Logistic & Supply Chain

มองรอบทิศคิดอย่าง Supply Chain โลจิสติกส์และซัพพลายเชนของการขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ (Air Freight Business)

ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ayasanond@hotmail.com

 

 

 

 

จากกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมในโลกปัจจุบันก่อให้เกิดการแข่งขันกันในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งการก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ย่อมทำให้เกิดความต้องการที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น การขนส่งจึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของไทยให้เท่าทันอารยะประเทศ

 

 

          เป็นที่ทราบกันว่า ธุรกิจการขนส่งทางอากาศ หรือธุรกิจการบิน (Aviation Business) นั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของอุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry) ซึ่งธุรกิจการบินจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ โดยธุรกิจการบินจะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ 2 ประเภท คือ

 

          1. ธุรกิจสายการบิน (Airline Business) หมายถึง ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำหน้าที่รับส่งคนโดยสาร

 

          2. การขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ (Air Freight Business) หมายถึง ผู้ประกอบธุรกิจบริการขนส่งสินค้า

  

          ในบทความฉบับนี้จะขอเสนอแง่คิด และมุมมองในการดำเนินธุรกิจการขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ (Air Freight Business) ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จากที่เห็นได้ว่าประเทศต่าง ๆ มีการพัฒนาสนามบินพาณิชย์ให้ทันสมัย และเพียงพอกับความต้องการ บริษัทสร้างเครื่องบินมีการสร้างเครื่องบินซึ่งมีขนาดใหญ่ และสมรรถภาพในการบินสูง สามารถบรรจุสินค้าและบรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้น มีเครื่องมือในการขนส่งอันทันสมัยครบครัน นอกจากนี้ยังมีการขยายและปรับปรุงบริเวณคลังสินค้าที่ท่าอากาศยานให้กว้างขวางทันสมัย เพื่อการขนส่งสินค้าดำเนินไปอย่างสะดวกและรวดเร็วจากผู้ส่งที่เมืองต้นทางไปยังเมืองผู้รับปลายทาง

                   

          เมื่อพูดถึงข้อดีของการขนส่งสินค้าทางอากาศนั้นก็คือ ใช้เวลาในการขนส่งน้อย สินค้าแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะสินค้าประเภทแฟชั่น สามารถส่งไปยังตลาดต่าง ๆ ทั่วโลกได้ในเวลาที่รวดเร็ว สำหรับในส่วนของข้อเสียก็คือ เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูง เพราะมีอัตราค่าขนส่งสินค้าสูงกว่าอัตราค่าขนส่งประเภทอื่น ๆ และการขนส่งขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง หากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย และเมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบการขนส่งแบบอื่นแล้วก็สามารถแสดงได้ตามแผนภาพด้านล่างนี้

 

  

 

 

          การขนส่งทางอากาศ เป็นการขนส่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว คือ มีความรวดเร็วในการขนส่ง เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ สำหรับกระบวนการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศนั้น ในกระบวนการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ ประกอบด้วยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการดังนี้

 

 

          ผู้ส่งออกสินค้า (Shipper)หมายถึง ผู้ที่ต้องการส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ ในที่นี้คือผู้ที่ต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ

                   

          ตัวแทนรับขนส่งสินค้า (Freight Forwarder)คือ ผู้มีหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ส่งออกในการจัดหา และจัดการขนส่งสินค้าของผู้ส่งออกไปยังเมืองท่าปลายทาง บางรายทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ส่งสินค้ากับผู้รับขนส่งสินค้า บางรายอาจทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่งสินค้าโดยตรง ทั้งนี้บริการที่ตัวแทนรับขนส่งสินค้าสามารถให้บริการ ประกอบไปด้วยบริการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

                   

          1) ตัวแทนออกของให้กับผู้ส่งสินค้าหรือผู้รับสินค้า (Customer Broker)              

          2) ตัวแทนในการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Forwarding Business) แต่ดำเนินงานในฐานะเป็นตัวแทนของผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า

          3) ตัวแทนของผู้รับขนส่งสินค้า (Transportation Provider) เช่น เป็นตัวแทนสายการบินในการให้บริการรับขนส่งสินค้า หรือเป็นผู้ขนส่งสินค้าเอง

          4) การรับจัดการบรรจุหีบห่อ (Packing) รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์

          5) การให้บริการด้านคลังสินค้า (Warehouse) โรงพักสินค้า การบริหารจัดการคลังสินค้า โดยใช้เครื่องมือและแรงงานของตนเองให้กับผู้ใช้บริการที่มีคลังสินค้าเป็นของตัวเอง แต่ไม่ประสงค์จะดำเนินการบริหารจัดการเอง

          6) การให้บริการทางด้านแรงงาน คนงาน (Stevedoring) เพื่อการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์

          7) การให้บริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport)

          8) ผู้ให้บริการบริหารโลจิสติกส์ ในระบบห่วงโซ่อุปทานครบวงจร (Logistics and Supply Chain Service)

          9) ผู้ให้คำปรึกษาเชิงธุรกิจแก่ผู้นำเข้าและส่งออก (Business Consultant)

                 

          สำหรับตัวแทนรับขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight Forwarder) จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ และได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทที่ให้บริการการบิน ให้ดำเนินการรับสินค้าและออกใบตราส่งสินค้าทางอากาศให้แก่ผู้ส่งออก

              

          สายการบินหรือบริษัทการบินต่าง ๆ (Airline หรือ Carrier)คือ ผู้ที่ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยผู้ให้บริการประเภทนี้ จะเป็นเจ้าของระวางสินค้า

               

          ผู้รับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ (Air Courier)ปัจจุบันมีผู้ให้บริการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศทั้งขนาดใหญ่ที่มีฝูงบินเป็นของตนเอง และผู้ให้บริการขนาดเล็ก ที่ซื้อระวางมาจากสายการบินอีกทอดหนึ่ง โดยผู้ให้บริการประเภทนี้ เน้นการขนส่งสินค้าที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว สินค้าที่ใช้บริการการขนส่ง เป็นสินค้าที่มีขนาดเล็กและเบา เน้นการให้บริการแบบรับ-ส่งของถึงที่ (Door to Door) คือ เป็นการรับของจากผู้ส่งที่ต้นทาง จากนั้น จะดำเนินพิธีการทางศุลกากรทั้งในประเทศต้นทางและปลายทางให้ และส่งให้กับผู้รับปลายทาง โดยจะมีการเก็บค่าบริการแบบเหมาจ่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บที่ต้นทาง โดยผู้รับปลายทางจะชำระเพียงค่าใช้ด้านภาษีอากร และค่าบริการทางเอกสารพิธีการศุลกากรเท่านั้น

               

          ผู้รับขนส่งพัสดุไปรษณีย์อากาศระหว่างประเทศ (Air Parcel Post) การขนส่งพัสดุไปรษณีย์อากาศระหว่างประเทศ จะมีเงื่อนไขดังนี้ คือ สินค้าที่รับขนส่งจะต้องมีน้าหนักต่อชิ้นไม่เกิน 10 กิโลกรัม และเป็นการขนส่งที่ให้บริการโดยรัฐ โดยผู้ส่งออกจะต้องนำสินค้าไปส่งยังที่ทำการไปรษณีย์ต้นทาง และเป็นการส่งของถึงมือผู้รับโดยตรงที่ปลายทาง เว้นแต่เป็นของที่มีภาษีอากรมาก ซึ่งการชำระค่าไปรษณีย์อากรนั้นจะต้องชำระที่ต้นทางและผู้นำเข้าที่ปลายทางก็ชำระเพียงค่าไปรษณีย์อากรเท่านั้น

               

          สำหรับเครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งสินค้าทางอากาศนั้น โดยทั่วไปจะมี 3 ประเภท ได้แก่

             

          1) เครื่องบินโดยสาร (Passenger Flight)

          2) เครื่องบินกึ่งโดยสาร (Combi Flight หรือ Combination of Passenger & Main deck Loader)

          3) เครื่องบินบรรทุกสินค้า (Charter Flight/Cargo Flight/Freighter)

               

          ตัวแทนผู้รับสินค้าปลายทาง (Oversea Agent)คือ ผู้ที่ทำหน้าที่รับสินค้าและดำเนินการจัดส่ง รวมถึงดำเนินพิธีการศุลกากรให้แก่ผู้รับสินค้าปลายทาง

               

          ผู้นำเข้า (Consignee) คือ ผู้รับสินค้าปลายทางที่ขนส่งมาทางอากาศ

 

 

 

กระบวนการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ

(รูปภาพจาก: https://www.yakit.com/sites/default/files/efreight.png)

 

 

 

บริษัท ตัวแทนรับขนส่งสินค้า (Freight Forwarder)

(รูปภาพจาก: http://sc01.alicdn.com/photo/v6/200358336/Professional_International_Shipping_Company_from_China.jpg)

 

 

          ลักษณะการดำเนินงานของผู้ให้บริการขนส่งด่วนระดับโลกในปี 2545 ซึ่งปัจจุบันรายได้นั้นมีการขยายขึ้นมากกว่าเท่าตัว

 

 

 

หมายเหตุ: *ประมาณการรายได้โดยเทียบอัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐฯ เท่ากับ 40 บาท

ที่มา: United State International Commission, April 2004

 

 

 

บริษัท SMESHIPPING นับเป็นบริษัทน้องใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่น่าจับตามอง

(รูปภาพจาก: http://www.smeshipping.com/)

 

 

          ปัจจุบันบริษัทสายการบิน (Airline) หลายบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศก็ได้เพิ่มช่องทางการตลาด โดยปรับรูปแบบของเครื่องบินที่เคยใช้บริการขนส่งผู้โดยสารอย่างเดียว (Passenger Flight) มาเป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้า (Charter Flight/Cargo Flight/Freighter) ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจเป็นจำนวนมาก แม้แต่บริษัทสายการบินแห่งชาติของเรา

 

 

 

โครงสร้างรายได้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ใน 3 ปีที่ผ่านมา

(ที่มา: รายงานประจำปี 2558 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), หน้า 17)

 

 

          จากกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมในโลกปัจจุบันก่อให้เกิดการแข่งขันกันในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งการก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ย่อมทำให้เกิดความต้องการที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น การขนส่งจึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของไทยให้เท่าทันอารยะประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่สร้างการตอบสนองให้สินค้านั้น สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ แต่การขนส่งสินค้ายังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับเศรษฐกิจการค้าได้อีกด้วย ปัจจัยที่มีผลทำให้ต้องเร่งการพัฒนาการขนส่งสินค้าให้เจริญก้าวหน้า ได้แก่ แนวโน้มทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง และการพยายามฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างในปัจจุบัน และเนื่องจากทิศทางการแข่งขันทางการค้าแบบโลกาภิวัฒน์ที่มุ่งเน้นความรวดเร็วความยืดหยุ่นในการส่งมอบสินค้า และบริการที่กำลังกลายเป็นข้อได้เปรียบทางการค้าในอนาคต การคำนึงถึงต้นทุน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะสร้างข้อได้เปรียบที่มากขึ้น ซึ่งเห็นได้ว่าการคมนาคมขนส่งนับเป็นกลไกอันสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

              

          การขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศไทยได้มีการพัฒนาจากแนวทางของแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม พ.ศ.2548-2552 ในภาพรวมทางด้านการขนส่งรัฐบาลได้ระบุถึงการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางในการคมนาคมขนส่ง เพื่อมุ่งหวังให้ประเทศไทยเกิดข้อได้เปรียบในลักษณะเฉพาะตัวทางด้านภูมิศาสตร์ โดยมี

 

          ยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าทางอากาศ 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ

 

          1. Global Destination Network โดยขยายเครือข่ายเส้นทางบินครอบคลุมทั่วโลก เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของสินค้าของกลุ่มประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และเอเชียใต้

 

 

 

การเชื่อมโยงของเครือข่ายเส้นทางการบิน และการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์
(รูปภาพจาก: http://www.nationmultimedia.com/specials/suvarnabhumi/ppt.htm)

 

 

          2. พัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติให้เป็นประตูระดับโลก โดยพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นประตูสู่ประเทศต่าง ๆ ในโลก พร้อมทั้งพัฒนาสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตเป็นประตูสู่ภูมิภาค
         

          3. เป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ของโลกด้านอาหาร ผัก ผลไม้สด ดอกไม้ แฟชั่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อะไหล่รถยนต์ และเครื่องประดับ

               

          จากยุทธศาสตร์ข้างต้นเห็นได้ว่าแผนการพัฒนาการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยจะมุ่งเน้นไปที่การเปิดเสรีทางการค้าโดยการเปิดน่านฟ้าเสรี และนำความพร้อมในศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทางด้านภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงระบบการขนส่งในประเทศ และระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมาสนับสนุนการพัฒนาการขนส่งของประเทศ เนื่องด้วยความสามารถในการรองรับความถี่ของเที่ยวบินได้อย่างเพียงพอของระวางสินค้าในอนาคต อีกทั้งมีการเปิดเขตปลอดพิธีการศุลกากร (Free Zone) ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีอันทันสมัยในการจัดการ เช่น เครื่องมือการรักษาความปลอดภัย เครื่องมือเอ็กซเรย์สินค้าเข้า-ออก และเทคโนโลยีในการจัดการสินค้าในบริเวณคลังสินค้า

 

 

 

 

          ทางด้านผู้ประกอบการขนส่งเองก็มีแนวโน้มในการให้ความร่วมมืออีกเช่นกัน เช่น การเปิดสายการบินใหม่ เพื่อให้บริการทางด้านขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ (Freighter) โครงการขยายการให้บริการระวางสินค้าไปยังเมืองสำคัญ ๆ ทั่วโลก โครงการเครื่องบินบรรทุกสินค้าเช่าเหมาลำ (Freighter Charter Flight) โครงการจัดให้มีเครื่องบินขนส่งสินค้า (Freighter) โครงการจัดตั้งศูนย์กลางกระจายสินค้าการเกษตรของเอเชียเพื่อเป็นการอำนวย ความสะดวกให้กับผู้ส่งออก เนื่องด้วยสินค้าประเภทเกษตรกรรมมีอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูงในการพึ่งพิงการ ขนส่งสินค้าทางอากาศ และโครงการจัดตั้ง Express Logistics Center ทั้งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางอากาศ

 

          อย่างไรก็ตามในการพัฒนาระบบการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลได้นั้น แม้ว่าแผนการกลยุทธ์ที่วางเอาไว้จะดีสักเพียงใด แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีข้อจำกัด ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาถึงปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาอีกด้วย อาทิ การขาดความสามารถในการพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งซึ่งจะส่งผลในการลดต้นทุนระยะยาว และความสามารถในการยกระดับการให้บริการที่เน้นความรวดเร็วและแม่นยำ ปัญหาในด้านของประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ที่ควรพิจารณา คือ 1.คือความล่าช้าในกระบวนการขนส่ง เนื่องจากผู้ขนส่ง หรือตัวแทนขนส่งยังต้องรายงานผ่านกรมศุลกากร แต่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของท่าอากาศยาน ท่าเรือ กรมศุลกากร และส่วนของผู้ปฎิบัติการยังไม่พัฒนาในเชิงปฏิบัติ ทำให้ขาดการบูรณาการระหว่างกัน อีกทั้งกฎระเบียบ และข้อปฏิบัติที่ขาดความยืดหยุ่นส่งผลให้เกิดความล่าช้า ซึ่งเวลาที่รวดเร็วถือเป็นปัจจัยหลักที่เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน แม้ในรัฐบาลปัจจุบันกำลังผลักดันให้เกิด Single Window ก็ตาม 2.ต้นทุนทางโลจิสติกส์ที่สูงขึ้นจากเดิม เป็นเหตุทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากเดิม ซึ่งในส่วนนี้ผู้ประกอบการ และผู้นำเข้า ส่งออกต้องแบกภาระในส่วนนี้ 3.คือการที่ต้องแบกรับต้นทุนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือสู่อากาศ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงกว่าในกิจกรรมการขนส่ง เหตุนี้เองที่ทำให้ความน่าสนใจในการขนส่งสินค้าผ่านประเทศไทยลดต่ำลง จากข้อมูลเบื้องต้นนี้แล้วเห็นได้ว่า การพัฒนาการขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศให้ได้ผลได้นั้นไม่ไกลเกินความสามารถ หากแต่ว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงการแก้ปัญหาในทางซัพพลาย โลจิสติกส์ด้วย มิเช่นนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบกลับมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนา และ 4.ซึ่งอาจเป็นปัญหาหรือข้อจำกัดที่สำคัญ คือ ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ อันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่บ่อยหรือขาดผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความจริงใจที่จะพัฒนาอย่างจริงจัง

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

• รายงานประจำปี 2558 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

• มนัญญา อะทาโส.(มกราคม 2552). “ฟรีโซน ท่าอากาศสุวรรณภูมิ ชิงเค้กสินค้าขนถ่ายลำทะยานสู่ฮับเอเซีย” Logistics Digest, http://www.freezonethaiairport.com
• เสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ.2551 สัมภาษณ์โดย ITL. “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยกระดับพัฒนาสู่ Airport Logistics”วารสาร Logistics Thailand กรกฎาคม 2551: หน้า 81-87ชนิญญา สันสมภาค.14 เมษายน 2552. "โลจิสติกส์"...ฝันร้ายที่เป็นจริง สู่ยุคร่วมธุรกิจ-พันธมิตร. จาก http://www.bangkokbiznews.com
• Michael Sales. (2016). Aviation Logistics. London, Philadelphia, New Delhi, Kogan Page Limited. http://www.logisticsclinic.com/web/content/view/681/120/1/4/ “การขนส่งสินค้าทางอากาศ”
http://www.nationmultimedia.com/specials/suvarnabhumi/ppt.htm
• สุวิทย์ รัตนจินดา นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ. กลยุทธ์ใหม่ในการพัฒนาระบบขนส่งสินค้า และโลจิสติกส์ สำหรับสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ
http://www.news.mot.go.th/motc/portal/graph/index_otp2.html. แผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2548-2552
http://www.sme.go.th/cms/c/journal_articles/view_article_content?article_id=0 4 -ARTICLE140108&article_version=1.0 นายชัยพร ชยานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สสว.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (ด้านการขนส่ง) ของประเทศไทย
www.logisticscorner.com
http://sc01.alicdn.com/photo/v6/200358336/Professional_International_Shipping_Company_from_China.jpg
http://www.smeshipping.com/
https://www.yakit.com/sites/default/files/efreight.png
• United State International Commission, April 2004
www.citsonline.utcc.ac.th
www.technosriracha.ac.th 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด