Industrial Management

อุตสาหกรรมไทยกับทักษะแรงงานในศตวรรษที่ 21

ผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์

ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม

Kittipoom.me@spu.ac.th

 

 

การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างความสมดุลและยั่งยืน ความอ่อนแอของอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางทั้งในแง่ของการมีมูลค่าเพิ่มต่อคนงานต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านและความอ่อนแอที่เกิดจากการขาดพลวัตรในการเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นปัญหาที่ต้องรีบผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยน แรงงานภาคอุตสาหกรรมจะต้องถูกเพิ่มศักยภาพและเป็นกุญแจหลักในการทำให้ประเทศสามารถแข่งขันและก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ในโลกศตวรรษที่ 21 ได้อย่างยั่งยืน

 

          การสร้างสมรรถนะในการแข่งขันและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน เป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งต้องเน้นในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเพิ่มผลิตภาพและคุณค่าของสินค้าและบริการบนฐานความรู้ การปรับโครงสร้างการผลิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ การปฏิรูปองค์กร การปรับปรุงกฎระเบียบ การพัฒนาระบบมาตรฐานในด้านต่าง ๆ การดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศให้สนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิต การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคและการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

          ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาทักษะแรงงาน เนื่องจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาทักษะแรงงานมีลักษณะเป็นสินค้ามหาชนที่ผู้ลงทุนอาจไม่สามารถตักตวงผลประโยชน์กลับคืนได้คุ้มกับเงินลงทุน เนื่องจากสามารถลอกเลียนผลการวิจัยกันได้ แต่ผลการวิจัยสามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนบุคคล การวิจัยเป็นที่ลงทุนสูงแต่เสี่ยงที่จะไม่ค้นพบอะไรเลย ภาคเอกชนมักขาดบุคลากรที่มีความสามารถด้านวิจัยและพัฒนา ภาครัฐจึงมีความจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงหาหนทางสนับสนุนให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและทักษะแรงงาน เพื่อนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้อย่างสมภาคภูมิ

 

การผลิตบัณฑิตไทยเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน

  

          ผู้รับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาของประเทศล้วนทราบดีว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม การแข่งขันทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและภาคครัวเรือนทวีความรุนแรงทำให้สถาบันการศึกษาต้องเร่งผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานในเชิงปริมาณแต่ก็ยังเกิดปัญหาเพราะปริมาณบัณฑิตทางสังคมศาสตร์กลับเพิ่มสวนทางกับสายวิทยาศาสตร์ที่เป็นความต้องการของประทศไทย 

 

          แม้ธุรกิจอุตสาหกรรมบริการซึ่งอยู่ในสายสังคมศาสตร์จะมีการขยายตัวสูงแต่คนที่มีศักยภาพที่พร้อมจะป้อนเข้าสู่ธุรกิจนี้กลับสวนทางในเชิงที่มุ่งตัวเลขทางปริมาณมากกว่าด้านคุณภาพ ส่วนการผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ใช้เทคโนโลยีก็ยังเป็นภาระอันหนักอึ้งเพราะเด็กไทยบางส่วนยังชอบที่จะประสบผลสำเร็จง่าย สบาย โดยเฉพาะต้องจบเร็ว รวยเร็ว

ปัญหาด้านสังคมก็ขยายตัวตามขนาดสังคมเมืองเช่นเดียวกัน สภาวะยากจนและเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อความสงบสุขของคนในสังคม การเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและภูมิปัญญาไทยแม้มากขึ้นแต่ก็ยังไม่ปฏิบัติให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

 

          เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ สถาบันการศึกษาจึงพยายามผลิตแรงงานที่สมบูรณ์ทั้งในมิติด้านร่างกายคือเป็นผู้ที่สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมีการพัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญาอย่างสมบูรณ์ ตามเกณฑ์ในแต่ละช่วงวัย สมบูรณ์ในมิติด้านจิตใจคือเป็นผู้ที่รู้จักเข้าใจตนเอง เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เข้าใจสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัวได้เป็นอย่างดี ส่วนมิติที่จำเป็นและขาดไม่ได้คือความรู้ ต้องเป็นผู้ที่สามารถรู้ลึกในแก่นสาระของวิชา สามารถรู้รอบตัวในเชิงสหวิทยาการ และเป็นผู้ที่สามารถรู้ได้ไกล สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตที่จะมาถึงได้ควบคู่กับมิติด้านทักษะความสามารถ คือผู้ที่มีทักษะในด้านการคิด ทักษะการสื่อสาร ทักษะภาษาต่างประเทศ ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะทางสังคม ทักษะการอาชีพ ทักษะทางสุนทรียะ และทักษะการจัดการที่ดี สำหรับวิถีการเรียนรู้นั้นบัณฑิตไทยจะต้องเรียนรู้การพึ่งตนเองให้ได้ ใช้ความรู้ให้เป็น ตัดสินใจเองอย่างมีเหตุผลทางสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก มีพลังในการทำงาน ใส่ใจ ตั้งใจ รับผิดชอบ เตรียมตัวสร้างฐานอาชีพ ครอบครัว เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน ชาติ จิตสำนึกต่อสังคม เป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นกัลยาณมิตร

 

กระบวนการเรียนรู้ในยุคการผลิตแห่งศตวรรษที่ 21

  

          การถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือการยกระดับทักษะของบุคลากรในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงนั้น สถาบันการศึกษาที่ผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะต้องปรับทักษะต่าง ๆ ที่ใส่ลงไปในหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกศตวรรษที่ 21

 

          การจัดกระบวนการเรียนรู้ (Pedagogy) ในศตวรรษที่ 21 จะต้องออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง การอำนวยความสะดวกและการเสนอแนะเพื่อการเข้าถึงองค์ความรู้ผ่าน Technology ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้ได้รวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้นโดยลำดับ เราเรียกกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ว่า Active Learning ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centered)

 

          ในศตวรรษที่ 21 สถานการณ์โลกมีความแตกต่างจากศตวรรษที่ 20 และ 19 ระบบการศึกษาจึงต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริง ในประเทศสหรัฐอเมริกาแนวคิดเรื่อง "ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" ได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยบริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟท์ บริษัทวอลส์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ รวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เครือข่าย P21

 

          หน่วยงานเหล่านี้มีความกังวลและเห็นความจำเป็นที่เยาวชนจะต้องมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตและเข้าสู่โลกอาชีพที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 19 และ 20 จึงพัฒนาวิสัยทัศน์และกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21ขึ้น  ซึ่งสามารถสรุปทักษะสำคัญอย่างย่อ ๆ ที่เยาวชนควรมีคือ

 

ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม หรือ 3R และ 4C ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้

 

          3 R ได้แก่ (1) Reading หรือ การอ่าน (2) Writing หรือ การเขียน และ (3) Arithmetic หรือ คณิตศาสตร์ และ  

         

          4 C ได้แก่ (1) Critical Thinking หรือ การคิดวิเคราะห์ (2) Communication หรือ การสื่อสาร (3) Collaboration หรือ การร่วมมือ และ (4) Creativity หรือ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่ 

 

          ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคแห่งการพัฒนาต่อยอดการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ใช้อำนวยความสะดวกในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ถ้าประชาชนไทยเป็นผู้ซื้อหรือผู้บริโภคแต่ฝ่ายเดียว เราก็จะเสียดุลการค้าและที่สำคัญคือคนในชาติจะถูกชักจูงทางความคิดได้ง่าย สำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้ นักการศึกษาให้ความเห็นว่าต้องเปลี่ยนจาก Passive Learning มาเป็น Active Learning 

 

ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21

 

          ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช (2555: 16-21) ได้กล่าวถึงทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ว่า สาระวิชามีความสำคัญแต่ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เพื่อมีชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันการเรียนรู้สาระวิชา (Content หรือ Subject Matter) ควรเป็นการเรียนจากการค้นคว้าเองของผู้เรียน โดยผู้สอนจะช่วยแนะนำ และช่วยออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนแต่ละคนสามารถประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนเองได้

 

          ส่วนสาระวิชาหลัก (Core Subjects) ประกอบด้วย ภาษาแม่ และภาษาสำคัญของโลก ศิลปะ คณิตศาสตร์ การปกครองและหน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ โดยวิชาแกนหลักนี้จะนำมาสู่การกำหนดเป็นกรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์สำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ในเนื้อหาเชิงสหวิทยาการ (Interdisciplinary) หรือหัวข้อสำหรับศตวรรษที่ 21

 

การส่งเสริมความเข้าใจในเนื้อหาวิชาแกนหลักและสอดแทรกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เข้าไปในทุกวิชาแกนหลักสามารถทำได้ดังนี้

 

  1. ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม จะเป็นตัวกำหนดความพร้อมของผู้เรียนเข้าสู่โลกการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่ ความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา และการสื่อสารและการร่วมมือ
  2. ทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี เนื่องด้วยในปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อและเทคโนโลยีมากมาย ผู้เรียนจึงต้องมีความสามารถในการแสดงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและปฏิบัติงานได้หลากหลาย โดยอาศัยความรู้ในหลายด้าน ได้แก่ ความรู้ด้านสารสนเทศ ความรู้เกี่ยวกับสื่อและความรู้ด้านเทคโนโลยี
  3. ทักษะด้านชีวิตและอาชีพ ในการดำรงชีวิตและทำงานในยุคปัจจุบันให้ประสบความสำเร็จ ผู้เรียนจะต้องพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญ ได้แก่ ความยืดหยุ่นและการปรับตัว การริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง ทักษะสังคมและสังคมข้ามวัฒนธรรม การเป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิต (Productivity) และความรับผิดชอบเชื่อถือได้ (Accountability) และ ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (Responsibility)

 

แนวทางการจัดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นสมรรถนะทางสาขาวิชาชีพ

 

          การจัดทำแนวทางการจัดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นสมรรถนะทางสาขาวิชาชีพเพื่อพัฒนาทักษะแห่งอนาคตในศตวรรษที่ 21 ยึดกรอบของระบบสนับสนุนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ดังนี้

 

1. ระบบมาตรฐานการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (21st Century Standards)

 

 

          1.1 การใช้ข้อมูลความจริงจากกระบวนการสังเกตตั้งประเด็นคำถามจากแหล่งเรียนรู้ชุมชนเชื่อมโยงไปสู่สาระการเรียนรู้รายวิชา

          1.2 การบูรณาการความรู้ และความซ้ำซ้อนของเนื้อหาสาระ

          1.3 การสร้างทักษะการสืบค้น รวบรวมความรู้

          1.4 การสร้างความรู้ ความเข้าใจเชิงลึกมากกว่าแบบผิวเผิน

          1.5 การสร้างความเชี่ยวชาญตามความถนัดและสนใจให้เกิดกับผู้เรียน

          1.6 การใช้หลักการวัดประเมินผลที่มีคุณภาพระดับสูง

 

2. ระบบการประเมินทักษะในศตวรรษที่ 21 (Assessment of 21st Century Skills)

 

          2.1 สร้างความสมดุลในการประเมินผลเชิงคุณภาพ อาทิ ความรู้ ความถนัดสาขาอาชีพ ทัศนคติต่อการทำงานและอาชีพ

          2.2 นำประโยชน์ของผลสะท้อนจากการปฏิบัติของผู้เรียนมาปรับปรุงการแก้ไขงาน โดยใช้เครื่องมือวัดผลตามสภาพจริงการปฏิบัติ ทัศนคติ และความรู้

          2.3 ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการทดสอบวัดและประเมินผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น คลังข้อสอบระบุตัวชี้วัดมาตรฐานรายวิชา ระบุระดับขั้นพฤติกรรม

          2.4 สร้างและพัฒนาระบบแฟ้มสะสมงาน (Portfolios) และเส้นทางการศึกษาต่อสู่การประกอบอาชีพ (Career Path) ของผู้เรียนให้เป็นมาตรฐานและมีคุณภาพ

 

3. ระบบหลักสูตรและการสอนในศตวรรษที่ 21 (21st Century Curriculum & Instruction)

  

          3.1 สอนให้เกิดทักษะการเรียนในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นเชิงสหวิทยาการ (Interdisciplinary) หรือความรู้ที่ได้จากหลายสาขาวิชาประกอบกันของวิชาแกนหลัก

          3.2 สร้างโอกาสที่จะประยุกต์ทักษะเชิงบูรณาการข้ามสาระเนื้อหาและสร้างระบบการเรียนรู้ที่เน้นสมรรถนะเป็นฐาน (Competency-based)

          3.3 สร้างนวัตกรรมและวิธีการเรียนรู้ในเชิงบูรณาการที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวเกื้อหนุน การเรียนรู้แบบสืบค้น และวิธีการเรียนจากการใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning: PBL)

          3.4 บูรณาการแหล่งเรียนรู้ (Learning Resources) จากชุมชนเข้ามาใช้ในสถาบันการศึกษาตามกระบวนการเรียนรู้แบบ Project-Based Learning: PBL

 

4. ระบบการพัฒนาทางวิชาชีพในศตวรรษที่ 21 (21st Century Professional Development)

 

          4.1 ฝึกฝนทักษะความรู้ความสามารถในเชิงบูรณาการ

          4.2 ใช้มิติของการสอนด้วยเทคนิควิธีการสอนที่หลากหลาย

          4.3 ฝึกฝนทักษะความรู้ความสามารถในเชิงลึกเกี่ยวกับการแก้ปัญหา การคิดแบบวิจารณญาณ

          4.4 สามารถวิเคราะห์ผู้เรียนได้ทั้งรูปแบบการเรียน สติปัญญา จุดอ่อน จุดแข็ง ในตัวผู้เรียนและสามารถวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน

          4.5 พัฒนาความสามารถให้สูงขึ้น นำไปใช้สำหรับการกำหนดกลยุทธ์และจัดประสบการณ์ทางการเรียนได้เหมาะสมกับบริบททางการเรียนรู้

          4.6 ประเมินผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทักษะและเกิดการพัฒนาการเรียนรู้

          4.7 แบ่งปันความรู้ระหว่างชุมชนทางการเรียนรู้ โดยใช้ช่องทางหลากหลายในการสื่อสารให้เกิดขึ้น

 

5. ระบบสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (21st Century Learning Environment)

 

          5.1 สร้างสรรค์แนวปฏิบัติทางการเรียน การรับการสนับสนุนจากบุคลากรและสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เกื้อหนุน เพื่อช่วยให้การเรียนการสอนบรรลุผล

          5.2 สนับสนุนทางวิชาชีพแก่ชุมชนทั้งในด้านการให้การศึกษา การมีส่วนร่วม การแบ่งปันสิ่งปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างกันรวมทั้งการบูรณาการหลอมรวมทักษะหลากหลายสู่การปฏิบัติในชั้นเรียน

          5.3 สร้างผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากสิ่งที่ปฏิบัติจริงตามบริบทโดยเฉพาะการเรียนแบบโครงงาน

          5.4 สร้างโอกาสในการเข้าถึงสื่อเทคโนโลยี เครื่องมือหรือแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

 

 

ทักษะการทำงานแห่งอนาคต 2020 (Future Work Skills 2020)

 

          สถาบันแห่งอนาคต (Institute for the Future หรือ IFTF) แห่งมหาวิทยาลัยฟีนิกซ์ มีการจัดเสวนาเรื่อง Future Work Skills 2020 เพื่อคาดการณ์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาได้ลงมติว่ามีทักษะสิบประการที่คนในยุคนี้และยุคหน้าต้องให้ความสนใจคือ

 

  1. ความสามารถในการทำความเข้าใจข้อมูลในระดับสูง (Sense-making) เพราะงานแรงงานส่วนใหญ่จะถูกยึดครองโดยเครื่องจักร แรงงานมนุษย์ต้องแข่งขันกันในงานที่ต้องการทักษะความคิดระดับที่สูงและซับซ้อนขึ้น
  2. ความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่น (Social Intelligence)
  3. ทักษะความคิดนอกกรอบและความคิดในเชิงปรับตัว (Novel & Adaptive Thinking)
  4. ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง (Cross-cultural Competency)
  5. ทักษะความคิดเชิงคอมพิวเตอร์ (Computational Thinking) หรือความสามารถในการย่อยข้อมูลจำนวนมหาศาล ทักษะเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ธรรมดาจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย และทักษะด้านสถิติ การคิดหาเหตุผลจากข้อมูลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
  6. ความเข้าใจในสื่อใหม่ (New-media Literacy) หรือความสามารถในการเข้าใจ ประเมิน วิเคราะห์ สังเคราะห์ สื่อที่หลากหลายรอบตัว
  7. ความเข้าใจความแนวคิดจากหลายสาขาอาชีพ (Transdisciplinarity) เพราะปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นในโลกปัจจุบัน เราจึงต้องการบุคลากรจากหลากหลายสาขาอาชีพ พูดง่าย ๆ คือต้องรู้ลึกในสาขาตนเองและรู้กว้างในสาขาอื่นไปพร้อม ๆ กัน
  8. ความสามารถในการนำเสนอและออกแบบงาน (Design Mindset)
  9. ความสามารถในการบริหารความจำ (Cognitive Load Management) ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยจัดการจัดเก็บและนำข้อมูลมาใช้ สมองมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการมาเพื่อจะทำความเข้าใจกับข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลและรวดเร็วอย่างในปัจจุบัน คนที่รับข้อมูลข่าวสารจนเกินพอดี หรือรับจนไม่สามารถจะรับได้ก็เกิดอาการกรดไหลย้อน คลื่นไส้ หรือมึนงงกับปริมาณข้อมูลจนสมองหยุดทำงาน
  10. ความสามารถในการทำงานร่วมกันในสิ่งแวดล้อมเสมือน (Virtual Collaboration) นั่นคือความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วยงานที่ต้องติดต่อสื่อสารระยะไกลกับทีมงานทั่วโลก

 

บทสรุป

 

          สถาบันการศึกษาไทยต้องเตรียมคนให้พร้อมเพื่อผลิตแรงงานที่มีคุณภาพในศตวรรษที่ 21 ป้อนแก่วงการอุตสาหกรรม  การสร้างคนในอนาคตที่มีความสามารถในการใช้และเลือกใช้แต่ไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีมีความจำเป็น การเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรมและความรับผิดชอบยิ่งสำคัญมากในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างโลกให้น่าอยู่ รวมถึงทักษะอื่น ๆ เช่น ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร การทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ความสามารถในการทำงานเป็นทีม ความสามารถในการเลือกใช้ข้อมูล ความคิดวิเคราะห์ ความคิดเชิงวิจารณญาณ ตัดสินจากเหตุผล ไม่ใช้อคติ อารมณ์ หรือเอาพวกพ้องเป็นสำคัญ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเป้าหมายของแรงงานในศตวรรษที่ 21 ด้วยเช่นกัน  

 

          การปลูกต้นกล้าทางปัญญาตามทักษะแห่งอนาคตใหม่ของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่เครือข่าย P21 ได้ให้แนวทางรวมถึง Future Work Skills 2020 ที่ IFTF ได้เสนอไว้นั้นน่าจะพอเป็นพื้นฐานให้สถาบันการศึกษาและภาคอุสาหกรรมไทยจะต้องร่วมมือกันสร้างให้เกิดขึ้นในเนื้อแท้และตัวตนของแรงงานในศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องเติบโตในเชิงคุณของภาพมากกว่าเชิงปริมาณ ถ้าทำได้สำเร็จอุตสาหกรรมไทยจะก้าวกระโดดและแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน

 

 

บรรณานุกรม
• วิจารณ์ พานิช. วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2555.
• วิจารณ์ พานิช. “การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21”.มูลนิธิสยามกัมมาจล [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.scbfoundation.com/publishing (สืบค้นข้อมูล : 10 สิงหาคม 2557).

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด