Special Report

กรมโรงงาน เดินหน้ายุทธศาสตร์ “กรีน อินดัสทรี” มุ่งเป้ายกระดับโรงงานเขต 3 ลุ่มน้ำอุตสาหกรรม กว่า 400 โรงงาน

กองบรรณาธิการ

 

 

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยยุทธศาสตร์ Green Industry พร้อมนโยบายเร่งด่วนในการส่งเสริมและพัฒนาในพื้นที่ลุ่มน้ำสายหลักในเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินงานกรมโรงงานฯ จึงได้แบ่งเป็น 3 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ 1.ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2.ลุ่มน้ำท่าจีน แม่กลอง และ 3.ลุ่มน้ำตะวันออก เพื่อเดินหน้าผลักดันสถานประกอบการให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ยกระดับสถานประกอบการให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงขึ้น และมุ่งเป้าหมายสถานประกอบการได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว จำนวน 400 โรงงาน ภายในปี 2560

 

 

นางสาว นิสากร จึงเจริญธรรม
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

     นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือโครงการ Green Industry ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเชิงรุกจึงมีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว โดยเน้นการสร้างความตระหนักให้กับบุคลากรในทุกระดับได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวมีการกำหนดมาตรฐานไว้ 5 ระดับด้วยกัน คือ

 

          ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือ องค์กรต้องกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ

          ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว และจัดทำแผนงานพร้อมนำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล

          ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) วางแผนงาน นำไปปฏิบัติ และติดตามประเมินผล การทบทวนและรักษาระบบ เพื่อให้ประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

          ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) องค์กรต้องมีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามเกณฑ์กำหนดระดับที่ 3 ทุกข้อ สร้างวัฒนธรรมด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร รายงานผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะ

          ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) เป็นไปตามข้อกำหนดในระดับที่ 4 สานสัมพันธ์ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน จัดทำรายงานและเผยแพร่สานสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม

 

          โดยในปี 2559 มีสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว รวมทั้งสิ้น 28,049 ราย แบ่งเป็น ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) 18,182 ราย ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) 5,386 ราย ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) 4,305 ราย ระดับที่ 4วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) 146 ราย และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) 30 ราย 

 

สรุปจำนวนสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว

(ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2555 – 15 กันยายน 2559)

 

 

 

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

 

          นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 กรมโรงงานฯ มุ่งเน้น การส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้สถานประกอบการเข้าสู่การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางในการดำเนินงาน 6 เรื่อง ได้แก่ 1.การให้คำแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการเพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง และลุ่มน้ำตะวันออก ที่อยู่ในพื้นที่หลักในเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาและแนะนำแก่สถานประกอบการที่ต้องการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงขึ้น 2.การส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชน ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสีเขียวและการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3.การศึกษาศักยภาพในการลดปริมาณน้ำในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดปริมาณน้ำใช้ในโรงงานและสามารถหมุนเวียนน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ได้ 4.การพัฒนาผลิตภาพสำหรับอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์และบริการ การพัฒนาด้านมาตรฐาน สามารถแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น 5.การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดสำหรับอุตสาหกรรมระดับรายสาขา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การป้องกันมลพิษของโรงงานควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโลยีการผลิตที่สะอาดด้วย (Cleaner Technology/CT) และ 6.การตรวจประเมินสถานประกอบการที่ขอเทียบระดับหรือเลื่อนระดับสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อยกระดับการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ การยกระดับสถานประกอบการตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ยังเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะการได้การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงจะต้องมีการตรวจประเมิน การตรวจหาแหล่งกำเนิดหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางด้านน้ำ อากาศ กากของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต จึงทำให้สถานประกอบการมีความเข้มงวดในการรักษาสิ่งแวดล้อมจะไม่ละเลยในการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ถือว่าการได้การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทำให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าภายในปี 2560 ให้ภาคอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ตามลุ่มน้ำได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงขึ้น จำนวน 400 โรงงาน ด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท

 

 

          นายมงคล กล่าวต่อว่า สำหรับการให้คำแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการเพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในพื้นที่ลุ่มน้ำหลักในเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มุ่งเน้นไปที่ 3 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ 1.ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2.ลุ่มน้ำท่าจีน แม่กลอง และ 3.ลุ่มน้ำตะวันออก เพื่อให้สถานประกอบการตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ได้มีความรู้เชิงลึกในการบริหารจัดการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ทรัพยากรทั้งน้ำและพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งพัฒนาความสามารถและเสริมสร้างจิตสำนึกให้พนักงานและผู้ประกอบการมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ตามกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ลดปัญหาการร้องเรียนที่เกิดขึ้นจากชุนชนในบริเวณรอบ โดยจะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและควบคู่การอนุรักษ์ปกป้องรักษาระบบนิเวศไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ยกระดับสถานประกอบการให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงขึ้น โดยในปัจจุบันมีโรงงานที่ได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับ 1-5 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 4,154 โรง ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง จำนวน  2,517 โรง และลุ่มน้ำตะวันออก จำนวน 3,336 โรง โดยมีเป้าหมายให้สถานประกอบการไม่น้อยกว่า 100 ราย ของแต่ละลุ่มน้ำ มีการยกระดับเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงขึ้นตั้งแต่อุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่2 หรือ GI2 ขึ้นไป  

 

 

          สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ได้ที่ สำนักเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรมโทร. 02-202-4163, 02-202-4171 หรือสอบถามข้อมูลโครงการอื่น ๆ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0-2-202-4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th

 

เกี่ยวกับโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว

         
ประเทศไทยมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ตามที่ได้ให้สัตยาบันรับรองปฏิญญา โจฮันเนสเบิร์ก เมื่อปี 2545 และปฏิญญามะนิลาว่าด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เมื่อปี 2552 กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยดำเนินการในเชิงรุก มุ่งเน้นในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เติบโต และพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นรูปธรรมจึงได้เริ่มโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ขึ้น เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มีการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือ และประชาชนไว้วางใจ และเกิดการสร้างเศรษฐกิจ สีเขียว ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม สีเขียวของประเทศ (Green GDP) มีมูลค่าสูงขึ้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ผนึกกำลังกับทุกหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเครือข่าย โดยเฉพาะสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ส่งเสริมให้สถานประกอบการทั่วประเทศใส่ใจในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวใน 5 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network)

นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม

       
• ยกระดับเครือข่ายฐานการผลิต การบริการ และการตลาด โดยใช้ศักยภาพของประเทศในด้าน ต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสในตลาดโลก

          • ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค และส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
          • เพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม
          • ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมกับภาคการศึกษา
          • ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการลงทุน
          • ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ
          • ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและอุตสาหกรรมสีเขียว ( CSR & Green Industry)
          • ส่งเสริมนักลงทุนไทยไปดำเนินธุรกิจต่างประเทศ
          • ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและพัฒนาไปสู่คลัสเตอร์อุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืน

แนวทางการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทย

       
1. การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ทั้งในด้านแรงงาน เทคโนโลยี รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลก เพื่อที่จะสามารถแข่งขันได้

          2. การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและระบบโลจิสติกส์เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ
          3. หาตลาดส่งออก ปรับปรุงการผลิตให้สามารถปฏิบัติตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียนได้ รวมถึงการบริหารจัดการ การจัดหาวัตถุดิบราคาถูกและมีคุณภาพดีในภูมิภาค
          4. การปรับปรุงโครงสร้างภาษีของไทยทั้งระบบเพื่อให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย
          5. ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการผลิต (Production Network) เพื่อให้สามารถสร้าง Economy of Scale เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก
          6. ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม
          7. มีกลไกที่ก่อให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าสู่ตลาดภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

ประโยชน์ที่ได้รับ

       
• ลดข้อร้องเรียนจากผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน

          • ลดความเสี่ยงในการรับผิดชอบในอนาคต
          • เกิดภาพลักษณ์ และทัศนคติที่ดีต่ออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
          • ส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่ดีและการยอมรับระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนที่อยู่โดยรอบ
          • คนงานมีความปลอดภัยและมีความสุขกับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดี
          • ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ประหยัดต้นทุน
          • สร้างโอกาสในการแข่งขัน เพิ่มการยอมรับสินค้าของไทยในตลาดต่างประเทศ
          • สร้างโอกาสทางการตลาด โดยเน้นประเด็น “สีเขียว” ของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต ทำให้เกิดธุรกิจใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด