ศิริพร วันฟั่น
ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันในชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “CSR” กำลังกลายเป็นกระแสที่มาแรง ซึ่งหากจะมองโดยเผิน ๆ ก็จะเป็นแค่เรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเท่านั้น แต่หากจะมองให้ลึกซึ้งถึงที่ไปที่มาและความจำเป็นของซีเอสอาร์แล้ว คงต้องกลับไปดูกันตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุว่า ทำไมองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ในตอนที่ 13 เราได้กล่าวถึงหัวข้อที่ (3) การดำเนินการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Implementing Responsible Production) ในหัวข้อย่อย (3.3) ชุดฝึกอบรมสำหรับการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Training Package) (ที่ประกอบไปด้วย 18 โมดูลพร้อมกับเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง) โดยได้กล่าวจนจบโมดูลที่ 3 ดังนั้น ในตอนที่ 14 นี้ จะขอกล่าวต่อในโมดูลที่ 4 ตามเนื้อหาด้านล่างนี้
โมดูลที่ 4 ข้อกำหนดทางกฎหมาย (Legal Requirements) และกฎระเบียบ (Regulations) วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้มีความเข้าใจโดยพื้นฐานในข้อกำหนดทางกฎหมายและกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอันตรายจากสารเคมีและการป้องกันอุบัติเหตุ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเคมีโดยทั่วไป และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินงานของสถานประกอบการของพวกเขาเอง เหตุผลก็เพราะว่า การที่สถานประกอบการจะมีการดำเนินงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายและกฎระเบียบระบุไว้ได้นั้น ก็ต้องมีความเข้าใจเป็นอย่างดีในข้อกำหนดทางกฎหมายหลัก ๆ ในเรื่องของอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของแรงงาน การจำแนกประเภท การติดฉลากสารเคมีอันตราย การให้ข้อมูลความเสี่ยงต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และการรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วิทยากรสามารถใช้โปรแกรม Powerpoint ในการนำเสนอข้อกำหนดทางกฎหมายและกฎระเบียบ ใน 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ 1.ภาพรวมคร่าว ๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ (International Laws) รวมทั้ง ระเบียบปฏิบัติ (Codes) และกฎระเบียบ (Regulations) 2.ระบุกฎหมายแห่งชาติ (National laws) และกฎระเบียบที่สำคัญ ๆ ที่ใช้บังคับกับการนำเข้า การขนย้าย การจัดเก็บ การผลิต การขนส่ง การจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีอันตราย รวมถึง 3.ระบุข้อกำหนดแห่งชาติ (National Requirements) ที่สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลความเสี่ยงแก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และการรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การนำเสนอข้างต้นพร้อมกับการแจกเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบกันจะเป็นการช่วยสนับสนุนในการทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่ม (Group Exercise) เพื่อจัดเตรียมรายการกฎหมายที่ขึ้นทะเบียน (Legal Register List) อย่างไรก็ดี เวลาที่มีให้สำหรับโมดูลนี้อาจจะไม่เพียงพอต่อการที่วิทยากรจะนำเสนอระเบียบปฏิบัติและกฎระเบียบอย่างละเอียดและครอบคลุมได้ทั้งหมด จึงเป็นภาระหน้าที่ของวิทยากรในการพินิจพิจารณาปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับข้อจำกัดด้านเวลาและฐานความรู้ของผู้เข้าอบรม ซึ่งโดยมากแล้ววิทยากรก็จะอาศัยการมุ่งเน้นแต่เฉพาะข้อกำหนดและกฎระเบียบแห่งชาติ (ภายในประเทศ) เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่ความต้องการและความคาดหวังของผู้เข้าอบรมเป็นสำคัญด้วยเช่นกัน
ในการนำเสนอนั้น วิทยากรสามารถกล่าวถึงความจำเป็นในการวางระเบียบหรือบัญญัติกฎหมายสำหรับการป้องกันและการเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉินทางเคมี (Chemical Emergency Prevention & Preparedness) และกล่าวโดยย่อถึงโครงร่างของวัตถุประสงค์ โครงสร้าง และข้อกำหนดหลัก ๆ ของกฎหมาย กฎระเบียบเหล่านี้ ทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับชาติ
การขยายขอบข่ายการบังคับใช้ระเบียบนี้ ก็เพื่อให้ครอบคลุมเพิ่มเติมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากจัดเก็บและกิจกรรมการไหลของกระบวนการผลิต (Process Activity) ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จากดอกไม้เพลิงจนถึงวัตถุระเบิด และจากสารแอมโมเนียมไนเตรตจนถึงปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรต
ระบบ GHS มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจได้ว่า ข้อมูลที่ระบุถึงอันตรายทางกายภาพ และความเป็นพิษของสารเคมี จะมีประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ในช่วงระหว่างการเคลื่อนย้ายถ่ายเท การขนส่ง ตลอดไปจนถึงการใช้สารเคมีเหล่านี้ นอกจากนี้ยังให้พื้นฐานสำหรับกฎและระเบียบเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่รัฐบาล สถาบันในระดับภูมิภาค และองค์กรระหว่างประเทศใด ๆ ที่จะนำข้อกำหนดของระบบ GHS ไปใช้หรือปรับเปลี่ยนให้เป็นกฎหมายภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศนั้น คู่มือ GHS ก็จะมีเนื้อหาและแนวทางปฏิบัติที่เพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรม ที่จะได้ดำเนินการตามข้อกำหนดที่ได้รับการรับรองแล้ว และเมื่อมีการบริหารจัดการสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในระดับชาติแล้ว ก็จะสามารถขยายผลออกไปทั่วโลก ที่จะนำไปสู่สภาวะที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับประชากรโลก และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังรักษาผลประโยชน์จากการใช้สารเคมีให้คงอยู่ต่อไป
ระบบ GHS ฉบับแรก มีความตั้งใจที่จะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการดำเนินงานระบบนี้ทั่วโลก โดยได้ถูกรับรองในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2002 และเผยแพร่ปี ค.ศ.2003 ตั้งแต่นั้นมา ระบบ GHS ก็มีการปรับปรุง แก้ไข ให้ทันสมัยในทุก ๆ 2 ปี ตามความจำเป็นและประสบการณ์ที่ได้รับจากการนำไปดำเนินการ จนมาถึงฉบับปัจจุบันที่เป็นการปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 6 นั่นก็คือ “GHS Rev.6 (2015)”
REACH ย่อมาจาก Registration, Evaluation, Authorization and Restriction of Chemicals โดยภายใต้ ‘กฎระเบียบ REACH’ ได้ระบุให้ผู้ประกอบการ (ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่าย) ดำเนินการตามข้อกำหนดดังนี้ คือ
ขอบข่ายการใช้งาน – REACH มีผลบังคับใช้กับการผลิต การจำหน่าย การนำเข้าไปภายในสหภาพยุโรปสำหรับสารเคมีจำนวนตั้งแต่ 1 ตัน/ปี/สาร โดยหลักการแล้ว ‘กฎระเบียบ REACH’ สามารถนำมาบังคับใช้กับสารเคมีได้ทั้งหมด ไม่เพียงแต่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สี รวมถึงสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Substance in Article) เช่น เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม จะมีการระบุถึงสารเคมีที่อยู่นอกขอบข่าย REACH เช่น สารกัมมันตรังสี ของเสีย และสารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ ฯลฯ และมีการยกเว้นให้สารเคมีบางชนิดที่อยู่ในขอบข่ายการควบคุมของ Directive อื่นแล้ว เช่น ยา อาหารหรืออาหารสัตว์ และเครื่องสำอาง เป็นต้น
หมายเหตุ EU (สหภาพยุโรป) มีข้อกำหนดหลัก 2 ประเภท ได้แก่ 1.EU Regulations เป็นคำสั่งหรือกฎระเบียบเป็นการเฉพาะ โดยมีการเขียนข้อกำหนดไว้อย่างชัดเจน และใช้บังคับกับประเทศสมาชิกทุกประเทศเหมือนกันหมด 2.EU Directives เป็นคำสั่งหรือข้อกำหนดเชิงนโยบาย ระบุความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่ว่านี้
เมื่อวิทยากรได้อธิบายโดยย่อถึงข้อกำหนดหลักของ REACH ที่ระบุไว้ว่า ผู้ผลิตจะต้องให้แน่ใจว่าข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอันตรายและความเสี่ยงที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน จะถูกส่งผ่านห่วงโซ่อุปทานทั้งขึ้นและลง พร้อมด้วยข้อมูลเกี่ยวกับวิธีจัดการอันตรายและความเสี่ยง และเมื่อผู้ผลิตได้ดำเนินการเช่นที่ว่านี้ ก็จะส่งผลให้ผู้ใช้ปลายน้ำ (Downstream Users) และผู้จัดจำหน่ายต่างได้รับข้อมูลที่จำเป็นต่อการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยมากขึ้น เมื่อวิทยากรกล่าวถึงจุดนี้ก็ควรจะเน้นในการให้ข้อมูลความเสี่ยงตามห่วงโซ่คุณค่า และเชื่อมโยงเข้ากับหลักการและเหตุผล (Rationale) ของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ
หลักปฏิบัติของการดูแลด้วยความรับผิดชอบ (RC Codes of Practice) ประกอบไปด้วยมาตรการใน 6 หัวข้อ ด้วยกัน คือ ความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety) ความปลอดภัยและสุขอนามัยของพนักงาน (Employee Health and Safety) การป้องกันการเกิดมลภาวะ (Pollution Prevention) ชุมชนสัมพันธ์และระงับเหตุฉุกเฉิน (Community Awareness and Emergency Response: CAER) การจัดจำหน่าย (Distribution) และ การดูแลผลิตภัณฑ์ (Product Stewardship) ซึ่งเมื่อวิทยากรได้อธิบายโดยย่อจนถึงหลักปฏิบัตินี้ ก็ควรเชื่อมโยงเข้ากับหลักการและเหตุผล (Rationale) ของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ
กฎบัตรสากลว่าด้วยการดูแลด้วยความรับผิดชอบ (RCGC) จะมีข้อกำหนดหลัก 9 ข้อ ประกอบไปด้วย 1.รับหลักการสำคัญของการดูแลด้วยความรับผิดชอบสากล 2.นำคุณสมบัติพื้นฐานของแผนงานการดูแลด้วยความรับผิดชอบแห่งชาติมาปฏิบัติ 3.มุ่งมั่นที่จะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน 4.การปรับปรุงและการรายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง 5.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเคมีภัณฑ์ทั่วโลก และการดูแลผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร 6.เผยแพร่ สนับสนุน และอำนวยความสะดวก ในการขยายการดูแลด้วยความรับผิดชอบ ตามห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเคมี 7.สนับสนุนอย่างแข็งขันสำหรับกระบวนการกำกับดูแลด้วยความรับผิดชอบระดับชาติและสากล 8.ระบุความคาดหวังของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมเคมี และ 9) จัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมและเพียงพอ สำหรับการดำเนินการการดูแลด้วยความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิผล
แนวทางนี้ได้อธิบายถึงองค์ประกอบพื้นฐานของแผนงานการดูแลผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่า สถานประกอบการสารเคมี ควรจะริเริ่มแผนงานนี้ในระดับที่สอดคล้องกับทักษะและทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเอง รวมทั้งสถานประกอบการแต่ละแห่งก็ควรพิจารณาปรับใช้ และปรับปรุงแผนงานนี้อย่างต่อเนื่องไปตามสภาวะตลาด (ที่ได้ทำการค้าขายผลิตภัณฑ์ และส่วนประสมผลิตภัณฑ์ของตนเอง) รวมถึงตัวแปรอื่น ๆ และเมื่อสถานประกอบการได้รับประสบการณ์มากพอก็สามารถย้ายไปสู่ระดับที่มีผลการดำเนินงานของแผนงานการดูแลผลิตภัณฑ์ สูงกว่าเดิมได้ตลอดเวลา
คู่มือแนวทางการดูแลผลิตภัณฑ์จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนแรกจะเป็นการทำความรู้จักกับ แผนยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์สากล (Global Product Strategy: GPS) และการดูแลผลิตภัณฑ์สากล (Global Product Stewardship) รวมทั้งที่มาที่ไปและประโยชน์ที่ได้รับของการดูแลผลิตภัณฑ์ ส่วนที่สองจะเป็นวิธีดำเนินการในการดูแลผลิตภัณฑ์ โดยได้กล่าวถึง การเริ่มต้น (ภาวะผู้นำ ความมุ่งมั่น และนโยบาย), การดำเนินการที่นำไปสู่วิธีการเชิงระบบ (Systematic Approach) ที่ยึดโยงกับระบบการจัดการ (Management System) โดยปรับใช้ Deming Plan-Do-Check-Act model และมีการปรับปรุงที่ต่อเนื่อง (Continual Improvement) โดยทันทีที่แผนงานการดูแลผลิตภัณฑ์ได้รับการออกแบบและดำเนินการแล้ว ก็ควรมีการทบทวนและเพิ่มประสิทธิภาพตามช่วงระยะที่เหมาะสม และส่วนที่สามจะระบุถึงแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
และเมื่อวิทยากรได้อธิบายโดยย่อจนถึง Global Product Strategy (GPS) Initiative (แผนยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์สากล) และ ICCA Product Stewardship Guidelines (แนวทางการดูแลผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร) ก็ควรเชื่อมโยงเข้ากับหลักการและเหตุผล (Rationale) ของแนวทางการผลิตด้วยความรับผิดชอบ
พรบ. ความปลอดภัยฯ ฉบับนี้ ประกอบไปด้วยบทบัญญัติ 8 หมวด 74 มาตรา ได้แก่ หมวด 1 กำหนดหน้าที่ของนายจ้างในการจัดให้มีสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะแก่ลูกจ้าง หมวด 2 กำหนดให้มีการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นไปตามมาตรฐานในสถานประกอบกิจการ และกำหนดให้ลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมาตรฐานนี้ หมวด 3 กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับชาติ หมวด 4 กำหนดให้นายจ้างดำเนินการประเมินอันตราย และศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีผลต่อลูกจ้างรวมทั้งจัดทำแผนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ และแผนการควบคุมดูแลลูกจ้างและสถานประกอบกิจการ หมวด 5 กำหนดอำนาจของพนักงานตรวจความปลอดภัยในการเข้าไปตรวจสอบสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมวด 6 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมวด 7 กำหนดให้มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมวด 8 กำหนดโทษนายจ้างผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายความปลอดภัยฯ
พรบ. ความปลอดภัยฯ ฉบับนี้ ยังให้อำนาจหน้าที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาออกกฎกระทรวง ประกาศ แนวปฏิบัติ ระเบียบ ตามความในมาตราที่ให้อำนาจไว้ เพื่อให้รองรับหลักการและเหตุผลตามเจตนารมณ์ของพรบ. ความปลอดภัยฯ ฉบับนี้
กฎกระทรวงฉบับนี้ ประกอบไปด้วย มาตรฐาน 10 หมวด 36 ข้อ ได้แก่ หมวด 1 (ข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย) หมวด 2 (ฉลากและป้าย) หมวด 3 (การคุ้มครองความปลอดภัย) หมวด 4 (การเก็บรักษา การบรรจุ และการถ่ายเทสารเคมีอันตราย) หมวด 5 (การขนถ่าย เคลื่อนย้าย และการขนส่ง) หมวด 6 (การจัดการและการกำจัด) หมวด 7 (การควบคุมระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย) หมวด 8 (การดูแลสุขภาพอนามัย) และ หมวด 9 (บทเฉพาะกาล) ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับนี้ ยังได้กำหนดให้นายจ้างต้องส่งรายงานและแจ้งในสิ่งเหล่านี้ คือ บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตรายที่อยู่ในครอบครอง รายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย รายงานการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพลูกจ้างในกรณีที่มีการใช้สารเคมีอันตราย รายงานการประเมินความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
ยกตัวอย่าง กฎหมายที่ออกโดยกระทรวง หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบข้างต้น ดังเช่น
กระทรวงอุตสาหกรรม เช่น กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุอันตราย พ.ศ.2552, ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558, ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิตหรือการนำเข้าซึ่งวัตถุอันตรายตามบัญชี 5.6 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ พ.ศ.2558 ฯลฯ
กระทรวงคมนาคม เช่น กฎกระทรวง ความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน พ.ศ.2558, ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณลักษณะและระบบการทำงานของเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557, ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 92 ว่าด้วยการขนส่งวัตถุอันตรายทางอากาศ พ.ศ.2558 ฯลฯ
กระทรวงพลังงาน เช่น กฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซทางท่อ พ.ศ.2556, ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการในกรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ.2557, ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำเครื่องหมายแสดงในบริเวณเขตระบบการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวทางท่อ พ.ศ.2557 ฯลฯ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ระเบียบคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ว่าด้วยแบบใบอนุญาตผลิต มีไว้ครอบครอง หรือใช้ซึ่งพลังงานปรมาณูจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู พ.ศ. 2558, ข้อบังคับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาการผลิต การควบคุม และการจัดการสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2557 ฯลฯ
กระทรวงกลาโหม เช่น กฎกระทรวงการอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2555, ประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์การควบคุม และการกำกับ ดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง และการขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ.2547 ฯลฯ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดอัตราความเข้มข้นในแต่ละสูตรของวัตถุอันตรายที่รับขึ้นทะเบียน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2557, ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิธีการขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญ และการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2555 ฯลฯ
กระทรวงมหาดไทย เช่น ประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์การควบคุม และการกำกับ ดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง และการขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ.2547, กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไขในการใช้ การเก็บรักษา และการมีไว้ครองครอง ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายและกิจการอันอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย และการจัดให้มีบุคคลและสิ่งจำเป็นในการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2555 ฯลฯ
กระทรวงสาธารณสุข เช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ.2558, ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการขอต่ออายุใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พ.ศ.2556 ฯลฯ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2557, ประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง กำหนดค่าเฝ้าระวังสำหรับสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 24 ชั่วโมง พ.ศ.2552 ฯลฯ
สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มมีการจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา โดยมีการจัดทำและดำเนินงานตามแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2540–2544) แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545 – 2549) และต่อเนื่องมาจนถึง แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2550 –2554) ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเมื่อแผนยุทธศาสตร์ ฉบับที่ 3 ได้ดำเนินการมาจนถึงวาระสิ้นสุดของแผนในปี พ.ศ.2554 ในการนี้เพื่อให้นโยบายการจัดการสารเคมีของประเทศ มีความต่อเนื่อง จึงได้มีการดำเนินงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2555–2564) ขึ้น โดยการยกร่างด้วยการทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของแผนต่าง ๆ นโยบายของประเทศที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศ ตลอดจนประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้น แล้วทำการระดมสมองโดยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้แทนจากภาคประชาชน และภาคเอกชน ซึ่งได้มีการประชุมร่วมและประชุมเชิงปฏิบัติการรวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง มีการประชุมกลั่นกรองแผนโดยคณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินการว่าด้วยการจัดการสารเคมี รวม 4 ครั้ง ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี ในวันที่ 15 พ.ย.2553 และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2554
แนวคิดและหลักการของแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 4 มี 5 ประการสำคัญ คือ กำหนดกรอบเวลาให้เป็นแผนระยะยาว 10 ปี โดยให้มีการทบทวนผลการดำเนินงานทุก 2 ปี ส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน วางแผนยุทธศาสตร์ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 3 กำหนดการทำงานที่เน้นการบูรณาการ และมีกลไลการขับเคลื่อน และติดตามประเมินแผนเป็นระยะ ซึ่งจากแนวคิดและหลักการนี้ได้ยกร่างเป็นสาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 4 ที่ประกอบไปด้วยเป้าประสงค์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และกลวิธีในแต่ละรายยุทธศาสตร์ โดยกำหนดเป้าประสงค์ไว้ว่า “ภายในปีพ.ศ.2564 สังคมและสิ่งแวดล้อมปลอดภัยบนพื้นฐานของการจัดการสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ” ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี (Strategic Approach to International Chemical Management: SAICM)
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 4 วางยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีไว้ 3 ยุทธศาสตร์ และ 9 กลวิธี ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาฐานข้อมูล กลไก และเครื่องมือในการจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบ ครบวงจร มี 3 กลวิธี คือ พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางสารเคมี พัฒนากลไกและเครื่องมือในการจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบครบวงจร และสร้างกลไกเพื่อขับเคลื่อนการจัดการสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาศักยภาพการตอบสนองและบทบาทในการบริหารจัดการสารเคมีของทุกภาคส่วน มี 3 กลวิธี คือ พัฒนาองค์ความรู้และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีและห้องปฏิบัติการด้านสารเคมี พัฒนาศักยภาพการตอบสนองและการเตรียมความพร้อมต่อพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศ และ ส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการสารเคมี ยุทธศาสตร์ที่ 3 ลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี มี 3 กลวิธี คือ ป้องกันอันตรายจากสารเคมี เฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบผลกระทบจากสารเคมี และ รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินและการรักษาเยียวยาและฟื้นฟู
การประเมินผู้เข้าอบรม (Assessment of Participants) สำหรับโมดูลที่ 3 นี้ สามารถใช้การซักถามผู้เข้าอบรม เพื่อตรวจสอบถึงความรู้ ความเข้าใจของพวกเขาในประเด็นเหล่านี้ เช่น ข้อกำหนดทางกฎหมายและกฎระเบียบแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสารเคมีและการจัดการสารเคมีอันตราย, ข้อกำหนดในการรายงานแก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ (International Laws) รวมทั้ง ระเบียบปฏิบัติ (Codes) และกฎระเบียบ (Regulations) ที่เกี่ยวข้อง ที่มีผลบังคับใช้กับการจัดการสารเคมีอันตราย เหล่านี้ เป็นต้น
ข้อเสนอแนะสำหรับการทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่ม (Group Exercise) เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนผู้เข้าอบรมในการจัดเตรียมกฎหมายที่ขึ้นทะเบียน (Legal Register) ทั้งนี้ ในบางครั้ง อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้กรณีศึกษาแบบจำลอง (Mock–Case Study) เป็นการเพิ่มเติมก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของวิทยากร
1) จากข้อมูลที่ให้ในการฝึกอบรมในช่วงนี้ ให้ผู้เข้าอบรมได้จัดทำรายการกฎระเบียบที่มีอยู่ที่อาจมีผลบังคับใช้กับวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสถานประกอบการของพวกเขาเอง
2) ให้ผู้เข้าอบรมได้พิจารณากฎหมาย กฎระเบียบ ระเบียบปฏิบัติ ข้อเรียกร้องของลูกค้า และมาตรฐานอุตสาหกรรม ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งที่เป็นภาคบังคับและภาคสมัครใจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของสถานประกอบการของตนเอง ดังนี้ เช่น เคมีภัณฑ์, อุปกรณ์ไฟฟ้า, สิ่งแวดล้อม (น้ำ น้ำเสีย อากาศ ของเสีย ฯลฯ), ผลิตภัณฑ์ไวไฟและวัตถุระเบิด, อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และการกู้ภัย, การขนส่งสินค้าอันตราย
3) ให้ผู้เข้าอบรมระบุข้อกำหนดทั้งหมดที่มีอยู่ในใบอนุญาต (Licences) และการอนุญาต (Permits) ในการประกอบกิจการของบริษัทพวกเขา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ เช่น การใช้น้ำ การปล่อยน้ำเสีย การจัดการขยะมูลฝอย การขนส่งสินค้าอันตราย อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และการตรวจสอบอัคคีภัย
4) ให้ผู้เข้าอบรมสร้างตารางและจัดเรียงข้อกำหนดที่ถูกระบุไว้ในคอลัมภ์ ได้แก่ สาร/กิจกรรมการไหลของกระบวนการผลิต (Process activity), กฎหมาย/ระเบียบปฏิบัติ/กฎระเบียบ, ข้อกำหนด/ข้อผูกพัน, กิจกรรมที่จะดำเนินการเพื่อให้แน่ใจในการปฏิบัติตาม
การอบรมโมดูลที่ 4 ในเรื่องของข้อกำหนดทางกฎหมาย (Legal Requirements) และกฎระเบียบ (Regulations) วิทยากรควรเพิ่มการสนทนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าอบรม การแบ่งปันประสบการณ์ส่วนบุคคลระหว่างผู้เข้าอบรมด้วยกันเอง เกี่ยวกับการถูกตรวจการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายและกฎระเบียบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การลงโทษ และการปรับ รวมทั้งทรัพยากรทั่วไปและเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการทำให้แน่ใจได้ว่าได้ปฏิบัติตามโดยตลอดการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ การอบรมโมดูลนี้ จะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ Tool 1.5 กฎหมายที่ขึ้นทะเบียน (Legal Register) ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่อยู่ในชุดเครื่องมือการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Toolkit)
****** ติดตามอ่านตอนต่อไปในฉบับหน้า ******
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด