สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน
ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้หันมาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเป็นไปของโลกเพิ่มขึ้น รวมถึงการรณรงค์เพื่อลดการปลดปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญของ "ภาวะโลกร้อน" ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก สภาพอากาศแปรปรวนหนัก และเกิดภัยพิบัติรุนแรงตามมา
จากประเด็นดังกล่าว ทั่วโลกจึงจำเป็นต้องนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและหวังยับยั้งหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากความแปรปรวนของสภาพอากาศได้ สำหรับในแวดวงธุรกิจมีการตื่นตัวในเรื่องนี้เช่นกัน และทำให้ “ฉลากลดโลกร้อน” ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นตัวชี้วัดความรับผิดชอบของบรรดาผู้ผลิตและสินค้าต่าง ๆ ว่า ช่วยลดการปล่อยก๊าซตัวการทำโลกร้อนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมีผลต่อการยอมรับและช่วยให้แข่งขันได้เพิ่มขึ้นในปริบทของโลกที่คุมเข้มกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้อุณหภูมิภายในโลกนับว่า มีความร้อนแรงหลายพันองศาเซลเซียส แม้อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกจะมีเพียงประมาณ 14 องศาเซลเซียส แต่ประมาทไม่ได้เพราะอุณหภูมิพื้นผิวที่เพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย 1-5 องศาเซลเซียส ก็สามารถผลกระทบต่อชาวโลกได้อย่างมหาศาล
“ก๊าซเรือนกระจก” เป็นปัจจัยทำโลกร้อนที่สำคัญ ซึ่งเป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อนหรือรังสีอินฟราเรดได้ดี และมีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกให้คงที่ ช่วยดูดคลื่นรังสีความร้อนไว้ในเวลากลางวัน แล้วค่อย ๆ แผ่รังสีความร้อนออกมาในเวลากลางคืน ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลกไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
แต่ปริมาณก๊าซที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้มีการกักเก็บรังสีความร้อนเพิ่มขึ้นตามมาและทำให้โลกร้อนกว่าปกติไปด้วย โดยสาเหตุที่มีการปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นนี้ เป็นผลมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เป็นสำคัญ อาทิ การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงการตัดไม้ทำลายป่าที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การทำการเกษตรและการปศุสัตว์ที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ที่ทำให้เกิดก๊าซโอโซนเป็นปริมาณมาก เพราะในไอเสียมีก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์และสารไฮโดรคาร์บอนออกมาด้วย เมื่อสาร 2 ชนิดนี้ทำปฏิกิริยากับรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดจะเกิดเป็นโอโซนขึ้น นอกจากนี้กระบวนการแปรรูปอุตสาหกรรมปล่อยสารฮาโลคาร์บอน (CFCs, HFCs, PFCs) ออกมา เป็นต้น โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้เริ่มเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่โลกเริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี 2300 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ดีในปัจจุบันได้มีความพยายามจะควบคุมก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นผ่านพิธีสารเกียวโต ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศมีสมาชิก 191 ประเทศ มีเป้าหมายหลักที่ก๊าซ 6 ชนิด และต้องเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เท่านั้น ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), ก๊าซมีเทน (CH4), ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20), ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC), ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ (SF6) นอกจากนี้ยังมีก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ สารซีเอฟซี (CFC หรือ Chlorofluorocarbon) ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นและใช้ในการผลิตโฟม แต่ไม่ถูกกำหนดในพิธีสารเกียวโต เนื่องจากเป็นสารที่ถูกจำกัดการใช้ในพิธีสารมอนทรีออลแล้ว
ก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดมีศักยภาพทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการแผ่รังสีความร้อนของโมเลกุลและอายุของก๊าซนั้น ๆ ในบรรยากาศ โดยมีการคิดคำนวณเปรียบเทียบกับการแผ่รังสีความร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ก๊าซมีเทน อยู่ในชั้นบรรยากาศได้เพียง 9-15 ปี แต่มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่าตัว ขณะที่ซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ อยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน 3,200 ปี และมีศักยภาพทำให้เกิดภาวะโลกได้สูงถึง 23,900 เท่า เมื่อเทียบกับคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
(ข้อมูลจาก : http://www.environnet.in.th/..)
จากตัวเลขในปี 2556 (2003) พบว่า ผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ของโลกได้แก่ จีน 10,330 ล้านตัน ตามด้วยสหรัฐอเมริกา 5,300 ล้านตันและสหภาพยุโรป (EU) 3,740 ล้านตัน
สำหรับไทยปล่อยก๊าซดังกล่าวปริมาณ 260 ล้านตันในปีเดียวกัน โดยเกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดประมาณ 96 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ส่วนในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม เกิดภาคละประมาณ 62 ล้านตัน หรือร้อยละ 26 และจากด้านอื่น ๆ อีกประมาณ 19 ล้านตัน
ขณะที่การประเมินของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. พบว่า นับจากปี 2553- 2558 ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วประมาณ 335 ล้านตัน
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงดังกล่าวเชื่อว่า มีผลทำให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง แปรปรวน และเกิดผลกระทบหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ ทั้งปัญหามรสุม น้ำท่วมหนัก หรือบ้างก็ปัญหาภัยแล้งรุนแรง และยังเกี่ยวพันกับการเกิดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก และคาดว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต หากชาวโลกยังยิ่งนอนใจ ไม่เร่งรีบดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างจริงจัง
เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน โดยอ้างผลการศึกษาวิจัยของทีม Climate Central ในสหรัฐที่ประเมินว่า ระดับน้ำทะเลอาจปรับสูงขึ้นราว 4.7 เมตร และ 8.9 เมตร หากอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น 2 องศา และ 4 องศา ตามลำดับ ผลจากการละลายของธารน้ำแข็งเมื่อโลกร้อนขึ้นนั่นเอง แม้เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในหลายศตวรรษข้างหน้า หรือใน อีก 200 ปีข้างหน้า แต่จะเร็วหรือช้าชาวโลกไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
นักวิจัยประเมินว่า หากโลกร้อนขึ้น 2 องศา ในทวีปเอเชียมีประชากรราวร้อยละ 75 อยู่ในพื้นที่ซึ่งในอนาคตอาจจะได้รับผลกระทบจมใต้บาดาลจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ส่วนจีนที่มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวมกว่า 145 ล้านคนนั้นจะได้รับผลกระทบราว 23.4 ล้านคน
แต่หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 4 องศาเซลเซียส เชื่อว่า จะมีชาวโลกราว 600 ล้านคนต้องได้รับผลกระทบจากเหตุที่ถิ่นที่อยู่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ โดยจีนจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ทั้งในพื้นที่ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และเทียนจิน รวมตัวเลขประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ 45 ล้านคน ส่วนประชาชนในพื้นที่อื่นที่จะได้รับผลกระทบด้วยมีชาวญี่ปุ่นประมาณ 34 ล้านคน ชาวอเมริกันราว 25 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 20 ล้านคน อียิปต์ 19 ล้านคน และบราซิล 16 ล้านคน
ด้าน ธนาคารโลก เปิดเผยในรายงาน “Shock Waves: Managing the Impacts of Climate Change on Poverty” เช่นกันว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอาจส่งผลให้ประชากรราว 100 ล้านคนต้องประสบกับความยากจนค่อนแค้นอย่างหนักในปี 2573 หากทั่วโลกไม่เร่งรีบแก้ปัญหา โดยดินแดน Sub-Saharan Africa และเอเชียใต้ จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ทั้งนี้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแปรปรวนจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหาความยากจน โดยภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่าง ๆ จะยิ่งสร้างความสูญเสียแก่ประชาชนที่ยากจน ในขณะที่การเกษตรจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อความยากจน เพราะภาวะผลผลิตพืชผลที่อาจหายไปสูงถึง 5% ภายในปี 2573 และสูงถึง 30% ในปี 2623 จะส่งผลให้ราคาอาหารแพงขึ้น เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนผู้ยากไร้ตามมา
นอกจากนี้ปัญหาสุขภาพจะเพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดว่าจะมีผู้เสี่ยงเป็นโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้นราว 5% และภาวะท้องร่วงหรืออหิวาต์ราว 10% ภายในปี 2573
สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมากล่าวได้ว่า ต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากปัญหาภัยแล้ง ภาวะน้ำท่วมใหญ่ แผ่นดินไหว และอื่น ๆ ซึ่งส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ไทยไม่ได้ประมาทได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้อย่างยั่งยืน
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวระหว่างเปิดงานมหกรรม "เพราะอากาศเป็นใจ” ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ชั้น 8 ศูนย์การค้า Central World ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมาว่า ไทยได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและภาครัฐได้ทำงานร่วมกับภาคีสมาชิกมายาวนาน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจัดทำให้เกิดเป็นรูปธรรม กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย หลังปี 2563 (2020) ให้ได้ร้อยละ 20 โดยจะนำตัวเลขนี้ไปแถลงในที่ประชุมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ หรือ COP21 ในเดือนธันวาคม 2558 นี้ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
สำหรับการผลักดันภารกิจดังกล่าว นอกเหนือจากทำให้เกิดความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ จากภาครัฐและเอกชนในกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การลดและควบคุมการใช้พลังงานโดยเปลี่ยนหลอดไฟฟ้ามาใช้หลอดตะเกียบแทนหลอดไส้ การส่งเสริมใช้รถยนต์ยานพาหนะ โดยให้ดับเครื่องยนต์ระหว่างรอเติมน้ำมัน การลดปริมาณขยะโดยใช้หลัก 3R คือ Reuse, Reduce, Recycle หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่รีไซเคิลไม่ได้ การสร้างนิสัยในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า การบริโภคอาหารและอื่น ๆ เช่น การส่งเสริมการปลูกต้นไม้ การเดินแทนการใช้รถยนต์ เป็นต้น
ส่วนตัวช่วยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การจัดทำ “ฉลากลดโลกร้อน” โดยการดูแลของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (Thailand Greenhouse Gas Management Organization-Public Organization) หรือ “TGO” หน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สืบเนื่องจากพิธีสารเกียวโตที่ประเทศสมาชิกทั่วโลกต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ตามเป้าหมาย จึงทำให้เกิด “การค้าคาร์บอนเครดิต” ขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้ประเทศหรือบริษัทที่ไม่สามารถลดปริมาณก๊าซได้ ต้องจ่าย เพื่อซื้อเครดิตจากเจ้าอื่นมาชดเชย และทำให้เกิด “ฉลากลดโลกร้อน” (Carbon Footprint Product) ตามมา มีใช้ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ, สหรัฐฯ, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน
ฉลากลดโลกร้อนนี้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรหรือสินค้าว่า เป็นสินค้าและองค์กรที่ใส่ใจโลกมากน้อยอย่างไร และยังจะเป็นตัวชี้วัดได้อีกว่า ธุรกิจนี้จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้ ท่ามกลางกระแสรักษ์โลกและการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโลกเพิ่มขึ้น
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการ อบก.
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการ อบก. เปิดเผยในงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมลดโลกร้อน” ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนภาครัฐและเอกชนลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า อบก.จัดตั้งขึ้นในปี 2550 เพื่อรับผิดชอบการปรับตัวต่อผลกระทบและการลดก๊าซเรือนกระจกและผลักดันพัฒนาโครงการที่จะนำไปสู่การลดปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริโภคให้เกิดความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศและขับเคลื่อนประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ
อบก. จึงพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้ภาคธุรกิจและภาคส่วนอื่น ๆ สามารถบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้ โดยส่งเสริมผู้ประกอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นต์ขององค์กรเพื่อกำหนดแนวทางลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต่อยอดให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน และเชื่อมโยงสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรมฉลากคาร์บอน
ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการ อบก.
ด้าน ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการ อบก. เปิดเผยว่า “ปัจจุบันการดำเนินการเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์มีการทำในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นต้น แต่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวในโลกที่ทำเรื่องนี้และไทยเป็นผู้นำในอาเซียน โดยเฉพาะคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ที่บอกว่า กระบวนการผลิตสินค้าทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง จนทิ้งผลิตภัณฑ์ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออก ทำให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้โดยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในต่างแดน”
ผลการดำเนินกิจกรรมชดเชยคาร์บอน ตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ซึ่ง อบก. จัดทำสถิติจากปี 2553 ถึงปี 2558 มีผู้ผ่านการรับรองประเภทองค์กรจำนวน 12 องค์กร ประเภทผลิตภัณฑ์ 10 ผลิตภัณฑ์จาก 6 บริษัท ประเภทการจัดประชุมหรืองานอีเวนต์จำนวน 13 งาน และประเภทกิจกรรมส่วนบุคคล 320 คน มีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อมาชดเชยจำนวน 11,840 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ส่วนผลการดำเนินงานของฉลากคาร์บอน 3 ประเภท สำหรับผลิตภัณฑ์ องค์กร และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าลดโลกร้อน กระทั่งปี 2558 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 121,475 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
จากภาพรวมการดำเนินการของ อบก. เป็นที่น่ายินดีว่า องค์กรต่าง ๆ มีความตระหนักและเข้าร่วมในโครงการฉลากลดโลกร้อนแต่ละประเภทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถแยกให้เห็นได้ชัดเจนดังนี้
1. ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) ซึ่งเป็นฉลากสีแดง ช่วยบอกว่า วัฏจักรการผลิตสินค้าชิ้นนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ พบว่า ตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2553 ถึงปี 2558 มีผลิตภัณฑ์เข้าร่วม 1,705 ผลิตภัณฑ์ และ 396 บริษัท ในปี 2558 มีเข้าร่วมเพิ่มขึ้น 517 ผลิตภัณฑ์ และ 137 บริษัท
2. ฉลากลดคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint Reduction) มีฉลากเป็นสีทอง เป็นตัวบอกว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นลดการปล่อยก๊าซได้มากเท่าไหร่ ผลที่ได้พบว่า มีบริษัทเข้าร่วมทั้งสิ้น 112 บริษัท รวมกว่า 29 ผลิตภัณฑ์ เฉพาะในปี 2558 เพียงปีเดียวมีผู้สนใจเข้าร่วมสูงถึง 87 บริษัท และ 26 ผลิตภัณฑ์เข้าร่วม ช่วยส่งเสริมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 121,474 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
3. ฉลากคูลโหมด (CoolMode) เป็นฉลากสีฟ้าที่ให้กับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตด้านสิ่งทอที่สวมใส่แล้วเย็นสบาย มีบริษัทเข้าร่วมหลายแห่ง อาทิ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น), กองการแพทย์เทศบาลนครภูเก็ต และโรงเรียนราชินี เป็นต้น กระทั่งปี 2558 มีสิ่งทอที่ได้รับฉลากนี้ทั้งหมดรวม 48 โครงสร้างผ้า ของ 10 บริษัท มีเพิ่มมาในปี 2558 รวม 16 โครงสร้างผ้า จาก 6 บริษัท
4. ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม สามารถวัดปริมาณก๊าซเรือนนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กร โดยคำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มีการรายงานที่ชัดเจน ตลอดจนมีการทวนสอบที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสามารถนำผลที่ได้ไปกำหนดแนวทางการบริหารจัดการและดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับองค์กร ระดับสาขาการผลิต และระดับประเทศ ซึ่ง อบก. ได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้จัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นต์ในภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งล่าสุดในปี 2558 มีองค์กรเข้าร่วมรวม 134 องค์กร 75 เทศบาล แยกประเภทอุตสาหกรรมได้ดังนี้คือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 24 บริษัท, อุตสาหกรรมก่อสร้าง 17 บริษัท, ภาคบริการ 14 บริษัท, อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีและสารเคมี 13 บริษัท, อุตสาหกรรมผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 11 บริษัท, อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ 8 บริษัท และบริษัทอื่น ๆ อีก 47 บริษัท
5. ฉลากชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) มีการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรบางส่วน เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซขององค์กร ผลิตภัณฑ์ เหตุการณ์ หรือบุคคลลดลง ซึ่งปี 2558 มีการเข้าร่วมชดเชยคาร์บอนบางส่วนของ 10 ผลิตภัณฑ์ 6 บริษัท 12 องค์กร
6. ฉลากชดเชยคาร์บอนทั้งหมด (Carbon Offset/Carbon Neutral) มีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อมาชดเชยทั้งหมดทำให้มีค่าการปล่อยก๊าซเท่ากับศูนย์ (0) โดยมี 11 อีเวนต์ และบุคคล 320 คนเข้าร่วม รวมฉลากชดเชยคาร์บอนบางส่วนข้อ 5. และฉลากชดเชยคาร์บอนทั้งหมดในข้อที่ 6. สามารถลดก๊าซเรือนกระจกรวมกันได้ 11,840 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากนี้ในปี 2558 อบก.ยังจัด โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme-LESS) เพิ่ม เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมกันในการลดก๊าซเรือนกระจก จากองค์กรที่เป็น “ผู้ให้” สู่ “ผู้รับ” ในชุมชน ที่อาจมีวัด โรงเรียน ในชุมชมได้มาร่วมกัน โดย อบก. เป็นผู้รับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือกักเก็บได้จากการดำเนินกิจกรรมและมอบใบประกาศเกียรติคุณให้เพื่อเป็นการเผยแพร่และยกย่องผู้ทำความดี
ผลการดำเนินการ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีผู้ขอการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกภายใต้โครงการ LESS ในปี 2558 จำนวนมากกว่า 400 กิจกรรม รวมโครงการประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียว 157 กิจกรรม, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 192 กิจกรรม, โครงการพลังงานหมุนเวียน 34 กิจกรรม และโครงการจัดการขยะของเสียอีก 30 กิจกรรม สามารถลดและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกไปได้มากถึง 184,369,108.2 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยกัน
จากตัวเลขผลิตภัณฑ์และองค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้นดังกล่าว นับว่าทำให้ไทยมีส่วนร่วมช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยกาศโลกได้ส่วนหนึ่ง
แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เพราะไทยไม่อาจหยุดโลกร้อนได้เพียงลำพัง รวมถึงผลกระทบหลายอย่างที่เป็นผลพวงจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์โลกที่มีมายาวนาน
อย่างไรก็ตามการแสดงออกถึง “สำนึก ร่วมรับผิดชอบทำสิ่งดี ๆ ให้กับโลก” นี้ อย่างน้อยก็อาจจะช่วยส่งอานิสงส์ ให้ภาคธุรกิจและสินค้าของไทยได้รับการยอมรับและแข่งขันได้เพิ่มขึ้นในตลาดโลกก็เป็นได้
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด