ตามปกติอีพอกซี่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการซ่อมแซมและการบำรุงรักษาเพลา การเลือกใช้งานจึงควรศึกษาเปรียบเทียบความคุ้มค่ากับการซ่อมแซมกับวิธีอื่น ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรวมถึงระยะเวลาในการซ่อมบำรุงเพื่อให้ได้วิธีการที่เหมาะสม และคุ้มค่ามากที่สุดในการซ่อมแซม
อีพอกซี่ (Epoxy) เป็นพลาสติกเหลวมีความหนืดสูง เมื่อนำมาใช้งานจะแข็งตัวจากการนำอีพอกซี่มาผสมกับสารเร่งปฏิกิริยาการแข็งตัว (hardener) ก่อนนำไปใช้ กล่าวคือ อีพอกซี่ส่วนแรกทำจาก Bis-Epi Resin ส่วนหลังเป็นส่วนที่ทำให้อีพอกซี่แข็งตัว (Hardener) นิยมทำจากอามีน (Amine) และอาไมด์ (Amide) ซึ่งอีพอกซี่ที่ใช้อามีนเป็นสารทำให้แข็งจะทนความเย็นได้ดีถึงลบ 200 องศาเซลเซียส ส่วนอีพอกซี่ที่ผสมกับอาไมด์จะมีคุณสมบัติทนความร้อนถึงอุณหภูมิ 70-160 องศาเซลเซียส และทนเบส (Alkalies) ได้ดี |
. |
ปัจจุบันถังเก็บสารเคมีนิยมใช้ถังที่ทำจากอีพอกซี่หล่อมากขึ้น จากคุณสมบัติทนทานต่อสารเคมีที่เป็นกรดและเบสได้ดี นอกจากนี้อีพอกซี่ยังนิยมนำมาใช้งานภายนอกอาคารมากยิ่งขึ้น เพราะมีการผสมสารเสริม (Additive) ทำให้ทนทานต่อรังสียูวีจึงไม่แตกร้าวง่าย ด้วยคุณสมบัติที่ดีของอีพอกซี่แต่มีราคาสูงกว่าสารเคลือบชนิดอื่น ๆ จึงมีการนำสารไซลีน (Xylene) มาผสม เพื่อให้มีราคาถูกลง แต่จะมีอัตราการหดตัว (Shrinkage) สูง ทำให้สูญเสียคุณสมบัติที่ต้องการใช้งานไป |
. |
อีพอกซี่ส่วนใหญ่ผลิตจากต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน อเมริกา เยอรมนี ฯลฯ มีการใช้งานหลายรูปแบบ เช่น เคลือบทับอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทำกาว ทำสีอุดหรือโป๊ว (Putty) ทำเพชรพลอยปลอม หล่อไฟเบอร์กลาส หล่อชิ้นงานต้นแบบ เคลือบผิว (Decorative or Protective Coating) เช่น พื้นไม้ โลหะ และปูน ซึ่งอีพอกซี่แต่ละชนิดมีคุณสมบัติเด่นแตกต่างกัน เช่น ทนต่อแรงกดและการขัดถู เป็นตัวต้านทานไฟฟ้าที่ดี ใสไม่มีสีเป็นมันวาว อ่อนตัวได้ (Flexible) ไม่เป็นพิษ (Non-toxic) ความหนืดต่ำ อายุการทำงานยาว (Pot-Lift) ยึดเกาะดีไม่ไหลย้อย (Non-sag) เซตตัวที่อุณหภูมิห้องหรือกระทบกับรังสียูวี อัตราการหดตัว การนำความร้อน การทนทานต่อสารเคมี สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกำหนดว่าเราควรเลือกใช้อีพอกซี่ชนิดใดให้เหมาะสมกับงาน |
. |
ส่วนประกอบสำคัญในการใช้งานมี 2 ส่วน ดังนี้ |
1. อีพอกซี่ผสมโลหะแบ่งชนิดตามโลหะที่ผสม ได้แก่ เหล็ก ทองเหลือง สแตนเลส อะลูมิเนียม และไทเทเนียม แต่ถ้าเป็นชนิดอื่น ๆ แบ่งตามคุณสมบัติการใช้งาน เช่น อีพอกซี่ทนอุณหภูมิสูง อีพอกซี่ทนการกัดกร่อน อีพอกซี่เคลือบคอนกรีต เป็นต้น 2. สารเร่งปฏิกิริยาการแข็งตัว (hardener) เป็นสารที่ทำให้อีพอกซี่แข็งตัวใช้งานร่วมกับอีพอกซี่ |
. |
การใช้งานทำได้ดังนี้ ผสมอีพอกซี่และสารเร่งปฏิกิริยาการแข็งตัว (hardener) ตามอัตราส่วนที่ผู้ผลิตกำหนด โดยทั่วไปการแข็งตัวของอีพอกซี่จะใช้เวลาเซตตัวประมาณ 4 ชั่วโมง และแข็งตัวพร้อมใช้งานได้ในเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง อาจมากน้อยกว่านี้ตามชนิดของอีพอกซี่และผู้ผลิต |
. |
หลักในการเคลือบงานด้วยอีพอกซี่ |
1. ชิ้นงานต้องสะอาดไม่มีคราบฝุ่น น้ำมัน สี และสิ่งสกปรกต่าง ๆ 2. บริเวณผิวงานที่ซ่อมแซมต้องมีพื้นผิวที่หยาบเพื่อการยึดเกาะที่ดีของอีพอกซี่ 3. งานที่ซ่อมแซมต้องแห้งสนิทเนื่องจากความชื้นมีผลต่อการยึดเกาะกับพื้นผิว (มีบางชนิดใช้สำหรับการซ่อมแซมพื้นผิวเปียก) |
. |
อีพอกซี่กับการซ่อมแซมเพลา |
ท่านเชื่อหรือไม่ว่าอีพอกซี่ที่เรารู้จักกันนั้นสามารถนำไปใช้ในการซ่อมแซมเพลาได้ รวมถึงตกแต่งผิวด้วยเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น การกลึง, กัด, ไส, ตะไบ ฯลฯ โดยมีค่าความแข็งแรงสูงใกล้เคียงกับเหล็ก คือมีความแข็งอยู่ที่ประมาณ 85 (SHORE DASTM D2240) มากน้อยกว่านี้ตามผู้ผลิตและชนิดของอีพอกซี่ นอกจากนั้นยังมีส่วนผสมโลหะหลายชนิดให้เลือกใช้กับงาน เช่น เหล็ก ทองเหลือง สแตนเลส อะลูมิเนียม และไทเทเนียม (สำหรับงานที่ต้องการความแข็งแรงสูง) และยังมีการใช้อีพอกซี่ในการซ่อมแซมแบบอื่น ๆ อีกมากมาย |
. |
. |
ลักษณะของอีพอกซี่ผสมโลหะ |
อีพอกซี่ผสมโลหะเมื่อยังไม่ได้ผสมกับสารเร่งปฏิกิริยาการแข็งตัว จะมีลักษณะคล้ายครีมข้นมีความหนืดสูง เมื่อผสมกับสารเร่งปฏิกิริยาการแข็งตัวและเซตตัวแล้วมีความแข็งทนการเสียดสีได้ดีจากผิวที่ลื่นและทนความร้อนสูง เหมาะกับการซ่อมแซมเพลาที่สึกหรอจากการเสียดสี ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนหรือซ่อมแซมเพลา นอกจากนี้อีพอกซี่ผสมโลหะสามารถประยุกต์ใช้กับงานซ่อมแซมประเภทต่าง ๆ ได้อีก เช่น เป็นตัวเชื่อมประสานงานที่มีรอยแยกหรือแตก สร้างโลหะใหม่ทดแทนส่วนที่ขาดหายไป เป็นต้น |
. |
ทำไมต้องใช้อีพอกซี่ในการซ่อมแซมเพลา |
ข้อดีของการซ่อมแซมเพลาโดยการใช้อีพอกซี่ |
. |
1. การซ่อมแซมเพลาโดยการใช้อีพอกซี่ ไม่เกิดความร้อนที่ทำให้โลหะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง จึงไม่มีผลกระทบที่ทำให้เกิดการบิดโก่งตัวหรือแตก 2. อีพอกซี่สามารถใช้งานได้ในการซ่อมแซมเหล็กหล่อ เนื่องจากคาร์บอนไม่มีผลต่อการจับยึดโลหะของอีพอกซี่ ทำให้ใช้งานได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างโลหะว่าเป็นรูปแบบใด 3. ไม่เกิดตามดในการซ่อมแซมเพลา ทำให้ลดเวลาในการตกแต่งเมื่อเปรียบเทียบกับการเชื่อมพอก ซึ่งอีพอกซี่สามารถทำการซ่อมแซมเพลาได้รวดเร็วกว่า 4. มีขั้นตอนการทำที่ง่ายไม่ยุ่งยาก ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในการซ่อมแซม จึงทำให้ลดต้นทุนค่าแรงในการซ่อมแซมเพลา |
. |
ข้อเสียของการซ่อมแซมเพลาโดยใช้อีพอกซี่ |
1. เหมาะกับงานที่มีการสั่นสะเทือนเล็กน้อย ไม่ควรใช้กับงานที่มีการกระทบกระแทกโดยตรง เพราะมีคุณสมบัติยืดหยุ่นต่ำไม่ทนต่อการกระแทก 2. อีพอกซี่มีอายุการเก็บรักษาไม่นาน (ทั่วไปไม่เกิน 1 ปี) และการเก็บรักษาควรเก็บไว้ในที่เย็นหากเก็บไว้ในที่อุณหภูมิสูงจะทำให้อายุการเก็บรักษาน้อยลง |
. |
ขั้นตอนในการซ่อมแซมเพลาด้วยอีพอกซี่ |
1. การเตรียมพื้นผิวของเพลา มีขั้นตอนดังนี้ |
1.1 กลึงเตรียมพื้นผิวเพลาในส่วนที่ต้องการซ่อมแซม โดยการกลึงเกลียวเพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการยึดเกาะตัวของอีพอกซี่ ซึ่งขนาดของเกลียวมีอัตราส่วนตามผู้ผลิตกำหนด 1.2 ทำความสะอาดเพลาขจัดคราบน้ำมัน จารบีรวมถึงสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกจากเพลา เนื่องจากการทำงานของเพลาต้องสัมผัสกับน้ำมัน และจาระบี จึงมักมีการฝังตัวของน้ำมันในเพลา สามารถขจัดออกโดยใช้ความร้อนเพื่อให้น้ำมันระเหยออกจากชิ้นงาน |
. |
2. วิธีการเคลือบอีพอกซี่ |
2.1 เมื่อกลึงเกลียวเรียบร้อยแล้วผสมอีพอกซี่ตามอัตราส่วนที่กำหนด 2.2 ใช้ความเร็วเครื่องกลึงรอบต่ำจากนั้นเคลือบอีพอกซี่ในส่วนที่ทำเกลียว ตกแต่งผิวให้เรียบร้อย เดินเครื่องทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีเพื่อให้อีพอกซี่เซตตัว (ควรพอกให้หนาเผื่อไว้เล็กน้อยกันการหดตัว) 2.3 ปล่อยทิ้งไว้ตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนดเพื่อการแข็งตัว เมื่ออีพอกซี่แข็งตัวแล้วนำมากลึงตกแต่งปาดผิวให้เรียบร้อยก่อนนำไปใช้งาน |
. |
. |
ข้อควรระวังในการเคลือบอีพอกซี่ |
1. การผสมอีพอกซี่ต้องผสมตามอัตราส่วนที่ถูกต้องและผสมทีละน้อยตามการใช้งาน เพราะอีพอกซี่มีเวลาในการทำงานก่อนที่จะเริ่มเซตตัวประมาณ 30 นาที โดยการแข็งตัวมีความสัมพันธ์กับเวลา, อุณหภูมิ, ส่วนผสม ดังนั้นหากต้องการเพิ่มเวลาการเคลือบสามารถทำได้ด้วยการทำให้อีพอกซี่มีอุณหภูมิต่ำลง ช่วยลดเวลาการแข็งตัวเพิ่มเวลาในการทำงานมากขึ้น 2. การเคลือบต้องระวังในเรื่องฟองอากาศที่เกิดในการผสมอีพอกซี่ และสิ่งสกปรกที่อาจปนเปื้อนได้ขณะปฏิบัติงาน |
. |
สรุป หลักในการทำงานของอีพอกซี่ผสมโลหะ คือ การใช้อีพอกซี่ผสมโลหะเข้าไปแทนที่โลหะที่สึกหรอจากการทำงานอันมีสาเหตุของการสึกหรอมาจากการเสียดสีระหว่างเพลากับชิ้นส่วนอื่น ๆ เพื่อสามารถนำเพลาที่สึกหรอกลับมาใช้งานได้ตามปกติอีพอกซี่จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการซ่อมแซมและการบำรุงรักษาเพลา ดังนั้นก่อนเลือกใช้งานจึงควรศึกษาเปรียบเทียบความคุ้มค่ากับการซ่อมแซมกับวิธีอื่น ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรวมถึงระยะเวลาในการซ่อมบำรุงเพื่อให้ได้วิธีการที่เหมาะสม และคุ้มค่ามากที่สุดในการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องใช้ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ |
. |
การเคลือบตัวเรือนปั๊มและท่อด้วยอีพอกซี่ |
. |
การใช้อีพอกซี่เคลือบตัวเรือนปั๊มและท่อเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการบำรุงรักษาป้องกัน รวมถึงซ่อมแซม เพื่อให้ตัวเรือนปั๊มและท่อมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พร้อมกับอายุการใช้งานที่ยาวนาน เป็นที่รู้ทั่วกันว่าการสึกหรอของตัวเรือนปั๊มและท่อเกิดจาก การเสียดสี ความร้อน และการกัดกร่อนที่เกิดจากสารเคมี ทำให้เกิดปัญหาตามมาอันได้แก่ การสั่นสะเทือน ใบพัดสึก ตัวเรือนสึกกร่อน ประสิทธิภาพตก แรงดันต่ำ ดังนั้นการเคลือบอีพอกซี่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยปกป้องพร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาได้จริงหรือไม่นั้นต้องพิจารนา |
. |
ทำไมต้องเคลือบตัวเรือนปั๊มและท่อด้วยอีพอกซี่ |
จากที่กล่าวในขั้นต้นสาเหตุการสึกหรอของตัวเรือนปั๊มและท่อ เกิดจากการเสียดสีและการกัดกร่อนจากสารเคมี การลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดการสึกหรอของตัวเรือนปั๊มและท่อนั้นทำได้ยาก เพราะมีการใช้งานอยู่เป็นประจำ และเป็นสิ่งที่อยู่ภายในไม่สามารถตรวจเช็คซ่อมบำรุงได้บ่อย ๆ แต่เราสามารถป้องกันให้เกิดความเสียหายน้อยลงได้โดยการเคลือบอีพอกซี่ ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้ |
. |
1. การเคลือบอีพอกซี่เป็นการปกป้องพื้นผิวของตัวเรือนปั๊มและท่อโดยตรงจากการเสียดสีกับวัสดุส่งผ่าน ที่เป็นต้นเหตุของการสึกหรอภายในผนังของปั๊มและท่อ จึงไม่เกิดการสูญเสียผิวโลหะของตัวเรือนปั๊มและท่อ ทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น และยืดระยะเวลาในการซ่อมบำรุง 2. อีพอกซี่สำหรับเคลือบตัวเรือนปั๊มและท่อมีลักษณะผิวคล้ายเซรามิค มีความลื่นทำให้ลดการเสียดสี ช่วยให้อัตราการไหลดีขึ้น จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปั๊ม 3. มีคุณสมบัติในการต้านทานการกัดกร่อนของสารเคมี (ขึ้นอยู่กับชนิดและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต) |
. |
การเคลือบอีพอกซี่ไม่จำเป็นต้องเคลือบกับตัวเรือนปั๊มและท่อที่ใช้งานแล้วเพียงอย่างเดียว สามารถใช้กับตัวเรือนปั๊มและท่อใหม่ได้เช่นกัน เพื่อป้องกันก่อนเกิดความเสียหายจากการเสียดสีในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพของปั๊ม ดูได้จากตารางเปรียบเทียบการทำงานก่อนและหลังการเคลือบ ดังนี้ |
. |
. |
การใช้งานและลักษณะของอีพอกซี่ชนิดเคลือบตัวเรือนปั๊มและท่อ |
อีพอกซี่มีการใช้งานเหมือนกันทุกผลิตภัณฑ์ คือมีส่วนผสมสองส่วนด้วยกันได้แก่ ส่วนที่เป็นอีพอกซี่ และส่วนของสารเร่งปฏิกิริยาการแข็งตัว (hardener) สามารถใช้ได้โดยนำอีพอกซี่ผสมกับสารเร่งปฏิกิริยาการแข็งตัวตามอัตราส่วนที่ผู้ผลิตกำหนด อีพอกซี่ชนิดนี้มีลักษณะเหลวมีความหนืดเล็กน้อยคล้ายสี สามารถใช้แปรงทาเคลือบได้สะดวกรวดเร็ว เมื่อแข็งตัวมีผิวลื่นและมีความแข็งสูง บางผู้ผลิตอาจผลิตหลายสีสำหรับการใช้งานโดยทาชั้นละสี เพื่อสะดวกในการตรวจสอบเมื่อถึงเวลาซ่อมบำรุง |
. |
. |
ขั้นตอนการเคลือบและซ่อมแซมตัวเรือนปั๊มและท่อ |
1. การเตรียมพื้นผิวของตัวเรือนปั๊มและท่อจะแตกต่างกับเพลา คือควรเตรียมพื้นผิวด้วยการพ่นทราย เนื่องจากการตกแต่งผิวทำได้ยาก การพ่นทรายจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมในการเตรียมพื้นผิว ลักษณะการเตรียมพื้นผิวมีหลักการ คือ ชิ้นงานต้องสะอาด แห้ง และมีพื้นผิวที่หยาบ เมื่อนำงานพ่นทรายเสร็จเรียบร้อยปราศจากสนิมและสิ่งสกปรกแล้ว ควรทำความสะอาดเพิ่มเติมด้วยน้ำยาทำความสะอาด เพราะสิ่งสกปรกที่หลงเหลืออยู่เป็นสาเหตุของการเกิดสนิม และทำให้อีพอกซี่เกิดการหลุดร่อน |
. |
2. การเคลือบตัวเรือนปั๊มและท่อสามารถใช้แปรงทาได้มีขั้นตอนการทำงานไม่ยุ่งยาก ดังนี้ 2.1 ผสมอีพอกซี่ตามอัตราส่วนที่ผู้ผลิตกำหนด (ควรผสมให้ถูกต้องเพราะมีผลต่อระยะเวลาการแข็งตัว) 2.2 ใช้แปลงทาเคลือบบริเวณพื้นผิวที่ต้องการ เมื่ออีพอกซี่แข็งตัวตามเวลาจึงนำไปใช้งาน ปกติในการทาเคลือบอีพอกซี่แต่ละครั้งจะมีความหนาประมาณ 3 มม. แต่ถ้าต้องการความหนาที่มากกว่านี้ทำได้โดยทำการทาทับทีละชั้น โดยเมื่อทาชั้นแรกเสร็จแล้วให้ทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง เพื่อให้อีพอกซี่เซตตัว จากนั้นจึงทาอีพอกซี่ทับลงไปเพื่อเพิ่มความหนา |
. |
ข้อจำกัดการใช้งานสำหรับการเคลือบปั๊มและท่อ |
1. วัสดุที่ผ่านในตัวเรือนปั๊มและท่อควรมีขนาดไม่เกินที่ผู้ผลิตกำหนด (โดยมากไม่เกิน 0.3 มม.) 2. ไม่รองรับการกระแทก แต่ทนต่อการเสียดสีและการขูดขีดได้ดี 3. มีอายุในการเก็บรักษา ดังนั้นจึงควรตรวจเช็คสภาพของอีพอกซี่ก่อนการใช้งานว่ามีสภาพที่ดีพร้อมใช้งานได้หรือไม่ 4. การเคลือบต้องทำให้เสร็จในครั้งเดียวและต่อเนื่อง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนอีพอกซี่แห้งแล้วจึงทาซ้ำ จะทำให้การเคลือบแบ่งออกเป็นชั้น ๆ (layer) และลดประสิทธิภาพการยึดเกาะ |
. |
ข้อควรระวังในการเคลือบและซ่อมแซมปั๊ม |
1. เวลาในการทำงาน เนื่องจากอีพอกซี่จะมีเวลาในการทำงานประมาณ 30 นาที ฉะนั้นในการทำงานควรที่ผสมอีพอกซี่ทีละน้อยตามการใช้งาน เพราะในระหว่างการเคลือบซ่อมแซมตัวเรือนปั๊มและท่อ อีพอกซี่จะแข็งตัวอย่างช้า ๆ จนกระทั่งไม่สามารถทำงานได้ หากผสมอีพอกซี่มากเกินไปอาจทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามกำหนด เนื่องจากอีพอกซี่แข็งตัวก่อนที่จะเคลือบเสร็จสมบูรณ์ 2. ในการเคลอบต้องระวังสิ่งปนเปื้อนที่อาจเกิดได้จากการทำงาน เช่น ขนแปรง ฝุ่นผง เป็นต้น เนื่องจากสิ่งสกปรกเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ลดความแข็งแรงในการเคลือบตัวเรือนปั๊มและท่อ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการหลุดร่อนได้ในการเคลือบ และซ่อมแซมตัวเรือนปั๊มและท่อ 3. ไม่ควรขยับหรือเคลื่อนย้ายปั๊มหรือชิ้นงานในขณะที่ยังไม่เซตตัวดี (เวลาเซตตัวอยู่ที่ประมาณ 4 ชั่วโมง) เพราะอาจเกิดการเคลื่อนตัวของอีพอกซี่ที่ทาเคลือบ ทำให้เกิดเป็นรอยภายในตัวเรือนปั๊มและท่อ ซึ่งมีผลต่อการไหลภายใน 4. การเกิดฟองอากาศของอีพอกซี่ซึ่งฟองอากาศเหล่านี้ทำให้เกิดช่องว่าง และเป็นต้นเหตุของการหลุดร่อนจากการไหลผ่านของวัสดุภายในตัวเรือนปั๊มและท่อ |
. |
สรุป |
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การเคลือบอีพอกซี่สามารถปกป้องพื้นผิวของตัวเรือนปั๊มและท่อรวมถึงใบพัดได้ (ในกรณีที่ใบพัดมีความเสียหายเล็กน้อย) ช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการสึกหรอ และยืดอายุการใช้งานของปั๊มและท่อ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันและซ่อมแซม เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบความคุ้มค่ากับวิธีการแบบอื่น ๆ |
. |
. |
เอกสารอ้างอิง |
- อีพอกซี่และยูรีเทนประสิทธิภาพสูง, บริษัท แปซิฟิค ทูล แอนด์ อิเล็คทริคคอล จำกัด - เอกสารประกอบการใช้งานอีพอกซี่, บริษัท โกลบอล อินโนเวทีฟ เทคโนโลยี จำกัด - www.loctite.com |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด