Safety & Healthcare

ความสำคัญของอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 21)

ศิริพร วันฟั่น

 

 

ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันในชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “CSR” กำลังกลายเป็นกระแสที่มาแรง ซึ่งหากจะมองโดยเผิน ๆ ก็จะเป็นแค่เรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเท่านั้น แต่หากจะมองให้ลึกซึ้งถึงที่ไปที่มาและความจำเป็นของซีเอสอาร์แล้ว คงต้องกลับไปดูกันตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุว่า ทำไมองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

 

     สำหรับหัวข้อย่อย (3.3) ชุดฝึกอบรมสำหรับการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Training Package) ที่ประกอบไปด้วย 18 โมดูลพร้อมกับเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ในตอนที่ 13–20 ได้กล่าวถึงเนื้อหาโมดูลที่ 5 “การบ่งชี้และจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Identification and Classification)” โดยได้กล่าวจนมาถึงหัวข้อที่ 4.การติดฉลากและสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายตามระบบ GHS ดังนั้นในตอนนี้ก็จะขอกล่าวต่อตามเนื้อหาด้านล่าง

 

          4.การติดฉลากและสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายตามระบบ GHS ก่อนหน้านี้ วิทยากรได้เกริ่นนำให้ผู้เข้าอบรมได้รับรู้ในเบื้องต้นกันไปแล้ว เกี่ยวกับว่า ระบบ GHS คืออะไร เหตุผลความจำเป็นที่ควรมีระบบนี้ ความเป็นมาและการบังคับใช้ระบบ GHS ในประเทศไทย ลำดับถัดไปก็จะได้กล่าวต่อถึงเนื้อหาของระบบ GHS ไม่ว่าจะเป็น จุดมุ่งหมาย ประโยชน์ ขอบข่ายการใช้งาน สาระสำคัญ ประเภทความเป็นอันตรายและการสื่อสารข้อมูลบนฉลาก ข้อมูลที่จำเป็นบนฉลาก GHS และรูปสัญลักษณ์ (GHS Pictograms) ที่สัมพันธ์กับประเภทความเป็นอันตราย ตลอดจนเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS)

 

          จุดมุ่งหมายของระบบ GHS คือ 1) เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากสารเคมี โดยให้มีการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีด้วยฉลาก และข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี 2) เป็นแนวทางสำหรับประเทศที่ไม่มีระบบการจำแนกและติดฉลากสารเคมี 3) ลดความซ้ำซ้อนของการทดสอบและการประเมินสารเคมี 4) อำนวยความสะดวกในด้านการค้าสารเคมีระหว่างประเทศ โดยมีการประเมินและระบุความเป็นอันตรายของสารเคมีภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน

 

          ขอบเขตการนำระบบ GHS ไปใช้ 1) ครอบคลุมสารเคมีอันตรายทุกชนิด สารละลายเจือจาง (Dilute Solutions) และสารผสม (Mixtures) 2) ไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม (ยารักษาโรค) วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additives) เครื่องสำอาง และสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างอยู่ในอาหาร (Pesticide Residues in Food)

 

          กลุ่มเป้าหมาย 1) สถานประกอบกิจการ (Workplace) จะเกี่ยวข้องในส่วนของฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี 2) ผู้บริโภค (Consumers) จะเกี่ยวข้องในส่วนของฉลาก 3) การขนส่ง (Transport) จะเกี่ยวข้องในส่วนของฉลาก ป้ายแสดงความเป็นอันตราย และเอกสารการขนส่ง และ 4) เจ้าหน้าที่กู้ภัย (Emergency Responders) จะเกี่ยวข้องในส่วนของฉลากและป้ายแสดงความเป็นอันตราย

 

          ประโยชน์ที่ได้รับ 1) กลุ่มคนงาน ผู้ใช้สารเคมี และผู้บริโภค–ส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้สารเคมีผ่านการสื่อสารความเป็นอันตรายที่เป็นรูปแบบเดียวกันและเข้าใจง่าย, ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงอันตรายของสารเคมี และใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย 2) ภาคธุรกิจ–ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและการขนส่งสารเคมี และสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนงานที่ใช้สารเคมี, เพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎระเบียบในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีเนื่องจากทุกภาคส่วนใช้ระบบเดียวกัน, ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวเนื่องจากการลดลงของอุบัติเหตุและการรักษาพยาบาลที่เกิดจากสารเคมี, ส่งเสริมภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสถานประกอบกิจการและผลิตภัณฑ์, อำนวยความสะดวกด้านการค้าสารเคมีระหว่างประเทศ ลดความซ้ำซ้อนในการจัดทำฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัย 3) ภาครัฐ–ลดอุบัติเหตุจากสารเคมี และภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดจากสารเคมี, ส่งเสริมการปกป้องสุขภาพคนงานและผู้บริโภคจากอันตรายของสารเคมี, ลดค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกในการประสานความร่วมมือในด้านกฎระเบียบ การบังคับใช้ และการเฝ้าระวัง, ส่งเสริมการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ   

 

          ข้อจำกัดของการนำระบบ GHS ไปใช้ เนื่องจากการบริหารจัดการสารเคมี (Chemical Management) ในสถานประกอบกิจการมีเป้าหมายหนึ่งคือการใช้งานสารเคมีได้อย่างปลอดภัย โดยทั่วไปก็จะใช้ระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management System) มีการประเมินความเสี่ยง เพื่อให้ทราบถึงระดับความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงจะเท่ากับอันตรายคูณกับการได้รับสัมผัส แต่ระบบ GHS จะใช้การจำแนกความเป็นอันตรายและสื่อสารความเป็นอันตรายนั้น ๆ ผ่านทางฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัย ซึ่งเป็นการบ่งบอกแต่เฉพาะอันตรายของสารเคมี ที่เป็นการประเมินความเป็นอันตรายตามคุณสมบัติของสารเคมีโดยตรง โดยไม่ได้บอกถึงความเสี่ยง ดังนั้น ในการสื่อสารความเป็นอันตราย จึงต้องเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลดการรับสัมผัสสารเคมี เพราะเป็นการทำให้ความเสี่ยงจากอันตรายของสารเคมีลดลง

 

          ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ.2555 ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้วว่า ไทยได้นำระบบ GHS มาประยุกต์ใช้ภายใต้ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งครอบคลุมวัตถุอันตรายที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม วัตถุอันตรายทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ในที่นี้จะกล่าวแต่เฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับระบบ GHS นั่นคือ 1) พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2535 จะว่าด้วยการกำกับดูแล โดยโรงงานที่มีการใช้สารเคมี มีหน้าที่ต้องใช้ฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัยที่มาจากผู้ผลิตเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ส่วนโรงงานผู้ผลิตสารเคมี มีหน้าที่ต้องจัดทำฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัย เพื่อสื่อสารไปยังผู้ใช้ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ และ 2) พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ว่าด้วยการกำกับดูแล ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก และผู้มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย โดยที่วัตถุอันตรายจะมีรายชื่ออยู่ในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบจำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย่างไรก็ดี วัตถุอันตรายตามกฎหมายฉบับนี้จะไม่ครอบคลุมสารเคมีทั้งหมด และจากวัตถุอันตรายที่ควบคุมตามบัญชีรายชื่อฯ มีประมาณ 1,700 รายการ จะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประมาณ 500 รายการ

               

          ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ.2555 (ที่ได้นำระบบ GHS มาประยุกต์ใช้) มีผลใช้บังคับเมื่อ 13 มี.ค.2555 มีสาระสำคัญ คือ

          1) ใช้บังคับกับวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบ ยกเว้นของเสียเคมีวัตถุ (Chemical Wastes) และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว   

          2) ให้ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าซึ่งวัตถุอันตรายที่เป็นสารเดี่ยวและสารผสมต้องดำเนินตามข้อกำหนดว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย (ที่ระบุไว้ในแนบท้ายประกาศ) ดังนี้ 2.1) จำแนกความเป็นอันตรายทางกายภาพ 16 ประเภท ความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ 10 ประเภท และความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม 2 ประเภท 2.2) ติดฉลาก 2.3) จัดทำเอกสารข้อมูลความปลอดภัย ทั้งนี้ สารเดี่ยว (Substance) ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี (พ.ศ.2556) และสารผสม (Mixture) ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2560) นับจากวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

          3) การส่งออกซึ่งวัตถุอันตราย ต้องมีการจำแนกความเป็นอันตราย ติดฉลากวัตถุอันตราย และจัดทำเอกสารข้อมูลความปลอดภัย ให้เป็นไปตามข้อกำหนดว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย ยกเว้นกรณีประเทศคู่ค้ามีข้อกำหนดเกี่ยวกับกรณีนี้เป็นการเฉพาะ

          4) ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย มีหน้าที่ต้องสื่อสารความเป็นอันตรายในรูปแบบฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัยที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจัดทำ ตามข้อ 2 แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายนั้น ๆ ได้อย่างปลอดภัย

 

หมายเหตุ

  • ‘สารเดี่ยว (Substance)’ หมายถึง ธาตุ หรือสารประกอบที่อยู่ในธรรมชาติ หรือเกิดจากกระบวนการผลิตต่าง ๆ ทั้งนี้ รวมถึงสารเติมแต่ง (Additives) ที่จำเป็นในการรักษาความเสถียรของสารเดี่ยว หรือสารเจือปนที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต แต่ไม่รวมถึงสารตัวทำละลายที่สามารถแยกออกมาจากสารเดี่ยวได้โดยไม่มีผลต่อความเสถียรของสารเดี่ยวหรือไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของสารเดี่ยว
  • ‘สารผสม (Mixture)’ หมายถึง สารผสมหรือสารละลายที่ประกอบด้วยสารเดี่ยวสองชนิด หรือมากกว่าที่ไม่ทำปฏิกิริยาต่อกัน

 

          สาระสำคัญของระบบ GHS ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ

 

          1) การจำแนกความเป็นอันตราย (Hazard Classification) เพื่อระบุลักษณะสมบัติที่เป็นอันตรายของวัตถุอันตราย (ทั้งสารเดี่ยวและสารผสม) โดยมีเกณฑ์การจำแนกความเป็นอันตรายไว้ในภาคผนวกของคู่มือสำหรับระบบ GHS หรือตารางที่ 1 แนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ.2555 ที่ได้จำแนกความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย ออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ความเป็นอันตรายทางกายภาพ (Physical Hazards) ความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (Health Hazards) และความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Hazards) ความเป็นอันตรายในแต่ละกลุ่มนี้ จะถูกจำแนกออกเป็น ‘ประเภท (Class)’ ที่พิจารณาตามความเป็นอันตรายทางกายภาพ 16 ประเภท ความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ 10 ประเภท และความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม 2 ประเภท) และมีการจำแนกประเภทความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่อยู่ในประเภทเดียวกันออกเป็นประเภทย่อย (Division/Category/Type) ตามระดับความรุนแรงของความเป็นอันตรายหรือความเป็นพิษ ยกตัวอย่างเช่น Acrylic Acid ถูกจำแนกอยู่ในกลุ่มความเป็นอันตรายทางกายภาพ อยู่ในกลุ่มประเภท ‘ของเหลวไวไฟ (Class Flammable Liquid)’ และระดับความรุนแรงของความเป็นอันตรายอยู่ใน ‘ประเภทย่อย (Category) 3’

 

ตารางที่ 46 การจัดกลุ่มวัตถุอันตรายในระบบ GHS ตามความเป็นอันตราย

 

 

          2) การสื่อสารความเป็นอันตราย (Hazard Communication) ประกอบไปด้วย การติดฉลาก (Labelling) และจัดทำเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheets–SDS) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

          2.1) ฉลาก (Labels) เป็นข้อความ รูปสัญลักษณ์ รูปภาพ หรือสิ่งอื่นใดที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อวัตถุอันตราย เพื่อสื่อสารถึงความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายนั้น ๆ โดยฉลากที่ติดต้องมีขนาดที่เหมาะสมตามขนาดของบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อวัตถุอันตราย และเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งองค์ประกอบของฉลากตามระบบ GHS มีดังนี้ คือ

 

  • รูปสัญลักษณ์ (Pictograms) เป็นข้อมูลเชิงภาพที่ประกอบด้วยสัญลักษณ์สีดำ มีกรอบสีแดงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดบนพื้นขาว ซึ่งมีการใช้รูปสัญลักษณ์จำนวน 9 รูปเพื่อสื่อข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับสารอันตราย
  • คำสัญญาณ (Signal Words) เป็นคำที่ใช้เพื่อบ่งชี้ระดับความรุนแรงและเตือนผู้อ่านถึงความเป็นอันตรายของสารนั้น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยใช้คำว่า ‘Danger หรือ อันตราย’ และ ‘Warning หรือ ระวัง’
  • ข้อความแสดงความเป็นอันตราย (Hazard Statements) เป็นวลีที่กำหนดขึ้นสำหรับประเภทและกลุ่มความเป็นอันตราย ที่อธิบายลักษณะความเป็นอันตรายของสารอันตราย รวมถึงระดับความเป็นอันตราย (the Degree of Hazard) ตามความเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ประเภทย่อย 1–ทำให้เสียชีวิตถ้ากลืนกิน, ประเภทย่อย 3–เป็นพิษเมื่อกินเข้าไป
  • ข้อความและรูปสัญลักษณ์แสดงข้อควรระวัง (Precautionary Statements and Pictograms) เป็นข้อความหรือรูปสัญลักษณ์ ที่ระบุมาตรการแนะนำวิธีการปฏิบัติเพื่อลดหรือป้องกันการเกิดผลร้ายที่เกิดจากการรับสัมผัสวัตถุอันตราย หรือการจัดเก็บ หรือการจัดการวัตถุอันตรายที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น เก็บให้ห่างจากเปลวไฟ ใช้ถุงมือป้องกัน
  • ตัวบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ (Product Identifier) เป็นการระบุชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อสารเคมีที่เป็นสาระสำคัญ หรือสารอันตรายในผลิตภัณฑ์และปริมาณความเข้มข้น โดยต้องให้สอดคล้องกับชื่อผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย และต้องแสดงด้วยชื่อสามัญ (Common Name) และชื่อตามระบบไอยูแพ็ค (IUPAC Names) หรือชื่อทางการค้า กรณีที่วัตถุอันตรายที่เป็นสารเดี่ยวและสารผสมอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของสหประชาชาติเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าอันตราย ต้องระบุชื่อที่ถูกต้องในการขนส่ง (UN Proper Shipping Name) ที่หีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการขนส่งด้วย
  • การระบุผู้จัดจำหน่าย (Supplier Identification) เป็นการระบุชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายวัตถุอันตราย หรือหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินบนฉลาก
  • ข้อมูลอื่น ๆ (Any other additional information) เป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปในฉลาก อันได้แก่ ข้อมูลความเป็นอันตรายที่นอกเหนือไปจากการจำแนกประเภทตาม GHS ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ครอบคลุมใน GHS และความเป็นอันตรายที่เฉพาะของผลิตภัณฑ์นั้น หรือถ้ากฎหมายในประเทศมีการให้ข้อบ่งชี้ของผลิตภัณฑ์นั้น ก็ต้องแสดงบนฉลากด้วย และถ้าผลิตภัณฑ์มีหมายเลขสหประชาชาติ (UN Number) และหมายเลขที่เป็นแนวทาง (Guiline Number) ที่สอดคล้องกับหมายเลขสหประชาชาติ ก็ให้แสดงทั้งหมายเลขสหประชาชาติและหมายเลขที่เป็นแนวทาง

 

ตารางที่ 47 รูปสัญลักษณ์ (Pictograms) ในระบบ GHS จำแนกตามประเภทความเป็นอันตราย

 

 

ตัวอย่างที่ 15 ฉลากติดบนภาชนะบรรจุสารเคมีตามระบบ GHS

 

 

          2.2) เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet-SDS) จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารเดี่ยวหรือสารผสม เพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบกิจการทั้งผู้ว่าจ้างและผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลเฉพาะด้านของความเป็นอันตรายทางกายภาพ เคมี สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม และใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับมาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับการจัดการสารเคมีอันตรายในสถานประกอบกิจการ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ การเก็บรักษา การขนส่ง การกำจัด และการจัดการอื่น ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงาน และการจัดการสารเคมีเป็นไปอย่างถูกต้องปลอดภัย และสามารถตอบโต้เหตุฉุกเฉินกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดการรั่วไหลได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตามระบบ GHS ได้กำหนดข้อมูลที่ต้องระบุในเอกสาร 16 หัวข้อ (ตารางที่ 48) เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเป็นระบบเดียวกันทั่วโลก

 

ตารางที่ 48 แสดงหัวข้อของข้อมูลในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS)

 

 

          สำหรับโมดูลที่ 5 “การบ่งชี้และจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Identification and Classification)” ถ้านับถึงตอนนี้ เท่ากับว่าวิทยากรได้นำเสนอและอธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบถึงการบ่งชี้อันตราย (Hazard Indentification) การจำแนก (Classification) และการอ่านข้อมูลบนฉลาก (Labells) ของสารเคมีอันตราย เสร็จสิ้นแล้วทั้ง 4 ระบบซึ่งเป็นระบบมาตรฐานสากลที่นิยมใช้กัน อันได้แก่ (1) ระบบการจำแนกประเภท การติดฉลากและบรรจุภัณฑ์สำหรับสารเดี่ยวหรือสารผสมของสหภาพยุโรป ทั้งฉบับเดิม (DSD/DPD) และฉบับใหม่ (CLP), (2) NFPA 704: Hazard Rating System ที่เป็นระบบมาตรฐานสำหรับบ่งชี้ความเป็นอันตรายของวัสดุเพื่อใช้ในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ที่กำหนดและรักษามาตรฐานโดยสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ (NFPA) ของสหรัฐอเมริกา (3) รูปสัญลักษณ์การขนส่ง (Transport Pictograms) ตามข้อกำหนดของกฎระเบียบต้นแบบมาตรฐานตามข้อแนะนำของสหประชาชาติ (UN Model Regulations) ว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตราย โดยเน้นไปที่ข้อตกลงยุโรปว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนน (ADR) และ (4) ระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลกหรือระบบ GHS ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดก็จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโมดูลที่ 5 ที่มุ่งให้ผู้เข้าอบรมได้มีความรู้พื้นฐานในการบ่งชี้โดยง่ายถึงสารเคมีอันตรายและสมบัติของสารเหล่านี้ ผ่านทางข้อมูลบนฉลากและระบบจำแนกอันเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล

               

          ลำดับถัดไป วิทยากรก็ควรทำการทบทวนเนื้อหาการอบรม และแบ่งกลุ่มให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองทำแบบฝึกหัด การบ่งชี้ฉลากและสัญลักษณ์ที่ได้เรียนรู้กันไป โดยอาจจะสอบถามในประเด็นเหล่านี้ เช่น ฉลากแบบใดที่พบอยู่โดยทั่วไปสำหรับสารเคมีที่ใช้อยู่ในสถานประกอบกิจการของตนเอง รู้ถึงความหมายที่สื่อบนฉลากนั้นหรือไม่ ลองยกตัวอย่างฉลากเคมีภัณฑ์พร้อมแปลความหมายของการสื่อสารความเป็นอันตราย เป็นต้น 

 

ข้อแนะนำสำหรับการแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัด

 

  • แบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัดตามความเหมาะสมของจำนวนผู้เข้าอบรม มีการทบทวนการบ่งชี้อันตราย (Hazard Identification) โดยไม่จำเป็นต้องมีแบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษา (Mock Case–study) จุดประสงค์ของการแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัดก็เพื่อช่วยให้ผู้เข้าอบรมมีความคุ้นเคยกับฉลากทั้ง 4 รูปแบบ ดังเช่น ความเป็นอันตรายพร้อมกับรูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายของระบบการจำแนกประเภท การติดฉลากและบรรจุภัณฑ์สำหรับสารเดี่ยวหรือสารผสมของสหภาพยุโรป ทั้งฉบับเดิม (DSD/DPD) และฉบับใหม่ (CLP), รูปสัญลักษณ์พร้อมประเภทความเป็นอันตรายของระบบ GHS, รูปสัญลักษณ์การขนส่ง (Transport Pictograms) ตามข้อกำหนดของกฎระเบียบต้นแบบมาตรฐานตามข้อแนะนำของสหประชาชาติ (UN Model Regulations) ว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตราย โดยเน้นไปที่ข้อตกลงยุโรปว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนน (ADR) และป้าย NFPA 704: Hazard Rating System ที่จะให้รูปสัญลักษณ์แจ้งเตือนอันตราย เพื่อคุ้มครองป้องกันสุขภาพและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่กู้ภัย เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการวางแผนเพื่อปฏิบัติการควบคุมเพลิงไหม้ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ (ที่รวมทั้งการทำความสะอาดภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจด้วย)
  • การแบ่งกลุ่มผู้เข้าอบรมไม่จำเป็นที่จะต้องมาจากสถานประกอบกิจการที่มีการดำเนินการหรือกระบวนการทำงานกับสารเคมีที่เหมือนหรือคล้ายกัน สามารถที่จะมีความแตกต่างกันได้ ซึ่งจะช่วยสร้างให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นถึงความต้องการของสถานประกอบกิจการอื่น ๆ ที่ต่างออกไปจากตนเอง ที่ท้ายสุดแล้วก็ล้วนก็อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเคมีด้วยกันอยู่ดี
  • ให้เวลาผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่ม 15 นาที ในการทำแบบฝึกหัดโดยการจับคู่ความเป็นอันตรายให้เข้ากับรูปสัญลักษณ์ทั้ง 4 รูปแบบข้างต้น ซึ่งทำได้ทั้งการกำหนดรูปสัญลักษณ์ไว้ แล้วให้ผู้เข้าอบรมระบุความเป็นอันตรายให้สัมพันธ์กัน หรืออาจจะกำหนดความเป็นอันตรายไว้ แล้วให้ผู้เข้าอบรมระบุรูปสัญลักษณ์ให้สัมพันธ์กันก็ได้เช่นเดียวกัน
  • สุดท้าย วิทยากรเฉลยแบบฝึกหัด พร้อมกับเน้นย้ำไปที่ข้อผิดของแบบฝึกหัดที่พบเจออยู่บ่อย ๆ

 

          การประเมินผู้เข้าอบรม ในช่วงระหว่างการฝึกอบรมในโมดูลที่ 5 นี้ ให้สอบถามผู้เข้าอบรมเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจในการใช้ข้อมูลบนฉลากเพื่อบ่งชี้สมบัติและความเป็นอันตรายของสารเคมี และความเข้าใจถึงสมบัติทางเคมีและการจำแนกความเป็นอันตราย ส่วนภายหลังการทำแบบฝึกหัดกลุ่ม ก็ควรสอบถามผู้เข้าอบรมถึงข้อผิดพลาดที่พบอยู่บ่อยครั้งมากที่สุดในเรื่องของการบ่งชี้ความเป็นอันตราย (Hazard Identification) และระบุว่าฉลากประเภทใดที่ผู้เข้าอบรมมีความคุ้นเคยมากที่สุดและเกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์จากการทำงานในสถานประกอบกิจการตนเอง

 

ข้อเสนอแนะอื่นๆ

 

  • การฝึกอบรมในโมดูลที่ 5 นี้ ควรยกระดับการหารือกันในเรื่องของการใช้และอัตถประโยชน์ของฉลากในการเตือนผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้ ให้ได้ทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมีที่ใช้หรือดำเนินการ, มาตรการป้องกันล่วงหน้า (Precautionary Measures) ที่จำเป็น (เช่น การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เพียงพอ) และสิ่งใดที่ต้องทำในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
  • ยกระดับการหารือกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ส่วนบุคคลของผู้เข้าอบรม ซึ่งพบเจอกับสถานการณ์ไม่คาดคิด ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ติดฉลากไว้หรือฉลากชำรุด หรือมีข้อมูลไม่ถูกต้อง ครบถ้วน
  • ผู้เข้าอบรมควรมีส่วนร่วมในการบ่งชี้และพูดคุยว่า สิ่งใดที่พวกเขาสามารถดำเนินการเพื่อปรับปรุงการติดฉลากและการบ่งชี้ความเป็นอันตรายในสถานประกอบกิจการที่ตนเองทำงานอยู่

 

โมดูลที่ 6: การไหลของกระบวนการผลิตและการดำเนินการกับสารเคมี (Process and Chemicals Flow)

 

  • วัตถุประสงค์ก็เพื่อช่วยให้ผู้เข้าอบรมได้เข้าใจว่า สารเคมีอันตรายถูกใช้และตั้งอยู่ที่บริเวณใดของการดำเนินงานภายในพื้นที่สถานประกอบกิจการตนเอง และตระหนักถึงการดำเนินงานภายนอกสถานประกอบกิจการ ที่อาจส่งผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาต่อสิ่งรอบข้างได้ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงกระบวนการจัดหาผลิตภัณฑ์และการบริการ การขนส่งและการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้า ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ผู้เข้าอบรมก็จะสามารถบ่งชี้ความเป็นอันตรายและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสารเคมี เคมีภัณฑ์ และกิจกรรมที่ดำเนินการโดยสถานประกอบกิจการของตนเอง โดยผู้เข้าอบรมต้องปฏิบัติตามวิธีการทีละขั้นตอนอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างทำความเข้าใจถึงการไหลของกระบวนการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการ

 

          วิทยากรสามารถใช้โปรแกรม Powerpoint นำเสนอในเรื่องของการจัดทำแผนที่การไหลของกระบวนการ (Process Flow Mapping) ที่รวมถึง ความหมายและคำอธิบายถึงขอบเขตของกระบวนการ, การระบุ การจัดทำรายการและการจัดลำดับขั้นตอนและกิจกรรมในการไหลของกระบวนการ อีกทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยซัพพลายเออร์ทางตรง (Direct Suppliers) ของสารเคมีอันตราย ตลอดจนในการขนส่งและใช้เคมีภัณฑ์ ผลิตผลพลอยได้ และของเสีย นอกจากนี้ วิทยากรก็ต้องมีการเตรียมเอกสารประกอบการบรรยายไว้ด้วย เพื่อแจกจ่ายให้ผู้เข้าอบรมในระหว่างการแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับการจัดทำแผนภาพการไหลของกระบวนการ (Process Flow Diagram)

 

          รายละเอียดของการฝึกอบรมโมดูลที่ 6 มีดังนี้ คือ

 

  • นำเสนอคำนิยามของการไหลของกระบวนการ ตามที่ระบุไว้ในชุดเครื่องมือการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Toolkit) โดยเน้นย้ำว่า การไหลของกระบวนการจะครอบคลุมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการภายในสถานประกอบกิจการเอง รวมไปถึงกิจกรรมภายนอกของสถานประกอบกิจการด้วย ไล่เรียงไปตั้งแต่กระบวนการจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการ จนกระทั่งถึงกระบวนการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการไปสู่ลูกค้า
  • ส่งเสริมให้ผู้เข้าอบรมได้พูดคุยหารือ และแสดงความคิดเห็นถึงขอบเขตของกระบวนการตามคำนิยาม โดยวิทยากรควรเน้นย้ำให้ผู้เข้าอบรมได้ตระหนักว่า เนื้อหาการอบรมในส่วนนี้ จะเป็นเรื่องของความพยายามที่จะติดตามสืบค้นย้อนกลับไปยังการบริการและวัตถุดิบที่ต้นน้ำ (Upstreem) ของกระบวนการ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์และการบริการที่ปลายน้ำ (Downstreem) เพื่อที่จะให้ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ ถึงความเป็นอันตรายและความเสี่ยงของสารเคมีในห่วงโซ่คุณค่า แม้ว่าการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการจะไม่สามารถส่งผลกระทบต่อกิจกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ต้นน้ำและปลายน้ำตามที่ระบุไว้ ได้ทั้งหมดเสมอไปก็ตาม
  • ชี้ให้ผู้เข้าอบรมได้เห็นว่า อาจมีกิจกรรมบางส่วนที่ได้ดำเนินการไปตามห่วงโซ่คุณค่า ที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานประกอบกิจการของพวกเขาได้ ถึงแม้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น จะอยู่ในวงจำกัดหรือไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมดก็ตาม ดังเช่น ในกรณีของการใช้เคมีภัณฑ์บางประเภทของสถานประกอบกิจการที่ผิดวัตถุประสงค์
  • สรุปการพูดคุยกันเกี่ยวกับขอบเขตของกระบวนการ โดยการทบทวนแนวคิด ‘การดูแลเคมีภัณฑ์แบบครบวงจร - Chemical Product Stewardship’ (ดังที่ถูกนำเสนอไว้ในตอนที่ 4 ของบทความนี้ ในหัวข้อที่ 2 ‘คิดใหม่สำหรับการจัดการความเป็นอันตรายจากสารเคมี - Rethinking Chemical Hazard Management’ และสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก ICCA Product Stewardship Guidelines) ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติของการทำให้ประเด็นด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมถูกบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตของเคมีภัณฑ์
  • อธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบว่า การที่จะมุ่งไปสู่การดูแลเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรได้นั้น ต้องมีความเข้าใจการไหลของสารเคมีอันตราย (Flow of Hazardous Chemicals) ให้ได้ทั้งหมดเสียก่อน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนกระทั่งการกำจัดของเสียโดยผู้ใช้ขั้นปลาย ในขั้นตอนแรกนั้น สถานประกอบกิจการจะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า สารเคมีอันตรายถูกใช้และตั้งอยู่บริเวณใดของการดำเนินงานของตน หลังจากนั้น สถานประกอบกิจการต้องคิดคำนึงถึงการดำเนินงานภายนอกสถานประกอบกิจการ ที่สามารถส่งผลกระทบได้ อันรวมไปถึงขั้นตอนการจัดหาผลิตภัณฑ์และการบริการ การขนส่งและการส่งมอบผลิตภัณฑ์ไปยังลูกค้า
  • ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของผู้เข้าอบรมในการระดมความคิดเห็นว่า ส่วนใดของการปฏิบัติงานที่น่าจะเป็นหัวใจสำคัญของสถานประกอบกิจการ (ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสารเคมี) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบได้ด้วยวิธีการที่สารเคมีถูกจัดหา จัดการ จัดเก็บ ใช้ กระบวนการผลิต และจัดส่ง
  • สำหรับการอธิบายตามเนื้อหาข้างต้น อาจมีความจำเป็นต้องใช้สื่อนำเสนอที่เรียกว่า ‘แผ่นพลิก หรือฟลิปชาร์ต (Flip - chart)’ เพื่อเขียนบันทึกรายการแสดงข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้เข้าอบรม ซึ่งฟลิปชาร์ตมีข้อดี คือ ราคาไม่แพง จัดเตรียมง่าย สามารถเขียนบันทึกได้ทันที และสามารถเพิ่ม/ลด จำนวนหน้าได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ รายการแสดงข้อคิดเห็นอย่างน้อย ๆ ก็ต้องรวมหัวข้อเหล่านี้ไว้ด้วย ได้แก่ การจัดซื้อจัดหา การรับและการขนถ่ายสินค้า คลังสินค้า การบรรจุภัณฑ์หรือการบรรจุด้วยหีบห่อใหม่ สูตรผสม การผลิต ห้องแล็ป การบำรุงรักษา สำนักงาน การขาย/การพาณิชย์ การนำเข้า/ส่งออกสินค้า การจัดส่ง/การกระจายสินค้า
  • ต่อด้วยการระดมความคิดเห็นทำแบบฝึกหัด และเชิญผู้เข้าอบรม ให้มีส่วนร่วมในการบ่งชี้ความเชื่อมโยงที่สำคัญ ๆ ทั้งหมดที่อาจจะปรากฏอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของสถานประกอบกิจการสารเคมี การระดมความคิดเห็นในการทำแบบฝึกหัดที่ครอบคลุมควรนำไปสู่การบ่งชี้ได้อย่างน้อย ๆ ถึงความเชื่อมโยงในสิ่งเหล่านี้ คือ ผู้ผลิตรายใหญ่ ผู้ผลิตรายย่อย (การผลิต การบรรจุภัณฑ์หรือการบรรจุด้วยหีบห่อใหม่ สูตรผสม ฯลฯ) ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ค้าและผู้จัดจำหน่าย ผู้จัดส่ง ผู้ใช้ขั้นปลาย (ไล่เรียงไปตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรมจนถึงสาธารณะ)

 

หมายเหตุ: ยังไม่จำเป็นต้องจัดเรียงหัวข้อ หรือเน้นเป็นการเฉพาะในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง แต่เมื่อบ่งชี้เสร็จสิ้นแล้ว ก็ให้ผู้เข้าอบรมได้มีส่วนร่วมในความคิดเห็นของพวกเขาเองตามที่ได้ระดมสมองกันก่อนหน้านี้ โดยการร่วมกันจัดทำแผนที่ห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเคมีท้องถิ่น แล้วจัดเรียงหัวข้อรายการข้างต้นอย่างเป็นลำดับตามตรรกะเสียใหม่ ที่อยู่บนพื้นฐานประสบการณ์จริงของผู้เข้าร่วมอบรมแต่ละคน

 

  • ณ ตอนนี้ ผู้เข้าอบรมควรจะมีแนวคิดพื้นฐานอย่างน้อย ๆ บางส่วนในเรื่องเหล่านี้ ได้แก่ ความยืดหยุ่นของขอบเขตกระบวนการภายใต้กรอบของการดูแลผลิตภัณฑ์ (Product Stewardship), ส่วนสำคัญของการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการตนเอง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อวิธีการที่สารเคมีถูกจัดหา จัดการ จัดเก็บ ใช้ กระบวนการผลิต และจัดส่ง, ห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเคมีในระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น, ส่วนสำคัญของการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการตนเองที่สามารถให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนาแผนภาพการไหลของกระบวนการ

 

          ข้อเสนอแนะสำหรับการทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่ม (Group Exercise) ทบทวนสิ่งที่ช่วยสนับสนุนหรือเอื้ออำนวยต่อการทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่ม ในเรื่องของการจัดเตรียมแผนภาพการไหลของกระบวนการ (Process Flow Diagram) และสำหรับแบบฝึกหัดนี้ไม่จำเป็นต้องมีแบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษา (Mock Case–study) อย่างไรก็ดี แบบจำลองที่เป็นกรณีศึกษาที่มีข้อมูลเพียงพอก็สามารถนำมาใช้ได้ ถ้าพิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งจำเป็น แบบฝึกหัดนี้จะช่วยอธิบายสถานการณ์ให้ผู้เข้าอบรมได้รับทราบข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการของพวกเขาเอง หรืออีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการที่พวกเขาได้นำข้อมูลที่เพียงพอจากสถานประกอบกิจการของพวกเขาเอง มาใช้ในการทำแบบฝึกหัด

 

  • จุดมุ่งหมายของการทำแบบฝึกหัดนี้ คือ การทำให้ผู้เข้าอบรมมีความคุ้นเคยกับขั้นตอนที่จำเป็นต่อการจัดเตรียมแผนภาพการไหลของกระบวนการ (Process Flow Diagram) ซึ่งเป็นไปตามเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระบุไว้ในชุดเครื่องมือการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Toolkit)
  • จัดแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัดตามความเหมาะสมของจำนวนผู้เข้าอบรม
  • อธิบายให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบว่า วัตถุประสงค์ก็คือ การจัดทำแผนที่การไหลของสารเคมีในการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการตนเอง ให้มีความชัดเจน, โดยไม่ได้หมายถึงแค่กิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ในสถานประกอบกิจการเท่านั้น แต่ยังต้องรวมไปถึง กิจกรรมภายนอกของสถานประกอบกิจการอีกด้วย (ไล่เรียงตั้งแต่การจัดหาผลิตภัณฑ์และการบริการ ไปจนกระทั่งผลิตภัณฑ์และการบริการถูกนำเสนอและทำตลาด)
  • เงื่อนไขในการจับกลุ่มทำแบบฝึกหัด ก็อาจพิจารณาความคล้ายคลึงกันของกระบวนการหรือกิจกรรมระหว่างสถานประกอบกิจการของผู้เข้าอบรมให้รวมกลุ่มไว้ด้วยกัน แต่ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ถ้าผู้เข้าอบรมในกลุ่มเดียวกันจะมาจากองค์กรที่มีความแตกต่างกันของกิจกรรมดำเนินงาน เพราะโดยมากแล้วสถานประกอบกิจการหลาย ๆ แห่ง ก็มักจะมีภารกิจหน้าที่ของแต่ละส่วนงานที่คล้ายหรือเหมือน ๆ กัน นอกจากนี้ บนความแตกต่างของวิธีที่สถานประกอบการอื่น ๆ ได้จัดรูปแบบและดำเนินกิจกรรม จะช่วยให้ผู้เข้าอบรมได้มีความเข้าใจมากขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเคมี
  • ให้ผู้เข้าอบรมได้ทบทวนกิจกรรมต่าง ๆ ของการทำแบบฝึกหัด (ประมาณ 15 นาที) โดยจากข้อมูลที่มีอยู่ในโมดูลนี้ ให้ผู้เข้าอบรมระบุรายการต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ 1) แหล่งที่มาของวัตถุดิบทางเคมี (Chemical Raw Materials) ที่ถูกนำมาใช้ในสถานประกอบกิจการของตนเอง คืออะไรบ้าง และวิธีการได้มาสู่สถานประกอบกิจการ 2) สถานที่ใดที่เคมีภัณฑ์และการบริการของสถานประกอบกิจการตนเอง ได้ถูกนำไปส่งมอบ และเพื่อวัตถุประสงค์ใด และ 3) ขั้นตอนและกิจกรรมทั้งหมดพร้อมการจัดเรียงลำดับ รวมถึงกิจกรรมทั้งหมดที่ดำเนินการโดยซัพพลายเออร์ทางตรง (Direct Suppliers) ในการขนส่งเคมีภัณฑ์ของสถานประกอบกิจการตนเอง ผลิตผลพลอยได้ และของเสียที่ออกมาจากการใช้งานโดยลูกค้าของตนเอง 4) เมื่อกิจกรรมทั้งหมดได้ถูกระบุหมดแล้ว ผู้เข้าอบรมควรวาดลูกศรเพื่อแสดงการไหลของกระบวนการเกี่ยวกับสารเคมีและกิจกรรมต่าง ๆ 5) สุดท้าย ผู้เข้าร่วมควรพยายามบ่งชี้และทำเครื่องหมายในแต่ละขั้นตอนของแผนภาพการไหลของกระบวนการ โดยมีข้อมูลเหล่านี้ คือ สารเคมีที่เกี่ยวข้อง, การประมาณการณ์ปริมาณสารเคมีที่มักจะเกี่ยวข้องหรือปรากฏอยู่ในกิจกรรมเหล่านี้, ความเป็นอันตรายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและกิจกรรม เช่น โอกาสของการเกิดเพลิงไหม้ ระเบิด กัดกร่อน ความเป็นพิษเฉียบพลัน การระคายเคืองต่อผิวหนังหรือดวงตาและอันตรายอื่น ๆ ต่อสุขภาพ และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการทำเช่นนี้ จะทำให้ผู้เข้าอบรมได้รับรู้และเข้าใจมากขึ้นถึง ‘จุดอันตราย (Hazard Hotspots)’ ที่อยู่ในการไหลของกระบวนการ และทำเครื่องหมายลงไปยังจุด ๆ นั้นได้อย่างถูกต้อง
  • ให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทน 1 คน ออกมาอธิบายโดยย่อ เกี่ยวกับกระบวนการไหลของสารเคมีของสถานประกอบกิจการตนเอง จากนั้นก็จะมีการสรุปรวบยอดถึงปัญหาหลัก ๆ ที่พบได้บ่อย และเพิ่มเติมหรือแก้ไขรายการภารกิจหน้าที่และแผนที่ห่วงโซ่คุณค่าของสารเคมีที่ได้ทำมาก่อนหน้าที่จะได้ทำแบบฝึกหัดนี้
  • การทำแบบฝึกหัดควรเพิ่มความสนใจไปที่ ‘จุดบอด (Dark Spots)’ หรือขั้นตอนที่รู้จักน้อยในกระบวนการ ที่จะได้มีการหารือกันภายในกลุ่ม
  • เพิ่มการหารือระหว่างกลุ่มในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ส่วนบุคคลของผู้เข้าอบรม ในการค้นหาข้อมูลภายในองค์กรเกี่ยวกับเงื่อนไขของปริมาณและการจัดเก็บสารเคมีอันตราย พร้อมกับข้อมูลเกี่ยวกับปลายทางสุดท้ายของเคมีภัณฑ์ ผลิตผลพลอยได้ และของเสีย

 

          การประเมินผู้เข้าอบรม สอบถามผู้เข้าอบรมเกี่ยวกับระดับการได้รับรู้ถึงวิธีการที่ซัพพลายเออร์ ผู้รับเหมา และผู้จัดส่ง ได้จัดการหรือดำเนินการกับสารเคมีอันตราย ในขณะที่ทำธุรกิจกับสถานประกอบกิจการของผู้เข้าอบรม ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้เข้าอบรมแต่ละคนมีพื้นฐานในการรับรู้หรือความคุ้นเคยมากน้อยแค่ไหน เกี่ยวกับการไหลของกระบวนการในสถานประกอบกิจการของตนเอง และการรับรู้ว่าที่ ๆ ใดที่สารเคมีของสถานประกอบกิจการ (เคมีภัณฑ์ ผลิตผลพลอยได้ และของเสีย) ได้ถูกจัดส่งไป และการใช้ขั้นสุดท้ายของสารเคมีเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

 

ข้อเสนอแนะอื่นๆ

 

  • โมดูลนี้ควรเพิ่มการพูดคุย หารือ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ส่วนบุคคลของผู้เข้าอบรมกับศักยภาพของคู่ค้าทางธุรกิจของพวกเขา (ซัพพลายเออร์ ผู้รับเหมา ผู้จัดส่ง ลูกค้า ฯลฯ) ในการจัดการสารเคมีอันตราย
  • ผู้เข้าอบรมควรมีส่วนร่วมในการบ่งชี้และหารือสิ่งที่น่าจะเป็นภารกิจหน้าที่สำคัญของแต่ละส่วนงานของสถานประกอบกิจการตนเอง ที่สามารถส่งผลกระทบต่อวิธีการที่สารเคมีอันตรายได้ถูกจัดหา จัดการ จัดเก็บ ใช้ กระบวนการผลิต และจัดส่ง และสามารถทำให้พวกเขาได้มีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาแผนภาพการไหลของกระบวนการ (Process Flow Diagram)
  • ผู้เข้าอบรมควรได้รับการสนับสนุนในการสำรวจและหารือเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรค และโอกาสสำหรับการเข้าถึงข้อมูลในเรื่องของวิธีปฏิบัติของคู่ค้าทางธุรกิจของตนเองในการจัดการสารเคมีอันตราย
  • โมดูลนี้เกี่ยวข้องกับ Tool 1.1 จัดเตรียมแผนภูมิหรือแผนภาพการไหลของกระบวนการผลิต (Prepare Process Flow Chart/Diagram) ที่อยู่ในชุดเครื่องมือการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Toolkit

 

          ****** ติดตามอ่านตอนต่อไปในฉบับหน้า *****

 

          แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• GHS คืออะไร และทำไมถึงเกี่ยวข้องกับคนไทย โดย ขวัญนภัส สรโชติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี; 20 ก.ย. 2555
• ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง ป้ายอักษร ภาพและเครื่องหมายของรถบรรทุกวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555
 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด