Safety & Healthcare

ความสำคัญของอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 15)

ศิริพร วันฟั่น

 

 

 

          ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันในชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “CSR” กำลังกลายเป็นกระแสที่มาแรง ซึ่งหากจะมองโดยเผิน ๆ ก็จะเป็นแค่เรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเท่านั้น แต่หากจะมองให้ลึกซึ้งถึงที่ไปที่มาและความจำเป็นของซีเอสอาร์แล้ว คงต้องกลับไปดูกันตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุว่า ทำไมองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

  

          ใตอนที่ 14 เราได้กล่าวถึงหัวข้อที่ (3) การดำเนินการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Implementing Responsible Production) ในหัวข้อย่อย (3.3) ชุดฝึกอบรมสำหรับการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Training Package) (ที่ประกอบไปด้วย 18 โมดูลพร้อมกับเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง) โดยได้กล่าวจนจบโมดูลที่ 4 ดังนั้น ในตอนที่ 15 นี้ จะขอกล่าวต่อในโมดูลที่ 5 ตามเนื้อหาด้านล่างนี้

           โมดูลที่ 5 การบ่งชี้และจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Identification and Classification) วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้มีฐานความรู้สำหรับการบ่งชี้สารเคมีอันตรายและสมบัติ (Properties) ของสารเหล่านี้ได้โดยง่าย ด้วยข้อมูลที่มีให้ไว้ในระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีระหว่างประเทศอันเป็นที่รู้จักและยอมรับกันในระดับสากล ซึ่งการบ่งชี้และจำแนกประเภทความเป็นอันตรายเป็นขั้นตอนสำคัญต่อการทำความเข้าใจว่า สารเคมีใดเป็นอันตราย และทำไมถึงเป็นอันตราย และสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดระบบสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมี

          วิทยากรสามารถใช้โปรแกรม Powerpoint นำเสนอในเรื่องของการบ่งชี้ความเป็นอันตราย การจำแนก และการติดฉลาก โดยจะมีการกล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เช่นความสำคัญของการติดฉลากสารเคมีอันตรายที่ใช้เพื่อสื่อสารข้อมูลความเสี่ยง, สัญลักษณ์ที่ใช้บนฉลากสารอันตราย, ข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงของสารเดี่ยวหรือสารผสม (R–phrase) และข้อความแสดงคำแนะนำการจัดการสารเดี่ยวหรือสารผสมอย่างปลอดภัย (S–phrase) เพื่อจำแนกประเภทของสารที่อยู่ในสถานที่ปฏิบัติงานและพื้นที่จัดเก็บ, ดัชนีชี้บ่งอันตราย NFPA 704, การติดฉลากและสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายตามระบบ GHS, รูปสัญลักษณ์การขนส่ง (Tranport Pictograms) ภายใต้กฎระเบียบต้นแบบมาตรฐานตามข้อแนะนำของสหประชาชาติ (UN Model Regulations), ทบทวนฉลากและความหมาย รวมทั้งมีการนำเสนอแบบฝึกหัดในการบ่งชี้ความเป็นอันตราย ซึ่งจะแยกออกเป็น 3 ส่วน และมีการเฉลยแบบฝึกหัดในตอนท้ายด้วย

 

          1. ระบบและสัญลักษณ์ที่ใช้สำหรับการติดฉลากสารเคมีอันตราย

 

          ซึ่งระบบที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างคือ “ระบบและสัญลักษณ์ที่ใช้สำหรับการติดฉลากสารเคมีอันตรายในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป” โดยอธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบว่า ฉลากที่ใช้ต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในส่วนของชื่อทางการค้า, ชื่อและที่อยู่ รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จัดจำหน่าย, ชื่อทางเคมีของสารเคมี (ในกรณีเป็นสารเคมีในเคมีภัณฑ์, ชื่อทางเคมีของส่วนประกอบที่เป็นอันตราย), สัญลักษณ์เตือนอันตราย, ข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงของสารเดี่ยวหรือสารผสม (R–phrase) และข้อความแสดงคำแนะนำการจัดการสารเดี่ยวหรือสารผสมอย่างปลอดภัย (S–phrase), ปริมาณสารที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะบรรจุและข้อความในฉลากควรเป็นสองภาษาทั้งอังกฤษ-ไทย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถอ่านเข้าใจได้โดยง่าย (อนุมานเอาว่าผู้ปฏิบัติงานสัญชาติอื่นที่มาทำงานในโรงงานสารเคมีของไทย ควรจะอ่านภาษาอังกฤษออก แต่หากเขาอ่านไม่ออกทั้งอังกฤษ ทั้งไทย ก็ควรจะมีการแปลฉลากเป็นภาษาที่เขาสามารถอ่านได้)

 

          1.1 ระบบการจำแนกประเภทการติดฉลากและบรรจุภัณฑ์สารเดี่ยวหรือสารผสมของสหภาพยุโรป (ฉบับเดิม) เป็นระบบการจำแนกฯ เดิมก่อนที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปจะนำระบบ GHS มาปรับใช้ โดยที่ระบบเดิมนี้จะเป็นการดำเนินการตามระเบียบของสหภาพยุโรป 2 ส่วนด้วยกัน คือ “Directive 67/548/EEC (Dangerous Substances Directive: DSD)” เป็นระเบียบการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์สำหรับสารเดี่ยวอันตราย และ “Directive 1999/45/EC (Dangerous Preparetions Directive: DPD)” เป็นระเบียบการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์ สำหรับสารผสมอันตราย และเนื่องจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นผู้ผลิตสารเคมีและเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของโลก ระบบการจำแนกฯ นี้จึงสามารถพบเห็นได้ทั่วไป และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบการจำแนกฯ ใหม่

          ทั้งนี้ วิทยากรสามารถอธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบถึงประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Class), สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Hazard Symbols), ตัวอย่างสารเคมีในแต่ละประเภท, ตัวอย่างข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงของสารเดี่ยวหรือสารผสม และข้อความแสดงคำแนะนำการจัดการสารเดี่ยวหรือสารผสมอย่างปลอดภัยตลอดจนตัวอย่างฉลาก ตามเนื้อหา ดังต่อไปนี้

 

          ประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Class) ประกอบไปด้วย 15 ประเภท ได้แก่ วัตถุระเบิด (Explosive), สารออกซิไดซ์ (Oxidizing), สารไวไฟมากเป็นพิเศษ (Extremely Flammable), สารไวไฟมาก (Highly Flammable), สารไวไฟ (Flammable), สารมีพิษมาก (Very Toxic), สารมีพิษ (Toxic), สารอันตราย (Harmful), สารกัดกร่อน (Corrosive), สารระคายเคือง (Irritant), สารที่ทำให้ไวต่อการกระตุ้นอาการแพ้ (Sensitization), สารก่อมะเร็ง (Carcinogenic), สารก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ (Mutagenic), สารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ (Toxic for Reproduction) และสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (Dangerous for the Environment)

 

          สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Hazard Symbols) แสดงอยู่บนสี่เหลี่ยมพื้นสีส้มประกอบไปด้วย 10 สัญลักษณ์ ดังนี้ คือ

 

ตารางที่ 22 แสดงสัญลักษณ์ สิ่งบ่งชี้อันตราย และประเภทความเป็นอันตราย

 

 

          • ยกตัวอย่างสารเคมีในแต่ละประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Class)

 

          วัตถุระเบิด (Explosive) (E) เช่น TNT, Acetone Peroxide, Nitroglycerin, Picric Acid, Ammonium Nitrate

          สารไวไฟมากเป็นพิเศษ (Extremely Flammable) (F+) เช่น Hydrogen, Acetylene, Propane, Butane, Diethyl Ether

          สารไวไฟมาก (Highly Flammable) (F) เช่น Ethanol, Acetone, Gasoline, Hexamine, Methanol

          สารออกซิไดซ์ (Oxidizing) (O) เช่น Oxygen, Potassium Nitrate, Hydrogen Peroxide, Nitric Acid, Chlorine

          สารมีพิษมาก (Very Toxic) (T+) เช่น Prussic Acid, Nicotine, Carbon Monoxide, White Phosphorus

          สารมีพิษ (Toxic) (T) เช่น Sulfuric Acid, TNT, Nitroglycerin, Ammonia, Carbon Disulfide, Methanol

          สารอันตราย (Harmful) (Xn) เช่น Hexamine, Butane, Naphtha, Ethanol

          สารระคายเคือง (Irritant) (Xi) เช่น Sodium Hypochlorite, Acetone, Ethanol

          สารกัดกร่อน (Corrosive) (C) เช่น Sulfuric Acid, Battery Acid, Nitric Acid, Ammonia, White Phosphorus

          สารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (Dangerous for the Environment) (N) เช่น Lead, Mercury, Diesel, Turpentine

 

          • อธิบายและยกตัวอย่างข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ (R–phrase) และข้อความแสดงคำแนะนำการจัดการสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์อย่างปลอดภัย (S–phrase) โดยที่ “R–phrase” ก็คือ วลีที่บ่งชี้ถึงความเป็นอันตราย วลีเหล่านี้หลายวลีจะอ้างถึงผล กระทบต่อสุขภาพมนุษย์ ในขณะที่วลีส่วนที่เหลืออื่น ๆ จะอ้างถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนอกจากนี้ บางวลียังบ่งชี้สารเคมีบางอย่างว่าสามารถระเบิด หรือไวไฟหรือทำปฏิกิริยาอย่างรุนแรงเมื่อสัมผัสกับน้ำ หรือเป็นสารออกซิไดซ์ ส่วน “S–phrase” จะเป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการจัดการที่ปลอดภัยของสารเคมีอันตรายและสูตรทางเคมี

 

          ตัวอย่างที่ 1 ข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงของสารเดี่ยวหรือสารผสม (R–phrase) และข้อความแสดงคำแนะนำการจัดการสารเดี่ยวหรือสารผสมอย่างปลอดภัย (S–phrase)

 

 

          ความหมายในตัวอย่างที่ 1

 

          หมายเลข 1 สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Hazard Symbol)

 

          หมายเลข 2 สิ่งบ่งชี้อันตราย (Indication of Danger) ได้แก่ Harmful (Xn) = สารอันตราย และ Dangerous for the Environment(N) = สารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

 

          หมายเลข 3 ข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงของสารเดี่ยวหรือสารผสม (R–phrase) ได้แก่ R20 เป็นอันตรายหากสูดดม, R38 ระคายเคืองต่อผิวหนัง, R50/53 เป็นพิษอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ, อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมในน้ำ, R63 มีความเสี่ยงที่เป็นไปได้ที่จะเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์

 

          หมายเลข 4 ข้อความแสดงคำแนะนำการจัดการสารเดี่ยวหรือสารผสมอย่างปลอดภัย (S–phrase) ได้แก่ S2 เก็บให้ห่างจากมือเด็ก, S13 เก็บให้ห่างจากอาหาร น้ำดื่ม และวัตถุดิบอาหารสัตว์, S20/21 เมื่อใช้ห้ามกิน ดื่ม หรือสูบบุหรี่, S35 วัสดุและภาชนะบรรจุต้องถูกกำจัดด้วยวิธีที่ปลอดภัย, S36/37 สวมใส่ชุดป้องกันและถุงมือที่เหมาะสม, S57 ใช้การกักเก็บที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อน

 

          หมายเลข 5 ข้อความเพิ่มเติมในฉลาก: เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้, มี Isopyrazam, Cyprodinil อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ได้

 

          • อธิบายและยกตัวอย่างฉลากของระบบการจำแนกประเภทการติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์สารเดี่ยวและสารผสมของสหภาพยุโรป (ฉบับเดิม)

 

          ตัวอย่างที่ 2 ฉลากของระบบการจำแนกประเภทการติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์ สารเดี่ยวหรือสารผสมของสหภาพยุโรป (แบบเดิม)

 

 

          ความหมายในตัวอย่างที่ 2

 

          หมายเลข 1 ชื่อผลิตภัณฑ์ (Name of Product) ได้แก่ Bright Clothes All in One Liquid Detergent

 

          หมายเลข 2 รายละเอียดของซัพพลายเออร์ (Supplier Details) ได้แก่ ชื่อบริษัทผู้ผลิต พร้อมที่อยู่ (Bright Co. Ltd, Bright Lane, Dublin 123. Ireland)

 

          หมายเลข 3 เบอร์โทรติดต่อ/ E- mail Address ได้แก่ Tel. no.:00353 1 123 4567, E- mail: brightbright@dot.com

 

          หมายเลข 4 เว็บไซต์ของบริษัท ได้แก่ www.brightclothesforever.com

 

          หมายเลข 5 สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Hazard Symbol)

 

          หมายเลข 6 สิ่งบ่งชี้อันตราย (Indication of Danger) ได้แก่ Irritant (Xi) = สารระคายเคือง

 

          หมายเลข 7 ข้อความที่แสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงของสารเดี่ยวหรือสารผสม (R–phrase) ได้แก่ระคายเคืองต่อดวงตา (Irritating to Eyes)

 

          หมายเลข 8 ข้อความแสดงคำแนะนำการจัดการสารเดี่ยวหรือสารผสมอย่างปลอดภัย (S–phrase) ได้แก่ เก็บให้ห่างจากมือเด็ก, หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา, ในกรณีที่สัมผัสกับดวงตา ให้รินล้างโดยทันทีด้วยน้ำปริมาณมากและปรึกษาแพทย์, ถ้ากลืนกินเข้าไป ให้รีบพบแพทย์โดยทันที และนำเอาภาชนะบรรจุหรือฉลากนี้ไปแสดงด้วย, ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายหรือเสียหายควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผลิตภัณฑ์นี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ

 

          หมายเลข 9 จำนวนครั้งของการใช้น้ำยาซัก (No. of Washes) เท่ากับ 24 ครั้ง

 

          หมายเลข 10 ปริมาตรที่ระบุไว้ (Nominal Quantity) เท่ากับ 2 ลิตร

 

          หมายเลข 11 คำแนะนำในการใช้ (Instruction for Use) มีดังนี้ คือ เทน้ำยาซัก (โดยใช้ถ้วยตวงที่มีให้) ลงในช่องเติมผงซักฟอกของเครื่องซักผ้า ล้างมือภายหลังใช้ ห้ามเทน้ำยาลงบนผ้าที่จะซักโดยตรง ล้างมือและเช็ดให้แห้งภายหลังใช้

 

 

          หมายเหตุ: 1 ถ้วยตวง (Cup) = 1 Full Load

 

          หมายเลข12: ข้อมูลส่วนผสมที่เข้าเกณฑ์ถูกกำหนดให้ต้องระบุไว้ในฉลาก (เช่น เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก และระบุช่วงเปอร์เซ็นต์สำหรับสารบางชนิด)

 

          1.2 ระบบการจำแนกประเภทการติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์ สารเดี่ยวและสารผสมของสหภาพยุโรป (ฉบับใหม่) เหตุผลหลัก ๆ ที่ทางสหภาพยุโรปต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการจำแนกฯ แบบเดิม ก็เพราะเห็นว่าการค้าขายสารเคมีและเคมีภัณฑ์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ตลาดภายในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดโลก (Global Market) ด้วย ซึ่งมักจะประสบปัญหาเรื่องความแตกต่างของระบบการจำแนกฯ ในแต่ละประเทศ เมื่อทาง UN ได้คิดแก้ปัญหาการเหลื่อมล้ำและความสับสนนี้ โดยนำเสนอระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก (GHS) ขึ้นมาครั้งแรกในปี ค.ศ.2002 (พ.ศ. 2545) และมีการทบทวนในปี ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) และ 2007 (พ.ศ.2549) อีกทั้งระบบ GHS ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงการสื่อสารความเป็นอันตรายสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ลูกค้า หน่วยงานรับเหตุฉุกเฉิน ตลอดจนการขนส่ง โดยอาศัยความเป็นระบบเดียวกันของฉลากและส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่รวมถึง เอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (SDS) ด้วย ดังนั้นทางกลุ่มสหภาพยุโรปจึงเห็นควรที่จะมีการรับเอาระบบ GHS นี้มาปรับปรุงระบบการจำแนกฯ แบบเดิมของตนเอง เพื่อให้มีความสอดคล้องมากขึ้นกับระบบ GHS ซึ่งก็จะช่วยอำนวยความสะดวก ลดอุปสรรค และเอื้อประโยชน์ในความเป็นหนึ่งเดียวของการตลาดร่วม (Single Market) ภายในกลุ่มสหภาพยุโรปเองและกับภายนอกกลุ่มได้มากขึ้นนั่นเอง

          เนื่องจากระบบ GHS เป็นชุดของข้อแนะนำระหว่างประเทศ ดังนั้น การประยุกต์ใช้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรปที่นำมาใช้บังคับโดยผสมผสานเข้ากับกฎหมายของประชาคมยุโรป (Community Law) โดยเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของระบบ GHS ได้ถูกรวมเข้าอยู่ในกฎหมายการขนส่งของสหภาพยุโรปในปี ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและใช้สารเคมีนั้น ทางคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้นำมาใช้ในช่วงปลายปี ค.ศ.2008 ที่เรียกขานว่า Regulation (EC) No 1272/2008 on Classification, Labelling and Packaging (CLP) of Substances and Mixtures หรือ CLPRegulation หรือเรียกสั้น ๆ ว่า CLP ซึ่งเป็นระบบการจำแนกประเภทการติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์ สารเดี่ยวและสารผสมของสหภาพยุโรปฉบับใหม่ ที่ถูกคาดหวังไว้ว่าจะนำมาแทนที่ระบบเดิมตามกำหนดการในการเปลี่ยนผ่านที่ได้ตั้งไว้ (CLP มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 ม.ค.52) โดยที่ CLP ได้หยิบยกเกณฑ์การจำแนกประเภท (Classification Criteria) และกฎการติดฉลาก (Labelling Rules) ของ GHS (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) มาพิจารณาบังคับใช้ แต่ยังคงสงวนสิทธิ์ที่ CLP จะมีส่วนหนึ่งที่ถูกกำหนดขึ้นมาเองจากประสบการณ์ที่บ่มเพาะกว่า 40 ปีจากการใช้กฎหมายสารเคมีของประชาคมยุโรป (Community Chemical legistration) ที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้ Directive 67/548/EEC (Dangerous Substances Directive: DSD) และ Directive 1999/45/EC (Dangerous Preparetions Directive: DPD)

          เช่นเดียวกับระดับของการป้องกันอันตรายในส่วนที่ยังไม่ได้ปรากฎอยู่ในระบบ GHS ก็ยังจะคงใช้การพิจารณาจากประเภทความเป็นอันตรายของประชาคมยุโรป (Communityhazard Classes) อยู่ และยังจะคงกฎเกณฑ์การจำแนกและการติดฉลากที่ใช้อยู่เดิมไว้บางส่วน และแม้ว่า CLP จะรับเอาประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Classes) ทุกประเภทของระบบ GHS แต่ถ้ามีบางส่วนของประเภทย่อยความเป็นอันตราย (Hazard Categories) ของระบบ GHS ที่ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายปัจจุบันของสหภาพยุโรป ก็จะไม่ถูกรวมเข้าไปไว้ใน CLP แต่จะใช้การรวมบางส่วนของประเภทความเป็นอันตรายและประเภทย่อยความเป็นอันตราย ที่ไม่ปรากฎอยู่ในกฎหมายการจัดหาและใช้สารเคมีฉบับปัจจุบันของสหภาพยุโรป ให้ (หรือจะให้) ระบุอยู่ในระบบการขนส่งของสหภาพยุโรป (EU Transport System) แทน ดังนั้นเมื่อมองในภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า CLP มีความละม้ายคล้ายคลึงกับระบบ GHS แต่ก็ยังคงกลิ่นอายของระบบการจำแนกฯ แบบเดิมของสหภาพยุโรปไว้บางส่วนด้วย ซึ่งทำให้เห็นถึงความพยายามที่จะให้มีความสอดคล้องกับระบบ GHS มากขึ้นแต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความแตกต่างในการดำเนินการตามระบบ GHS ระหว่างประเทศนอกกลุ่มกับในกลุ่มสหภาพยุโรปอยู่ดี นอกจากนี้แล้ว ข้อกำหนดต่าง ๆ ของ CLP ยังมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับข้อกำหนดภายใต้กฎระเบียบ REACH และกฎหมายอื่น ๆ ของสหภาพยุโรปอีกด้วย

          นอกจากการที่ CLP ได้ถูกกำหนดขึ้นมาด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งทางด้านการค้าแล้ว ก็ยังมีจุดมุ่งหมายสำคัญอีกประการหนึ่งนั่นก็คือ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายไว้ล่วงหน้าสำหรับผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีหรือเคมีภัณฑ์โดยดำเนินการผ่านข้อกำหนดใน 3 ส่วน ได้แก่ (1) กำหนดให้ซัพพลายเออร์ได้บ่งชี้และตรวจสอบสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ของตนเอง ว่าได้แสดงสมบัติ (Properties) ที่นำไปสู่การจำแนกว่ามีความเป็นอันตรายหรือไม่ (อันตรายทางกายภาพ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม) โดยเทียบกับเกณฑ์ในการจำแนก (Classification Criteria) ที่มีให้ แล้วทำการจัดจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Classes) และระดับความเป็นอันตราย (Degree of Hazard) (ดังระบุไว้ใน CLP Annex I) ให้สอดคล้องกัน (2) มีการบรรจุหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ให้มีความปลอดภัย และ (3) ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ใช้ปลายน้ำ และผู้จัดจำหน่ายของสารเคมีและเคมีภัณฑ์เหล่านี้ (รวมทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้าสำหรับผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ถูกระบุไว้เป็นการเฉพาะ) ต้องสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์เหล่านี้ที่ได้บ่งชี้และจำแนกประเภทแล้ว ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบที่อยู่ในซัพพลายเชน ที่รวมถึงผู้ปฏิบัติงานตลอดจนลูกค้าได้รับรู้ ผ่านทางการติดฉลากแสดงความเป็นอันตรายและเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet: SDS) ที่จะช่วยสื่อสารประเภทความเป็นอันตรายไปยังผู้ใช้สารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ เพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้ได้รู้ถึงอันตรายในเบื้องหน้าและความจำเป็นในการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องนี้

 

 

กรอบเวลาดำเนินการเปลี่ยนผ่าน (Transitional Implementation Timeframe) ของ CLP และ REACH

 

          1. CLP Regulation

 

          มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.52 (ค.ศ.2009) แต่ใช่ว่าข้อกำหนดของ CLP จะถูกบังคับใช้ได้ทั้งหมดในทันที ดังนั้นจึงได้มีการกำหนดช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (ในลักษณะผ่อนปรนระยะเวลาการบังคับใช้ในบางส่วน) สำหรับข้อบังคับของทั้ง CLP และตัวบทกฎหมายก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการจำแนกประเภท การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์ อันได้แก่ “ระเบียบการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์ สำหรับสารเดี่ยวอันตราย-Directive 67/548/EEC (DSD)” และ “ระเบียบการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์ สำหรับสารผสมอันตราย-Directive 1999/45/EC (DPD)” ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นการบังคับใช้แบบคู่ขนานกันไปจนกว่า CLP จะมีการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจำแนกประเภท การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์นั้น CLP ได้กำหนดลำดับเวลาที่ต่างกันสำหรับสารเดี่ยวและสารผสม ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการได้มีเวลาที่จะย้ายจากระบบ DSD หรือ DPD ไปสู่กฏเกณฑ์ของ CLP อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ประกอบกิจการแห่งใดมีความพร้อมก็สามารถดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบได้ในทันทีบนความสมัครใจตั้งแต่ CLP แรกเริ่มมีผลบังคับใช้ (ดูใน CLP Article 61) และสำหรับการเปลี่ยนผ่านนี้ ได้มีข้อกำหนดสำหรับการเปลี่ยนผ่านที่ระบุไว้ในมาตรา (Article) 61 ที่ระบุวันเป้าหมายสำคัญ 2 วันไว้ ที่จะมีผลต่อการจำแนก การสื่อสารความเป็นอันตราย และบรรจุภัณฑ์ของสารเดี่ยวและสารผสม นั่นคือ วันที่ 1 ธ.ค.2553 (ค.ศ.2010) และ 1 มิ.ย.2558 (ค.ศ.2015) โดยมีกำหนดเวลา ดังนี้ คือ

 

          1.1 “สารเดี่ยว (Substances)”

 

          • 1 ธ.ค.2553 (ค.ศ.2010) คือ กำหนดเส้นตายสำหรับการจำแนกประเภท การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์สำหรับสารเดี่ยวให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ CLP อย่างไรก็ตาม มีการผ่อนปรนให้สารเดี่ยวยังสามารถจำแนกประเภทได้ทั้ง DSD และ CLP ได้จนถึงวันที่ 1 มิ.ย.2558 (ค.ศ.2015)(ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบกิจการ) และต้องระบุไว้ในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet: SDS) ด้วย นั่นหมายถึงว่า หลังวันที่ 1 มิ.ย.2558 (ค.ศ.2015) จะยกเลิก DSD และใช้การจำแนกประเภท การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์สำหรับสารเดี่ยวให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ CLP เท่านั้น

          • ในกรณีที่สารเดี่ยว (Substances) ได้จำแนกประเภท ติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์สอดคล้องกับกฎของ DSD อยู่แล้ว และวางตลาดก่อนวันที่ 1 ธ.ค.2553 (ค.ศ.2010) ตัวอย่างเช่น ได้อยู่ในซัพพลายเชนแล้วก่อนกำหนดเส้นตายนี้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จัดจำหน่ายอาจจะเลื่อนการติดฉลากและบรรจุภัณฑ์ใหม่อีกครั้งตามกฎของ CLP ได้จนถึง 1 ธ.ค.2555 (ค.ศ.2012) นั่นหมายถึงว่า สารเดี่ยว (Substances) สามารถวางขายต่อไปในซัพพลายเชนด้วยฉลาก DSD ได้จนถึง 1 ธ.ค.2555 (ค.ศ.2012) แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าในกรณีที่สารเดี่ยว (Substances) ได้ถูกเติมเข้าไปใหม่ในบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อเข้าไปสู่ซัพพลายเชนและซัพพลายเออร์ลำดับถัดมา (ของสารเคมีที่เติมเข้าไปใหม่) ได้มีการเปลี่ยนแปลงฉลากบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวเนื่องจากมีความจำเป็นสำหรับองค์ประกอบอื่น ๆ ของฉลาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ต้องมีการปรับฉลากให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ CLP และจะไม่มีการใช้ฉลาก DSD นี้อีกต่อไป ตราบเท่าที่ยังสามารถจำแนกประเภทสารนี้ให้สอดคล้องกับ CLP ที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ผ่านทางเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS)

          • 3 ม.ค.2554 (ค.ศ.2011) เป็นกำหนดเส้นตายของการจดแจ้งของการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมี หรือการจดแจ้ง C&L (Notification to the Classification and Labelling Inventory: C&L Inventory) สำหรับสารเคมีที่วางตลาดในสหภาพยุโรปก่อน 1 ธ.ค.2553 (ค.ศ.2010) ทั้งนี้ การจดแจ้ง C&L จะไม่เหมือนการจดแจ้งสารเคมีในผลิตภัณฑ์ของ REACH

 

          1.2 “สารผสม (Mixtures)”

 

          • 1 มิ.ย.2558 (ค.ศ.2015) คือ กำหนดเส้นตายสำหรับการจำแนกประเภท การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์สำหรับสารผสม (Mixtures) ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ CLP เท่านั้น ก่อนที่จะวางตลาด

          • ในกรณีที่สารผสม (Mixtures) ได้มีการจำแนกประเภท ติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์ตาม CLP อยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มิ.ย.2558 (ค.ศ.2015) ก็จะมีเพียงให้แสดงฉลากให้สอดคล้องกับCLP เท่านั้น จะไม่ใช้ฉลาก DPD อีกต่อไป

          • ส่วนกรณีที่สารผสม (Mixtures) ได้จำแนกประเภท ติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์ตาม DPD อยู่แล้วและวางตลาดก่อนวันที่ 1 มิ.ย.2558 (ค.ศ.2015) เช่น ได้อยู่ในซัพพลายเชนแล้วก่อนวันที่ 1 มิ.ย.2558 (ค.ศ.2015) ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ใช้ปลายน้ำ หรือผู้จัดจำหน่ายอาจจะเลื่อนการติดฉลากและบรรจุภัณฑ์ใหม่อีกครั้งตามกฎของ CLP ได้จนถึง 1 มิ.ย.2560 (ค.ศ.2017) นั่นหมายถึงว่า สารผสม (Mixtures) สามารถวางขายต่อไปในซัพพลายเชนด้วยฉลาก DPD ได้จนถึง 1 มิ.ย.2560 (ค.ศ.2017) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่สารผสม (Mixtures) ได้ถูกเติมเข้าไปใหม่ในบรรจุภัณฑ์อื่นและอยู่ในซัพพลายเชนและซัพพลายเออร์ลำดับถัดมา (ของสารเคมีที่เติมเข้าไปใหม่) ได้มีการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวเนื่องจากมีความจำเป็นสำหรับองค์ประกอบอื่น ๆ ของฉลาก เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องมีการปรับฉลากให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ CLP และจะไม่มีการใช้ฉลาก DPD อีกต่อไป

          ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนี้การจัดจำแนกทั้งประเภทสารเดี่ยว (Substances) และสารผสม (Mixtures) ที่สอดคล้องกับ CLP ต้องมีการระบุไว้ในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) ด้วย ซึ่งเอกสารนี้ได้รับการพัฒนาภายใต้กฎระเบียบ REACH และเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักระหว่างซัพพลายเออร์และผู้ใช้ ที่รวมข้อมูลเกี่ยวกับสมบัติทางกายภาพ สมบัติทางเคมี และความเป็นอันตรายของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ ตลอดจนคำแนะนำสำหรับการจัดการ กำจัด และขนส่ง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การผจญเพลิง และมาตรการควบคุมการสัมผัสกับอันตรายเหล่านี้ ทั้งนี้ ข้อมูลเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) ต้องได้รับการปรับปรุงให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับการติดฉลากบนผลิตภัณฑ์เคมี

 

          2. REACH (กฎระเบียบว่าด้วยการควบคุมสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป)

 

          เป็นกฎหมายของสหภาพยุโรปมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มิ.ย.2550 (ค.ศ.2007) (Regulation EC No. 1907/2006) มีข้อกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารเคมี สารเคมีในเคมีภัณฑ์ และสารเคมีในผลิตภัณฑ์ ต้องดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ ตามที่กำหนด ซึ่งสินค้าต่างประเภทกันจะมีข้อกำหนด และหน้าที่ปฏิบัติต่างกัน REACH มีกระบวนการดำเนินการ ดังนี้ คือ 1.การจดทะเบียนล่วงหน้า (Pre–registration) 2.การจดทะเบียน (Registration) 3.การประเมิน (Evaluaition) 4.การอนุญาต (Authorisation) 5.การจดแจ้ง (Notification) 6.การจำกัดการใช้ (Restriction) 7.การจัดทำสารบบการจำแนกประเภทและการติดฉลาก (Classification and Labelling Inventory) และ 8.การสื่อสารในห่วงโซ่อุปทาน (Communication) โดย REACH ได้มีกำหนดเวลาจดทะเบียน ดังนี้ คือ

          • บังคับใช้เมื่อ 1 มิ.ย.2550 (ค.ศ.2007) (Regulation EC No. 1907/2006)

          • 1 มิ.ย. ถึง 1 ธ.ค.2551 (ค.ศ.2008) การจดทะเบียนล่วงหน้า (Pre–registration) เพื่อส่งข้อมูลเบื้องต้นของสารเคมีไปยังหน่วยงานกลางด้านสารเคมีของยุโรป (ECHA) ก่อน เพื่อที่จะยังสามารถผลิตหรือนำเข้าสารเคมีใน EU ได้ต่อไป ก่อนจะเริ่มการจดทะเบียนจริงตามปริมาณการผลิต/นำเข้า และตามประเภทความเป็นอันตรายของสารเคมีตามที่ระเบียบ REACH กำหนดไว้

          • 1 ธ.ค.2553 (ค.ศ.2010) (First Phase–in Deadline) กำหนดเส้นตายของการจดทะเบียนสำหรับสารเคมีที่มีปริมาณการผลิตหรือนำเข้าต่อปีต่อราย มากกว่า 1,000 ตัน หรือสารกลุ่มที่เป็นปัญหา เช่น CMR–สารกลุ่มที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์หรือสัตว์ที่ได้รับสัมผัส ได้แก่ Carcinogenic (สารก่อมะเร็ง), Mutagenic (สารก่อการกลายพันธุ์), Toxic for Reproduction (สารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์) และสารเคมีที่เป็นอันตรายมากกับสิ่งแวดล้อมมีชีวิตอาศัยในน้ำ (R50/53) มากกว่า 100 ตัน

          • 1 มิ.ย.2556 (ค.ศ.2013)(Second phase–in Deadline) กำหนดเส้นตายของการจดทะเบียนสำหรับสารเคมีที่มีปริมาณการผลิตหรือนำเข้าต่อปีต่อราย 100-1,000 ตัน

          • 1 มิ.ย.2561 (ค.ศ.2018)(Third Phase–in Deadline) กำหนดเส้นตายของการจดทะเบียนสำหรับสารเคมีที่มีปริมาณการผลิตหรือนำเข้าต่อปีต่อราย ตั้งแต่ 1-100 ตัน

 

          หมายเหตุ “Phase–in” Substances คือ สารเคมีที่อยู่ในรายการสารเคมีที่มีการซื้อขายกันในประชาคมยุโรป (EINECS) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2514 (ค.ศ.1971) – 18 ก.ย.2524 (ค.ศ.1981) ซึ่งมีสารเคมีทั้งสิ้น 100,204 รายการ, สารเคมีที่มีการผลิตในสหภาพยุโรป แต่ไม่เคยวางตลาดในสหภาพยุโรป ก่อนที่ REACH จะบังคับใช้เมื่อ 1 มิ.ย.2550 (ค.ศ.2007) และกลุ่มสารเคมีที่ไม่จัดเป็นสารพอลิเมอร์อีกต่อไป (No–Longer Polymer: NLP)

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง CLP และ DSD/DPD

 

          ส่วนที่คล้ายคลึงกันโดยภาพรวมของทั้ง CLP และ DSD/DPD ก็คือ แนวคิดในการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย การสื่อสารความเป็นอันตรายผ่านทางการติดฉลาก และการบรรจุภัณฑ์ที่มีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยโดยมีจุดมุ่งหมายไปที่ผู้ปฏิบัติงานและลูกค้า ครอบคลุมซัพพลายและการใช้สารเคมี แต่ไม่ครอบคลุมการขนส่งสารเคมี อย่างไรก็ตาม ในมาตรา (Article) 33 ของ CLP มีกฎระเบียบบางอย่างที่ระบุเกี่ยวกับการติดฉลากของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับการขนส่ง อาจจะกล่าวได้ว่า กฎระเบียบ CLP เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายในแนวกว้าง (Horizontal Legislation) ที่ครอบคลุมสารเคมีและเคมีภัณฑ์โดยทั่วไป แต่สำหรับสารเคมีบางชนิด เช่น สารปกป้องพืช (Plant Protection Products) หรือสารกำจัดชีวภาพ (Biocidal Products) แม้จะมีองค์ประกอบของฉลากที่แนะนำไว้โดย CLP แล้วก็ตาม แต่อาจเสริมให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ ที่กำหนดไว้โดยกฎหมายสำหรับสารเฉพาะเจาะจงที่เกี่ยวข้องนี้

 

          ในขณะเดียวกัน ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ ที่สังเกตเห็นได้ชัดระหว่าง CLP และ DSD/DPD ดังนี้ คือ

 

          1. คำศัพท์เฉพาะที่ใช้สำหรับการจำแนกประเภทและการติดฉลาก (Terminology)

 

          คำศัพท์เฉพาะที่ใช้ใน CLP มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากกับที่ใช้ใน DSD และ DPD แต่ก็ไม่เหมือนกันทั้งหมดซะทีเดียว ดังเปรียบเทียบไว้ในตารางที่ 23

 

ตารางที่ 23 แสดงการเปรียบเทียบคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ใน CLP กับ DSD และ DPD

 

 

          2. การจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Classification)

         

          เนื่องจาก CLP นำเอาระบบจำแนกความเป็นอันตรายของ GHS มาประยุกต์ใช้ ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Classes) ภายใต้ CLPกับ DSD และ DPDแล้ว พบว่าจำนวนประเภทความเป็นอันตรายทั้งหมดได้เพิ่มขึ้น จากแต่เดิมที่มีอยู่ 15 ประเภท (พร้อมกับข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงของสารเดี่ยวหรือสารผสม (R–phrase) ที่เกี่ยวข้อง) เพิ่มขึ้นเป็น 28 ประเภท (อันตรายทางกายภาพ = 16, อันตรายต่อสุขภาพ = 10 และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม = 2) พร้อมกับประเภทย่อยความเป็นอันตราย (Hazard Categories/Divisions) ที่มากขึ้น โดยส่วนที่มีจำนวนน้อยสุดก็จะเป็นประเภทที่มีความเป็นอันตรายรุนแรงมากที่สุด (the Most Severe Hazards) และในบางกรณีจะพบว่าข้อความแสดงความเป็นอันตราย (Hazard Statements) อาจจะถูกใช้กับประเภทย่อยความเป็นอันตรายมากกว่าหนึ่งประเภทได้ ขึ้นอยู่กับระดับความเป็นอันตรายที่เกิดจากสารเดี่ยวหรือสารผสม ข้อความแสดงความเป็นอันตราย (Hazard Statements) ที่เทียบเท่ากับข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยง (Risk Phrases) จะถูกกำหนดไปตามประเภทความเป็นอันตรายและประเภทย่อยความเป็นอันตรายเช่นเดียวกับ ระบบรหัสย่อ (Short Code System) ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ทั่วทั้งสหภาพยุโรป ก็จะใช้ชื่อประเภทความเป็นอันตรายเป็นภาษาอังกฤษ เช่น “Flam. Liq. 2” ที่เป็นรหัสย่อสำหรับ “Flammable Liquid Category 2.” และจะถูกใช้ไปพร้อมกับหมายเลขข้อความแสดงความเป็นอันตราย (H–statement Number) เพื่อให้คำอธิบายชนิดของความเป็นอันตรายที่สมบูรณ์ได้มากขึ้น เช่น “Flam. Liq. 2, H225”

 

          2.1 ประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Classes) ตามเกณฑ์การจำแนกของ CLP สามารถจัดแบ่งกลุ่มความเป็นอันตรายออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

          • ความเป็นอันตรายทางกายภาพ (Physical Hazards) เป็นกลุ่มความเป็นอันตรายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ หรือสร้างความเสียหายต่อสิ่งของและทรัพย์สิน จากการระเบิด ลุกไหม้ หรือทำปฏิกิริยากับสารเคมีอื่น ๆ ในทางที่ก่อให้เกิดอันตรายที่คุกคามความปลอดภัย โดยมีจำนวนความเป็นอันตรายทั้งสิ้น 16 ประเภท ได้แก่ วัตถุระเบิด (Explosives), ก๊าซไวไฟ (Flammable Gases), ละอองลอยไวไฟ (Flammable Aerosols), ก๊าซออกซิไดซ์ (Oxidizing Gases), ก๊าซภายใต้ความดัน (Gas Under Pressure), ของเหลวไวไฟ (Flammable Liquids), ของแข็งไวไฟ (Flammable Solids), สารเดี่ยวและสารผสมที่ทำปฏิกิริยาได้เอง (Self-reactive Substances and Mixures), ของเหลวที่ลุกติดไฟได้เองในอากาศ (Pyrophoric Liquids), ของแข็งที่ลุกติดไฟได้เองในอากาศ (Pyrophoric Solids), สารเดี่ยวและสารผสมที่เกิดความร้อนได้เอง (Self-heating Substances and Mixures), สารเดี่ยวและสารผสมที่สัมผัสน้ำแล้วแล้วให้ก๊าซไวไฟ (Substances and mixures, which in contact with water, emit flammable gases), ของเหลวออกซิไดซ์ (Oxidizing Liquids), ของแข็งออกซิไดซ์ (Oxidizing Solids), สารเพอร์ออกไซด์อินทรีย์ (Organic Peroxides), และสารกัดกร่อนโลหะ (Corrosive to Metals)

 

          • ความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (Health Hazards) เป็นกลุ่มความเป็นอันตรายที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ทั้งในระยะสั้น (ความเป็นอันตรายเฉียบพลัน–Acute Hazards) หรือในระยะยาว(ความเป็นอันตรายเรื้อรัง–Chronic Hazards)โดยมีจำนวนความเป็นอันตรายทั้งสิ้น 10 ประเภท ได้แก่ ความเป็นพิษเฉียบพลัน (Acute Toxicity), การกัดกร่อนและระคายเคืองต่อผิวหนัง (Skin Corrosion/Irritation), การทำลายดวงตาอย่างรุนแรงและการระคายเคืองต่อดวงตา (Serious Eye Damage/Eye Irritation), การทำให้ไวต่อการกระตุ้นอาการแพ้ต่อระบบทางเดินหายใจหรือผิวหนัง (Respiratory or Skin Sensitization), การก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์สืบพันธุ์ (Germ Cell Mutagenicity), การก่อมะเร็ง (Carcinogenicity), ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ (Reproductive Toxicity), ความเป็นพิษต่ออวัยวะเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง จากการรับสัมผัสครั้งเดียว (Specific Target Organ Toxicity (STOC)–Single Exposure), ความเป็นพิษต่ออวัยวะเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง จากการรับสัมผัสซ้ำ (Specific Target Organ Toxicity (STOC) – Repeated Exposure) และความเป็นอันตรายจากการสำลัก (Aspiration Hazard)

 

          • ความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Hazards) เป็นกลุ่มความเป็นอันตรายที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่ส่งผลร้ายต่อสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีจำนวนความเป็นอันตรายทั้งสิ้น 2 ประเภท ได้แก่ความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในน้ำ (Hazard to the Aquatic Environment) และความเป็นอันตรายต่อโอโซนในชั้นบรรยากาศ (Hazard to the Ozone Layer)

 

          ภายใต้ CLP เกณฑ์สำหรับการกำหนดว่าสารเดี่ยวหรือสารผสมใดที่จะถูกจำแนกว่ามีความเป็นอันตรายอาจจะมีความแตกต่างไปจากเดิม รวมทั้งยังมีประเภทความเป็นอันตรายใหม่บางส่วนด้วย นั่นหมายถึงว่า สารเดี่ยวหรือสารผสมบางส่วนที่เคยคุ้นเคยจากระบบเดิมอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงการจำแนก หรืออาจจะถูกจำแนกว่ามีความเป็นอันตรายเป็นครั้งแรกก็ได้ และเหตุเพราะว่า CLP ได้เปลี่ยนการจำแนกประเภทสารเดี่ยวหรือสารผสมในบางส่วน ประกอบกับทั้ง REACH และ CLP ได้มีการระบุข้อมูลอันตรายใหม่เกี่ยวกับสารบางชนิด ซึ่งคาดว่าซัพพลายเออร์ส่วนหนึ่งก็จะใช้วิธีกำหนดสูตรใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ของตนบางส่วน เพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกจัดจำแนกให้อยู่ในประเภทความเป็นอันตราย และ/หรือประเภทย่อยความเป็นอันตราย ที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น จึงเป็นภาระของผู้ประกอบกิจการที่ต้องสอบถามข้อมูลจากซัพพลายเออร์ของตนเอง เพื่อที่จะได้ทราบการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะมีความหมายโดยตรงต่อความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงบางอย่าง ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงตัวทำละลายในสารผสม อาจหมายถึงว่า ชนิดถุงมือที่ใช้อยู่แต่เดิมอาจจะให้การป้องกันที่ไม่เพียงพอ ซึ่งอาจจำเป็นต้องเลือกใช้ชนิดถุงมือที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ ที่เหมาะสมมากกว่า หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ตรวจวัดความเข้มข้นในอากาศของตัวทำละลาย ก็อาจจะจำเป็นต้องปรับเครื่องเพื่อให้สามารถตรวจวัดตัวทำละลายใหม่นี้ เป็นต้น

 

********** ติดตามอ่านตอนต่อไปในฉบับหน้า*********

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก

• Responsible Production for Chemical Hazard Management, Lessons Learned from Implementation, UNEP 2013.

• Responsible Production Handbook, Introduction to the Responsible Production Guidance and Toolkit, UNEP 2010.

• Responsible Production Framework, UNEP 2009.

• UNEPs Handbook for Responsible Production (UNEP &AccountAbility 2009).

• Corporate Social Responsibility and Safety and Health at Work: Global Perpectives, Local Practices, Working on Safety Conference, Roros, Norway, 7–10 September, 2010.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด