มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
แนวคิดกำจัดขยะของเหลือทิ้งจากถ่ายไฟฉายเก่า ได้ประโยชน์ 2 ทาง ทั้งลดมลพิษ ผลิตผงแม่เหล็ก (เฟอร์โรแมกเนติก) ใช้เคลือบบนผิวอิฐทางเท้า ช่วยนำทางให้กับ “ผู้พิการทางสายตา” ไม่สะดุดกับพื้นผิวทางเดินแบบเดิม ๆ เป็นไอเดียสุดเจ๋ง ผลงานนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มจธ.
ถ่านไฟฉาย ที่ใช้แล้วเมื่อทิ้งไปก็จะกลายเป็นขยะอันตรายเพราะมีโลหะหนักปนเปื้อน แต่ทุกวันนี้ทำได้เพียงแค่การฝังกลบเท่านั้น ซึ่งขยะพิษเหล่านี้นับวันจะมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่วันนี้ นางสาวแพรวา ฐานนันทน์, นายสาธิต ประทีปธีรานันต์ และ นายสิริวัช ทนงศักดิ์ 3 นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เกิดแนวคิดในการหาวิธีใช้ประโยชน์จากถ่านไฟฉายที่เสื่อมสภาพ มาผลิตสารแม่เหล็ก หรือ เฟอโรแมกเนติกขึ้น แล้วนำสารดังกล่าวมาฉาบหรือเคลือบลงบนผิวอิฐทางเท้าเพื่อใช้เป็น ทางเดินแม่เหล็ก ให้กับผู้พิการทางสายตา ซึ่งประโยชน์ต่อสังคมแทนการปล่อยให้ทิ้งเป็นขยะพิษ
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี อาจารย์ที่ปรึกษา
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า ถ่านไฟฉายนั้นเป็นแหล่งจ่ายพลังงาน แต่เมื่อเสื่อมสภาพแล้ว ถ่านไฟฉายยังคงมีสารที่มีประโยชน์ เช่น ออกไซด์ของซิงก์ และแมงกานีส หากเติมออกไซด์ของเหล็กเข้าไปเพิ่ม จะสามารถสังเคราะห์สารที่เรียกว่า เฟอโรแมกเนติก หรือ สารแม่เหล็ก จึงมีแนวคิดในเรื่องของการกำจัดถ่ายไฟฉายที่เสื่อมสภาพ ผนวกเข้ากับเรื่องของผู้พิการทางสายตา ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้ได้ประยุกต์ใช้สารแม่เหล็กดังกล่าวมาทำทางเดินแม่เหล็ก ที่สามารถนำทางสำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อให้เขาสามารถเดินทางไปสู่จุดหมายได้โดยไม่สะดุด
นางสาวแพรวา ฐานนันทน์ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลพบว่ากระป๋องยาฆ่าแมลง หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ และถ่านไฟฉาย จัดเป็นขยะที่มีการปนเปื้อนสารที่เป็นอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะถ่านไฟฉายที่เสื่อมสภาพแล้วและนับวันยิ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่วนที่มีการนำไปรีไซเคิล พบว่า ในถ่านไฟฉาย 1 ก้อน จะประกอบด้วย แผ่นโลหะที่เป็นเปลือกหุ้ม จะถูกนำไปหลอมใหม่ ส่วนขั้วหรือหัวหมุดทองแดง ก็นำไปแปรรูปใหม่ได้ ขณะที่ผงถ่านถือเป็นส่วนที่เป็นปัญหา ซึ่งวิธีกำจัดส่วนใหญ่คือการนำไปฝังกลบ แต่จากการลงพื้นที่สำรวจโรงกำจัดขยะพิษที่จังหวัดระยอง พบว่า ขยะจากถ่านไฟฉายส่วนใหญ่กลับถูกทิ้งอยู่ในถัง ไม่มีการนำไปรีไซเคิลเพราะกังวลเรื่องของส่วนประกอบที่ปนเปื้อนด้วยโลหะหนัก แต่ในเชิงวิทยาศาสตร์แล้วเราสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่ต้องหาวิธีการสกัดแยกและการกำจัดโลหะหนักที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทางกลุ่มได้รับมอบหมาย
นายสาธิต ประทีปธีรานันต์ กล่าวว่า เนื่องจากสารเฟอโรแมกเนติกที่เราผลิตขึ้นจากถ่านไฟฉายที่เสื่อมสภาพ มีคุณสมบัติใช้เป็นสารในการสร้างสนามแม่เหล็ก มีความแข็ง และมีความคงทนไม่ละลายน้ำ จึงน่าสนใจที่จะใช้เป็นสารเคลือบผิวคอนกรีตหรืออิฐ เพื่อสร้างทางเดินแม่เหล็ก เชื่อว่า แนวคิดนี้จะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้พิการทางสายตา ทำให้สามารถเดินได้สะดวกขึ้น เพราะทางเดินเท้าของผู้พิการทางสายตาที่มีอยู่ในปัจจุบันจะใช้การทำเป็นลอนนูน หรือปุ่มบนผิวอิฐทางเดิน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้กับผู้พิการทางสายตาได้ทราบถึงจุดสิ้นสุดหรือระยะที่ต้องหยุดเพื่อความปลอดภัย แต่อาจไม่สะดวกสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็น หรือคนปกติทั่วไปที่ใช้ทางเท้าร่วมกัน แม้แต่ผู้พิการทางสายตาก็อาจเดินสะดุดกับผิวทางเดินที่ไม่เรียบได้ หากเราสามารถนำสารดังกล่าวมาเคลือบผิวทางเดินเป็นพื้นเรียบ และติดแถบแม่เหล็กที่บริเวณปลายไม้เท้า เมื่อผู้พิการใช้ปลายไม้เท้าแตะหรือสัมผัสกับพื้นผิวทางเดินที่เคลือบด้วยสารแม่เหล็กก็จะรู้สึกได้ถึงสัมผัสของแรงดูดที่เกิดขึ้นซึ่งช่วยนำทางให้กับผู้พิการเดินทางได้สะดวก และคนทั่วไปที่ใช้ทางเดินร่วมกันก็ไม่ต้องสะดุดกับพื้นผิวที่ไม่เรียบ
นายสิริวัช ทนงศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ทางกลุ่มฯ ได้จำลองอิฐบล็อก และไม้เท้าขึ้น เพื่อทดสอบแรงดูด โดยได้จำลองอิฐบล็อกในขนาดความกว้าง 10 ซม. ยาว 20 ซม. และหนา 3 ซม.ซึ่งเป็นขนาดใกล้เคียงกับอิฐมาตรฐานทางเท้า โดยนำอิฐที่จำลองมาฉาบผิวหน้าด้วยสารแม่เหล็กที่พัฒนาขึ้นเคลือบลงบาง ๆ ในปริมาณ 3 กรัม ส่วนแม่เหล็กที่ติดปลายไม้เท้าจะมีสนามแม่เหล็กที่อยู่ระดับสูงกว่าอิฐแม่เหล็ก เมื่อสัมผัสกับผิวอิฐ ไม้เท้าจะถูกดูดด้วยสารแม่เหล็กที่พัฒนาขึ้นบนแผ่นอิฐทางเท้า ในระดับที่ผู้พิการทางสายตารับรู้ได้ แต่อิฐแม่เหล็กจะไม่ดูดแผ่นแม่เหล็กที่มีสนามแม่เหล็กต่ำ ๆ ไม่ว่าจะเป็นแมกเน็ตหรือที่ติดตู้เย็น บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม ในกรณีที่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ตกลงบนพื้นทางเดินที่เคลือบสารดังกล่าว จะไม่ทำให้ข้อมูลในบัตรสูญหายแต่อย่างใด นอกจากนี้สนามแม่เหล็กของทางเดินแม่เหล็กจะไม่รบกวนคลื่นโทรศัพท์
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลอง
เฟอโรแมกเนติก (สารแม่เหล็ก)
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธิดารัตน์ ยังได้กล่าวถึงประโยชน์ของผลงานชิ้นนี้ว่า “ถ้าเรารู้จักนำของเสียมาสร้างประโยชน์โดยการสร้างมูลค่าขึ้นจากของเสีย ของเสียจะไม่เป็นภาระแต่จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตแทน ผลงานชิ้นนี้นอกจากช่วยลดภาระในการกำจัดถ่านไฟฉายที่เสื่อมสภาพ ยังเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ที่สำคัญคือเราจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพออกสู่สังคม การทำโครงงานของนักศึกษาด้วยโจทย์ดังกล่าวนอกจากนักศึกษาจะได้เรียนรู้การฝึกทักษะการเป็นวิศวกรแล้ว จะต้องคิดอย่างสร้างสรรค์ได้ เพราะหัวใจหลักของวิศวกรสิ่งแวดล้อม คือ ต้องมองหาส่วนที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในของเสีย แล้วแยกส่วนที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ออกมา พร้อมกับลดความเป็นพิษของส่วนที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งก็จะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาดังเช่นผลงานทางเดินแม่เหล็กจากถ่านไฟฉายที่เสื่อมสภาพดังกล่าว”
สำหรับผลงานชิ้นนี้ได้มีการนำไปทดสอบกับผู้พิการทางสายตาที่โรงเรียนสอนคนพิการตาบอดกรุงเทพ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและเห็นว่าสิ่งประดิษฐ์นี้เป็นประโยชน์ต่อผู้พิการทางสายตาและสนใจจะนำมาทดสอบกับพื้นทางเดินภายในโรงเรียนโดยรอบต่อไปเมื่อผลงานแล้วเสร็จสมบูรณ์ ล่าสุด ผลงานชิ้นนี้ยังได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เข้าร่วมประกวดนวัตกรรมในงาน Taipei International Invention Show and Technomart หรือ INST 2015 ที่ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-4 ต.ค.2558
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด