Inside News

กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริม 5 กลุ่มคลัสเตอร์เพิ่ม รับมืออุตสาหกรรม 4.0 ดันไทยสู่ประเทศรายได้สูง

จุรีรัตน์ ทิมากูร

 

 

“เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ประเทศไทยก้าวพ้นการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้ระดับสูง จึงได้มอบนโยบายให้กระทรวงอุตสาหกรรมปรับภารกิจจากเดิมที่รองรับเพียง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งยังไม่ครอบคลุมอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยจะเพิ่มอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมบริการไปสู่การสร้าง 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ครอบคลุมไปภาคอุตสาหกรรมในทุก ๆ ด้าน ประกอบด้วย คลัสเตอร์เกษตร คลัสเตอร์สุขภาพ คลัสเตอร์ไฮเทค คลัสเตอร์ดิจิทัล และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์”

 

     นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเผยภายหลังเป็นประธานประชุมทบทวนภารกิจและการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมกล่าวต่ออีกว่า ขณะเดียวกันได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งเน้นงานสร้างกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (สตาร์ทอัพ) โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และผลักดันไปสู่การเป็นระดับกลางและขยายตัวได้ (สเกลลิ่ง อัพ) และพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ พร้อมเชื่อมโยงการทำงานกับทุกภาคส่วน เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน สถาบันเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น

 

          ด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะปรับเรื่อง การปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเครือข่ายเพิ่มเติม ตามนโยบายที่นายสมคิดสั่ งให้สร้าง 5 คสัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อปูทางไปสู่ อินดัสตรี 4.0 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2559 จากนั้นทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป

 

          ทั้งนี้ภายใต้โครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่ ยังมีการสร้างหน่วยงานที่ชื่อว่า ศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ (Industrial Transformation Center) ที่จะคอยช่วยเหลือผู้ประกอบการ ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ไปจนสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยจะส่งต่อความช่วยเหลือไปตามภารกิจของสถาบันเครือข่ายทั้งหมดของกระทรวงอุตสาหกรรม ในเบื้องต้น มอบหมายให้ นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกดูแลไปก่อน

 

          ขณะเดียวกัน นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวว่า การปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่ นอกจากปรับเปลี่ยนภาระหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ และสถาบันเครือข่ายให้สอดรับกับนโยบายสร้าง 5 คลัสเตอร์ของรองนายกรัฐมนตรี อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงชื่อเพื่อความเหมาะสม เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม อาจเปลี่ยนชื่อเป็น "กระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ” สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อาจเปลี่ยนเป็น “สำนักงานคณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพ” โดยดูแลอุตสาหกรรมปลายน้ำด้วย เช่น ไอโอพลาสติก มีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ ดูแลการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

 

          อย่างไรก็ดีโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอนั้น จะมีการเปลี่ยนบทบาทของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มาจัดตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและ 5 คลัสเตอร์ต่าง ๆ การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พัฒนาอุตสาหกรรม ขึ้นมารองรับการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา และการตั้งสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงการออก พ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ เพื่อยกระดับสถาบันอาหาร เป็นสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติแทน

               

          ขณะที่การทำงานเชิงส่งเสริม ซึ่งปัจจุบันมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) รับผิดชอบการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี จะเปลี่ยนเป็นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการขึ้น มาแทน และออก พ.ร.บ.ส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติเพื่อรองรับการตั้งสำนักงานส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ

               

          ส่วนการส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบการนั้น ปัจจุบันมีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  (กพร.) จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลและคอยอำนวยความสะดวกหรือสนับสนุนให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการออกใบอนุญาตต่าง ๆ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่จะมีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสำนักงานคณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่จะเพิ่มบทบาทในการเข้าไปดูแลกำกับพืชชนิดอื่นที่ไม่เฉพาะอ้อยอย่างเดียว เช่น มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เพื่อรองรับการกำกับดูแลอุตสาหกรรมชีวภาพหรือไบโอชีวภาพในอนาคต เป็นต้น

 

 

กสอ.หนุนผู้ประกอบการ คลัสเตอร์ SMEs รวมกลุ่ม

 

          นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่กรมได้มีโครงการรวมกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีในรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งและเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่การพัฒนากิจกรรมระหว่างกันในภาคอุตสาหกรรม การถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ทำให้ธุรกิจเกิดการปรับปรุงทั้งประสิทธิภาพการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ รวมทั้งการผสมผสานแนวคิดและการมีส่วนร่วม เพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน จากการแข่งขันเพียงเพื่อความอยู่รอดของแต่ละบุคคลมาเป็นพันธมิตรร่วมคิดและร่วมทำ

 

          โดยพบว่าในปี 2559 สามารถพัฒนารวมกลุ่มได้ 17 กลุ่มคลัสเตอร์ ในพื้นที่ 18 จังหวัด เช่น สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น อาหารแปรรูป เซรามิก ยานยนต์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในเครือข่ายกว่า 2,000 รายที่เข้าร่วมโครงการ มีรายได้รวมกันสูงถึง 2,071 ล้านบาท สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ถึง 109 ล้านบาท และเกิดโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด เช่น การร่วมกิจกรรมออกงานแสดงและจำหน่ายสินค้า ทำให้ผู้บริโภคตอบรับผลิตภัณฑ์มากขึ้น และมีการพัฒนาและการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

 

          นางอนงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2560 นี้ กสอ.ได้รับงบประมาณแผ่นดินอีกกว่า 70 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในการดำเนินโครงการ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนากลุ่มให้ได้ 31 กลุ่มคลัสเตอร์ โดยจะเน้นไปที่ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นหลัก เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ที่จะช่วยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวหรือไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ในปีงบประมาณที่ผ่านมา

               

          "การเข้าร่วมกลุ่มในรูปแบบคลัสเตอร์นี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมีเครือข่ายเชื่อมโยงในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตสินค้า และยังรวมกลุ่มกันออกไปหาตลาด ให้เกิดความหลากหลายในสินค้ามากขึ้น หรือการเกิดผสมผสานการร่วมซื้อและร่วมขายระหว่างกัน ที่สำคัญโครงการนี้จะช่วยให้การผลิตสินค้ามีต้นทุนที่ลดลง ช่วยให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น"

 

เตรียมเปิดศูนย์ส่งเสริมงานวิจัย ดันกลุ่มเครื่องมือแพทย์โกอินเตอร์

 

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานโนวาเมดิค ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไหมเย็บแผล วัสดุปิดแผล จังหวัดสมุทรปราการ ว่า กระทรวงเตรียมเปิดศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมในอนาคต หรือ ไอทีซี เพื่อเชื่อมโยงการทำงานในรูปแบบประชารัฐ ระหว่างผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ กับหน่วยงานวิจัย ให้สามารถนำนวัตกรรมไปผลิตเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง ที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน อาทิ กลุ่มเครื่องมือทางการแพทย์ และดิจิตอล เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยขาดการเชื่อมโยง 2 ประเด็น คือ ภาควิจัยไม่เข้าใจความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนางานวิจัยเป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถทำได้ยาก เนื่องจากไทยเน้นการรับจ้างผลิตเป็นหลัก รวมถึงไทยยังขาดการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการนำผลการศึกษาไปผลิตเป็นชิ้นงานต้นแบบ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ โดยปัจจุบันไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ปีละประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นวัสดุสิ้นเปลืองหรือใช้แล้วทิ้ง เช่น เข็ม ถุงมือแพทย์ ถุงยางอนามัย สายยาง เป็นต้น แต่มีสัดส่วนนำเข้าวัตถุดิบถึง 5 หมื่นล้านบาท

               

          ทั้งนี้ระหว่างรอการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม จะมอบหมายให้สถาบันพลาสติกร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กำกับดูแลการจัดตั้งศูนย์ไอทีซีไปก่อน โดยถุงทวารเทียมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่สถาบันพัฒนาร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นับเป็นผลงานนำร่องเชื่อมโยงการทำงานในรูปแบบประชารัฐ และกระตุ้นให้ผู้ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ลงทุนปรับปรุงเครื่องจักร และพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์แล้ว" นายสมชายกล่าว

 

เดินหน้าดันเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพ เข้าตลาดเอ็มเอไอในปี 2560

 

          สำหรับความคืบหน้าโครงการ เอสเอ็มอีสปริง อัพ นั้น รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ตั้งแต่กระทรวงอุตสาหกรรมเริ่มดำเนินโครงการเอสเอ็มอี สปริง อัพ รุ่นที่ 1 เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 110 ราย สามารถเชื่อมโยงธุรกิจ ก่อให้เกิดการซื้อขายระหว่างกันกว่า 10 ล้านบาท อีกทั้งยังช่วยเพิ่มผลิตภาพและยกระดับอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท

 

          ทั้งนี้จากความสำเร็จดังกล่าว กระทรวงเตรียมจัดโครงการรุ่นที่ 2 และ 3 ต่อเนื่อง รุ่นละ 100 ราย ซึ่งจะเริ่มอบรมระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม-26 พฤศจิกายน 2559 นี้ และจะขยายผลไปยังผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ และอุดรธานี ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ต่อไปคาดว่าหลังจบโครงการจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 10%

 

          นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังอยู่ระหว่างพัฒนาผู้ประกอบการที่อยู่โครงการยกระดับดาวเด่นเอสเอ็มอีของไทย (DIP Star) จำนวน 31 ราย ให้มีศักยภาพตามหลักเกณฑ์การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่มียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10% ติดต่อกัน 2 ปี รวมทั้งมีการวางแผนที่จะขยายสาขา หรือขยายตลาดไปต่างประเทศใน 2 ปี และมีแผนพัฒนาการผลิต หรือคิดค้นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ โดยตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการได้ไม่ต่ำกว่า 31 รายภายใน 3 ปี

 

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระทรวงตั้งเป้าอุตสาหกรรม 14 กิจการมีอัตราการเติบโตสูง ได้แก่ ก่อสร้าง 6 กิจการ, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3 กิจการ, ยานยนต์และชิ้นส่วน 3 กิจการ, เทคโนโลยีสารสนเทศ 1 กิจการ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 1 กิจการ และตั้งเป้าอุตสาหกรรม 7 กิจการ มีมูลค่าการส่งออก-นำเข้า ขยายตลาดสู่กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้แก่ เครื่องจักรกล 1 กิจการ, ผลิตภัณฑ์ยาง 3 กิจการ, บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก 1 กิจการ, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 2 กิจการ

 

          โดยในจำนวนนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาตนเอง จนสามารถระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ภายในปี 2560 จำนวน 5 กิจการ ซึ่งขณะนี้ได้จ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนระดมทุนแล้ว ทั้งการส่งเสริมยอดขาย การทำตลาด และการจัดทำบัญชี เป็นต้น อีกทั้งตั้งเป้ามีผู้ประกอบการได้รับรางวัลการบริหารงานคุณภาพ 11 กิจการ มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% จำนวน 12 กิจการ และสามารถขยายตลาดได้ 3 กิจการ

 

รื้อโครงสร้างอ้อย-น้ำตาล ปล่อยราคาตามตลาดโลก

 

          คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการและแนวทางแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแผนทั้งระบบตั้งแต่ปี 2559-2564 ให้สอดคล้องกับพันธกรณีและความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) โดยจะมีการกำหนดแผนงาน เป้าหมาย กิจกรรมดำเนินการและระยะเวลาดำเนินการ

 

          สำหรับแผนดังกล่าวประกอบด้วย 5 แผนงาน สาระสำคัญ คือ แผนงานที่ 1 ปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่น ๆ ได้ โดยจะยกเลิกระบบโควตาน้ำตาล, ยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลภายในประเทศ, ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือค่าอ้อยแก่ เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่อุดหนุนให้ 160 บาทต่อตันอ้อย, ยกเลิกให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น

 

          นอกจากนี้ยังต้องปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำเข้าน้ำตาลทรายภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้กำหนดให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครอบคลุมไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เอทานอล ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี และปรับปรุงกฎหมายตามกฎหมายโรงงาน กฎหมายผังเมือง และกฎหมายสิ่งแวดล้อม ให้สามารถดำเนินได้ตามยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย และสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

 

          ส่วนแผนงานที่ 2 เป็นการเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีเป้าหมายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ ให้หมดภายใน 5 ปี, การนำของเสียจากโรงงานมาเป็นผลผลิตหรือเป็นสารบำรุงดินในไร่อ้อย, การเพิ่มผลิตภาพการผลิตไฟฟ้าจากอ้อย, การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในแปลงปลูกอ้อยเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ

 

          แผนงานที่ 3 เป็นการกำหนดมาตรฐานน้ำตาลทรายต้นทุนมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการกำหนดมาตรฐานการผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีผลิต 2559/60 เพื่อให้การคำนวณต้นทุนมีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่และให้เป็นที่ยอมรับกับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

 

          แผนงานที่ 4 เป็นการรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายโดยมีเป้าหมายเพื่อให้กองทุนฯ สามารถบริหารจัดการทรัพย์สินหรือเงินทุนเพื่อแก้ไขปัญหา และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น เสริมสภาพคล่องชาวไร่อ้อย, การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร และโรงงานเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือการผลิต

 

          แผนงานที่ 5 คือการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์อ้อย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาดิน, น้ำและปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลิตภาพอ้อย เป็นต้น

 

          นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปฏิรูปโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายครั้งนี้ ถือเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ และจะเป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องน้ำตาลภายใต้ WTO ระหว่างไทยกับบราซิล ในเรื่องอุดหนุนราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ เพราะการกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศ ที่ผ่านมาราคาที่กำหนดสูงกว่าราคา ตลาดโลก แต่รัฐบาลจะมีกลไกใหม่ ในการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไป

 

ดันเกษตร-อาหารแปรรูป ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผลิตสินค้ารับนโยบาย 4.0

 

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กสอ. ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ผลักดันผู้ประกอบการเกษตรและอาหารแปรรูป ให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดส่งออกมากขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5-6% จากปี 2559 ที่คาดว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 950,000 ล้านบาท ขยายตัว 5.8% จากปี 2558 ที่การส่งออกมีมูลค่า 897,000 ล้านบาท

 

          ทั้งนี้โครงการที่ กสอ.จะผลักดันในปีงบประมาณ 2560 มีมากกว่า 10 โครงการ ทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล และพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป รวมทั้งการร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนา (ฟู้ด วัลเลย์) ด้านเกษตรและอาหารแปรรูป เพื่อร่วมกันยกระดับกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (สตาร์ทอัพ)

 

          สำหรับโครงการนี้จะมีการนำนักวิจัยไปร่วมพัฒนาสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด เพื่อยกระดับสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น และขยายการส่งออก โดยประเมินว่าภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จะพัฒนาผู้ประกอบการได้ไม่ต่ำกว่า 50 ราย และมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับประโยชน์ต่อเนื่องอีกกว่า 500 ราย รวมถึงทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น 5-10 เท่า หรือสร้างมูลค่าเพิ่มไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ภายในเวลา 2 ปี

 

          นอกจากนี้ยังเตรียมผลักดันผู้ประกอบการบางรายให้ขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ทั้งกลุ่มที่ทำขนมหม้อแกงซึ่งสนใจขยายตลาดส่งออกสู่ยุโรป แต่ต้องปรับการผลิตใหม่ที่ใช้ส่วนผสมโดยไม่มีไข่ไก่ เพื่อให้เป็นไปตามกฎของต่างประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลำไยที่มีโอกาสส่งออกอย่างมาก โดยเฉพาะส่งออกไปยังจีน

 

กรมโรงงานเดินหน้าช่วย SMEs เปิดศูนย์จัดกากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

 

          นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ดำเนินการสำหรับโรงงานที่ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ส่งผลให้โรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกากอุตสาหกรรม จะไม่สามารถต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ได้ ถือเป็นมาตรการทางกฎหมาย เพื่อให้โรงงานทยอยเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม มากกว่า 90% ภายใน 5 ปี หรือปี 2562

 

          ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่โรงงานที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และจะต้องต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าว กรอ.จึงได้ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการ “ศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม”

 

          โดยศูนย์มีกระจายอยู่ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ 1.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3.ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4.ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 5.ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 6.คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  

 

          นายมงคล กล่าวว่า ศูนย์ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ประจำที่ศูนย์ฯ ทั้ง 6 แห่ง และจะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่หมุนเวียนไปให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต่าง ๆ ทั้ง 76 จังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากการให้คำแนะนำด้านปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือแนะนำการใช้ระบบสารสนเทศ Smart Form รูปแบบ Web Application ในการกรอกข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจำแนกประเภทโรงงานและลักษณะกากอุตสาหกรรมตามลำดับประเภทโรงงาน ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้เป็นการช่วยระบุรหัสกากอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

 

 

ตั้งเป้าเพิ่มทักษะพัฒนาแรงงาน 2 ล้านคน พร้อมสู่ไทยแลนด์ 4.0

 

          นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศไทยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี โดยเน้นการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง เพื่อฝึกอบรมพนักงานให้มีทักษะที่หลากหลาย พร้อมการเป็นผู้ประกอบการเองด้วย มีการทำงานที่มั่นคง มีรายได้ที่สูงขึ้น ภายใต้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งจะมีการฝึกทักษะยกระดับทั้งในสถานประกอบกิจการและฝึกเตรียมเข้าทำงานสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไป ที่จะเข้าสู่การทำงาน โดยภายใน  6 เดือนแรก (ต.ค.59-มี.ค.60) กรมพัฒนาฝีมือแรงานตั้งเป้าพัฒนากำลังแรงงานไว้กว่า 2 ล้านคน มีจุดเน้นส่งเสริมให้สถานประกอบการดำเนินการฝึกอบรมบุคคลากรภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เน้นหลักสูตรที่ส่งเสริมด้านทักษะ Stem Workforce เทคโนโลยีชั้นสูง และนวัตกรรมตามแนวทาง Thailand 4.0 และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สถานประกอบการต่าง ๆ ในการยื่นรับรองหลักสูตรนี้ได้นำระบบ IT เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นรับรองหลักสูตร ด้วย โดยระบบ E-Service ผ่าน Internet เป็นการลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย สะดวกและรวดเร็วขึ้น ไม่เสียเวลาไม่ต้องเดินทางไปสถาบันหรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถยื่นได้ที่สถานประกอบการนั้น ๆ ได้ และสามารถสอบถามข้อมูลต่าง ๆ  ผ่านระบบดังกล่าวได้ด้วย

 

          นายธีรพล กล่าวต่อไปว่าการให้บริการในส่วนนี้สามารถสามารถเข้าใช้ในระบบ E-Service ได้ที่ www.dsd.go.th   บริการออนไลน์ หัวข้อ บริการสถานประกอบการ ซึ่งการฝึกอบรมส่วนนี้สถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลดหย่อนภาษีได้ 100% ทั้งนี้ นอกจากส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาบุคลากรของตนเองแล้ว กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะเน้นพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศทั้ง S-Curve และ New S -Curve ในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ควบคู่กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ อาทิ ด้านอาหาร (ครัวไทยสู่ครัวโลก) /Startup และการท่องเที่ยวเป็นต้น เน้นทักษะภาษาต่างประเทศพร้อมกันไปด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะทำการฝึกมีทั้งแรงงานในสถานประกอบการ แรงงานใหม่ นักศึกษาปีสุดท้าย ตลอดจนประชาชนทั่วไปและผู้ที่อยู่ระหว่างการหางานทำด้วย

 

ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี เอื้อลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า

 

          นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการติดตามความคืบหน้านโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่มี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ว่าที่ประชุมเห็นชอบในหลักการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ประเภทปลั๊กอินไฮบริดและรถยนต์อีวี โดยให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดไม่เกิน 8 ปี โดยแบ่งเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี สำหรับการลงทุนประกอบรถยนต์ดังกล่าวในประเทศ และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ 6 รายการ รายการละ 1 ปี สูงสุดไม่เกิน 5 ปี เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ และแอร์คอนดิชั่นเนอร์ เป็นต้น ส่วนการนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญ (ซีเคดี) ที่พ่วงกับการลงทุนนั้นจะมีการยกเว้นภาษีให้ 0%

 

          ทั้งนี้คาดว่าการออกมาตรการลงทุนดังกล่าวจะดึงดูดผู้ประกอบการยานยนต์ให้เข้ามาลงทุน เนื่องจากนโยบายมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการหลายรายมีความพร้อมลงทุน แต่ต้องปรับปรุงสายการผลิตเล็กน้อย และคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดบีโอไอที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เร็ว ๆ นี้

 

          สำหรับการออกสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าสืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้สนับสนุนให้มีการผลิตรถไฟฟ้าในประเทศ และต้องการให้มีรถไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนภายในเดือน พ.ย.นี้ โดยจะนำร่องในรถโดยสารสาธารณะ (รถบัส) ก่อน จากนั้นจึงขยายไปสู่การผลิตรถยนต์นั่งต่อไป

 

          อย่างไรก็ดีการส่งเสริมให้ใช้รถบัสควรมีมาตรการทางภาษีที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการที่นำเข้ารถแบบสำเร็จรูปและผู้ประกอบการที่นำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศ เพื่อให้ผู้นำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบแข่งขันกับผู้นำเข้ารถบัสแบบสำเร็จรูปได้ โดยมาตรการทางภาษีในส่วนดังกล่าวมีกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ยังรอความชัดเจนของร่างข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์)

 

วาง 4 แนวทางเพิ่มมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม
ส่งเสริมผู้ประกอบการพัฒนาการออกแบบ

 

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดีไซน์หรือการออกแบบเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญในการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและความแปลกใหม่ในโลกธุรกิจและตลาดการค้าที่กำลังมีการแข่งขันกันอย่างสูง โดยในการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นนี้ กสอ.ได้เล็งเห็นว่าผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องตามระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนให้ทัน ด้วยการออกแบบและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นหัวหอกที่สำคัญในการนำพาเศรษฐกิจของประเทศสู่การสร้างมูลค่าและพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

 

          ดังนั้น กสอ.จึงได้กำหนดทิศทางการออกแบบเพื่อให้มีความครอบคลุมสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการบูรณาการการออกแบบใน 4 มิติ ได้แก่

 

          1. การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ สามารถทำให้มูลค่าทางธุรกิจและการตลาดเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการยุคใหม่จำเป็นที่จะต้องหาจุดแข็งนำมาสร้างให้เกิดความโดดเด่น ทั้งในด้านรูปลักษณ์ ความสวยงาม ประโยชน์ใช้สอย หรือการตอบสนองความรู้สึก พร้อมทั้งมุ่งสร้างความพึงพอใจและตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในด้านความต้องการพื้นฐานและความต้องการเฉพาะ โดย กสอ.ได้ส่งเสริมผลักดันและพัฒนาในด้านการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ผ่านโครงการต่าง  ๆ อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โครงการส่งเสริมพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

 

          2. การออกแบบพัฒนาวัสดุ เป็นกระบวนการออกแบบวัสดุที่เหมาะสมทางด้านสมรรถนะมาพัฒนา เพื่อให้ได้รูปลักษณ์และลักษณะของสินค้าต้นแบบที่ต้องการ พร้อมทั้งก่อให้เกิดความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ สามารถผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ ทั้งในเรื่องของความสามารถในการใช้สอย สามารถสร้างมูลค่าและคุณค่าได้มากกว่าที่ตลาดต้องการ ตัวอย่างการออกแบบประเภทนี้ ได้แก่ การออกแบบเพื่อให้เบาขึ้นผ่านการใช้วัสดุพิเศษ การออกแบบให้กระจกมือถือโค้งมนใช้งานได้เหมือนปกติ ฯลฯ

 

          3. การออกแบบเพื่อการบริการ แม้ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์จะมีส่วนสำคัญมากในการสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค แต่ปัจจุบันความต้องการที่แท้จริงไม่ได้มีเพียงแค่ประโยชน์ใช้สอยหรือรูปลักษณ์ของสินค้าเท่านั้น ความพึงพอใจจากการให้บริการถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดอนาคตของธุรกิจ โดยการบริการสามารถก่อคุณประโยชน์มากมายต่อผู้บริโภคเมื่อประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลาย ๆ ประเภท อาทิ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งโมเดลการออกแบบประเภทนี้สามารถตอบสนองความต้องการอันแท้จริงของผู้ใช้ และสร้างมูลค่าใหม่ให้เกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล โดยมีข้อมูลหลายงานวิจัยพบว่าผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพิ่มมากกว่าหลายเท่าเพียงให้ได้บริการที่ดีกว่า

 

          4. การออกแบบเชิงวิศวกรรม เป็นการออกแบบเพื่อให้เกิดการใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ และเป็นกระบวนการที่ต้องประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ และแนวปฏิบัติด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้เข้ากับความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ อาทิ การออกแบบเครื่องจักร การออกแบบอุปกรณ์เครื่องมือที่เป็นปัจจัยจากการผลิต

 

สถาบันไทย-เยอรมัน ขานรับ นโยบายรัฐดันไทยแลนด์ 4.0

 

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในระยะ 20 ปีข้างหน้าด้วย 3 แผนยุทธศาสตร์ ได้แก่ การปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาการปฏิรูปนิเวศน์อุตสาหกรรม รองรับอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับเศรษฐกิจโลก ผ่านรูปแบบการดำเนินงานด้วยการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อยกระดับผลิตภาพมาตรฐานการผลิตและสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0

               

          ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้สถาบันไทย-เยอรมัน เข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีแม่พิมพ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและช่วยทรานสฟอร์เมชั่นไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีขีดความสามารถการแข่งขันที่ดีขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรม New S-Curve โดยเฉพาะกลุ่มหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Robotic) และระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automation) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วนทางการแพทย์ อุตสาหกรรมอากาศยาน เป็นต้น

               

          ด้าน นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่าสถาบันฯ พร้อมรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการทรานสฟอร์เมชั่นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โดยเข้าไปช่วยเร่งรัดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์หุ่นยนต์ เพื่อร่วมผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุนระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมของไทยในทุกด้าน ทั้งด้านผู้ซื้อและผู้ผลิตผ่านมาตรการจูงใจในการลดภาษีให้แก่ผู้ประกอบการจากภาครัฐ พร้อมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน

               

          ขณะเดียวกัน สถาบันจะเร่งการพัฒนาเทคโนโลยี และสร้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกระดับรองรับ ผ่านกระบวนการฝึกอบรมให้แก่อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานฝีมือ สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตและดิจิทัลให้แก่บุคลากรของผู้ประกอบการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงให้คำปรึกษา และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตของไทย ที่สามารถตอบสนองนโยบายภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

               

          ทั้งนี้ สถาบันฯ จะร่วมกับสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา การให้คำปรึกษา ในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้หันมาใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อสร้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าว จากปัจจุบันที่มีการฝึกอบรมมากกว่า 100 หลักสูตร ผ่านศูนย์เทคโนโลยีของสถาบันที่ประกอบไปด้วย ศูนย์เครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ ศูนย์แม่พิมพ์และเครื่องมือกล ศูนย์บำรุงรักษาและการจัดการอุตสาหกรรม เช่น หลักสูตรด้านการออกแบบการสร้างและการซ่อมบำรุง ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ผ่านการอบรมจากสถาบันฯ รวมทุกหลักสูตรกว่า 3,000 รายที่กระจายอยู่ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ

               

          "เราจะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรเพื่อตอบสนองผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการผลิตชิ้นส่วน เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม และระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่าง  ๆ ให้ดียิ่งขึ้นและพร้อมที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะช่วยผลักดันประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ในที่สุด" นายสมหวัง กล่าว

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด