จุรีรัตน์ ทิมากูร
หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศให้นโยบายเอสเอ็มอี เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เน้น ปัจจัยการผลิตเดิม ซึ่งใช้ประโยชน์จากที่ดิน แรงงาน และทุน ไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นปัจจัยขับเคลื่อน เพื่อยกระดับให้เอสเอ็มอีไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
พร้อมแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ Start-Up ที่เริ่มทำกิจการได้ไม่เกิน 3 ปี ที่จะต้องทำให้เกิดความเข้มแข็ง 2.กลุ่มผู้ประสบปัญหาทางธุรกิจที่ต้องฟื้นฟู 3.กลุ่มผู้ประกอบการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ที่จะต้องผลักดันให้ขยายกิจการให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
โดยมีตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ของ เอสเอ็มอีทั้งระบบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ให้ขยายตัว 1% ภายในปี 2559 คิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านบาท โดยหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกันบูรณาการมาตรการช่วยเหลือทั้งช่องทางการเงิน ช่องทางการลงทุน ช่องทางการพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอี และช่องทางการตลาด
ด้าน นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า สสว.คาดการณ์ปี 2559 ธุรกิจเอสเอ็มอี ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเอสเอ็มอี จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5% ขยายต่อเนื่องจากจีดีพีเอสเอ็มอีปี 2558 ที่ขยายตัว 4.7%
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ เอสเอ็มอี ยังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นมากกว่าจีดีพีของประเทศ และการขยายตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีในสัดส่วนนี้ จะช่วยสนับสนุนให้เป้าหมายของ สสว.ในปี 2563 ที่จะเพิ่มสัดส่วนของเอสเอ็มอีในจีดีพีรวมของประเทศให้อยู่ในระดับ 45% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่เอสเอ็มอีมีสัดส่วนในจีดีพี 39%
โดยที่ประชุมฯ บอร์ด สสว.มีมติอนุมัติงบประมาณจากกองทุน สสว. วงเงิน 1,837 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอี ของประเทศให้เติบโตได้ แบ่งเป็นโครงการต่าง ๆ ได้แก่ การจัดสรรเงินกองทุน 437.17 ล้านบาทให้กับ 3 กระทรวง ประกอบด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม 100 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ 187.17 ล้านบาท กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 150 ล้านบาท
นอกจากนั้น ที่ประชุมเห็นชอบจัดสรรเงินกองทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี โดยให้ สสว. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีและธุรกิจการเกษตรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่ง สสว.จะคัดเลือกจากลูกค้าธนาคารของรัฐ ซึ่งมีปัญหาในการจ่ายชำระหนี้ แต่มีความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาที่จะทำกิจการต่อไปหรือเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งส่งงบการเงินให้กับกระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ และมียอดขายลดลงค่อนข้างมากในช่วงเวลา 3 ปี และโดยจะลงลึกเป็นรายกิจการเพื่อหาประเด็นที่จำเป็นต้องปรับปรุง หากจำเป็นต้องได้รับสภาพคล่องเพิ่ม สสว. จะพิจารณา ให้กู้ยืมจากกองทุนพลิกฟื้นของ สสว. เป็นเงินกู้ระยะยาวไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
ส่วนของการดำเนินโครงการพัฒนา ผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) สสว.จะดำเนินการ ตามแนวทางที่รองนายกรัฐมนตรีสั่งการ โดยได้จัดสรรเงินกองทุน 200 ล้านบาทและทำงานความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ซึ่งมีศูนย์บ่มเพาะ 35 ศูนย์กระจายกันอยู่ทั่วประเทศในทุกสาขาอาชีพ เช่น เกษตรแปรรูป ออกแบบ งานด้านวิศวกรรม ฯลฯ
โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการใหม่ และนักธุรกิจที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์ เอสเอ็มอี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรับเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการใหม่ ตั้งเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการใหม่ 3-4 หมื่นราย
ในส่วนของเอสเอ็มอีที่ทำกิจการอยู่แล้วให้เติบโตได้ยิ่งขึ้น (SME Strong/Regular) สสว.จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจะให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าวินิจฉัยในเชิงลึกเป็นรายกิจการและหาทางช่วยปรับปรุงการผลิต การให้บริการ และการจำหน่ายธนาคารเอสเอ็มอีจะให้การสนับสนุนทางด้านการเงินในกรณีที่เอสเอ็มอีต้องการปรับปรุงหรือขยายกิจการ โดยมีเป้าหมาย 10,000 รายภายในปีนี้
นางสาลินี กล่าวต่อว่า ในปี 2559 สสว.จะให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของ เอสเอ็มอีในต่างจังหวัด โดยได้จัดสรรเงินกองทุน 40.47 ล้านบาท ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ให้บริการครบวงจร (SME One-stop Service Center: OSS) เพิ่มอีก 20 แห่ง รวมเป็น 31 แห่ง เพื่อทำหน้าที่เป็นเสมือนสาขาของ สสว. ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำด้านธุรกิจแก่ เอสเอ็มอี เป็นตัวกลางประสานระหว่าง เอสเอ็มอีกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ดูแลเอสเอ็มอีที่ได้รับการส่งเสริมจาก สสว.โดยตรงและจากหน่วยงานร่วมของ สสว.
ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการติดต่อและให้ข้อมูล รวมทั้งสร้างเครือข่ายในเขตพื้นที่รวมทั้งจัดสรรเงินกองทุน 100 ล้านบาท ดำเนินโครงการประชารัฐเพื่อวิสาหกิจชุมชน จัดตั้งร้านค้าประชารัฐจำนวน 148 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าโอท็อปและวิสาหกิจชุมชนให้มีที่ขายสินค้าถาวร
นอกจากนี้ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้การปฏิบัติงานของ สสว. เป็น ไปด้วยความคล่องตัว โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานอนุกรรมการบริหารเพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ รวดเร็วมากขึ้น
ขณะที่ นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีแนวทางการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ในหลายมาตรการด้วยกัน โดยมีช่องทางหนึ่งที่จะเกิดประโยชน์ได้สูงสุด และสอดคล้องกับการพัฒนาเอสเอ็มอีตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้คือการพัฒนาตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ใช้ระบบการจัดการที่ทันสมัย การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า ขณะเดียวกันก็ต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะมากขึ้น รวมทั้งใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในกระบวนการการผลิต
สำหรับแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 จะถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและ ผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 2 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อเสนอคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ
อย่างไรก็ตามการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำเป็นต้องเพิ่มบทบาทอุตสาหกรรมและบริการจากยุคที่ 2 ไปสู่ยุคที่ 3 เพื่อหนีห่างประเทศเพื่อนบ้าน จากที่พึ่งพาการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไปสู่การเพิ่มความเข้มแข็งและสัดส่วนความเป็นเจ้าของ ของคนไทยมากขึ้น เพื่อพัฒนาจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งเสริม การขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมและบริการ 11 สาขา คือ 1.อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ 2.อุตสาหกรรมการขนส่งทางราง 3.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง 4.อุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน 5.อุตสาหกรรมวัสดุในกลุ่มคาร์บอน ไฟเบอร์ 6.บริการทางการศึกษา 7.บริการทางการแพทย์ 8.สำนักงานใหญ่ทางธุรกิจ 9.ธุรกิจการออกแบบดีไซน์แฟชั่น 10.ธุรกิจบันเทิง และ 11.บริการโลจิสติกส์
สำหรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในอนาคต จะต้องปรับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในเร็ว ๆ นี้ เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 มีองค์ประกอบ 9 ด้าน ประกอบด้วย 1.หุ่นยนต์ อัตโนมัติ มาเป็นผู้ช่วยในการผลิต 2.การสร้างแบบจำลอง เช่น การพิมพ์แบบ 3D เสมือนจริง 3.การบูรณาการระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน 4.การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของสิ่งของที่ทำให้เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ 5.การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล 6.การประมวลและเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ 7.การขึ้นรูปชิ้นงานด้วยเนื้อวัสดุ Additive Manufacturing เช่น การขึ้นรูปชิ้นงานในเครื่องพิมพ์ 3 มิติ 8.เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนโดยผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ทีวี 3 มิติ เครื่องเล่นเกม และ 9.ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) คือชุมนุมของชุดข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน มีทั้งการบันทึกและจัดเก็บ การค้นหา การแบ่งปัน และการวิเคราะห์ข้อมูล
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จับมือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมกลุ่มคลัสเตอร์ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรม 17 เครือข่าย ทั่วประเทศ หวังให้ คลัสเตอร์ เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ผ่าน โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด ภายใต้แผนส่งเสริมยุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระยะเร่งด่วน เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เกิดกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดภายใน 1 ปี เกิดการขยายตัวในระบบเศรษฐกิจ 530 ล้านบาท ลดต้นทุน ได้ 65 ล้านบาท
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า SMEs ส่วนใหญ่ประสบปัญหาหลักเกิดจาก ความสามารถของประเทศไทยถดถอย เพราะที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงส่งออกมากถึง 60% ของจีดีพี ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจึงกระทบต่อการส่งออกโดยตรงและส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 99 ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (GDP) ถึง 3.75 ล้านล้านบาท จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับตัวและยกระดับความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านผลิตภาพ (Productivity) และการคิดค้นนวัตกรรม (Innovation) ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม คือ การรวมตัวกันเป็นกลุ่มของอุตสาหกรรม หรือที่เรียกสว่าคลัสเตอร์ ตามนโยบายของรัฐบาล
คลัสเตอร์เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ในลักษณะสร้างเครือข่าย ที่เรียกว่า "Business Networking" ในลักษณะการผนึกกำลังร่วมกัน (Synergy) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) และนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีคุณค่าทั้งจากนักลงทุนรายเดิมและรายใหม่ ส่งผลให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้วยเหตุนี้จึงมอบหมายให้ กสอ. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างและพัฒนาคลัสเตอร์ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบันมีคลัสเตอร์ที่พัฒนาแล้วรวม 77 คลัสเตอร์
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับในปีนี้ กสอ. ได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้เป็นหน่วยงานหนึ่งที่บริหาร "โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด" ภายใต้แผนส่งเสริมยุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระยะเร่งด่วน โดยร่วมกันคัดเลือกคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพรวม 17 เครือข่าย เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย SMEs ให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.คลัสเตอร์ผ้าทอพื้นเมืองอุดรธานี 2.คลัสเตอร์ผู้ผลิตและแปรรูปผลไม้ภาคตะวันออก 3.คลัสเตอร์ของฝากของที่ระลึก จังหวัดเลย 4.เครือข่ายผักผลไม้แปรรูปกลุ่มยุทธศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง 1 5.เครือข่ายธุรกิจแฟชั่น (Bangkok Fashion Cluster) 6.เครือข่ายอุตสาหกรรมชา จังหวัดเชียงราย 7.คลัสเตอร์สิ่งทอเพชรเกษม 8.เครือข่ายผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม จังหวัดแพร่ 9.คลัสเตอร์ต่อตัวถังรถบัส จังหวัดราชบุรี 10.คลัสเตอร์นมโคและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมโค จังหวัดมหาสารคาม 11.คลัสเตอร์ข้าวหอมมะลิ จังหวัดร้อยเอ็ด 12.คลัสเตอร์บรรจุภัณฑ์โลหะ 13.คลัสเตอร์ข้าวและข้าวแปรรูป นอกจากนี้ยังมี 14.คลัสเตอร์เซรามิกลำปาง จังหวัดลำปาง 15.เครือข่ายอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง 16.คลัสเตอร์เครื่องหนังไทย (Thai Leather Cluster) และ 17.เครือข่ายอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Thai Food Cluster) จากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ทั้งนี้การดำเนินงานจะเน้นกิจกรรมพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพเชิงธุรกิจของเครือข่าย ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนส่งเสริมการตลาดเชิงรุกหรือการสร้างนวัตกรรมทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ คาดว่าภายใน 1 ปี ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการพัฒนามากกว่า 2,000 ราย เกิดนวัตกรรมในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้มากกว่า 5 เรื่อง และเกิดการขยายตัวในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 530 ล้านบาท ลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาท
นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานคลัสเตอร์พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.กล่าวว่า คลัสเตอร์พลังงานก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสถานประกอบการด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งมีจำนวน 184 ราย
สำหรับสมาชิกคลัสเตอร์พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ ส.อ.ท.มีประมาณ 120 กิจการ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่ม 18 จังหวัด ดำเนินการขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 100 กิจการ และอยู่ระหว่างรอขึ้นทะเบียนกว่า 100 กิจการ ในพื้นที่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด กรุงเทพฯ และปริมณฑล
แนวทางส่งเสริมเป็นการสนับสนุนทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ อาทิ การฝึกอบรมและให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสนับสนุนในด้านการทำตลาด ฯลฯ เพื่อนำไปต่อยอดในการทำธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในคลัสเตอร์เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งในด้านองค์ความรู้และในด้านวัตถุดิบ การพัฒนากิจกรรมระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมจะสามารถต่อยอดเป็นเครือข่ายที่มีพลังอำนาจในการต่อรอง สามารถผลักดันให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
โครงการดังกล่าวเป็นการนำร่องเพื่อรวบรวมผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.พลังงานไฟฟ้า มีวัตถุดิบคือ แสงอาทิตย์ ลมน้ำ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ 2.พลังงานความร้อน มีวัตถุดิบคือ แสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ ก๊าซชีวภาพ และ 3.พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ มีวัตถุดิบคือ เอทานอล ไบโอดีเซล ซึ่งผู้ประกอบการ SME ทั้ง 3 ประเภท ได้ร่วมประชุมหารือโครงสร้างของผู้ประกอบการแต่ละประเภทที่แตกต่างกันและเหมือนกันในบางส่วน ซึ่งจำเป็นต้องลงรายละเอียดในแต่ละประเภทให้ชัดเจนเพื่อให้มีการพัฒนาที่ตรงตามวัตถุประสงค์และดำเนินกิจกรรมพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย
ทั้งนี้ มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งกระบวนการดำเนินกิจกรรมนั้น จะมุ่งเน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน โดยได้นำเสนอโครงการพลังงานทดแทนอาเซียน (ASEAN Renewable Energy Center) เพื่อใช้พื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอภาคใต้ เป็นพื้นที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานประกาศเป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษไปแล้ว โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนเอง แต่ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือให้ความสะดวกในส่วนขั้นตอนการอนุญาต
"ประเทศไทยเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนในอาเซียน โดยเฉพาะการถูกล้อมรอบด้วยกลุ่ม CLMV ที่มีทรัพยากรด้านชีวมวลเป็นจำนวนมาก รวมถึงโนโยบายภาครัฐในปัจจุบันต้องการผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการดังกล่าวนอกจากจะเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้พื้นที่ภาคใต้ระยะยาวแล้วยังสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจการเมืองและโครงสร้างพื้นฐานด้วย"
"การรวมกลุ่มคลัสเตอร์พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้สร้างประโยชน์ให้หลายด้าน ทั้งผู้ประกอบการ SME ชุมชน และสังคมเนื่องจากเศษของเสียที่เหลือจากภาคเกษตร เช่น ขี้เลื่อย จะไม่ถูกนำไปเผาทิ้งอย่างสูญเปล่า เพราะจะนำกลับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งสามารถส่งไปขายให้กับโรงไฟฟ้านำไปผสมกับเชื้อเพลิงที่ใช้งานอยู่ปกติ หรือจะส่งออกไปขายต่างประเทศก็ได้ เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับการทำการเกษตร สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและชุมชน ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง" พิชัยกล่าว
สำหรับหนึ่งในต้นแบบคลัสเตอร์พลังงานคือ บริษัท เอส.วาย.เอส.เพลเลท มิลล์ จำกัด เป็นผู้ประกอบการพลังงานชีวมวลที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสว. ในการส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจ เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ในลักษณะเครือข่าย ส่งผลให้สามารถสร้างโอกาสในการทำความรู้จัก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนากิจกรรมระหว่าง SME ในอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกพื้นที่พร้อมทั้งต่อยอดเป็นสังคมหรือเครือข่ายที่มีพลังอำนาจในการต่อรอง และผลักดันให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนในการสร้างศักยภาพและแก้ปัญหาด้านการเพิ่มผลผลิต จนกลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ได้สำเร็จ
นายจาตุรงค์ ชาติสถาพร กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ กล่าวว่า พื้นฐานเดิมของธุรกิจเป็นโรงสีข้าว จึงมีวัสดุเหลือใช้จากการสีข้าว และเมื่อเห็นว่าการนำวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ ทางการเกษตร เช่น แกลบ รำข้าว ชานอ้อย ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว ซังข้าวโพด เหง้ามัน ทะลายปาล์มและไม้ยางพาราสามารถนำมาแปรรูปเป็นสินค้าเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง จึงเกิดเป็นโอกาสในการขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจะมีราคาถูกกว่าก๊าซแอลพีจีหรือน้ำมันเตาแต่เนื่องจากที่ผ่านมาวัตถุดิบมีปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีความชื้นไม่คงที่ทำให้ค่าความร้อนไม่คงที่ มีน้ำหนักเบาทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูง มีขนาดและรูปร่างเชื้อเพลิงไม่คงที่ ทำให้ผู้ใช้ยากในการจะปรับเปลี่ยนชนิดของเชื้อเพลิงชีวมวลอีกทั้งราคาพลังงานในปัจจุบันมีความผันผวนโดยเฉพาะราคาน้ำมันและก๊าซแอลพีจีมีราคาถูกลงมาก จึงแข่งขันกับพลังงานดั้งเดิมได้ยากขึ้น
แต่เมื่อบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจาก สสว.และเอสเอ็มไอ ทำให้แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้สำเร็จ โดยสามารถลดต้นทุนได้ถึง 80,000 บาทต่อเดือน และสามารถวางเป้าหมายการผลิตเพิ่มขึ้นได้ถึง 100% รวมทั้งการมีลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความมั่นใจในการขยายธุรกิจ ด้วยการขยายโรงงานและลงทุนซื้อเครื่องจักร เพิ่มด้วยเงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายที่จะคืนทุนในระยะเวลาเพียง 4-5 ปี จากยอดขาย 10 ล้านบาทต่อเดือน
ทั้งนี้ ขั้นตอนการผลิตพลังงานชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellet) ประกอบด้วย
1. Crushing Process (กระบวนการย่อยสำหรับวัตถุดิบที่ยังมีขนาดไม่เหมาะสมสำหรับการผลิตต้องนำลดขนาดก่อน เช่น เศษไม้ ปีกไม้ เปลือกไม้ ฟางข้าว ใบอ้อย หญ้า เป็นต้น โดยเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการย่อยมีหลายประเภทเช่น Shredder, Crusher, Hammer Mill เป็นต้น
2. Drying Process (กระบวนการลดความชื้น) เป็นกระบวนการลดความชื้นในตัววัตถุดิบให้มีความชื้นที่เหมาะสมกับกระบวนการอัด เครื่องจักรที่ใช้คือ Rotary Drum Dryer 3.Mixing Process (กระบวนการผสม) ใช้สำหรับผสมวัตถุดิบตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป 4.Pelleting Process (กระบวนการอัด) เป็นกระบวนการขึ้นรูปวัตถุดิบให้เป็นเม็ด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-10 mm. ความยาว 3-6 cm. หรือตามความต้องการ โดยเครื่องจักรที่ใช้อยู่หลายประเภท เช่น Flat Die Pellet Mill, Ring Die Pellet Mill, Vertical Ring Die Pellet Mill เป็นต้น และ 5.Cooling Process (กระบวนการระบายความร้อน) เป็นกระบวนการระบายความร้อนให้กับเชื้อเพลิงชีวมวลที่ขึ้นรูปเป็นเม็ดแล้วให้เย็นตัวลง และคงรูปของเชื้อเพลิง
นายเขมทัศน์ สายเชื้อ รักษาการกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยว่า ในปี 2559 ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อไว้ 35,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% แบ่งเป็น สินเชื่อเอสเอ็มอีผู้ส่งออก 19,000 ล้านบาท และสินเชื่อเอสเอ็มอีผู้ส่งออกรายใหญ่ 16,000 ล้านบาท ถือเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังที่ต้องการให้ธนาคารช่วยผู้ส่งออกรายย่อย ด้วยการเพิ่มจำนวนรายให้มีสูงกว่า 90% ภายใน 2-3 ปี ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างเอสเอ็มอีรายย่อยกับรายใหญ่ต้องปรับให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 35% ต่อ 65%
นอกจากนี้ ธนาคารได้จับมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมสำหรับภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดความคิดริเริ่มในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน โดยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในสัดส่วน 1 ใน 3 ของเงินลงทุนโครงการ และสำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. จะสนับสนุนอีก 2 ใน 3 โดยมีวงเงินรวมไม่เกินโครงการละ 30 ล้านบาท ระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 7 ปี (รวมระยะปลอดการชำระคืนเงินต้น 2 ปี) ซึ่งจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินครึ่งหนึ่งของอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปี + 1.125% ต่อปีตลอดระยะเวลากู้
ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SMEs ในระยะเร่งด่วน ผ่าน "โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs" ระยะที่ 2 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อต่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 นั้น ความคืบหน้าขณะนี้ ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินการปล่อยกู้ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท เต็มวงเงินแล้ว ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งทำให้ ผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยตามเงื่อนไขใหม่ร่วม 9,700 ราย ได้รับความช่วยเหลือ คิดเป็นวงเงินเฉลี่ยต่อรายประมาณ 5.1 ล้านบาท
ทั้งนี้ สถาบันการเงินจำนวน 20 แห่ง ที่เข้าโครงการและได้เบิกใช้วงเงิน ได้แก่ 1.ธนาคารกรุงเทพ ประมาณ 12,800 ล้านบาท 2.ธนาคารไทยพาณิชย์ ใช้วงเงินประมาณ 7,600 ล้านบาท 3.ธนาคารกรุงไทย กว่า 6,400 ล้านบาท 4.ธนาคารกสิกรไทย 6,100 ล้านบาท 5.ธนาคารออมสิน 4,100 ล้านบาท 6.ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จำนวนกว่า 3,600 ล้านบาท และสถาบันการเงินอื่น ๆ อีกรวมกว่า 9,000 ล้านบาท
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผย ตลาดข้อมูลส่งออกอาหารของไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 15.94 ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกอาหารไปอาเซียนเฉลี่ยมีอัตราขยายตัวเพียงร้อยละ 9.19 ต่อปี โดยปี 2558 ที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกอาหารไปตลาดอาเซียนเท่ากับ 231,433.17 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.65 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ส่วนมูลค่าส่งออกอาหารไป CLMV ในปี 2558 เท่ากับ 122,947.5 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 16.92
ทั้งนี้เมียนมาเป็นประเทศที่ไทยส่งออกในสัดส่วนมากที่สุด ราวร้อยละ 32 รองลงมาคือ เวียดนาม ร้อยละ 31.5 กัมพูชา ร้อยละ 20.5 และ สปป.ลาว ร้อยละ 16 โดยพบว่าสัดส่วนของมูลค่าส่งออกอาหารไปยัง CLMV มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับภาพรวมการส่งออกไปอาเซียน กล่าวคือ ปี 2554 มูลค่าส่งออกอาหารไป CLMV คิดเป็นร้อยละ 38 ของมูลค่าส่งออกอาหารไปอาเซียนทั้งหมด และในปี 2558 สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 53 แสดงให้เห็นว่า CLMV คือตลาดอาเซียนใหม่ที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับเอสเอ็มอี กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
“ในปี 2558 สินค้าอาหารแปรรูปในหมวดเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นมของไทยมีกลุ่มประเทศ CLMV เป็นตลาดส่งออกหลัก ส่วนน้ำผักผลไม้ก็เป็นสินค้าที่มีการขยายตัวได้ดี คาดว่าในปี 2559 จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ดีมีคุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการค้าและการลงทุน”
จากข้อมูลของ IMF ที่ประเมินภาวะเศรษฐกิจของประเทศ CLMV พบว่าในปี 2559 นี้อัตราขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้นของทั้งกัมพูชา สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศไทย โดยกัมพูชาและ สปป.ลาว, เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 7.1 และ 7.9 ตามลำดับ ส่วนเมียนมาอัตราเติบโตของเศรษฐกิจขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ถือว่าอยู่ในระดับสูง คือร้อยละ 8.3 ขณะที่เวียดนามจะมีอัตราเติบโตร้อยละ 6.4 ส่วนไทยคาดว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 3.2
และเมื่อพิจารณากำลังซื้อของผู้บริโภคก็พบว่า ทั้ง CLMV ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจที่เติบโต ทำให้เกิดการจ้างงานและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยผู้บริโภคกัมพูชามีอำนาจซื้อเฉลี่ยต่อคนต่ำที่สุด ขณะที่ผู้บริโภค สปป.ลาวและเมียนมามีกำลังซื้อเฉลี่ยต่อคนใกล้เคียงกัน ส่วนเวียดนามมีอำนาจซื้อเฉลี่ยต่อคนสูงที่สุดใน 4 ประเทศ
ทั้งนี้สถาบันอาหารได้ทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคใน CLMV เกี่ยวกับการบริโภคอาหารแปรรูป พบว่า กัมพูชา ชาวกัมพูชามักจะทำอาหารด้วยตนเองเป็นประจำทุกวัน คิดเป็นร้อยละ 35.2 โดยในปัจจุบันพฤติกรรมการรับประทานอาหารสำเร็จรูปประเภทต่าง ๆ ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายมากนัก
เช่นเดียวกับ สปป.ลาว กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 97.0 มีพฤติกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้าน มีความถี่ในการรับประทานบะหมี่/ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็ง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนอาหารแปรรูปกระป๋องมีความถี่ในการรับประทาน 1-2 ครั้งต่อเดือนมากที่สุด ร้อยละ 90 เลือกบริโภคเครื่องดื่มสำเร็จรูปได้แก่ 1.เครื่องดื่มจำพวกน้ำผลไม้พร้อมดื่ม 2.เครื่องดื่มจำพวก ชา กาแฟ น้ำปั่น 3.นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต โดยมีความถี่ในการบริโภค 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เท่ากันทุกชนิดมากที่สุด
สำหรับเมียนมา กลุ่มตัวอย่างบริโภคอาหารแปรรูป 1.ขนมขบเคี้ยวประเภทถั่วและธัญพืช คิดเป็นร้อยละ 87.0 ด้วยความถี่ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ 2.ขนมขบเคี้ยวประเภทขนมปังกรอบ เคยทานคิดเป็นร้อยละ 78.7 ด้วยความถี่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ 3.ขนมหวานจำพวกวุ้น เยลลี่ เคยทานคิดเป็นร้อยละ 62.0 ด้วยความถี่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ 4.หมูยอ กุนเชียง หมูหยอง แหนม เคยทานคิดเป็นร้อยละ 59.7 ด้วยความถี่ 1 ครั้งต่อเดือน 5.ผักผลไม้แปรรูป: ดอง แช่อิ่ม อบแห้ง เคยทานคิดเป็นร้อยละ 40.0 ด้วยความถี่ 1 ครั้งต่อเดือน 6.อาหารแปรรูปไขมันและแป้งน้อย เคยทานคิดเป็นร้อยละ 34.3 ด้วยความถี่ประมาณ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ 7.อาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็งนั้นผู้บริโภคชาวเมียนมาไม่เคยบริโภคมากถึงร้อยละ 95.0 และอาหารแปรรูปกระป๋องนั้น โดยรวมแล้วเคยรับประทานอยู่ที่ร้อยละ 74.0 มีความถี่ 1 ครั้งต่อเดือนมากที่สุด
ด้านเวียดนาม ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านมากถึงร้อยละ 98.0 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีความถี่ในการรับประทานบะหมี่/ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนอาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็งและอาหารแปรรูปกระป๋องมีความถี่ในการรับประทาน 1-2 ครั้งเดือนมากที่สุด โดยชาวโฮจิมินห์ส่วนใหญ่นิยมรับประทานบะหมี่/ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป อาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารกระป๋องมากกว่าชาวฮานอย กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 90 เลือกบริโภคเครื่องดื่มสำเร็จรูป ได้แก่ 1.เครื่องดื่มจำพวกน้ำผลไม้พร้อมดื่ม 2.เครื่องดื่มจำพวก ชา กาแฟ น้ำปั่น 3.นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต โดยมีความถี่ในการบริโภค 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
นายยงวุฒิ กล่าวว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา มีร้านค้าสมัยใหม่เกิดขึ้นมาก ศักยภาพของตลาดที่ขยายตัวเนื่องจากการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองสำคัญ แนวโน้มตลาดอาหารแปรรูปยังมีโอกาสให้ขยายตัวได้อีกมาก ผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของอาหารไทยที่แข็งแรงด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยยังมีอนาคตสดใสในตลาด CLMV สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังไม่มีประสบการณ์ แต่มีความสนใจส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปเข้าสู่ตลาด CLMV ควรเจาะตลาดตามแนวชายแดนก่อน เมื่อมีแนวโน้มดีจึงค่อยรุกเข้าสู่ตลาดในเมืองหลักตามลำดับ เพื่อลดความเสี่ยง หรืออาจเริ่มต้นจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้ากับหน่วยงานภาครัฐของไทย และรับคำแนะนำจากทูตพาณิชย์ของไทยประจำประเทศต่าง ๆ
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ตามโครงการ "ไมโคร เอ็นเตอร์ พรีเนอร์" ระยะที่ 2 วงเงิน 13,500 ล้านบาท โดยจะต้องเป็นผู้ประกอบการไมโคร เอ็นเตอร์พรีเนอร์ ที่มีทรัพย์สินถาวร(ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ค้ำประกันให้เอสเอ็มอีต่อรายสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี จ่ายค่าประกันชดเชยสูงสุดไม่เกิน 20% บวกกับค่าธรรมเนียมที่ได้รับและรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในปีแรก โดยรับคำขอค้ำประกันได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
นอกจากนี้ ครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดทำบัญชีของเอสเอ็มอีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่...) พ.ศ. ...ตามที่กระทรวงการคลังเสนอโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดทำบัญชีของเอสเอ็มอี โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายในการจ้างนักเรียนนักศึกษาที่อยู่ระหว่างศึกษาแผนกวิชาบัญชีที่ได้รับการรับรองจากสถาบันการศึกษาในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการได้ 100% หรือหนึ่งเท่าของที่จ่ายจริงเป็นระยะเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชี คาดว่าจะช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่มีพื้นฐานด้านบัญชี
นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เปิดเผยว่า สนช.เตรียมเสนอแผนการจัดทำโครงการคูปองนวัตกรรม เป็นโครงการประจำปีงบประมาณ เริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป จำนวน 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของประเทศไทย คิดค้นการดำเนินธุรกิจแบบมีนวัตกรรม สามารถแข่งขันเวทีการค้าโลก โดยเฉพาะชาติสมาชิกอาเซียนอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียได้ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและจำหน่ายโดยคนไทย
ทั้งนี้ ตั้งเป้าสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใหม่เข้าสู่ธุรกิจประมาณ 250 ราย/ปี เฉลี่ยงบสนับสนุน 1-1.5 ล้านบาท/ราย เทียบจากที่ผ่านมาโครงการคูปองนวัตกรรมเป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2558 ผ่านการใช้งบประมาณกระตุ้นกลางปี ซึ่ง สนช.มองว่าโครงการควรมีความต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันการนำนวัตกรรมมาใช้ ถือเป็นจุดแข็งของผู้ผลิตสินค้าและบริการสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
"รัฐบาลสิงคโปร์และมาเลเซียต่างให้ความสำคัญเรื่องนวัตกรรมอย่างมาก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยมีแนวคิดที่ดี แต่ขาดความต่อเนื่องในการสนับสนุน บางรายไม่มีช่องทางขอคำแนะนำและทำตลาดที่ถูกต้อง จึงเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าสินค้าที่ตัวเองผลิตขึ้นมาเป็นของใหม่ รวมถึงไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้สินค้าหรือบริการได้ การแนะนำอย่างถูกวิธีเชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้สินค้านวัตกรรมไทยถูกผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น" นายพันธุ์อาจ กล่าว
สำหรับการพิจารณาโครงการนวัตกรรมเฟส 2 รอบแรก มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติรวม 104 โครงการ มูลค่างบสนับสนุน 85 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 189 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าการสนับสนุนงบประมาณในครั้งนี้ ส่งผลต่อภาพรวมการลงทุนใหม่ในธุรกิจนวัตกรรมกว่า 1,500 ล้านบาท โดย สนช. เน้น 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ เกษตร อาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมอนาคตและอุตสาหกรรมบริการ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี พบว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ปลายปีฟื้นตัวโดดเด่น เหตุแรงหนุนจากการใช้จ่ายช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว บวกมาตรการรัฐ ช่วยพยุงกำลังซื้อประชาชนช่วงปลายปี แต่ยังห่วงปัจจัยลบฉุดเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อชะลอตัวอีกรอบในปีนี้
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 4/2558 จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME 1,276 กิจการทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 40.5 ปรับขึ้นจากระดับ 34.2 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมที่ผ่านมา ความกังวลทางด้านรายได้ของธุรกิจที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดต่อเนื่องและเป็นช่วงเทศกาล ซึ่งมีการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคค่อนข้างมากกว่าไตรมาสก่อน ประกอบกับเริ่มเข้าฤดูกาลท่องเที่ยวของทั้งภาคเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคมีความคึกคักและมีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นกว่าช่วงไตรมาสที่ผ่านมา
“ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากที่ปรับลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน เนื่องจากเจ้าของธุรกิจมีความเชื่อมั่นด้านรายได้สูงขึ้นกว่าไตรมาส 3 จากภาวะเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่มีการจับจ่าย บริโภค ท่องเที่ยว และมีมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลออกมาเพิ่มบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดีในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี” นายเบญจรงค์กล่าว
ส่วนความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าพบว่า ดัชนีอยู่ที่ 56.9 ปรับขึ้นจากระดับ 53.1 หรือเพิ่มขึ้น 7.15 จุด สูงกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจช่วงต้นปีหน้า(มกราคม-มีนาคม 2559) น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 เนื่องจากแรงส่งจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศช่วงปลายปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี และแรงส่งจากมาตรการภาครัฐฯ ที่ทยอยออกมากระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นไตรมาส 4/2558 ยังคงส่งผลต่อเนื่องในครึ่งแรกของปี 2559
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศร้อยละ 60.9 ยังรู้สึกกังวล “ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อชะลอตัว” แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่ดีขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลในประเด็นนี้ลดลงจากร้อยละ 63.9 ในไตรมาส 3 แต่ก็ถือว่ายังเป็นความกังวลในระดับที่สูง โดยผู้ประกอบการ SME ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือกังวลในประเด็นดังกล่าวสูงเป็นอันดับ 1 และ 2 คือ ร้อยละ 65.0 และ 64.8 ตามลำดับ สาเหตุเนื่องจากภาคใต้ได้รับผลกระทบจากราคายางพาราที่ยังไม่มีทีท่าจะปรับเพิ่มขึ้น ราคาปาล์มน้ำมันยังคงต่ำ และปัญหาในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลที่ไม่กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงได้รับผลลบจากราคาข้าวที่ลดลง ขณะที่ผลผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
“แม้ว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจในประเทศจะค่อนข้างชะลอตัวและกำลังซื้อในประเทศมีจำกัด จนทำให้ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการลดลงอย่างมาก แต่ช่วงสุดท้ายของปี เราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของความเชื่อมั่น เนื่องจากการการกลับมาของกำลังซื้อและบรรยากาศของเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น หากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถรักษาบรรยากาศของเศรษฐกิจในประเทศให้ดีอย่างต่อเนื่องต่อไปถึงไตรมาส 2 ปีนี้ได้ คาดว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะฟื้นตัวได้ในระยะยาว” นายเบญจรงค์ กล่าว
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด