กองบรรณาธิการ
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หนุนกิจการของวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช). เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้ได้เครื่องหมายรับรอง มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ พัฒนาท้องถิ่น ส่งเสริมตลาด และมีรายได้พึ่งตนเองได้ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่มุ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง |
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พร้อมสนับสนุนส่งเสริมกิจการของวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือระดับพื้นบ้านที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ให้ได้รับการรับรองเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ พัฒนาท้องถิ่น และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งการสนับสนุนเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่มุ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” มีการพัฒนาแบบยั่งยืน
นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการ สมอ. เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า สมอ. มีโครงการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือระดับพื้นบ้านที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรให้ได้รับการรับรอง มีเครื่องหมายเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มุ่งเน้นให้มีการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555–2559) มุ่งเน้นเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม อำนวยความสะดวกทางการค้า ความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยแผนการดำเนินงานมีการเตรียมความพร้อมหลายด้าน ประกอบด้วย การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ให้มีข้อกำหนดที่เหมาะสมกับสภาพผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีแนวทางปฏิบัติที่ไม่ซับซ้อน เพื่อให้ผู้ผลิตเข้าถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ง่ายและคำนึงถึงระยะเวลาในการกำหนดมาตรฐาน
การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน โดย สมอ.จะให้การรับรองและการตรวจติดตามผล เพื่อสนับสนุนผู้ทำผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือของผู้บริโภค โดยการเก็บตัวอย่างทดสอบ และค่าใช้จ่ายในการทดสอบตัวอย่าง ด้านพัฒนาผู้ผลิตในชุมชน ในกรณีที่ผู้ผลิตบางรายมีปัญหาในการทำผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตามที่มาตรฐานกำหนด โดย สมอ.จะส่งผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการเข้าไปให้ความรู้เบื้องต้น โดยการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำ ณ ตำบลสถานที่ผลิต จนมีขีดความสามารถขอรับการรับรองได้ ด้านส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ โดย สมอ.จะสร้างการรับรู้เพื่อให้รู้จักและเกิดความตระหนักตื่นตัว โดยเปิดตัวและแนะนำโครงการต่าง ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งการประชุมผู้นำชุมชนหมู่บ้านที่มีผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเน้นใช้สื่อในท้องถิ่น เพื่อยกย่องเชิดชูเป็นแบบอย่างความสำเร็จ เป็นต้น
โดยผู้ประกอบการกิจการวิสาหกิจชุมชน ถ้าจะยื่นคำขอ จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้ได้รับการรับรองและแสดงเครื่องหมายการรับรอง อาทิ ผู้ผลิตในชุมชนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ สมาชิกของกลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ หรือกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจชุมชน อาทิ กลุ่มอาชีพ กลุ่มอาชีพก้าวหน้า และกลุ่มธรรมชาติ เป็นต้น
สำหรับการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน ประกอบด้วยการดำเนินการ ได้แก่ ตรวจสอบสถานที่ผลิตและเก็บตัวอย่างจากสถานที่ผลิตส่งตรวจสอบ เพื่อพิจารณาออกใบรับรอง ตรวจติดตามผลคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการรับรอง โดยสุ่มซื้อตัวอย่างที่ได้รับการรับรองจากสถานที่จำหน่ายเพื่อตรวจสอบ และการขอการรับรองให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด
ปัจจุบันมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ประกาศใช้แล้วมีจำนวน 1,378 มาตรฐาน ได้แก่ ขนมไทย ไวน์ผลไม้, สาโท, น้ำพริกเผา, น้ำตาลมะพร้าว, ปลาแห้ง, ผลิตภัณฑ์ต้นกก, ผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว, ไม้กวาดดอกหญ้า, เครื่อง-เบญจรงค์, ครกหิน, หัตกรรมหินอ่อน, ผ้าแพรวา, ผ้าขิด, ผ้าหางกระรอก, ผ้ามัดหมี่, ผลิตภัณฑ์จักรสานหวาย, ผลิตภัณฑ์จักรสานเส้นพลาสติก, ผลิตภัณฑ์จากใยบวบ, ผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน และดอกไม้ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ เป็นต้น
เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน นับว่าเป็นการสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยให้ทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และสนับสนุนด้านการตลาดโดยการให้เครื่องหมายรับรอง ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อยกระดับให้มีการปรับปรุงการผลิตให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจชุมชน ให้เป็นที่ยอมรับและเพิ่มความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อในไทยและต่างประเทศ
สำหรับวิสาหกิจชุมชนสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์ ผู้ผลิต “ชาผักเชียงดา” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ก่อตั้งเมื่อปี 2537 โดย นางมุทิตา สุวรรณคำซาว เป็นประธาน มีสมาชิกประมาณ 80 คน เป็นตัวอย่างที่ดีที่ได้รับมาตรฐาน มผช.
นางมุทิตา สุวรรณคำซาว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์ ผู้ผลิต “ชาผักเชียงดา”
ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในโครงการ “อนุรักษ์พันธุกรรมพืช” ในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผักเชียงดาเป็นไม้เลื้อยที่พบทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เถาแก่มีสีน้ำตาล, ใบสีเขียวแก่, รูปร่างใบแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เช่น รียาว, รีสั้น หรือเป็นรูปหัวใจ เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดีสามารถแตกยอดได้ตลอดปี ชาวเหนือนิยมนำมาทานสดเคียงกับน้ำพริก ผัด หรือแกง เป็นผักที่มีรสชาติชมและหวานกำลังดี
นางมุทิตา สุวรรณคำซาว กับผลิตภัณฑ์จากผักเชียงดา
นางมุทิตา กล่าวว่า “กลุ่มของเรามีจุดเริ่มต้นจากการนำผักเชียงดาริมรั้วมาตากแห้งและชงดื่มตามตำรายาพื้นบ้าน เมื่อใช้ได้ผลดีจึงอยากให้ผักที่กำลังจะถูกลืมเลือนนี้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง จึงได้รวมกลุ่มกันผลิตเป็นสินค้าเพื่อจำหน่าย แรกเริ่มก็แทบขายไม่ได้เลยเพราะคนไม่เชื่อถือ เราจึงกลับมาพิจารณากันว่าจะทำอย่างไรให้คนเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ สอจ. จึงแนะนำให้ผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อขอการรับรองมาตรฐาน อย. และ มผช. เราช่วยกันพัฒนารูปแบบการผลิตให้สะอาดปลอดภัย แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังให้การรับรองไม่ได้เนื่องจากผักเชียงดาไม่ได้อยู่ในระบบ ทางกลุ่มก็ไม่ย่อท้อในการเข้าพบ สอจ. เพื่อดำเนินเรื่องการนำผักเชียงดาเข้าสู่ระบบอยู่หลายปีจนได้รับการรับรองในที่สุด ความรู้ที่ได้จากการขอมาตรฐาน มผช. นี้เองที่ช่วยพัฒนากระบวนการผลิตให้ดีขึ้นสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อ ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งทางกลุ่มก็ยังรักษามาตรฐานสินค้าและพัฒนาให้กลุ่มเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างรายได้พออยู่พอกินให้กับคนในชุมชน และยังไม่ลืมที่จะตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อม”
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด