Plant Tour

“ยิบอินซอย” ต่อยอด 70 ปีธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตรรายแรกในไทย ลงทุนกว่า 200 ล้านบาท เปิดโรงงานแห่งใหม่ ชูแนวคิด Green Industry

กองบรรณาธิการ

 

 

ยุพธัช ยิบอินซอย

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทยิบอินซอย

 

ยิบอินซอย ขยายฐานการผลิต ด้วยเงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท เปิดโรงงานผลิตปุ๋ยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Industry) บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ณ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมกระบวนการผลิตแบบ 1 ต่อ 1 โดยผลิตปุ๋ยผสมทีละกระสอบ ควบคุมการผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อให้ได้ปุ๋ยคุณภาพเยี่ยมตรงตามสูตรทุกถุง

 

ทำความรู้จัก กลุ่มบริษัทยิบอินซอย

 

          คุณยุพธัช ยิบอินซอย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทยิบอินซอย กล่าวว่า กลุ่มบริษัทยิบอินซอย ในปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 91 ของการก่อตั้ง เราเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยรายแรกเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ประมาณปี พ.ศ.2489 โดยเริ่มต้นบริษัทมาจากธุรกิจเหมืองแร่ และต่อมาได้ทำเทรดดิ้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาในประเทศไทย จากนั้นได้ขยับมาสู่การเป็นสาขาของธนาคารในต่างจังหวัด (เนื่องจากสมัยก่อน ธนาคารยังไม่มีสาขาในต่างจังหวัด จึงมีเอเยนต์ที่ทำหน้าที่แทนสาขาของธนาคารเข้ามาทำหน้าที่แทนในช่วงนั้น) หลังจากนั้น เราเริ่มเข้ามาทำระบบคอมพิวเตอร์ จนในปัจจุบัน เรามีธุรกิจที่หลากหลายมาก แยกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

 

          กลุ่มคอมพิวเตอร์และไอที เราทำแทบทุกระบบ เรียกได้ว่าเป็น Total Access ครบวงจรเลยก็ว่าได้ในสายไอที

               

          กลุ่มเทรดดิ้ง กลุ่มนี้จะมีสินค้าอยู่ประมาณ 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มปุ๋ยและเคมีเกษตร
  • กลุ่มวัสดุก่อสร้างและเครื่องเหล็ก
  • กลุ่มนำเข้าเฟอร์นิเจอร์เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย

 

          ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นธุรกิจคร่าว ๆ ในปัจจุบันของกลุ่มบริษัทยิบอินซอย คุณยุพธัช กล่าวต่อว่า ผมเองในฐานะเป็นรุ่นที่ 3 ที่เข้ามาดูแลกิจการ เรามีนโยบายหลักก็คือ “นำของที่ดีและมีคุณภาพ มาให้ผู้บริโภคได้ใช้ในราคาที่เหมาะสม” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ และเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจที่บรรพบุรุษเราสร้างมาและยังดำเนินต่อไปในจุดนี้ ซึ่งหน้าที่ของผมคือต้องทำให้ดีต่อไปและคงอยู่จนถึงรุ่นต่อไปให้ได้

 

 

ย้อนรอย “ธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตร” ผ่านมุมมองของทายาทรุ่นที่ 3

 

          ธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตรเป็นธุรกิจหลักธุรกิจหนึ่งของ “กลุ่มบริษัทยิบอินซอย” ตอนที่รับช่วงเข้ามาดูแลธุรกิจนี้ จำได้ว่าแนวทางที่คุณปู่และคุณพ่อวางไว้คือ เราจะขายแต่สินค้าที่ดีมีคุณภาพ สินค้าเกรดต่ำ คุณภาพไม่ดี จะไม่นำเข้ามาขาย ในตอนนั้นทั้งคุณปู่และคุณพ่อ ใช้ความพยายามอย่างมาก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรไทยมีความรู้ และเห็นความสำคัญของการบำรุงดินโดยการใช้ปุ๋ย การบำรุงและป้องกันต้นไม้โดยใช้เคมีเกษตร เพราะธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตรยังเป็นเรื่องใหม่มาก คนไทยยังไม่รู้ว่าจะต้องบำรุงดิน บำรุงต้นไม้ไปเพื่ออะไร ตอนนั้นคุณปู่ได้นำผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันมาถ่ายทอดองค์ความรู้นี้และฝึกอบรมพนักงานขายของบริษัท เพื่อให้พนักงานขายเหล่านั้นเอาความรู้ไปถ่ายทอดต่อ เน้นว่าจะขายปุ๋ยก็ต้องอธิบายโดยหลักทางวิชาการให้ได้ว่าปุ๋ยที่ขายนั้นดีอย่างไร มีวิธีการใช้ที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างไร ถึงปัจจุบันเกษตรกรจากรุ่นสู่รุ่นจดจำปุ๋ยของยิบอินซอย ในฐานะปุ๋ยระดับพรีเมียม จึงไม่น่าแปลกใจที่เครื่องหมายการค้า “ตราใบไม้” จะได้รับการตอบรับจากลูกค้าในประเทศ (ที่เป็นกลุ่มเกษตรระดับพรีเมียม) และภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างดี ต่อเนื่องยาวนาน จนได้รับการยอมรับว่าเราคือผู้นำธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตรในตลาดสินค้าพรีเมียม แม้ว่ามูลค่าโดยรวมของธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตรจะไม่สูงมากนัก หากนำมูลค่าธุรกิจนี้มาเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้ของทั้งกลุ่ม แต่นั่นเป็นเพราะเราเลือกที่จะทำตลาดในกลุ่มสินค้าพรีเมียมเท่านั้น

 

“ธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตร” ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

 

          ช่วงที่ผมเริ่มเข้ามารับผิดชอบงานของกลุ่มบริษัทยิบอินซอย ซึ่งนอกเหนือจากธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตร ก็ยังมีธุรกิจอื่น เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ แนวทางของผมคือการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจนี้ไปยังกลุ่มตลาดใหม่ สำหรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความยั่งยืน คือเน้นการสร้างทีมงานคุณภาพ วันนี้ขายปุ๋ยแล้วรู้เรื่องปุ๋ยเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องรู้สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ต้องรู้ผลกระทบของการใช้ปุ๋ยมากหรือน้อยเกินไปเป็นอย่างไร จุดแข็งหรือจุดอ่อนที่จะทำให้เกิดการขายหรือไม่ ต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้ซื้อจากทั่วประเทศ แล้วก็ต้องให้ความรู้ทางวิชาการต่อเนื่อง สำหรับการขยายกลุ่มธุรกิจไปยังกลุ่มตลาดใหม่ ก็แน่นอนเราจะเห็นว่า พืชผลทางการเกษตรมีการพัฒนาตลอดเวลา หน่วยงานของรัฐเองก็มีบทบาทและพยายามให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น เราก็มองว่าจากผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มี เราสามารถไปขายกับใครเพิ่มได้อีก ทั้งหมดนี้จึงประมวลออกมาเป็น การจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้ การทำกิจกรรมโรดโชว์ การจัดโปรโมชั่นเพื่อส่งเสริมการขาย และการสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกกับผู้ซื้อรายหลักจากทั่วประเทศ

 

          แต่ก็ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผมมาดูแลเป็นช่วงที่ประเทศเรามีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาโดยตลอด ซึ่งก็มีผลกระทบบ้าง แต่ช่วงที่หนักที่สุดคือน้ำท่วมปี 2554 ซึ่งถือว่าผลกระทบรุนแรง ความเสียหายของพืชผลการเกษตรสูงมาก และภาวะภัยแล้งที่เริ่มขึ้นในปี 2557 เป็นระยะยาว ทำให้กำลังซื้อหายไปทันที แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นผลดีที่ผลักให้ราคาพืชผลสูงตามไปด้วย และเป็นจุดที่ทำให้เราเริ่มคิดถึงการปรับตัวต่อไปในอนาคต จึงเกิดโครงการขึ้น ด้วยการเริ่มจากมองหาทำเลใหม่ในการสร้างโรงงานเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง รองรับการเติบโต และสอดคล้องกับการนำธุรกิจนี้ไปยังกลุ่มตลาดใหม่ เพราะโรงงานเดิมที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูซึ่งผลิตทั้งปุ๋ยและเคมีเกษตรมีพื้นที่จำกัด ไม่เพียงพอต่อการเติบโตทางธุรกิจ ในปี 2556 เราจึงตัดสินใจเริ่มโครงการในการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยแห่งที่ 2 ที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเปิดดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 8 เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรงงานแห่งใหม่นี้จะส่งผลให้บริษัทมีกำลังผลิตปุ๋ยสูงถึง 100,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะทำให้มีผลประกอบการเพิ่มขึ้น 100% จากเดิม โดยจะมีผลิตภัณฑ์ปุ๋ยและเคมีเกษตร “ตราหัวคนป่า” ซึ่งเป็นแบรนด์ใหม่ เน้นเกษตรกรกลุ่มพืชไร่ ข้าว ผักผลไม้ ยางและปาล์มเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนประมาณ 70%

 

 

บริเวณด้านหน้าโรงงาน

 

 

บริเวณสวนหย่อมด้านหน้าโรงงาน

 

 

บริเวณด้านข้างโรงงาน พื้นที่สำหรับขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ

 

 

บริเวณสวนหย่อมด้านหน้าโรงงาน

 

โรงงานปุ๋ยภายใต้แนวคิด Green Industry

 

          การสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีของเราไม่อยากสร้างเหมือนโรงงานทั่วไป ซึ่งเรามีรูปแบบที่ชัดเจนที่อาจจะไม่มีใครทำแบบนี้  ซึ่ง โรงงานเราต้องเหมือนบ้านหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ในชุมชน แล้วไม่ทำให้ชุมชนเดือดร้อน จึงเป็นที่มาว่าต้องเป็นโรงงานที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ และถ้าเราทำโรงงานให้เป็นรูปแบบนี้ได้ เราเชื่อว่าโรงงานในสายตาของชาวบ้านก็จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป และเป็นแนวคิดที่เราได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก

 

 

แปลงปลูกข้าวของเกษตรกรด้านข้างโรงงาน

 

 

พื้นที่แปลงทดลองปลูกข้าวด้านข้างโรงงาน

 

          ในส่วนของวัตถุดิบในการผลิตหรือ แม่ปุ๋ย ซึ่งในตัวของแม่ปุ๋ยเองนั้นไม่ได้มีพิษอะไร แต่กระบวนการผลิต (Process) ในหลายขั้นตอนที่อาจจะทำให้เกิดฝุ่นขึ้น ที่ทำให้มันมีความไม่ปลอดภัย ยิ่งถ้าได้เข้ามาเห็นโรงงานแล้วมีแต่ฝุ่น มีความไม่สะอาด ก็จะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับชุมชน จึงเป็นแนวคิดต่อมาว่าจะต้องทำอย่างไรให้โรงงานของเราเป็นระบบปิดให้ได้ ซึ่งโดยทั่วไปวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยส่วนมากจะมาในลักษณะเทกอง แล้วก็ตักจากนั้นเข้าไปผลิต เราจึงเปลี่ยนรูปแบบการผลิตใหม่คือไม่ใช้การวางวัตถุดิบแบบเทกอง แต่ใช้วัตถุดิบใส่จัมโบ้เข้ามาแทนโดยไม่มีการเทกองในโรงงาน สิ่งแรกที่ได้เลยทันทีคือลดฝุ่นลงได้มากในโรงงาน 

 

 

จัมโบ้ที่ใช้ในการจัดเก็บวัตถุดิบ

 

         ต่อมาก็เป็นเรื่องของ Process การผลิตที่จะทำอย่างไรให้ไม่มีการรั่วไหลของฝุ่นละอองจากการผลิต เราก็ได้ทำกระบวนการผลิตเป็นระบบปิดทั้งหมด ซึ่งมีรูปแบบคร่าว ๆ ก็คือ หลังจากที่ปล่อยวัตถุดิบจากจัมโบ้ลงสู่กระพ้อสำหรับรับวัตถุดิบผ่านท่อที่ลำเลียงวัตถุดิบด้วยลม ซึ่งวิธีการผลิตสมัยก่อนเราจะผสมทีละ 1-2 ตัน แล้วจึงแยกใส่ทีละถุง แต่สมัยนี้เรื่องของกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น และมีโทษค่อนข้างรุนแรง ในเรื่องของส่วนผสมในการผลิต  เราจึงไม่เสี่ยงกับเรื่องเหล่านี้ เราจึงทำระบบผลิตปุ๋ยแบบทีละกระสอบ (50 Kg) ฉะนั้นในปุ๋ยของเรา 1 ถุงขนาด 50 กิโลกรัม จะได้แร่ธาตุทุกอย่างครบถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด

 

 

 

เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต

 

          ท้ายที่สุดโรงงานของเราก็ออกมาเป็นรูปแบบที่ชัดเจนคือ ต้องเป็นโรงงานที่เป็นระบบปิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่เรายังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เราคิดต่อว่า ทำยังไงที่เราถึงจะเข้าใกล้กับคำว่า Green ได้มากกว่านี้ เราจึงได้ปรับระบบของไฟฟ้าให้ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ด้วยโซลาร์เซลล์ สำหรับระบบแสงสว่างภายในโรงงาน ซึ่งตอนนี้กำลังคุยกับหลายมหาวิทยาลัยในการร่วมมือกันว่าจะให้พลังงานที่เราใช้ได้จากโซลาร์เซลล์ครอบคลุมได้ขนาดไหน ซึ่งในเบื้องต้นตอนนี้เราทำเพียงแค่ระบบแสงสว่างทั้งหมดภายนอกโรงงาน เช่น ตามทางเดินต่าง ๆ แต่สำหรับเครื่องจักรยังมีความเสี่ยงเกินไปในการใช้งาน ตอนนี้โรงงานปุ๋ยแห่งใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้วด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท

 

 

ลักษณะการบรรจุแบบ 1 ต่อ 1

 

 

ผลิตภัณฑ์ที่บรรจุแล้วเสร็จจะถูกนำไปจัดเรียง เพื่อรอการขนย้ายเข้าสู่พื้นที่เก็บสินค้า

 

 

การขนย้ายสินค้าเข้าสู่พื้นที่เก็บสินค้า 

 

 

แผนผังกระบวนการผลิตภายในโรงงาน

 

นโยบาย 3M ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจสู่แนวคิด Green Industry

 

          M1 คือ Modern คือความทันสมัย เราใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 1 ต่อ 1 ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนการผลิตสูตรปุ๋ยที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้ไลน์การผลิตขนาดใหญ่ แต่มีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า ผลิตเท่าที่ต้องการ ที่สำคัญที่สุดทำให้มีวัสดุเหลือทิ้งหรือเหลือใช้จากการผลิตน้อยที่สุดในขณะที่ถุงบรรจุจัดเก็บวัตถุดิบก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะหมดสภาพ จากนั้นจึงจะถูกส่งกลับไปทำการย่อยสลายตามกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การผลิตปุ๋ยแบบ 1 ต่อ 1 จะทำให้ปุ๋ยทุกถุงมีคุณภาพที่แน่นอนและเป็นระบบการผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าดีที่สุดในเวลานี้ 

 

          M2 คือ Marketing Management ซึ่งเน้นที่การบริหารจัดการเพื่อการเคลื่อนตัวทางการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า แล้วส่งต่อไปยังขั้นตอนผลิตแบบ Just In Time (JIT) หรือทำให้ทันเวลาพอดีที่ลูกค้าต้องการ โดยมีสต็อกให้น้อยที่สุด จากนั้นจึงส่งต่อให้ถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว โดยรถที่มารับปุ๋ยมาถึงโรงงานจะไม่ต้องคอย สามารถรับสินค้าและออกจากโรงงานกลับไปยังจุดหมายปลายทางได้ทันที โดยใช้วิธีเดินรถแบบทางเดียว ถือเป็นการเคลื่อนตัวที่รวดเร็ว ไม่ติดขัด แต่หากมีกรณีที่ต้องคอย ภายในโรงงานจะมีพื้นที่สำหรับการจอดรถ ห้องพักสำหรับคนขับ ที่พร้อมทั้งห้องน้ำและห้องอาหาร คนขับรถไม่ต้องนำรถไปจอดคอยที่ริมถนน สร้างผลกระทบด้านการจราจร หรือติดเครื่องรถทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ การจัดการด้านการตลาดที่มีประสิทธิภาพ บวกกับการผลิตแบบ JIT ส่งผลให้เกิดข้อดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเสียหายจากการผลิตมากเกินไป (Over Production Waste) ลดความเสียหายจากการรอคอย (Waiting Waste) สินค้าคงคลังน้อยใช้พื้นที่จัดเก็บน้อย (Inventory Waste) ฯลฯ โรงงานปุ๋ยของเราจึงไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากเกินไป

 

          M3 คือ Move on หรือการก้าวต่อไปข้างหน้าร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน เพราะส่วนใหญ่เวลาจะมีการตั้งโรงงานที่ไหน จะมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่สำหรับการตั้งโรงงานของยิบอินซอยขอเป็นการตั้งโรงงานที่ชุมชนได้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว สังเกตได้จากบริเวณโดยรอบโรงงาน สามารถอยู่กับชุมชนได้อย่างดีเยี่ยม บรรยากาศโดยรอบของโรงงานเป็นชุมชนเกษตรกรรมเดิม มีการปลูกข้าวก็ยังคงปลูกได้เหมือนเดิม การผลิตปุ๋ยของเราจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ กับบริเวณโดยรอบ นอกจากนี้บริเวณโดยรอบโรงงานยังมีตกแต่งบริเวณให้มีความสวยงาม ซึ่งพนักงานของบริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยรอบเพื่อการพักผ่อนได้

 

 

 

ผลิตภัณฑ์ที่พร้อมส่งจำหน่าย

 

โรงงานแห่งใหม่ กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 5 เท่า

 

          สำหรับโรงงานใหม่แห่งนี้ มีกำลังการผลิตมากกว่าโรงงานเดิม 5 เท่า นั่นก็คือ 100,000 ต่อปี ซึ่งโรงงานเดิมของเราที่บางปูจะผลิตทั้งปุ๋ยและเคมีเกษตรซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 2-3 หมื่นตัน/ปี และด้วยพื้นที่ตรงนั้นที่ไม่สามารถขยายโรงงานได้อีกแล้ว และทั้งการผลิตปุ๋ยและเคมีเกษตรต้องการพื้นที่ในการจัดเก็บวัตถุดิบ (Law Material) จัดเก็บสินค้าที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาของการสร้างโรงงานแห่งใหม่นี้  โดยโรงงานใหม่นี้เริ่มทำการผลิตเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเริ่มแรกเราได้ตั้งเป้าการผลิต 100,000 ตันภายใน 3 ปี ในโรงงานใหม่มีเครื่องจักรการผลิตอยู่ 2 หัว กำลังการผลิตต่อหนึ่งกะ อยู่ที่ 200 ตันต่อกะ อนาคตจะเพิ่มเครื่องจักรการผลิตอีกหนึ่งหัว ซึ่งตอนนี้เรามีสูตรปุ๋ยทั้งหมด 10 สูตร ในแบรนด์หัวคนป่า โดยโรงงานเดิมผลิตแบรนด์ใบไม้ และแบรนด์หัวคนป่าจะผลิตที่โรงงานใหม่ทั้งหมด

 

 

ผลิตภัณฑ์ ตราใบไม้

 

 

ผลิตภัณฑ์ ตราหัวคนป่า

 

“ตราหัวคนป่า” แบรนด์ใหม่ภายใต้จุดยืนเดิม

 

          ธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตรของยิบอินซอยจะเน้นตลาดหลัก ๆ ของประเทศ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ และพืชผักต่าง ๆ โดยมีการจัดจำหน่ายสารกำจัดแมลง สารกำจัดไร สารป้องกันและกำจัดโรคพืช สารกำจัดวัชพืช สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช รวมทั้งปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ซึ่งนำวัตถุดิบคุณภาพสูงเข้ามาจากประเทศที่มีชื่อเสียง ทั้งจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส อิสราเอล และญี่ปุ่น ฯลฯ ทั้งหมดถูกคัดสรรแล้วว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพสูง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยิบอินซอยมุ่งเน้นการรักษาชื่อเสียงของบริษัทในฐานะพันธมิตรที่ดีของคู่ค้า ลูกค้าที่ใช้ปุ๋ยและเคมีเกษตรของเรา ต่างมั่นใจในเครื่องหมายการค้า “ตราใบไม้” แผนการตลาดของเรายังคงให้การสนับสนุนการรับรู้ถึงศักยภาพและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ พร้อมให้การสนับสนุนความรู้ด้านการเกษตรที่ถูกต้องต่อกลุ่มลูกค้าผ่านทางตัวแทนจำหน่าย   

 

          ส่วนการเพิ่มเครื่องหมายการค้า “ตราหัวคนป่า” เพื่อรองรับทุกตลาดและครอบคลุมทุกกลุ่มพืช ซึ่งเป็นตลาดกลุ่มใหญ่และมีมูลค่าสูงกว่ากลุ่มที่เคยทำอยู่ แต่แผนการตลาดยังคงใช้รูปแบบเดิมคือเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ และสร้างการรับรู้การใช้ผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องโดยผ่านตัวแทนจำหน่าย มีการแนะนำการใช้ที่เหมาะสมให้ประโยชน์สูงสุดในพืชแต่ละประเภท ซึ่งมั่นใจว่ารูปแบบการตลาดแบบนี้จะทำให้เครื่องหมายการค้า “ตราหัวคนป่า” ได้รับการตอบรับที่ดีและเติบโตอย่างรวดเร็ว  มีความยั่งยืนตามแนวทางที่เรายึดถือมาโดยตลอด

 

สูตรที่ขายดีของ “หัวคนป่า”

 

          ปุ๋ยสูตร 22-4-22 เป็นสูตรรับรวง ใส่เพื่อให้ข้าวรวงใหญ่ได้น้ำหนัก ปุ๋ยเราเป็นปุ๋ย 100% ไม่ใส่ฟิลเลอร์ ซึ่งมีคำถามที่ถามเราบ่อยว่า ทำไมไม่ทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำไมต้องเป็นปุ๋ยเคมี ผมก็ต้องทำความเข้าใจว่า เช่น Mop (Molybdenum Phosphide) 0060 Protash ที่เรานำเข้ามาจากเหมืองในประเทศเยอรมันซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่ดีที่สุดในโลก เราค่อนข้างพิถีพิถันในเรื่องของวัตถุดิบการผลิตเพราะเราเชื่อในนโยบายหลักของเราที่นำของที่ดีมีคุณภาพมาให้สู่ผู้บริโภคได้ใช้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่ง Mop ที่มาจากเหมืองในเยอรมันไม่ได้มีการสกัดหรือทำอะไรเพิ่มเติม เป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติ และมีสูตรทางเคมี เหมือนน้ำที่เป็น H2O เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น ซึ่งได้มีการทดลองเปรียบเทียบระหว่างปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ว่าถ้าต้องการให้พืชได้รับธาตุอาหารเท่ากับปุ๋ยเคมีจะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ถึง 20 เท่าของปุ๋ยเคมี ถามว่าในเชิงเกษตรอุตสาหกรรมจะยอมแบกต้นทุนขนาดนั้นไหวไหม ซึ่งถ้าอยากให้ผลผลิตทางการเกษตรของบ้านเราได้มาตรฐานก็ต้องใช้ของเหล่านี้ครับ ซึ่งในความเป็นจริงปุ๋ยเคมีมันไม่ได้มีพิษอย่างที่คิดครับ

 

 

 

 

 

สูตรปุ๋ยต่างๆ ของ ยิบอินซอย

 

 

Product อื่นๆ ของยิบอินซอย

 

 

ข้อมูลจำเพาะธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตร

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด