วีระศักดิ์ พิรักษา
หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีราคาสูงที่สุดในระบบส่งจ่ายกำลังไฟฟ้า ดังนั้นเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดและอายุการใช้งานที่ยืนยาวคุ้มค่า จึงจำเป็นต้องมีกิจกรรมการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีประสิทธิผลสูง ที่นอกเหนือไปจากการวัดและการทดสอบเพื่อให้ได้ค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ จาการทดสอบประจำและรายปี
การบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักคือ การบำรุงรักษาแบบตรวจสอบประจำ (Routine Test & Measurement Maintenance) และการบำรุงรักษาตามความต้องการนั่นก็คือ การบำรุงรักษาแบบตรวจสอบเป็นระยะ (Periodic Inspection Maintenance) หรือการตรวจสอบสภาพ (Condition Maintenance) ซึ่งหากปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมจะช่วยหลีกเลี่ยงการซ่อมบำรุงแบบฉุกเฉินหรือเบรกดาวน์ได้มาก โดยบทความนี้จะได้กล่าวถึงการตรวจสอบสภาพภายนอกด้วยสายตา (Visual Inspection) เป็นระยะ ๆ ทุก 6 เดือนถึง 1 ปีหรือถี่กว่านั้น สำหรับจุดสำคัญที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบควรจะให้ความสำคัญและเอาใจใส่
จะทำให้ได้รับข้อมูลสำคัญหลายอย่างเกี่ยวกับสภาพภายนอกของหม้อแปลงไฟฟ้า เช่น ตำแหน่งวาล์วที่ไม่ถูกต้อง (Valves Positioned Incorrectly) เกิดการอุดรูที่ครีบระบายความร้อน (Plugged Radiator) การติดขัดของตัวชี้ค่าอุณหภูมิและระดับน้ำมัน (Stuck Temperature Indicators and Level Gauges) การเกิดเสียงดังผิดปกติของปั๊มน้ำมันหรือพัดลมระบายความร้อน (Noisy Oil Pumps or Fans) การรั่วไหลของน้ำมัน (Oil Leaks) ซึ่งมักจะเป็นโอกาสของการปนเปื้อนในน้ำมัน (Oil Contamination) การสูญเสียความเป็นฉนวน (Loss of Insulation) หรือสร้างปัญหาแก่สิ่งแวดล้อม (Environmental Problems) การตรวจสอบสภาพภายนอกด้วยสายตาหรือด้านกายภาพ (Physical Inspection) ต้องการช่างเทคนิคหรือวิศวกรที่มีประสบการณ์สูงในเรื่องเหล่านี้เป็นผู้ดำเนินการ
เมื่อพิจารณาจากรูปที่ 1 แล้วจะพบว่าการพังเสียหายจากสาเหตุอื่น ๆ สูงสุดที่ 25% ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากจุดที่ควรตรวจสอบสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่จะนำเสนอต่อไปนี้ก็เป็นได้
รูปที่ 1 ประเภทของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง
ตำแหน่งสำคัญทั้ง 12 จุดของหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดแรงดันปานกลาง (11, 22 และ 33 kV) ที่แนะนำให้มีการตรวจสอบด้วยสายตาเป็นระยะ ๆ มีดังนี้
1. การอ่านเกจวัด (Gauge Readings)
2. ชุดกรองความชื้น (Conservator Breather)
3. พัดลมระบายความร้อนและครีบระบายความร้อน (Cooling Fans and Radiators)
4. ปั๊มน้ำมัน (Oil Pumps)
5. บุชชิ่งและวัสดุฉนวนของตัวล่อฟ้า (Bushing and Surge Arrester Insulators)
6. บริเวณขั้วต่อของบุชชิ่ง (Bushing Terminals)
7. ตัวเปลี่ยนแท็ปแรงดันไฟฟ้า (Tap Changer)
8. บูคโฮลซ์รีเลย์ (Buchholz Relay)
9. การทดสอบค่าไดอิเล็กตริกของฉนวนเหลว (Fluid Dielectric Test)
10. ตรวจสอบปะเก็นครอบตัวถังหม้อแปลง (Gasket)
11. สายวงจรควบคุม (Control Wiring)
12. สภาพสีตัวถังหม้อแปลง (Paint Finish)
การอ่านเกจวัดเป็นประจำ ค่าอุณหภูมิแวดล้อม และค่า kVA ของโหลดจะต้องมีการวัดและบันทึกเป็นหลักฐาน
ค่าที่อ่านได้ผิดปกติจะต้องมีการบันทึกที่ชัดเจนพร้อมคำแนะนำการวินิจฉัยอื่น ๆ และการทดสอบที่จำเป็น หากพบว่าเกจชี้ระดับความดัน/ความเป็นสุญญากาศ หรือระดับฉนวนเหลวชี้ว่าอาจมีการรั่วไหลออกจากตัวถัง (Tank Leak) ให้ดำเนินการทดสอบแรงดันอากาศ (Pressure Test) ภายในถังหม้อแปลงโดยเร็ว เพราะการรั่วไหลของฉนวนเหลวออกจากตัวถังหม้อแปลงเป็นอันตรายมากต่ออายุการใช้งานของหม้อแปลง เมื่อพบจุดรั่วไหลแล้วให้ดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว
รูปที่ 2 เกจวัดอุณหภูมิ ณ จุดบนสุด และอุณหภูมิขดลวดหม้อแปลง ซึ่งมักจะติดตั้งไว้ด้านข้างหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านค่า
1.1 เกจชี้วัดอุณหภูมิขณะใช้งานหม้อแปลง (Temperature Indicators Online)
เช็คการชี้ค่าอุณหภูมิของเกจชี้วัดทุกตัวขณะใช้งานหม้อแปลงอยู่ ค่าที่อ่านได้จากเกจชี้วัดอุณหภูมิของขดลวด
หม้อแปลง ควรจะสูงกว่าอุณหภูมิของน้ำมัน ณ จุดบนสุด ประมาณ 15 ๐C หากไม่เป็นดังนี้อาจเป็นไปได้ที่เกจชี้วัดตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัวกำลังทำงานอย่างผิดปกติ ให้ทวนสอบยืนยันค่าที่ถูกต้องของอุณหภูมิทั้งสองด้วยกล้องอินฟราเรด และดำเนินการแก้ไขหรือเปลี่ยนเกจชี้วัดที่ผิดปกติออกจากการใช้งาน
1.2 เกจชี้วัดอุณหภูมิเมื่อปลดการใช้งานหม้อแปลง (Temperature Indicators Offline)
เช็คการชี้ค่าอุณหภูมิของเกจชี้วัดทุกตัวเมื่อปลดการใช้งานหม้อแปลงและปล่อยให้เย็นลงที่อุณหภูมิแวดล้อม (Ambient Temperature) ค่าอุณหภูมิที่อ่านได้จากเกจชี้วัดอุณหภูมิขดลวดหม้อแปลงกับอุณหภูมิของน้ำมัน ณ จุดบนสุดควรจะอ่านเท่ากัน (ดังรูปที่ 2) หากไม่เป็นดังนี้อาจเป็นไปได้ที่เกจชี้วัดตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัวกำลังทำงานอย่างผิดปกติ ให้ดำเนินการสอบเทียบ (Calibration) เกจชี้วัดทั้งสองตัวตามวิธีปฏิบัติที่แนะนำโดยบริษัทผู้ผลิต นอกจากนี้หากมีการติดตั้งเกจชี้วัดระดับน้ำมันที่ตัวถังเก็บน้ำมันสำรอง (Oil Conservator) ซึ่งจะมีการแสดงค่าอุณหภูมิของน้ำมันภายในถังสำรองไว้ด้วย ค่าอุณหภูมิที่แสดงโดยเกจชี้วัดทั้งสามตัวจะต้องชี้ค่าตรงกัน
1.3 เกจชี้วัดระดับน้ำมันที่ถังเก็บน้ำมันสำรอง (Oil Level Gauge)
เช็คเกจชี้วัดระดับน้ำมันหม้อแปลงที่ถังเก็บน้ำมันสำรอง เกจตัวนี้จะแสดงระดับน้ำมันหม้อแปลงโดยการชี้ค่าอุณหภูมิน้ำมัน ให้เปรียบเทียบอุณหภูมิที่ชี้แสดงบนถังเก็บน้ำมันสำรองกับอุณหภูมิที่ชี้แสดงค่าอุณหภูมิ ณ จุดบนสุดซึ่งการชี้ค่าของเกจวัดทั้งสองตัวควรจะชี้ค่าเท่ากัน ตรวจดูฝาครอบหน้าปัทม์เกจชี้วัดว่ามีรอยร้าวหรือแตกหรือไม่ด้วย
รูปที่ 3 (ซ้าย) ตำแหน่งติดตั้งเกจชี้วัดระดับน้ำมันหม้อแปลงที่ถังเก็บน้ำมันสำรอง (ขวา) เกจชี้วัดระดับน้ำมันหม้อแปลงโดยแสดงค่าสัมพันธ์กับอุณหภูมิน้ำมัน
ตรวจสอบการเปลี่ยนสีของสารดูดความชื้น (Desiccant) หรือซิลิก้าเจล (Silica Gel) หากพบว่าเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเข้มเป็นสีชมพูไป ¾ ของกระบอกบรรจุให้เปลี่ยนใหม่ ตรวจสอบระดับน้ำมันในถ้วยใต้กระบอกกรองความชื้นว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน 1 นิ้วจากฐาน
รูปที่ 4 ชุดกรองความชื้นภายในบรรจุด้วยสารดูดความชื้น (ซิลิก้าเจล)
ตรวจสอบไอโซเลชั่นวาล์ว (Isolation Valves) ที่ตำแหน่งบนและล่างทุกตัวของครีบระบายความร้อนเพื่อให้มั่นใจว่าเปิดอยู่เต็มที่ ตรวจสอบความสะอาดของพัดลมระบายความร้อนและครีบระบายความร้อนรวมถึงทิศทางการหมุนที่ถูกต้องของพัดลม เช็คความสกปรกและร่องรอยความเสียหายของใบพัดลมและการเกิดอุดตันบางส่วนที่ครีบระบายความร้อน พัดลมจะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อใบพัดมีความสะอาดและหมุนในที่มีอากาศเย็น
เช็คการทำงานของพัดลมระบายความร้อนโดยการตั้งสวิตช์ควบคุม “Auto/Manual” ไปที่ตำแหน่ง “Manual” พัดลมควรสามารถทำงานที่ความเร็วรอบสูงสุด (Full Speed RPM) ได้ภายใน 5 วินาทีและสามารถหมุนได้อย่างราบรื่นและมีการสั่นสะเทือนตามปกติ
รูปที่ 5 พัดลมและครีบระบายความร้อนของหม้อแปลงไฟฟ้าชนิดเติมน้ำมัน
ทำหน้าที่ดันน้ำมันภายในตัวถังหม้อแปลงให้ไหลเวียนเร็วขึ้นแทนการอาศัยหลักการลอยตัวของของเหลวเมื่อร้อน ส่งผลให้การระบายความร้อนของหม้อแปลงดีขึ้น เช็คตัวชี้แสดงทิศทางการไหลของน้ำมันและไอโซเลชั่นวาล์วของปั๊มเพื่อมั่นใจว่าการไหลเวียนของน้ำมันถูกต้อง เช็คทิศทางการหมุนของมอเตอร์ขับปั๊มว่าถูกต้องโดยใช้แอมมิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้า ขณะมอเตอร์ทำงานเทียบกับค่ากระแสเมื่อรับโหลดเต็มที่ (Full-load Current) ที่ระบุบนแผ่นป้ายมอเตอร์ หากวัดกระแสไฟฟ้าได้น้อยกว่าที่ระบุบนแผ่นป้ายมากแสดงว่ามอเตอร์หมุนกลับทิศทาง เช็คการสั่นสะเทือนของปั๊มน้ำมันด้วยเครื่องวิเคราะห์การสั่นสะเทือน (Vibration Analyzer) เมื่อพบว่าปั๊มมีการสั่นสะเทือนและเสียงดังผิดปกติ
บุชชิ่งและวัสดุฉนวนของตัวล่อฟ้าจะต้องได้รับการเช็ดทำความสะอาดขณะหม้อแปลงไฟฟ้าไม่ได้รับการจ่ายไฟฟ้า (De-energized) พื้นผิวที่มีการสะสมฝุ่นหรือเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีความสกปรกจะต้องได้รับการทำความสะอาด หากสกปรกมากให้ใช้เมธิลแอลกอฮอล์ช่วยทำความสะอาด และขณะทำความสะอาดให้สังเกตดูว่าบุชชิ่งมีรอยบิ่นหรือแตกร้าวหรือไม่ด้วย ตรวจสอบการยึดติดของแกนล่อฟ้า (Arcing Horn) ทั้ง 2 ชิ้นกับบุชชิ่งแรงสูงและฝาถังอยู่ในลักษณะชี้เข้าหากัน
รูปที่ 6 บุชชิ่งหม้อแปลงไฟฟ้าจะต้องสะอาดปราศจากรอยแตกร้าวและรวมถึงแกนป้องกันฟ้าผ่า (Arcing Horn)
จะตรวจสอบขั้วต่อทั้งด้าน HV และ LV เมื่อหม้อแปลงไฟฟ้าจ่ายโหลดไปแล้ว 1 เดือนและหลังจากนั้น 1 ปี ขณะหม้อแปลงไฟฟ้าได้รับการจ่ายไฟแล้วและอยู่ในภาวะจ่ายโหลดอยู่ ให้ทำการวัดอุณหภูมิที่ขั้วต่อบริเวณบุชชิ่งด้วยเครื่องมืออินฟราเรดสแกนเนอร์ (Infrared Scanner) การเกิดอุณหภูมิสูงเกินที่บริเวณขั้วต่อบุชชิ่ง เช่น >95 ๐C ชี้แสดงถึงการหลุดหลวม เกิดออกไซด์ (Metal Oxide) ทำให้การไหลของกระแสไฟฟ้าบริเวณหน้าสัมผัสแย่มาก เกิดความร้อนสูงหรือบริเวณจุดต่อมีความสกปรก ความร้อนที่เกิดขึ้นสามารถทำลายฉนวนบริเวณจุดต่อด้าน HV และ LV ได้ เมื่อหม้อแปลงไฟฟ้าถูกปลดจากการจ่ายไฟแล้วให้ใช้ประแจวัดแรงบิด หรือที่เรียกว่าประแจปอนด์ขันโบลต์และนัตให้แน่นตามแรงที่ระบุเพื่อสร้างความมั่นใจว่าได้ขันแน่นตามมาตรฐานกำหนด
รูปที่ 7 อินฟราเรดสแกนเพื่อหาอุณหภูมิความร้อนบริเวณขั้วต่อบุชชิ่งของหม้อแปลงไฟฟ้า
เป็นอุปกรณ์สำหรับเปลี่ยนแปลงจำนวนรอบขดลวดหม้อแปลงเพื่อให้จ่ายระดับแรงดันไฟฟ้าให้คงที่หรือให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ถ้าใช้กับหม้อแปลงระบบจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นชนิด Off-load Tap Changer คือจะต้องหยุดจ่ายไฟก่อนจึงจะเปลี่ยนแท็ปได้ แต่ถ้าเป็นหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่จะเป็นชนิด On-load Tap Changer คือสามารถเปลี่ยนแท็ปได้ในขณะที่จ่ายโหลดได้ ปกติจะมี 5 แท็ปแต่ละแท็ปจะทำให้แรงดันไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไป 2.5%
รูปที่ 8 ตัวเปลี่ยนแท็ปแรงดันไฟฟ้าชนิด Off-load Tap Changer
การตรวจสอบตัวเปลี่ยนแท็ปแรงดันไฟฟ้ามีดังนี้
• ตรวจสภาพมือหมุน (External Handle) หรือสวิตช์เลือกการเปลี่ยนแท็ป (selector Switch) ว่าอยู่ตรงล็อกหรือไม่
• ตรวจสอบรอยรั่วซึมของน้ำมันและความสมบูรณ์ของซีลยาง หากพบการรั่วซึมให้เปลี่ยนซีลยางใหม่เพื่อป้องกันความชื้นเข้าสู่ภายในตัวถังหม้อแปลง
• ตรวจสอบร่องรอยการเกิดอาร์กหรือเชื่อมติดกันของตัวเปลี่ยนแท็ปโดยการหมุนไปมา 4-5 ครั้ง
บูคโฮลซ์รีเลย์จะติดตั้งอยู่ระหว่างตัวถังหม้อแปลงกับถังเก็บน้ำมันสำรอง เป็นรีเลย์ป้องกันที่ทำหน้าที่ตรวจจับการเกิดความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในหม้อแปลงไฟฟ้า โดยเมื่อเกิดความผิดปกติจะเกิดความร้อนและมีแก็สเกิดขึ้น การสะสมของแก็สภายในบูคโฮลซ์รีเลย์จนถึงระดับหนึ่งก็จะส่งสัญญาณ Alarm เตือนให้ทราบ หรือเมื่อเกิดความผิดปกติรุนแรงแก็สที่เกิดขึ้นจะมีปริมาณมากและเกิดขึ้นทันทีทันใด บูคโฮลซ์รีเลย์ก็จะส่งสัญญาณไปทริปเบรกเกอร์ตัดหม้อแปลงออกจากการจ่ายโหลด
การตรวจสอบบูคโฮลซ์รีเลย์มีดังนี้
• เมื่อบูคโฮลซ์รีเลย์ทำงาน ควรตรวจสอบหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นพิเศษ
• ตรวจสอบสีของแก็สสะสมในบูคโฮลซ์รีเลย์ ซึ่งการวิเคราะห์จะชี้แสดงการเกิดฟอลต์ภายในหม้อแปลงได้
• แก็สสีเทาแสดงว่าเกิดการแตกตัวของน้ำมัน (อุณหภูมิที่น้ำมันหม้อแปลงเริ่มแตกตัวสูงกว่า 400 ๐C)
• แก็สสีเหลืองแสดงว่าส่วนที่เป็นไม้ เช่น Support ต่าง ๆ ชำรุด
• แก็สสีขาวแสดงว่ากระดาษฉนวน (Insulating Paper) ต่าง ๆ ชำรุด
• แก็สที่เกิดขึ้นมี Co, Co2 และ H2 แสดงว่าวัสดุฉนวนแข็ง (Solid Insulating Material) ชำรุด
รูปที่ 9 บูคโฮลช์รีเลย์
น้ำมันฉนวนที่บรรจุอยู่ภายในตัวถังหม้อแปลง นอกจากการทำหน้าที่เป็นฉนวนแล้วยังทำหน้าที่เป็นตัวระบายความร้อนที่เกิดขึ้นที่ขดลวดหม้อแปลงไปยังผนังตัวถังหม้อแปลง (Transformer Wall) และแผงครีบระบายความร้อน (Radiators)
ชนิดของน้ำมันฉนวนหม้อแปลงไฟฟ้าสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้
• น้ำมันหม้อแปลงที่ใช้กันทั่วไป–น้ำมันแร่ (Mineral Oil)
• น้ำมัน Envirotemp® FR3
• น้ำมันซิลิโคน (Silicone Fluid)
ถ่ายน้ำมันที่ก้นถังหม้อแปลง สังเกตสีที่เข้มผิดปกติซึ่งสามารถสันนิษฐานได้ว่ามีการปนเปื้อนในน้ำมันจากอากาศ ความชื้น (น้ำ) และความร้อน (เขม่า) สิ่งปนเปื้อนเหล่านี้ทำให้น้ำมันเกิดกรดและโคลน (Sludge) โดยกรดจะทำลายฉนวนขดลวดและโคลนจะไปลดความสามารถในการระบายความร้อนของน้ำมันลง รวมถึงไปลดค่า Flashover ของวัสดุฉนวนต่าง ๆ ซึ่งติดตั้งอยู่ภายในตัวถังหม้อแปลง
ค่าความทนทานไดอิเล็กตริกของน้ำมันฉนวน (Dielectric Strength of Insulating Oil) ควรมีค่าเบรกดาวน์ขั้นต่ำที่ 30 kV
ที่ Sphere Gap 2.5 mm. (ASTM D877) สำหรับน้ำมันใหม่ หรือ 26 kV สำหรับน้ำมันที่ผ่านการใช้งานมาแล้วในระบบไฟฟ้าไม่เกิน 33 kV หากได้ค่าต่ำกว่านี้จะไม่ปลอดภัยต่อการใช้งาน ให้ทำการกรองน้ำมันให้บริสุทธิ์ขึ้น (Purify) เพื่อกำจัดความชื้นและนำอนุภาคที่ปะปนในน้ำมันออกไป
มีข้อแนะนำให้ทำการส่งตัวอย่างน้ำมันหม้อแปลงไปตรวจสอบเสมอทุก 6-12 เดือน (ยกเว้นกรณีเกิดฟอลต์รุนแรงขึ้นในระบบ ควรส่งน้ำมันตรวจสอบโดยเร็ว) โดยน้ำมันที่จะส่งตรวจสอบจะต้องได้มาจากก้นถังหม้อแปลง (Bottom Drain Valve) เท่านั้น วิธีการเก็บตัวอย่างน้ำมันควรจะต้องติดต่อทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่รับทดสอบเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดจากการแปลค่าผลการทดสอบ ผลการทดสอบค่าไดอิเล็กตริกของน้ำมันฉนวนไม่ควรต่ำกว่า 30 kV จึงจะถือว่าวางใจได้
รูปที่ 10 (ซ้าย) ตัวอย่างน้ำมันนำมาทดสอบค่าความทนทานไดอิเล็กตริกของฉนวน (ขวา) อุปกรณ์ทดสอบค่าไดอิเล็กตริกของน้ำมันฉนวนหม้อแปลงไฟฟ้า
ปะเก็นทำหน้าที่ป้องกันความชื้นจากภายนอกเข้าไปภายในตัวถังหม้อแปลงและกันน้ำมันภายในตัวถังรั่วไหลออกมาภายนอก ปะเก็นที่ใช้ส่วนใหญ่มี 2 แบบคือ ไม้ก๊อก-ยางไนไตรล์ (Cork-nitrile) และไม้ก๊อก-ยางนีโอพรีน (Cork-neoprene) คุณสมบัติที่ต้องการจากปะเก็น คือ ต้องทนน้ำมัน ทนความร้อน ไม่บวม ไม่แข็ง ให้ตรวจเช็คด้วยสายตาสำหรับปะเก็นทุกจุดว่ามีการแตกร้าว (Cracking) หรือไม่ หากตรวจพบว่าปะเก็นมีการเสื่อมสภาพแล้ว เช่น ขาดคุณสมบัติการยืดหยุ่น (Elasticity) สันนิษฐานได้ว่าเกิดความร้อนสูงหรือมีสภาพเก่าแล้วให้ทำการเปลี่ยนใหม่ ปะเก็นที่เสื่อมคุณภาพแล้วจะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นซีลที่ดีในการป้องกันสิ่งสกปรก ความชื้น ทำให้น้ำมันฉนวนเสื่อมคุณภาพเร็วกว่าที่ควรจะเป็นและนำไปสู่การเบรกดาวน์หรือการลัดวงจรภายในตัวถังได้ ให้เปลี่ยนไปใช้ปะเก็นใหม่ที่มีชั้นคุณภาพดีเทียบเท่าหรือดีกว่าเท่านั้น ห้ามนำปะเก็นที่ผ่านการใช้งานมาแล้วกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) หลังจากการเปลี่ยนปะเก็นใหม่ไปแล้ว 6 เดือนให้ทำการตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง ข้อควรระวังเกี่ยวกับอายุการจัดเก็บปะเก็น (Shelf Life) ของปะเก็นชนิดไม้ก๊อก-ไนไตรล์ ประมาณ 2 ปี ดังนั้นจึงไม่ควรเก็บเป็นสต๊อกอะไหล่หากไม่มีการใช้ภายใน 2 ปี
รูปที่ 11 ปะเก็นที่ฝาครอบตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้าต้องอยู่ในสภาพดีเพื่อป้องกันความชื้นเข้าสู่ภายในตัวถัง
รูปที่ 12 ปะเก็นที่บุชชิ่งด้าน HV และ LV ของหม้อแปลงไฟฟ้า
ตรวจดูขั้วต่อสายของวงจรควบคุมและรีเลย์ที่ตู้สวิตช์ควบคุมไฟฟ้า (Marshalling Box) จะต้องถูกขันแน่นทุกจุด สายไฟฟ้าวงจรควบคุมควรถูกตรวจสอบในเรื่องฉนวนของสายวงจรควบคุมยังมีคุณสมบัติดีอยู่หรือไม่ นอกจากนั้น ควรตรวจสอบกล่องสายวงจรควบคุมและระบบท่อต่าง ๆ ว่ายังอยู่ในสภาพที่ยังสามารถปกป้องสายวงจรควบคุมได้ดีหรือไม่ด้วย นอกจากนี้ควรตรวจเช็คระดับแรงดันไฟฟ้าที่ป้อนให้กับวงจรควบคุมว่ายังอยู่ในระดับที่ตรงกับที่ระบุไว้ไว้ในแผนผังวงจรควบคุมหรือไม่ด้วย
รูปที่ 13 กล่องสายไฟฟ้าวงจรควบคุมของหม้อแปลงไฟฟ้าที่ต้องมีการตรวจเช็คเป็นระยะ
ทำการตรวจสอบสภาพภายนอกตัวถังหม้อแปลงและสี ให้ทำการซ่อมแซมตัวถังและสีเมื่อพบว่าเกิดความเสียหาย เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้ตัวถังผุ เกิดการรั่วซึมของน้ำมันและการเกิดสนิมได้ในอนาคต ชนิดของสีที่ใช้กับตัวถังหม้อแปลงจะมี 2 ชนิดคือ Acrylic Enamel และ Epoxy Base
รูปที่ 14 สภาพภายนอกของสีและตัวถังหม้อแปลงที่ควรได้รับการซ่อมแซม
ตารางที่ 1 ใบบันทึกการตรวจสอบสภาพทั่วไปด้วยสายตาสำหรับหม้อแปลงชนิดเติมน้ำมัน
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด