เนื้อหาวันที่ : 2009-12-18 17:49:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6580 views

Night-vision Systems กับความลงตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์

การขับรถในเวลากลางคืนคงจะปลอดภัยมากขึ้นถ้าเรามีระบบมองภาพกลางคืนมาช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็นของคนขับ โดยเฉพาะขณะนี้ในแถบยุโรป การพัฒนาระบบมองภาพกลางคืนสำหรับติดตั้งในรถยนต์กำลังเป็นที่นิยมมาก การประยุกต์ใช้ระบบมองภาพกลางคืน (Night-vision Systems) ในรถยนต์นั้นถือว่ามีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถยืนยันได้จากงานประชุมทางวิชาการ เรื่องโฟโตนิกส์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ (SPIE’s Recent Photonics in the Automobile) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สิริชนก  จันทร์ใบ
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

.

.

การขับรถในเวลากลางคืนคงจะปลอดภัยมากขึ้นถ้าเรามีระบบมองภาพกลางคืนมาช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็นของคนขับ โดยเฉพาะขณะนี้ในแถบยุโรป การพัฒนาระบบมองภาพกลางคืนสำหรับติดตั้งในรถยนต์กำลังเป็นที่นิยมมาก

.

การประยุกต์ใช้ระบบมองภาพกลางคืน (Night-vision Systems) ในรถยนต์นั้นถือว่ามีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถยืนยันได้จากงานประชุมทางวิชาการ เรื่องโฟโตนิกส์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ (SPIE’s Recent Photonics in the Automobile) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

.

ในการประชุมครั้งนี้มีนักวิชาการและวิศวกรจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยและการพัฒนากระบวนการผลิตระบบมองภาพกลางคืน สำหรับติดตั้งในรถยนต์ให้มีราคาถูกลงและสามารถผลิตแบบ Mass Production ได้ โดยต้องมีราคาอยู่ในระดับที่พอเหมาะกับกำลังซื้อของผู้บริโภค

.

ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรด้านโฟโตนิกส์ใน ยุโรป European Photonics Industry Consortium (EPIC) และกลุ่ม SPIE Europe ทำให้การประชุมในช่วงเวลา 3 วันดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญเป็นตัวแทนจากอุตสาหกรรมหลัก ๆ ทางด้านนี้กว่า 90 ราย เช่น Audi, Lumileds, Centro Ricerche Fiat, Hella KG Hueck, Daimler Chrysler and Osram 

.

การประชุมครั้งนี้มีเนื้อหาครอบคลุมนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านโฟโตนิกส์ที่ประยุกต์ใช้กับรถยนต์เป็นจำนวนมาก เช่น ระบบการส่องสว่างอัจฉริยะที่สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติเมื่อรถยนต์วิ่งผ่านไปในสภาวะหมอกหนาหรือในอุโมงค์มืด, อุปกรณ์แจ้งเตือนเมื่อรถหลุดออกนอกเลน และระบบควบคุมให้รถยนต์เคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ อย่างไรก็ตาม หัวข้อที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในงานนี้คือไฟหน้าส่องสว่าง LED-based ที่มีระบบมองภาพกลางคืน

.

เหตุผลที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลายสนใจในระบบมองภาพกลางคืน จนเกิดเป็นการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิต คือความคิดที่ว่าพวกเขาก็สามารถมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการลดอัตราการตายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้ เพราะกว่าครึ่งหนึ่งของอุบัติเหตุที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตเกิดขึ้นในเวลากลางคืน แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีปริมาณการจราจรแค่ 20% ของการจราจรในช่วงกลางวัน 

.

หนึ่งในการนำเสนอครั้งนี้มีตัวแทนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาของ Daimler Chrysler คือ Jörg Moisel ได้ชี้ให้เห็นว่าการใช้เพียงแค่ไฟสูงส่องสว่างบนถนนก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในขณะขับรถด้วยความเร็ว  แต่คนขับเองไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ไฟสูงบ่อยนักเพราะมีข้อจำกัดในการใช้ไฟสูงขณะเดินทาง

.

ตัวอย่างเช่นมีการกำหนดให้ใช้ไฟต่ำขณะเดินทางผ่านแหล่งชุมชน หรือผ่านบริเวณที่มีรถคันอื่นร่วมใช้ถนนด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในขณะเดินทางกลุ่มผู้ผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์ได้มองหาวิธีการอื่นที่สามารถช่วยให้คนขับมองเห็นถนนได้ไกลขึ้นและชัดเจนขึ้น ด้วยการใช้อุปกรณ์เรดาร์หรือระบบมองภาพกลางคืน เป็นต้น

.

ระบบมองภาพกลางคืนจะอาศัยเทคโนโลยีของแสงอินฟราเรด (IR) ซึ่งจำแนกได้เป็นแบบ Passive และแบบ Active โดยระบบที่จัดเป็นแบบ Passive อาศัยหลักของแสงอินฟราเรดย่านความยาวคลื่นยาว (25-350 m) Far-infrared (FIR) ที่ตรวจจับการแผ่รังสีความร้อนจากวัตถุเบื้องหน้าของรถยนต์

.

ส่วนระบบแบบ Active จะอาศัยหลักการของแสงอินฟราเรดย่านความยาวคลื่นสั้น (0.7- 5 m) Near Infrared (NIR) โดยแสงจะช่วยเพิ่มความสว่างของภาพเบื้องหน้า

.
Passive Systems

จากคำอธิบายของ Moisel ข้อดีอย่างหนึ่งของระบบแบบ Passive คือสามารถแยกความแตกต่างระหว่างวัตถุที่แผ่ความร้อน เช่นคนเดินเท้าและสัตว์ ออกจากวัตถุเย็น อย่างเช่นวิวที่เป็นพื้นหลังได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ระบบแบบ Passive เหมาะกับการใช้งานในช่วงฤดูหนาวที่มืดสลัว นอกจากนี้ระบบแบบ Passive ยังสามารถมองผ่านหมอกควันได้ เหมือนกับเทคโนโลยีที่ใช้ในสมรภูมิรบ

.

การวิจัยด้านการทหารยังเป็นส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาเซนเซอร์อินฟราเรดชนิดที่สามารถตรวจจับการแผ่รังสีความร้อนในช่วงความยาวคลื่น 8-14 m ได้ และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาค่อย ๆ เริ่มมีการนำระบบกล้องอินฟราเรดมาติดตั้งในรถยนต์นั่งแบบหรูหรา

.

ตัวอย่างเช่น Cadillac ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในอเมริกา ได้นำเสนอระบบมองภาพกลางคืนที่พัฒนาโดยบริษัท Raytheon (ผู้ผลิตสินค้าด้านเทคโนโลยีการป้องกัน) ติดตั้งไปในรถ รุ่น Cadillac 2000 Model DeVille Sedan ดังรูปที่ 1

.

รูปที่ 1 Cadillac 2000 model DeVille sedan

.

อย่างไรก็ตามปฏิกิริยาที่ลูกค้าตอบสนองต่อรถรุ่นนั้นค่อนข้างหลากหลาย ทำให้ทางบริษัท Cadillac เองได้ประกาศออกมาว่า บริษัทตัดสินใจที่จะไม่เสริม Option ระบบมองภาพกลางคืนในรถรุ่นใหม่ รุ่น 2005 Model “ถ้าเราจะเสริมการติดตั้งระบบมองภาพกลางคืนอีกครั้ง เราคงจะเลือกใช้ระบบแบบ Active

.

แต่ในขณะนี้เรายังไม่มีแผนการผลิตรถรุ่นดังกล่าว” เป็นคำกล่าวของผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด Jay Spenchian ที่ให้ไว้กับนิตยสารรถยนต์ “Auto Week“

.

ในทางตรงกันข้าม บริษัท Honda กลับประกาศแผนการติดตั้งระบบมองภาพกลางคืนแบบ Passive ในรถยนต์ปี 2005 นี้สำหรับลูกค้าญี่ปุ่นโดยเฉพาะ และนั่นเป็นที่ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ยังคงเป็นเส้นทางที่ดีที่สุดที่จะนำระบบการมองภาพกลางคืนส่งถึงมือผู้บริโภคได้ โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่ความสมดุลระหว่างราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายกับสิ่งที่เขาคาดหวังจากระบบมองภาพกลางคืนที่ติดตั้งในรถยนต์

.

และโดยส่วนมากราคาที่ถูกมักจะมาคู่กับการผลิตในปริมาณมากเสมอ ซึ่งนั่นต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลพวงจากความสำเร็จของงานวิจัยและพัฒนาจำนวนมากที่เกิดขึ้นในยุโรปจึงทำให้สามารถพัฒนากระบวนการผลิตกล้องมองภาพกลางคืนแบบ Mass Production ได้

.

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในยุโรปเกิดโครงการ ICAR (Infrared Camera for Car) ขึ้น โดยวัตถุประสงค์หลักคือการลดราคากล้อง FIR ให้ถูกลงจนสามารถติดตั้งในรถยนต์ได้ เพื่อช่วยให้คนขับมองเห็นในที่มืดได้ดีขึ้น และในขณะนี้โครงการใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โครงการนี้ต้องอาศัยการทำงานจากผู้เชี่ยวชาญจากหลายส่วนร่วมกัน

.

ในส่วนแรกคือการพัฒนาตัวตรวจจับสัญญาณ (Detector) พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดสัญญาณ (Sensing) จากฝรั่งเศส อย่าง CEA-LETI และ ULIS (เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน 2002 โดยบริษัท Sofradir และองค์กรของรัฐบาลฝรั่งเศส CEA)

.

ส่วนที่สองคือการออกแบบสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอินฟราเรดในฝรั่งเศส อย่าง CEDIP เป็นผู้ออกแบบ ในส่วนสุดท้ายคือการประกอบชิ้นส่วนอื่นเข้ากับกล้องและทดสอบคุณสมบัติทาง Electro-optical ของกล้อง ทดสอบโดย ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตชิ้นส่วน Optoelectronic อย่าง Zeiss Optronik ในเยอรมนี

.

เป้าหมายอย่างหนึ่งของโครงการ ICAR ที่ทำให้ต้องตั้งงบประมาณไว้ถึง 5.7 ล้านยูโร คือการสร้างกล้อง FIR ที่ใช้เทคโนโลยี Microbolometer Detector ดังรูปที่ 2 ซึ่งเป็น Uncooled Focal-Plane Arrays (FPA) ที่มีความละเอียด 160x120 pixels ที่ระยะพิช 35 m ทำให้ราคาของกล้องอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคพอจะซื้อได้ ถ้าผลิตในปริมาณมาก อย่างตลาดรถยนต์

.

รูปที่ 2 Microbolometer Technology

.

กลยุทธ์การผลิตให้มีราคาถูกส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้เลนส์ที่ทำจากกระบวนการหล่อแก้วด้วยแสงอินฟราเรด (Moulded Infrared Glass Lenses) โดยมีบริษัท Umicore ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุในระดับนานาชาติ เป็นผู้สนับสนุนด้านวัสดุและการผลิต และเป็นผู้พัฒนากระบวนการผลิตวัสดุ GASIR (Achalcogenide Glass) ซึ่งเป็นแก้วที่มีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถหล่อขึ้นเป็นรูปเลนส์ได้ในขั้นตอนเดียว ดังรูปที่ 3 

.

และเมื่อดูข้อมูลที่ได้จากการทดสอบทีมงานของ Umicore พบว่าเลนส์ที่หล่อขึ้นมีคุณสมบัติดีเทียบเท่ากับชิ้นส่วนออปติกที่ทำจากวัสดุ Germanium Aspherics แต่ถ้าเปรียบเทียบราคาต้นทุนการผลิต กระบวนการผลิตวัสดุ Germanium Aspherics จะมีต้นทุนในการผลิตสูงกว่ามากเพราะมีขั้นตอนการผลิตหลายขั้น เช่นการตัด การขึ้นรูป และการแต่งผิวสำเร็จ

.

รูปที่ 3 Moulded Infrared Glass Lenses

.

ก่อนหน้านี้ได้มีการลองผลิตเลนส์ชุดใหญ่ไปแล้วที่ฐานการผลิตของบริษัท Umicore เมือง Quapan สหรัฐอเมริกา และมีแผนการเต็มรูปแบบที่จะผลิตเลนส์จากวัสดุ GASIR ในเดือนมิถุนายน 2005 เป็นข้อมูลที่ได้จากผู้จัดการฝ่ายการตลาด Marleen Van Den Bergh

.

สำหรับการผลิตในระยะยาวทางบริษัทได้ทำสัญญาไว้กับบริษัท Autoliv ให้เป็นผู้สนับสนุนด้านอุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับติดตั้งในสายการผลิตและสายการประกอบจริง  

.

สำหรับระบบกล้องที่สร้างขึ้นในนามของโครงการ ICAR ถูกตั้งเป้าไว้ว่าต้องสามารถตรวจจับคนเดินเท้าได้ในระยะอย่างน้อย 190 m และยานพาหนะอื่น ๆ ได้ในระยะอย่างน้อย 500 m ซึ่งมุมมองของกล้องต้องครอบคลุมพื้นที่ตลอดความกว้างของถนนและส่วนที่เป็นทางเดินเท้าทั้งสองฝังของถนน

.

รูปที่ 4 Fiat’s Multipla

.

ต้นแบบของกล้องในโครงการ ICAR ได้ถูกทดสอบกับรถจริง ๆ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนา Centro Ricerche Fiat ใกล้กับเมือง Turin ประเทศอิตาลี ซึ่งการทดสอบครั้งนี้มีผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากทั่วโลกเข้าร่วมและผู้ร่วมโครงการอย่างบริษัท Valeo

.

ทั้งนี้ Arnaud Crastes จากบริษัท ULIS ผู้ผลิตตัวตรวจจับด้วยแสงอินฟราเรดจากฝรั่งเศส กล่าวไว้ว่า “ต้นแบบนี้เข้ากับรถ Fiat’s Multipla ดังรูปที่ 4 ได้ดี เพราะรถยนต์ยังมีเนื้อที่ภายในอีกเหลือเฟือที่จะติดตั้งจอแสดงผลไว้หลังพวงมาลัย ดังตัวอย่างรูปที่ 5”

.

รูปที่ 5 จอแสดงผลหลังพวงมาลัย

.

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องควบคู่ไปกับราคาคือฟังก์ชันการใช้งานของระบบมองภาพกลางคืน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากระบบกล้องแบบ Passive FIR ที่แสดงผลเป็นภาพแบบ “Negative Image” โดยภาพวัตถุที่แผ่ความร้อนจะเป็นสีขาวตรงข้ามกับวัตถุพื้นหลังที่เย็นจะกลายเป็นสีดำ ดังรูปที่ 6 ทำให้คนขับมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งกีดขวางได้อย่างรวดเร็ว 

.

รูปที่ 6  ภาพที่มองเห็นจริง (ซ้าย ) ภาพที่มองเห็นจากกล้อง FIR (ขวา)

.

บริษัท Segem จากฝรั่งเศสหนึ่งในผู้เข้าร่วมงานประชุม SPIE ในครั้งนี้ เป็นบริษัทที่ได้เกาะติดเทคโนโลยีทางด้านระบบมองภาพกลางคืนอย่างใกล้ชิดบริษัทหนึ่ง เพราะมีการทำวิจัยและพัฒนาระบบผู้ช่วยคนขับที่ทันสมัย เป็นระบบที่สามารถอ่านและแปรสัญญาณอินฟราเรดของสิ่งกีดขวางเป็นภาพ และถ้าพบว่าเป็นสิ่งกีดขวางที่อาจสร้างความเสียหายได้จะมีสัญญาณแจ้งเตือนคนขับอีกที

.

งานวิจัยและพัฒนาดังกล่าวเป็นที่มาของโครงการ PAROTO (Radar and Optoelectronics Anticollision Project for The Car) โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์และปิดตัวไปแล้วในปี 2004 โดยระบบที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้มีความสามารถในการตรวจวิเคราะห์สิ่งกีดขวางด้วยการใช้แสงอินฟราเรดร่วมกับเรดาร์

.

Jacques Lonnoy จากบริษัท Segem ยังได้รายงานว่าภาพของวัตถุแผ่ความร้อนที่เคลื่อนที่ที่ได้จากกล้อง FIR เช่น ล้อรถยนต์ ท่อไอเสีย คนเดินเท้า และคนขี่จักรยาน เป็นภาพที่มีประสิทธิภาพดีมากในการถูกตรวจจับด้วยซอฟต์แวร์ จึงเกิดแนวความคิดที่จะนำซอฟต์แวร์มาใช้ในการตามรอยสิ่งกีดขวางที่ได้จากกล้องมองภาพกลางคืน และแจ้งเตือนคนขับถึงอันตรายที่กำลังมา ดังรูปที่ 7

.

รูปที่ 7  โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ในการติดตามสิ่งกีดขวางที่ตรวจจับด้วยกล้องอินฟราเรด ของบริษัท Sagem

.

Active Systems

นอกเหนือจากระบบ FIR แล้วยังมีระบบมองภาพกลางคืนอีกแบบคือ Active Night-vision ซึ่งระบบนี้ใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบ NIR Radiation ช่วงความยาวคลื่น 780-1000 nm ไปเพิ่มความสว่างของภาพที่เห็นทำให้มองเห็นได้ชัดเจนและไกลขึ้น ดังรูปที่ 8 และจับภาพด้วยกล้องซิลิกอนมาตรฐาน (CCD หรือ CMOS) โดยมีงานวิจัยและพัฒนาสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแบบ Active คือโครงการ EDEL (Enhanced Driver’s Perception in Poor Visibility)

.

ก่อตั้งโดยบริษัทในแถบยุโรป ตามแผนกำหนดการได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถสรุปผลของโครงการให้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้  โครงการนี้ได้อุตสาหกรรมขนาดยักษ์อย่างเช่น Osram, Jaguar, Bosch, Hella และ Centro Ricerche Fiat เข้าร่วมด้วย รวมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากทางมหาวิทยาลัย เช่น University of Genoa, University of Karlsruhe และ University of Siena 

.

รูปที่ 8 ระบบมองภาพกลางคืนที่ช่วยให้คนขับมองเห็นในที่มืดได้ดีขึ้น และแสดงการเปรียบเทียบช่วงการมองเห็นของแสงแต่ละระดับ (ระยะไฟต่ำ, ระยะไฟสูง, ระยะระบบมองภาพกลางคืน)

.

ทั้งนี้บริษัทร่วมโครงการอย่าง Bosch ยังชี้ให้เห็นว่าภาพ NIR Image สามารถแสดงสัญลักษณ์จราจรและขอบเขตถนนได้ ทำให้ผู้ใช้รถแยกได้ว่าสิ่งกีดขวางอยู่ในบริเวณเลนรถยนต์หรือไม่ นั่นก็หมายความว่าระบบนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ในการเพิ่มความปลอดภัยขณะขับขี่ในลักษณะอื่นได้

.

เช่น การส่งสัญญาณเตือนเมื่อรถหลุดออกนอกเลน ในทางกลับกันภาพ FIR จากระบบแบบ Passive ก็สามารถบอกถึงบริเวณของเลนรถยนต์ได้ โดยแสดงเป็นภาพสัญลักษณ์อุณหภูมิของสิ่งที่อยู่รอบ ๆ 

.

สำหรับระบบแบบ Active ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปในปี 2002 โดยบริษัท Toyota ระบบ Active ที่ว่ามีการนำหลอดอินฟราเรดแบบ Halogen มาใช้ เพราะ Toyota ต้องการปรับแต่งไฟหน้าส่องสว่างของรถยนต์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วยการผสมผสานระหว่างไฟสูงที่เป็นแสงอินฟราเรด กับไฟต่ำที่เป็นแสงช่วงตามองเห็น (Visible) และดูเหมือนว่าจะเป็นคำตอบที่สมบูรณ์แบบ

.

แต่โชคร้ายตรงที่แสงอินฟราเรดจากหลอด Halogen มีช่วงความยาวคลื่นสูงไปถึง 970 nm จึงไม่สามารถถูกตรวจจับได้ด้วยกล้องซิลิกอนที่ติดชิปที่มีความสามารถอ่านรับแสงได้ไม่ถึงช่วงความยาวคลื่น 970 nm

.

ด้วยการค้นพบของบริษัทในกลุ่มโครงการ EDEL และบริษัท Daimler Chrysler พบว่าแหล่งกำเนิดแสงอินฟราเรดแบบ Solid-state IR Source เช่น แหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ชนิดเซมิคอนดักเตอร์ หรือ LED กลายมาเป็นแหล่งกำเนิดแสงอินฟราเรดที่มีประสิทธิภาพสูง

.

กลุ่มบริษัทดังกล่าวจึงเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์พยายามพัฒนาระบบต้นแบบ ที่ประกอบด้วยแหล่งกำเนิดแสงกำลังสูงอย่างเลเซอร์ไดโอด (High-power 808 nm Laser Diode) และกล้อง CCD พร้อมแผ่นกรองแสงช่วงความยาวคลื่นกลางที่ 808 nm และมีช่วงคลาดเคลื่อนได้ภายใน 20 nm FWHM Bandwidth 

.

ในขณะใช้งานแหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์การควบคุมอุณหภูมิเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับแหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ชนิด Solid-state เพราะเป็นไปได้ว่าในขณะใช้งานจะมีความร้อนเกิดขึ้นทำให้อุณหภูมิสูงถึง 100 C เพื่อช่วยในการจัดการกับความร้อนดังกล่าวจึงมีการนำอุปกรณ์ลดความร้อนด้วยไฟฟ้า (Thermoelectric Cooler) ดังตัวอย่างรูปที่ 9 ไปติดกับชิ้นส่วนที่เป็นทองแดงที่ประกอบอยู่กับแหล่งกำเนิดแสง

.

แต่ทั้งนี้การใช้เลเซอร์กำเนิดแสงอินฟราเรดมีข้อดีตรงที่แสงเลเซอร์สามารถทำหน้าอย่างอื่นได้ อย่างในส่วนของ LIDAR Scheme เช่นในระบบ Laser Range Finding Vision System เป็นระบบเสมือนตาของหุ่นยนต์ แสงเลเซอร์จะถูกใช้เป็นสัญญาณในการรับส่งเมื่อกระทบกับสิ่งต่าง ๆ และระบบจะแปลงข้อมูลของสัญญาณแสงที่ได้เป็นระยะห่างของสิ่งนั้นกับหุ่นยนต์

.

นอกจากนี้แสงเลเซอร์ยังประกอบอยู่ในระบบตรวจหาสภาพอากาศ เช่น การตรวจสอบหาชนิดและปริมาณแบบ Real Time ของก๊าซที่ได้จากไอเสียรถยนต์ในขณะวิ่ง หรือสภาพมลพิษในเมืองหลวง (Environmental Sensing)

.

.

รูปที่ 9 ตัวอย่างของ Thermoelectric Cooler ภาพบนเป็นภาพตัด ภาพล่างเป็นตัวอย่างสำเร็จรูปของ Melcor

.

การผลิตลำแสงอินฟราเรดแทนที่จะมีการผลิตให้เป็นลำแสงต่อเนื่อง (Continuous Illumination) ในทางอุตสาหกรรมอาจมีการผลิตลำแสงเป็นช่วงสม่ำเสมอ (Pulsed Emission) โดยช่วงของลำแสงที่ผลิตจะเป็นจังหวะเดียวกันกับการอ่านค่าของกล้อง (Synchronization)

.

วิธีการนี้ยังช่วยลดสัญญาณรบกวนที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงอย่างอื่น เช่น ไฟถนน นอกจากนี้การตั้งกล้องให้อ่านค่าสัญญาณแสงเป็นจังหวะยังสามารถป้องกันไม่ให้กล้องเกิดอาการบอด “Blinded” เมื่อรับแสงความยาวคลื่น 808 nm ที่ส่องมาจากรถคันอื่น

.

ในที่สุดแล้วเราสามารถจะพิสูจน์ได้ว่าแหล่งกำเนิดแสงประเภท LED มีราคาที่คุ้มค่าที่สุด โดยทีมของ Moisel จากบริษัท Daimler Chrysler ทำการสร้างต้นแบบ LED Chips ขนาด 0.3 mm เป็น Array 5 x 15 ที่ต่อตรงไว้กับตัวระบายความร้อนทองแดง (Copper Heat-sink)

.

ตัวอย่างเช่น แหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ชนิด Power Laser ขนาด 1 W จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 25 ยูโร โดยเป็นราคาที่อ้างอิงตามข้อมูลตามท้องตลาดที่อ้างอิงโดย Moisel แต่ถ้าเป็นหลอด LEDs อินฟราเรด จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 5 ยูโร ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าหลอด LED ชนิด Power Laser อย่างไรก็ตามเขายังได้อธิบายต่อว่ากุญแจสำคัญอยู่ที่ขนาดของจุดกำเนิดแสงที่ต้องการออกแบบ

.

โดยปกติแล้วขนาดจะถูกกำหนดตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและการตกแต่งให้รถยนต์มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ยิ่งถ้าต้องการขนาดของไฟหน้าส่องสว่างเล็กเท่าไหร่ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้แหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ แต่ถ้าเรื่องขนาดไม่ใช่เรื่องสำคัญหลอด LEDs อินฟราเรดจะเป็นทางเลือกที่ถือว่ามีราคาถูกมากสำหรับเป็นแหล่งกำเนิดแสงในการส่องสว่างของระบบมองภาพกลางคืน

.

ข้อมูลอ้างอิง
1. OLE magazine, January 2005
2. 
http://www.marlow.com
3. http://www.electronics-cooling.com/Resources/EC_Articles

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด