ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์
นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
"เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา สิงคโปร์ฉลองวันชาติอย่างยิ่งใหญ่เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ.1965"
"50 ปีที่ผ่านมา เกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจระดับต้น ๆ ของโลกด้วยผลงานการบริหารประเทศ ของ นายลี กวน ยิว (Lee Kuan Yew) และ พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party หรือ PAP)"
"การครองอำนาจต่อเนื่องอย่างยาวนานโดยมีผู้นำฉลาด มีวิสัยทัศน์และเข้มแข็งเช่นนายลีนี้เองที่ทำให้ชาวสิงคโปร์ไม่มีวันลืมมหาบุรุษผู้นี้ในฐานะ บิดาผู้สร้างสิงคโปร์ยุคใหม่" |
อย่างไรก็ดี กว่าสิงคโปร์จะมีวันนี้ได้ พวกเขาต้องผ่านเรื่องร้าย ๆ มานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะการตัดสินใจถอนตัวออกมาจาก ประเทศมาเลเซีย
SG 50 สัญลักษณ์เรียบง่ายแห่งการเฉลิมฉลอง 50 ปีประเทศสิงคโปร์
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.todayonline.com
สิงคโปร์ สหพันธรัฐแห่งมาลายา และสงครามโลกครั้งที่ 2
ย้อนกลับไปเมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึงสิงคโปร์ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของ The Strait Settlement หรือนิคมช่องแคบที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม
ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อังกฤษสนับสนุนให้รัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรมลายูรวมตัวเป็น สหพันธรัฐมลายู (Federated Malay States) สหพันธรัฐนี้ ประกอบด้วย สลังงอร์ เปรัค ปาหัง เนเกอร์เซ็มปีลัน ขณะที่ รัฐมลายูนอกสหพันธรัฐ ได้แก่ ยะโฮร์ เคดะห์ กลันตัน ปะลิส และตรังกานู
การตั้งสหพันธรัฐมลายูนั้น อังกฤษคาดหวังที่จะควบคุมและแทรกแซงการเมืองภายในได้ง่ายขึ้น โดยแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่ให้เป็นผู้กำกับดูแล (High Commissioner)
ช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ลัทธิล่าอาณานิคมแผ่ขยายมาถึงดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแต่เดิมนั้น รัฐเคดะห์ ปะลิส กลันตัน และตรังกานู เคยเป็นส่วนหนึ่งของสยาม แต่ภายหลังเราจำต้องยกดินแดนเหล่านี้ให้อังกฤษไป
สุลต่านแห่งสหพันธรัฐมลายู
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.wikipedia.org
อย่างไรก็ดี อังกฤษใช้สิงคโปร์เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรองรับการเติมเชื้อเพลิงของกองทัพเรืออังกฤษได้นานถึง 6 เดือน กล่าวกันว่า ในเวลานั้น อู่จอดเรือในสิงคโปร์เป็นอู่จอดเรือขนาดใหญ่ที่สุด อันดับ 3 ของโลก
ด้วยเหตุนี้ นอกจากสิงคโปร์จะเป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าแล้วยังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการทหารที่ถูกหมายตาจาก กองทัพญี่ปุ่น ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น
ในปี ค.ศ.1941 กองทัพญี่ปุ่นเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างอุกอาจด้วยการโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาเบอร์ ในฮาวาย หลังจากนั้น กองทัพจากแดนอาทิตย์อุทัยได้ยาตราทัพเข้าเอเชียอาคเนย์ทั้งทางบก เรือ อากาศ และยึดคาบสมุทรมลายู กัวลาลัมเปอร์ ยะโฮร์ ก่อนจะมุ่งหน้าสู่สิงคโปร์
กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองคาบสมุทรมลายูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://archives.thestar.com.my
การโจมตีแบบสายฟ้าแลบของกองทัพลูกพระอาทิตย์ทำให้ กองทัพอังกฤษที่ประจำในสิงคโปร์พ่ายแพ้และยอมจำนนต่อผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่น นายพล โทโมยูกิ ยามาชิตะ (Tomoyuki Yamashita)
นายพล โทโมยูกิ ยามาชิตะ
นายทหารผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นในคาบสมุทรมลายูช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://albumwar2.com
กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดสิงคโปร์ได้เบ็ดเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1942 หลังจากนั้น ญี่ปุ่นจับเชลยชาวอังกฤษ ยุโรป อินเดีย และจีน ไปคุมขังที่เรือนจำชางงี (Changi) พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อสิงคโปร์เป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “โชนัน” (Shonan) ซึ่งแปลว่า ประทีปแห่งทักษิณ
กองทัพญี่ปุ่นปกครองสิงคโปร์อย่างเข้มงวดโดยเฉพาะ “ระแวง” กลุ่มผู้ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่เชื่อมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ แนวร่วมผู้ต่อต้านถูกกองทัพญี่ปุ่นจับกุม คุมขัง ทรมาน และสังหารอย่างโหดเหี้ยม
ช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาะสิงคโปร์ นับได้ว่าเป็นช่วงแห่งความยากลำบาก เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกฝืดเคือง กองทัพญี่ปุ่นพิมพ์แบงค์ขึ้นใช้เอง เรียกว่า Banana Notes ราคา 0.5 เหรียญสิงคโปร์ นอกจากนี้ ด้วยภาวะข้าวยากหมากแพง ทำให้กองทัพญี่ปุ่นใช้วิธีการปันส่วนอาหาร โดยต้องมีบัตรลงทะเบียนที่ออกโดย Rationing Office ของกองทัพ
ภาพธนบัตร 10 Singapore Dollars ในยุคที่กองทัพญี่ปุ่นยึดครองสิงคโปร์
ขอบคุณภาพประกอบจาก remembersingapore.files.wordpress.com
แต่แล้ว ช่วงเวลา 3 ปีเศษของ “นรก” ในสิงคโปร์จบลง เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม หลังจากที่กองทัพสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1945
ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษกลับเข้ามาปกครองสิงคโปร์อีกครั้ง ขณะเดียวกันชาวพื้นเมืองบนคาบสมุทรมลายูมีแนวคิดที่จะเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ โดยครั้งนี้อังกฤษได้จัดตั้ง Federation of Malaya ซึ่งคล้ายกับการตั้งสหพันธรัฐมลายูเดิม
การตั้งสหพันธรัฐมลายาหรือ Federation of Malaya เป็นการประนีประนอมระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับกลุ่มเจ้าผู้ปกครองมลายู รวมทั้งเกิดองค์กรใหม่ที่ชื่อ The United Malaya National Organization หรือ อัมโน UMNO ซึ่งภายหลังองค์กรนี้พัฒนาเป็น พรรคอัมโน พรรครัฐบาลที่ครองอำนาจอย่างยาวนานในมาเลเซีย
การรวมกลุ่มเป็นสหพันธรัฐมลายา ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศมาเลเซีย
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.arkib.gov.my
การตั้งสหพันธรัฐแห่งมลายา นำไปสู่การสถาปนา ประเทศมาเลเซีย ในเวลาต่อมา โดยเบื้องต้นมีความพยายามจะรวม สิงคโปร์ ซาราวัก บอร์เนียวเหนือ และบรูไน เข้ากับสหพันธรัฐแห่งมลายา อย่างไรก็ดี บรูไนซึ่งเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ ไม่ยอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย จึงเหลือ ซาราวัก บอร์เนียวเหนือ และสิงคโปร์ ที่ถูกผนวกเข้ากับมาเลเซียในปี ค.ศ. 1963
การก่อตั้งประเทศมาเลเซีย ถูกคัดค้านจากอินโดนีเซีย สมัยประธานาธิบดี ซูการ์โน ที่ไม่ยินยอมให้ผนวกบอร์เนียวเหนือและซาราวัก เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย เพราะดินแดนดังกล่าวตั้งอยู่บน เกาะสุมาตราซึ่งอินโดนีเซียถือสิทธิ์ว่าเป็นของตน
รัฐบาลซูการ์โนถึงกับมีนโยบายเผชิญหน้ากับประเทศมาเลเซีย หากจะผนวกเอาดินแดนบอร์เนียวเหนือและซาราวักเข้าไปรวมด้วย แต่ต่อมาอินโดนีเซียก็ต้องยอมเนื่องจากถูกกดดันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ไม่ยอมให้ผนวกบอร์เนียวเหนือเช่นกัน เพราะต้องการครอบครองพื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากช่วงเวลานั้นยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกรรมสิทธิ์ในดินแดน ดังนั้น ทุกประเทศจึงพยายามอ้างความชอบธรรมในกรรมสิทธิ์ของพื้นที่ที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของชัดเจน
ช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้งประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ในยุคของ นายลี กวน ยิว ยินดียอมรับในความเป็นมลายู ถึงขนาดยอมแต่งเพลงชาติสิงคโปร์เป็นภาษามลายู
แต่ด้วยความไม่ลงรอยระหว่าง คนมลายูพื้นถิ่น กับ คนจีนผู้กุมเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดรอยร้าวและกระทบกระทั่งจนกลายเป็นการจลาจลอยู่หลายครั้ง
ประกอบกับ ในปี ค.ศ.1964 พรรค PAP ของนายลี กวน ยิว ขยายฐานเสียงทางการเมืองเข้าสู่คาบสมุทรมลายู ทำให้พรรค UMNO ของ ตนกู อับดุล เราะห์มาน ไม่พอใจและประณามว่า เป็นการละเมิดข้อตกลงที่ว่า PAP จะไม่ข้ามช่องแคบมาก้าวก่ายทางการเมือง
สองคน สองคม ตนกู อับดุล เราะห์มาน บิดาแห่งเอกราชมาเลเซีย และนายลี กวน ยิว นายกรัฐมนตรีหนุ่มของสิงคโปร์
ขอบคุณภาพประกอบจาก m.todayonline.com
ความขัดแย้งดำเนินมาถึงขีดสุดช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1964 -1965 เมื่อเกิดจลาจลครั้งใหญ่เมื่อชาวจีน และ ชาวมลายูปะทะกัน บาดเจ็บ ล้มตาย เป็นจำนวนมาก จนทั้งสองฝ่ายเลือกที่จะเจรจา และสิงคโปร์ภายใต้การนำของ ลี กวน ยิว ตัดสินใจที่จะเดินออกจากมาเลเซีย
Singapore is out! พาดหัวหนังสือพิมพ์ The Straits Times ในวันที่สิงคโปร์ตัดสินใจแยกออกจากมาเลเซีย
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.omgfacts.com
อาจารย์อภิวันทน์ อดุลยพิเชฎฐ์ [1] ผู้เชี่ยวชาญด้านสิงคโปร์ ให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่า ลี กวน ยิว มีความเชื่อบนพื้นฐานแบบชาวอังกฤษ ที่ยึดมั่นเรื่องความเท่าเทียม และพยายามรณรงค์ให้ชาวสิงคโปร์เกิดความคิดเรื่อง ความเป็นมาเลเซียของชาวมาเลเซีย (Malaysian Malaysia) ที่เชื่อว่าทุกคนในชาติล้วนมีความเสมอภาคกันไม่ว่าจะเชื้อชาติใด
ลี กวน ยิว บนหน้าปกนิตยสาร TIME
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://cdn.mothership.sg
แต่แนวคิดนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ พรรค UMNO ที่เชื่อว่ามาเลเซีย เป็นดินแดนของชาวมลายู ชาวมลายูต้องได้รับสิทธิพิเศษ แนวคิดนี้ฝังรากมาจากการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม ดังนั้น ในสายตาของ UMNO แล้ว เจ้าอาณานิคมไม่ได้มีความสำคัญแต่อย่างใด
การแยกตัวออกมาจากมาเลเซียนี้เอง นับเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ของสิงคโปร์ภายใต้การนำของ ลี กวน ยิว ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น ...ติดตามได้ในฉบับหน้าครับ
[1] ผู้สนใจสามารถอ่านงานของอาจารย์อภิวันทน์ได้จาก ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ หนังสือชุดอาเซียนในมิติประวัติศาสตร์
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด