สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ ด้วยการเติบโตของเมืองใหญ่ในแต่ละประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องนั้น ปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อความหนาแน่นของที่พักอาศัย รวมทั้งสัดส่วนของประชากรในพื้นที่เมืองก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในการบริหารจัดการเมืองตามมา ปัญหาในหัวเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกจะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ประกอบไปด้วย ปัญหาจราจรที่แออัด ปัญหามลภาวะ ปัญหาความสิ้นเปลืองด้านพลังงาน ปัญหาการจัดการของเสีย ปัญหาทางด้านสังคม และปัญหาด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ในยุคทศวรรษที่ผ่านมา หลายองค์กรทั่วโลกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบต่าง ๆ ของเมือง และหนึ่งในความคิดสำคัญที่ได้มีการพูดถึง และได้รับความสนใจมากก็คือการพัฒนาเมืองแบบ Smart City หรือนครอัจฉริยะนั่นเอง
หัวใจหลักของการพัฒนาเมืองแบบ Smart City นั้น เราคงต้องยกความดีความชอบให้กับเจ้าระบบไอทีที่จะเข้ามาเป็นพระเอกในการช่วยบริหารจัดการเมือง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การจัดการระบบขนส่ง การสร้างข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจวางแผน การให้ข้อมูลกับประชากร การจัดการระบบพลังงาน การจัดการระบบน้ำ และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของเมือง และในขณะที่โลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค Internet of Things ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอีกต่อไป ในการที่จะพัฒนานวัตกรรมการควบคุมแบบ Machine to Machine รวมทั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและมีบทบาทต่อชีวิตเราให้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ได้ตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน เมื่อการตกผลึกของเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับไลฟ์สไตล์มนุษย์ กำลังจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนสังคมในบริบทที่กว้างกว่าเดิม คำว่า Smart City ก็กำลังเดินเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นครับ
แต่การจะทำให้เมืองมีความเป็นนครอัจฉริยะนั้น จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างมาเชื่อมโยงกัน องค์ประกอบแรกก็คือ ต้องมีการเก็บข้อมูล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากเซนเซอร์ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา อย่างเช่น เครื่องจักร, สมาร์ทโฟน, สมาร์ทมิเตอร์, CCTV, เรดาร์ รวมไปถึงข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก และจากช่องทางอื่นอีกมากมาย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกเรียกว่า Big Data เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการนำข้อมูลมาเข้าสู่การวิเคราะห์ ขึ้นตอนนี้ถือเป็นการสร้างคลังสมองที่สำคัญ เพื่อให้เข้าใจรูปแบบการใช้และความสามารถของโครงสร้างพื้นฐานจากข้อมูลจริง ๆ อย่างเช่น ข้อมูลที่ได้จากสมาร์ทมิเตอร์ การวิเคราะห์ข้อมูลอาจบ่งชี้ถึงพฤติกรรมการใช้พลังงานภายในบ้านเรือนของประชาชนทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การวางแผนการผลิตไฟฟ้า และการเพิ่มกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานในระยะยาว เป็นต้น ส่วนองค์ประกอบสุดท้ายเป็นเรื่องของการจัดการหรือการบริหารเมือง ซึ่งจะเป็นการปรับใช้ผลในการวิเคราะห์ในการควบคุมจัดการโครงสร้างพื้นฐาน หรือ พฤติกรรมต่าง ๆ ของประชากร ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ระบบสัญญาณไฟจราจร ถ้าระบบมีความเป็นอัจฉริยะหลังจากได้รับข้อมูลกระแสจราจร และความแออัดในถนนต่าง ๆ ระบบวิเคราะห์จะสามารถระบุถึงการปรับเปลี่ยนระยะเวลาสำหรับสัญญาณไฟที่จุดต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางในการเดินทาง และความแออัดในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที หรืออาจจะเป็นการจัดการในรูปแบบการให้ข้อมูลกับทางประชากรถึงสถานะปัจจุบันของโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปรับพฤติกรรมได้
การพัฒนาเมืองแบบ Smart City ถือว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่ผู้ประกอบการได้ให้ความสำคัญ จากข้อมูลเบื้องต้น บริษัทด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำต่าง ๆ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างสินค้า และโอกาสทางธุรกิจในด้าน Smart City อย่างดุเดือด โดยบริษัทเหล่านี้เล็งเห็นถึงโอกาสได้การก้าวข้ามภาคธุรกิจเดิมในภาคผู้อุปโภคบริโภครายย่อยไปสู่การให้บริการในด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในกับภาครัฐ และการพัฒนาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างฐานธุรกิจ และชื่อเสียงของบริษัทในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง
หัวเมืองใหญ่ ๆ ในต่างประเทศได้เริ่มความเป็นนครอัจฉริยะมาอย่างช้านาน ประเทศไทยเองก็เริ่มก้าวสู่ความเป็นนครแห่งอัจฉริยะด้วยเช่นกัน ต่อจากนี้ไป Smart City จะกลายรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจให้มีศักยภาพทันต่อยุคสมัย อีกทั้งยังเป็นมิติใหม่ของการแข่งขันในการพัฒนาเมืองยุคไอทีปัจจุบันนี้เช่นกันครับ
เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
sedthakarn@se-ed.com