สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจของบ้านเราต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น แต่ปัจจุบัน เนื่องจากเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในประเทศของกลุ่มประเทศเหล่านั้น จึงทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกในบ้านเรามีตัวเลขที่ลดต่ำลง ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการคือ การแสวงหาตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ รองรับผลผลิตของไทยโดยเฉพาะผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมที่ไทยเป็นฐานการผลิตและมีศักยภาพ ประกอบกับภาวะค่าแรงของไทยมีการปรับสูงทัดเทียมกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตของอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ก็ลดน้อยถอยลง การเร่งหาฐานการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม รวมถึงการเป็นแหล่งลงทุนใหม่ทางด้านอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น
สอดคล้องกับข้อมูลของทาง สศอ. ซึ่ง นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้มีการเปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อก่อนเรามักจะมองว่า จีนเป็นแหล่งลงทุนและเป็นฐานการผลิตสำคัญของเอเชีย แต่อันที่จริงแล้วยังมีอินเดียอีกประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพด้านการลงทุนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า เนื่องจากอินเดีย มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในปี 2028 และเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก ในปี 2020 อินเดียจะได้ชื่อว่าเป็น The Most Working Country in the World เนื่องจากจะมีประชากรอินเดียเพิ่มขึ้นแซงหน้าจีน มีการลงทุนจากต่างประเทศ สะสมตั้งแต่ปี 2543-2557 อยู่ที่ 238,748 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับภาคอุตสาหกรรมอินเดีย มีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรม ภายใต้ชื่อ Make in India ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวจะทำให้อินเดียกลายเป็น Factory of the World ภายในปี 2028 อีกด้วย
นอกจากนั้น ยังพบว่า ขนาดเศรษฐกิจของประเทศอินเดีย (GDP) ในปี 2014 อัตราเติบโตร้อยละ 7.2 มีมูลค่า 2.05 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2015 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.5 คิดเป็นมูลค่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2020 คาดว่า GDP เติบโตร้อยละ 7.8 คิดเป็นมูลค่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจาก GDP ของอินเดียในปี 2020 ที่เพิ่มขึ้นนั้น ปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนคือ GDP ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 70.5 มาจากนโยบาย Make in India ซึ่งนโยบายดังกล่าว รัฐบาลอินเดียได้สนับสนุนการลงทุนใน 25 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เคมี เทคโนโลยีสารสนเทศ ยา สิ่งทอ ท่าเรือ การบิน เครื่องหนัง การท่องเที่ยว สุขภาพ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นอกจากนี้ เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญและมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมของอินเดีย ในโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตกับไทย ได้แก่ มุมไบ เชนไน เดลี และกัลกัตตา ซึ่งทั้ง 4 เมืองอยู่ภายใต้การศึกษากลยุทธ์การสร้างความเชื่อมโยงด้านเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียเพื่อรองรับการเชื่อมโยงในภูมิภาค ของ สศอ. โดยเฉพาะเชนไนและกัลกัตตา เป็นเมืองที่รัฐบาลอินเดียกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ภายใต้โครงการ Golden Quadrilateral ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยง โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายของเมียนมาร์ไปยังเมืองเชนไน อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง-อินเดีย
ซึ่งผลการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียและ 4 เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ยางพารา และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์พบว่า ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ และตัวถังรถยนต์ทุกประเภทมีโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มและการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียมากที่สุด สำหรับอุตสาหกรรมยางพารา ผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียมากที่สุดคือ ยางแท่ง ยางแผ่นและล้อยางยานพาหนะ และสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์พบว่า เครื่องปรับอากาศ และคอมเพรสเซอร์ มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มและการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียได้มากที่สุดตามลำดับ
จากข้อมูลดังกล่าวนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมไทย ในการขยายการส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดใหม่ ๆ และที่สำคัญคือ เรามีความได้เปรียบในเรื่องของสินค้าคุณภาพที่สามารถตอบโจทย์กับความต้องการได้ ดังนั้นการศึกษาถึงลู่ทางรวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการชาวไทยควรให้ความสำคัญในขณะนี้ครับ
เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
sedthakarn@se-ed.com