กองบรรณาธิการ
นายไบรอันด์ เกรียร์
ประธานบริษัท ในเครือฮันนี่เวลล์
ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
ฮันนี่เวลล์คาดการณ์ว่า นับจากนี้ต่อไปการเติบโตทางธุรกิจส่วนใหญ่จะมาจากภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง (HGR) อันประกอบด้วยประเทศไทย ตุรกี เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง อินโดนีเซีย เม็กซิโก บราซิล มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และแอฟริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนมีการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว มีความต้องการทางด้านพลังงานและทรัพยากรสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ทางด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
สอดคล้องจากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รายได้ของฮันนี่เวลล์ในภูมิภาคนี้เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจาก 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ.2548 มาเป็น 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ.2558 และคาดว่าภูมิภาคนี้จะสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้ในสัดส่วนร้อยละ 55 ของการเติบโตรวม และคาดการณ์ต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าภูมิภาคแห่งนี้จะสร้างการเติบโตได้ถึงร้อยละ 60 หรือมากกว่า
นายไบรอันด์ เกรียร์ ประธานบริษัท ในเครือฮันนี่เวลล์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในกลุ่มภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงดังกล่าว ซึ่งมีความได้เปรียบทางด้านยุทธศาสตร์ของระบบการค้าอาเซียนและของโลกมายาวนาน อาทิเช่น ความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อมทางระบบนิเวศน์ที่เอื้ออำนวยและการขยายตัวเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง จึงเป็นโอกาสดีที่ฮันนี่เวลล์ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนเป็นประเทศแรก เพื่อรุกสู่ตลาดอาเซียนต่อไป เนื่องจากมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้านด้วยกัน”
นายไบรอันด์กล่าวต่อว่า “เราคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของบริษัท จะสูงเกินกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยของไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้า ฮันนี้เวลล์ได้กำหนดเจตนารมย์ระยะยาวที่สำคัญสำหรับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจึงได้มีการลงทุนอย่างจริงจัง และเสริมกำลังบุคลากรเข้ามาในตลาด ให้อำนาจการตัดสินใจได้มากขึ้น และฝึกอบรมความรู้ในด้านต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานเพื่อสร้างการเติบโตในตลาดประเทศไทยและภูมิภาคนี้”
สำหรับการลงทุนในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันฮันนี่เวลล์มีบริษัทในเครือ 3 บริษัทในประเทศไทยได้แก่ บริษัท ฮันนี่เวลล์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดระยอง บริษัท ฮันนี่เวลล์ อิเล็กทรอนิกส์ แมธีเรียลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี และบริษัท อันนี่เวลล์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ โดยมีพนักงานรวมกันทั้งหมดประมาณ 400 คน
ส่วนธุรกิจของฮันนี่เวลล์ในประเทศไทยที่โดดเด่นได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์และการบริการด้านการบินและอวกาศ อาทิ การวางระบบกลไกและระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ให้กับเครื่องบินของสายการบินไทย 2.ธุรกิจเทคโนโลยีและโซลูชั่นด้านที่พักอาศัยและอาคาร และโซลูชั่นด้านความปลอดภัยและการเพิ่มผลผลิต อาทิ ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบควบคุมไฟฟ้าหลักของศูนย์ FYI Center การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานไปรษณีย์ไทย 3.ธุรกิจระบบการคมนาคมขนส่ง อาทิ การผลิตเทอร์โบชาร์จเจอร์ให้นิสสันสำหรับรถบรรทุกขนาดเล็ก 4.ธุรกิจวัตถุดิบประสิทธิภาพและเทคโนโลยี อาทิ การให้บริการที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและกระบวนการเกี่ยวกับก๊าซให้กับ ปตท. ไทยออยล์ ไออาร์พีซี บางจาก และเอสโซ่ เป็นต้น
นายไบรอันด์กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางการทำธุรกิจในปี 2560 ฮันนี่เวลล์ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปี 2559 และคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มอีก 3 โครงการ ในส่วนโซลูชั่นและการขยายโรงงาน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ในขณะนี้ ส่วนแผนการทำธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า (2560-2564) บริษัทตั้งเป้ารายได้ในไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์เติบโตเกือบ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากรายได้ปีที่ผ่านมาที่มีรายได้รวม 3 ประเทศอยู่ที่ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยยังคงพยายามจะลงทุนในทุกกลุ่มธุรกิจเพื่อบริหารความเสี่ยงตามภาวะเศรษฐกิจ
“นอกจากนี้ บริษัทยังคงมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในการสร้างนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาด้วยยุทธศาสตร์หลักของเราคือ ‘East for East, East to Rest’ ซึ่งเป็นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขึ้นเองโดยตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริงภายในภูมิภาคตะวันออก (โดยเน้นประเทศจีนและอินเดียเป็นส่วนใหญ่) และถ่ายทอดไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลกต่อไป ส่วนในประเทศไทยนั้น ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าของภูมิภาคและของโลก จึงหวังว่าจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นที่นี่และสามารถถ่ายทอดไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกได้ในอนาคต”
ทิศทางของอุตสาหกรรมปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 โดยที่เครื่องจักร หรือระบบอัตโนมัติสามารถเชื่อมต่อถึงกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมากขึ้น กลายเป็นสมาร์ทแฟคทอรี่ สมาร์ทแมชีน ที่สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายและตรงกับความต้องการของลูกค้า ลดต้นทุนการผลิตและแรงงานมนุษย์ เทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมนี้ก็คือ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของการ์ทเนอร์ ที่ได้เผยผลสำรวจทั่วโลกว่า 43% ของอุตสาหกรรมได้เริ่มใช้งานหรือวางแผนที่จะใช้ IoT ในปีนี้ โดย 52% มีการใช้งานเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในและลดค่าใช้จ่าย ในขณะที่ 40% มีการใช้ IoT เพื่อสร้าง Customer Experience ให้ดีขึ้นและเพิ่มรายรับ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของ IoT กำลังถูกจับตามองจากหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย และกลายเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการเปลี่ยนประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัลไทยแลนด์
ในขณะเดียวกัน ฮันนี่เวลล์ โปรเซส โซลูชั่นส์ (เอชพีเอส) ได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้บริหารสายการผลิตพบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ 67% มุ่งลงทุนด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางธุรกิจที่ยากลำบาก โดยให้เหตุผลว่าการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของแนวคิด Internet of Things ในอุตสาหกรรม (IIOT) เป็นโซลูชั่นที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการผลิตหยุดชะงักและการสูญเสียรายได้ ซึ่งผู้บริหารกลุ่มเดียวกันร้อยละ 42% ยังระบุว่าการผลิตที่หยุดชะงักกะทันหันเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งต่อการสร้างรายได้สูงสุด นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ นี้ยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้านด้วยกัน อาทิเช่น งบประมาณในการอัปเกรดเทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอ ประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตที่สูงสุดและยั่งยืน กระบวนการทางด้านซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ หรือแม้แต่การถ่ายทอดทักษะของบุคลากรรุ่นเก่าไปสู่คนรุ่นใหม่ เป็นต้น
มร.แอนโธนี คอร์ริดอร์
รองประธานบริหารระดับโลก ฝ่ายการตลาดและกลยุทธ์
ฮันนี่เวลล์ โปรเซส โซลูชั่นส์ (เอชพีเอส)
มร.แอนโธนี คอร์ริดอร์ รองประธานบริหารระดับโลก ฝ่ายการตลาดและกลยุทธ์ เอชพีเอส กล่าวว่า “ผู้บริหารในสายการผลิตต้องการให้การผลิตดำเนินไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย โดยใช้เทคโนโลยี IIoT ช่วยกำหนดทิศทางของธุรกิจแม้ในช่วงที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายก็ตาม และการที่ผู้บริหารให้ความเห็นว่าการบริหารเครื่องจักรในโรงงานผลิตมีความยากลำบากมากกว่าที่ควรเป็น ชี้ให้เห็นปัญหาที่มีอยู่มากมาย ตั้งแต่เครื่องจักรเสียหายไปจนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งปัญหาเหล่านั้นยังนำไปสู่การหยุดผลิตบ่อยขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งทำให้สูญเสียรายได้ หรือแม้แต่เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายหลาย ๆ ด้าน เห็นได้ชัดเจนว่าหลายบริษัทรู้สึกกดดันที่จะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ด้วยเทคโนโลยี IIoT ที่มีประสิทธิภาพของฮันนี่เวลล์จะสามารถช่วยให้บริษัทเหล่านี้หลุดพ้นจากวงจรดังกล่าวได้ ซึ่งกว่า 40 ปีที่ฮันนี่เวลล์นำเสนอเทคโนโลยีชั้นนำในกลุ่มออโตเมชั่นซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตบรรลุเป้าหมาย และในเวลานี้ IIoT จะเป็นเทคโนโลยีที่มาช่วยในการพัฒนาขั้นต่อไป”
“การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารทำให้เราเห็นภาพชัดเจน ผู้บริหารเหล่านี้มีความเชื่อมั่นที่ถูกต้องว่าการวิเคราะห์ข้อมูลจะช่วยให้พวกเขารับมือกับภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดในการดำเนินธุรกิจ นั่นคือการหยุดการผลิตอย่างกะทันหัน ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่าการลงทุนเพิ่มเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล และแม้ว่าผู้บริหารบางคนไม่เชื่อว่าพวกเขาต้องการเทคโนโลยีนี้ ขณะที่บางคนระบุว่าไม่มีทรัพยากรที่จะดำเนินการได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากเรื่องของอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ ในภาคอุตสาหกรรม (IIoT) ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก แต่ข่าวดีก็คือ การนำ IIoT มาใช้ไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด เนื่องจากเทคโนโลยีนี้เป็นการวิวัฒนาการ ไม่ใช่การปฏิวัติ เราจึงสามารถดำเนินการเป็นระยะหรือเป็นลำดับขั้นได้โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละบริษัท”
ฮันนี่เวลล์ โปรเซส โซลูชั่นส์ (www.honeywellprocess.com) ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจเชิงกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีและวัตถุดิบ จะทำหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมความก้าวหน้าทางด้าน IIoT ในประเทศไทยและภูมิภาค เนื่องจากมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี IoT จากการผสมผสานความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม เข้ากับขีดความสามารถด้านไอทีล่าสุด มีพอร์ตโฟลิโอที่ครบครันในด้านโซลูชั่นเพื่อการป้องกันความปลอดภัยในโลกออนไลน์สำหรับอุตสาหกรรม มีผลงานที่ได้รับการยอมรับเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพในองค์กร โดยทีมผู้เชี่ยวชาญของฮันนี่เวลล์ ทั้งด้านไอทีและความเชี่ยวชาญด้านปฏิบัติการ ที่ปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้เกิดขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการทำงานของพนักงาน ช่วยให้จัดการข้อมูลได้ดีขึ้น กลั่นกรองเป็นความรู้ที่หยั่งลึก และช่วยให้อุตสาหกรรมตอบสนองความความต้องการ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้
บริการที่หลากหลายจาก ฮันนี่เวลล์ โพรเซส โซลูชั่นส์
แผนผังการทำงานของผลิตภัณฑ์ฮันนี่เวลล์ โดยการเชื่อมโยงเข้ากับส่วนต่าง ๆ ภายในโรงงาน
ซึ่งฮันนี่เวลล์เชื่อว่าการจะนำ IIoT มาใช้ให้ประสบผลสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ด้าน ซึ่งหากทำได้ ผู้ผลิตจะสามารถสร้างมูลค่าให้สูงขึ้นได้มากทีเดียว ด้านแรก คือ การรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง เพราะข้อมูลได้มาจากหลายระบบแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนการทำงาน ข้อมูลสิ่งแวดล้อม และข้อมูลที่ยังอยู่ในเครื่องมือวิเคราะห์หรืออุปกรณ์ที่ทำงานหมุนเวียนกัน เหล่านี้ จะต้องนำข้อมูลมารวมกัน ด้านที่สอง คือ ต้องสามารถเคลื่อนย้ายข้อมูลได้อย่างปลอดภัย จากโรงงานเข้าไปยังระบบเอ็นเตอร์ไพรซ์ขององค์กร ที่มีระบบวิเคราะห์หรือความเชี่ยวชาญในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สำหรับทั้งองค์กรได้ ซึ่งรวมถึงโซลูชั่นการป้องกันภัยทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพที่ทางฮันนี่เวลล์ภูมิใจนำเสนอให้แก่ลูกค้า และ ด้านที่สาม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ ความสามารถในการเลือกใช้ความเชี่ยวชาญจากพันธมิตรที่มีอยู่ในระบบนิเวศน์คลาวด์ได้อย่างปลอดภัย พันธมิตรเหล่านี้รวมถึง เจ้าของลิขสิทธิ์กระบวนการผลิต และผู้ผลิตโออีเอ็ม ที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เพิ่มเติมเข้ามาได้ ดังนั้น IIoT จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่การติดตามผล แต่ยังเกี่ยวกับการใช้ความรู้ด้านการวินิจฉัย เพื่อคาดการณ์และป้องกันข้อผิดพลาด ซึ่งฮันนี่เวลล์ โพรเซส โซลูชั่นส์ ล้วนรองรับความสามารถทั้ง 3 ด้าน ทำให้สามารถส่งมอบผลิตภาพที่มีคุณภาพแก่ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
“การเติบโตและความพร้อมที่จะเข้าสู่ IIoT ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนนั้นยังมีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านที่เหมาะสม ทั้งในเรื่องของยุทธศาสตร์การค้าการลงทุน ซึ่งภาพรวมการลงทุนของอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนสูงถึงประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อุตสาหกรรมที่โดดเด่นได้แก่ ออยล์แอนด์แก๊ส อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมกระดาษ เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ฮันนี้เวลล์มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี IoT ที่จะผสมผสานความเชี่ยวชาญเข้าไปดูแลลูกค้าในทุกอุตสาหกรรม” มร.แอนโธนี คอร์ริดอร์ กล่าวทิ้งท้าย
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด