Logistic & Supply Chain

มองรอบทิศคิดอย่าง Supply Chain โลจิสติกส์และซัพพลายเชนในระบบการขนส่งทางอากาศ (ตอนที่ 2)

ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ayasanond@hotmail.com

 

 

 

 

 

          การขนส่งทางอากาศมีความสำคัญมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะการขนส่งระหว่างประเทศเพราะทำการขนส่งได้รวดเร็วกว่าการขนส่งประเภทอื่น ๆ ไม่เสียเวลาในการขนส่งนาน สะดวกและปลอดภัย เหมาะกับการขนส่งสินค้าประเภทที่สูญเสียง่าย หรือสินค้าต้องการความรวดเร็วในการใช้งาน ซึ่งการขนส่งประเภทนี้ทำให้ธุรกิจสามารถขยายตัวได้รวดเร็วทั้งในและต่างประเทศ แต่ค่าใช้จ่ายแพงกว่าการขนส่งประเภทอื่น

      จากบทความฉบับที่แล้วผมได้กล่าวถึงความสำคัญของการขนส่งทางอากาศ (Air Transportation) อันส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สำหรับบทความในฉบับนี้ซึ่งถือว่าเป็นตอนที่ 2 ผมก็จะขยายความในรายละเอียดของการขนส่งทางอากาศ และความเกี่ยวเนื่องของโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industries) 

          ก่อนอื่นอยากจะให้ท่านผู้อ่านรู้จักกับคำว่า AVIATION ซึ่งหมายถึง การบิน หรือ การขนส่งทางอากาศ ซึ่งเป็นการลำเลียง คน สัตว์ และสิ่งของ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยใช้ยานพาหนะเคลื่อนที่ไปในอากาศ การขนส่งทางอากาศเริ่มจากเครื่องร่อน บอลลูน เรือเหาะ และในปัจจุบันใช้เครื่องบิน 

          การปฏิบัติในการขนส่งทางอากาศโดยทั่วไป ทำโดยผู้ส่งสินค้าทำสัญญาขนส่งกับผู้ขนส่งสินค้า และผู้ขนส่งสินค้าจะรับภาระหน้าที่ในการขนส่งให้เสร็จถึงผู้รับสินค้า ผู้ขนส่งอาจเป็นได้ทั้งบริษัทสายการบิน หรือบริษัทขนส่งระหว่างประเทศก็ได้ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การบิน (Aviation) หมายถึง การใช้อากาศยานเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
          คำว่า “การบิน” ในที่นี้หมายถึง การบินพลเรือน (Civil Aviation) ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ได้แบ่งประเภทของการบินพลเรือน (Civil Aviation) ออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้คือ

 

 

 


 

 

ที่มา : http://www.tatreviewmagazine.com/web/images/2014/12557-aec.jpg)

 

 

          1. การบินพาณิชย์ (Commercial Aviation) หรือ การขนส่งทางอากาศ (Air Transport) งานบริการขนส่งทางอากาศประเภทนี้ เป็นงานบริการที่ดำเนินการโดยมุ่งหวังเอาผลตอบแทนจากการบริการเป็นตัวเงินโดยตรง ซึ่งอาจคิดเป็น ค่าโดยสาร ค่าระวาง หรือค่าเช่า ก็ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของงานบริการขนส่งทางอากาศประเภทนี้ คือ การประกอบการหรือการให้บริการของสายการบินต่าง ๆ การบินพาณิชย์ หรือการให้บริการขนส่งทางอากาศ ประเภทนี้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะย่อย ๆ คือ 1. การบริการแบบประจำ (Scheduled Services) และ 2. การบริการแบบไม่ประจำ (Non-Scheduled Services) เนื่องจากการบินพาณิชย์เป็นการบริการที่มีการตอบแทนในเชิงธุรกิจนี้เอง จึงมักพบเห็นคำว่า “การบริการทางอากาศ” (Air Services) ในความหมายเดียวกัน

          2. การปฏิบัติงานทางอากาศ (Aerial Work) ได้แก่ การถ่ายรูปทางอากาศ การทำฝนเทียม การโปรยปุ๋ย หรือยากำจัดแมลงศัตรูพืช โดยที่การขนส่งทางอากาศนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจความมั่นคงของประเทศ และความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้นทางราชการจึงได้กำหนดให้ "การขนส่งทางอากาศเป็นกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค และผู้ที่จะประกอบกิจการค้าขายดังกล่าวนี้ จะต้องได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสียก่อน

          3. การบินทั่วไป (General Aviation) หมายถึง การบินที่มิได้มีจุดประสงค์เพื่อหวังผลตอบแทน การบินประเภทนี้ได้แก่การบินเพื่อการกีฬา การบินเพื่อหาความเพลิดเพลินของสมาชิกสโมสรการบินต่าง ๆ หรือการบินของส่วนบุคคล หรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องบิน เพื่อธุรกิจของตนเอง เป็นต้น

          แต่องค์การบริหารการบินของสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) แบ่งการบินพลเรือนออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. การบินพาณิชย์ (Commercial Aviation) ซึ่งมีรายละเอียดเช่นเดียวกับที่ ICAO กำหนด และ 2. การบินที่มิใช่เพื่อการพาณิชย์ (Non-Commercial Aviation) ซึ่งมีรายละเอียดเช่นเดียวกับ การปฏิบัติงานทางอากาศ และการบินทั่วไปที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศกำหนด

          งานการบินพลเรือนนั้นประกอบด้วยงานหลายประเภทที่มีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานด้านการบินพลเรือนในแต่ละประเภทนั้น ก็มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน และมีจุดประสงค์ไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการบินพลเรือนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานของงานการบินพลเรือนโดยทั่วไปด้วย

          งานการบินพลเรือนนี้เป็นงานบริการซึ่งสามารถแยกออกได้หลายมุมมอง ในที่นี้จะกล่าวถึงงาน 2 ประเภท คือ งานการขนส่งทางอากาศ (Air Transport) หรือการบินพาณิชย์ (Commercial Air Transport) และ การเดินอากาศ (Air Navigation) ซึ่งเป็นงานที่หลายหน่วยงานให้บริการกับผู้ทำการบิน

          หัวใจของการบริการด้านการขนส่งทางอากาศ คือ สิ่งอำนวยความสะดวกและพิธีการต่าง ๆ ที่ให้กับผู้โดยสาร สัมภาระเดินทาง สินค้าและผู้ประกอบการ คือ สายการบิน บริการเหล่านี้ได้แก่ พิธีการทางด้านศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสอบโรค (คน สัตว์ และพืช) ความสะดวกของผู้โดยสารหรือสินค้าที่จะได้รับ นับตั้งแต่เดินทางจากตัวเมืองมาถึงท่าอากาศยานในขณะที่อยู่ภายในท่าอากาศยานจนออกขึ้นเครื่องบิน ในทางกลับกันก็คือ ความสะดวกของผู้โดยสารหรือสินค้าที่ลงจากเครื่องบินมาสู่ภายในท่าอากาศยาน และออกเข้าสู่เมือง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในเอกสารแถลงข่าวการบิน (Aeronautical Information Publication: AIP)

          การเดินอากาศ (Air Navigation) หมายถึง การปฏิบัติการขนส่งทางอากาศจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง การเดินอากาศนี้เป็นงานที่ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ในเรื่องของความปลอดภัยเพราะความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินอากาศนี้หมายถึงชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ ดังนั้นงานด้านการเดินอากาศนี้จึงเป็นงานที่เกี่ยวข้องกันระหว่างผู้ประกอบการ อันได้แก่ สายการบิน นักบิน ผู้ให้บริการภาคพื้น และผู้ควบคุมในการปฏิบัติการบิน การเดินอากาศ เป็นงานที่หลายหน่วยงานให้บริการกับผู้ทำการบิน

 

          งานด้านการเดินอากาศนี้ สามารถแยกออกเป็นงานย่อย ๆ ตามลักษณะของการควบคุมและการให้บริการได้ดังนี้ คือ

 

          งานควบคุมและการให้บริการด้านสนามบิน งานประเภทนี้ได้แก่ การก่อสร้างและให้บริการของสนามบิน การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย เครื่องช่วยการเดินอากาศต่าง ๆ ที่อยู่ภายในสนามบิน รวมตลอดถึงการซ่อมบำรุงด้วย เพื่อให้บริการกับผู้โดยสาร สัมภาระเดินทาง สินค้า และวัสดุไปรษณียภัณฑ์ และผู้ประกอบการ (สายการบิน) ด้วยความสะดวกและปลอดภัย

          งานบริการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Services: ATS) งานบริการจราจรทางอากาศนี้ จุดประสงค์เพื่อที่จะ (1) ป้องกันอากาศยานไม้ให้ชนกันในขณะที่ทำการบิน (2) ป้องกันอากาศยานที่กำลังขับเคลื่อนไม่ให้ชนกัน หรือชน กับสิ่งกีดขวางที่อยู่บนภาคพื้นที่ขับเคลื่อนนั้น ๆ (3) ช่วยให้การจราจรทางอากาศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็ว (4) ให้คำแนะนำและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อความปลอดภัย และประสิทธิภาพของการขนส่งทางอากาศ (5) แจ้งและช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานที่ประสบอุบัติเหตุ และอากาศยานที่ต้องการการช่วยเหลือและค้นหางานบริการจราจรทางอากาศ

 

 

 

ภาพห้องงานบริการจราจรทางอากาศ

(ที่มา : http://www.intelligent-aerospace.com/content/dam/mae/online-articles/2015/March/air%20traffic%20contol%209%20March%202015.jpg)

 

 

          การบริการควบคุมจราจรทางอากาศ (Air Traffic Control Services) คือ การดูแลและจัดการให้การทำการบินและการขับเคลื่อนของอากาศยานดำเนินไปด้วยความเป็นระเบียบ ปลอดภัย และรวดเร็ว ซึ่งแบ่งออกได้เป็น

  1. บริการควบคุมจราจรทางอากาศในเขตแถลงข่าวการบิน (Area Control Services) เป็นงานให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศแก่เครื่องบินที่อยู่ในเส้นทางการบิน (Airways) ภายในเขตแถลงข่าวการบิน (Flight Information Region: FIR) ยกเว้น เขตควบคุมการบินของหอบังคับ การบิน (Terminal Control Area: TMA)
  2. บริการควบคุมจราจรทางอากาศประชิดเขตสนามบิน (Approach Control Services) เป็นการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศแก่เครื่องบินที่อยู่ภายในเขตควบคุมการบินของหอบังคับการบิน (TMA)
  3. บริการควบคุมจราจรทางอากาศบริเวณสนามบิน (Aerodrome Control Services) เป็นการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศแก่เครื่องบินในขณะที่กำลังทำการบินขึ้นหรือลง ตลอดจนขณะที่ขับเคลื่อนอยู่บนทางวิ่ง ทางขับ และ ลานจอด

 

 

 

Air Traffic Control Chain,

(ที่มา : http://image.slidesharecdn.com/strategicandeconomicdriversofgovernance-150331140351-conversion-gate01/95/strategic-and-economic-drivers-of-governance-6-638.jpg?cb=1427828730)

 

 

          การบริการข่าวการบิน (Flight Information Service: FIS) งานประเภทนี้เป็นการให้บริการข่าวสำหรับการบิน หรือคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ และเพื่อความปลอดภัยในการเดินอากาศ ซึ่งได้แก่ (1) ข้อมูลข่าวอากาศที่สำคัญ (SIGMET) (2) ข้อมูลสภาพการให้บริการของเครื่องช่วยการเดินอากาศ (3) ข้อมูลสภาพสนามบินและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ (4) ข่าวเกี่ยวกับการปล่อยบัลลูนที่ไม่มีคนบังคับ

 

 

 

การให้ข้อมูลข่าวสารเส้นทางเดินทางอากาศ สามารถทำให้นักบินวางแผนเส้นทางการเดินทางทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(ที่มา : http://www.scdigest.com/images/misc/Supply-Chain-Planning-Exec.jpg)

 

 

          การบริการระวังภัย (Alerting Service) เป็นการบริการแจ้งข่าวฉุกเฉินแก่เครื่องบินที่อยู่ในเขตควบคุมการบินที่รับผิดชอบได้รับทราบ หรือแจ้งให้หน่วยที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อเตรียมการช่วยเหลือ เช่น ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นกับเครื่องบิน หรือการติดต่อขาดหายไปนานจนเป็นที่ผิดสังเกต   

          งานบริการโทรคมนาคม (Aeronautical Telecommunication) ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ

  1. การบริการการบินประจำที่ (Aeronautical Fixed Service) คือ การบริการโทรคมนาคมการบินระหว่างสถานีที่อยู่บนภาคพื้นด้วยกัน
  2. การบริการการบินเคลื่อนที่ (Aeronautical Mobile Service) คือ การบริการโทรคมนาคมระหว่างอากาศยานกับสถานีการบิน ภาคพื้นดิน
  3. การบริการวิทยุช่วยการเดินอากาศ (Aeronautical Radio Navigation Service) คือ การบริการให้ความปลอดภัยในการเดินอากาศด้วยวิทยุช่วยการเดินอากาศเพื่อให้อากาศยานสามารถหาตำแหน่งหรือทิศทางของตัวเองได้ หรือบอกให้ทราบถึงสิ่งกีดขวางการเดินอากาศ
  4. การบริการกระจายเสียงการบิน (Aeronautical Broadcasting Service) ส่วนใหญ่ของบริการด้านนี้เป็นการส่งข่าวอากาศหรือแจ้งชื่อสถานี เครื่องช่วยการเดินอากาศ

 

 

 

งานบริการโทรคมนาคม

(ที่มา : http://www.aerothai.co.th/image/operation/atc-chart.jpg)

 

 

          งานบริการอุตุนิยมวิทยา (Meteorological Service) เป็นการให้ข้อมูลข่าวอากาศ (1) ที่ท่าอากาศยานที่เครื่องบินจะบินขึ้นในเวลานั้น (2) ที่ท่าอากาศยานที่เครื่องบินจะไปลง ในเวลาที่ประมาณไว้ว่าจะถึง (3) ตามเส้นทางบิน และที่ท่าอากาศยานที่อยู่ในเส้นทางบิน (4) ที่สนามบินสำรอง ตามที่กำหนดในแผนการบิน หรือที่ระบุไว้ในแผนการ เดินอากาศของภูมิภาค (Regional Air Navigation Plan) นั้น ๆ

          งานบริการค้าหาและช่วยเหลือ (Search and Rescue Service) เป็นบริการที่ให้ข่าวเกี่ยวกับการทำการบิน เช่น (1) ข่าวประกาศนักบิน (Notice to Air Men: NOTAM) (2) ข้อมูลในเอกสารข่าวเพื่อทำการบิน (Aeronautical Information Publication: AIP) (3) ข้อมูลก่อนทำการบิน (Pre-flight Information)

          จะเห็นได้ว่างานและบริการต่าง ๆ ในงานการบินพลเรือนนั้นมีหลายอย่าง และมีหลายหน่วยงานที่ปฏิบัติ และเกี่ยวข้องกันอยู่ดังได้กล่าวมาแล้ว สำหรับประเทศไทยนั้นมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงคมนาคม กรมขนส่งทางอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สายการบินต่าง ๆ คณะกรรมการต่าง ๆ ด้านการบินพลเรือน

          ในมิติของกิจกรรม Logistics การลำเลียง คน สัตว์ และสิ่งของ จากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่ง โดยใช้เครื่องบิน นั้นก็คือ Physical Flow ส่วนงานการบริการข้อมูลข่าวสารของการเดินอากาศ (Air Navigation) ในภาพรวมก็คือ Supply Chain ที่เป็นเรื่องของข้อมูลข่าวสาร (Information Flow) เพื่อส่งต่อและเชื่อมโยงความถูกต้องในการบริหารจัดการการขนส่ง ให้กับแต่ละผู้ประกอบการ กิจการที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อสร้างคุณค่าทางด้านการบริการการขนส่งทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้มาใช้บริการนั้นเอง

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด