สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ ภายใต้ภาวการณ์ยางพาราที่ตกต่ำในขณะนี้ ส่งกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพารา และนำไปสู่ความเดือดร้อนของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าปัญหาราคายางตกต่ำเป็นประวัติการณ์นี้ เกิดมาจากหลายสาเหตุสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากนโยบายภาครัฐในอดีต ที่มีการส่งเสริมให้มีการปลูกยางกันอย่างมากทั่วประเทศ ถึงขนาดแจกพันธุ์กล้ายางนับล้านต้นให้เกษตรกร ส่งผลให้ผลผลิตยางล้นประเทศ ผลผลิตที่ได้มากกว่าความต้องการใช้จริง ในขณะที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อยางรายใหญ่ที่สุดของไทยก็หันไปปลูกยางเองในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงไปมาก ยิ่งทำให้ราคายางดิ่งลงอย่างหนักจนมองไม่เห็นอนาคต
ประเด็นคำถามที่น่าสนใจต่อไปคือ เมื่อราคายางตกต่ำต่อไปแบบนี้ในระยะยาว เราจะมีวิธีการรับมืออย่างไรในอนาคต ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก ซึ่งผลผลิตยางพาราทั่วโลกโดยเฉลี่ยแล้วผลิตได้ปีละ 11-12 ล้านตัน 3 ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกก็คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผลิตได้ 9 ล้านตัน/ปี และประเทศไทยประเทศเดียวสามารถผลิตได้ถึงปีละ 3 ล้านตัน
ภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการแก้ไขปัญหายางพารา โดยการนำยางพาราไปใช้ ประโยชน์ในการทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกยางในรูปวัตถุดิบคือ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น และยางรูปแบบอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 86 สร้างรายได้เข้า ประเทศประมาณ 336,000 ล้านบาท ใช้แปรรูปในประเทศเพียง 0.5 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 14 แต่สร้างรายได้ประมาณ 260,000 ล้านบาท เมื่อเทียบการเพิ่มมูลค่า พบว่าการใช้ยางพาราผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สามารถ เพิ่มมูลค่าได้ประมาณ 4.8 เท่า ของราคาวัตถุดิบ ยางพารามีการใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมยางล้อคิดเป็นร้อยละ 70 โดยประมาณ (เมื่อเทียบกับ ปริมาณวัตถุดิบที่ผลิตได้) รองลงมาคือ ถุงมือยาง เส้นด้ายยางยืด ถุงยางอนามัย ยางฟองน้ำ จะเห็นได้ว่าการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารามีความสัมพันธ์โดยตรงกับอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่การนำยางพารามาใช้ประโยชน์ สามารถทำได้อีกหลายรูปแบบนอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่น ถนนยางมะตอยผสมยางพารา แผ่นยางปูพื้นสำหรับสนามเด็กเล่น สนามกีฬาฟุตซอล พื้นยางภายในอาคาร เบาะรถยนต์ เบาะฟองน้ำ ยางพาราปูสระเก็บกักน้ำ เหล่านี้เป็นผลจากการวิจัยที่นักวิจัยในสถาบันการศึกษาได้ศึกษาไว้แล้ว ภาคเอกชนสามารถลงทุนโดยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัยและนำไปผลิตได้ แต่ภาครัฐอาจจะต้องมีนโยบายส่งเสริมและมาตรการสนับสนุน ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแรงจูงต่อนักลงทุนมากขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวของราคายางพารา จำเป็นต้องทำให้ราคายางเสถียรมากที่สุดโดยการสามารถกำหนดราคาเองได้ ส่วนหนึ่งที่สามารถทำได้คือการสร้างนวัตกรรมจากยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระหว่างสถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งหวังผลลัพธ์ที่ชัดเจน รัฐจะต้องสนับสนุนระยะยาวทั้งโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ และการพัฒนาคน มีการกำหนดเป้าหมายและติดตามผลเป็นระยะ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีความเสี่ยงและต้นทุนการตลาดสูงแต่จะได้ผลในระยะยาว และทำให้เกิดความยั่งยืนของระบบยางพาราไทยครับ
สำหรับเกษตรกรเองนอกจากการพึ่งพาภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมแล้ว ก็ต้องมีการปฏิรูปวิธีคิด โดยไม่ยึดติดกับการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมอย่างไร้การพัฒนาคุณภาพผลผลิตอีกต่อไป แต่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป ด้วยการหันไปปลูกพืชทางเลือกอื่นเพื่อลดความเสี่ยงและลดต้นทุนหลัก มีการรวมตัวเกษตรกรในชุมนุมโดยตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและเพิ่มศักยภาพการตลาด เพิ่มผลผลิตต่อไร่และพัฒนาคุณภาพพืชที่ปลูก ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ซึ่งตรงตามความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชแต่ละชนิดหรือโซนนิ่ง ไม่ให้มีปริมาณมากเกินไปจนราคาตกต่ำ และต้องคอยช่วยเหลือให้ความรู้ข้อมูลแก่เกษตรกร และที่สำคัญคือ ต้องเลิกระบบการแทรกแซงราคาพืชผลการเกษตร แต่ควรหันมาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยรัฐควรช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถพึ่งตัวเองได้เป็นสำคัญครับ
เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
sedthakarn@se-ed.com