สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกขณะ ตัวแปรต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยหนึ่ง ย่อมจะส่งผลกระทบต่ออีกปัจจัยหนึ่งเสมออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของไทย เป็นแรงหนุนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติให้มีความแข็งแกร่ง ตัวเลขดัชนีผลผลิตทางอุตสาหกรรม ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะบ่งบอกว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความเจริญเติบโตขึ้นหรือลดลงไปมากน้อยแค่ไหนในแต่ละช่วงเวลา ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ในการนำมาซึ่งแนวทางเพื่อการปรับตัวทั้งของภาคอุตสาหกรรมเองและแนวทางของรัฐบาลในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนนโยบายประเทศที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความเจริญรุดหน้าครับ
สำหรับตัวดัชนีผลผลิตทางอุตสาหกรรม (MPI) ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภาพรวมยังอยู่ในทิศทางที่เป็นลบครับ โดยมีอัตราการหดตัวลงร้อยละ 1.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33
โดยอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ รถยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนีอุตสาหกรรม ได้แก่อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องประดับและรูปพรรณ อุตสาหกรรมพลาสติก ยาง และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดย MPI หดตัวน้อยลงจาก เดือนมกราคม 2559 ที่หดตัวร้อยละ 3.5 อัตราการใช้กำลังผลิตที่ยกระดับเพิ่มขึ้นที่ 65.7 ในรอบ 11 เดือน ดัชนีการส่งสินค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.34 แสดงถึงมีการจำหน่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.62
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ดังนั้นปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะสะท้อนภาวการณ์ผลิตในประเทศเป็นสำคัญ เมื่อการส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการปรับตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และเป็นแหล่งรายได้หลัก จึงไม่แปลกว่าที่ผ่านมา นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไม่ว่าจะมาจากภาคส่วนใด จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการส่งออกเป็นหลักด้วยเช่นกันครับ
นอกจากการส่งเสริมการส่งออกแล้ว ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้น การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยนั้น เทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศไทยด้วยเช่นกัน แต่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่อยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ เทคโนโลยีที่ใช้จึงค่อนข้างจะมีความทันสมัยอยู่แล้ว จะดีกว่านั้นหากภาครัฐบาลจะให้การสนับสนุนในการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสำหรับนักลงทุนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตที่เป็น SMEs ให้มากกว่านี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถพัฒนาได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพสำหรับภาคอุตสาหกรรมด้วยระบบบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ การส่งเสริมด้วยปัจจัยสำคัญเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในเวทีใหญ่อย่างตลาดโลกได้ อีกทั้งปัจจัยเหล่านี้ยังมีผลต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปของตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมให้เป็นที่น่าพึงพอใจต่อไปครับ
เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
sedthakarn@se-ed.com