สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ เมื่อสองสามปีก่อน คำว่า Grexit (Greece+Exit คือความเสี่ยงที่กรีซอาจจะต้องออกจากยูโรโซน) เป็นความเสี่ยงที่สำคัญ และพูดถึงกันค่อนข้างมาก แต่มาในวันนี้ Brexit กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึงกันอีกครั้ง
Brexit มาจากคำว่า British + Exit คือ ความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักร (United Kingdom หรือ Great Britain) หรือที่คนไทยมักจะเรียกกันว่า อังกฤษ (England) จนเคยชิน อาจจะออกจากสหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งมีการจับตากันว่าวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ประชาชานในสหราชอาณาจักรจะลงประชามติอย่างไร ระหว่างการอยู่ต่อหรือขอถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)
สำหรับเหตุผลของการลงประชามตินั้น แบ่งเป็นสองฝั่งด้วยกัน เหตุผลของฝั่งสนับสนุนให้ถอนตัวนั้น ดูจะเป็นเหตุผลด้านการเมืองเสียมากกว่า ซึ่งฝั่งนี้มองว่า การอยู่ในสภาพยุโรปมีโทษมากกว่าประโยชน์ โดยเฉพาะประเด็นอธิปไตย และการออกกฎหมาย (โดยเฉพาะจากกรณีผู้อพยพ) และเห็นว่ากฎระเบียบต่าง ๆ จากสหภาพยุโรปเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ต้นทุนทางการคลังก็เสียไปเปล่า ๆ นอกจากนี้ ฝ่ายสนับสนุนเชื่อว่าต้นทุนการออกจากสหภาพยุโรปไม่น่าจะมาก เพราะยังไงน่าจะเจรจากันได้ และยุโรปก็ต้องพึ่งพาสหราชอาณาจักรเหมือนกัน
ส่วนเหตุผลของฝ่ายที่อยากให้อยู่ต่อ กังวลว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจของการออกจากสหภาพยุโรปอาจจะสูงมาก และความไม่แน่นอนหลักจากออกจากสหภาพยุโรปอาจจะมีสูงจนทำให้การลงทุนและเศรษฐกิจหยุดชะงักได้ ไม่รู้ว่าเงื่อนไขหลังจากออกจะเป็นอย่างไร สหราชอาณาจักรได้รับประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของยุโรป ซึ่งการค้ากว่าร้อยละ 60 ของเศรษฐกิจ เป็นการค้ากับสมาชิกในสหภาพยุโรป ที่ไม่มีกำแพงภาษีระหว่างกัน ซึ่งถ้าออกจากการเป็นสมาชิก นั่นอาจจะหมายความว่าสินค้าและบริการระหว่างสหราชอาณาจักร กับประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรปอาจจะต้องมีภาษีนำเข้าระหว่างกัน สหภาพยุโรปจะยอมให้สหราชอาณาจักรได้ปรับประโยชน์เสมือนเป็นประเทศในเขตการเสรีหรือไม่ แล้วการค้ากับประเทศอื่น ๆ ที่สหภาพยุโรปมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีไปแล้ว จะต้องเจรจากันใหม่หรือเปล่า แล้วระหว่างนั้นการค้าจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังเป็นศูนย์กลางการลงทุนและศูนย์กลางทางการเงินของยุโรป เพราะได้ประโยชน์จากเงื่อนไขและกฎระเบียบที่ใช้เหมือนกัน ถ้าวันหนึ่งสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสหภาพยุโรป แล้วสหภาพยุโรปไม่ยอมรับระเบียบการดูแลสถาบันการเงินของสหราชอาณาจักรขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันการเงินที่ใช้ลอนดอนเป็นศูนย์กลาง และอีกประเด็นคือ ถ้าออกจากสหภาพยุโรป ไอร์แลนด์เหนือและสกอตแลนด์ที่มีทีท่าอยากแยกตัวจากสหราชอาณาจักรอยู่แล้ว อาจจะใช้เป็นเงื่อนไขในการทำประชามติอีกรอบ เพื่อจะอยู่ต่อกับสหภาพยุโรป
ส่วนผลกระทบต่อประเทศไทยจากประเด็น Brexit นั้น คาดว่าจะไม่กระทบต่อไทยในเชิงการค้ามากนัก โดยมีสาเหตุมาจากสองปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ไทยและอียูยังไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น Brexit จึงจะไม่น่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร แต่ในอนาคตหากเกิด Brexit ขึ้นจริงไทยอาจต้องทำ FTA กับสหราชอาณาจักรโดยตรง นอกเหนือจาก FTA Thailand-EU และขอบเขตของ FTA กับอียูนั้นจะไม่ครอบคลุมถึงการค้ากับสหราชอาณาจักร อีกต่อไป และ 2. การส่งออกของไทยสู่สหราชอาณาจักรนั้นคิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการส่งออกรวมของไทย โดยสหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับที่ 18 ของไทย และสินค้าไทยส่งออกไปสหราชอาณาจักร คิดเป็นมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ หรือเพียง 1.5% ของการส่งออกทั้งหมด
ส่วนฟากทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในกรณีเลวร้ายหากเกิดความผันผวนในตลาดเงิน จากปรากฏการณ์ Brexit จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการดิ่งลงของค่าเงินปอนด์เป็นหลัก ผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ คิดเป็น 0.1-0.2% ของ GDP ไทย หรือมีมูลค่าราว 8,900-20,000 ล้านบาท โดยผลกระทบเหล่านี้จะยังดำเนินต่อเนื่องจนกระทั่งสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากอียูอย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาจจะใช้เวลาถึง 2 ปีจากนี้ ซึ่งนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบที่แท้จริง และจะส่งผลต่อไทยในวงกว้างมากยิ่งขึ้น สำหรับบางอุตสาหกรรมในบ้านเราอาจจะได้รับผลกระทบบ้างต่อการค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดครับ
เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
sedthakarn@se-ed.com