Management

“จุดที่เคลื่อนทำให้เส้นไม่ตรง” สร้างแนวทางต้องใส่ใจรายละเอียด

พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล

 

 

  

 

          เราคงจำกันได้ในเรื่องของเส้นตรงว่ามันเกิดจากการเรียงตัวของจุดแต่ละจุด จุดที่เรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบมันก็จะก่อให้เกิดเป็นเส้นอาจจะโค้ง ตรง หรือเป็นรูปทรงใดก็ย่อมเป็นผลมาจากคนที่เรียงร้อยหรือวางแนวทางให้จุดแต่ละจุดดำเนินต่อเนื่องกัน...แล้วองค์กรที่ต้องการสร้างแนวทางการทำงานที่ชัดเจนจะบริหารจัดการที่จุดไหนดี

      พลังขับเคลื่อนที่ทุกองค์กรต้องการสร้างขึ้นเพื่อการทำงานที่ต่อเนื่องและมีพลังอย่างสูงสุดในการทำงานก็คือ พลังจากพนักงานทุกคน ดังคำว่า “สามัคคีคือพลัง” ตามด้วย “ทีมสปิริต” หรือจิตวิญญาณของพนักงานที่ทุกคนที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร แต่ทุกองค์กรล้วนแล้วแต่ต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ เล็กบ้างใหญ่บ้างแล้วแต่ละองค์กร การแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้ย่อมเป็นเรื่องดีและสร้างประสบการณ์ในการทำงาน ทว่าการวางแนวทางที่ชัดเจนก็เป็นอีกวิธีการที่ทำหน้าที่เหมือนมัคคุเทศก์ที่จะนำพานักท่องเที่ยวไม่หลงทางและได้ไปพบกับสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสนใจอย่างตรงเป้าหมาย ดังนั้นรายละเอียดแต่ละจุดจึงสำคัญมากพอที่จะต้องใส่ใจในรายละเอียดและเรียงร้อยอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดเส้นตรงหรือการทำงานที่มีแนวทาง

 

 

ทราบถึงสถานการณ์เสมอ

 

          ถ้าพนักงานทุกคนต่างทำงานกันอย่างเต็มที่แต่ยังขาดคนคนคอยบอกคอยแนะนำว่าตอนนี้เราถึงไหนแล้ว ต่อไปเราจะได้พบเจออะไรบ้าง พวกเขาก็จะทำงานกันไปเรื่อย ๆ หรือเร่งทำกันจนเหนื่อยล้าในช่วงที่เราอาจต้องการผลงานที่อยู่ในมาตรฐานก็พอ หรือมีเวลาเพียงพอที่จะทำงานให้ตรงแผนงาน และต้องการเร่งงานในบางช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตหรือช่วงเร่งด่วนเพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้า การทำงานโดยไม่ทราบจังหวะหรือความเร่งด่วนที่กล่าวมาจึงอาจก่อให้เกิดปัญหาความล้า หรือการเตรียมแผนงานที่ผิดพลาด นั่นคือการทำงานที่ส่งต่อกันผิดจังหวะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และปัญหาที่ตามมาคือกำลังใจในการทำงานที่ลดน้อยถอยลงอันมีผลจากการทำงานที่หนักต่อเนื่องและต้องมีปัญหาให้แก้ไขกันตลอดเวลา

          ย้อนกลับไปสมัยวิกฤตฟองสบู่แตกหลายท่านคงจำกันได้ดี หลายองค์กรต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายและทำให้ทุกอย่างแย่ลงอย่างรวดเร็วด้วยเหตุที่ตั้งตัวรับมือไม่ทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นเหมือนฟองสบู่คือ แตกเมื่อไรก็กลายเป็นศูนย์ หรือไม่มีอะไรเหลือเลย สิ่งที่ช่วยให้องค์กรหลายแห่งรอดมาได้ก็คือการสร้างความรักสามัคคีพร้อมใจกันร่วมแก้ไขปัญหา และที่สำคัญคือแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบถึงภาวะที่กำลังเกิดขึ้น การทำงานที่ทำอย่างมีจังหวะในการทำงานช่วยให้กระบวนการผลิตมีความต่อเนื่องไม่เสียเวลา ไม่เปลืองทรัพยากร ไม่ต้องเก็บตุนสินค้า เช่นเดียวกับการผลิตตามคำสั่งซื้อ

          พนักงานทุกคนเป็นเหมือนฟันเฟืองของเครื่องจักรที่ทำงานด้วยการสอดประสานกันเป็นอย่างดี ไม่เป็นการแปลกที่พนักงานจะทราบถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริหารก็ต้องลงมาให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตและความรู้สึกของพนักงาน จุดแต่จุดจะเป็นเส้นตรงได้ย่อมต้องอาศัยการรวมตัวกันอย่างมีระเบียบและมีทิศทาง ฉันท์ใดองค์กรย่อมต้องการพนักงานที่ทำงานเป็นทีมอย่างแข็งขันและมีผู้บริหารที่ชาญฉลาดนำทางไปสู่เป้าหมาย

 

 

จุดที่ขยับออกคือการทำงานที่ขาดตอน

 

          เมื่อเส้นตรงเกิดจากการรวมกันของจุดแต่ละจุด การทำงานที่สำเร็จลุล่วงก็มาจากการทำงานร่วมมือกันของพนักงานทุกคนในองค์กร เมื่อไรที่จุดขยับออกย่อมหมายถึงพนักงานบางคนหรือบางกลุ่มกำลังมีปัญหาทำให้งานสะดุดหรือหยุดการทำงานไปชั่วขณะ สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขก็คือตรวจหาสาเหตุติดตามแก้ไขตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง หากว่ายังไม่สามารถแก้ไขได้ก็ต้องเปลี่ยนพนักงานหรือแผนการผลิตใหม่เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง

          หลายองค์กรจำเป็นต้องมีแผนกซ่อมบำรุงเนื่องจากกระบวนการผลิตมีความสำคัญตลอดเวลา หยุดการผลิตเมื่อไหร่ย่อมหมายถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นแผนกซ่อมบำรุงจึงต้องคอยพร้อมสำหรับการเข้าแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้กับเครื่องจักรกล ขณะเดียวกันก็ต้องมีผู้จัดการโรงงานและหัวหน้าแผนกต่าง ๆ คอยเข้าช่วยเหลือในแต่ละสายการผลิต หากจะมองว่ากระบวนการผลิตอาจเป็นจุดที่เรียงกันเป็นเส้นหยักบ้างตรงบ้างก็ไม่ผิดอะไรเพราะในสายการผลิตอาจจะมีการเวียนวนเพื่อตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือในส่วนของพนักงานก็ต้องมีคนคอยตรวจสอบการทำงาน เจอที่ผิดก็ต้องแก้ไขทำซ้ำตรวจทานอีกครั้ง ดังนั้นการขยับของจุดให้เป็นรูปทรงที่ต่างไปจากเส้นตรงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เรื่องที่แย่คือ จุดบางจุดขาดหายไปจากเส้น นั่นก็คือการทำงานที่ขาดช่วงไป

 

 

จุดสุดท้ายอาจเป็นจุดเริ่มต้น

 

          หากเรานำจุดต่าง ๆ มาเรียงร้อยกันอย่างตั้งใจและเป็นระเบียบกระทั่งถึงจุดสุดท้ายเราจะทราบถึงที่มาที่ไปและเข้าใจถึงปัญหาในจุดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และเมื่อจุดสุดท้ายมาถึงอาจนับให้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อต่อยอดออกไปอีกเพราะที่ผ่านมาเราได้ทราบถึงปัญหาและการแก้ไข จุดหรือเส้นต่อไปจึงเป็นสิ่งที่เราควรทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม พนักงานที่มีประสบการณ์มาก ๆ ในการทำงานมักเป็นบุคคลที่พร้อมจะได้รับการปรับตำแหน่งให้สูงขึ้นและมีเงินเดือนที่สูงขึ้นตามความสามารถ แต่ก็มีไม่น้อยที่พนักงานประสบการณ์น้อยแต่มีความสามารถพร้อมจะทำงานต่อยอดให้กับองค์กรได้ นั่นคือสิ่งที่ผู้บริหารหลายคนต้องการคนรุ่นใหม่ไฟแรงมาทำงาน ซึ่งก็คงไม่ควรที่จะนึกถึงจุดเริ่มต้นหรือจุดแรก ๆ ที่เรียงร้อยมาให้ถึงจุดเริ่มต้นใหม่อันเป็นจุดที่ต่อยอดความสำเร็จ

 

          จุดแต่ละจุดที่กล่าวมาจึงเป็นเรื่องราวเปรียบเทียบการทำงานที่ต้องการความใส่ใจและดูลึกถึงรายละเอียดว่าแต่ละคนเขาทำงานกันอย่างไร ทีมงานเข้ากันได้ดีไหม แผนการที่วางไว้มันยากหรือง่ายเกินไป รวมถึงการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นทุกวัน

 

...จุดสามจุดเราหมายถึง เพราะฉะนั้น อันเป็นเหตุเป็นผลกันเสมอ การทำงานของคนหนึ่งคนย่อมส่งผลต่อการทำงานขององค์กร มาร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อเส้นตรงขององค์กรเรากันเถอะครับ

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด