ศิริพร วันฟั่น
ข่าวเศร้าสลดจากการเกิดอุบัติเหตุในระบบป้องกันอัคคีภัย ซึ่งเกิดการทำงานขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ระหว่างที่มีการปรับปรุงระบบ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน ได้กลายเป็นประเด็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางในแวดวงความปลอดภัย ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุการณ์นี้น่าจะช่วยกระตุ้นเตือนให้หลาย ๆ ฝ่ายเกิดการเรียนรู้ความปลอดภัย เพื่อสร้างมาตรการป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นได้อีกในอนาคต
โดยในค่ำคืนของวันอาทิตย์ที่ 13 มี.ค.2559 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 21.30 น. ได้เกิดเหตุขึ้นที่ห้องมั่นคงที่ใช้เก็บเอกสารสำคัญของลูกค้า ในบริเวณชั้นใต้ดินของธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยทางธนาคารได้ว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งให้ทำการเปลี่ยนระบบดับเพลิงที่มีอยู่เดิม ให้เป็นระบบใหม่ ซึ่งจะต้องทำการวางท่อใหม่ทั้งหมด แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ก็ยังคงระบบเดิมไว้ก่อน จนกว่าระบบใหม่จะติดตั้งเสร็จ
เมื่อคนงานของผู้รับเหมาช่วงได้เข้าไปปรับปรุงพื้นที่ เพื่อติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยใหม่นั้น ในระหว่างดำเนินการ คาดว่ากลุ่มควันหรือความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเจาะผนัง อาจจะไปกระตุ้นให้ระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่มีอยู่เดิมทำงานขึ้นมาในทันที จนส่งผลให้คนงานไม่สามารถหนีออกจากพื้นที่ได้ทันการ ทำให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตทันที 5 ราย และมาเสียชีวิตเพิ่มที่โรงพยาบาลอีก 3 ราย บาดเจ็บอีก 7 ราย แพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิต ว่าเป็นเพราะสมองขาดอากาศหายใจ และหายใจเอาสารดับเพลิงไพโรเจน (Pyrogen Aerosol) เข้าไปมากเกินจนร่างกายรับไม่ไหว
เหตุผลที่ต้องการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัย ก็เนื่องจากทางธนาคารต้องการที่จะเปลี่ยนระบบดับเพลิงอัตโนมัติในปัจจุบัน ซึ่งใช้สารไพโรเจน (Pyrogen) ที่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ระบบจะปล่อยสารออกมาเพื่อดับไฟ แต่ก็เกิดกลุ่มควันจากตัวของสารเองขึ้นมาด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ โพแทสเซียมคาร์บอเนต (Potassium Carbonate: K2CO3) ที่เป็นส่วนผสมของไพโรเจน ที่มีลักษณะเป็นเหมือนควันฝุ่นผงสีขาว ซึ่งจะส่งผลต่อทัศนวิสัยในการมองเห็น ทำให้ผู้ประสบภัยไม่สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล จึงอยากจะเปลี่ยนมาใช้ระบบดับเพลิงอัตโนมัติด้วยก๊าซไนโตรเจน (Nitrogen: N2) แทน ซึ่งก๊าซไนโตรเจนเป็นสารสะอาด (Clean Agent) ที่จะไม่ก่อให้เกิดควันขึ้นขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ ดังนั้นคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุก็จะสามารถมองเห็นเส้นทางหนีไฟ สามารถดูแลความปลอดภัยของตนเองและทรัพย์สินที่สำคัญของธนาคารได้มากขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดายและเสียใจอย่างยิ่ง ที่มาเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นเสียก่อนที่จะได้มีการปรับเปลี่ยนระบบ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมด้วย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) และคณะทำงานได้เดินทางเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ วันที่ 14 มี.ค.59 เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของอุบัติเหตุ
โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นบทเรียนเพื่อนำไปใช้ในการอบรมมาตรฐานของวสท. หรือทางด้านกฎหมายจะอบรมแนะนำ หรือทำอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น สิ่งที่ วสท. ต้องการหาคำตอบคือ 1.ทำไมระบบนี้ทำงาน ทั้งที่ไม่มีการเกิดเพลิงไหม้ 2.ระบบทำงานมาแล้วโดยการส่งก๊าซทั้งที่ไม่มีไฟ ทำไมถึงเกิดผู้เสียชีวิตถึง 8 ราย และ 3.บริษัทโฆษณาว่าไม่มีการกำจัดออกซิเจน แต่ทำไมมีผู้เสียชีวิต และทำไมถึงหนีออกมาไม่ได้”
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ กล่าวว่า “ด้านโครงสร้างของอาคารที่เกิดเหตุ ไม่มีปัญหาอะไร ปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดความร้อนสูงถึง 300–400 องศาเซลเซียสในช่วงระยะเวลา 5 วินาที ทำให้ระบบทำงาน คนที่ได้รับสัมผัสโดยตรงระยะประมาณ 10–20 เมตร จะหมดสติไม่เกิน 15 วินาที ก่อนที่จะเสียชีวิต”
พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เปิดเผยว่า “ในวันนี้มาเพื่อตรวจสอบระบบตรวจจับควันว่า สาเหตุอะไรทำให้เครื่องดับเพลิงอัตโนมัติทำงาน ขณะนี้พยายามลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ โดยที่เกิดเหตุมีพื้นที่ใหญ่ พร้อมทั้งตรวจสอบระบบไพโรเจน เครื่องตรวจจับควัน ตรวจดูว่าใครทำอะไร ตรงไหน ที่ทำให้ระบบดับเพลิงอัตโนมัติทำงาน ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบข้อมูลอย่างละเอียด แต่โดยหลักการทำงานของระบบดังกล่าวมีการตั้งค่าการตรวจจับปริมาณของควัน จากข้อมูลเบื้องต้นทางธนาคารต้องการปรับปรุงระบบจากระบบเดิม คือไพโรเจน เป็นไนโตรเจน ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าขณะเกิดเหตุไม่มีการเกิดประกายไฟใด ๆ และมีสัญญาณเตือนภัยดัง แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดออกมา กระทั่งมีไฟร์แมนของธนาคารเข้าไปช่วยเหลือ”
พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต ประดับสุข อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “จากการตรวจสอบพบว่าภายในห้องเป็นห้องนิรภัยเก็บเอกสารประเภทกระดาษ คาดว่าตอนเกิดเหตุผู้รับเหมาคงใช้สว่านเจาะผนังคอนกรีตเลยทำให้มีฝุ่นฟุ้งไปถูกตัวตรวจจับควัน ซึ่งโดยปกติแล้วตัวตรวจจับควันจะมีสองจุดตรวจ จะทำงานต่อเมื่อทั้งสองจุดตรวจพบอนุภาค ซึ่งในกรณีนี้ฝุ่นที่เกิดจากการเจาะผนังคอนกรีตน่าจะไปทำให้ตัวตรวจจับทำงาน ก๊าซไพโรเจนที่ใช้ดับเพลิงจึงดูดจับออกซิเจนออกไป”
พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาการแทน ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า “เบื้องต้นจะมีการสอบสวนรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเกิดจากความประมาทของผู้หนึ่งผู้ใดทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ก็ต้องถูกดำเนินคดี ในข้อหากระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงอยากขอเวลาตรวจสอบก่อน เพราะทางธนาคารก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ หากพบการกระทำความผิด ก็จะรีบดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกราย”
พ.ต.ท.เทวานุวัฒน์ อนิรุทธเทวา รองผู้อำนวยการ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย (สปภ.) กล่าวว่า “เนื่องจากทางอาคารดังกล่าวได้ติดตั้งระบบดับเพลิงแบบเวสด้า (VESDA) ซึ่งเป็นแบบรังผึ้ง มีประมาณ 7–8 ตัว คอยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ หากพบว่ามีการเผาไหม้ ระบบป้องกันดังกล่าวจะทำงานโดยการปล่อยสารแอโรซอลออกมา เพื่อทำการป้องกันการเกิดเพลิงแสง โดยจุดเกิดเหตุไม่พบร่องรอยการเผาไหม้แต่อย่างใด นอกจากนี้ สภาพศพของผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่พบร่องรอยบาดแผลแต่อย่างใด เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้นำศพทั้งหมดส่งนิติเวช รพ.ตร. เพื่อผ่าพิสูจน์หาสาเหตุของการเสียชีวิตที่แท้จริงต่อไป”
ขณะที่ พล.ต.ต.นพ.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยว่า “กรณีเหตุการรั่วไหลของสารเคมีดับเพลิงไพโรเจนที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเสียชีวิตจากสารไพโรเจน ที่ทำหน้าที่เป็นสารดับเพลิง และทำให้ก๊าซออกซิเจนในอากาศหมดไป ยอมรับว่าเป็นกรณีใหม่ ที่ทางนิติเวชไม่เคยเห็นมาก่อน ผลการตรวจชันสูตรศพ เบื้องต้น ทั้ง 8 ราย พบว่ามีสาเหตุเดียวกัน คือสมองขาดออกซิเจน ซึ่งจะเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ ส่งไปตรวจยังห้องปฏิบัติการหารายละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากไม่เคยพบผู้เสียชีวิตจากสารนี้มาก่อน ขณะที่สมองพบว่ามีการเปลี่ยนสี ซึ่งแตกต่างจากผู้เสียชีวิตปกติที่สมองจะมีสีซีด แต่กรณีนี้ผู้เสียชีวิตมีสมองสีชมพูสดมากกว่าปกติ ซึ่งเบื้องต้นคือการสูดดมสารพิษเข้าร่างกายมากจนเกินไป จนทำปฏิกิริยาดังกล่าว กรณีนี้ต้องส่งผลไปตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง ที่ห้องแล็ปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสารนี้จะบอกว่าเป็นสารพิษหรือไม่นั้น ก็อาจสรุปไม่ชัดเจนนัก แต่ที่ทราบคือเมื่อสูดดมเกินขนาดก็อาจถึงแก่ชีวิต ตามที่ปรากฏ หากสูดดมเกิน 15 นาที จะทำให้หมดสติและเป็นอันตรายถึงชีวิต ในลักษณะค่อย ๆ หมดสติจนไม่รู้สึกตัว อย่างไรก็ตาม ผลการชันสูตรยังไม่แล้วเสร็จ แต่กำลังเร่งสรุปเพื่อส่งพนักงานสอบสวนในคดีนี้ต่อไป”
นอกจากนี้ รศ.นพ.วินัย วนานุกุล ภาควิชาอายุรศาตร์ พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ความเห็นว่า “หากเราแยกพิจารณาเป็นตัว ๆ ของสารไพโรเจนนั้น จะได้คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน และละอองน้ำ ซึ่งถือว่าไม่ใช่ก๊าซพิษ เพราะไนโตรเจนก็มีในอากาศ 70 % อยู่แล้ว ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร่างกายเราก็ผลิตอยู่แล้ว ส่วนละอองน้ำก็ไม่มีพิษอะไร แต่เมื่อมีการสร้างก๊าซ 3 ตัวนี้เยอะ ๆ ในสถานที่ปิด ซึ่งปกติอากาศจะมีออกซิเจนอยู่ประมาณ 20 % พอไพโรเจนทำงาน ก็จะทำให้ออกซิเจนหมดไป คนป่วยและคนเสียชีวิต ก็คือ ขาดออกซิเจนในการหายใจ พอเราขาดออกซิเจน สมองก็จะได้รับการกระทบกระเทือนก่อน ปวดหัว กระวนกระวาย ถ้ามีมาก ๆ ก็ทำให้หมดสติ ต่อมาก็กระทบกับหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว กระทั่งช็อก เพราะหัวใจมีออกซิเจนน้อยเกินไป ภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น บอกไม่ได้ว่าใช้เวลากี่นาที เพราะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของออกซิเจนที่ขาดไป เช่น ว่าขาดไปเลย หรือว่ามีน้อย โดยเฉลี่ยแล้วคนเราก็จะเสียชีวิตภายในไม่กี่นาที จนถึง 30 นาที ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ก็คล้าย ๆ กับการอยู่ในรถแล้วติดเครื่องยนต์ไว้ ที่ถูกก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้ามาในรถจนออกซิเจนหมด”
ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว (โดยไม่สามารถหยุดระบบการทำงานของระบบดับเพลิงได้) ต้องกันคนไม่ให้ใครเข้าไปในพื้นที่และพยายามเปิดพื้นที่ ช่องทาง เพื่อให้อากาศเข้าไปในห้อง และให้สารเคมีข้างในไหลออกมาข้างนอก เมื่อไหลออกมาสารพวกนี้จะระเหยขึ้นด้านบนอากาศ ทิ้งไว้สักระยะจนมั่นใจว่า มีอากาศเข้าไปเพียงพอในห้องแล้ว ถึงสามารถเข้าไปได้ ส่วนทีมกู้ภัยหากจะเข้าช่วยเหลืออย่างฉุกเฉินจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เซฟตี้อย่างถังออกซิเจน มิฉะนั้นก็ไม่รอดเช่นกัน การปฐมพยาบาลที่ดีที่สุด คือ ให้ออกซิเจนดม ส่วนโอกาสรอดนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรง เช่น รุนแรงมากก็เสียชีวิต ถ้าขาดออกซิเจนนานเกินไปก็ทำให้สมองไม่ทำงาน กลายสภาพเป็นเหมือนผัก
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ได้เกิดข้อสังเกตและคำถามบนข้อสงสัยในเรื่องของมาตรการความปลอดภัยอยู่หลายประการ เช่น
ถ้าเราย้อนกลับไปดูกฎหมายแม่บทด้านความปลอดภัยฉบับปัจจุบันที่ใช้บังคับกับการทำงานในประเทศ นั่นคือ “พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554” พิจารณาคร่าว ๆ ก็จะมีอยู่หลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดขึ้นนี้ เช่น
ในกรณีที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมลูกจ้างทุกคนก่อนการเริ่มทำงาน
ลูกจ้างมีหน้าที่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลและดูแลรักษาอุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งให้สามารถใช้งานได้ตามสภาพและลักษณะของงานตลอดระยะเวลาทำงาน
ในกรณีที่ลูกจ้างไม่สวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว ให้นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดการทำงานนั้นจนกว่าลูกจ้างจะสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว
ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วง และมีผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไป ให้ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปตลอดสายจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นที่มีลูกจ้างทำงานในสถานประกอบกิจการเดียวกัน มีหน้าที่ร่วมกันในการจัดสถานที่ทำงานให้มีสภาพการทำงานที่ปลอดภัย และมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ถูกสุขลักษณะเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ลูกจ้างทุกคน
นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและได้รับการรับรองผลจากผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(1) กรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต ให้นายจ้างแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในทันทีที่ทราบ โดยโทรศัพท์ โทรสาร หรือวิธีอื่นใดที่มีรายละเอียดพอสมควร และแจ้งรายละเอียดและสาเหตุ เป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเสียชีวิต
(2) กรณีที่สถานประกอบกิจการได้รับความเสียหายหรือต้องหยุดการผลิต หรือมีบุคคลในสถานประกอบกิจการประสบอันตรายหรือได้รับความเสียหาย อันเนื่องมาจากเพลิงไหม้ การระเบิด สารเคมีรั่วไหล หรืออุบัติภัยร้ายแรงอื่น ให้นายจ้างแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในทันทีที่ทราบ โดยโทรศัพท์ โทรสาร หรือวิธีอื่นใด และให้แจ้งเป็นหนังสือโดยระบุสาเหตุอันตรายที่เกิดขึ้น ความเสียหาย การแก้ไขและวิธีการป้องกันการเกิดซ้ำอีกภายใน 7 วันนับแต่วันเกิดเหตุ
(3) กรณีที่มีลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน เมื่อนายจ้างแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยต่อสำนักงานประกันสังคมตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ให้นายจ้าง ส่งสำเนาหนังสือแจ้งนั้นต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยภายใน 7 วันด้วย การแจ้งเป็นหนังสือตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดและเมื่อพนักงานตรวจความปลอดภัยได้รับแจ้งแล้ว ให้ดำเนินการตรวจสอบและหามาตรการป้องกันอันตรายโดยเร็ว
หมายเหตุ: แต่ละมาตราที่กล่าวมาข้างต้น จะมีบทลงโทษตามฐานความผิด หนักเบาต่างกัน ในทีนี้จะขอกล่าวแต่เฉพาะบทลงโทษต่อนายจ้างกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 ซึ่งจะกล่าวครอบคลุมและเป็นบทลงโทษที่หนักสุดแล้ว ดังระบุไว้ในมาตรา 53
ต่อไปเราลองมาทำความรู้จักกับระบบดับเพลิงอัตโนมัติไพโรเจน (Pyrogen) กันสักหน่อยดีกว่า ว่ามีระบบการทำงานอย่างไร มีอันตรายร้ายแรงจริงหรือไม่
สารดับเพลิง Pyrogen ย่อมาจาก Pyrotechnically Generated เป็นสารดับเพลิงทางการค้าชนิดหนึ่งที่ไม่นำไฟฟ้า จัดว่าเป็นสารดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพสารหนึ่งที่นำมาใช้ทดแทน Halon ที่ถูกห้ามใช้ไป ได้รับการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาจากแนวความคิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในจรวด โดยเมื่อเก็บรักษาจะอยู่ในรูปของแข็งบรรจุอยู่ในถังดับเพลิงทรงกระบอก ต่อเมื่อใช้งานหรือทำปฏิกิริยา ก็จะกลายสภาพเป็นส่วนผสมของก๊าซ มีลักษณะการกระจายทั่วทิศทางจนเต็มพื้นที่ป้องกัน ถังดับเพลิง Pyrogen สามารถฉีดสารดับเพลิงออกมาได้ด้วยตัวของมันเอง โดยใช้หลักการดับเพลิงทางเคมีที่ใช้กระแสไฟฟ้าหรือความร้อน เพื่อทำให้สาร Pyrogen ที่อยู่ในรูปของแข็งเกิดปฏิกิริยาเคมี กลายสภาพเป็นส่วนผสมของควันและก๊าซฉีดออกมาด้วยแรงดันจากตัวถังฟุ้งกระจายไปทั่วปริมาตรของห้องที่ต้องการดับเพลิง ควันที่เกิดขึ้นนี้มีส่วนผสมหลักเป็นอนุภาคของโพแทสเซียมคาร์บอเนต ที่มีขนาดอนุภาคใกล้เคียงกับอากาศ ส่วนที่เป็นก๊าซเป็นส่วนผสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจน และละอองน้ำ รวมอยู่ด้วยกัน และเรียกส่วนผสมของก๊าซและควันดังกล่าวนี้ว่า Aerosol
ก่อนที่ Pyrogen จะถูกฉีดออกมานอกถัง จะถูกดูดซับความร้อนที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาเคมีด้วย Chemical Coolant ที่ถูกบรรจุอยู่ในถัง Pyrogen นอกจากนั้น Chemical Coolant ยังทำหน้าที่จัดเรียงสาร Pyrogen ที่ถูกฉีดออกมาให้มีความสม่ำเสมอด้วย สาร Pyrogen ในรูปของแข็งจะถูกบรรจุอยู่ในถังรวมกับ Chemical Coolant และอุปกรณ์จุดระเบิด พร้อมฝาปิดที่เจาะรูพรุนไว้เพื่อให้สาร Pyrogen ฉีดออกมา ซึ่ง Pyrogen แต่ละรุ่นจะมีปริมาณสารและขนาดไม่เท่ากัน เพื่อให้สามารถเลือกใช้งานตามขนาดของพื้นที่ป้องกัน เนื่องจากสาร Pyrogen ที่บรรจุถังอยู่ในรูปของแข็งจึงไม่ต้องการการอัดแรงดันใดๆ เหมือนเช่นสารอื่นๆ ที่บรรจุอยู่ในสถานะของเหลวหรือก๊าซ ถัง Pyrogen จึงเป็นถังไร้แรงดัน แต่จะมีแรงดันก็ต่อเมื่อเกิดปฏิกิริยาทำให้สาร Pyrogen กลายสภาพเป็นก๊าซ พร้อมสร้างแรงดันที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีฉีดตัวมันเองออกมาจากถัง ระบบ Pyrogen จึงไม่ต้องมีการเดินท่อก๊าซ แต่จะติดตั้งโดยนำถังไปติดในพื้นที่ป้องกันโดยตรง โดยให้มีปริมาณสารมากพอตามค่าการออกแบบ ตัวอย่างเช่น หากพื้นที่ใหญ่ ก็อาจต้องใช้ถังใหญ่ขึ้นจำนวนหลายถังติดกระจายทั่วพื้นที่ป้องกัน
รูปที่ 1 แสดงโครงสร้างแต่ละส่วนของถังดับเพลิง Pyrogen
รูปที่ 2 แสดงถังดับเพลิง Pyrogen ที่มีหลายขนาดให้เลือกใช้ให้เหมาะกับขนาดพื้นที่และรูปแบบระบบป้องกันอัคคีภัย Pyrogen ที่มีทั้งแบบครอบคลุมทั่วพื้นที่ (TFS) และแบบเฉพาะจุด (DTS)
รูปที่ 3 แสดงระบบดับเพลิงอัตโนมัติ Pyrogen ที่ไม่ต้องเดินท่อ สามารถนำถังดับเพลิงไปติดตั้งตามจุดที่ต้องการ แล้วเดินสายไฟฟ้าจากตู้ควบคุมไปที่ถังแต่ละถังแบบขนาน และสามารถเชื่อมระบบเข้ากับอุปกรณ์ตรวจจับควัน (Smoke Detector) และอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector) เมื่ออุปกรณ์ทั้ง 2 นี้ตรวจจับได้จะส่งสัญญาณเตือนภัยให้รับรู้ ก่อนที่ระบบดับเพลิงจะฉีด Pyrogen Aerosol (ส่วนผสมของก๊าซและควัน) ออกมาจากปากถังที่เป็นรูพรุน ระบบนี้ใช้ปริมาณสารดับเพลิงที่น้อยกว่าสารดับเพลิงอื่น ๆ และเป็นถังไร้แรงดัน แต่จะเกิดกลุ่มควันบดบังทัศนวิสัย ถ้าผู้ติดอยู่ชักช้าจะเสี่ยงต่อการออกไม่พ้นพื้นที่
รูปที่ 4 แสดงระบบดับเพลิงอัตโนมัติด้วยก๊าซไนโตรเจน (Nitrogen) ที่เป็นสารสะอาด (Clean Agent) เมื่อฉีดสารดับเพลิงออกมาจะไม่มีกลุ่มควันบดบังทัศนวิสัย แต่ในการติดตั้งต้องเดินท่อและใช้ปริมาณสารดับเพลิงที่มากกว่าสารไพโรเจน และเป็นถังอัดแรงดัน
กลไกการทำงาน (How Pyrogen Works) สารดับเพลิง Pyrogen สามารถถูกฉีดออกมาได้ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 วิธีดังนี้ (ดูรูปที่ 5 ประกอบ)
รูปที่ 5 แสดงกลไกการทำงานของระบบดับเพลิงอัตโนมัติ Pyrogen
เมื่อระบบดับเพลิง Pyrogen ถูกกระตุ้นให้ทำงานด้วยวิธีการใน 3 แบบข้างต้น จะทำให้ Pyrogen Aerosol (ส่วนผสมของก๊าซและควัน) ที่ถูกฉีดพุ่งออกมาในรูปของสารอนุมูลอิสระของธาตุโพแทสเซียมและก๊าซเฉื่อยจำพวกไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และละอองน้ำ ซึ่งไม่ติดไฟ แต่จะทำหน้าที่ดูดซับความร้อน (ลดอุณหภูมิของไฟ–ทางกายภาพ) และจับตัวกับอนุมูลอิสระของไฮโดรเจน ออกซิเจน และไฮดรอกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ (ปฏิกิริยาทางเคมี) ทำให้กระบวนการติดไฟขาดความต่อเนื่อง จนสามารถดับไฟได้ในที่สุด (ดูรูปที่ 6 ประกอบ) ทั้งนี้ ระบบดับเพลิง Pyrogen เหมาะสำหรับดับเพลิงประเภท Class A–Combustible Solids, Class B – Flammable Liquids, Class C – Flammable Gases, Class E – Electrically Energised Fires และ Class F–Fat & Cooking Oils
โดยหลักการ การที่ไฟจะติดก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบ 3 อย่าง คือ แหล่งกำเนิดไฟ เชื้อเพลิง และออกซิเจน (อากาศ) ดังนั้น สารเคมีที่จะดับไฟได้ ต้องทำให้ 3 องค์ประกอบนั้นสูญเสีย โดยวิธีที่ง่ายสุดคือ ทำให้ไม่มีอากาศ หรือเอาก๊าซอื่นที่ไม่ติดไฟไปแทนอากาศนั่นเอง หากไม่มีอากาศ ไฟก็ดับ และคนที่อยู่แถวนั้นก็จะเริ่มขาดอากาศหายใจ หมดสติลง โดยหลักๆ แล้ว คนไม่ได้เสียชีวิตเพราะสารแต่เป็นเพราะไม่มีอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหตุครั้งนี้ ระบบดับเพลิง Pyrogen ถูกกระตุ้นให้ทำงานในห้องที่ปิดทึบ มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือบริเวณที่มีอากาศเบาบางอย่างชั้นใต้ดินที่ไม่มีระบบระบายอากาศที่ดี
รูปที่ 6 แสดงกลไกการดับไฟของ Pyrogen Aerosol
ระบบป้องกันอัคคีภัย (Fire Protection System) ของ Pyrogen มีให้เลือก 2 รูปแบบ ได้แก่
1. ระบบป้องกันอัคคีภัยแบบครอบคลุมทั่วพื้นที่ (Pyrogen Total Flooding System: TFS) ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไฟโดยฉีดสารดับเพลิง Pyrogen ให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ป้องกัน ที่เป็นสถานที่ตั้งของตู้หรือส่วนปกคลุมแบบปิด (Sealed Enclosures) ที่บรรจุอุปกรณ์ วัสดุ หรือสิ่งของสำคัญไว้ภายใน เช่น ส่วนเก็บสัมภาระ ห้องเก็บเอกสารข้อมูล สถานีไฟฟ้าย่อย อุโมงค์สายเคเบิล ห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อาคารอัจฉริยะ ห้องแล็ป ห้องเครื่องจักรใหญ่ พื้นยก ตู้อุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น นั่นหมายถึงว่า ถังดับเพลิง Pyrogen ถูกติดตั้งอยู่ด้านนอกตู้ อาจจะเป็นผนังห้องหรือเพดานห้อง โดยมีรูปแบบของกลไกการทำงานป้องกันไฟ ดังนี้ คือ เมื่อเกิดการลุกไหม้ของไฟที่แผงควบคุมไฟฟ้า (Electrial Control Panel) แผงหนึ่งแล้วเริ่มลุกลามไปยังแผงอื่นๆ ส่งผลให้อุปกรณ์ตรวจจับควัน (Smoke Detector) หรืออุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector) ที่ติดตั้งบนเพดานภายในห้องเริ่มทำงาน ส่งสัญญาณไฟฟ้าไปที่แผงควบคุมการฉีดสารดับเพลิง Pyrogen แล้วส่งสัญญาณเสียงนับถอยหลังในการฉีดสาร จากนั้นเมื่อครบเวลาเตือน (ขึ้นอยู่กับเวลาที่ตั้งไว้) ถังบรรจุสารดับเพลิง Pyrogen ที่ติดตั้งอยู่ส่วนบนของผนังห้องก็จะทำการฉีด Pyrogen Aerosol ออกมาให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ห้อง เพื่อทำการดับไฟที่ลุกไหม้นั้น (ดูรูปที่ 7 ประกอบ)
รูปที่ 7 แสดงกลไกการทำงานของระบบป้องกันอัคคีภัยแบบครอบคลุมทั่วพื้นที่ (TFS)
รูปที่ 8 แสดงตัวอย่างลักษณะอุปกรณ์ที่ใช้ระบบป้องกันอัคคีภัยแบบครอบคลุมทั่วพื้นที่ (TFS)
2. ระบบป้องกันอัคคีภัยแบบเฉพาะจุด (Pyrogen Direct–to-Source System: DTS) ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไฟโดยฉีดสารดับเพลิง Pyrogen ตรงไปยังจุดที่ไฟลุกไหม้ ยกตัวอย่าง เช่น เครื่อง CNC, Computer Server Racks, ตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า, แผงอุปกรณ์ตัดตอนกระแสไฟฟ้าแรงต่ำและแรงสูง, ห้องเครื่องยนต์, แผงหน้าปัดมิเตอร์, เครื่องมือเคลื่อนย้ายดินและการเหมืองแร่ เป็นต้น ระบบป้องกันแบบนี้จะใช้การติดตั้งถังดับเพลิง Pyrogen ขนาดเล็กไว้ในตู้โดยตรง ไม่ได้ติดไว้ที่ผนังหรือเพดานเหมือนอย่างรูปแบบที่ 1 โดยที่ระบบป้องกันแบบเฉพาะจุดนี้ จะมีรูปแบบของกลไกการทำงานป้องกันไฟ ดังนี้ คือ เมื่อเกิดการลุกไหม้ของไฟที่แผงควบคุมไฟฟ้า (Electrial Control Panel) แผงหนึ่ง ก็จะไปกระตุ้นให้ถังดับเพลิง Pyrogen ขนาดเล็กที่ติดตั้งในตู้บริเวณแผงนั้นเริ่มทำงานทันที โดยฉีด Pyrogen Aerosol ตรงไปยังจุดที่ไฟลุกไหม้ที่แผงนั้น เพื่อทำการดับไฟและควบคุมไม่ให้ลุกลามไปยังแผงอื่น ส่งผลให้ความเสียหายที่จะเกิดกับบริเวณข้างเคียงมีน้อยและการต้องหยุดการทำงานก็น้อยลงด้วยเช่นกัน (ดูรูปที่ 9 ประกอบ)
รูปที่ 9 แสดงกลไกการทำงานของระบบป้องกันอัคคีภัยแบบเฉพาะจุด (DTS)
รูปที่ 10 แสดงตัวอย่างลักษณะอุปกรณ์ที่ใช้ระบบป้องกันอัคคีภัยแบบตรงจุด (DTS)
โดยปกติ สารดับเพลิง Pyrogen จะถูกใช้ในปริมาณ 1 ขีดต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับปริมาณอากาศใน 1 ลูกบาศก์เมตรที่หนัก 1.3 กิโลกรัม คิดเป็นสัดส่วนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ก็เพียงพอต่อการดับไฟได้ สารประเภทนี้ไม่ไวไฟและมีประสิทธิภาพสูง จึงมักใช้แทนที่ระบบสปริงเกอร์ที่ใช้น้ำดับไฟ เพื่อป้องกันพื้นที่ที่อาจทำให้เกิดไฟช็อต เช่น ห้องเซิร์ฟเวอร์ระบบคอมพิวเตอร์ หรือบริเวณที่มีเชื้อเพลิง เช่น สารเคมี กระดาษในห้องเก็บเอกสาร ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดที่ไม่มีคนอยู่เท่านั้น สารดับเพลิงประเภทนี้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เอเชียและแอฟริกา เพราะเป็นสารที่ใช้ได้ผลในปริมาณที่น้อยกว่าสารตัวอื่นๆ ได้หลายเท่าตัว เช่น HALON 1301 เป็นก๊าซที่มีประสิทธิในการดับเพลิงสูงสุด แต่ต้องถูกยกเลิกการผลิตและใช้ เนื่องจากมีสาร CFC ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ และ FM – 200 ที่เป็นสารสะอาด (Clean Agent) ประเภทสารฮาโลคาร์บอน เป็นสารดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพในการดับเพลิงชนิดหนึ่งแต่จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในการติดตั้งระบบ
และแม้สารดับเพลิง Pyrogen จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีสารประกอบของก๊าซเรือนกระจกพวกคลอรีนหรือโบรมีน จึงไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนของโลกได้ และผู้ผลิตได้ให้ข้อมูลว่า ไม่เกิดอันตรายเมื่อสัมผัสโดยตรงกับร่างกายคน แต่ก็ได้แนะนำต่อว่าไม่ควรอยู่ในพื้นที่เกิน 5 นาที (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพื้นที่มีข้อจำกัดด้านการระบายอากาศ) เพราะละอองของเหลวของสารนี้ไม่มีออกซิเจนที่จำเป็นต่อการหายใจ โดยปกติเซลล์สมองของคนจะเริ่มตายได้หากไม่หายใจเพียง 1 นาที และทวีความรุนแรงถึงขั้นเสียหายได้หากไม่ได้หายใจ 3 นาที จากนั้นภายใน 10 นาทีสมองจะเสียหายขั้นรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 15 นาที
จุดเด่นของระบบดับเพลิง Pyrogen จัดว่าเป็นระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่นิยมใช้กันในปัจจุบันสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และสื่อสาร ด้วยมีลักษณะเด่น คือ
รูปที่ 11 แสดงการเปรียบเทียบปริมาตรต่อถังที่ใช้ของสารดับเพลิงไพโรเจนกับสารดับเพลิงอื่น ๆ ซึ่งถ้าวัดที่ประสิทธิภาพเท่ากันจะใช้ไพโรเจนในปริมาณที่น้อยกว่า
ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบค่า ODP และGWP รวมทั้งด้านอื่น ๆ ระหว่างไพโรเจนกับสารดับเพลิงอื่น ๆ
จุดด้อยของระบบดับเพลิง Pyrogen เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้ว ระบบดับเพลิง Pyrogen เมื่อฉีด Pyrogen aerosol (ส่วนผสมของก๊าซและควัน) ออกมา จะบดบังแสงสูง (High Obscuration) ส่งผลต่อทัศนวิสัยการมองเห็น ดังนั้น จึงถูกออกแบบมาใช้งานในพื้นที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ เช่น Data Room, Machinary & Engine Space, Control Cabinet และ Storage Areas อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยไม่ตั้งใจกับสารที่ถูกฉีดออกมา โดยใช้วิธีการเตือนทั่วไปที่นิยมใช้กัน เช่น สัญญาณเตือนก่อนที่ระบบจะฉีดสารดับเพลิงออกมา (Pre–discharge Warning Signals) และสัญญาณเตือนภายหลังจากระบบฉีดสารดับเพลิงเสร็จสิ้นแล้ว (Post–discharge Warning Signals) รวมทั้งสุดท้ายใช้การระบายอากาศให้อากาศในพื้นที่นั้น บริสุทธิ์ ปลอดภัย ก่อนที่จะกลับเข้าไปอีกครั้ง ทั้งนี้ การสัมผัสโดยไม่ตั้งใจกับ Pyrogen Aerosol ควรจะจำกัดอยู่ไม่เกิน 5 นาที และในเมื่อมีข้อด้อยในการบดบังแสงจึงอาจเป็นอุปสรรคต่อการอพยพออกจากพื้นที่ของบุคคลที่ติดอยู่ในนั้น ดังนั้น ในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ หรือมีสิ่งของและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อาจกีดขวางอยู่ด้านใน ก็ควรพิจารณาใช้ตัวหน่วงหรือหยุดการทำงานชั่วคราวของระบบดับเพลิง (Hold Off Devices)
และที่สำคัญ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากองค์กรให้ควบคุมระบบดับเพลิงนี้ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดีในเรื่องของ ระบบการทำงาน ข้อขัดข้อง ข้อจำกัดต่าง ๆ หมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาถ้าพบข้อผิดสังเกตต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยทันที ซึ่งโดยปกติ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ติดตั้งจะมอบคู่มือ (Manual) และเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) ของระบบนี้ รวมทั้งตารางกำหนดการซ่อมบำรุงรักษาให้อยู่แล้ว และพร้อมด้วยการบริการหลังการขายในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือเป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้แต่ต้น
ท้ายสุด เนื้อหาทั้งหมดของบทความนี้ ไม่มีจุดมุ่งหมายในการชี้ว่าใครถูก ใครผิด แต่อยากให้ทุกคนเมื่อได้อ่านบทความนี้แล้ว ได้เกิดความตระหนักและได้ข้อคิดในเรื่องของความปลอดภัยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ที่ไม่ว่าผู้อ่านจะประกอบอาชีพใดๆ ก็ล้วนแล้วแต่พบเจอความเสี่ยงต่อความปลอดภัย จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับลักษณะงานและความพร้อมของผู้ทำงาน ถ้าลักษณะงานมีความเสี่ยงสูงแต่ผู้ทำงานมีความพร้อม ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ ความพร้อมในที่นี้หมายถึง พร้อมทั้งตัวผู้ปฏิบัติงานก่อนเข้างาน (รับทราบขั้นตอนปฏิบัติงานที่ปลอดภัย ผ่านการฝึกอบรม รับรู้ความเสี่ยงและวิธีป้องกันที่ถูกต้อง รับทราบวิธีปฏิบัติยามเกิดเหตุฉุกเฉิน ฯลฯ) และอุปกรณ์พร้อม (อุปกรณ์เหมาะสมกับงาน อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและมีความปลอดภัย รู้วิธีใช้งานอย่างปลอดภัยทั้งอุปกรณ์ในการทำงานและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ฯลฯ) ที่สำคัญต้องมีการประเมินปัจจัยเสี่ยงทุกครั้งก่อนเข้างาน (โดยมากก็จะใช้แบบรายการตรวจสอบ) และหัวหน้างานก็ต้องมีการประชุมก่อนเข้างานทุกวัน เพื่อพูดคุย ซักถาม ซักซ้อมความเข้าใจ และเน้นย้ำเรื่องของความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงาน เพราะในแต่ละวัน ผู้ปฏิบัติงานอาจจะพบเจอสิ่งที่ส่อเค้าว่าจะเป็นอันตราย ก็จะได้นำมาบอกกล่าว เพื่อหาวิธีแก้ไข ป้องกันให้ทันท่วงที ก่อนที่จะเริ่มงานหรือกลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง
เมื่อยามเกิดเหตุขึ้น เราก็มักจะได้ยิน 2 คำนี้อยู่บ่อย ๆ นั่นคือ อุบัติเหตุ กับ เหตุสุดวิสัย ซึ่งมักจะถูกเหมารวมว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าเอาตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว มองว่า อุบัติเหตุนั้นป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท และถ้าได้ดำเนินมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้าตามเกณฑ์มาตรฐานด้านความปลอดภัยที่พึงปฏิบัติครบถ้วนแล้ว และอยู่บนพื้นฐานของการไม่ดันทุรัง เช่น ประเมินแล้วมีความเสี่ยงสูงเกินที่จะดำเนินการและมีข้อจำกัดด้านความปลอดภัยที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรหยุด ไม่ฝืนวัดดวงดำเนินการต่อ จนกว่าจะมีทางเลือกที่เหมาะสมกับศักยภาพและปลอดภัยกว่า เมื่อดำเนินการอย่างนี้แล้ว แต่สุดท้ายก็ยังเกิดเหตุขึ้นอีก แบบนี้ถึงจะเรียกว่าได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เอวัง...ก็มีด้วยประการฉะนี้แล
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• ข้อมูลและภาพจาก http://www.citec.co.th/Pyrogen.htm และ http://pyrogen.ae/power_dist.html
• ข้อมูลบทสัมภาษณ์ของ นายวรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 14 มี.ค. 59 จาก http://www.komchadluek.net/detail/20160314/224102.html
• ข้อมูลบทสัมภาษณ์ของ รศ.ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจาก http://manager.co.th/home/14 มี.ค.59
• ข้อมูลโพสต์บนเฟสบุ๊กของ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 14 มี.ค. 59
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด