Safety & Healthcare

ความสำคัญของอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 17)

ศิริพร วันฟั่น

 

 

ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันในชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “CSR” กำลังกลายเป็นกระแสที่มาแรง ซึ่งหากจะมองโดยเผิน ๆ ก็จะเป็นแค่เรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเท่านั้น แต่หากจะมองให้ลึกซึ้งถึงที่ไปที่มาและความจำเป็นของซีเอสอาร์แล้ว คงต้องกลับไปดูกันตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุว่า ทำไมองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

 

          ตั้งแต่ตอนที่ 13-16 เราได้กล่าวถึงหัวข้อที่ (3) การดำเนินการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Implementing Responsible Production) ในหัวข้อย่อย (3.3) ชุดฝึกอบรมสำหรับการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Training Package) (ที่ประกอบไปด้วย 18 โมดูล พร้อมเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง) โดยได้กล่าวจนจบโมดูลที่ 1-4 และได้กล่าวต่อในเนื้อหาโมดูลที่ 5 การบ่งชี้และจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Identification and Classification) ในส่วนของระบบและสัญลักษณ์ที่ใช้ในการติดฉลากสารเคมีอันตราย ซึ่งใช้บังคับในสหภาพยุโรป โดยได้กล่าวจนจบระบบการจำแนกประเภท การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์สำหรับสารเดี่ยวหรือสารผสมของสหภาพยุโรป (ฉบับเดิม) รวมทั้งได้กล่าวต่อถึงระบบการจำแนกฯ ฉบับใหม่ ในส่วนของกรอบเวลาดำเนินการเปลี่ยนผ่าน และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง CLP (ฉบับใหม่) และ DSD/DPD (ฉบับเก่า) ที่ประกอบไปด้วย (1) คำศัพท์เฉพาะที่ใช้สำหรับการจำแนกประเภทและการติดฉลาก (Terminology) (2) การจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Classification) และ (3) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับฉลาก (Labels) ในข้อ 3.1-3.5

 

          ส่วนในบทความนี้ ก็จะมาว่ากันต่อในข้อ 3.6 ดังนี้

 

3. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับฉลาก (Labels) (ต่อ)

 

          3.6 ฉลากที่ควบรวมการขนส่งและการจัดหา (Combined Transport and Supply Labelling)

 

          เมื่อสารเดี่ยวและสารผสมที่อันตรายได้ถูกบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์เดี่ยว (Single Packaging) เช่น ถัง (Drum) หรือบรรจุภัณฑ์ชนิด IBCs ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายอาจจะตัดสินใจที่จะไม่ใช้รูปสัญลักษณ์ใด ๆ ของ CLP ถ้าจะเป็นการซ้ำซ้อนกับฉลากแสดงประเภทความเป็นอันตรายที่ติดไว้เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าอันตราย อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายจำเป็นต้องตรวจสอบฉลากทั้งหมดที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ ทั้งการจัดหาและการขนส่ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่หลงลืมข้อมูลใด ๆ บนฉลาก

 

ตารางที่ 38 แสดงข้อแตกต่างระหว่างองค์ประกอบของฉลากภายใต้ระเบียบ DSD/DPD และ กฎระเบียบ CLP

 

 

          ตัวอย่างที่ 3 เปรียบเทียบองค์ประกอบที่สำคัญบนฉลากภายใต้ระเบียบ DSD/DPD และกฎระเบียบ CLP โดยยกตัวอย่างเป็นสารกลูตาราลดีไฮด์ (Glutaraldehyde)

 

 

          ตัวอย่างที่ 4 ฉลากสำหรับสารเดี่ยวอันตราย (Hazardous Substance Label) ภายใต้กฎระเบียบ CLP

 

 

 

          ตัวอย่างที่ 5 ฉลากสำหรับสารผสมอันตราย (Hazardous Mixture Label) ภายใต้กฎระเบียบ CLP

  

 

          ตัวอย่างที่ 6 ฉลากควบรวมการจัดหาและการขนส่ง (Combined Supply and Transport Label) ภายใต้กฎระเบียบ CLP

 

 

 

4. เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheets: SDS)

  

          เป็นข้อกำหนดภายใต้กฎระเบียบ REACH ที่กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย ได้จัดทำเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารด้วยการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอตลอดซัพพลายเชน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งานสารเดี่ยวและสารผสมที่เกี่ยวข้อง โดยรูปแบบใหม่นี้ จะมีความสอดคล้องกับรูปแบบตามคำแนะนำของ GHS มากขึ้น และยังจะมีข้อมูลเพิ่มเติมที่สร้างขึ้นมาโดย REACH นอกจากนี้ 16 หัวข้อที่คุ้นเคยกัน รวมถึงข้อมูลในแต่ละส่วนของ SDS จะถูกจัดแจงภายใต้ชุดของหัวข้อย่อยมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการค้นหาข้อมูลตามที่ผู้ใช้ต้องการ ข้อกำหนดของ SDS ใหม่นี้ยังต้องการให้ส่วนย่อย (Subsection) ทั้งหมด ต้องมีการเติมเต็มข้อมูลในทุกส่วน โดยไม่ปล่อยให้มีที่ว่างอีกต่อไป แม้ในส่วนที่ 3 จะมีเพียงหัวข้อย่อย 3.1 (สำหรับสารเดี่ยว) และ 3.2 (สำหรับสารผสม) ก็ต้องมีการระบุให้เห็นด้วยเช่นกัน

 

          4.1. 16 หัวข้อของเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) (ที่อยู่ใน Annex II ของ REACH)

  

          1. การบ่งชี้สารเดี่ยว/ สารผสม และบริษัท/กิจการ (Identification of the Substance/Mixture and the Company/Undertaking) มีหัวข้อย่อย 4 ส่วน ได้แก่ 1.1 ตัวบ่งชี้ผลิตภัณฑ์, 1.2 ระบุสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเดี่ยวหรือสารผสม และข้อแนะนำในการใช้, 1.3 รายละเอียดผู้ผลิตที่จัดทำเอกสารข้อมูลความปลอดภัยนี้ และ 1.4 หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน

          2. การบ่งชี้ความเป็นอันตราย (Hazards Identification) มีหัวข้อย่อย 3 ส่วน ได้แก่ 1 การจำแนกประเภทสารเดี่ยวหรือสารผสม, 2.2 องค์ประกอบฉลาก และ 2.3 ความเป็นอันตรายอื่น ๆ

          3. องค์ประกอบและข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม (Composition/Information on Ingredients) มีหัวข้อย่อย 2 ส่วน ได้แก่ 1 สารเดี่ยว และ 3.2 สารผสม

          4. มาตรการปฐมพยาบาล (First Aid Measures) มีหัวข้อย่อย 3 ส่วน ได้แก่ 1 บรรยายถึงวิธีปฐมพยาบาล, 4.2 อาการหรือผลกระทบที่สำคัญ ทั้งแบบเฉียบพลันและเกิดขึ้นตามมาภายหลัง และ 4.3 ระบุถึงข้อควรพิจารณาทางการแพทย์ที่ต้องทำทันที และการดูแลรักษาเป็นการเฉพาะที่จำเป็น

          5. มาตรการผจญเพลิง (Firefighting Measures) มีหัวข้อย่อย 3 ส่วน ได้แก่ 1 สารดับเพลิง, 5.2 ความเป็นอันตรายเฉพาะที่เกิดขึ้นจากสารเดี่ยวหรือสารผสม และ 5.3 ข้อแนะนำสำหรับนักผจญเพลิง

          6. มาตรการจัดการเมื่อมีการหกรั่วไหลของสาร (Accidental Release Measures) มีหัวข้อย่อย 4 ส่วน ได้แก่ 6.1 ข้อควรระวังส่วนบุคคล อุปกรณ์ป้องกันอันตราย และขั้นตอนรับภาวะฉุกเฉิน,2 ข้อควรระวังด้านสิ่งแวดล้อม, 6.3 วิธีการและวัสดุสำหรับกักเก็บและทำความสะอาด และ 6.4 การอ้างอิงไปยังส่วนอื่น ๆ

          7. การขนถ่าย เคลื่อนย้าย ใช้งาน และการเก็บรักษา (Handling and Storage) มีหัวข้อย่อย 3 ส่วน ได้แก่ 7.1 ข้อควรระวังในการขนถ่าย เคลื่อนย้าย ใช้งาน และการเก็บรักษาได้อย่างปลอดภัย, 7.2 สภาวะการเก็บรักษาอย่างปลอดภัย รวมทั้งข้อห้ามในการเก็บรักษาสารที่เข้ากันไม่ได้ (Incompatibility) และ 7.3 การใช้ในขั้นตอนท้ายสุดเป็นการเฉพาะ

          8. การควบคุมการรับสัมผัสและการป้องกันส่วนบุคคล (Exposure Controls/Personal Protection) มีหัวข้อย่อย 2 ส่วน ได้แก่ 8.1 ค่าต่าง ๆ ที่ใช้ควบคุมการรับสัมผัส (Control Parameters) และ 8.2 ควบคุมการรับสัมผัส (Exposure Controls)

          9. สมบัติทางกายภาพและทางเคมี (Physical and Chemical Properties) มีหัวข้อย่อย 2 ส่วน ได้แก่ 9.1 ข้อมูลเกี่ยวกับสมบัติพื้นฐานทางกายภาพและทางเคมี และ 9.2 ข้อมูลอื่น ๆ

          10. ความเสถียรและการเกิดปฏิกิริยา (Stability and Reactivity) มีหัวข้อย่อย 6 ส่วน ได้แก่ 10.1 การเกิดปฏิกิริยา, 10.2 ความเสถียรทางเคมี, 10.3 ความเป็นไปได้ในการเกิดปฏิกิริยาทางเคมี, 10.4 สภาวะที่ควรหลีกเลี่ยง, 10.5 วัสดุที่เข้ากันไม่ได้ และ 10.6 ความเป็นอันตรายของสารที่เกิดจากการสลายตัว

          11. ข้อมูลด้านพิษวิทยา (Toxicological Information) มีหัวข้อย่อย 1 ส่วน ได้แก่ 1 ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านพิษวิทยา

          12. ข้อมูลด้านนิเวศวิทยา (Ecological Information) มีหัวข้อย่อย 6 ส่วน ได้แก่ 1 ความเป็นพิษ, 12.2 การตกค้างยาวนานและความสามารถในการย่อยสลาย, 12.3 ศักยภาพในการสะสมทางชีวภาพ, 12.4 การเคลื่อนย้ายในดิน, 12.5 ผลการประเมินสาร PBT และ vPvB และ 12.6 ผลกระทบในทางเสียหายอื่น ๆ

          13. ข้อพิจารณาในการกำจัด (Disposal Consideration) มีหัวข้อย่อย 1 ส่วน ได้แก่ 1 วิธีการกำจัดของเสีย

          14. ข้อมูลการขนส่ง (Transport Information) มีหัวข้อย่อย 7 ส่วน ได้แก่ 1 หมายเลขสหประชาชาติ, 14.2 ชื่อที่ถูกต้องในการขนส่งของสหประชาชาติ, 14.3 ประเภทความเป็นอันตรายสำหรับการขนส่ง, 14.4 กลุ่มการบรรจุ (ถ้ามี), 14.5 ความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม, 14.6 ข้อควรระวังพิเศษสำหรับผู้ใช้งาน และ 14.7 การขนส่งด้วยภาชนะขนาดใหญ่ ให้เป็นไปตาม Annex II ของ MAROL 73/78 และ IBC Code

          15. ข้อมูลด้านกฎข้อบังคับ (Regulatory Information) มีหัวข้อย่อย 2 ส่วน ได้แก่ 15.1 กฎระเบียบ/ข้อกฎหมายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับสารเคมีหรือสารผสม และ 15.2 การประเมินความปลอดภัยของสารเคมี

          16. ข้อมูลอื่นๆ (Other Information)

 

          ณ ตอนนี้ เท่ากับว่าโมดูล “การบ่งชี้และจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Identification and Classification)” นั้น ได้กล่าวถึงระบบและสัญลักษณ์ที่ใช้สำหรับการติดฉลากสารเคมีอันตราย ที่ใช้บังคับในสหภาพยุโรป ที่เป็นระบบการจำแนกประเภท การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์สำหรับสารเดี่ยวหรือสารผสมของสหภาพยุโรปทั้งฉบับเดิมและฉบับใหม่จนจบแล้ว ลำดับถัดไปก็จะได้กล่าวต่อถึงการบ่งชี้และจำแนกประเภทความเป็นอันตรายในฟากฝั่งของอเมริกาบ้าง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับป้ายสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงความเป็นอันตราย ที่มุ่งเน้นประโยชน์เบื้องต้นไปที่การป้องกันอัคคีภัย (Fire Protection) และให้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่กู้ภัย (Emergency Personnel) ตามเนื้อหาด้านล่างนี้

 

          2. NFPA 704: Hazard Rating System

  

          เป็นระบบมาตรฐานสำหรับบ่งชี้ความเป็นอันตรายของวัสดุ เพื่อใช้ในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Standard System for the Identification of the Hazards of Materials for Emergency Response) ที่ถูกกำหนดและรักษามาตรฐานโดยสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ (National Fire Protection Association: NFPA) ของสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการพัฒนาและปรับปรุงเรื่อยมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 จุดมุ่งหมายแรกเริ่มเดิมที ก็เพื่อใช้ในการป้องกันอัคคีภัยและเป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับหน่วยกู้ภัยหรือเจ้าหน้าที่ดับเพลิง โดยที่ NFPA 704 เป็นระบบที่เรียบง่าย สามารถจดจำและเข้าใจได้โดยง่าย ในการบ่งชี้อันตรายเฉพาะของวัสดุและความรุนแรงของอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน โดยระบบจะระบุอันตรายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ความไวไฟ ความไม่เสถียร/ความว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา และความเป็นอันตรายพิเศษที่ปรากฏขึ้น จากการสัมผัสในระยะเวลาอันสั้นหรือฉับพลัน ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากเพลิงไหม้ การหกรั่วไหล หรือภาวะฉุกเฉินอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันนี้ ซึ่งเมื่อมองเห็นป้ายสัญลักษณ์ NFPA 704 ก็จะทำให้เกิดภาพรวมของอันตราย ที่อาจจะต้องเผชิญจากวัสดุอันตรายเหล่านั้น และสามารถลำดับความรุนแรงของอันตรายที่เกี่ยวข้อง เช่น การป้องกันไฟ การสัมผัส และการควบคุม

 

          ป้าย NFPA 704 จะให้รูปสัญลักษณ์แจ้งเตือนอันตราย เพื่อคุ้มครองป้องกันสุขภาพและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่กู้ภัย เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการวางแผนเพื่อปฏิบัติการควบคุมเพลิงไหม้ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ (ที่รวมทั้งการทำความสะอาดภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจด้วย) สำหรับเหตุที่เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการ หรือสถานที่จัดเก็บสารเคมี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพื้นที่ที่ความเป็นอันตรายของวัสดุ ยังไม่พร้อมแจ้งหรือยังไม่เป็นที่ทราบ ข้อมูลความเป็นอันตรายของอาชีพการงาน หรือข้อควรระวัง มีไม่เพียงพอ) ซึ่งจะทำให้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นถึงชนิด และระดับของอันตรายภายในพื้นที่ ที่สามารถทำให้พวกเขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า สมควรที่จะอพยพออกนอกพื้นที่ หรือจะเริ่มต้นขั้นตอนควบคุม นอกจากนี้ยังสามารถช่วยบุคลากร วิศวกร เจ้าหน้าที่โรงงาน และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ที่ได้รับมอบหมายในการจัดทำสินค้าคงคลัง และประเมินความเป็นอันตรายที่เกี่ยวข้องกับวัสดุในสถานประกอบกิจการ โดยสามารถแจ้งเตือนบุคลากรให้ทราบถึงระดับความเป็นอันตรายของสารเคมี และช่วยให้คำนึงถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับการจัดเก็บสารเคมีและอุปกรณ์ฉุกเฉินที่ควรจัดเตรียมไว้

 

          ระบบมาตรฐาน NFPA 704 จะใช้ป้ายแจ้งเตือนอันตรายที่เป็นรูปทรงเพชร (รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด) ที่เรียกว่า “NFPA diamond” หรือที่เรียกเป็นภาษาปากทั่วไปในหมู่เจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือนักผจญเพลิงว่า “เพชรไฟ (Fire Diamond)” โดยเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดขนาดเล็กเท่ากัน 4 ชิ้นมาเรียงประกบเข้าด้วยกันทั้งด้านบน–ล่าง-ซ้าย และขวา กลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดขนาดใหญ่ แต่ละส่วนจะบ่งชี้ “ประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Category)” พร้อมจำแนกความแตกต่างกันด้วยรหัสสีเฉพาะ (Color Codes) ที่มีความหมายดังนี้ คือ ความไวไฟ (Flammability) อยู่ด้านบนบนพื้นแดง, ผลกระทบต่อสุขภาพ (Health) อยู่ด้านซ้ายมือบนพื้นน้ำเงิน, ความว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา (Reactivity) อยู่ด้านขวามือบนพื้นเหลือง และข้อมูลพิเศษ (Special Notice)/ข้อควรระวังพิเศษ (Special Precautions) อยู่ด้านล่างบนพื้นขาว นอกจากนี้ ก็มีการระบุ “ระดับความรุนแรงของอันตราย (Hazard Severity Level)” ให้สำหรับแต่ละประเภทความเป็นอันตรายเหล่านั้น ที่ถูกบ่งชี้ด้วยตัวเลข ไล่เรียงตั้งแต่ 0 = ไม่มีอันตรายที่ผิดปกติ (No Unusual Hazard), 1 = อันตรายเล็กน้อย (Minor Hazard), 2 = อันตรายปานกลาง (Moderate Hazard), 3 = อันตรายสูง (Severe Hazard) และ 4 = อันตรายสูงมาก (Extream Hazard) (ดูภาพที่ 2,3 และรายละเอียดในตารางที่ 39 ประกอบ)

 

 

รูปที่ 2 แสดงรูปสัญลักษณ์ NFPA Diamond ที่บ่งชี้ประเภทความเป็นอันตรายโดยจำแนกความแตกต่างด้วยรหัสสีเฉพาะ พร้อมกับบ่งชี้ระดับความรุนแรงของอันตรายด้วยตัวเลขตั้งแต่ 0 - 4

 

 

รูปที่ 3 แสดงรายละเอียดระดับความรุนแรงของอันตรายของแต่ละประเภทความเป็นอันตราย รวมทั้งความหมายของสัญลักษณ์ที่ระบุไว้ในช่องข้อมูลพิเศษ

 

 

ตารางที่ 39 แสดงระดับความรุนแรงของความเป็นอันตราย (Hazard Severity Level) ที่สัมพันธ์กับรหัสสี (Color Code) และหมวดหมู่ความเป็นอันตราย (Hazard Category)

  

 

          ในการระบุระดับความรุนแรงของอันตราย (Hazard Severity Level) สำหรับแต่ละประเภทความเป็นอันตรายของวัสดุหรือสารเคมีนั้น ควรจัดทำโดยบุคลากรที่มีความสามารถทางเทคนิคและมีความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่แท้จริงของวัสดุหรือสารเคมีเหล่านั้น รวมทั้งมีประสบการณ์ในการแปลความ ‘เกณฑ์อันตราย’ ซึ่งสามารถหาข้อมูลในการจัดอันดับที่อยู่ใน Chapter 4 ของมาตรฐานนี้ แต่โดยทั่วไปแล้ว เมื่อสารเคมีเข้ามาสู่โรงงานก็จะมาพร้อมกับเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) ของสารเคมีเหล่านี้ และ MSDS นี้ก็จะมี NFPA diamond พร้อมกับระบุระดับความรุนแรงของอันตราย ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถนำไปทำป้ายติดได้เลย

 

          ในกรณีที่มีสารเคมีหลากหลายอยู่ในสถานประกอบกิจการ ป้ายสัญลักษณ์ NFPA 704 ควรจะบ่งชี้ระดับความเป็นอันตรายสำหรับพื้นที่นั้น ไม่ใช่สารเคมีตัวใดตัวหนึ่ง เช่น ภายนอกอาคารควรมีป้ายสัญลักษณ์ที่แสดงระดับความเป็นอันตรายสูงสุดของเหล่าสารเคมีทั้งหมดที่อยู่ด้านใน ในขณะที่พื้นที่หรือห้องเฉพาะที่อยู่ด้านในอาคารก็ควรมีป้ายสัญลักษณ์ที่แสดงระดับความเป็นอันตรายที่เฉพาะเจาะจงได้มากกว่ากับสารเคมีที่อยู่ด้านในนั้น นั่นหมายถึงว่า ถ้าจะใช้ป้ายเดียวแทนสารมากกว่าหนึ่งชนิด ตัวเลขระดับความเป็นอันตรายที่ระบุในป้ายในส่วนที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพ (Health) ความไวไฟ (Flammability) และความว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา (Reactivity) ก็ควรจะบ่งชี้ระดับความเป็นอันตรายมากที่สุดในระหว่างสารเคมีเหล่านั้นในแต่ละส่วน และพึงระวังกับการระบุตัวเลขที่บ่งชี้ระดับความเป็นอันตรายของวัสดุที่อาจมีปริมาณสารเพียงเล็กน้อยแต่มีตัวเลขระดับความอันตรายสูงกว่าตัวอื่น ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดหรือไขว้เขวได้ ดังนั้น จึงควรพิจารณาปริมาณสารเคมีประกอบกันด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว กฎหมายจะมีการกำหนดปริมาณขั้นต่ำของสารหรือวัตถุอันตรายที่ต้องแจ้งต่อทางการ ซึ่งอาจต้องอาศัยการตัดสินของผู้เชี่ยวชาญในการเพิ่มหรือลดอันดับตัวเลขให้มีความถูกต้อง แม่นยำมากขึ้นสำหรับการประเมินระดับความรุนแรงของอันตราย ที่อาจจะเกี่ยวเนื่องกับปริมาณ หรือการตอบสนองแบบเสริมฤทธิ์กันของสารเคมีต่างชนิดกัน ฯลฯ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาข้อมูลเหล่านี้จากเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS)

 

          เนื่องจากป้ายสัญลักษณ์ NFPA 704 เป็นสิ่งที่ให้ข้อมูลความเป็นอันตรายอย่างรวดเร็วสำหรับเจ้าหน้าที่กู้ภัย จึงควรที่จะมองเห็นได้ง่ายในกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉิน และอยู่ในตำแหน่งที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยมักจะใช้เป็นเส้นทางเข้าไปปฏิบัติการ และถ้ามีหลายเส้นทางเข้าสู่พื้นที่ก็ควรมีป้ายสัญลักษณ์ NFPA 704 มากตามไปด้วย ตำแหน่งวางป้ายและจำนวนป้ายควรพิจารณาความเหมาะสม และได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยหรือหน่วยดับเพลิงของโรงงาน ซึ่งทาง NFPA ได้แนะนำว่า อย่างน้อย ๆ ป้ายสัญลักษณ์ NFPA 704 ควรถูกติดไว้ในสถานที่เหล่านี้ คือ (1) ผนังด้านนอกที่จะเป็นทางเข้าสู่อาคารหรือโรงงาน (2) ทางเข้าสู่ห้องหรือพื้นที่ และ (3) ผนังด้านนอกของแต่ละสถานที่ที่มีการจัดเก็บ หรือใช้งานสารเคมี นอกจากนี้ ยังสามารถติดไว้ที่ถังบรรจุหรือบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ ตำแหน่งการติดป้ายสัญลักษณ์ NFPA 704 ควรที่จะสามารถสังเกตเห็นและอ่านได้ง่ายในระยะห่างพอสมควร เหตุผลก็เนื่องจากว่าจุดประสงค์ของป้ายนี้เพื่อเป็นสิ่งช่วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยกลุ่มแรกที่เข้าพื้นที่ได้สังเกตเห็นป้าย แล้วเกิดความรวดเร็วในจดจำและบ่งชี้อันตรายของวัสดุอันตรายที่อยู่ด้านใน ทราบถึงความเป็นไปได้ของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างเกิดเหตุเพลิงไหม้หรือหกรั่วไหล อีกทั้งยังเป็นสิ่งช่วยตรวจสอบว่า (หากมีความจำเป็น) อุปกรณ์พิเศษใดควรจะถูกใช้ ขั้นตอนดำเนินการ หรือข้อควรระวังในการดำเนินการในระหว่างช่วงเวลาแรกเริ่มของการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และถ้าเป็นไปได้ควรมีการพิจารณาร่วมกันกับเจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือหน่วยดับเพลิงของโรงงานในการหาตำแหน่งติดตั้งที่เหมาะสม จำนวนป้าย รวมถึงขนาดของป้ายด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า ต้องการมองเห็นและอ่านเนื้อหาบนป้ายได้ในระยะห่างเท่าใดจากป้ายและตัวผู้อ่าน รวมทั้งระดับความสูงที่ติดป้ายก็ควรอยู่ในระยะหรือมุมเงยที่พอเหมาะ (ดูภาพที่ 4 ประกอบ) นอกจากนี้ ป้ายสัญญาณ NFPA 704 ควรจะถูกดูแล บำรุงรักษา ไม่ให้ถูกบดบังหรือถูกถอดออก มีความมั่นคง แข็งแรง ตัวเลข/รูปสัญลักษณ์และสีอยู่ในสภาพดี อ่านตัวอักษร/ตัวเลขได้ชัด

 

 

รูปที่ 4 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของป้ายสัญลักษณ์ NFPA 704 กับช่วงระยะที่สังเกตเห็นและอ่านออก

  

          NFPA 704: Hazard Rating System เป็นระบบมาตรฐานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรม การพาณิชย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิต กระบวนการ สถานที่ใช้หรือจัดเก็บวัตถุอันตราย หรือห้องแล็ปที่มีการใช้สารเคมี แต่ไม่นำมาใช้กับการขนส่งหรือใช้โดยประชาชนทั่วไป เหตุผลก็เพราะ NFPA 704 System มักจะเกิดความสับสนกับป้ายที่กำหนดโดยกรมการขนส่งสำหรับวัตถุอันตราย ดังนั้น มาตรฐานนี้จึงไม่ใช้กับการรับสัมผัสแบบเรื้อรัง หรือกับการรับสัมผัสด้านอาชีพที่ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน อีกทั้ง NFPA 704 ก็เป็นมาตรฐานบนความสมัครใจ ที่ขึ้นอยู่กับแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องจะกำหนดว่าจะใช้เป็นข้อกำหนดหรือไม่

 

          ตัวอย่างป้ายสัญลักษณ์ NFPA 704

  

          1. โซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium Hydroxide: NaOH) หรือที่รู้จักกันทั่วไปอีกชื่อหนึ่ง ก็คือ โซดาไฟ อยู่ในรูปของแข็งสีขาว (Solid Form) ดูดความชื้นได้ดีมาก ละลายน้ำได้ดี ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ในการผลิตเยื่อและกระดาษ สบู่และผลิตภัณฑ์ผงซักฟอก เคมีภัณฑ์ การทำความสะอาด โรงกลั่นน้ำมัน การใช้งานทางอุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเส้นใยเรยอน สิ่งทอ และอื่น ๆ ป้าย NFPA 704 ได้บ่งชี้ลักษณะอันตรายและระดับความเป็นอันตรายไว้ ดังนี้ คือ

 

 

รูปที่ 5 แสดงป้าย NFPA 704 สำหรับโซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium Hydroxide: NaOH)

  

          สีแดง ความไวไฟ (Flammability) มีระดับความเป็นอันตราย = 0 บ่งชี้ว่า เป็นสารไม่ติดไฟ

          สีน้ำเงิน ผลกระทบต่อสุขภาพ (Health) มีระดับความเป็นอันตราย = 3 บ่งชี้ว่า อันตรายอย่างสูง (Extreme Danger) รับสัมผัสช่วงเวลาอันสั้น อาจทำให้บาดเจ็บร้ายแรง ปานกลาง หรือแค่ชั่วคราว กล่าวคือ โซดาไฟสามารถทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้อย่างเฉียบพลัน ถ้าสูดดมฝุ่นควันของสารจะทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ อาจเกิดปอดอักเสบ น้ำท่วมปอดได้ หากเข้าตาจะมีฤทธิ์ทำลาย ตั้งแต่ระคายเคืองหรือรุนแรงกระทั่งทำให้ตาบอดได้ หากถูกผิวหนังจะทำให้เกิดการไหม้จนเป็นแผลลึก หากรับประทานเข้าไปจะเกิดการไหม้ในปาก ลำคอ และทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิต        

          สีเหลือง ความว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา (Reactivity) มีระดับความเป็นอันตราย = 1 บ่งชี้ว่า ไม่เสถียรถ้าได้รับความร้อน (Unstable if Heated) แม้ว่าเป็นสารไม่ติดไฟ แต่ถ้าสัมผัสกับสารบางชนิด เช่น กรดเข้มข้น หรือทำปฏิกิริยาอย่างรุนแรงกับน้ำ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีกันจนเกิดความร้อนพอเพียงและทำให้สารที่วางอยู่ใกล้สามารถติดไฟได้ การดับเพลิงจึงต้องดูสารที่เป็นคู่ปฏิกิริยาทางเคมี และรวมถึงการเลือกใช้เครื่องดับเพลิงให้ถูกต้องกับเหตุการณ์ด้วย

          สีขาว สัญลักษณ์พิเศษ (Special Symbol) = COR บ่งชี้ว่า เป็นสารกัดกร่อน (Corrosive) ไม่มีกลิ่น มีฤทธิ์เป็นด่าง ยิ่งเข้มข้นมากยิ่งมีฤทธิ์มาก ร้อน และสามารถกัดผิวหนังให้เปื่อยยุ่ยได้ในระยะเวลาเพียงแค่เสี้ยววินาที

 

          2. แอมโมเนียมไนเตรต (Ammonium nitrate: NH4NO3) ในภาพที่ 6 จะสังเกตุได้ว่ามีการติดป้าย NFPA 704 อยู่ด้านหน้าใกล้ประตูทางเข้าโรงเก็บปุ๋ยแอมโนเนียมไนเตรต (Ammonium Nitrate Fertilizer) ที่ไว้จำหน่ายให้ผู้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรม โดยป้ายได้บ่งชี้ลักษณะอันตรายและระดับความเป็นอันตรายไว้ ดังนี้ คือ

 

          สีแดง ความไวไฟ (Flammability) มีระดับความเป็นอันตราย = 0 บ่งชี้ว่า เป็นสารไม่ติดไฟ ถ้าหากอยู่ภายใต้สภาวะปกติของการเกิดเพลิงไหม้ทั่วไป

          สีน้ำเงิน ผลกระทบต่อสุขภาพ (Health) มีระดับความเป็นอันตราย = 1 บ่งชี้ว่า อันตรายเล็กน้อย (Slightly Hazardous) รับสัมผัสช่วงเวลาอันสั้น อาจทำให้บาดเจ็บร้ายแรง ปานกลาง หรือแค่ชั่วคราว กล่าวคือ แอมโนเนียมไนเตรต เป็นผลึกสีขาวเล็ก ๆ ไม่มีกลิ่น แต่การสัมผัสระยะสั้นสามารถทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง ดวงตา และอาจทำให้เลือดผิดปกติ ปอดเสียหาย

          สีเหลือง ความว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา (Reactivity) มีระดับความเป็นอันตราย = 3 บ่งชี้ว่า การเสียดสีหรือความร้อน อาจทำให้ระเบิดกัมปนาทได้ (Shock & Heat May Detonate) กล่าวคือ สามารถระเบิดกัมปนาทได้ถ้าได้รับความร้อนหรือถูกกระตุ้นด้วยพลังงานอย่างรุนแรง ดังเช่น การเสียดสีที่กระตุ้นให้เกิดความร้อนและการปนเปื้อนกับน้ำมันเชื้อเพลิง หรือการสัมผัสกับวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง (เช่น ไม้ กระดาษ น้ำมัน) นอกจากนี้ ความร้อนยังจะทำให้สารเกิดการสลายตัว (อุณหภูมิ 210 oC) ที่ให้ก๊าซและฟูมที่เป็นพิษและกัดกร่อนของแอมโมเนียและก๊าซพิษของไนโตรเจนออกไซด์ ดังนั้นการเข้าดับเพลิงควรสวมใส่ SCBA และเนื่องจากสารนี้ละลายน้ำได้ดี จึงสามารถใช้น้ำดับไฟได้ แต่ควรใช้การดับเพลิงจากระยะไกล และห้ามใช้สารเคมีแห้งคาร์บอนไดออกไซด์ในการดับเพลิง

          สีขาว สัญลักษณ์พิเศษ (Special Symbol) = OXY บ่งชี้ว่า เป็นสารออกซิไดซ์ (Oxidizer) ที่เมื่อเกิดการสลายตัวจะให้ออกซิเจน โดยเฉพาะเมื่อได้รับความร้อนจะให้ก๊าซออกซิเจนและก๊าซอื่น ๆ ที่จะทำให้อัตราการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น รวมทั้งการสัมผัสกับสารที่มีความไวในการให้ออกซิเจนได้ง่าย (เช่น สารอินทรีย์หรือสารเชื้อเพลิงอื่น ๆ) จะทำให้เกิดปฏิกิริยากันอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นหรือถึงขนาดระเบิดได้ด้วยเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงเก็บที่มีลักษณะอับอากาศ

  

 

รูปที่ 6 แสดงการติดป้าย NFPA 704 อยู่ด้านหน้าใกล้ประตูทางเข้าโรงเก็บปุ๋ยแอมโนเนียมไนเตรต (Ammonium Nitrate Fertilizer)

เครดิตภาพ : http://www.firehouse.com/ BY ROBERT BURKE ON DEC 1, 2013

  

          3. โพรเพน (Propane: C3H8) ในภาพที่ 7 จะสังเกตุได้ว่ามีการติดป้าย NFPA 704 ที่ถังเก็บ โดยป้ายได้บ่งชี้ลักษณะอันตรายและระดับความเป็นอันตรายไว้ ดังนี้ คือ

  

 

รูปที่ 7 แสดงการติดป้าย NFPA 704 ที่ถังเก็บโพรเพน (Propane)

เครดิตภาพ : GIPhotoStock/Visuals Unlimited,

  

          สีแดง ความไวไฟ (Flammability) มีระดับความเป็นอันตราย = 4 บ่งชี้ว่า ไวไฟอย่างมาก (Very Flammable) มีจุดวาบไฟ = -104oC อุณหภูมิที่ติดไฟได้เอง = 450 oC ไอของสารหนักกว่าอากาศ และสามารถไหลไปตามพื้นได้จึงสามารถติดไฟในระยะห่างออกไปได้ การเขย่า การสั่นและอื่นๆ ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตได้

          สีน้ำเงิน ผลกระทบต่อสุขภาพ (Health) มีระดับความเป็นอันตราย = 1 บ่งชี้ว่า อันตรายเล็กน้อย (Slightly Hazardous) รับสัมผัสช่วงเวลาอันสั้น อาจทำให้บาดเจ็บร้ายแรง ปานกลาง หรือแค่ชั่วคราว กล่าวคือ โพรเพนเป็นก๊าซอัดเหลว ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสูดดม ที่อาจมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึมและหมดสติได้ การระเหยของสารในสถานะของเหลวอย่างรวดเร็วอาจทำให้เกิดอาการน้ำแข็งกัด (Frostbite - เนื้อเยื่อผิวหนังตายจากความเย็นจัด) บริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับสารนี้ได้

          สีเหลือง ความว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา (Reactivity) มีระดับความเป็นอันตราย = 0 บ่งชี้ว่า เสถียร (Stable) อย่างไรก็ตาม หากถังเก็บโพรเพนเกิดการรั่ว ของเหลวจะระเหยออกมาอย่างรวดเร็ว ความเข้มข้นสูงของสารนี้ในอากาศจะเกิดการเข้าแทนที่อากาศ (ออกซิเจน) อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อการขาดอากาศหายใจ (หมดสติหรือเสียชีวิต) หากอยู่ในพื้นที่ปิดมิดชิด ดังนั้น หน่วยกู้ภัยหรือพนักงานดับเพลิงต้องตรวจปริมาณของออกซิเจนก่อนเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ สวมใส่ชุดป้องกันที่ครบถ้วนรวมถึง SCBA เข้าพื้นที่เกิดเหตุ ปิดถังเก็บโพรเพน ถ้าปิดไม่ได้และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อบริเวณใกล้เคียง ก็ปล่อยให้ไฟค่อย ๆ ดับไปเอง หรือตั้งถังเก็บโพรเพนที่รั่วขึ้นเพื่อป้องกันการรั่วไหลของก๊าซเหลว ลดอุณหภูมิของถังเก็บโดยการฉีดน้ำ ห้ามฉีดน้ำลงบนสารที่อยู่ในสถานะของเหลว ทำการดับไฟจากที่กำบังอย่างปลอดภัย สามารถดับไฟด้วยสารดับเพลิงผงหรือคาร์บอนไดออกไซด์ อย่าลืมเคลื่อนย้ายแหล่งที่ติดไฟได้ทั้งหมดให้ออกห่างจากถังเก็บ

 

          ขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ทิ้งท้ายกันสักนิด อย่าลืม อย่าพลาด เที่ยวชม “งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (National Safety Week)” ครั้งที่ 30 ภายใต้คำขวัญประจำงาน “แรงงานปลอดภัย สุขภาพอนามัยดี นำประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. และ 1–2 ก.ค.2559 นี้ ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กทม. ในงานพบกับกิจกรรมมากมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งการสัมมนาวิชาการ นิทรรศการและโชว์นวัตกรรมด้านความปลอดภัย การออกบูธของหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนชั้นนำ การประกวดด้านความปลอดภัย การแสดงบนเวทีกลาง ตลอดจนเลือกซื้ออุปกรณ์ความปลอดภัยในราคาสุดพิเศษจากบริษัท/ผู้แทนจำหน่ายโดยตรง

 

 

********** ติดตามอ่านตอนต่อไปในฉบับหน้า *********

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• Responsible Production for Chemical Hazard Management, Lessons Learned from Implementation, UNEP 2013.
• Responsible Production Handbook, Introduction to the Responsible Production Guidance and Toolkit, UNEP 2010.
• Responsible Production Framework, UNEP 2009.
• UNEPs Handbook for Responsible Production (UNEP &AccountAbility 2009).
• Corporate Social Responsibility and Safety and Health at Work: Global Perpectives, Local Practices, Working on Safety Conference, Roros, Norway, 7–10 September, 2010.

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด