Safety & Healthcare

ความสำคัญของอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 14)

ศิริพร วันฟั่น

 

 

 

 

          ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันในชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “CSR” กำลังกลายเป็นกระแสที่มาแรง ซึ่งหากจะมองโดยเผิน ๆ ก็จะเป็นแค่เรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเท่านั้น แต่หากจะมองให้ลึกซึ้งถึงที่ไปที่มาและความจำเป็นของซีเอสอาร์แล้ว คงต้องกลับไปดูกันตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุว่า ทำไมองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

          ในตอนที่ 13 เราได้กล่าวถึงหัวข้อที่ (3) การดำเนินการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Implementing Responsible Production) ในหัวข้อย่อย (3.3) ชุดฝึกอบรมสำหรับการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Training Package) (ที่ประกอบไปด้วย 18 โมดูลพร้อมกับเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง) โดยได้กล่าวจนจบโมดูลที่ 3 ดังนั้น ในตอนที่ 14 นี้ จะขอกล่าวต่อในโมดูลที่ 4 ตามเนื้อหาด้านล่างนี้

 

 

          โมดูลที่ 4 ข้อกำหนดทางกฎหมาย (Legal Requirements) และกฎระเบียบ (Regulations) วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้มีความเข้าใจโดยพื้นฐานในข้อกำหนดทางกฎหมายและกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอันตรายจากสารเคมีและการป้องกันอุบัติเหตุ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเคมีโดยทั่วไป และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินงานของสถานประกอบการของพวกเขาเอง เหตุผลก็เพราะว่า การที่สถานประกอบการจะมีการดำเนินงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายและกฎระเบียบระบุไว้ได้นั้น ก็ต้องมีความเข้าใจเป็นอย่างดีในข้อกำหนดทางกฎหมายหลัก ๆ ในเรื่องของอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของแรงงาน การจำแนกประเภท การติดฉลากสารเคมีอันตราย การให้ข้อมูลความเสี่ยงต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และการรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          วิทยากรสามารถใช้โปรแกรม Powerpoint ในการนำเสนอข้อกำหนดทางกฎหมายและกฎระเบียบ ใน 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ 1.ภาพรวมคร่าว ๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ (International Laws) รวมทั้ง ระเบียบปฏิบัติ (Codes) และกฎระเบียบ (Regulations) 2.ระบุกฎหมายแห่งชาติ (National laws) และกฎระเบียบที่สำคัญ ๆ ที่ใช้บังคับกับการนำเข้า การขนย้าย การจัดเก็บ การผลิต การขนส่ง การจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีอันตราย รวมถึง 3.ระบุข้อกำหนดแห่งชาติ (National Requirements) ที่สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลความเสี่ยงแก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และการรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การนำเสนอข้างต้นพร้อมกับการแจกเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบกันจะเป็นการช่วยสนับสนุนในการทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่ม (Group Exercise) เพื่อจัดเตรียมรายการกฎหมายที่ขึ้นทะเบียน (Legal Register List) อย่างไรก็ดี เวลาที่มีให้สำหรับโมดูลนี้อาจจะไม่เพียงพอต่อการที่วิทยากรจะนำเสนอระเบียบปฏิบัติและกฎระเบียบอย่างละเอียดและครอบคลุมได้ทั้งหมด จึงเป็นภาระหน้าที่ของวิทยากรในการพินิจพิจารณาปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับข้อจำกัดด้านเวลาและฐานความรู้ของผู้เข้าอบรม ซึ่งโดยมากแล้ววิทยากรก็จะอาศัยการมุ่งเน้นแต่เฉพาะข้อกำหนดและกฎระเบียบแห่งชาติ (ภายในประเทศ) เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่ความต้องการและความคาดหวังของผู้เข้าอบรมเป็นสำคัญด้วยเช่นกัน

          ในการนำเสนอนั้น วิทยากรสามารถกล่าวถึงความจำเป็นในการวางระเบียบหรือบัญญัติกฎหมายสำหรับการป้องกันและการเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉินทางเคมี (Chemical Emergency Prevention & Preparedness) และกล่าวโดยย่อถึงโครงร่างของวัตถุประสงค์ โครงสร้าง และข้อกำหนดหลัก ๆ ของกฎหมาย กฎระเบียบเหล่านี้ ทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับชาติ

 

 

กฎหมาย กฎระเบียบ แนวปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสารเคมี ในระดับระหว่างประเทศ ตัวอย่าง เช่น

 

 

  • European Seveso II Directive (ระเบียบเซเวโซ II) เนื่องจากการเกิดอุบัติภัยร้ายแรงที่เมืองเซเวโซ ในปี ค.ศ.1976 จากการระเบิดที่โรงงานเคมีในอิตาลี ระหว่างการผลิตคลอโรฟินอล (Trichlorophenol) ทำให้เกิดหมอกไดออกซินปกคลุมเหนือเมืองเซเวโซ (Seveso Dioxin Cloud) ที่อยู่ตอนเหนือของมิลาน ส่งผลทำให้สัตว์ล้มตาย หลังจากนั้นผู้คนเริ่มแสดงอาการเจ็บป่วย ทั้งคลื่นเหียน มองภาพไม่ชัด และเด็ก ๆ เป็นแผลที่ผิวหนัง นอกจากนี้มีผู้เกิดอาการเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ ผลการตรวจเลือดบ่งชี้อันตรายต่อตับ ผลเสียระยะยาว เช่น ทารกพิการในครรภ์ และอุบัติการณ์โรคมะเร็งสูงขึ้น ทำให้มีการออกกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและควบคุมการเกิดอุบัติภัยดังกล่าว โดยมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.1982 คือ EU Directive 82/501/EEC ฉบับที่ 1 ที่เรียกว่า ‘ระเบียบเซเวโซ I (Seveso I Directive)’ และต่อมาในปี ค.ศ.1996 ระเบียบเซเวโซ I ถูกแทนที่ด้วย Council Directive 96/82/EC ที่เรียกว่า ‘ระเบียบเซเวโซ II (Seveso II Directive)’ ซึ่งได้มีการขยายผลการบังคับใช้ต่อโดย Directive 2003/105/EC โดยที่สถานประกอบการอุตสาหกรรมที่มีสารอันตรายในปริมาณที่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้หลายพันแห่งในสหภาพยุโรปต้องปฏิบัติตามแนวทางของระเบียบดังกล่าว

 

          การขยายขอบข่ายการบังคับใช้ระเบียบนี้ ก็เพื่อให้ครอบคลุมเพิ่มเติมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากจัดเก็บและกิจกรรมการไหลของกระบวนการผลิต (Process Activity) ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จากดอกไม้เพลิงจนถึงวัตถุระเบิด และจากสารแอมโมเนียมไนเตรตจนถึงปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรต

 

  • ILO Convention No.174 on the Prevention of Major Industrial Accidents (อนุสัญญาฉบับที่ 174 ว่าด้วยการป้องกันการเกิดอุบัติภัยร้ายแรงในอุตสาหกรรม โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ) มีการบังคับใช้ในปี ค.ศ.1993 ซึ่งได้กล่าวถึงการป้องกันและการจำกัดผลกระทบของการเกิดอุบัติภัยร้ายแรงจากสารเคมี ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการควบคุมการเก็บสารเคมี โดยต้องใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ ในการระบุและกำหนดปริมาณการเก็บเป็นการเฉพาะ ตามประเภทของสารเคมีแต่ละชนิด รวมถึงให้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายและกฎระเบียบแห่งชาติ
  • UNECE Convention on the Transboundary Effects of Industrial Accidents (อนุสัญญาว่าด้วยผลกระทบข้ามแดนจากอุบัติภัยทางอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมธิการด้านเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติภาคพื้นยุโรป) ลงนามในปี ค.ศ.1992 และมีการบังคับใช้ในปี ค.ศ.2000 มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์ และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจากการเกิดอุบัติภัยจากภาคอุตสาหกรรม โดยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งก่อนเกิด ขณะเกิด รวมทั้งหลังการเกิดอุบัติภัย ทั้งนี้มุ่งประเด็นไปที่การเกิดอุบัติภัยจากภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบข้ามแดน อนุสัญญาฉบับนี้จะสะท้อนเนื้อหาอย่างใกล้ชิดกับระเบียบเซเวโซ และหลักการพื้นฐานบางอย่างที่พบในอนุสัญญาฉบับที่ 174
  • UNECE “European Agreement concerning the International Carriage of Dangerous Goods by Road (ADR)” (ข้อตกลงของสหภาพยุโรปว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนน โดยคณะกรรมธิการด้านเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติภาคพื้นยุโรป) ลงนามในปี ค.ศ.1957 และมีการบังคับใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ.1968 และมีการปรับปรุงเรื่อยมาจนถึงฉบับแก้ไขปัจจุบัน คือ 2015 Edition (ECE/TRANS/242, Vol. I and II) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ม.ค.2558 (ค.ศ.2015) ที่ผ่านมา มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายของอุบัติภัยที่เกิดขึ้นจากการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนน
  • UNECE “Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals (GHS)” (“Purple Book”)  (การจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก โดยคณะกรรมธิการด้านเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติภาคพื้นยุโรป) “ระบบ GHS” หรือ “Purple Book” เป็นระบบที่สร้างความมีมาตรฐานเป็นรูปแบบเดียวกัน ในการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่ครอบคลุมในเรื่องของ 1.นิยามความเป็นอันตรายของสารเคมีที่มีต่อสุขภาพ กายภาพ และสิ่งแวดล้อมสร้างกระบวนการจำแนกประเภทสารเคมีโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ของสารเคมี ในการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ความเป็นอันตรายที่กำหนดไว้  และ 3.สื่อสารข้อมูลความเป็นอันตราย (รวมทั้งมาตรการป้องกัน) บนฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheets: SDS) ตามข้อกำหนดที่ระบุไว้

 

          ระบบ GHS มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจได้ว่า ข้อมูลที่ระบุถึงอันตรายทางกายภาพ และความเป็นพิษของสารเคมี จะมีประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ในช่วงระหว่างการเคลื่อนย้ายถ่ายเท การขนส่ง ตลอดไปจนถึงการใช้สารเคมีเหล่านี้ นอกจากนี้ยังให้พื้นฐานสำหรับกฎและระเบียบเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่รัฐบาล สถาบันในระดับภูมิภาค และองค์กรระหว่างประเทศใด ๆ ที่จะนำข้อกำหนดของระบบ GHS ไปใช้หรือปรับเปลี่ยนให้เป็นกฎหมายภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศนั้น คู่มือ GHS ก็จะมีเนื้อหาและแนวทางปฏิบัติที่เพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรม ที่จะได้ดำเนินการตามข้อกำหนดที่ได้รับการรับรองแล้ว และเมื่อมีการบริหารจัดการสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในระดับชาติแล้ว ก็จะสามารถขยายผลออกไปทั่วโลก ที่จะนำไปสู่สภาวะที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับประชากรโลก และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังรักษาผลประโยชน์จากการใช้สารเคมีให้คงอยู่ต่อไป

          ระบบ GHS ฉบับแรก มีความตั้งใจที่จะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการดำเนินงานระบบนี้ทั่วโลก โดยได้ถูกรับรองในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2002 และเผยแพร่ปี ค.ศ.2003 ตั้งแต่นั้นมา ระบบ GHS ก็มีการปรับปรุง แก้ไข ให้ทันสมัยในทุก ๆ 2 ปี ตามความจำเป็นและประสบการณ์ที่ได้รับจากการนำไปดำเนินการ จนมาถึงฉบับปัจจุบันที่เป็นการปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 6 นั่นก็คือ “GHS Rev.6 (2015)”

 

  • Regulation (EC) No.1907/2006 of the European Parliament and of the Council of 18 December 2006 (REACH) (กฎระเบียบว่าด้วยการควบคุมสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป) สภายุโรปได้ประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.49 (ค.ศ. 2006) และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.50 (ค.ศ.2007) เป็นต้นมา จุดประสงค์ก็เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมี รักษาและส่งเสริมการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสารเคมีในประชาคมยุโรป เพิ่มความโปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูลของสารเคมี ลดการใช้สัตว์ทดลองในการทดสอบ ป้องกันการแตกแยกของตลาดภายในสหภาพยุโรป ก่อให้เกิดการบูรณาการในระดับสากล และให้ภาระผูกพันระดับสากลของสหภาพยุโรป สอดคล้องกับการดำเนินงานภายใต้องค์การการค้าโลก รวมถึงลดภาระของภาครัฐในการพิสูจน์ความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี

 

          REACH ย่อมาจาก Registration, Evaluation, Authorization and Restriction of Chemicals โดยภายใต้ ‘กฎระเบียบ REACH’ ได้ระบุให้ผู้ประกอบการ (ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่าย) ดำเนินการตามข้อกำหนดดังนี้ คือ

 

  1. Registration การจดทะเบียนสารเคมี โดยยื่นเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสมบัติ (Properties) ของสารเคมีที่ตนผลิตหรือใช้ในการผลิตสินค้า ความเป็นอันตรายและพิษต่อสุขภาพ รวมถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงการประเมินความเสี่ยงของการใช้สารเคมีนั้น ๆ ด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้มีข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่ตนผลิตหรือใช้ในการผลิตสินค้า และใช้ข้อมูลนั้นในการจัดการสารเคมีเพื่อความปลอดภัย
  2. Evaluation การตรวจสอบและประเมินรายงานการศึกษา ถึงอันตรายและความเสี่ยงในการผลิต ตลอดจนการใช้สารเคมีที่ผู้ยื่นจดทะเบียนเสนอ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าผู้ประกอบการมีข้อมูลและใช้ข้อมูลนั้นจัดการสารเคมีในกระบวนการผลิตหรือใช้ได้อย่างปลอดภัย
  3. Authorization การขออนุญาตผลิตและใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายมาก (Very High Concern) อย่างมีเงื่อนไข เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
  4. Restriction การจำกัดการผลิต การใช้หรือจำหน่ายสารที่เป็นอันตรายมาก เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้สารนั้นด้วยเหตุผลทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถหาสารหรือวิธีอื่นที่เหมาะสมมาใช้แทนได้

 

          ขอบข่ายการใช้งาน – REACH มีผลบังคับใช้กับการผลิต การจำหน่าย การนำเข้าไปภายในสหภาพยุโรปสำหรับสารเคมีจำนวนตั้งแต่ 1 ตัน/ปี/สาร โดยหลักการแล้ว ‘กฎระเบียบ REACH’ สามารถนำมาบังคับใช้กับสารเคมีได้ทั้งหมด ไม่เพียงแต่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สี รวมถึงสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Substance in Article) เช่น เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

          อย่างไรก็ตาม จะมีการระบุถึงสารเคมีที่อยู่นอกขอบข่าย REACH เช่น สารกัมมันตรังสี ของเสีย และสารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ ฯลฯ และมีการยกเว้นให้สารเคมีบางชนิดที่อยู่ในขอบข่ายการควบคุมของ Directive อื่นแล้ว เช่น ยา อาหารหรืออาหารสัตว์ และเครื่องสำอาง เป็นต้น

          หมายเหตุ EU (สหภาพยุโรป) มีข้อกำหนดหลัก 2 ประเภท ได้แก่ 1.EU Regulations เป็นคำสั่งหรือกฎระเบียบเป็นการเฉพาะ โดยมีการเขียนข้อกำหนดไว้อย่างชัดเจน และใช้บังคับกับประเทศสมาชิกทุกประเทศเหมือนกันหมด 2.EU Directives เป็นคำสั่งหรือข้อกำหนดเชิงนโยบาย ระบุความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่ว่านี้

          เมื่อวิทยากรได้อธิบายโดยย่อถึงข้อกำหนดหลักของ REACH ที่ระบุไว้ว่า ผู้ผลิตจะต้องให้แน่ใจว่าข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอันตรายและความเสี่ยงที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน จะถูกส่งผ่านห่วงโซ่อุปทานทั้งขึ้นและลง พร้อมด้วยข้อมูลเกี่ยวกับวิธีจัดการอันตรายและความเสี่ยง และเมื่อผู้ผลิตได้ดำเนินการเช่นที่ว่านี้ ก็จะส่งผลให้ผู้ใช้ปลายน้ำ (Downstream Users) และผู้จัดจำหน่ายต่างได้รับข้อมูลที่จำเป็นต่อการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยมากขึ้น เมื่อวิทยากรกล่าวถึงจุดนี้ก็ควรจะเน้นในการให้ข้อมูลความเสี่ยงตามห่วงโซ่คุณค่า และเชื่อมโยงเข้ากับหลักการและเหตุผล (Rationale) ของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ

 

  • Responsible Care (RC) (การดูแลด้วยความรับผิดชอบ) ริเริ่มครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1985 ในประเทศแคนาดา โดยภาคอุตสาหกรรมเคมีที่มีความมุ่งมั่นดำเนินการด้วยความสมัครใจที่จะปฏิบัติให้อยู่เหนือ (ดีกว่า) ข้อกำหนดทางกฎหมาย ภายใต้กรอบงานนี้ ผู้ประกอบการจะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ในเรื่องของการปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านสุขภาพอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และกระบวนการของบริษัท จากการที่ RC มุ่งเน้นเรื่องการประชุมและการปฏิบัติให้อยู่เหนือ (ดีกว่า) ข้อกำหนดทางกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ ดังนั้นกรอบงานของการดูแลด้วยความรับผิดชอบ (RC Framework) จึงประกอบไปด้วยความมุ่งมั่นเป็นการเฉพาะที่จะร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ในการพัฒนาและการดำเนินงานตามกฎระเบียบ รวมทั้งมาตรฐานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำเพื่อส่งเสริมการจัดการสารเคมีด้วยความรับผิดชอบโดยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในเรื่องของการจัดการและการใช้สารเคมีตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ (Product Chain)

 

          หลักปฏิบัติของการดูแลด้วยความรับผิดชอบ (RC Codes of Practice) ประกอบไปด้วยมาตรการใน 6 หัวข้อ ด้วยกัน คือ ความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety) ความปลอดภัยและสุขอนามัยของพนักงาน (Employee Health and Safety) การป้องกันการเกิดมลภาวะ (Pollution Prevention) ชุมชนสัมพันธ์และระงับเหตุฉุกเฉิน (Community Awareness and Emergency Response: CAER) การจัดจำหน่าย (Distribution) และ การดูแลผลิตภัณฑ์ (Product Stewardship) ซึ่งเมื่อวิทยากรได้อธิบายโดยย่อจนถึงหลักปฏิบัตินี้ ก็ควรเชื่อมโยงเข้ากับหลักการและเหตุผล (Rationale) ของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ

 

  • Responsible Care Global Charter (RCGC) (กฎบัตรสากลว่าด้วยการดูแลด้วยความรับผิดชอบ) ได้เปิดตัวครั้งแรก โดยสภาของสมาคมอุตสาหกรรมเคมีระหว่างประเทศ (International Council of Chemical Associations: ICCA) ในการประชุม UNEP’s International Conference on Chemicals Management ที่เมืองดูไบ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.2006 เกิดขึ้นจากการพิจารณาหลักปฏิบัติ และผลการดำเนินงานในภาคอุตสาหกรรมเคมี ที่มีมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980 และร่างจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงข้อเสนอแนะของผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วโลก กล่าวได้ว่า RCGC เป็นการต่อยอดจากโครงการ “การดูแลด้วยความรับผิดชอบ (RC)” โดยเป็นการขยายองค์ประกอบเดิมของการดูแลด้วยความรับผิดชอบ มุ่งเน้นไปที่ความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเคมีและสังคมโลก รวมถึงการสานเสวนากับสาธารณชนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเด็นด้านสุขภาพของผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์เคมี ความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสารเคมีตามห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ความโปร่งใสที่มากขึ้นของอุตสาหกรรมเคมี และเพิ่มโอกาสในการบรรลุความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ ของบรรดาแผนงานการดูแลด้วยความรับผิดชอบ (RC Programmes) ของประเทศสมาชิกทั่วโลก

 

          กฎบัตรสากลว่าด้วยการดูแลด้วยความรับผิดชอบ (RCGC) จะมีข้อกำหนดหลัก 9 ข้อ ประกอบไปด้วย 1.รับหลักการสำคัญของการดูแลด้วยความรับผิดชอบสากล 2.นำคุณสมบัติพื้นฐานของแผนงานการดูแลด้วยความรับผิดชอบแห่งชาติมาปฏิบัติ 3.มุ่งมั่นที่จะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน 4.การปรับปรุงและการรายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง 5.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเคมีภัณฑ์ทั่วโลก และการดูแลผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร 6.เผยแพร่ สนับสนุน และอำนวยความสะดวก ในการขยายการดูแลด้วยความรับผิดชอบ ตามห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเคมี 7.สนับสนุนอย่างแข็งขันสำหรับกระบวนการกำกับดูแลด้วยความรับผิดชอบระดับชาติและสากล 8.ระบุความคาดหวังของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมเคมี และ 9) จัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมและเพียงพอ สำหรับการดำเนินการการดูแลด้วยความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิผล

 

  • Global Product Strategy (GPS) Initiative (แผนยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์สากล) เปิดตัวโดยสภาของสมาคมอุตสาหกรรมเคมีระหว่างประเทศ (ICCA) ในปี ค.ศ.2006 ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านการดูแลผลิตภัณฑ์ (Product Stewardship) ของอุตสาหกรรมเคมีทั่วโลก โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการสารเคมีแต่ละแห่งได้ดำเนินการตามมาตรการที่แนะนำไว้ พร้อมทั้งร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการสารเคมีในประเทศตนเอง รวมถึงดำเนินการในส่วนต่อขยายของการดูแลด้วยความรับผิดชอบ (RC) ให้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า แผนยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์สากล (GPS) มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ แนวทางการดูแลผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร รวมทั้งวิธีการที่จะทำให้ข้อมูลการดูแลผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือมากขึ้น 2.ลำดับขั้นตอนดำเนินการอย่างครอบคลุม ในการระบุลักษณะความเสี่ยง (Risk Characterization) และการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) สำหรับสารเคมีเชิงพาณิชย์ 3.ประสิทธิภาพของการดูแลผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร ที่มุ่งเน้นเป็นการเฉพาะกับการทำงานโดยตรงกับลูกค้าปลายน้ำ (Downstream Customers) ของอุตสาหกรรมเคมี และ 4) สำรวจความเป็นไปได้สำหรับความร่วมมือขององค์กรระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Organizations) เพื่อเพิ่มการดูแลผลิตภัณฑ์แบบครบวงจรทั่วโลก
  • ICCA Product Stewardship Guidelines (แนวทางการดูแลผลิตภัณฑ์) ถูกนำเสนอโดยสภาของสมาคมอุตสาหกรรมเคมีระหว่างประเทศ (ICCA) ในปี ค.ศ.2007 มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยผู้ประกอบการในการออกแบบ และดำเนินแผนงานการดูแลผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร ที่ถูกสร้างขึ้นมาบนแนวคิดของระบบการจัดการ แนวทางนี้ถูกจัดเตรียมให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานริเริ่มโดยสมัครใจของอุตสาหกรรมเคมีทั่วโลก ที่นำเสนอโดย ICCA เพื่อความก้าวหน้าในการใช้การดูแลผลิตภัณฑ์แบบครบวงจรโดยตลอด ทั้งอุตสาหกรรมทั่วโลกและห่วงโซ่คุณค่าสารเคมี และถือเป็นแง่มุมหนึ่งของความพยายามของภาคอุตสาหกรรมเคมี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด โดยการประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development) ที่ตั้งเป้าหมายในปี ค.ศ.2020 ไว้ว่า “... สารเคมีจะถูกใช้และผลิตในรูปแบบที่นำไปสู่การลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ของผลกระทบอันเลวร้ายที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม”

 

          แนวทางนี้ได้อธิบายถึงองค์ประกอบพื้นฐานของแผนงานการดูแลผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่า สถานประกอบการสารเคมี ควรจะริเริ่มแผนงานนี้ในระดับที่สอดคล้องกับทักษะและทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเอง รวมทั้งสถานประกอบการแต่ละแห่งก็ควรพิจารณาปรับใช้ และปรับปรุงแผนงานนี้อย่างต่อเนื่องไปตามสภาวะตลาด (ที่ได้ทำการค้าขายผลิตภัณฑ์ และส่วนประสมผลิตภัณฑ์ของตนเอง) รวมถึงตัวแปรอื่น ๆ และเมื่อสถานประกอบการได้รับประสบการณ์มากพอก็สามารถย้ายไปสู่ระดับที่มีผลการดำเนินงานของแผนงานการดูแลผลิตภัณฑ์ สูงกว่าเดิมได้ตลอดเวลา

          คู่มือแนวทางการดูแลผลิตภัณฑ์จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนแรกจะเป็นการทำความรู้จักกับ แผนยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์สากล (Global Product Strategy: GPS) และการดูแลผลิตภัณฑ์สากล (Global Product Stewardship) รวมทั้งที่มาที่ไปและประโยชน์ที่ได้รับของการดูแลผลิตภัณฑ์ ส่วนที่สองจะเป็นวิธีดำเนินการในการดูแลผลิตภัณฑ์ โดยได้กล่าวถึง การเริ่มต้น (ภาวะผู้นำ ความมุ่งมั่น และนโยบาย), การดำเนินการที่นำไปสู่วิธีการเชิงระบบ (Systematic Approach) ที่ยึดโยงกับระบบการจัดการ (Management System) โดยปรับใช้ Deming Plan-Do-Check-Act model และมีการปรับปรุงที่ต่อเนื่อง (Continual Improvement) โดยทันทีที่แผนงานการดูแลผลิตภัณฑ์ได้รับการออกแบบและดำเนินการแล้ว ก็ควรมีการทบทวนและเพิ่มประสิทธิภาพตามช่วงระยะที่เหมาะสม และส่วนที่สามจะระบุถึงแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

          และเมื่อวิทยากรได้อธิบายโดยย่อจนถึง Global Product Strategy (GPS) Initiative (แผนยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์สากล) และ ICCA Product Stewardship Guidelines (แนวทางการดูแลผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร) ก็ควรเชื่อมโยงเข้ากับหลักการและเหตุผล (Rationale) ของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ

 

 

กฎหมาย กฎระเบียบ แนวปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสารเคมี ในระดับชาติ (ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแต่เฉพาะกรณีของประเทศไทย) ตัวอย่างเช่น

 

 

  • พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งปัจจุบันถือได้ว่าเป็นกฎหมายหลักด้านความปลอดภัยฯ ของประเทศ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.2554 มีเจตนารมณ์เพื่อวางมาตรการควบคุม กำกับ ดูแล และบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้แก่ลูกจ้าง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในการทำงาน สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่มีการนำเทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ สารเคมีและสารเคมีอันตรายมาใช้ในกระบวนการผลิต การก่อสร้าง และบริการ ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน ในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และก่อให้เกิดอันตรายจากการทำงาน จนถึงแก่บาดเจ็บ ทุพพลภาพ พิการ เสียชีวิต หรือเกิดโรคอันเนื่องจากการทำงาน ซึ่งนับวันมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น และทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีหลักการส่วนใหญ่เป็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานทั่วไป และมีขอบเขตจำกัด ไม่สามารถกำหนดกลไกและมาตรการบริหารงานความปลอดภัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี พรบ. ฉบับนี้ มีบทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ว่า “ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎกระทรวงที่ออกตามความในหมวด 8 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

 

          พรบ. ความปลอดภัยฯ ฉบับนี้ ประกอบไปด้วยบทบัญญัติ 8 หมวด 74 มาตรา ได้แก่ หมวด 1 กำหนดหน้าที่ของนายจ้างในการจัดให้มีสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะแก่ลูกจ้าง หมวด 2 กำหนดให้มีการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นไปตามมาตรฐานในสถานประกอบกิจการ และกำหนดให้ลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมาตรฐานนี้ หมวด 3 กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับชาติ หมวด 4 กำหนดให้นายจ้างดำเนินการประเมินอันตราย และศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีผลต่อลูกจ้างรวมทั้งจัดทำแผนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ และแผนการควบคุมดูแลลูกจ้างและสถานประกอบกิจการ หมวด 5 กำหนดอำนาจของพนักงานตรวจความปลอดภัยในการเข้าไปตรวจสอบสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมวด 6 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมวด 7 กำหนดให้มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมวด 8 กำหนดโทษนายจ้างผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายความปลอดภัยฯ

          พรบ. ความปลอดภัยฯ ฉบับนี้ ยังให้อำนาจหน้าที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาออกกฎกระทรวง ประกาศ แนวปฏิบัติ ระเบียบ ตามความในมาตราที่ให้อำนาจไว้ เพื่อให้รองรับหลักการและเหตุผลตามเจตนารมณ์ของพรบ. ความปลอดภัยฯ ฉบับนี้

 

  • กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ.2556 กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2556 เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันสถานประกอบกิจการได้นำเอาสารเคมีอันตรายมาใช้ในวิธีการที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามชนิดและปริมาณของสารเคมีอันตราย ซึ่งสารเคมีอันตรายแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติและอันตรายแตกต่างกัน ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่งแห่ง พรบ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรววงแรงงานมีอำนาจออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ดังนั้น เพื่อให้ลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายได้รับความปลอดภัยในการทำงาน กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงประกาศบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับที่ว่านี้

 

          กฎกระทรวงฉบับนี้ ประกอบไปด้วย มาตรฐาน 10 หมวด 36 ข้อ ได้แก่ หมวด 1 (ข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย) หมวด 2 (ฉลากและป้าย) หมวด 3 (การคุ้มครองความปลอดภัย) หมวด 4 (การเก็บรักษา การบรรจุ และการถ่ายเทสารเคมีอันตราย) หมวด 5 (การขนถ่าย เคลื่อนย้าย และการขนส่ง) หมวด 6 (การจัดการและการกำจัด) หมวด 7 (การควบคุมระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย) หมวด 8 (การดูแลสุขภาพอนามัย) และ หมวด 9 (บทเฉพาะกาล) ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับนี้ ยังได้กำหนดให้นายจ้างต้องส่งรายงานและแจ้งในสิ่งเหล่านี้ คือ บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตรายที่อยู่ในครอบครอง รายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย รายงานการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพลูกจ้างในกรณีที่มีการใช้สารเคมีอันตราย รายงานการประเมินความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

 

  • ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย พ.ศ.2556 และ ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 ทั้ง 2 ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2556 เหตุผลเนื่องจาก กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 กำหนดให้นายจ้างที่มีสารเคมีอันตรายอยู่ในครอบครองได้จัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย และรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย (สอ.1) ตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมทั้งแจ้งต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในเวลาที่กำหนด
  • กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ.2547 กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2548 เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ก็เพื่อให้เป็นไปตามที่มาตรา 107 แห่งพรบ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้บัญญัติไว้ โดยได้ให้นิยามของ “การตรวจสุขภาพ” ว่าเป็นการตรวจร่างกายและสภาวะทางจิตใจตามวิธีทางการแพทย์ เพื่อให้ทราบถึงความเหมาะสมและผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้าง อันอาจเกิดจากการทำงาน และให้นิยามของ “งานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง” หมายความว่า งานที่ลูกจ้างทำเกี่ยวกับ (1) สารเคมีอันตรายตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (2) จุลชีวันเป็นพิษซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา หรือสารชีวภาพอื่น ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (3) กัมมันตภาพรังสี และ (4) ความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน ความกดดันบรรยากาศ แสง เสียง หรือสภาพแวดล้อมอื่น ที่อาจเป็นอันตราย ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับนี้ มีอยู่ด้วยกัน 2 หมวด คือ หมวด 1 เรื่องการตรวจสุขภาพ และหมวด 2 เรื่องการบันทึกผล การแจ้ง และการส่งผลการตรวจสุขภาพ
  • ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดสารเคมีอันตรายที่ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง พ.ศ.2552 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.2552 เหตุผลเนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ.2547 ได้กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง และกำหนดนิยาม “งานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง” หมายความว่า งานที่ลูกจ้างทำเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ดังนั้น ประกาศฉบับนี้จึงได้กำหนดสารเคมีอันตรายที่นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานในงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง โดยแบ่งสารเคมีอันตรายออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ คือ (1) กลุ่มสารทำละลายอินทรีย์ (2) กลุ่มก๊าซ (3) กลุ่มฝุ่น หรือฟูม หรือผงโลหะ (4) กลุ่มกรด (5) กลุ่มสารกำจัดศัตรูพืช และ (6) กลุ่มอื่น ๆ
  • ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดแบบสมุดสุขภาพประจำตัวของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง และแบบแจ้งผลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่พบความผิดปกติหรือการเจ็บป่วย การให้การรักษาพยาบาล และการป้องกันแก้ไข พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.2551 เหตุผลเนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ.2547 ข้อ 6 ได้กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีสมุดสุขภาพประจำตัวของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง และข้อ 9 กำหนดให้นายจ้างส่งผลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่พบความผิดปกติ หรือการเจ็บป่วย การให้การรักษาพยาบาลและป้องกันแก้ไขต่อพนักงานตรวจแรงงานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ดังนั้น ประกาศฉบับนี้จึงได้กำหนดแบบสมุดสุขภาพประจำตัวของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง และแบบแจ้งผลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่พบความผิดปกติหรือการเจ็บป่วย การให้การรักษาพยาบาล และการป้องกันแก้ไข (จผส.1) ตามท้ายประกาศนี้
  • พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2535 มีเหตุผลเพื่อกำกับ ควบคุม ดูแลโรงงานด้านต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 หมวด และบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 68 มาตรา ได้แก่ หมวด 1 (การประกอบกิจการโรงงาน)–โดยจำแนกประเภทโรงงานและกำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐาน และวิธีการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลและการป้องกันอันตราย การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การแจ้งข้อมูล การตรวจสอบโรงงานและเครื่องจักร, หมวด 2 (การกำกับและดูแลโรงงาน)–โดยพิจารณาความเหมาะสมในการตั้งหรือขยายโรงงานในท้องที่ใดๆ อำนาจพนักงานตรวจ ค้น กัก ยึดหรืออายัด สิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีเหตุสงสัยว่าการประกอบกิจการของโรงงาน ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน สั่งผู้ประกอบกิจการโรงงานหยุดประกอบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือให้แก้ไข ปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือปิดโรงงานหรือเพิกถอนใบอนุญาต อำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดหรือฝ่าฝืนพรบ. นี้นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย, หมวด 3 (บทกำหนดโทษ)–กำหนดอัตราโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนพรบ. นี้ ให้ระวางโทษปรับหรือจำคุกตามฐานความผิดและข้อหาที่ได้กำหนดไว้
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551, (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 และ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2553 เนื่องจากการประกาศใช้พรบ. ความปลอดภัยฯ พ.ศ. 2554 มีผลทำให้กฎหมายลำดับรองบางฉบับถูกยกเลิกไปโดยปริยาย หรือไม่สามารถใช้บังคับได้เนื่องจากกฎหมายลำดับรองนั้นยังไม่มีผลใช้บังคับก่อนวันที่ พรบ. ความปลอดภัยฯ นี้มีผลใช้บังคับ อย่างไรก็ตาม ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 74 กำหนดว่า “ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎกระทรวงที่ออกตามความในหมวด 8 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ทำให้กฎกระทรวงลำดับที่ (1)–(9) ในข้อ 4.1.1 ที่ออกภายใต้หมวด 8 ที่ว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงานแห่งพรบ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ยังมีผลใช้บังคับต่อไป รวมทั้ง กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2541) กำหนดประเภทของงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ที่ระบุไว้ในข้อ 2 (5) งานผลิตสารเคมีอันตราย มีข้อบังคับว่าโดยถ้าสภาพของงานมีความเสี่ยงอันตรายสูง หรือมีภาวะแวดล้อมในการทำงานเกินมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 103 ซึ่งไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขที่แหล่งกำเนิดได้ ต้องจัดให้มีการป้องกันที่ตัวบุคคล เป็นต้น
  • พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 และ (ฉบับที่3) พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นวัตถุอันตราย บริหารโดย 9 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงกลาโหม และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปัจจุบันมี 6 หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานตามวัตถุประสงค์ของการนำวัตถุอันตรายไปใช้ดังนี้ คือ 1.กรมโรงงานอุตสาหกรรม รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่นำไปใช้ในทางอุตสาหกรรม 2.กรมวิชาการเกษตร รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่นำไปใช้ในทางการเกษตร 3.กรมประมง รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่นำไปใช้ในทางการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 4.กรมปศุสัตว์ รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่นำไปใช้ในทางปศุสัตว์ 5.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่นำไปใช้ในบ้านเรือน หรือทางสาธารณสุข และ 6.กรมธุรกิจพลังงาน รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่เป็นก๊าซปิโตรเลียม

 

          ยกตัวอย่าง กฎหมายที่ออกโดยกระทรวง หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบข้างต้น ดังเช่น

 

          กระทรวงอุตสาหกรรม เช่น กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุอันตราย พ.ศ.2552, ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558, ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิตหรือการนำเข้าซึ่งวัตถุอันตรายตามบัญชี 5.6 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ พ.ศ.2558 ฯลฯ

          กระทรวงคมนาคม เช่น  กฎกระทรวง ความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน พ.ศ.2558, ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณลักษณะและระบบการทำงานของเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557, ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 92 ว่าด้วยการขนส่งวัตถุอันตรายทางอากาศ พ.ศ.2558 ฯลฯ

          กระทรวงพลังงาน เช่น กฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซทางท่อ พ.ศ.2556, ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการในกรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ.2557, ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำเครื่องหมายแสดงในบริเวณเขตระบบการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวทางท่อ พ.ศ.2557 ฯลฯ

          กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ระเบียบคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ว่าด้วยแบบใบอนุญาตผลิต มีไว้ครอบครอง หรือใช้ซึ่งพลังงานปรมาณูจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู พ.ศ. 2558, ข้อบังคับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาการผลิต การควบคุม และการจัดการสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2557 ฯลฯ

          กระทรวงกลาโหม เช่น กฎกระทรวงการอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา  ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2555, ประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์การควบคุม และการกำกับ ดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง และการขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ.2547 ฯลฯ

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดอัตราความเข้มข้นในแต่ละสูตรของวัตถุอันตรายที่รับขึ้นทะเบียน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2557, ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิธีการขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญ และการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2555 ฯลฯ

          กระทรวงมหาดไทย เช่น ประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์การควบคุม และการกำกับ ดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง และการขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ.2547, กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไขในการใช้ การเก็บรักษา และการมีไว้ครองครอง ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายและกิจการอันอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย และการจัดให้มีบุคคลและสิ่งจำเป็นในการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2555 ฯลฯ

          กระทรวงสาธารณสุข เช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ.2558, ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการขอต่ออายุใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พ.ศ.2556 ฯลฯ

          กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2557, ประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง กำหนดค่าเฝ้าระวังสำหรับสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 24 ชั่วโมง พ.ศ.2552 ฯลฯ

 

          สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มมีการจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา โดยมีการจัดทำและดำเนินงานตามแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2540–2544) แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545 – 2549) และต่อเนื่องมาจนถึง แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2550 –2554) ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเมื่อแผนยุทธศาสตร์ ฉบับที่ 3 ได้ดำเนินการมาจนถึงวาระสิ้นสุดของแผนในปี พ.ศ.2554 ในการนี้เพื่อให้นโยบายการจัดการสารเคมีของประเทศ มีความต่อเนื่อง จึงได้มีการดำเนินงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2555–2564) ขึ้น โดยการยกร่างด้วยการทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของแผนต่าง ๆ นโยบายของประเทศที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศ ตลอดจนประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้น แล้วทำการระดมสมองโดยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้แทนจากภาคประชาชน และภาคเอกชน ซึ่งได้มีการประชุมร่วมและประชุมเชิงปฏิบัติการรวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง มีการประชุมกลั่นกรองแผนโดยคณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินการว่าด้วยการจัดการสารเคมี รวม 4 ครั้ง ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี ในวันที่ 15 พ.ย.2553 และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2554

          แนวคิดและหลักการของแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 4 มี 5 ประการสำคัญ คือ กำหนดกรอบเวลาให้เป็นแผนระยะยาว 10 ปี โดยให้มีการทบทวนผลการดำเนินงานทุก 2 ปี ส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน วางแผนยุทธศาสตร์ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 3 กำหนดการทำงานที่เน้นการบูรณาการ และมีกลไลการขับเคลื่อน และติดตามประเมินแผนเป็นระยะ ซึ่งจากแนวคิดและหลักการนี้ได้ยกร่างเป็นสาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 4 ที่ประกอบไปด้วยเป้าประสงค์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และกลวิธีในแต่ละรายยุทธศาสตร์ โดยกำหนดเป้าประสงค์ไว้ว่า “ภายในปีพ.ศ.2564 สังคมและสิ่งแวดล้อมปลอดภัยบนพื้นฐานของการจัดการสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ” ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี (Strategic Approach to International Chemical Management: SAICM)

          ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 4 วางยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีไว้ 3 ยุทธศาสตร์ และ 9 กลวิธี ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาฐานข้อมูล กลไก และเครื่องมือในการจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบ ครบวงจร มี 3 กลวิธี คือ พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางสารเคมี พัฒนากลไกและเครื่องมือในการจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบครบวงจร และสร้างกลไกเพื่อขับเคลื่อนการจัดการสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาศักยภาพการตอบสนองและบทบาทในการบริหารจัดการสารเคมีของทุกภาคส่วน มี 3 กลวิธี คือ พัฒนาองค์ความรู้และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีและห้องปฏิบัติการด้านสารเคมี พัฒนาศักยภาพการตอบสนองและการเตรียมความพร้อมต่อพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศ และ ส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการสารเคมี ยุทธศาสตร์ที่ 3 ลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี มี 3 กลวิธี คือ ป้องกันอันตรายจากสารเคมี เฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบผลกระทบจากสารเคมี และ รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินและการรักษาเยียวยาและฟื้นฟู

          การประเมินผู้เข้าอบรม (Assessment of Participants) สำหรับโมดูลที่ 3 นี้ สามารถใช้การซักถามผู้เข้าอบรม เพื่อตรวจสอบถึงความรู้ ความเข้าใจของพวกเขาในประเด็นเหล่านี้ เช่น ข้อกำหนดทางกฎหมายและกฎระเบียบแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสารเคมีและการจัดการสารเคมีอันตราย, ข้อกำหนดในการรายงานแก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ (International Laws) รวมทั้ง ระเบียบปฏิบัติ (Codes) และกฎระเบียบ (Regulations) ที่เกี่ยวข้อง ที่มีผลบังคับใช้กับการจัดการสารเคมีอันตราย เหล่านี้ เป็นต้น

          ข้อเสนอแนะสำหรับการทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่ม (Group Exercise) เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนผู้เข้าอบรมในการจัดเตรียมกฎหมายที่ขึ้นทะเบียน (Legal Register) ทั้งนี้ ในบางครั้ง อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้กรณีศึกษาแบบจำลอง (Mock–Case Study) เป็นการเพิ่มเติมก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของวิทยากร

 

  • จุดประสงค์ของการทำแบบฝึกหัดนี้ ก็คือ ทำให้ผู้เข้าอบรมได้คุ้นเคยกับขั้นตอนที่จำเป็นต่อการจัดเตรียมกฎหมายที่ขึ้นทะเบียน ที่เป็นไปตามเครื่องมือที่เกี่ยวข้องที่ให้ไว้ในชุดเครื่องมือการผลิตด้วยความรับผิดชอบ
  • ถ้ามีจำนวนผู้เข้าอบรมมากพอ ก็สามารถแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มย่อยเพื่อแยกทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่ม ๆ ไป
  • อธิบายให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจว่า วัตถุประสงค์ก็เพื่อจัดทำรายการ (List) กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ กฎระเบียบ และข้อกำหนดอื่น ๆ โดยรวมทั้งหมดที่มีผลบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง (รวมถึง วัตถุอันตรายที่ใช้เป็นวัตถุดิบ สารเติมแต่ง สารทำความสะอาด เชื้อเพลิง ฯลฯ) ตลอดจน กระบวนการ และการดำเนินงาน
  • เกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งกลุ่ม ควรจะเป็นกระบวนการหรือกิจกรรมที่คล้ายคลึงกันระหว่างสถานประกอบการของผู้เข้าอบรม แต่ถึงอย่างไร ก็ใช่ว่าจะเป็นปัญหา แม้ว่าผู้เข้าอบรมในกลุ่มเดียวกันจะมาจากต่างองค์กร ที่มีกิจกรรมที่แตกต่างกันก็ตาม ในเมื่อโดยมากของกิจกรรมเหล่านี้มักจะตกอยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่คล้ายกันเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ก็ยังอาจจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เข้าใจในข้อกำหนดของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่น ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเคมี
  • ให้ผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่มได้ร่วมกันทำแบบฝึกหัดในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น

 

          1) จากข้อมูลที่ให้ในการฝึกอบรมในช่วงนี้ ให้ผู้เข้าอบรมได้จัดทำรายการกฎระเบียบที่มีอยู่ที่อาจมีผลบังคับใช้กับวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสถานประกอบการของพวกเขาเอง

          2) ให้ผู้เข้าอบรมได้พิจารณากฎหมาย กฎระเบียบ ระเบียบปฏิบัติ ข้อเรียกร้องของลูกค้า และมาตรฐานอุตสาหกรรม ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งที่เป็นภาคบังคับและภาคสมัครใจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของสถานประกอบการของตนเอง ดังนี้ เช่น เคมีภัณฑ์, อุปกรณ์ไฟฟ้า, สิ่งแวดล้อม (น้ำ น้ำเสีย อากาศ ของเสีย ฯลฯ), ผลิตภัณฑ์ไวไฟและวัตถุระเบิด, อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และการกู้ภัย, การขนส่งสินค้าอันตราย  

          3) ให้ผู้เข้าอบรมระบุข้อกำหนดทั้งหมดที่มีอยู่ในใบอนุญาต (Licences) และการอนุญาต (Permits) ในการประกอบกิจการของบริษัทพวกเขา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ เช่น การใช้น้ำ การปล่อยน้ำเสีย การจัดการขยะมูลฝอย การขนส่งสินค้าอันตราย อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และการตรวจสอบอัคคีภัย

          4) ให้ผู้เข้าอบรมสร้างตารางและจัดเรียงข้อกำหนดที่ถูกระบุไว้ในคอลัมภ์ ได้แก่ สาร/กิจกรรมการไหลของกระบวนการผลิต (Process activity), กฎหมาย/ระเบียบปฏิบัติ/กฎระเบียบ, ข้อกำหนด/ข้อผูกพัน, กิจกรรมที่จะดำเนินการเพื่อให้แน่ใจในการปฏิบัติตาม

          การอบรมโมดูลที่ 4 ในเรื่องของข้อกำหนดทางกฎหมาย (Legal Requirements) และกฎระเบียบ (Regulations) วิทยากรควรเพิ่มการสนทนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าอบรม การแบ่งปันประสบการณ์ส่วนบุคคลระหว่างผู้เข้าอบรมด้วยกันเอง เกี่ยวกับการถูกตรวจการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายและกฎระเบียบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การลงโทษ และการปรับ รวมทั้งทรัพยากรทั่วไปและเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการทำให้แน่ใจได้ว่าได้ปฏิบัติตามโดยตลอดการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ การอบรมโมดูลนี้ จะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ Tool 1.5 กฎหมายที่ขึ้นทะเบียน (Legal Register) ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่อยู่ในชุดเครื่องมือการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Toolkit)

 

 

****** ติดตามอ่านตอนต่อไปในฉบับหน้า ******

 

 

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • Responsible Production for Chemical Hazard Management, Lessons Learned from Implementation, UNEP 2013.
  • Responsible Production Handbook, Introduction to the Responsible Production Guidance and Toolkit, UNEP 2010.
  • Responsible Production Framework, UNEP 2009.
  • UNEPs Handbook for Responsible Production (UNEP &AccountAbility 2009).
  • Corporate Social Responsibility and Safety and Health at Work: Global Perpectives, Local Practices, Working on Safety Conference, Roros, Norway, 7 – 10 September, 2010.
  • แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2555 – 2564) โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี.

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด