประกอบกับต้องมีขบวนการอีกหลายขั้นตอน และต้องการวัสดุประกอบอีกจำนวนหนึ่งกว่าจะได้แผงโซลาเซลล์ จึงทำให้พลังงานที่ใช้และและราคาต้นทุนในการผลิตสูงมาก นอกจากนี้เมื่อเวลาไม่มีแสอาทิตย์          

 .

เช่น เมฆบัง ฝนตก หรือบางคืนก็ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้จึงอาจต้องพึ่งพาหรือใช้ผสมผสานกับอุปกรณ์หรือระบบอื่นๆ อีกด้วย เช่น ใช้แบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าที่ผลิตออกมาโดยตรงก็เป็นกระแสตรงขณะที่อุกรณ์ไฟฟ้าที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเกือบทั้งหมดต้องการกระแสสลับ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้ต้นทุนในการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานชนิดนี้สูงขึ้นไปอีก

 .

พื้นที่ที่จะใช้รับแสงอาทิตย์นี้ก็กินบริเวณกว้างพอสมควร (ด้วยปริมาณการใช้ไฟฟ้าประมาณหนึ่งแสนล้านหน่วยต่อปีของประเทศไทยในปัจจุบันต้องการพื้นที่ในการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ราว ๆ กับขนาดของพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งจังหวัด) แต่หากเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานน้ำแล้ว ก็ยังมีข้อได้เปรียบตรงที่ว่าเซลล์แสงอาทิตย์นี้สามารถเลือกใช้พื้นที่ที่เราต้องการติดตั้งได้ง่ายกว่า ตราบใดที่ที่นั้นยังมีแสงอาทิตย์ส่องไปทั่วถึง

.

เช่น พื้นที่บนหลังคาบ้านพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นเป็นต้น สำหรับเรื่องที่จะทำให้ต้นทุนของเทคโนโลยีนี้ถูกลงในอนาคตนั้นก็ขอฝากความหวังไว้กับนักวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาและค้นหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย 

.

เซลล์แสงอาทิตย์ก็มีคุณสมบัติพิเศษที่เป็นข้อได้เปรียบตรงที่มีรูปร่างลักษณะเป็นแผ่นราบไม่มีอุปกรณ์ที่เคลื่อนไหวและเสียงรบกวนเหมือนเครื่องยนต์ทั่วไป สามารถออกแบบให้พับเก็บได้ วางตรงไหนก็ได้ที่มีแสงอาทิตย์ และการกำหนดกำลังการผลิตก็ทำได้ง่าย เพียงแต่กำหนดขนาดพื้นที่ของเซลล์เท่านั้น เราจึงสามารถจะมีโรงไฟฟ้าขนาดจิ๋วได้โดยเพียงแต่ใช้เนื้อที่เซลล์เพียงนิดเดียวเพื่อรับแสงก็สามารถใช้งานได้แล้ว  

.

ดังที่ปรากฏบนเครื่องคิดเลขและนาฬิกา ในบริเวณชนบทและที่ทุรกันดารหรือเกาะที่อยู่ห่างไกลและสายส่งไฟฟ้า ยังเข้าไปไม่ถึงนั้นก็อาจจะมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ในการใช้ประโยชน์จากเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อการผลิตไฟฟ้าได้เหมือนกันและการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุดในปัจจุบันก็คือ การผลิตไฟฟ้าใช้บนยานอวกาศและดาวเทียม

.

ในบทความนี้คงพอที่จะสร้างความเข้าใจกันอีกครั้งในแหล่งพลังงาน ที่เป็นขุมทรัพย์หลักของความเป็นอยู่ของมนุษย์ ที่สามารถนำมาเป็นกระแสไฟฟ้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ภาคธุรกิจ และการขนส่ง ที่ทุกวันเข้าก็จะเหลือน้อยเต็มที และมีโอกาสที่จะหมดไปจากโลกนี้ มีแต่เพียงจิตสำนึกของการเห็นคุณค่าการใช้พลังงานเท่านั้นที่จะชะลอให้พลังงานที่เหลือน้อยเต็มที่

 .

สามารถอยู่เหลือพอที่เราจะสนองความต้องการของสังคมมนุษย์มีการพัฒนามาเป็นลำดับนับวันก็จะซับซ้อนมากขึ้น มีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและสังคมอย่างเหนียวแน่น โลกเรานี้มีประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะมีผลให้มีปริมาณการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ใช้อย่างประหยัดเท่านั้นครับ ที่จะทำให้ขุมทรัพย์นี้มีใช้ต่อไปนาน ๆ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด