เนื้อหาวันที่ : 2009-12-23 16:35:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8467 views

ผลกระทบที่มีต่อมอเตอร์ เมื่อแรงดันไฟฟ้าและความถี่เกิดการเปลี่ยนแปลง

อุตสาหกรรมไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่นั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีการใช้มอเตอร์ในส่วนของกระบวนการผลิตเสมอ ในกรณีที่บริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ท่านทำงานตั้งอยู่ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมก็คงจะได้รับผลกระทบน้อยในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของแรงดันไฟฟ้าและความถี่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้ออกแบบระบบไฟฟ้าสำหรับรองรับภาคอุตสาหกรรมไว้แล้วซึ่งจะมีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าพื้นที่ทั่วไป แต่ถ้าในกรณีโรงงานที่ท่านทำงานอยู่ไม่ได้ตั้งในเขตอุตสาหกรรมล่ะ

ยุทธพงศ์ ทัพผดุง

.

.

อุตสาหกรรมไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่นั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีการใช้มอเตอร์ในส่วนของกระบวนการผลิตเสมอ ในกรณีที่บริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ท่านทำงานตั้งอยู่ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมก็คงจะได้รับผลกระทบน้อยในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของแรงดันไฟฟ้าและความถี่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้ออกแบบระบบไฟฟ้าสำหรับรองรับภาคอุตสาหกรรมไว้แล้วซึ่งจะมีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าพื้นที่ทั่วไป       

.

แต่ถ้าในกรณีโรงงานที่ท่านทำงานอยู่ไม่ได้ตั้งในเขตอุตสาหกรรมล่ะ ปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแรงดันไฟฟ้าและความถี่ที่ผมได้กำหนดให้เป็นชื่อบทความดังที่ได้กล่าวข้างต้นก็จะพบบ่อยและสร้างปัญหาแก่ท่านไม่ใช่น้อย และไม่เพียงเท่านั้น อาจจะทำให้มอเตอร์ของคุณมีอายุการให้งานสั้นกว่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายกระบวนการผลิตก็จะเกิดความเสียหายไปด้วย

.

บทความนี้จะเป็นการนำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นกับมอเตอร์เมื่อเกิดแรงดันไฟฟ้าและความถี่เปลี่ยนแปลงเพื่อให้ท่านทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและหาวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาก่อนที่มอเตอร์ของท่านจะชำรุดก่อนเวลาอันควร

.
สมรรถนะของมอเตอร์เมื่อแรงดันไฟฟ้าและความถี่ที่ป้อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

โดยทั่วไปแล้วเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของแรงดันไฟฟ้าและความถี่จะมีผลต่อสมรรถนะของมอเตอร์โดยตรงซึ่งสามารถอธิบายได้ในรูปที่ 1 ซึ่งได้อธิบายเกี่ยวกับผลที่ต่อ แรงบิดเริ่มเดิน, กระแสเริ่มเดิน และอื่น ๆ

.

รูปที่ 1 กราฟแสดงคุณสมบัติของแรงดันและความถี่ที่มีผลต่อมอเตอร์

.
กรณีมอเตอร์ทำงานที่แรงดันไฟฟ้าต่ำกว่าพิกัด

เมื่อมีการใช้งานมอเตอร์ในสภาวะแรงดันไฟฟ้าต่ำกว่าพิกัดจะมีผลทำให้กระแสไฟฟ้าที่ป้อนให้มอเตอร์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสียด้านความร้อนเพิ่มขึ้น (I2R) ในขดลวดสเตเตอร์และโรเตอร์ ซึ่งจากผลดังกล่าวจะทำให้อุณหภูมิของขดลวดสูงขึ้นและจะทำให้ความเป็นฉนวนของขดลวดลดลงและมีอายุการใช้งานสั้นลงในที่สุด           

.

อย่างไรก็ตามถ้ามอเตอร์มีการใช้งานไม่หนักหรือมีโหลดน้อย การเพิ่มขึ้นของกระแสไฟฟ้าที่มีผลจากการลดลงของแรงดันไฟฟ้าก็จะมีค่าต่ำกว่ากระแสพิกัดของมอเตอร์ ซึ่งจากผลดังกล่าวก็จะไม่ทำให้เกิดความร้อนหรืออุณหภูมิที่ขดลวดมอเตอร์สูงขึ้นแต่อย่างใด

.

สำหรับกรณีซิงโครนัสมอเตอร์ที่มีการใช้ไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่ถูกจากแปลงแหล่งไฟฟ้ากระแสสลับเดียวกับแหล่งจ่ายไฟฟ้ากระแสไฟฟ้าสลับ 3 เฟส ที่ป้อนให้มอเตอร์ไฟฟ้า ในกรณีที่เกิดแรงดันต่ำกว่าพิกัด ก็จะเป็นสาเหตุให้แรงดันไฟฟ้ากระแสตรงต่ำกว่าพิกัดไฟด้วย จากผลดังกล่าวก็จะทำให้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกสร้างขึ้นก็จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้มีผลต่อการทำงานของมอเตอร์โดยตรง

.
กรณีมอเตอร์ทำงานที่แรงดันไฟฟ้าสูงกว่าพิกัด

เมื่อมอเตอร์มีการใช้งานที่แรงดันไฟฟ้าสูงกว่าพิกัด กระแสไฟฟ้าในขดลวดของสเตเตอร์จะมีค่าลดลง และถ้าแรงดันที่ป้อนให้มอเตอร์มีค่าสูงเพียงพอก็อาจจะทำให้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าของแกนเหล็กเกิดการอิ่มตัวได้           

.

จากการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นก็จะส่งผลให้กระแสไฟฟ้ากระตุ้น (Exciting Current) มีค่าสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ก็จะมีผลทำให้เกิดความร้อนสูงในขดลวด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการเกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าอิ่มตัวอาจจะเกิดขึ้นที่แรงดันไฟฟ้าสูงกว่าพิกัดประมาณ 110 เปอร์เซ็นต์  

.

เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ จึงสมมุติให้ค่ากำลังโหลดของเพลา(Shaft-Power Load) มีค่าคงที่และจะไม่นำผลการสูญเสียภายในมอเตอร์มาพิจารณา ดังนั้นกำลังไฟฟ้าอินพุทของมอเตอร์จึงมีค่าเท่ากับกำลังโหลดเอาท์พุทของเพลา ดังแสดงในสมการที่ 1

.

.

เมื่อค่ากำลังโหลดของเพลา (Shaft-Power Load) มีค่าคงที่ กำลังไฟฟ้าอินพุตที่ป้อนให้มอเตอร์ที่มีค่าสูงกว่าพิกัดจะสามารถประมาณค่าได้เท่ากับค่ากำลังไฟฟ้าอินพุตที่แรงดันไฟฟ้าตามพิกัด โดยจะไม่พิจารณาผลของการเปลี่ยนแปลงของแรงลมและความฝืด (Windage and Friction) ซึ่งจะมีผลเพียงเล็กน้อยต่อความเร็วของมอเตอร์ไฟฟ้า ดังนั้นจึงได้แสดงตามสมการที่ 2

.

.
ผลกระทบกรณีความถี่ไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

การที่เกิดความถี่ลดลงจะทำให้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นมีค่าสูงขึ้น(ซึ่งเป็นส่วนประกอบในสภาวะไม่มีโหลดของกระแสไฟฟ้าของมอเตอร์) ด้วยเหตุนี้ก็จะทำให้กระแสไฟฟ้าโดยรวมของมอเตอร์มีค่าสูงขึ้น และถ้าความถี่มีค่าต่ำมากก็อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในแกนเหล็กเกิดการอิ่มตัวได้เช่นกัน และก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ากระตุ้นมีค่าพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ก็จะทำให้ขดลวดของมอเตอร์มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติได้เช่นกัน

.
เปอร์เซ็นต์ความร้อนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากกระแสไฟฟ้าเกินพิกัด

เปอร์เซ็นต์ของความร้อนที่เกิดขึ้นของขดลวดในมอเตอร์เนื่องจากกระแสไฟฟ้าเกินพิกัดนั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีสาเหตุมาจาก แรงดันไฟฟ้า และความถี่ที่ป้อนให้มอเตอร์ไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของพิกัด หรืออาจจะเกิดจากการใช้โหลดเกินพิกัดก็ได้ ซึ่งเราสามารถคำนวณหาได้ดังต่อไปนี้ 

.

.
ตัวอย่างการคำนวณ

มอเตอร์ไฟฟ้า 3 เฟส มีพิกัด 460 V, 60-Hz, 50-hp และมีความเร็วที่ 1775-rpm เป็นมอเตอร์เหนี่ยวนำชนิดกรงกระรอก โดยที่สภาพการทำงานปกติคงที่มีใช้กระแสไฟฟ้า 59.8 A แต่เนื่องจากในระบบไฟฟ้าที่ป้อนให้มีปัญหาจึงจำเป็นต้องจ่ายแรงดันไฟฟ้ามีค่าต่ำกว่าพิกัด 10% ดังนั้นจึงให้คำนวณหา

.

ก) ค่าแรงดันไฟฟ้าใหม่
ข) ประมาณค่ากระแสไฟฟ้าใหม่ที่เกิดขึ้น
ค) เปอร์เซ็นต์ความร้อนที่สูงขึ้นในขดลวดสเตเตอร์เมื่อแรงดันไฟฟ้าต่ำกว่าพิกัด

.
วิธีคำนวณ
.

หรืออาจจะใช้รูปที่ 1 เพื่อประมาณค่าก็ได้ ซึ่งจากรูปที่ 1 พบว่าเมื่อแรงดันลดลงต่ำกว่าพิกัด 10 % จะมีผลทำให้กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นที่มอเตอร์เพิ่มขึ้นประมาณ 11% ดังนั้นสามารถคำนวณได้ดังนี้

.
.

จากตัวอย่างข้างต้นได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อแรงดันไฟฟ้ามีค่าลดลงต่ำกว่าเพียง 10% จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดความร้อนในตัวนำขดลวดมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 23%เมื่อเทียบกับอุณหภูมิที่ใช้งานที่พิกัดแรงดันปกติ

.
ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับแรงดันไฟฟ้าและความถี่

จากที่ผู้เขียนได้อธิบายผลที่เกิดขึ้นและตัวอย่างการคำนวณให้ท่านทราบไปแล้วข้างต้นแล้ว ท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วค่ามาตรฐานของพิกัดแรงดันไฟฟ้าและความถี่นั้นมีค่าเท่าไหร่และอ้างอิงมาตรฐานอะไร   

.

ดังนั้นข้อนี้จึงเป็นการตอบให้หายสงสัยครับ โดยผู้เขียนได้อ้างอิงข้อกำหนดของ NEMA สำหรับมอเตอร์ชนิดเหนี่ยวนำ (Induction Motor) นั้นได้พิจารณาว่าขณะมีการใช้งานอยู่อย่างต่อเนื่องแรงดันไฟฟ้าและความถี่ที่ป้อนให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าจะต้องมีค่าไม่เกินข้อกำหนดังต่อไปนี้

.

1. การเปลี่ยนแปลงของแรงดันไฟฟ้าจะต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของพิกัด ขณะมีการใช้งานตามพิกัดของความถี่ของมอเตอร์
2. การเปลี่ยนแปลงของถี่จะต้องไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของพิกัด ขณะมีการใช้งานตามพิกัดของแรงดันไฟฟ้าของมอเตอร์
3. เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทั้งแรงดันไฟฟ้าและความถี่ ซึ่งผลรวมที่เป็นค่าสมบูรณ์ (Absolute Values)ของการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ค่าจะต้องมีค่าไม่เกิน 10% โดยความถี่อินพุทที่ป้อนให้มอเตอร์จะต้องมีค่าไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของพิกัดด้วย

.
สรุป

หลังจากท่านได้อ่านมาถึงตรงนี้ผู้เขียนหวังว่าท่านคงมีความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานหรือข้อกำหนดการใช้งานมอเตอร์และผลกระทบจากแรงดันไฟฟ้าและความถี่ที่เปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อมอเตอร์ที่ท่านใช้งานอยู่เป็นประจำมากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ

.

ผู้เขียนหวังว่าท่านคงจะนำความรู้ดังกล่าวนำไปวิเคราะห์และหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นเพื่อยืดอายุการใช้งานมอเตอร์ของท่านและลดค่าใช้จ่ายด้านบำรุงรักษาได้ ไม่เพียงเท่านั้นการสูญเสียและการเกิดหยุดชะงักของกระบวนการผลิตก็จะลดลงตามไปด้วย สวัสดีครับ

.

เรียบเรียงจาก

* Charles l. Hubert, P.E., (2003). Operating, Testing, and Preventive Maintenance of electrical Power Apparatus. Prentice Hall

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด