เนื้อหาวันที่ : 2009-12-29 15:42:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 17885 views

การจัดการพลังงานในอุตสาหกรรมฟอกย้อม

บทความนี้จะเน้นนำเสนอการจัดการพลังงานใน อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมฟอกย้อม เป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำที่เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า อุตสาหกรรมนี้ใช้แรงงานและเทคโนโลยีด้านเคมีสิ่งทอสูง มีโรงงานกว่า 400 แห่ง จ้างแรงงานกว่า 50,000 คน เป็นโรงงานขนาดใหญ่จำนวน 100 แห่ง (หรือ 25%ของโรงงานฟอกย้อม) มีระบบการผลิตอัตโนมัติ ส่วนอีก 300 แห่งเป็นโรงงานขนาดกลางและเล็ก ใช้เครื่องจักรเก่า

วัชระ มั่งวิทิตกุล
realyouenergy@yahoo.com

.

อุตสาหกรรมสิ่งทอมีโครงสร้างอุตสาหกรรมค่อนข้างใหญ่ดังแสดงในรูปที่ 1 ดังนั้นเพื่อให้การจัดการพลังงานสามารถทำได้อย่างเป็นระบบเราจึงต้องแยกเจาะลงไปในแต่ละกลุ่ม

.

รูปที่ 1 โครงสร้างอุตสาหกรรมสิ่งทอ

.

สำหรับบทความนี้จะเน้นการจัดการพลังงานใน อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมฟอกย้อม เป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำที่เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า อุตสาหกรรมนี้ใช้แรงงานและเทคโนโลยีด้านเคมีสิ่งทอสูง มีโรงงานกว่า 400 แห่ง จ้างแรงงานกว่า 50,000 คน เป็นโรงงานขนาดใหญ่จำนวน 100 แห่ง (หรือ 25%ของโรงงานฟอกย้อม) มีระบบการผลิตอัตโนมัติ ส่วนอีก 300 แห่งเป็นโรงงานขนาดกลางและเล็ก ใช้เครื่องจักรเก่า

.
กระบวนการผลิต

อุตสาหกรรมฟอกย้อม ทำหน้าที่เปลี่ยนเส้นด้าย/ผ้าดิบ ใช้กระบวนการทางเคมีที่ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของเส้นใย โดยการใช้สารเคมีและสีย้อม โดยใช้น้ำเป็นตัวกลาง ได้ผลิตภัณฑ์เส้นด้ายย้อมสี/ผ้าผืนย้อมสี เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ขายตรงหรือไปยังอุตสาหกรรมตัดเย็บต่อไป
กระบวนการฟอกย้อม แบ่งเป็นขั้นตอนหลักดังนี้

.
1. การเตรียมผ้า/เส้นด้าย (Pretreatment)
2. การย้อม (Dyeing) 
3. การพิมพ์ (Printing) 
4. การตกแต่งสำเร็จ (Finishing)  
.
1. การเตรียมผ้า/เส้นด้าย
คือการทำความสะอาดผ้า ให้สะอาด ขาว สวยงาม ดูดซึมสี และสารเคมี

1.1  การเผาขน (Singeing) เป็นการกำจัดขนบนผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าที่ได้จากเส้นใยสั้น กำจัดให้ผิวเรียบโดยใช้ความร้อน เมื่อนำไปย้อม ทำให้สีติดผ้าสม่ำเสมอ ดูดซึม แผ่กระจาย คมชัด การเผาขนมีหลายวิธี หัวเผาเปลวไฟจากแก๊ส เผาด้วยไฟฟ้า เผาด้วยแผ่นโลหะร้อน แต่วิธีแรกนิยมใช้มากที่สุดโดยการผ่านผ้า/เส้นด้าย เปลวไฟในอัตราเร็วสูงพอที่ผ้าไม่ติดไฟ

.

หลังจากนั้นส่งผ้าผ่านอ่างน้ำ เพื่อลดอุณหภูมิของผ้า แต่ถ้าผ้าทอจากเส้นใยสังเคราะห์หรือเส้นใยผสมจะไม่นิยมเผาขน เนื่องจากจะหลอมเป็นเม็ดพลาสติกบนผืนผ้า มักใช้วิธีใช้เครื่องตัดขนมากกว่า

.

1.2 การลอกแป้ง (Desizing) เป็นการกำจัดสารลงแป้ง (Sizing) ที่มีอยู่ในเส้นด้ายยืนเพื่อให้ผ้าดูดซึมสี สารเคมีได้สม่ำเสมอ จากกระบวนการทอผ้าจะต้องมีการลงแป้งเส้นด้ายยืนก่อน แป้งที่เคลือบจะกระทบต่อการดูดซึมน้ำ สี และสารเคมีของเส้นใย การลอกแป้งมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับสารที่ใช้ลงแป้ง ถ้าใช้สารสังเคราะห์ลงแป้งจะล้างออกได้ง่ายกว่าแป้งธรรมชาติ เนื่องจากแป้งธรรมชาติไม่ละลายน้ำ ถ้าสารสังเคราะห์ใช้น้ำสบู่อุณหภูมิ 90 C

.

แต่ถ้าเป็นแป้งธรรมชาติใช้น้ำยาเคมีเช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2), โซเดียมเปอร์ซัลเฟต (Na2S2O8), โปตัสเซียมเปอร์ซัลเฟต (K2S2O8) หรือเอนไซน์ (สลายตัวของแป้งเป็นน้ำตาลกลูโคส ไม่ทำลายเนื้อผ้า) อุณหภูมิ 80 C ทำให้ผ้าขาวกว่าวิธีอื่น เพราะเป็นการฟอกขาวไปในตัว จากนั้นผ่านอ่างล้างน้ำทำความสะอาดลอกแป้งออกจากผ้า

.

1.3 ทำความสะอาด/ขจัดสิ่งเจือปนอื่น (Souring) ขจัดไขมัน สารปนเปื้อน พวกเกลือ อินทรีย์/อนินทรีย์ เพื่อให้ดูดซึมน้ำ ติดสี สารเคมี อย่างสม่ำเสมอ เส้นใยฝ้ายจะติดมาจากธรรมชาติประมาณ 10% ของน้ำหนัก

.

สารเคมีที่ใช้กำจัดไขมันและสิ่งสกปรกได้แก่ โซดาไฟ (โซเดียมไฮดรอกไซด์ NaOH) เพื่อทำปฏิกิริยากับไขมันให้เป็นสบู่ที่ละลายน้ำได้ หรือใช้น้ำสบู่ (Detergents) โดยใช้ความร้อนในการทำให้เกิดปฏิกิริยา ไขมันต่าง ๆ ถูกกำจัดยกเว้น ขี้ผึ้งเทียม จึงต้องเติมน้ำสบู่ พร้อมต้มผ้าที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 85 C

.

1.4  การฟอกขาว (Bleaching) เป็นการกำจัดสารมีสีที่ติดมาตามธรรมชาติ ให้ผ้าขาว โดยใช้สารเคมี สารออกซิไดซ์ ได้แก่ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) โซเดียมไฮโปคลอไรด์ (NaOCl) และโซเดียมคลอไรด์ (NaClO2) ร่วมกับความร้อนอุณหภูมิ 90-100 C โดยผ่านเข้าตู้อบไอน้ำ หลังจากนั้นผ่านอ่างน้ำล้างผ้า

.

1.5 การชุบมัน (Mercerization) เป็นการทำ Alkali Treatment เพื่อให้ผ้าดูดซึมสี เพิ่มความมันเงา สัมผัสอ่อนนุ่ม สีคงทน นิยมใช้สารละลายด่าง (โซเดียมไฮดรอไซด์ NaOH) เป็นสารชุบมัน หลังจากผ่านอ่างโซดาไฟแล้ว ผ่านลูกกลิ้ง บีบผ้าให้แห้ง ผ่านอ่างน้ำล้างโซดาไฟด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 90 C อาจจะมีถึง 8-10 อ่าง

.

ทุกอ่างเป็นน้ำร้อนยกเว้นอ่างสุดท้ายเป็นน้ำเย็น แต่การล้างน้ำอย่างเดียวโซดาไฟ อาจจะหลุดออกยากต้องใช้กรดช่วย (กรดน้ำส้ม กรดกำมะถัน) ในอ่างที่ 3-4 ถ้าค่า PH อ่างสุดท้ายควรเป็นกลาง ถ้าเป็นกรดมากไป การย้อมสีจะไม่สม่ำเสมอ ทำให้ต้องย้อมซ้ำ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

.

1.6 การเซ็ดด้วยความร้อน (Heat Setting) เนื่องจากผ้าผ่านกระบวนการต่าง ๆ จะหดตัว ต้องทำการยืดผ้า ด้วยการให้ความร้อนแห้ง 180-210  C 15-30 นาที

.
2. การย้อม (Dyeing)  

การย้อมมีหลายวิธี วิธีที่ 1 ย้อมแบบแช่หรือดูดซึม (Immersion or Exhaustion) เป็นการย้อมแบบทีละหม้อ เหมาะกับผลิตไม่มาก เครื่องจิกเกอร์ เครื่อง Winch เครื่อง Jet  วิธีที่ 2 ย้อมแบบต่อเนื่อง ย้อมทีละมาก ๆ ผ้าจะเคลื่อนที่ผ่านอุปกรณ์อย่างต่อเนื่องจากจุ่มอัดสี (Padding) ผนึกสี (Heat Fixation) ซักล้าง (Washing) เร็วกว่าวิธีแรก ผลผลิตสูงกว่าแต่ถ้าผลิตน้อยจะไม่คุ้ม และหากเครื่องขัดข้องจะกระทบต่อการผลิตมากกว่า  

.

วิธีที่ 3 ย้อมแบบกึ่งต่อเนื่อง (Cold-pad-batch)  คล้ายกับการย้อมแบบต่อเนื่องแต่มีการทำการหมัก (Batching) ผ้าที่ผ่านการจุ่มอัด จะนำไปหมุนเหวี่ยงด้วยแรงหนีศูนย์กลาง เพื่อผนึกสีให้สม่ำเสมอและหมักไว้ที่อุณหภูมิห้อง 2-24 ชั่วโมง จากนั้นนำไปซักล้างและอบแห้ง เหมาะกับสีที่มีความไวสูง

.
3.  การพิมพ์ (Printing) 

เป็นการทำให้สี หรือสารเคมี ติดบนผ้า/เส้นด้าย ทำให้ลวดลายบนผ้า ตามแบบแม่พิมพ์ การพิมพ์มี 3 วิธี วิธีที่ 1 พิมพ์โดยตรง นิยมใช้กันมาก โดยการทำให้แป้งพิมพ์ ซึ่งประกอบด้วยสารสี หรือพิกเมนท์ ติดบนพื้นผิวตามลวดลายและนำผ้าไปผนึกสี (Fixation) ผ้าที่จะพิมพ์จะเป็นผ้าขาวหรือผ้าย้อมสีอ่อน      

.

วิธี 2 พิมพ์แบบรีซิส เป็นการเติมสารป้องกันการติดสีลงไปบนผ้า เมื่อพิมพ์ผ้าแล้วนำไปย้อมทำสีพื้น สีจะไม่ติด บริเวณที่มีการพิมพ์ลวดลาย วิธีที่ 3 พิมพ์แบบดิสชาร์จ เป็นการพิมพ์ผ้าที่ผ่านการย้อมสีพื้นแล้ว จะมีการเติมสารดิสชาร์จ เพื่อทำลายโครงสร้างสีพื้น

.

3.1 การอบผนึกสี อบผ้าอาจจะใช้ลมร้อน แสงอินฟราเรด จากนั้นก็ผนึกสี โดยใช้การอบไอน้ำ พ่นน้ำ กระทบอากาศร้อน เพื่อไล่ความชื้น อุณหภูมิ 102-105  C หรือใช้ลมแห้ง อุณหภูมิสูงกว่าไอน้ำ ทำให้ลดเวลาการผนึกสี หรือใช้ผนึกด้วยลูกกลิ้งลมร้อน ไอน้ำผ่านผิวลูกกลิ้ง สัมผัสกับผ้าโดยตรง

.

3.2 ซักล้าง เพื่อกำจัดสีและสารเคมีส่วนเกิน แบบใช้สบู่ หรือ แบบrinsing โดยใช้น้ำ การซักล้าง มีหลายอ่าง อ่างต้น ๆ จะสกปรกมีปริมาณสีในน้ำล้างสูง อ่างที่ 1 น้ำเย็น 20-30 C อ่างที่ 2 น้ำอุ่น 40-50 C อ่างที่ 3 น้ำร้อน 80-90 C อ่างที่ 4 อ่างซักใช้สารเคมีอุณหภูมิ 90-95 C อ่างที่ 5 ล้างน้ำร้อน 80-90 C อ่างที่ 6 ล้างน้ำร้อน 80-90 C อ่างที่ 7 ล้างน้ำเย็น 20-30 C

.

4. การอบแห้ง (Drying) เมื่อผ่านกระบวนการล้างสีแล้ว ก่อนไปตกแต่ง ต้องทำให้แห้ง โดยใช้ลมร้อนหรือใช้ลูกกลิ้งร้อน
5. การตกแต่ง (Finishing) เป็นกระบวนการให้คุณภาพผ้า/เส้นด้ายตามต้องการของลูกค้า ถ้าต้องการให้นิ่มก็ใส่ Softener สารตกแต่ง สารหล่อลื่นเพื่อให้เกิดความมันเงา ใช้วิธีกล (ขัดมัน ตัดขน เผาขน) ใช้วิธีเคมีสารเรซิน ทำให้ผ้านุ่มลื่น ทนยับ ทนไฟ ทนสารเคมี เป็นต้น

.

การใช้พลังงาน

ต้นทุนพลังงานมีสัดส่วนประมาณ 12% ของต้นทุนการผลิต ส่วนต้นทุนอื่น ๆ ประกอบด้วยค่าวัตถุดิบ (สี สารเคมี) 45% ค่าแรง 15% น้ำ 3% ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร 10% ค่าใช้จ่ายในการขายและอื่น ๆ 15% อุตสาหกรรมฟอกย้อมมีการแข่งขันสูงในเรื่องต้นทุนเนื่องจากมีสินค้าราคาถูกจาก จีน อินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย  

.

และการส่งออกยังมีกฎระเบียบทางการค้า มีการตรวจหาสารจากประเทศยุโรป Azo dye โครงสร้างทางเคมีของสีย้อม ถ้าแตกตัวจะให้ Amine (ซึ่งเป็นพิษ) คุณภาพผ้าซักแล้วต้องไม่หด สีไม่ตก หากผ้าโดนแดดแล้วสีไม่จาง เป็นต้น จึงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพให้แข่งขันได้ขณะเดียวกันต้องต้นทุนต่ำด้วย

.

ความร้อนเป็นพลังงานหลักที่ใช้ในโรงงานฟอกย้อม คิดเป็น 85-90% ของการใช้พลังงานทั้งหมดส่วนไฟฟ้ามีสัดส่วน 10-15% พลังงานความร้อนได้แก่ ไอน้ำจากหม้อไอน้ำในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต น้ำมันร้อนจากหม้อน้ำมันร้อนในการอบแห้ง แก๊สในการเผาขน ส่วนพลังงานไฟฟ้าใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับให้ผ้าเคลื่อนที่ ปั๊มน้ำหมุนเวียนผ่านเครื่องจักร มอเตอร์พัดลมดูดอากาศ เครื่องอบลมร้อน มอเตอร์เครื่องพิมพ์ผ้า เป็นต้น

.

รูปที่ 2 การไหลของพลังงาน

.
การจัดการพลังงาน
จากรูปการไหลของพลังงานจะเห็นว่า กระบวนการที่มีการใช้พลังงานมากได้แก่ การย้อม การอบแห้ง และการซักล้าง
• การนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้ การซักล้าง และการย้อม

อุณหภูมิน้ำในกระบวนการซักล้าง และย้อมอยู่ระหว่าง 60-100 C โดยใช้ไอน้ำมาผสมกับน้ำในถังโดยตรง หรือนำไอน้ำมาให้ความร้อนโดยการแลกเปลี่ยนผ่านขดท่อ น้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเหล่านี้โดยส่วนใหญ่จะถูกปล่อยลงสู่บ่อบำบัดโดยรวมกับน้ำทิ้งที่เป็นน้ำเย็น มีเพียงบางโรงงานที่นำความร้อนทิ้งกลับมาใช้       

.

เนื่องจากรวมน้ำร้อนกับน้ำเย็นเข้าด้วยกัน ดังนั้นอุณหภูมิน้ำทิ้งสุดท้ายก่อนลงสู่บ่อบำบัดไม่เกิน 50 ๐C การนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้จึงไม่คุ้ม แต่ถ้าโรงงานทำการแยกน้ำทิ้งอุณหภูมิสูง-ต่ำ โดยน้ำทิ้งอุณหภูมิสูงผ่านอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน ถ่ายเทความร้อนให้น้ำดีที่ป้อนเข้ากระบวนการผลิต 

.

เช่นจากรูปที่ 3 อัตราการไหลของน้ำป้อนเฉลี่ย 8.15 ล.บ เมตร/ชั่วโมง อุณหภูมิน้ำป้อนเพิ่มขึ้นจาก 40 C เป็น 57.7 C หลังปรับปรุง จะประหยัดได้

.

mc (T2 – T1)    = 8.15 x 4.2 x 17.7   
                      = 606/ (80% x 42.72 MJ/liter) ประสิทธิภาพหม้อไอน้ำ 80% 
                      = 18 ลิตร/ชั่วโมง
                      = 1.5 ล้านบาท/ปี (10 บาท/ลิตร 24 ชั่วโมง/วัน 360 วัน/ปี)
                      ลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท คืนทุนไม่เกิน 1 ปี

.

รูปที่ 3 การนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้

.

• เทคโนโลยีสะอาด (Cleaner Technology) 

เนื่องจากอุตสาหกรรมฟอกย้อม มีการใช้น้ำและสารเคมีมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีกฎระเบียบควบคุม โรงงานจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำบัด ดังนั้นหากโรงงานสามารถลดการใช้ มีการใช้ซ้ำ และ/หรือ รีไซเคิล เพื่อลดการใช้สีย้อม วิธีการหนึ่งที่น่าพิจารณาคือ การใช้ คอมพิวเตอร์เทียบสี (Computer Color Matching) ซึ่งมีใช้กันเพียง 50% ของโรงงานที่มีอยู่ทั้งหมด

.

ระบบนี้ช่วยเทียบสีก่อนย้อมเพื่อจะได้สีไม่เพี้ยนเป็นการลดการย้อมซ้ำ เนื่องจากการย้อมซ้ำเป็นการสิ้นเปลืองน้ำ สารเคมี และพลังงาน ต้นทุนในการติดตั้ง Computer Color Matching ราคา 2-3 ล้านบาท จะช่วยลดปัญหาการย้อมซ้ำจากกรณีสีเพี้ยนจากตัวอย่าง บางรายสามารถประหยัดได้กว่า 10 ล้านบาท/ปี หากสามารถลดอัตราการย้อมซ้ำจาก 18% เป็น 1% 

.

เอกสารอ้างอิง

• การอนุรักษ์พลังงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เอกสารประกอบการอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์พลังงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ  ศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย 
• กระบวนการและเทคนิค การลดค่าใช้จ่ายพลังงาน สำหรับอาคารและโรงงาน วัชระ มั่งวิทิตกุล บริษัท ซีเอ็ด บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด 2544

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด