Management

“ทำเพื่อแก้ไข” จะได้เข้าใจและพัฒนา

พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล

 

 

 

          งานใด ๆ ก็ตามย่อมต้องมีโอกาสผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ หลาย ๆ คนทำงานกลัวความผิดพลาดที่จะเกิดเลยไม่กล้าทำบ้าง ยิ่งทำยิ่งผิดพลาดบ้าง แต่ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับคือ คนที่ไม่ผิดคือคนที่ไม่ทำอะไรเลย แต่ที่ดีกว่าคือ ลงมือทำเพื่อจะได้ทราบปัญหาและแนวทางแก้ไข

 

 

          ใการทำงานชิ้นสำคัญหรือเป็นงานขนาดใหญ่ที่มีความคาดหวังสูงว่าผลงานจะต้องออกมาดี มักจะมอบหมายให้ทีมงานที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ทำเสมอ ทว่าก็มีหลายงานที่ต้องการให้ทีมงานมือใหม่เข้ามาทำเพราะต้องการความคิดสร้างสรรค์และการนำความคิดใหม่ ๆ เทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาทำให้งานเกิดความหลากหลายและเป็นไปในทิศทางที่ทันต่อยุคสมัย นั่นเองที่ทำให้หลายงานต้องพบกับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขไม่ได้หรือกลายเป็นเรื่องเสียหายที่ยากต่อการยอมรับ ตรงกันข้ามกับการได้เกิดกระบวนการผลิตที่รัดกุมมากขึ้น เทคโนโลยีการสร้างชิ้นงานทันสมัยมากขึ้น และที่สำคัญพนักงานเริ่มเข้าใจถึงการที่จะกล้าศึกษาการทำงานในแบบที่ยังไม่เคยทำหรือต้องศึกษาต่อยอดการทำงานแบบเดิม ๆ

 

รับงาน ตีโจทย์ ลงมือ

 

          ทุก ๆ งานที่ทำล้วนแล้วแต่มีความยากง่ายที่ต่างกันออกไป ที่สำคัญก็คือต้องทราบว่าตัวเองหรือองค์กรมีความสามารถในการทำงานตรงกับงานที่รับมาอย่างไรบ้าง การตีโจทย์หรือทำความเข้าใจกับงานที่รับมาว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของงาน หรือทำงานให้ได้ตามเป้าหมายที่ทางฝ่ายบริหารวางแผนงานมา เมื่อทำความเข้าใจในเบื้องต้นแล้วจึงลงมือทำอย่างมีขั้นตอนวางแผน ประเมินผลการทำงานล่วงหน้า และดำเนินการ เมื่อไรที่การทำงานพบกับปัญหาในแต่ละขั้นตอนก็จะสามารถแก้ไขได้ทันก่อนที่ความเสียหายของงานจะเกิดขึ้น การมองภาพร่วมที่ต้องมองลึกถึงรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้กับการตีโจทย์ของงานยิ่งทำงานได้ละเอียดและตรงตามเป้าหมายมากเท่าไร ประสิทธิผลของการทำงานก็จะยิ่งมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

          ในการตีโจทย์งานโดยมากมักจะเป็นการส่งต่องานมาจากผู้บริหารหรือเจ้าของงานซึ่งได้มีการกลั่นกรองเป้าหมายของงานมาแล้วในเบื้องต้น เมื่อมาถึงระดับผู้ปฏิบัติการยิ่งต้องเพิ่มรายละเอียดในการทำงานมากยิ่งขึ้น ต้องมองให้เห็นกระบวนการที่ทำแล้วได้งานตามเป้าหมาย เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดกระทั่งถึงไม่มีข้อผิดพลาดเลย นี่เองที่เป็นส่วนสำคัญที่บ่งบอกถึงการทำงานที่หากไม่ลงมือทำจริงจะไม่ทราบถึงปัญหาอย่างแท้จริงได้เลย

 

ถ้ากลัวจะไม่กล้าทำ

 

          อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าหากการทำงานใด ๆ ก็ตามถ้าไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริงจะไม่สามารถเข้าใจปัญหาที่เกิดได้อย่างถ่องแท้ เพราะเมื่อใดที่ได้ลงมือทำงานในแต่ละขั้นตอนจะมีกระบวนการที่ชัดเจนและสามารถย้อนกลับไปมองกระบวนการทำงานในแต่ละขั้นได้ว่ามันติดขัดปัญหาตรงไหน จะแก้ได้อย่างไร และเมื่อสามารถค้นเจอปัญหา แก้ไข จดบันทึก พัฒนาการของทีมงานก็จะเกิดขึ้นทันที แม้ว่าการแก้ไขงานในบางครั้งจะต้องมีค่าใช้จ่ายกับความเสียหายของงานบ้าง ค่าที่ปรึกษาบ้าง แต่นั่นคือการลงทุนที่ต้องคิดรวมไปกับต้นทุนการผลิตเสมอ

          พนักงานหลายคนมันกลัวกับการที่ต้องรับงานแปลกใหม่ที่ยังไม่เคยทำ หรือเป็นงานที่ยากต้องศึกษาเพิ่มเติมอย่างจริงจัง นั่นเป็นเพราะหลายคนเริ่มที่จะรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานซ้ำ ๆ แบบเดิม ๆ และไม่ต้องรับผิดชอบกับความเสี่ยงกับงานที่อาจผิดพลาด ลองคิดย้อนกลับไปในมุมของผู้บริหารหรือมุมของพนักงานบ้างว่า จะดีหรือไม่ที่องค์กรมีพนักงานที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่กระตือรือร้นในการศึกษาการทำงาน และกลัวกับความก้าวหน้าที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตการทำงาน หลายคนมีความทรงจำที่แย่กับการที่ทำงานผิดพลาดแล้วถูกตำหนิ ลงโทษ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าชีวิตการทำงานจะหยุดอยู่เท่านั้น คนที่ผิดพลาดในการทำงาน เกิดความเสียหายเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน เขายังคงต้องทำงานต่อเพื่อให้องค์กรกลับมาอยู่ในสมรภูมิการแข่งขันได้ ต้องทำทุกอย่างให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกลับมาดีดังเดิมหรือดีขึ้น ความเชื่อที่ว่าถ้ามันพังได้ก็ย่อมที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ได้ มันอาจจะใช้เวลามากหน่อย แต่อย่าลืมว่าเราผ่านกระบวนการสร้างมาแล้ว เรารู้ว่าต้องสร้างอย่างไร และความเสียหายมันเกิดจากจุดไหน ถือเป็นการต่อ ยอดที่เร็วขึ้นพัฒนาได้ดีขึ้น เพียงแต่ขอให้มีกำลังใจ มีสมาธิ และยังคงดำเนินชีวิตและทำงานอย่างต่อเนื่องไม่ยอมแพ้กับปัญหาที่เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งที่ผ่านมาในชีวิต และมันไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตมันมีโอกาสที่จะแก้ไขได้ถ้าเรายังสู้ต่อ คนที่กลัวกับปัญหาจึงเท่ากับเป็นคนที่ไม่กล้าจะลงมือทำอะไร และเมื่อไม่กล้าทำอะไรก็คงจะอยู่กับที่อยู่แบบไร้คุณภาพชีวิต ลองเปลี่ยนใจหันมาสู้กับสิ่งที่มันต้องเกิดขึ้นกับชีวิตการทำงานกันดูบ้าง บางทีคุณอาจจะยิ้มให้กับตัวเองว่า จริง ๆ แล้วคุณเองก็เป็นคนกล้า คนเก่งที่ผ่านปัญหาการทำงานนั้น ๆ มาได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร

 

พัฒนาเริ่มจากคิดบวก

 

          พนักงานที่ทำงานกระทั่งรู้ลักษณะของงานมีความชำนาญกับหน้าที่ตัวเองและสามารถแนะนำการทำงานให้กับรุ่นน้องได้ก็มักจะได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่องทั้งกับทรัพยากรบุคคลและการขยายงานขององค์กรในอนาคต ทว่ามีหลายคนที่มักยึดติดกับงานหน้าที่เดิม ๆ ไม่อยากย้ายไม่อยากขยับเพราะชอบทำงานเดิมที่ทำได้ดีไม่โดนตำหนิ แต่การพัฒนาในทุก ๆ ด้านจำเป็นที่จะต้องขยับเลื่อนทั้งตำแหน่งงาน เงินเดือน และกำลังคน ขอเพียงแค่ทุกคนคิดในทางบวก คิดในทางสร้างสรรค์ที่ทุกคนจะได้รับสิ่งดี ๆ ในชีวิตการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในการทำงาน ได้หลุดจากความจำเจของการทำงานซ้ำ ๆ แม้ว่าจะทำได้ดีแต่ว่าการทำสิ่งที่ดีกว่าและก้าวหน้ากว่าก็น่าจะดีกว่า

          การคิดบวกช่วยสร้างความรู้สึกดี ๆ และเสริมแรงใจในการทำงานทั้งกับตัวเองและองค์กร การพัฒนาที่นำไปสู่ความสำเร็จจึงต้องยึดมั่นในแนวทางองค์กรและการคิดอย่างสร้างสรรค์ตลอดเวลา สิ่งที่เสริมเข้ามาอย่างจำเป็นก็คือ ความกล้าที่จะทำงานทุกอย่างที่องค์กรรับผิดชอบ ความกล้ามักจะมาจากความเข้าใจและความรู้ที่มีอยู่ การเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อทำงานสักชิ้นเท่ากับเราได้ความรู้เพิ่มเติมอีกครั้งและการทำงานที่ลุล่วงได้ด้วยการทำงาน การแก้ไขจุดบกพร่อง เท่ากับเราต่อยอดความรู้ได้อีกหนึ่งครั้ง มีแต่สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นเพียงแค่มันอาจจะเหนื่อยบ้าง ปวดหัวบ้าง แต่มันก็เกิดการพัฒนา...ดังนั้นจึงต้องกล้าที่จะทำและพร้อมจะแก้ไขครับ

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด