เนื้อหาวันที่ : 2007-01-10 13:26:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 21823 views

ABCM : เครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจยุคใหม่

ด้วยสภาวะความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรทั้งหลายไม่สามารถคาดการณ์หรือวางแผนระยะยาวอย่างแม่นยำ เพื่อความอยู่รอดและรักษาความสามารถทางการแข่งขันจึงต้องดำเนินกลยุทธ์อย่างยืดหยุ่นและหาโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องสามารถสนองตอบต่อความเปลี่ยนแปลง

ด้วยสภาวะความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรทั้งหลายไม่สามารถคาดการณ์หรือวางแผนระยะยาวอย่างแม่นยำ เพื่อความอยู่รอดและรักษาความสามารถทางการแข่งขันจึงต้องดำเนินกลยุทธ์อย่างยืดหยุ่นและหาโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องสามารถสนองตอบต่อความเปลี่ยนแปลง อันได้แก่ ความต้องการลูกค้า การขจัดกิจกรรมที่สูญเปล่า และการเทียบเคียงกับผู้เป็นเลิศ (Best Practices) รวมทั้งการมุ่งหาแนวทางการพัฒนาการจัดการองค์กร จวบจนกระทั่งในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ก็ได้มีการพัฒนาระบบการบริหารบัญชีต้นทุนยุคใหม่ ที่เรียกว่า ต้นทุนตามฐานกิจกรรม (Activity-Based Costing : ABC) ที่มุ่งแนวทางการจัดสรรค่าใช้จ่าย และการบริหารตามกิจกรรม (Activity Based-Management : ABM) หรือมักเรียกว่าการบริหารต้นทุนกิจกรรม ที่เป็นเสมือนกุญแจให้กับผู้บริหารในการสนับสนุนการจัดการค่าใช้จ่ายและผลกำไร รวมทั้งเป็นข้อมูลสำหรับการระบุกิจกรรมที่สูญเปล่าและตัดสินใจต่อการดำเนินการอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งทั้งแนวทาง ABC และ ABM ก็ยังคงได้รับความแพร่หลายสำหรับองค์กรชั้นนำจวบจนปัจจุบัน  

.

สำหรับในภาคธุรกิจเอกชนในปัจจุบันหลายแห่งได้นำแนวทาง การบริหารต้นทุนตามฐานกิจกรรม (Activity-Based Cost Mananagement) หรือ ABCM เพื่อมุ่งการควบคุมค่าใช้จ่ายและปรับปรุงสมรรถนะกระบวนการทางธุรกิจ    ส่วนองค์กรภาครัฐก็ได้นำแนวทางดังกล่าวสำหรับการจัดการลงทุนภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อเป็นการให้บริการต่อประชาชนผู้เสียภาษี (Taxpayer) ดังนั้นแนวทางของ ABCM จึงมีบทบาทต่อการประเมิน การออกแบบและการปฏิบัติการ ด้วยการจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ระบบโดยรวม ดังนั้นประสิทธิผลของ ABCM จึงให้ความสำคัญต่อสารสนเทศของกลยุทธ์ธุรกิจ (Strategic Business) ที่องค์กรต้องเผชิญและสนับสนุนสารสนเทศต่อผู้ตัดสินใจ ซึ่งการออกแบบ ABCM อย่างมีประสิทธิผลจะเริ่มตั้งแต่ช่วงการวางแผนเริ่มต้น (Initial Planning)

.

ถ้าหากองค์กรตัดสินใจต่อการปรับเปลี่ยนจากระบบการบริหารต้นทุนแบบเดิม (Traditional Cost System) ด้วยแนวทางตามฐานกิจกรรม (Activity Based Approach) ซึ่งมีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้

.

1.การระบุกิจกรรมหลักที่สำคัญ (Major Activities)

2.การระบุค่าใช้จ่ายในแต่ละกิจกรรมและกำหนดให้กับศูนย์ต้นทุนหรือกลุ่มต้นทุน (Cost Pools) ของแต่ละกิจกรรม

3.กำหนดตัวผลักดันต้นทุน (Cost  Driver) สำหรับแต่ละกิจกรรมหลัก

4.กำหนดต้นทุนกิจกรรมเข้าสู่ผลิตภัณฑ์หรือบริการ

.
สำหรับแนวทางสามขั้นตอนแรก จะเป็นกระบวนการของการบริหารต้นทุนตามฐานกิจกรรม หรือ  ABCM แต่องค์กรที่มุ่งการปรับสู่แนวทางของ ABC อย่างเต็มรูปแบบจะเพิ่มขั้นตอนที่ 4 ที่มีการกำหนดต้นทุนกิจกรรมสู่ผลิตภัณฑ์หรือบริการ
.
นิยามความแตกต่างระหว่าง ABC และ ABM  

ตามความหมายที่แท้จริงของ ABC และ ABM มักมีผู้สับสนและเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นทาง CAM -I(Consortium Advanced Manufacturing-International) จึงได้ให้คำจัดกัดความว่าของคำทั้งสองว่า

.

Activity-Based Costing คือ วิธีการวัดต้นทุนและสมรรถนะของกิจกรรม ทรัพยากร และสิ่งที่ก่อให้เกิดต้นทุน (Cost Objects) ในรูปของสินค้าหรือบริการ โดยเฉพาะทรัพยากรจะถูกกำหนดสู่กิจกรรมตามฐานอัตราการใช้ (Consumption Rate) และกิจกรรมที่ถูกกำหนดเข้าสู่ Cost Objects ตามฐานกิจกรรมที่ใช้ ดังนั้น ABC จึงเป็นความสัมพันธ์ของตัวผลักดันต้นทุนกับกิจกรรม

.

รูปที่ 1 แสดงองค์ประกอบ ABC ในมุมมองการจัดสรรต้นทุน

.

    ตารางแสดงตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ต้องการวัดต้นทุน (Cost Objects) กับ ตัวผลักดันต้นทุน (Cost Drivers)

.

.

จากรูป ทรัพยากร (Resource) คือ องค์ประกอบทางเศรษฐกิจ (Economic Elements) ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจกรรมและเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดต้นทุน ซึ่งรวมถึง ค่าแรงงานทางตรง วัสดุ ค่าแรงทางอ้อม ค่าใช้จ่ายผู้รับเหมาช่วง (Subcontractors) และสิ่งอำนวยความสะดวก ทรัพยากรจะไหลเข้าสู่กิจกรรมและรวมเข้าสู่ศูนย์กิจกรรม (Activity Center) โดยมีตัวผลักดันทรัพยากรที่ถูกจัดสรรสู่กิจกรรมและแต่ละกลุ่มต้นทุนกิจกรรม (Activity Cost Pool) จะถูกติดตามเข้าสู่ Cost Objects ในรูปของสินค้าหรือบริการด้วยตัวผลักกิจกรรม ที่เป็นการกำหนดทรัพยากรจากกิจกรรมสู่ Cost Objects

.

.

Activity-Based Management ที่เป็นแนวทางมุ่งการจัดการต่อกิจกรรม เพื่อการปรับปรุงมูลค่าที่ส่งมอบสู่ลูกค้าและสร้างผลกำไรให้กับผู้ส่งมอบ การดำเนิน ABM จึงรวมถึงการวิเคราะห์ตัวผลักดันต้นทุน การวิเคราะห์กิจกรรม (Activity Analysis) และการวัดผลการปฏิบัติการ (Performance Measurement) โดยที่ ABC จะถูกใช้สำหรับการตอบคำถามว่า  "What do things cost ?" ขณะที่ ABM จะแสดงในมุมมองของกระบวนการ(Process View) ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดต้นทุน ด้วยการใช้การใช้ข้อมูล ABC และ ABM ทำให้สามารถสนับสนุนการปรับปรุงการใช้ทรัพยากร เพื่อเพิ่มมูลค่าที่ถูกสร้างสำหรับลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders)  ซึ่ง ABM จะถูกใช้สำหรับการติดตามค่าโสหุ้ยและต้นทุนทางอ้อมที่เกิดจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการ

.
แนวทางสำหรับการปรับปรุงธุรกิจ

ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ต้องการปรับปรุงธุรกิจ โดยมุ่งสร้างมูลค่าและผลตอบแทนทางการเงินสูงสุด ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาเครื่องมือสำหรับการปรับปรุงธุรกิจ ที่มุ่งทรัพยากร 4M (Man Machine Money Material) เพื่อสร้างผลิตผลที่ต้องการ และมุ่งขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ดังนั้นวิธีการสำหรับการปรับปรุงธุรกิจที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ได้แสดงตาราง ดังนี้

.

.

แม้ว่า ABC/ABM จะเป็นคันเร่งต่อวิธีการทั้งห้า แต่จะมีผลต่อสองวิธีหลังมากที่สุด ถ้าพิจารณาถึงการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ABC/ABM จะมีส่วนกระตุ้นให้แรงงานมีความต้องการเปลี่ยนแปลงจากแนวทางแบบเดิม ถ้าพิจารณาถึงการปรับปรุงกระบวนการ ABC/ABM จะมีบทบาทต่อการมุ่งขจัดความสูญเปล่า ความผิดพลาดและเนื้องาน (Work Content) ที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ABC/ABM เป็นเพียงเครื่องมือ แต่ไม่ใช่คำตอบ (Solution) ที่มีส่วนช่วยในการค้นหาอาการของปัญหาและทดแทนความบกพร่องที่นำมาสู่ความบิดเบือนการจัดสรรต้นทุน ซึ่ง ABC/ABM มุ่งวัตถุประสงค์หลัก คือ

.

1.การขจัดความสูญเปล่า

2.สร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่มุ่งการไหลกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อปรับปรุงกระบวนการธุรกิจและเกิดผลิตผลดี (Yield) มากขึ้น

3.ค้นหาสาเหตุหลักของปัญหาและทำการแก้ไข (จำไว้ว่า : ต้นทุน คือ อาการ)

4.ขจัดความบิดเบือนที่เกิดจากการตั้งสมมติฐานที่ผิดพลาดและการจัดสรรต้นทุนที่ไม่เหมาะสม

.
แนวคิดและมุมมองสำหรับ  ABCM

เมื่อได้รับทราบถึงนิยามและความแตกต่างระหว่าง ABC และ ABM แล้ว ก็จะมาถึงแนวคิดหลักของ ABCM ที่มุ่งการเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า (Customer Added Value) โดยพิจารณาถึงลำดับและการเชื่อมโยงของกิจกรรมที่ถูกออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า ด้วยปรัชญาที่ว่า ต้นทุนขับกิจกรรม (Activity Drive Cost) นั่นหมายถึงว่า หากกิจกรรมถูกจัดการอย่างมีประสิทธิผลแล้ว ก็จะสามารถจัดการและควบคุมต้นทุน

.

สำหรับระบบบัญชีต้นทุนทั่วไป ได้มีแนวทางมุ่งการควบคุมงบประมาณสำหรับฝ่ายงาน (Departmental Budget) ซึ่งแตกต่างจาก ABCM ที่ไม่เพียงแค่มุ่งที่ฝ่ายงาน แต่จะมุ่งที่กิจกรรม ดังนั้น ABCM จึงวิเคราะห์ต้นทุนด้วยกิจกรรมและให้สารสนเทศต่อผู้บริหารในการพิจารณาถึงต้นทุนที่เกิดขึ้น (Cost Driver) และผลิตผลหรือผลลัพธ์ (Output) ในแต่ละกิจกรรม ดังเช่นฝ่ายงานบริการลูกค้าและฝ่ายการเงินที่มีหน้าที่ในการควบคุมเครดิต โดยที่ทั้งสองฝ่ายงานจะเกี่ยวข้องกับลูกค้าโดยตรง    ซึ่งระบบ ABCM จะมุ่งกิจกรรมประมวลผลลูกค้า (Customer Processing Activities) ที่ครอบคลุมทุกกิจกรรมของลูกค้า และรวมถึงค่าใช้จ่ายของฝ่ายการเงิน

.

การจัดประเภทต้นทุนด้วยกิจกรรม ควรที่จะมีการระบุและตรวจสอบ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดต้นทุนสูง ซึ่งหลายองค์กรได้จัดประเภทกิจกรรมออกเป็น กิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มและกิจกรรมที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-Added & Non-Value-Added Activity) ตามแนวคิดของมูลค่าเพิ่ม คือ กระบวนการที่ลูกค้าได้รับมูลค่าเพิ่มจากสินค้าหรือบริการ โดยลูกค้าอาจไม่มีความพึงพอใจหากได้รับรถยนต์ที่ไม่มีการพ่นสีหรือตบแต่ง ดังนั้นกิจกรรมการพ่นสีในโรงงานจึงเป็นกิจกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า   ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อได้รับสิ่งที่ตนเองพอใจ  

.

สำหรับการระบุกิจกรรมที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม จะเป็นสารสนเทศสำคัญต่อการลดต้นทุนที่ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อคุณค่าที่ส่งมอบต่อลูกค้า ดังนั้นกระบวนการของการจัดการต้นทุนและการตอบสนองความคาดหวังลูกค้า (Customer Expectations) จึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดที่เรียกว่า การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain Analysis) ตามงานเขียนของ Michael Porter(1985) เกี่ยวกับห่วงโซ่คุณค่าที่มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นลำดับและก่อให้เกิดการสร้างคุณค่า (Value Creating) ที่เริ่มจากผู้ส่งมอบวัตถุดิบจวบจนกระทั่งส่งมอบมูลค่าให้กับลูกค้า โดยมีองค์ประกอบของกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

.

- การวิจัยและพัฒนา

- การตลาด

- การออกแบบผลิตภัณฑ์/บริการ

- การผลิต หรือ การให้บริการ

- การจัดส่งและให้บริการลูกค้า

.

ในแต่ละกิจกรรมที่กล่าวไว้ข้างบนนี้ จะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังเช่น ความเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายบัญชีและการตลาด หรือ อาจกล่าวได้ว่า วัตถุประสงค์หลักของการตลาดเพื่อค้นหาและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า ที่กลายเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่คุณค่าและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่จะทำการออกแบบหรือการผลิต ดังที่แสดงไว้ข้างบน ดังนั้นการร่วมประสานขององค์ประกอบต่าง ๆ ในห่วงโซ่จึงสนับสนุนความพึงพอใจลูกค้าและประสิทธิภาพการจัดการต้นทุน ที่ส่งผลต่อการยกระดับความได้เปรียบการแข่งขัน (Competitive Advantage) โดยที่การบริหารต้นทุนจะเป็นฐานสนับสนุนองค์กรที่มุ่งเน้นกลยุทธ์(Strategic Focus)

.

สำหรับวิธีการหนึ่งของการเริ่มทำการปรับปรุงห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นที่แพร่หลาย นั่นคือ การเทียบเคียงหรือ Benchmarking ด้วยการพิจารณามาตรฐานหรือตัวอย่างของผู้เป็นเลิศ (Best Practice) ซึ่งในหลายองค์กรได้ทำการเปรียบเทียบการดำเนินการของตนเองเทียบกับองค์กรที่เป็นเลิศ และเรียนรู้จุดแข็งจากองค์กรที่ถูกเปรียบเทียบ เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการดำเนินงาน

.
แนวทางการใช้ประโยชน์ ABM

ตามที่กล่าวนำข้างต้นถึง ABM ที่เป็นการดำเนินการจัดการอย่างทั่วทั้งองค์กร โดยเริ่มจากสารสนเทศที่ถูกต้องจาก ABC องค์กรที่ดำเนินตามแนวทางของ ABM ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่า ABM จะสนับสนุนต่อการตัดสินใจ การปรับปรุงการดำเนินงาน และการสร้างรายได้จากสินทรัพย์ที่ได้ลงทุนไว้ โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าด้วยต้นทุนที่ลดลง ที่เป็นผลจากการวิเคราะห์ในด้านต่าง ๆ ดังเช่น

.

- การวิเคราะห์คุณลักษณะ (Attribute Analysis)ที่ทำการจำแนกประเภทและรวมต้นทุนและข้อมูลสมรรถนะเป็นกลุ่มที่สามารถจัดการและควบคุมได้  คุณลักษณะข้อมูลจะช่วยให้องค์กรดำเนินการวิเคราะห์ในหลายมิติที่แตกต่างของปัญหาการจัดการ

.

- การวิเคราะห์กลยุทธ์ (Strategic Analysis)  ที่ทำการค้นหาแนวทางต่าง ๆ ที่สามารถสร้างและรักษาสภาวะความได้เปรียบจากการแข่งขันในตลาด โดยมุ่งวัตถุประสงค์ระยะยาว (Long-Term Objectives) ที่วิเคราะห์หาผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในอนาคตและการปรับปรุงผลกำไรด้วยการสร้างความกระจ่างของ Cost Objects ทั้งหลาย ดังเช่น ลูกค้า ผลิตภัณฑ์ และช่องทางจัดจำหน่าย การวิเคราะห์กลยุทธ์จึงมุ่งเน้นโอกาสในอนาคตและสิ่งที่จะเผชิญ ด้วยการใช้การวัดผลทั้งทางกายภาพและทางการเงิน เพื่อค้นหาผลกระทบของทางเลือกกลยุทธ์ ดังเช่น การดำเนินกิจกรรม ABM ที่ Hewlett-Packard ซึ่งทำให้ได้รับสารสนเทศทางกลยุทธ์และการปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบ ที่รวมถึง ต้นทุนส่วนลูกค้า (Customer Segment Costing) ต้นทุนผลิตภัณฑ์ และการระบุเป้าหมายสำหรับโอกาสการปรับปรุง

.

- การเทียบเคียง (Benchmarking) คือวิธีการที่ระบุกิจกรรมที่เป็นมาตรฐาน โดยถูกใช้เพื่อสนับสนุนผู้บริหารในการระบุกระบวนการหรือเทคนิคเพื่อเพิ่มประสิทธิผลหรือประสิทธิภาพของกิจกรรม  ซึ่ง ABM  จะสนับสนุนการดำเนินการทำ Benchmark เทียบกับผู้เป็นเลิศ ทั้งในกระบวนการภายในอุตสาหกรรม และคู่แข่งขัน  ดังเช่น  กรณีของ AT&T ที่ได้ประยุกต์แนวทาง ABM กับธุรกิจและสนับสนุนการทำ Benchmark ในกรณีดังกล่าว ต้นทุนต่อหน่วยจะถูกใช้เป็นมาตรวัดสำหรับการทำ Benchmark ภายในกลุ่มทำงาน รวมทั้งการใช้เปรียบเทียบกับหน่วยอื่น โดยที่กลุ่มทำงานจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกลุ่ม ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลต้นทุนที่มีความน่าเชื่อถือทำให้ผู้บริหารสามารถมองเห็นข้อแตกต่างทางต้นทุนและสามารถวางแผนการปรับปรุงกระบวนการอย่างมีประสิทธิผล  เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดต้นทุน

.

 - การวิเคราะห์การปฏิบัติการ (Operation Analysis) โดยทำการค้นหาเพื่อระบุ วัดผล และปรับปรุงสมรรถนะของกระบวนการหลักและการดำเนินงานภายในองค์กร ซึ่ง ABM ถูกใช้เพื่อการวิเคราะห์แบบ What-If การบริหารโครงการ และการวัดผลการดำเนินงาน ที่รวมถึงการวิเคราะห์ข้อจำกัด (Constraint Analysis) และต้นทุนตามฐานกระบวนการ (Process-Based Costing)

.

- การวิเคราะห์ความสามารถทำกำไร (Profitability Analysis) คือ ประเด็นหลักสำหรับองค์กร โดยมี ABM เป็นเครื่องมือสนับสนุนองค์กรในการวิเคราะห์ต้นทุนและผลกำไรจากผลิตภัณฑ์และกระบวนการทั้งก่อนและหลังทำการปรับปรุง รวมทั้งสนับสนุนการวิเคราะห์ก่อนออกผลิตภัณฑ์ (Prelaunch) และการปรับปรุงความสามารถการทำกำไร

.

ที่เป็นหัวใจของการจัดการสมัยใหม่ โดยมุ่งระบุสาเหตุของความผันแปร ความสูญเปล่าและความไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งการปรับปรุงกระบวนการได้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กน้อยและการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน โดยมีแนวทางและเครื่องมืออย่าง แบบจำลองกระบวนการธุรกิจ (Business Process Modeling) การยกเครื่องกระบวนการธุรกิจ (Business Process Reengineering) กิจกรรมทางคุณภาพ การไคเซ็น สำหรับองค์กรชั้นนำ อย่าง Pennzoil ได้ใช้ ABM เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการระบุต้นทุนกระบวนการและสนับสนุนต่อกระบวนการยกเครื่อง เพื่อทำการปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุน ด้วยการวิเคราะห์การปฏิบัติการ ซึ่ง ABM ได้ให้ข้อมูลแก่ Pennzoil ในการเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนของการสำรวจและการผลิต รวมทั้งเป็นสารสนเทศต่อองค์กรในการพัฒนาแนวทางเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินด้วยการใช้ทรัพยากรที่น้อยลง 

.

- การปรับปรุงกระบวนการ (Process Improvement) ที่เป็นหัวใจของการจัดการสมัยใหม่ โดยมุ่งระบุสาเหตุของความผันแปร ความสูญเปล่าและความไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งการปรับปรุงกระบวนการได้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กน้อยและการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน โดยมีแนวทางและเครื่องมืออย่าง แบบจำลองกระบวนการธุรกิจ (Business Process Modeling) การยกเครื่องกระบวนการธุรกิจ (Business Process Reengineering) กิจกรรมทางคุณภาพ การไคเซ็น สำหรับองค์กรชั้นนำ อย่าง Pennzoil ได้ใช้ ABM เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการระบุต้นทุนกระบวนการและสนับสนุนต่อกระบวนการยกเครื่อง เพื่อทำการปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุน ด้วยการวิเคราะห์การปฏิบัติการ ซึ่ง ABM ได้ให้ข้อมูลแก่ Pennzoil ในการเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนของการสำรวจและการผลิต รวมทั้งเป็นสารสนเทศต่อองค์กรในการพัฒนาแนวทางเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินด้วยการใช้ทรัพยากรที่น้อยลง 

.
ตัวอย่างการใช้ ABM สำหรับธุรกิจค้าปลีก

ABM เป็นกลยุทธ์เชิงรุก (Proactive Strategic) และการตัดสินใจในการปฏิบัติการ (Operation Decision) บนฐานสารสนเทศกิจกรรมและประเมินมูลค่าเพิ่มของเนื้องานในกระบวนการธุรกิจ สำหรับธุรกิจค้าปลีก ABM จะช่วยให้ผู้ค้าปลีกสามารถประเมินค่าใช้จ่ายการออกใบเสร็จ ค่าใช้จ่ายของการจัดวางสินค้า ค่าใช้จ่ายคลังสินค้า และค่าโสหุ้ยการจัดเก็บสินค้า ซึ่งสารสนเทศเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถ

.

1.การจัดทำเกณฑ์สมรรถนะ (Performance Criteria) สำหรับผู้ส่งมอบ

2.ให้คำแนะนำผู้ส่งมอบในแนวทางเลือกของแหล่งจัดหาหรือการส่งมอบสินค้า

3.ลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้า

4.สะท้อนค่าใช้จ่ายทางธุรกรรม (Transaction Cost) อย่างถูกต้อง สำหรับการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า

5.แนะนำผู้ส่งมอบในการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ

.

การวัดผลที่ไม่ใช่ตัวเลข (Nonfinancial Performance Measure)

นับแต่ทศวรรษ1980 เป็นต้นมา ผู้บริหารองค์กรชั้นนำได้ตระหนักถึงความจริงที่ว่าการติดตามวัดผลและควบคุมทางการเงินเพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอต่อการรักษาตำแหน่งการแข่งขันในสภาพตลาดแห่งพลวัติ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต่อการเชื่อมโยงสารสนเทศทั้งในด้าน Financial และ Nonfinancial จนกระทั่งทศวรรษที่ 1990 ก็ได้เกิดเครื่องมือสำหรับการวัดผล ที่เรียกว่า Balance Scorecard โดย Kaplan และ Norton ที่มุ่งการวัดผลทั้งสี่มุมมอง เพื่อให้ผู้บริหารสามารถเข้าใจและทบทวนผลการดำเนินการได้อย่างชัดเจน โดยแต่ละมุมมองจะมีการเชื่อมโยงกันและมีการแสดงถึงเป้าหมายและมาตรวัด ซึ่งมุมมองทั้งสี่นี้ ได้แก่

.

- มุมมองด้านการเงิน

- มุมมองกระบวนการภายใน

- มุมมองนวัตกรรมและการเรียนรู้

- มุมมองด้านลูกค้า

.

.

สำหรับวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ ( Mission ) และกลยุทธ์ (Strategy) จะเป็นศูนย์กลางแนวคิด (Central Concept) ของ BSC ซึ่งจะแสดงถึงวัตถุประสงค์ทางกลยุทธ์ (Strategic Objectives) ขององค์กร โดยหลักการทั่วไปมาตรวัดผลภายใน BSC ควรสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักขององค์กรและควรเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการกลยุทธ์ (Strategic Management System) 

.

รูปที่ 4 แสดงแบบจำลองต้นทุนตามฐานกิจกรรมกับการวัดผลด้วย  Balance Scorecard

.

ในส่วนของ ABC จะให้สารสนเทศสำคัญที่ไม่ได้แสดงด้วยตัวเลข (Nonfinancial) ของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการ   ทรัพยากรและตัวขับกิจกรรม (Activity Drivers) ภายในแบบจำลองของ ABC จะสะท้อนความเป็นจริงถึงปริมาณของเวลาหรือทรัพยากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งถูกใช้ในการดำเนินการในกิจกรรมเฉพาะ (Specific Activity) รวมทั้งชี้วัดถึงปริมาณของกำลังการผลิตหรือทรัพยากรที่ไม่ได้ถูกใช้ (Unutilized) สนับสนุนกิจกรรมภายในองค์กร ส่วนสารสนเทศแบบ Nonfinancial ที่เป็นมุมมองทางกระบวนการ (Process View) โดยแสดงตามแนวนอน ขณะที่ ABC จะแสดงถึงแนวทางการจัดสรรต้นทุน (Cost Assignment) ที่แสดงตามแนวตั้ง 

..

ส่วน ABM ได้รับสารสนเทศทั้งแบบ Nonfinancial และสารสนเทศทางต้นทุนจาก ABC การวัดผลทางการเงินแต่เพียงลำพังคงไม่สามารถให้สารสนเทศได้อย่างพอเพียงต่อการจัดการธุรกิจ ซึ่งการวัดผลแบบทั่วไป (Traditional Measure) จะมุ่งการจัดสรรและวัดผลโดยตรง ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องจากต้นทุนทางอ้อมและไม่สามารถติดตามวัดผลกระทบของกิจกรรมทางการจัดการ (Management Actions) หรือการตัดสินใจทางด้านต้นทุนโดยรวม ซึ่งการวัดผลทาง Nonfinancial จึงมักไม่สัมพันธ์หรือเชื่อมโยงทางต้นทุนหรือรายงานทางการเงินโดยตรง ดังนั้นการวัดผลประกอบการทาง Nonfinancial จึงไม่สามารถแปลงผลลัพธ์ในรูปของความสามารถทำกำไร (Profitability) หรือ ที่เกี่ยวข้องทางการเงิน (Bottom Line) และมักมีผลขัดแย้งกับการวัดผลประกอบการทางการเงินในระยะสั้น (Short Run) ซึ่งการวัดผลประกอบการทางการเงินก็ไม่ได้คำนึงถึงการเชื่อมโยงกับการวัดผลทาง Nonfinancial ที่เกี่ยวข้องกับ คุณภาพ หรือรอบเวลา (Cycle Time) ดังนั้น ABC จึงแก้ปัญหาทางการวัดผลทาง Nonfinancial ด้วยการเชื่อมโยงการวัดผลประกอบการกับต้นทุนกิจกรรม (Activity Cost) ที่สามารถระบุตัวขับทางต้นทุน (Cost Driver) ซึ่งผลลัพธ์ของการเชื่อมโยงสามารถแสดงด้วยสารสนเทศต้นทุนและผลกระทบต่อต้นทุนกระบวนการหรือความสามารถทำกำไร ดังนั้นการปรับปรุงสมรรถนะดำเนินงานสามารถแสดงด้วยการปรับแก้ต้นทุนกิจกรรมที่ลดการใช้ทรัพยากรองค์กรที่น้อยลง

.
เอกสารอ้างอิง

1.Michiharu Sakurai, Integrated Cost Management, Productivity Press Inc., 1996

2.Yakeo  Yoshikawa, Contemporary Cost Management, Chapman & Hall,1993

3.Don R. Hansen & Maryanne  M.Mowen, Management  Accounting, South- Western College Publishing, 1997.

4.Steve Player, Roberto  Lacerda,  Arthur Andersen ' s Global Lessons in Activity-Based Management, John Wileys & Sons, Inc.,1999.

5.James A. Brimson, John Antos, Activity-Based Management, John Wiley & Sons, Inc.,1994.

6.Hardy, John W. and Hubbard, Dee E, ABC Revisiting the basics, CMA Magazine, November 1992.

7.Drucker, Peter  F., The Information Executives Truly Need, Harvard Business Review, January-February 1995.

8. Warren , Reeve, Fess, Financial & Managerial  Accounting , South-Western, 7th ed., 2002

9.โกศล  ดีศีลธรรม, ABC : กลยุทธ์การจัดสรรต้นทุนเพื่อตัดสินใจ, Productivity  World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, มกราคม-กุมภาพันธ์, 2546.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด