เนื้อหาวันที่ : 2009-12-10 09:39:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4148 views

รายงานการใช้พลังงานทดแทน Hydrogen Technology (ตอนที่ 2)

คำว่า เซลล์เชื้อเพลิง สำหรับคนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนคงเป็นอะไรที่นึกภาพไม่ออก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1960 ที่ได้มีการนำไฮโดรเจนมาใช้ในการขับเคลื่อนยานอวกาศ นับแต่นั้นอีกกว่า 160 ปี จนกระทั่งปัจจุบันถึงได้มีการนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาใช้จริงบนพื้นโลก จากก่อนหน้านี้ที่ปรากฏอยู่แค่ในนิยายวิทยาศาสตร์ สู่การนำไปใช้งานในห้วงอวกาศก่อนการนำมาใช้ที่ระดับพื้นโลก เซลล์เชื้อเพลิงนี้ถือว่ามีศักยภาพสูงมากที่จะผลิกโฉมหน้าการใช้พลังงานในระบบขนส่งและการผลิตพลังงาน

สิริชนก จันทร์ใบ
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

.

.

วิสัยทัศน์และความท้าทาย

“ข้าพเจ้าเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสักวัน ระบวนการรวมตัวกันของไฮโดรเจนและออกซิเจนเกิดเป็นน้ำ จะกลายเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานความร้อนและแสงที่ไม่มีวันหมด” ที่มา หนังสือ “The Mysterious Island” แต่งโดย Jules Verne ปี ค.ศ. 1874

.

คำว่า เซลล์เชื้อเพลิง สำหรับคนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนคงเป็นอะไรที่นึกภาพไม่ออก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1960 ที่ได้มีการนำไฮโดรเจนมาใช้ในการขับเคลื่อนยานอวกาศ นับแต่นั้นอีกกว่า 160 ปี จนกระทั่งปัจจุบันถึงได้มีการนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาใช้จริงบนพื้นโลก จากก่อนหน้านี้ที่ปรากฏอยู่แค่ในนิยายวิทยาศาสตร์ สู่การนำไปใช้งานในห้วงอวกาศก่อนการนำมาใช้ที่ระดับพื้นโลก   

.

เซลล์เชื้อเพลิงนี้ถือว่ามีศักยภาพสูงมากที่จะผลิกโฉมหน้าการใช้พลังงานในระบบขนส่งและการผลิตพลังงาน  ซึ่งถ้าใช้ร่วมกับพลังงานทดแทนแล้วจะทำให้ระบบขนส่งและการผลิตพลังงานไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

.

ทั้งนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวอย่างมากในการทุ่มเทกำลังความสามารถไปกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนี้เพื่อนำมาใช้งานให้ได้จริงในเร็ววัน  ดังนั้นมาดูกันว่า ไฮโดรเจน ที่จะใช้เป็นตัวกลางสร้างพลังงานที่ไม่มีวันหมดนี้ (ไม่เรียกเชื้อเพลิง) จะเข้ามามีบทบาทในตลาดด้านระบบขนส่งและด้านพลังงานได้อย่างไร

.
1. จากเชื้อเพลิงธรรมชาติ (Fossils) สู่พลังงานทดแทน

เกาะ Vanuatu ที่ตั้งอยู่ทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย สูญเสียรายได้ทั้งหมดจากการส่งออกไปกับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้รัฐบาลตัดสินใจที่จะนำประเทศก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจบนฐานพลังงานไฮโดรเจน อีกทั้งบนเกาะนี้มีประชากรอาศัยอยู่เพียงแค่ 200,000 คน เท่านั้น

.

ทั้งนี้รัฐได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะหยุดการนำเข้าน้ำมันให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2010  และเพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้บรรลุผลรัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้า พลังงานขับเคลื่อนรถยนต์ระบบใหม่ เรือ และรถโดยสารประจำทาง ซึ่งคาดว่าแนวทางในการผลิตไฮโดรเจนบนเกาะ Vanuatu จะได้จากการใช้พลังงานทดแทน  

.

ถ้าพิจารณาทั้งวงจรการผลิตและการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง เราจะพบว่าตลอดทั้งกระบวนการก่อผลกระทบโดยตรงต่อธรรมชาติ เพราะน้ำมันต้องมีทั้งการขุดเจาะ กลั่น และขนส่งไปยังที่ที่มีความต้องการใช้ ซึ่งทุกขั้นตอนมีส่วนก่อมลภาวะเป็นพิษให้กับสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเป็นไฮโดรเจนสามารถที่จะผลิตขึ้นได้จากหลายกระบวนการและจากวัตถุดิบหลากหลายชนิด เช่นไบโอแมส เป็นต้น

.

หรือจะผลิตจากน้ำด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ก็ได้ และที่สำคัญโรงผลิตไฮโดรเจนสร้างขึ้นที่ไหนก็ได้และปรับได้หลายขนาด ตั้งแต่เล็กไปยังขนาดใหญ่ก็สามารถทำได้ ทำให้ไม่ต้องการระบบขนส่ง นำไปสู่การเพิ่มความคล่องตัวและเกิดการกระจายของแหล่งผลิตพลังงานย่อยอย่างทั่วถึง

.

โดยส่วนใหญ่แล้วประเทศที่กำลังพัฒนามักจะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การใช้แหล่งพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม อีกทั้งระบบการกระจายแหล่งพลังงานของประเทศเหล่านี้ก็ยังถือว่าไม่สมบูรณ์ เพราะยังเหลือระบบสาธารณูปโภคอีกหลายส่วนที่ต้องก่อสร้างเพิ่มเติม เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ

.

ดังนั้นการก่อสร้างระบบโครงสร้างเพื่อเป็นการรองรับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เฉพาะจุดน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า ซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งพาน้ำมันน้อยลง และส่งผลให้การนำไฮโดรเจนเข้ามาร่วมใช้กับแหล่งพลังงานทดแทนเกิดความสะดวกมากขึ้น

.

สำหรับประเทศที่ได้ก้าวเข้าสู่หรือกำลังจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนร่วมกับเทคโนโลยีไฮโดรเจนแล้ว ถือว่าเป็นการปลดปล่อยประเทศจากสภาพมลภาวะเป็นพิษและค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการนำเข้าแหล่งพลังงาน ซึ่งประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศกำลังพยายามถีบตัวเองออกจากปัญหาที่กำลังรุมเร้านี้อยู่

.

 เพราะบางประเทศในแถบเอเชียหรือแอฟริกาที่มีระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ น่าจะใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสที่ดีที่จะเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานย่อยแทนการก่อสร้างโรงกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อเป็นศูนย์กลางกระจายกระแสไฟฟ้าไปตามสายทองแดง เพราะทั้งเสาไฟฟ้าและสายไฟคิดเป็นต้นทุนราคาแพงมากทีเดียว 

.
- สิ้นสุดยุคการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง

ปัญหาอีกอย่างของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงคือ การที่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าปริมาณน้ำมันสำรองมีเหลืออยู่เท่าไหร่  สำหรับกลุ่มสหภาพยุโรปได้คาดการณ์ไว้ว่าการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 90% ในปี ค.ศ. 2020 โดยเฉพาะในส่วนของระบบขนส่งที่มีอัตราการพึ่งพาน้ำมันมากถึง 67%

.

ดังนั้นพลังงานทดแทนจึงเป็นแหล่งพลังงานอีกแหล่งที่สามารถรองรับการขาดแคลนเชื้อเพลิงในอนาคตได้ เช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติที่เป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดเหมือนกับน้ำมัน เพียงแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีให้ใช้ไปได้อีกนานสักเท่าไหร่ ซึ่งก๊าซธรรมชาติสำรองที่มีอยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรปน่าจะมีปริมาณเพียงพอที่จะใช้ไปได้อีกประมาณ 20 ปี ถ้าคงอัตราการบริโภคเท่ากับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

.

ดังนั้นการขยับจากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเป็นน้ำมัน สู่ก๊าซธรรมชาติแล้วก็เสมือนเป็นการย้ายจากการพึ่งพาแหล่งเชื้อเพลิงอย่างหนึ่งสู่อีกอย่างเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ไม่เหมือนกับไฮโดรเจนซึ่งเป็นเสมือนเชื้อเพลิงที่ไม่มีวันหมดและผลิตได้จากวัตถุดิบหลายชนิด สามารถเปรียบได้กับกระแสไฟฟ้าที่ให้อิสระกับผู้บริโภคสูงมากเพราะสามารถผลิตได้หลายวิธี

.

ยกตัวอย่างเช่นจากพลังงานน้ำอย่างเขื่อน หรือพลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ไฮโดรเจนเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปในตัว ซึ่งขณะนี้พบว่าประเทศที่มีอัตราการนำเข้าน้ำมันสูงสุดสามอันดับแรก  อย่างเช่น  สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมัน ขยับมาเป็นสามประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนไปแล้ว

.
- เทคโนโลยีและการพัฒนา

ตลาดของเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น  โดยมีบริษัทเช่น  International Fuel Cells และ General Electric ที่ได้ทำการเปิดตลาดการขายเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าและความร้อนขนาดใช้ในครัวเรือนไปแล้วในช่วงปี ค.ศ. 2002

.

นอกจากนี้ยังมีอีกบริษัทคือ Coleman ที่ได้เปิดตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าที่ส่งกำลังด้วยเซลล์เชื้อเพลิง แถมหม้อแปลงไฟฟ้ายังไม่สร้างมลภาวะจึงสามารถนำมาใช้ภายในอาคารได้ นอกจากนี้ในแถบสแกนดิเนเวีย เช่นใน ไอซ์แลนด์ มีบริษัท DCH Technologies ที่ได้เริ่มขยายตลาดตัวเก็บประจุไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อรองรับเทคโนโลยีไฮโดรเจนแล้ว

.

นอกจากนี้ยังมีบริษัท Ballard ที่เป็นผู้ผลิตรายแรกที่ตั้งโรงงานผลิตเซลล์เชื้อเพลิงขึ้นในปี ค.ศ. 2001 โดยได้ผลิตแหล่งกำเนิดพลังงานแบบพกพาสำหรับใช้ในรถยนต์ รถบัส รวมทั้งขยายไปยังโทรศัพท์มือถือ รถเข็นคนพิการอัตโนมัติ คอมพิวเตอร์แบบพกพา สกรูไดรเวอร์ไฟฟ้า กล้องวีดีโอ และอุปกรณ์พกพาทั้งหลาย               

.

ถ้าเทียบกับแบตเตอรี่ขนาดกำลังวัตต์เดียวกันแล้วเซลล์เชื้อเพลิงมีข้อดีมากกว่าหลายเท่า เช่น เบากว่า มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า และยังใช้เวลาสั้นกว่าในการชาร์จพลังงาน

.

รูปที่ 1 ระบบส่งกำลังที่พัฒนาโดย a) กลุ่มความร่วมมือUTC Fuel Cells b) Ballard Power Systems

.

รูปที่ 2  วงจรการใช้ไฮโดรเจนกับรถยนต์

.

โดยในช่วงของปี ค.ศ. 2003 - 2004 ที่ผ่านมา ได้มีการทยอยเปิดตัวต้นแบบ รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถบัส ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนออกมาไม่ขาดสาย (ตัวอย่างเช่น รูปที่ 2-12) ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และการเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์สันดาปภายในสู่การใช้รถไฮโดรเจนจะช่วยให้อากาศในตัวเมืองมีคุณภาพดีขึ้น

.

ทั้งยังเป็นการลดปัญหามลภาวะทางเสียงจากท้องถนนด้วย เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองให้ดีขึ้นมาก ซึ่งจะเห็นว่าการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนเมืองได้

.
• BMW รุ่น 7 series, MINI ใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงที่พัฒนาจากกลุ่มความร่วมมือนานาชาติ UTC power  และรุ่น  BMW H2R  

รูปที่ 3  Clean MINI

.
• DaimlerChrysler รุ่น F-Cell  เหมือนการนำรถรุ่น Mecedes-Benz A-Class  มาปรับให้ขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน 

รูปที่ 4  2004 Mercedes-Benz W169 A200

.
• Ford  รุ่น  Focus FCV  นำรุ่น  Focus  มาปรับแต่งเพื่อใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนขับเคลื่อนแทน

รูปที่ 5  Ford Focus Mk 2 ST

.
• General Motors  มีต้นแบบอยู่ด้วยกันหลายรุ่นเช่น Hy-wire และ HydroGen 3 ดูได้จาก Honda FCX

รูปที่ 6  2002 GM HY Wire Concept

.
• Honda ได้มีการทดลองใช้เชื้อเพลิงทดแทนหลายแบบ รวมทั้งเซลล์เชื้อเพลิง กับรถรุ่น Honda EV Plus

รูปที่ 7  2005 Honda FCX Concept

.
• Hyundai รุ่น Santa Fe FCEV ใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงที่พัฒนาจากกลุ่มความร่วมมือนานาชาติ UTC power  

รูปที่ 8  2005 Hyundai Tucson Hybrid

.
• Mazda รุ่น RX-8 เป็นเครื่องยนต์แบบโรตารี่ที่ใช้ได้กับเชื้อเพลิงสองระบบ ทั้งไฮโดรเจนและน้ำมันเบนซิน 

รูปที่ 9 Mazda RX-8

.
 Nissan รุ่น X-TRAIL FCV ใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงที่พัฒนาจากกลุ่มความร่วมมือนานาชาติ UTC power

รูปที่ 10  X-TRAIL FCV (Direct Hydrogen)

.

• Volkswagen และ Toyota  ก็กำลังพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์ไฮโดรเจนเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีสองถึงสามบริษัทที่กำลังทำการวิจัยเพื่อผลิตรถโดยสารประจำทางที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

• DaimlerChrysler ใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงที่พัฒนาโดยบริษัท Ballard
.

รูปที่ 11 A hydrogen-fuelled bus in Reykjavik, Iceland.

.

• Thor Industries (บริษัทผู้ผลิตรถบัสที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา) ใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงที่พัฒนาจากกลุ่มความร่วมมือนานาชาติ UTC power

• Irisbus ใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงที่พัฒนาจากกลุ่มความร่วมมือนานาชาติ UTC power
.

รูปที่ 12 Hydrogen fuel cell bus. IRISBUS. Madrid, 2003.

.

แต่ปัจจุบันนี้คนเรายังต้องอาศัยการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซล ซึ่งก่อปัญหามลภาวะอยู่ดี ถึงแม้ว่าเราจะพยายามนำไฮโดรเจนมาใช้ แต่ไฮโดรเจนยังไม่สามารถใช้ในการขับเคลื่อนรถบรรทุกขนาดใหญ่ได้

.

ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องลดการขนส่งสินค้าด้วยวิธีนี้ควบคู่กันไปด้วย และเปลี่ยนไปใช้เรือขนส่งที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนแทน หรืออาจจะใช้เรือบินที่บรรจุก๊าซฮีเลียมที่เบากว่าอากาศเพื่อให้เรือบินลอยได้ และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อน โดยพลังงานที่มอเตอร์ใช้มาจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในช่วงกลางวัน

.

ส่วนเวลากลางคืนจะขับด้วยการเผาไหม้ไฮโดรเจน โดยไฮโดรเจนเองจะถูกผลิตขึ้นระหว่างวันจากพลังงานส่วนหนึ่งของเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งเรือบินที่ว่าไม่ต้องการลูกเรือคอยควบคุม ใช้เพียงรีโมทควบคุมระยะไกลก็พอ ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยต่อชีวิตคนมากขึ้น

.

โดยในเยอรมนีมีบริษัทถึงสามแห่งที่กำลังจะสร้างเรือบินขับเคลื่อนด้วยหัวจักรต้นกำลังของรถไฟแบบทั่วไป ๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ บริษัท Zeppelin ซึ่งเป็นบริษัทที่เคยสร้างเรือบินประวัติศาสตร์ Hindenburg ที่เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้และตกที่นิวเจอร์ซี่ในปี ค.ศ. 1937 

.

แนวโน้มการเปลี่ยนชนิดของแหล่งกำเนิดพลังงานนี้ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี เพราะว่าในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมามีความพยายามในการพัฒนาและวิจัยหาระบบการผลิตพลังงานขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ต้นทุนต่ำโดยคำนึงถึงทั้งด้านแรงงานและต้นทุน

.

ซึ่งการผลิตพลังงานแบบศูนย์กลางต้องมีการขยายสายส่งกำลังมากขึ้นทำให้ศูนย์กลางที่ว่ากลายเป็นแหล่งปล่อยมลภาวะแหล่งใหญ่ อีกทั้งการขยายการส่งกำลังต้องเพิ่มจำนวนเสาไฟฟ้าแรงสูงที่เป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

.

พลังงานทดแทนแบบไฮโดรเจนนี้จะไม่สร้างมลภาวะใด ๆ กับสิ่งแวดล้อมและไม่มีสารปนเปื้อนจากโรงผลิตไฟฟ้าชนิดนี้เกิดขึ้น และยังผลให้การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตถูกล้มเลิกไปโดยปริยาย แม้เซลล์เชื้อเพลิงจะเป็นหน่วยผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กก็ตาม แต่กลับให้ประสิทธิภาพที่สูงกว่า

.

แต่ทั้งนี้การใช้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งผลิตพลังงานจะสร้างให้ใหญ่หรือเล็กก็ได้ขึ้นกับความต้องการของผู้บริโภค เพราะการขยายขนาดของหน่วยผลิตทำได้อย่างง่ายดายด้วยการเพิ่มจำนวนเซลล์เชื้อเพลิงให้มากขึ้นเท่านั้นเอง

.

ข้อดีของเซลล์เชื้อเพลิงที่ให้ประสิทธิภาพสูงถือเป็นส่วนดีที่สำคัญที่สุดของหน่วยกำเนิดพลังงาน และเซลล์เชื้อเพลิงไม่ต้องคอยเฝ้าควบคุมดูแลตลอดเวลา จึงสามารถใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมหรือใช้รีโมทควบคุมระยะไกลก็ยังได้ นอกจากนี้ข้อดีในเรื่องความเงียบทำให้โรงผลิตไฟฟ้าแบบนี้ติดตั้งในแหล่งชุมชนได้

.

ซึ่งความร้อนส่วนเกินจะไปช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้เขตพื้นที่ชุมชนในเมืองหนาวได้เป็นอย่างดี เช่น การทำน้ำร้อนที่ใช้ในครัวเรือน หรือใช้ในการอุ่นอากาศภายในที่อยู่อาศัย หรือยังใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้แหล่งพลังงานทดแทนชนิดนี้ให้สูงขึ้นไปอีก

.

การทดแทนด้วยแหล่งกำเนิดไฟฟ้าย่อยนี้เป็นการช่วยเพิ่มความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดีเพราะการใช้แหล่งกำเนิดพลังงานหน่วยย่อยนี้ทำให้เราลดค่าใช้จ่ายในการสร้างเสาไฟฟ้า สายเคเบิ้ลทองแดง ทั้งยังไม่ต้องไปเบียดเบียนพื้นที่ธรรมชาติเพื่อติดตั้งเสาไฟอีกด้วย ที่สำคัญที่สุดเป็นการลดการสูญเสียพลังงานจากการส่งถ่ายไฟฟ้าระยะไกล เพราะถ้าคิดเป็นเงิน พลังงานสูญเสียจากการส่งระยะไกลนี้นับเป็นเม็ดเงินมหาศาลทีเดียว 

.

ต่อไปที่พักอาศัยรวมทั้งโรงงานจะต้องติดตั้งเซลล์เชื้อเพลิงของตัวเองเพื่อเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าและความร้อน  โดยอาจมีการใช้ร่วมกับ กังหันลม ความร้อนใต้พิภพ เซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งค่าใช้จ่ายสุทธิจะมีความคุ้มค่ามากกว่า

.

จนอาจเรียกได้ว่าไฮโดรเจนเป็นตัวนำพลังงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว (Smart Software Agents) เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายสุทธิที่คุ้มค่าแล้วยังเป็นการผลิตเชื้อเพลิงที่ไม่มีวันหมดให้กับยานยนต์ทุกประเภท

.

โดยภาพรวมแล้วคาดว่าในอนาคตจะไม่เหลือผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่เพียงไม่กี่รายอีกต่อไป  แต่จะกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยที่มีจำนวนผู้ผลิตมากขึ้น

.
2. ความท้าทาย

ความท้าทายที่สำคัญของการขยายเทคโนโลยีไฮโดรเจนคือการขาดระบบโครงสร้างหลักรองรับการบริการและจำหน่ายไฮโดรเจน

.
- ระบบโครงสร้าง

รถยนต์ไฮโดรเจนรุ่นแรก ๆ คงจะขายได้ในกลุ่มยานยนต์ที่วิ่งอยู่ในเขตพื้นที่จำกัดเท่านั้น เช่น รถจำพวก รถแท็กซี่  รถบัส  รถบริษัทหรือรถประจำตำแหน่งบริการเฉพาะในเขตพื้นที่ รถเช่า ทำให้จุดบริการเติมไฮโดรเจนเพียงไม่กี่จุดก็เพียงพอต่อการรองรับความต้องการใช้ไฮโดรเจนได้ แต่ถ้าต้องการขยายการใช้ไฮโดรเจนสู่รถยนต์ส่วนบุคคลในวงกว้างแล้วละก็ คงต้องมีการวางระบบโครงสร้างและศูนย์บริการไฮโดรเจนให้มากขึ้น 

.

ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมนีอย่าง BMW ได้ทำการผลิตรถยนต์ที่สามารถใช้กับเชื้อเพลิงได้สองระบบคือทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและไฮโดรเจน โดยเก็บแยกถังกัน เพราะในกรณีฉุกเฉินที่ไฮโดรเจนหมดก็สามารถเติมน้ำมันแทนได้

.

ซึ่งในเครื่องยนต์รุ่นปัจจุบันสามารถใช้เทคนิคการปรับแต่งเครื่องยนต์ที่ไม่ยุ่งยากเพื่อให้รถใช้ได้ทั้งสองระบบ แต่ทั้งนี้ทาง BMW เองประมาณการณ์ไว้ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้จะมีสถานีให้บริการไฮโดรเจนเพิ่มมากขึ้น

.
- ต้นทุน

แต่ต้นทุนของอุปกรณ์ในระบบการผลิตไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิงกลายมาเป็นอุปสรรคใหญ่ในการนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาใช้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาของเซลล์เชื้อเพลิงมีราคาแพงอยู่ที่ตัวคะตะลิสที่ต้องใช้คือ ทองคำขาว

.

โดยขณะนี้มีความต้องการใช้ทองคำขาว 1 กรัมต่อการผลิตไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ (โดยราคาต่อหน่วยกรัมของทองคำขาวเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544  มีราคาอยู่ที่ 15 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยในปี 2004 กลุ่มความร่วมมือ PNGV ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของอเมริกัน ตั้งเป้าว่าจะลดอัตราการใช้ทองคำขาวให้เหลือเพียง 0.2 กรัมต่อการผลิตไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์

.

ส่วนบริษัท Ford และ Toyota ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจน โดยทั้งสองบริษัทนี้ถือว่ามีชื่อเสียงมายาวนานในการเป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผสมกับวิธีการลดต้นทุนด้วยกระบวนการผลิตในปริมาณมาก ๆ (Mass Production) 

.

ทั้งนี้งานวิจัยที่พัฒนาโดยบริษัท ฟอร์ด [Ford 1999] ชี้ให้เห็นว่าราคาของเซลล์เชื้อเพลิงสามารถปรับลดลงมาได้เท่ากับเครื่องยนต์สันดาปภายในในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งท้าทายหลัก ๆ ในขณะนี้คือการผลิตจริงแบบ Mass Production ให้ได้ เพราะขณะนี้รถยนต์ไฮโดรเจนยังเป็นเพียงต้นแบบเท่านั้น

.
- การเก็บและบรรจุ

ไฮโดรเจนเป็นตัวกลางที่มีพลังงานต่อหน่วยน้ำหนักสูงมาก แต่กลับให้พลังงานต่อหน่วยปริมาตรต่ำมาก (เนื่องจากอยู่ในสภาวะก๊าซ) ซึ่งสถานะภาพก๊าซของไฮโดรเจนนี้สร้างปัญหาให้กับการกักเก็บเป็นอย่างมาก ถ้าต้องการเก็บเข้าไปในเนื้อที่ที่จำกัด โดยวิธีการเก็บไฮโดรเจนยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา วิธีการเก็บไฮโดรเจนมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน

.

อันได้แก่การใช้ถังความดันสูง หรือการใช้ถังความเย็นต่ำมาก (Cryogenic) ซึ่งก็ยังถือว่าไม่เหมาะแก่การกักเก็บและการนำมาใช้สักเท่าไหร่ โดยงานวิจัยที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้มุ่งไปพัฒนาวัสดุรูพรุนที่สามารถกักเก็บไฮโดรเจนได้ในภาวะความดันบรรยากาศและที่อุณหภูมิห้อง ทั้งนี้นาโนเทคโนโลยีก็มีส่วนช่วยพัฒนาวิธีการกักเก็บไฮโดรเจนด้วยเช่นกัน โดยเก็บไว้ในคาร์บอนนาโนทิวป์ 

.
- มาตรฐานและระเบียบกฎหมาย

การร่วมกันตั้งมาตรฐานสากลจะช่วยให้การออกแบบระบบไม่เกิดขั้นตอนซ้ำซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบใหม่เพื่อรองรับมาตรฐานหรือข้อกำหนดด้านความปลอดภัย ซึ่งการวางมาตรฐานควรจะวางอยู่บนหลักการการตอบสนองและสนับสนุนการค้าเทคโนโลยีไฮโดรเจนในระดับสากล ดังนั้นองค์กรมาตรฐานสากลอย่าง ISO ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการตั้งกรรมการเพื่อร่วมกันร่างมาตรฐานเทคโนโลยีไฮโดรเจน (ISO/TC 197–Hydrogen technology)

.
โดยในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1999 ได้มีการตีพิมพ์มาตรฐานฉบับแรก คือ [Bose, Gingers 2000]:

• ISO 13984 “Liquid Hydrogen - Land vehicle fuelling system interface” (เกี่ยวกับการใช้ไฮโดรเจนเหลวในยานยนต์ภาคพื้น)
ต่อมาได้มีมาตรฐานอีก 7 ฉบับที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการร่างดังนี้

.

• ISO 13985 “Liquid Hydrogen–Land vehicle tanks” (เกี่ยวกับการใช้ไฮโดรเจนเหลว และถังเก็บสำหรับยานยนต์ภาคพื้น)
• ISO 13986 “Tank containers for multimodal transportation of liquid hydrogen” (เกี่ยวกับถังเก็บไฮโดรเจนเหลวเพื่อการขนส่งหลายลักษณะ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ)

.

• ISO 15594 “Airport hydrogen fuelling facility” (เกี่ยวกับระบบโครงสร้างและจุดบริการเติมไฮโดรเจนสำหรับอากาศยาน)
• ISO 15866 “Gaseous hydrogen and hydrogen blends–Service stations” (เกี่ยวกับ สถานีบริการเติมก๊าซไฮโดรเจนและไฮโดรเจนผสม)

.

• ISO 15869 “Gaseous hydrogen and hydrogen blends–Land vehicle fuel tanks” (เกี่ยวกับถังจุก๊าซไฮโดรเจนและไฮโดรเจนผสมสำหรับยานยนต์ภาคพื้น)

.

• ISO 15916 “Basic requirements for the safety of hydrogen systems” (ข้อกำหนดพื้นฐานเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับระบบการใช้ไฮโดรเจน)

.

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือภายในกลุ่มสหภาพยุโรป อย่าง EIHP (the European Integrated Hydrogen Project) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและตัวแทนรัฐบาลที่กำลังร่วมกันร่างมาตรฐานยุโรปเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนในยุโรปโดยเฉพาะ

 .
- หัวข้อด้านความปลอดภัย/ฐานความรู้ยังที่ขาดหาย

จากข้อมูลกระทั่งปัจจุบันพบว่าไม่มีอุปสรรคทั้งทางเทคนิคหรือทางด้านความปลอดภัยที่จะขวางกั้นการนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนทั้งในส่วนของยานยนต์และระบบขนส่ง หรือไม่ว่าจะเป็นระบบการสำรองพลังงานขนาดกลาง เพราะการใช้ไฮโดรเจนมีความปลอดภัยมากกว่าหรืออย่างน้อยก็เท่ากับเครื่องยนต์ในปัจจุบันนี้

 .

ทั้งนี้การศึกษาเทคโนโลยีไฮโดรเจนไม่ว่าจะเป็นใน เยอรมนี นอร์เวย์ และแคนนาดา ยังเป็นเพียงการศึกษาเกี่ยวกับการผลิตหรือสกัดไฮโดรเจนจากธรรมชาติเท่านั้น แต่ฐานความรู้ลงลึกในเทคโนโลยีของไฮโดรเจนรวมทั้งเซลล์เชื้อเพลิงเองยังถือว่าไม่เพียงพอ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคใหญ่ในการนำไฮโดรเจนมาใช้งานจริงให้ได้ในระบบขนส่งมวลชน

 .

จากการทดลองใช้รถบัสไฮโดรเจน  Nebus บริการในเขตเมืองหลวงของนอร์เวย์ คือเมืองออสโล (Oslo) ทำให้เราทราบว่าจริง ๆ แล้วผู้คนรู้จักเทคโนโลยีไฮโดรเจนจากภาคการศึกษาในโรงเรียน ดังนั้นการกระจายข้อมูลหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ควรจะต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่การศึกษาในโรงเรียนทุกระดับชั้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มวัยรุ่นจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่กลัวการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ดูได้จากโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และอื่น ๆ

 .

แต่ที่สำคัญควรมีการฝึกฝนผู้เชี่ยวชาญควบคู่กันไปด้วยเพื่อรองรับเทคโนโลยีไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิงโดยเฉพาะ เพราะการขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญจะเป็นข้อจำกัดหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ไป โดยกลุ่มคนที่ต้องได้รับการบ่มเพาะได้แก่ผู้เชี่ยวชาญในด้านมอเตอร์ไฟฟ้า เพราะรถที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการส่งกำลังเป็นหลัก

.

ทั้งนี้ยังต้องครอบคลุมไปถึงบุคลากรในอู่ซ่อมรถที่ต้องผ่านการอบรมจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเทคโนโลยีไฮโดรเจน และสุดท้ายบุคลากร ณ สถานีบริการไฮโดรเจน ก็มีส่วนช่วยให้การนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาใช้ได้ง่ายขึ้น ที่จริงการเติมไฮโดรเจนมีขั้นตอนไม่ต่างจากการเติมก๊าซธรรมชาติเลย ดังนั้นในสถานีบริการที่ผู้ให้บริการมีความคุ้นเคยกับระบบการเติมก๊าซธรรมชาติอยู่แล้ว คงไม่เป็นปัญหาถ้าจะเปลี่ยนไปเป็นไฮโดรเจนแทน

.
- เมธานอลและก๊าซธรรมชาติ

สำหรับการเปลี่ยนจากยุคการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงสู่การใช้ก๊าซธรรมชาติ คงจะเสมือนเป็นช่วงต่อเพื่อปูทางเข้าสู่ยุคของไฮโดรเจน  ซึ่งถือว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่มีวันหมด ทั้งนี้เพราะว่าทั้งเมทานอลและก๊าซธรรมชาติล้วนเป็นเชื้อเพลิงประเภทคาร์โบไนเฟอรัส (ประกอบด้วยคาร์บอนเป็นหลัก) ซึ่งเมื่อเผาไหม้จะให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ยากจะขจัดและแยกออก

.

ทั้งนี้การขยายระบบโครงสร้างเพื่อรองรับการใช้เมทานอลและก๊าซธรรมชาติคงเป็นทางเลือกที่ไม่ดีนัก เพราะว่าการใช้เชื้อเพลิงทั้งสองอย่างไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาภาวะเรือนกระจกได้เลย และที่แย่ยิ่งกว่าคือถ้าเกิดการขยายการใช้เชื้อเพลิงทั้งสองประเภทมาก ๆ อาจจะเป็นเพียงการย้ายจากการแหล่งพึ่งพาแหล่งเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัดแหล่งหนึ่งสู่อีกแหล่งเท่านั้น และยังเป็นการชะลอการพัฒนาและก่อสร้างระบบโครงสร้างรองรับเทคโนโลยีไฮโดรเจนให้ช้าลงไปอีก

.

ถ้าเราเปรียบเทียบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการเผาไหม้เมธานอล พบว่าจะมีอัตราการปล่อยลดลงจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงถึง 30–40% ทำให้มีแนวโน้มที่จะใช้รถยนต์สันดาปภายในแบบไฮบริดจ์ (ผสม) ที่สามารถช่วยลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง จะคล้ายกับการใช้เซลล์เชื้อเพลิงเมทานอล [ข้อมูล: Automotive World, March 2000]

.

แต่สำหรับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันแล้วน่าจะมีแนวโน้มที่จะพัฒนาระบบโครงสร้างเพื่อรองรับการใช้เมธานอล  เพราะว่าถ้าพวกเขายังต้องการรักษาความเป็นผู้นำด้านการจำหน่ายเชื้อเพลิงแล้ว คงไม่ยากที่จะเปลี่ยนมาขายเมทานอลแทน แต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมคงไม่ใช่หัวข้อที่ได้รับการพิจารณาจากกลุ่มนักธุรกิจส่วนนี้สักเท่าไหร่

.

สำหรับรถบัสที่ใช้ก๊าซธรรมชาติดูเหมือนว่าจะมีข้อเสียมากกว่าการใช้รถบัสที่เติมเชื้อเพลิงดีเซลธรรมดาเสียอีก  เพราะก๊าซธรรมชาติเมื่อเผาไหม้แล้วจะปล่อยก๊าซก่อภาวะเรือนกระจกในปริมาณที่มากกว่า ในรูปของก๊าซมีเทน แต่ภาพลักษณ์ของรถบัสที่ใช้ก๊าซธรรมชาติดูเหมือนจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพราะลดปริมาณการปล่อยฝุ่นและอนุภาคในอากาศลงมาก

.

แต่โดยภาพรวมแล้วไม่ได้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพราะอย่างที่เคยกล่าว ก๊าซมีเธนที่ได้จากการเผาไหม้ของก๊าซธรรมชาติมีความสามารถในการกักเก็บความร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่เท่ากันถึงยี่สิบเอ็ดเท่าตัวเลยทีเดียว (ก่อภาวะโลกร้อนได้มากกว่าถึง 21 เท่า)

.
ข้อมูลอ้างอิง

1. http://www.bmwworld.com/models/mini/hydrogen.htm
2. 
http://www.ottawahyundai.com
3. http://www.nissan-global.com
4. http://www.benzworld.org/forums
5. http://www.gm.com/company/gmability/sustainability/reports/05
6. http://www.ariema.com/english.htm
7. Automotive World, (2000), mars.
8. Berry, G., (1996). "Hydrogen as a Transportation Fuel: Costs and Benefits," Lawrence Livermore Laboratory, UCRL-ID-123465, mars 1997.
9. DOE, (2000) "DOE Hydrogen Program 2000"
http://www.doe.gov

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด