Safety & Healthcare

ปัญหาและการป้องกันสุขภาวะของพนักงานที่ยืนปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม

ปัญญา มัฆะศร

สาขาวิชาเทคโนโลยีมีเดีย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

 

การยืนเป็นอิริยาบถที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉาพะในกลุ่มคนประกอบอาชีพที่ต้องใช้ท่าทางดังกล่าวนี้ มีหลายอาชีพที่ต้องยืนทำงานอยู่กับที่ตลอดทั้งวัน โดยงานประเภทนี้ อาจก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยขาแก่ผู้ประกอบอาชีพได้มาก อาทิเช่น พนักงานที่ปฏิบัติงานในสายการผลิต พนักงานคุมเครื่องจักรในโรงงาน พนักงานขายสินค้าในห้าง พนักงานเก็บเงินของร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น

 

          ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอปัญหาการเจ็บป่วยที่ส่งผลกระทบจากการยืนเป็นเวลานาน แนวทางการแก้ไขของพนักงานที่ปฏิบัติงานในสายการผลิต พนักงานคุมเครื่องจักรในโรงงานเท่านั้นและแนวทางการแก้ไข รวมไปถึงวิธีการปรับสภาพการทำงานและการปฏิบัติตัวของผู้ยืนทำงานที่ถูกต้อง

 

กล้ามเนื้อส่วนสะโพกและขา (Muscle of the Lower Limb)

 

          โดยปกติโครงสร้างในส่วนของขามนุษย์ (Leg Anatomy) ประกอบไปด้วยโครงสร้างของกล้ามเนื้อในส่วนหลัก ๆ 4 ส่วนด้วยกัน คือ กล้ามเนื้อส่วนสะโพกและตลอดจนถึงก้นกบ กล้ามเนื้อส่วนโคนขา กล้ามเนื้อส่วนปลายขาและกล้ามเนื้อส่วนเท้า ซึ่งปัญหาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ ณ บริเวณกล้ามเนื้อส่วนของปลายขาและกล้ามเนื้อส่วนเท้าเป็นสำคัญ โดยกล้ามเนื้อส่วนของปลายขาและปลายเท้ามีหน้าที่ดังนี้ คือ

 

          • กล้ามเนื้อกลุ่มด้านหน้าของปลายขา (Anterior Compartment)  ซึ่งยึดเกาะจากกระดูกปลายขาท่อนใหญ่และกระดูกปลายขาท่อนเล็กไปที่ข้อเท้าและนิ้วเท้า ทำหน้าที่ร่วมกันงอหลังเท้า เหยียดนิ้วเท้า และหันฝ่าเท้าเข้าทางด้านใน

 

          • กล้ามเนื้อกลุ่มด้านข้างของปลายขา (Lateral Compartment)  ทำหน้าที่ดึงเท้าออกด้านนอก (Peroneus Longus) และทำหน้าที่งอฝ่าเท้า (Peroneus Brevis)

 

          • กล้ามเนื้อด้านหลังของปลายขา (Posterior Compartment)  ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่งอฝ่าเท้าและปลายขา (Gastrocnemius) ในขณะที่วิ่งหรือเดิน การหมุนต้นขาออกด้านข้าง (Popliteus) งอหัวแม่เท้าในขณะที่เดิน (Flexor Hallucis Longus) กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่งอข้อนิ้วเท้าทั้ง 4 ในขณะที่เดิน (Flexor Digitorum Longus) ยกเว้น นิ้วหัวแม่เท้าและกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่งอฝ่าเท้าเป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ลึกด้านในสุด (Tibialis Posterior)

 

          • กล้ามเนื้อส่วนเท้า คือ กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ควบคุมส้นเท้าในระหว่างการเดิน การควบคุมการขยับนิ้วเท้าทั้งหมด

   

รูปที่ 1 โครสร้างของกล้ามเนื้อในส่วนสะโพกและขา (ขาด้านหน้าและด้านหลัง)

ที่มาของภาพ: http://humananatomybody.info/2015/09/page/22/

 

          ปัญหาของโรคที่เกิดจากการยืนทำงานเป็นเวลานาน ๆ ในงานอุตสาหกรรม จะส่งผลต่อการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในส่วนน่องและต้นขา โดยในขณะยืนกล้ามเนื้อส่วนน่องจะแบกรับน้ำหนักตัวและเป็นกล้ามเนื้อที่อ่อนล้าและปวดเมื่อยได้ง่าย เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนน่องมีเลือดมาเลี้ยงน้อยและการไหลกลับของหลอดเลือดดำต้องอาศัยการหดตัวแบบเป็นจังหวะ ดังนั้น ถ้าพนักงานยืนอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ๆ กล้ามเนื้อส่วนน่องจะเกิดการเกร็งตัวอย่างตลอดเวลาและทำให้มีของเสียคั่งค้างที่บริเวณกล้ามเนื้อส่วนนี้ นอกจากนี้ การยืนเป็นเวลานานและการกดทับของหลอดเลือดดำใหญ่บริเวณต้นขา หลอดเลือดดำจากบริเวณเท้าและน่องจะไหลกลับได้ลำบากเพราะแรงโน้มถ่วงจะดึงเลือดลงสู่เท้าจนเกิดเป็นโรคเส้นเลือดขอด (Varicose Veins Disease) แสดงอาการของโรคเส้นเลือกขอดดังรูปที่ 2

 

 

รูปที่ 2 โรคเส้นเลือกขอด (Varicose Veins Disease)

 

ข้อเสนอแนะและแนวทางการป้องกันผลกระทบจากการยืนปฏิบัติงานเป็นเวลานาน

 

          1. การยืนบนแผ่นวัสดุสังเคราะห์ที่ออกแบบมาสำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น พื้นยางหรือวัสดุที่อ่อนนิ่มสบายเท้าและยืนได้อย่างมั่นคง เพื่อลดแรงกดที่เท้าได้ โดยการเลือกใช้งานควรเลือกวัสดุที่คงทนใช้งานได้นาน ไม่นำไฟฟ้าและสามารถทนต่อประกายไฟ แสดงแผ่นยางสังเคราะห์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม ดังรูปที่ 3(A)

 

 

รูปที่ 3 (A), (B) แผ่นยางสังเคราะห์และการกระจายแรงกดบริเวณฝ่าเท้า ตามลำดับ

ที่มาของภาพ: https://www.floormats.com/rubber-drainage-anti-fatigue-mats/

 ;

          2. พนักงานควรใส่รองเท้าที่มีพื้นรองที่นุ่มนวลและมีขนาดพอเหมาะไม่แข็งมากจนเกินไป ซึ่งรองเท้าที่มีพื้นอ่อนนุ่มมากเกินไปจะส่งผลต่อการทรงตัวในระหว่างการทำงาน ส่วนรองเท้าที่มีความแข็งมาก ส่งผลให้พนักงานเกร็งเท้าจนเกิดอาการเมื่อยล้าได้ ทั้งนี้ รองเท้าที่มีรองพื้นที่นุ่มนวลจะช่วยลดแรงกดไปที่เท้าได้เช่นเดียวกับการรองพื้นด้วยวัสดุสังเคราะห์ ซึ่งการกระจายแรงกดบริเวณฝ่าเท้า มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับรูปทรงของเท้าขนาดและรูปทรงไม่เหมาะสมเพิ่มการบีบรัดเท้า แสดงดังรูปที่ 3(B) การเลือกใส่รองเท้าที่พอดี เพื่อลดอาการบวมของเท้าจากการยืนเป็นเวลานานและควรเป็นรองเท้าเซฟตี้หัวเหล็กและพื้นเหล็กที่น้ำหนักไม่มากจนเกินความจำเป็น

 

          จากรูปที่ 4(A), (B) คือ การทดสอบแผ่นวัสดุสังเคราะห์ที่ใช้รองพื้นในระหว่างการปฏิบัติงาน โดยรูปที่ 4(A) ทดสอบการไหวเวียนของเลือดที่กล้ามเนื้อส่วนของปลายขาที่ไม่มีวัสดุรองพื้น ส่วนในรูปที่ 4(B) ที่ใช้วัสดุรองพื้น ผลการทดสอบจะสังเกตได้ว่า รูปที่ 4(A) การไหลเวียนของเลือด ณ บริเวณกล้ามเนื้อส่วนปลายของขามีการไหวเวียนของเลือดที่ต่ำมากหรือไม่สะดวก ทั้งนี้ เนื่องจากแรงกดทับที่มีจำนวนมาก ณ บริเวณฝ่าเท้ากับพื้น ส่งผลให้การวัดอุณหภูมิความร้อนที่บริเวณกล้ามเนื้อดังกล่าวมีค่าต่ำ ส่วนรูปที่ 4(B) การไหลเวียนของเลือด ณ บริเวณกล้ามเนื้อส่วนของปลายขามีการไหวเวียนของเลือดที่สะดวกมากกว่า เมื่อใช้แผ่นรองพื้น ส่งผลให้การวัดอุณหภูมิความร้อนที่บริเวณกล้ามเนื้อดังกล่าวมีค่าสูงขึ้น (เพราะการไหลเวียนของเลือดที่อย่างสะดวก) จึงสามารถลดอาการเมื่อยล้าลงได้

 

 

รูปที่ 4(A), (B) การทดสอบการไหวเวียนของเลือดที่กล้ามเนื้อส่วนของปลายขาที่มี/ไม่มีวัสดุรองพื้น ตามลำดับ

ที่มาของภาพ: http://www.showarubber.com/th/products/nfm.html

 

          3. งานในบางประเภทมีความจำเป็นต้องให้พนักงานยืนในขณะที่ปฏิบัติงานเพียงอย่างเดียว การเลือกใช้เก้าอี้แบบกึ่งนั่งกึ่งยืนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติงานไม่เกิดความแตกต่างแต่อย่างไรจากการยืนปฏิบัติงาน

 

 

รูปที่ 5 การใช้เก้าอี้แบบกึ่งนั่งกึ่งยืนในโรงงาน

ที่มาของภาพ: http://www.work-space-solutions.com/benches_ergo_seating.htm

 

          4. ถ้าสถานที่ประกอบการอนุญาตให้พนักงานปฏิบัติงานได้ทั้งในขณะยืนและนั่ง พนักงานสามารถยืนสลับกับการนั่งได้ แต่จำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เกิดความเหมาะสม เช่น โต๊ะที่ยืนปฏิบัติงานมีความสูงที่เหมาะสมไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป จนทำให้พนักงานต้องก้มหลังหรือเขย่งและเกิดการเกร็ง ทั้งนี้ อาจจัดโต๊ะปฏิบัติงาน จำนวน 2 ชุด คือ ชุดโต๊ะยืนและโต๊ะนั่งในการสลับการใช้งาน

 

          5. เมื่อรู้สึกเกิดอาการเมื่อยล้าให้เดินไปมาสัก 2-3 นาที จากนั้น นั่งลงและยกขาทั้ง 2 ข้างพาดบนที่นั่งของเก้าอี้ โดยให้เท้าอยู่สูงประมาณระดับหัวเข่า เพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดจากขากลับเข้าสู่หัวใจ เพื่อป้องกันหลอดเลือดขอดได้ การนั่งโดยยกขาพาดเก้าอี้ อาจจะกระดกปลายเท้าด้านซ้าย-ขวาสลับกันไปมา

 

          6. การออกกำลังด้วยการเดิน วิ่ง และว่ายน้ำ อย่างน้อยเป็นเวลา 15-20 นาที โดยปฏิบัติในสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อช่วยการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงขาพักผ่อนด้วยการนอนให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง สำหรับการออกกำลังกายเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องยืนทำงานนาน ๆ

 

          อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการของฝ่ายสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับพนักงานที่จำเป็นต้องยืนปฏิบัติงานตลอดทั้งวัน การเปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วยการใช้อำนาจของผู้ดูแลรับผิดชอบพนักงานในการตัดสินใจจากผลการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างและมีความเข้าใจถึงหัวอกของพนักงาน เพื่อการนำไปสู่การแก้ไขให้สภาพการทำงานดีขึ้น อาจช่วยให้พนักงานที่อยู่ในความดูแลทำงานที่มีจำนวนผลผลิตมากยิ่งขึ้นและมีสุขภาพที่ดีในการทำงานมากยิ่งขึ้นเป็นสำคัญ

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด