เราอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องมีปัญหา บางคนอาจจะน้อยอกน้อยใจว่าทำไมมีแต่ปัญหา แล้วทำไมปัญหาจึงไม่หมดไป และ Best practices ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาหมดไปอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าเราไม่ได้เข้าใจ Best Practices อย่างถ่องแท้แล้ว ปัญหาใหม่ก็จะเข้ามาในวงจรธุรกิจอีก เราคงไม่สามารถใช้ Best Practices เดิมแก้ไขปัญหาได้อีก แล้วเราจะทำอย่างไรดีล่ะ ?
ดร.วิทยา สุหฤทดำรง |
. |
. |
ผมมักจะได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่ได้มีโอกาสมาฟังผมบรรยาย (บ่น) ในหลักสูตรระยะสั้นต่าง ๆ ว่าต้องการจะทำการปรับปรุงระบบ ๆ ลอจิสติกส์ต่าง ๆ ในสถานที่ทำงานของตัวเอง แต่ด้วยความไม่เข้าใจและความใจร้อนที่จะแก้ไขหรือพัฒนา ก็เลยพยายามมองอะไรก็ได้ไว ๆ (Quick Solutions) มาใช้งาน |
. |
หลาย ๆ ครั้งทุกคนมองหาสิ่งที่เรียกว่า Best Practices โดยการไปฟังการบรรยายของผลสำเร็จของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจากงานบรรยายหรือเสวนาตามสถานที่ต่าง แล้วก็เก็บเอาสิ่งที่ได้ฟังมาปะติดปะต่อกันเพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาของตัวเอง |
. |
บางท่านก็สับสนกับตัวเองสรุปได้ว่าใช้ไม่ได้ เพราะ Best Practices ของเขาที่ได้ฟังมาใช้ไม่ได้กับของตัวเอง บางคนก็พยายามประยุกต์ใช้งานได้ผลซึ่งอาจจะเป็นเพาะความเข้าใจที่ถูกต้องหรือโชคดีที่เป็นงานประเภทเดียวกัน แต่กรณีเหล่านี้สามารถตรวจสอบได้ว่ารู้จัก Best Practices จริงหรือไม่ ? แล้วจริง ๆ แล้ว Best Practices คืออะไรกันแน่ ? |
. |
การแก้ปัญหาสู่ Best Practices |
เราอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องมีปัญหา บางคนอาจจะน้อยอกน้อยใจว่าทำไมมีแต่ปัญหา แล้วทำไมปัญหาจึงไม่หมดไป และ Best practices ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาหมดไปอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าเราไม่ได้เข้าใจ Best Practices อย่างถ่องแท้แล้ว ปัญหาใหม่ก็จะเข้ามาในวงจรธุรกิจอีก เราคงไม่สามารถใช้ Best Practices เดิมแก้ไขปัญหาได้อีก แล้วเราจะทำอย่างไรดีล่ะ ก็คงออกไปหา Best Practices ใหม่จากแหล่งอื่น ๆ นั่นคงจะไม่ใช่แนวทางที่ดี |
. |
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในธุรกิจทั่วไป ระดับประเทศ ระดับโลกหรือแม้กระทั่งชีวิตของเรามาจากความเข้าใจในความสัมพันธ์ (Relationship) ขององค์ประกอบ (Elements) ของสิ่งต่าง ๆ ที่เราสนใจ เมื่อเราเข้าใจในความสัมพันธ์และธรรมชาติขององค์ประกอบแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราก็จะสามารถควบคุมได้ อะไรก็ตามที่ไม่ได้เป็นไปตามความสัมพันธ์ที่เรากำหนดวางแผนไว้เป็นปัญหาทั้งสิ้น |
. |
ปัญหาที่กล่าวมานี้อาจจะเป็นปัญหาที่เกิดจากภายในที่สามารถควบคุมได้ถ้าเราเข้าใจความสัมพันธ์ของปัญหา ส่วนปัญหาที่มาจากภายนอกที่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ภายในนั้นอยู่นอกเหนือจากการควบคุมของเรา ดังนั้นถ้าเราสามารถประเมินหรือพยากรณ์เหตุการณ์จากภายนอกอันจะทำให้เกิดผลกระทบกับความสัมพันธ์ภายในแล้ว ก็จะทำให้เราสามารถที่จะลดปัญหาหรือความสูญเสียได้ |
. |
ความเข้าใจดังกล่าวในประเด็นของปัญหามีพื้นฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดจากภายนอกแล้วโยงเข้ามากระทบภายใน อาจจะพูดได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นสร้างปัญหา ตรงนี้เป็นเรื่องที่แน่นอน |
. |
แต่ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนั้นจะลดลงได้ถ้าเราปรับความสัมพันธ์ภายในตามการเปลี่ยนแปลงได้ทัน หลาย ๆ ครั้งที่ได้ฟังปัญหาต่าง ๆ ทั้งในระดับธุรกิจประเทศแล้ว ก็พบว่าเป็นเพราะผู้นำหรือองค์กรไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงไม่ทัน |
. |
ใช้ปัญญา แก้ปัญหา |
เมื่อมีปัญหา แก้ปัญหาไม่ได้ ก็ให้ใช้ปัญญาแก้ปัญหา แล้วปัญญาจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร มีท่านอดีตผู้นำบางท่านได้กล่าวว่าโลกนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ยุค คือ ยุดศักดินาทหาร ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และเข้าสู่ยุคปัจจุบัน คือ ยุคภูมิปัญญา เหมือนกับสโลแกนของทีวีช่อง 9 ที่กล่าวว่า เป็นสังคมอุดมปัญญา (Wisdom) และจะต้องเป็นอย่างไรที่เรียกว่าใช้ปัญญา (บางครั้งก็ใช้ Intelligence) |
. |
ผมมองว่าการมีปัญญานั้น คือ ความสามารถในการใช้ความรู้ (Knowledge) และประสบการณ์ต่าง ๆ มาใช้วิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ใช้อารมณ์และความรู้สึกแต่เพียงอย่างเดียว |
. |
สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจว่าปัญหาในปัจจุบันมันซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเกิดจากสองประเด็นคือ การเปลี่ยนแปลงของบริบทภายนอกอย่างรวดเร็ว และปัญหาเก่าภายในที่ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไข ทั้งสองประเด็นจึงมาผสมผสานกันจนทำให้เกิดความซับซ้อนกันมากยิ่งขึ้น |
. |
สำหรับปัญหาในการจัดการโซ่อุปทาน คืออะไรบ้าง ก็คงจะต้องมาดูที่ผลลัพธ์ของการจัดการโซ่อุปทาน คืออะไร ? เป้าหมายโดยทั่วไปของการจัดการโซ่อุปทานคือ การสร้างสรรค์คุณค่าให้กับลูกค้าอย่างเร็วกว่า ประหยัดกว่า และดีกว่า |
. |
โดยผลของการจัดการโซ่อุปทานจะมีผลเกี่ยวเนื่องไปสู่การจัดการลอจิสติกส์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เมื่อไม่สามารถจัดการตอบสนองต่อลูกค้าได้ก็คือปัญหา และเมื่อเป็นปัญหาของโซ่อุปทาน ก็คือปัญหาของทุกคนในโซ่อุปทาน |
. |
ปัญญา คืออะไร |
ถ้ามองในทางพุทธศาสนา ปัญญาคือการมีสติ มีเหตุผลการแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ สำหรับในทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถคิดไปในทิศทางเดียวกัน คือการหาเหตุผลและผลของปัญหาที่เกิดขึ้น |
. |
สำหรับวิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติ ก็มีนักวิทยาศาสตร์ที่คอยหาเหตุและผลของความเป็นไปตามธรรมชาติ เราจึงเข้าใจธรรมชาติ พยายามที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับว่าเราพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติ แต่คงไม่มีวันนั้น เพราะธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่กว่าเรามากนัก |
. |
สำหรับการจัดการนั้นก็มีวิทยาศาสตร์อยู่เหมือนกัน เช่น วิชาศาสตร์การจัดการ (Management Science) ซึ่งเนื้อหาหรือองค์ความรู้ต่าง ๆ นั้นสอดแทรกอยู่ในวิชาเรียนต่าง ๆ ของแต่ละสาขาวิชาทางธุรกิจหรือวิชาทางสังคมทั่วไป ศาสตร์แห่งการจัดการจะมองให้เห็นถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งที่มนุษย์ได้กำหนดขึ้นมานอกเหนือจากการเป็นอยู่ตามธรรมชาติ นั่นก็คือ สังคมมนุษย์ |
. |
เป้าหมายของสังคมมนุษย์ คือ ความสุขของการที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อทรัพยากรไม่พอเพียงต่อทุกคน การแข่งขันจึงเกิดขึ้น ประกอบกับความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์แต่ละคนไม่เท่ากัน คุณธรรมและจริยธรรมไม่เท่ากัน เพราะความไม่เท่ากันและความหลากหลายของความเป็นอยู่ในสังคมทำให้สังคมขาดความสมดุลจนเป็นปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น |
. |
การจัดการ (Management) นั้นเป็นศาสตร์ (Science) เพราะพยายามที่จะอธิบายความสัมพันธ์ของสิ่งที่มนุษย์ได้กำหนดขึ้นนอกเหนือจากธรรมชาติสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเราเรียกว่าทรัพยากรที่ช่วยสนับสนุนให้เรามีชีวิตอยู่ สำหรับผมนั้นมองเป็น 5M+I คือ Man, Material, Machine, Money, Method, Information ความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้ที่ช่วยสร้างสรรค์โลกของเรา |
. |
เช่น ธุรกิจและอุตสาหกรรม หรือกิจกรรมทางสังคมทั้งหลายและในทางตรงกันข้ามก็จะเป็นการป้องกันและทำลายล้างซึ่งกันและกัน เช่นในเชิงการทหาร ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตามที่เกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาและเมื่อถูกนำมาใช้ร่วมกับมนุษย์ เพื่อที่จะรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและทำให้การดำรงชีวิตและความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้น |
. |
ดังนั้นปัญญาในมุมของการจัดการ คือการรู้ถึงความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของทรัพยากรที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้น และได้ค้นหาความจริงในความสัมพันธ์เหล่านั้นผ่านการพิสูจน์และทดสอบจนสามารถตั้งเป็นทฤษฎีหรือแบบจำลอง (Model) ที่ใช้สื่อสารกันสำหรับผู้จัดการเพื่อใช้เป็นความรู้ต้นแบบกับการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหรือธุรกิจ |
. |
เมื่อมีความรู้แล้ว นักจัดการที่ดีย่อมจะต้องนำเอาความรู้เหล่านั้นมาเชื่อมโยงกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อทำการวิเคราะห์แก้ไขให้ปัญหาหมดไปหรือเป็นการปรับความสัมพันธ์ให้ครบตามข้อกำหนดที่รองรับกับบริบทรอบ ๆ ปัญหานั้น หรืออาจจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ใหม่สำหรับบริบทใหม่ที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยธรรมชาติหรือสังคมมนุษย์เอง |
. |
ความสามารถของนักจัดการที่ดี คือ สามารถระบุปัญหาให้ได้ตรงกับความรู้และใช้ความรู้นั้นแก้ไขปัญหา ระหว่างการแก้ไขปัญหานั้นอาจจะเกิดความรู้ใหม่หรือทฤษฎีใหม่เพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้ใหม่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัญหา หรืออาจจะเกิดขึ้นระหว่างการเชื่อมโยงปัญหากับความรู้ที่มีอยู่ |
. |
แต่ส่วนใหญ่แล้วความล้มเหลวในการแก้ปัญหาจะมาจากความเข้าใจในองค์ประกอบของปัญหาจนไม่สามารถนำความรู้มาใช้วิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เมื่อเข้าใจปัญหาผิดไปก็นำเอาความรู้มาใช้วิเคราะห์ผิดไปด้วย |
. |
คิด เพื่อให้เกิดปัญญา |
ก่อนที่จะเกิดปัญญาได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการคิด (Thinking Process) มาก่อน การคิดในมุมมองของผมนั้น คือ การเห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่เราสนใจ คิดตั้งแต่การมองปัญหาให้กระจ่างและคิดหาหนทางการแก้ปัญหาโดยเอาทฤษฎีและองค์ความรู้ต่าง ๆ มาใช้แก้ปัญหา |
. |
ในระบบการศึกษาของเราส่วนใหญ่จะมีอุปสรรคกับระบบการคิดกันอยู่บ้างก็ตรงที่มองให้เห็นปัญหากันน้อยมาก ปัญหาส่วนใหญ่ในบทเรียนได้ถูกกำหนดมาแล้วตามความรู้หรือทฤษฎีที่เรียนมาตามบทเรียน |
. |
ดังนั้นการเรียนรู้ก็มีแค่วิเคราะห์ตามตัวอย่างที่ให้มาเพื่อสนับสนุนในการทำความเข้าใจทฤษฎี การฝึกปฏิบัติกับปัญหาจริงมีน้อยมากเพราะเมื่อออกไปทำงานแล้ว ก็จะถูกตัดขาดจากระบบการศึกษา ทำให้โลกแห่งการศึกษากับโลกแห่งความเป็นจริงถูกแยกออกจากกัน และบังเอิญในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นไม่ได้ใช้ความรู้ที่มาจากหลักการและทฤษฎีในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ |
. |
ยิ่งเมื่อออกไปเผชิญกับปัญหาจริง ๆ ในการทำงานซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ได้ถูกกำหนดมาเหมือนโจทย์ในตำราเรียน จึงบอกไม่ได้ว่าเป็นวิชาอะไร และใช้ทฤษฎีอะไรในการแก้ปัญหา และในความเป็นจริงแล้วความซับซ้อนของปัญหาก็มากขึ้นกว่าในบทเรียน และหนทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ก็มากขึ้นตามมาอีก ที่สุดจะต้องตัดสินใจเลือกหนทางที่ดีที่สุดอย่างไร อะไรเป็นข้อจำกัดของปัญหา เพราะข้อจำกัดจะเป็นแนวทางในการหาคำตอบสุดท้าย |
. |
การคิดเพื่อให้เกิดปัญญานั้นไม่จำเป็นต้องให้เกิดเป็นผลสำเร็จเสมอ ความล้มเหลวก็สามารถเป็นปัญญาได้ เป็นแนวทางหรือองค์ความรู้ในหนทางที่ไม่ประสบผลสำเร็จ จากนั้นก็ใช้บทเรียนจากความล้มเหลวนั้นเป็นบันไดสู่ความสำเร็จในขั้นต่อไป ไม่มีความสำเร็จใดที่ไม่มีความล้มเหลวมาก่อน |
. |
ดังนั้นการคิดไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ใครจะคิดง่ายหรือคิดซับซ้อนละเอียดเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นจะมีภาวะผู้นำ (Leadership) ในการจัดการปัญหามากน้อยเพียงใด คิดให้หมดตลอดทุกมิติหรือไม่ และคิดถึงผลต่อเนื่องและผลต่อเนื่องภายหลังด้วย ซึ่งเราเรียกกันว่า การวางแผนนั่นเอง |
. |
กรอบความคิดใน Best Practices |
จากที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นสามารถที่จะเขียนเป็นแบบจำลอง (Model) ในการสื่อสารเพื่อแสดงให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของ Best Practices การที่เราจะเข้าใจ Best Practices ต่าง ๆ ที่ประสบผลสำเร็จนั้น เราจะต้องเข้าใจในองค์ประกอบอยู่ สามประเด็น คือ 1) ปัญหาที่แท้จริง คือ อะไร 2) องค์ความรู้อะไรที่จะมาแก้ปัญหานี้ 3) การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ความรู้และปัญหา และการประเมินหนทางเลือกที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ |
. |
กรอบความคิดในประเด็นที่หนึ่งนี้สำคัญที่สุดเพราะว่าถ้ามองปัญหาไม่ออก แล้วจะเอาองค์ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมมาใช้ได้อย่างไร ปัญหาส่วนใหญ่ที่แก้ไขกันไม่จบก็เพราะว่ามีความเข้าใจในปัญหาน้อยหรือไม่ลึกซึ้งพอ ยิ่งเดินมาผิดทางแล้วก็ยิ่งสะสมสร้างความซับซ้อนให้กับตัวปัญหามากยิ่งขึ้น |
. |
ที่จริงคนที่มองปัญหาให้เห็นนี้เหมือนกับเป็นคนสร้างปัญหามากกว่าจะเป็นคนที่จะมาแก้ปัญหา เพราะหลายครั้งคนที่มาแก้ปัญหาจะพบว่าปัญหาใหม่ที่พูดถึงกันนั้นมีปัญหาเก่าที่ไม้ได้แก้ไขฝังตัวอยู่ภายในโดยไม่ใครรู้และยิ่งถ้ามองเห็นถึงปัญหาต่อเนื่องในอนาคตได้นั้นก็จะยิ่งดี จะได้ป้องกันไม่เกิดขึ้นเสียเลย ยังดีกว่าให้มันเกิดขึ้นแล้วแก้ไขไม่ได้ |
. |
ดังนั้นผมมองว่าผู้นำองค์กรที่ดีควรเป็นนักสร้างปัญหาในอนาคตเพื่อป้องกันไว้ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น บางคนเป็นนักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นั่นไม่ใช่เรื่องที่ควรจะทำเลย ที่จริงแล้วปัญหาเหล่านั้นไม่ควรจะเกิดขึ้นมาเพื่อให้เราตามแก้ แต่ควรจะป้องกันมากกว่า |
. |
กรอบความคิดในประเด็นที่สองนี้ คือองค์ความรู้ที่จะเอามาใช้ให้ตรงกับปัญหา บางคนมีความรู้ทางทฤษฎีมาก แต่ไม่เห็นหรือไม่สามารถประยุกต์ถึงการนำเอาไปใช้ การมีองค์ความรู้ไม่ใช่แค่ว่าเรารู้อะไรแล้วก็จบ อ่านคำนิยามหรือเข้าใจทฤษฎีอย่างเดียวไม่พอ จะต้องนำเอาทฤษฎีไปปฏิบัติหรือสามารถอธิบายการปฏิบัติได้ด้วยทฤษฎี |
. |
กรอบความคิดในประเด็นที่สาม คือการเชื่อมโยงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติที่ไม่ได้ผลกับทฤษฎีที่รองรับการปฏิบัติที่ไม่ได้ผลนั้นรวมทั้งแนวคิดหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เมื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ได้แล้ว ก็ควรจะวิเคราะห์ความสัมพันธ์นั้นเพื่อสร้างทางเลือกที่เป็นไปได้ (Feasible Solutions) ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ (Constraints) |
. |
ผลของการคิด (How to Think) จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นหนทางเลือกที่ดีที่สุด (Best Solutions) จากนั้นหลักปฏิบัติหรือวิธีการในการดำเนินงานจะถูกกำหนดมาจากผลลัพธ์ของการคิดที่ให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่จะต้องระลึกอยู่เสมอว่าทางเลือกนี้เป็นทางเลือกที่ดีทีสุดภายใต้ข้อจำกัดหนึ่งเท่านั้น เมื่อข้อจำกัดเปลี่ยนไป ผลลัพธ์ที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย |
. |
ปัญหาก็คือ เราจะรู้จักวิธีคิด (How to Think ?) ในการสร้างหนทางเลือกที่เป็นไปได้ในแต่ละข้อจำกัดหรือไม่ ผมเห็นแต่สนใจ How to Do ? มากกว่า How to Think ? คนส่วนใหญ่เมื่อได้รู้ How to Do ที่เป็นข้อปฏิบัติแล้ว ก็คงจะไม่สนใจในการคิดหรือ How to Think เพราะสบายกว่ามาก แต่ลำบากกว่าเยอะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่รู้ How to Think ? |
. |
ภาพใหญ่ของ Best Practices |
จากรูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทั้งหมดของการสร้าง Best Practices ที่น่าจะมีความยั่งยืนพร้อมที่จะสามารถพัฒนารองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายได้ |
. |
วัฏจักรหรือวงจรการดำเนินการสร้าง Best Practices ต้องอาศัยความเป็นผู้นำของบุคคลที่นำเอา Best Practices มาใช้งานว่ามีความสามารถในเชิง How to Think มากน้อยขนาดไหน หากว่าผู้ที่นำเอา Best Practices มาใช้งานเข้าใจถึงกระบวนการนี้แล้ว การพัฒนา Best Practices ใหม่ ก็คงจะไม่ยากเกินไป |
. |
ในขณะเดียวกันการสร้าง Best Practices นั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำคนเดียว แต่สามารถทำเป็นทีมได้ เพราะทุกคนนั้นเก่งไม่เหมือนกัน รับข้อมูลต่าง ๆ ไม่เท่ากัน ดังนั้นการสร้าง Best Practice จึงต้องอาศัยทีมงานและการจัดการโครงการที่มีประสิทธิภาพ หลังจากที่ได้หนทางออกแล้วจึงเป็นการเรื่องของการจัดการความรู้ เพื่อให้ผู้ที่ดำเนินงานในส่วนอื่น ๆ นำไปปฏิบัติใช้งานได้อย่างมีประสิทธิผล |
. |
โลกยุคใหม่ ยุคแห่งปัญญา |
ถ้าท่านอ่านมาถึงตรงนี้ก็พอจะมองเห็นการสร้างองค์ความรู้และ Best Practices ซึ่งที่จริงแล้วไม่น่าจะซับซ้อนอะไรเลย ถ้าเรามีวัฒนธรรมการเรียนรู้ มีภาวะผู้นำและเข้าใจโลกาภิวัฒน์อย่างใช้ปัญญา |
. |
ผมพยายามจะมองว่าการเคลื่อนตัวของทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ที่เราเข้าใจว่าต่างชาติเอาเงินเข้ามาซื้อทรัพย์สินของชาติไปซึ่งไม่น่าจะใช่ เพราะต่างชาติ (Global) นำเอาปัญญาที่ประกอบไปด้วยความรู้หลักการและทฤษฎีมาช่วยคิดและแก้ปัญหาในสถานที่ต่าง ๆ (Domestic) ทั่วโลก |
. |
เมื่อได้หนทางการแก้ปัญหา (Solutions) จนสามารถสร้างผลกำไรในพื้นที่ต่าง ๆ กำไรที่ได้นั้นก็กลับสู่ต่างชาติอีกรอบ วัฎจักรของการใช้ปัญญาหาผลประโยชน์จากการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในโลกได้มีมานานตั้งแต่มีอารยะธรรมของโลกแล้ว แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาและความเข้าใจในความสัมพันธ์ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น |
. |
แต่การพัฒนาด้านจิตใจและคุณธรรมของมนุษย์กลับไม่ได้พัฒนาไปตามปัญญาที่สร้างความสะดวกกับมนุษย์ เราก็ได้เรียนรู้องค์ความรู้ต่าง ๆ มากมายแต่ก็ยังไม่ได้นำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องใช้ปัญญากันมากขึ้นในการพัฒนาประเทศของเรา ! |
. |
รูปที่ 1 แบบจำลองความคิดของข้อปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด