Management

การบริหารวิสาหกิจ SMEs ไทยสู่กระแสโลกาภิวัตน์

เศรษฐภูมิ เถาชารี

สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ วิทยาลัยนานาชาติพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร

sedthapoom@pnru.ac.th

 

 

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นวิสาหกิจที่ก่อให้เกิดการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ คือ ช่วยการสร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างเงินตราต่างประเทศ ช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศ โดยการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นในการลงทุน และสร้างเสริมประสบการณ์ ช่วยเชื่อมโยงกับกิจกรรมขนาดใหญ่ และภาคการผลิตอื่น ๆ เช่น ภาคเกษตรกรรม เป็นแหล่งพัฒนาทักษะฝีมือ

 

     เนื่องจากในปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีจำนวนมากในประเทศไทย และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นวิสาหกิจกิจการประเภทที่สำคัญคือ กิจการการผลิต กิจการผลิตและบริการ และกิจการการบริการที่ใช้เงินลงทุนในจำนวนที่ต่ำกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 30–200 ล้านบาท และใช้แรงงานประมาณ 15-200 คน ซึ่งสามารถแสดงความแตกต่างโดยทั่วไประหว่างกิจการผลิต กิจการผลิตและบริการ และกิจการบริการดังแสดงในตารางที่ 1 ข้างล่างนี้

 

ตารางที่ 1 แสดงความแตกต่างโดยทั่วไประหว่างกิจการผลิต กิจการผลิตและบริการ และกิจการบริการ

 

 

          ซึ่งวิสาหกิจ SMEs 3 ประเภทที่สำคัญจะช่วยทำให้รองรับแรงงานจากภาคเกษตรกรรมเมื่อหมดฤดูกาลเพาะปลูก รวมถึงเป็นแหล่งที่สามารถรองรับแรงงานที่เข้ามาใหม่เป็นการป้องกันการอพยพของแรงงานเข้ามาหางานทำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งช่วยกระจายการกระจุกตัวของโรงงาน กิจการวิสาหกิจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปสู่ภูมิภาค ก่อให้เกิดการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนภูมิภาคและของประเทศ

                               

          และเนื่องจากในปัจจุบันได้มีแนวโน้มที่มีผลกระทบต่อการบริหารการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ การเติบโตภาคบริการ การเปลี่ยนแปลงผลผลิต การแข่งขันระดับโลก (คุณภาพ เวลา และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี) การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและสภาพแวดล้อม จรรยาบรรณ และความหลากหลายของแรงงาน โดยมีรายละเอียดที่สำคัญคือ

 

  • การเติบโตภาคบริการ ภาคบริการจำแนกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ รัฐบาล การค้าปลีกค้าส่ง และบริการอื่น ๆ เช่น การขนส่ง การบริการสาธารณูปโภค เนื่องจากในปี ค.ศ.1955-1993 อุตสาหกรรมงานบริการในสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 79% ของภาคการผลิต ในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศไทยก็เช่นกัน ธุรกิจภาคบริการเริ่มทวีความสำคัญและเติบโตมากขึ้น เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ต ธุรกิจการเงินการธนาคาร การค้าปลีกค้าส่ง และการท่องเที่ยว
  • ผลผลิต คือ การเปรียบเทียบผลที่ได้ (Output) ต่อปัจจัยใส่เข้า (Input) ผลผลิตเป็นตัววัดถึงสมรรถนะในการแข่งขัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และเชิงปฏิบัติการ ตัวแปรสำคัญที่เป็นปัจจัยป้อนเข้า ได้แก่ แรงงาน เงินทุน วัสดุ และพลังงาน การวัดผลผลิตจึงสามารถเลือกวัดประสิทธิภาพตามตัวแปรต่าง ๆ ที่ต้องการ
  • การแข่งขันระดับโลก ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่โลกไร้พรมแดน ระบบตลาดและระบบผลิตได้เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตต่าง ๆ ทั่วโลก ที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ แนวโน้มการผลิตจึงต้องมุ่งคุณภาพดี ต้นทุนต่ำ ส่งมอบตรงตามเวลา การปรับตัวเร็ว ซึ่งผู้ผลิตจะมีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในระบบการผลิตมากขึ้น ระบบการผลิตจึงต้องมีประสิทธิภาพสูง และมีมาตรฐานที่สามารถบรรลุตามข้อกำหนดในมาตรฐานสากล
  • การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ระบบตลาดที่มีระดับการแข่งขันสูง เพื่อพยายามที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ทำให้แนวโน้มต่อไปผู้ผลิตต้องหันกลับมาปรับปรุงระบบการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การประยุกต์ใช้ Just In Time (JIT), Reengineering, Lean Production
  • สภาพแวดล้อม จรรยาบรรณ และความหลากหลายของแรงงาน การตื่นตัวในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายและเสื่อมโทรมลง อันเนื่องมาจากถูกนำไปใช้อย่างฟุ่มเฟือยและขาดประสิทธิภาพ การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติ สังคม แรงงานที่ต่างวัฒนธรรม แนวโน้มระบบการผลิตจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับกระแสดังกล่าว ซึ่งนับวันถูกนำมาเป็นข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น เพื่อให้สินค้าและบริการของตนเป็นที่ยอมรับและมีภาพพจน์ที่ดีในสังคม ผู้ผลิตต้องหันมาสนใจกับระบบการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ และรับผิดชอบต่อสังคม ให้ความสำคัญกับเรื่องมนุษยชนและคุณภาพชีวิตของแรงงาน บริหารแรงงานที่ต่างวัฒนธรรมและมีความหลากหลาย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

          ทำให้การบริหารโลจิสติกส์ (Logistics) ซึ่งเป็นการจัดการลำเลียงสินค้าเพื่อให้เกิดต้นทุนโดยรวมในการกระจายสินค้าต่ำที่สุด เกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบไปสิ้นสุด ณ จุดที่มีการบริโภค หรือเป็นกระบวนการในการจัดการวางแผน จัดสายงานและควบคุมกิจกรรมทั้งในส่วนที่มีการเคลื่อนย้ายและไม่มีการเคลื่อนย้าย การอำนวยความสะดวกในกระบวนการไหลของสินค้า ตั้งแต่จุดจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงจุดที่มีการบริโภค โดยผ่านกระบวนการที่สำคัญ 5 ส่วนคือ การวางแผน (Plan) การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ (Source) การผลิต (Make) การจัดส่ง (Deliver) และการส่งคืน (Return) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            

          กระบวนการที่ 1 การวางแผน (Plan) จะเกี่ยวข้องกับการวางแผนในทุก  ๆ ด้าน เช่น แผนการจัดหาข้อมูล การจัดการวัสดุ แผนการผลิต การจัดการสินค้าคงคลัง แผนการเงิน งบดุล งบกระแสเงินสด รวมถึงการบริหารจัดการในด้านอื่น ๆ โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการวางแผน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายทางการเงินของแต่ละองค์กร

           

          กระบวนการที่ 2 การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ (Source) ทรัพยากรหรือวัตถุดิบในที่นี้ จะหมายความรวมถึงทั้งสถานที่และผลิตภัณฑ์ ดังนั้นกระบวนการในการจัดหาประกอบด้วย การจัดหาวัตถุดิบที่ต้องการใช้ในการผลิตล่วงหน้า การแบ่งแยกประเภทว่า วัตถุดิบที่ต้องการนั้นจะได้มาจาก การผลิตเองหรือต้องทำการสั่งซื้อ การจัดหา Suppliers ที่มีความน่าเชื่อถือหรือมีสมรรถนะความพร้อมในการผลิตที่ดีพอ การจัดหาสถานที่ในการรับส่งสินค้าให้เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการ

           

          กระบวนการที่ 3 การผลิต (Make) แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 ผลิตเพื่อจัดเก็บ รูปแบบที่ 2 ผลิตตามคำสั่งของลูกค้า และรูปแบบที่ 3 ผลิตตามการออกแบบทางวิศวกรรม

               

          โดยจะมีกระบวนการผลิต คือ จำแนกประเภทสินค้าที่จะผลิตตามรูปแบบขั้นต้น ทำการทดลองผลิตสินค้า ทำการผลิตสินค้าให้ได้ปริมาณและคุณภาพตามความต้องการของลูกค้า ทำการจัดส่งสินค้าภายในเวลาที่กำหนด ในกระบวนการผลิตนั้น เราจะต้องมีการควบคุมดูแลและจัดการในทุก ๆ ขั้นตอนหรือทุก ๆ ส่วนงาน ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการข้อมูล การจัดการ WIP (Work In Process) การจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต การบริหารกระบวนการผลิตจนกระทั่งถึงการดูแลด้านการจัดส่งสินค้า เพื่อให้ได้มาซึ่งความพึงพอใจของลูกค้า

           

          กระบวนการที่ 4 การจัดส่ง (Deliver) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตดังนี้ ทำการจัดส่งสินค้าตามรูปแบบการผลิต เช่น ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นเพื่อจัดเก็บหรือเป็นการผลิตล่วงหน้า ก็จะทำการจัดส่งเข้าสู่คลังสินค้า ถ้าผลิตตามออเดอร์ของลูกค้า ก็จะทำการจัดส่งให้กับลูกค้า เป็นต้น โดยในการจัดส่งก็จะต้องมีการวางแผนด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น วางแผนเส้นทางในการขนส่งหรือกำหนดจำนวนรถบรรทุกที่ต้องใช้ ในการขนส่งจะมีใบรับ-ส่ง สินค้า เพื่อบอกจำนวนที่จะทำการจัดส่งสินค้าไป และบอกสถานที่จัดส่งและสถานีปลายทางที่รับสินค้าด้วย

           

          กระบวนการที่ 5 การส่งคืน (Return) ก็จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการก่อนหน้า เช่น ทำการส่งคืนสินค้าในกรณีที่สินค้ามีความเสียหายระหว่างการขนส่ง หากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นสามารถนำกลับมาซ่อมแซม ปรับปรุงแก้ไขได้ ก็ส่งไปยังแผนก Rework หรือหน่วยงานซ่อมบำรุง เป็นต้น

                               

          ขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ได้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asian Economic Community: AEC) ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดเสรีอย่างเข้มข้นและรุนแรง ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทรัพยากร ทุน ไปได้อย่างเสรี ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดการค้าเสรีอย่างเข้มข้นและรุนแรง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะต้องมุ่งบริหารจัดการกระบวนการโลจิสติกส์ของวิสาหกิจ SMEs ไทย โดยประยุกต์ใช้ 3 ขั้นตอนที่สำคัญ ดังแสดงในรูปที่ 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดเสรีอาเซียน และเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ที่เป็นการเปลี่ยนจาก “Traditional SMEs” หรือ “SMEs” ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลือ สู่การเป็น “Smart Enterprises” และ “Startups” ที่มีศักยภาพสูง

 

 

รูปที่ 1 แสดงขั้นตอนของการบริหารวิสาหกิจ SMEs ไทยสู่กระแสโลกาภิวัตน์

 

มุ่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโลจิสติกส์

 

          เทคโนโลยีโลจิสติกส์ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการกระบวนการทางโลจิสติกส์ เช่น การวางผังโรงงาน (Plant Layout) กิจกรรม 5 ส, การควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) การบำรุงรักษาทวีผลแบบทุกคนมีส่วนร่วม (Total Productive Maintenance: TPM) การบริหารงานคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management: TQM) และวิสาหกิจแบบลีน (Lean Enterprise) 

           

          การวางผังโรงงาน (Plant Layout) เป็นการจัดวางตำแหน่งของเครื่องจักร อุปกรณ์เพื่อใช้ในกระบวนการผลิต แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

               

          ประเภทที่ 1 การวางผังโรงงานตามกระบวนการผลิต (Process Layout) เป็นการวางเครื่องจักรให้เป็นหมวดหมู่ตามลักษณะของกระบวนการผลิต เช่น เครื่องตัด เครื่องปั๊ม เครื่องบรรจุหีบห่อ การวางผังโรงงานตามกระบวนการผลิตนี้ สินค้าที่ผลิตจะต้องเคลื่อนย้ายไปตามกระบวนการต่าง ๆ ตามขั้นตอนในการผลิตสินค้านั้น

               

          ประเภทที่ 2 การวางผังโรงงานตามชนิดของผลิตภัณฑ์ (Product Layout) เป็นการจัดการการผลิตให้เรียงตามลำดับ ขั้นตอนการผลิตของผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มจากวัตถุดิบไปถึงกระบวนการผลิตแต่ละหน่วยการผลิต จนสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จ

               

          ประเภทที่ 3 การวางผังโรงงานแบบผสม  (Mixed Layout) ในปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่จะใช้ระบบการวางผังโรงงานแบบผสมกล่าวคือ ในแผนกซ่อมบำรุง (Maintenance Engineer) แผนกงานหล่อ งานเชื่อมทำแบบหล่อ (Mole Maintenance) จะวางผังเป็นแบบตามกระบวนการผลิต (Process Layout) ส่วนแผนกผลิตชิ้นงานหรือหล่อชิ้นงานจะใช้วิธีการวางผังโรงงานแบบตามชนิดของผลิตภัณฑ์ (Product Layout)

           

          กิจกรรม 5 ส คือ พื้นฐานของการดูแลจัดการที่ทำงาน หรือสถานประกอบการต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดูน่าทำงาน ประกอบด้วย สะสาง (SEIRI) สะดวก (SEITION) สะอาด (SEISO) สุขลักษณะ (SEIKETSU) และสร้างนิสัย (SHITSUKE)                   

 

          การควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) เป็นเทคนิคที่ใช้ในการสื่อสารผ่านการมองเห็น โดยแสดงให้เห็นผลการปฏิบัติงาน เห็นความผิดปกติ หรือสื่อสารความหมายบางอย่างให้เห็นได้อย่างสะดวก ชัดเจน และเข้าใจได้ง่ายขึ้น Visual Control จึงอาจอยู่ในรูปสัญลักษณ์แผ่นป้าย สัญญาณไฟ แถบสี รูปภาพ กราฟ ฯลฯ ตามประโยชน์ในการประยุกต์ใช้งาน

           

          การบำรุงรักษาทวีผลแบบทุกคนมีส่วนร่วม (Total Productive Maintenance: TPM) เป็นระบบการบำรุงรักษาที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เครื่องจักรเสียเป็นศูนย์ (Zero Breakdown) ของเสียเป็นศูนย์ (Zero Defect) และอุบัติเหตุเป็นศูนย์ (Zero Accident) เสาหลัก 8 ประการของ TPM ประกอบด้วย การปรับปรุงเฉพาะเรื่อง (Individual Improvement) การบำรุงรักษาด้วยตนเอง (Autonomous Maintenance) การบำรุงรักษาตามแผน (Planed Maintenance) การศึกษา และฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการทำงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance Skill Development) การคำนึงถึงการบำรุงรักษาตั้งแต่ขั้นการออกแบบ (Initial Phase Management) ระบบบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ (Quality Maintenance) ระบบการทำงานของฝ่ายบริหารที่ตระหนักถึงประสิทธิภาพการผลิตหรือ TMP ในสำนักงาน (TPM in Office) และ ระบบชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมภายในโรงงาน (Safety, Hygiene and Working Environment)

           

          การจัดการคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management: TQM) เป็นวัฒนธรรมขององค์กรที่สมาชิกทุกคนต่างให้ความสำคัญ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาการดำเนินงานขององค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งที่จะตอบสนองความต้องการและความพอใจให้แก่ลูกค้า โดย TQM จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากแนวคิดการบริหารงานอื่น ซึ่งเราสามารถกล่าวได้ว่า TQM จะมีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ การให้ความสำคัญกับลูกค้า การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม

           

          วิสาหกิจแบบลีน (Lean Enterprise) เป็นวิสาหกิจที่มุ่งสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับกระบวนการและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า โดยมีการสร้างวัฒนธรรมการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และการปรับปรุงผลกำไรด้วยการตัดลด/ขจัดความสูญเปล่าที่เกิดจากการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ เสาต้นที่ 1 เป็นระบบการออกแบบด้วยลีน (Lean Design System) โดยใช้ในช่วงออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่และการออกแบบกระบวนการผลิต เพื่อเป้าหมายทางคุณภาพและความเร็วในการเข้าตลาด เสาต้นที่ 2 ระบบการผลิตแบบลีน (Lean Production System) โดยการมุ่งลดความสูญเปล่าทั้ง 7 คือ การผลิตมากเกินไป (Overproduction) การรอคอย (Waiting) การขนย้าย (Transportation) กระบวนการที่ไม่เหมาะสม (Inappropriate Processing) การเก็บวัสดุคงคลัง (Unnecessary Inventory) การเคลื่อนที่ที่ไม่จำเป็น (Unnecessary Motions) และของเสีย (Defects) ซึ่งในการผลิตจะมีลักษณะงานซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม 3 ประเภทคือ กิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added: VA) เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ในกระบวนการ จนนำไปสู่ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป กิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแต่จำเป็น เป็นความสูญเปล่าแต่อาจจำเป็นต้องยอมให้เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต และกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าเพิ่ม ถือเป็นความสูญเปล่าและจำเป็นต้องกำจัดออกไป เสาต้นที่ 3 ความสอดคล้องห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain Synchronization) โดยมุ่งความสอดคล้องการไหลของสารสนเทศและวัสดุตลอดทั้งโซ่คุณค่า

           

          ทศพล ประเสริฐโส, วีรพัฒน์ เศรษฐ์สมบูรณ์ และเศรษฐภูมิ เถาชารี (2555) ได้ศึกษาโรงสีข้าวสหกรณ์การเกษตรกรณีศึกษาแห่งหนึ่ง พบว่ามีความสูญเปล่าเกิดขึ้นในกระบวนการรับซื้อข้าวเปลือก ประกอบกับกระบวนการผลิตที่ยังขาดประสิทธิภาพ ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูง จึงได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโลจิสติกส์ ที่ครอบคลุมกระบวนการรับซื้อข้าวเปลือก และกระบวนการผลิต ส่งผลให้ความพึงพอใจของเกษตรกรต่อการให้บริการของกระบวนการรับซื้อข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 7.95% และโรงสีมีขั้นตอนกระบวนการรับซื้อข้าวเปลือกที่เป็นมาตรฐาน ทำให้เกษตรกรใช้เวลาในการเข้ารับบริการลดลง 3.73 นาที/ราย ถือเป็นความสูญเปล่าที่ลดลงได้ร้อยละ 10 แต่ต้องใช้ต้นทุนดำเนินการปรับปรุงกระบวนการรับซื้อข้าวเปลือก 200,000 บาท/ปี มีต้นทุนในกระบวนการรับซื้อข้าวเปลือก 9,825,342.30 บาท/ปี คิดเป็นต้นทุนในกระบวนการรับซื้อข้าวเปลือกที่ลดลง 618,919.20บาท/ปี หรือ ลดลงร้อยละ 6 และมีต้นทุนการผลิตที่ลดลง 1,025,936.90 บาท/ปี หรือลดลง ร้อยละ 7 แต่ต้องใช้ต้นทุนดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิต 580,000 บาท/ปี ทำให้สามารถลดต้นทุนโดยรวมของโรงสีข้าวลงได้ 1,644,856.10 บาท/ปี แต่ต้องมีการลงทุนและมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง 780,000 บาท/ปี คิดเป็นอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อเงินลงทุน (Benefit Cost Ratio (B/C)) มีค่าเท่ากับ 2.11 ซึ่งแสดงว่า คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการลงทุน

 

มุ่งประยุกต์ใช้ Open Source ERP ใน SMEs

 

          เนื่องจากในปัจจุบันซอฟต์แวร์ ERP สำเร็จรูป (ERP Package) ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีข้อจำกัดในด้านเงินลงทุน ดังผลการวิจัยของ กาญจนา กาญจนสุนทร (2549) ได้ศึกษาเบื้องต้นเพื่อพัฒนาระบบ ERP ที่เหมาะสมสำหรับ SMEs ในจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ถึงความต้องการและปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการเบื้องต้นในการพัฒนาและจัดทำระบบ ERP สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม อันจะเป็นแนวทางในการออกแบบและพัฒนาระบบ ERP ที่เหมาะสมในแต่ละกิจการต่อไป ผู้เขียนได้ใช้เครื่องมือสำรวจคือแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 155 โรงงาน ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่มีความต้องการใช้งานระบบ ERP คือ ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการแนะนำให้ความรู้ และดูแลรักษาระบบ ERP ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำระบบ เนื่องจากซอฟต์แวร์ของระบบ ERP ที่มีการใช้งานอยู่ทั่วไป มีฟังก์ชันการทำงานมาก และซับซ้อนเกินความจำเป็น ทำให้ต้นทุนของการจัดทำระบบค่อนข้างสูงและใช้งานยาก ในส่วนของโมดูลหรือระบบหลักที่เกือบทุกองค์กรจากกลุ่มตัวอย่างต้องมีการนำมาใช้งานคือ ระบบการจัดการสินค้าคงคลัง ระบบการจัดซื้อ ระบบการวางแผนการผลิต และระบบงานขาย/งานวิเคราะห์งานขาย ระบบงานบัญชีการเงิน สำหรับโมดูลอื่น ๆ มีการเลือกใช้งานตามความจำเป็นหรือความต้องการของแต่ละองค์กร แต่ไม่มีความสำคัญเท่าโมดูลหลักดังที่กล่าวมา ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ ฐิฏิณัฏฐ์ หลักชัยกุล (2550) ได้ศึกษาการนำซอฟแวร์การวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจ (ERP) มาใช้ในองค์การ: กรณีศึกษาผู้บริหารในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพและปริมาณ (Qualitative and Quantitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ แนวทางการจัดหาและทัศนะของผู้บริหารต่อการนำซอฟต์แวร์การวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจ หรือ ERP มาใช้ในองค์กร พบว่าปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบ ERP ในองค์การโดยทั่วไปมีความคล้ายคลึงกันคือ การบูรณาการระบบโดยใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างแผนกหรือฝ่ายยังไม่เป็นหนึ่งเดียวกันนัก หากจะทำให้สมบูรณ์จริง ๆ แนวทางการแก้ไขคือ ต้องเขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่เพื่อข้อมูลจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันร้อยเปอร์เซ็นต์ การพิจารณาเรื่องเทคนิคการติดตั้งและรักษาระบบ เงินลงทุน การสนับสนุนจากผู้บริหารหรือเจ้าของเป็นสิ่งสำคัญมาก การที่จะนำระบบ ERP มาใช้ครบทุกโมดูลเป็นเรื่องของกาลรงทุนที่สูงมากและมุมมองของผู้บริหารมักพิจารณาความจำเป็นและความคุ้มค่าในการเลือกซอฟต์แวร์โมดูลที่จะใช้สนับสนุนการทำงานขององค์การได้มาก-น้อยเป็นหลัก ส่วนเจ้าหน้าที่พัฒนาและดูแลระบบจะพิจารณาความยืดหยุ่นในการปรับแก้ไขซอฟต์แวร์ (Customization) การให้คำปรึกษาของผู้ขายหรือผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการรักษาระบบและผลตอบแทนจากการลงทุน โดยสิ่งหนึ่งที่องค์กรควรพิจารณาคือเรื่องความปลอดภัยและการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของระบบด้วย และเนื่องจากได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เป็นรหัสเปิดมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะต้องมีการประยุกต์ใช้ ERP ที่เป็นแบบซอฟต์แวร์รหัสเปิด (Opens Source Software: OSS)

                               

          ซึ่งความแตกต่างระหว่างซอฟต์แวร์ ERP สำเร็จรูป (ERP Package) และซอฟต์แวร์ ERP รหัสเปิด (Open Source ERP) สามารถอธิบายดังแสดงในตารางที่ 2 และสามารถแสดงเหตุผลที่องค์กรวิสาหกิจเลือกประยุกต์ใช้ ซอฟต์แวร์รหัสเปิด (Open Source Software: OSS) และไม่เลือกประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์รหัสเปิด (Open Source Software: OSS) ดังตารางที่ 3

 

ตารางที่ 2 แสดงการเปรียบเทียบระหว่างซอฟต์แวร์ ERP Package และ Open Source ERP

 

 

ตารางที่ 3 แสดงเหตุผลที่องค์กร วิสาหกิจเลือกประยุกต์ใช้ OSS และไม่เลือกประยุกต์ใช้ OSS

 

 

ตัวอย่างและผลสำเร็จของการประยุกต์ใช้ Open Source ERP ใน SMEs

 

          จะกล่าวถึงตัวอย่างและผลสำเร็จของการประยุกต์ใช้ Open Source ERP ใน SMEs ที่สำคัญโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

               

          ธนสิทธิ นิตยะประภา และ อรสา เตตวัฒน (2011) ได้พัฒนาระบบจัดการการส่งออกปลาสวยงามโดยการประยุกต์ใช้โปรแกรม ERP Open Source โดยมีวัตถุประสงคเพื่อศึกษาวิธีการจัดการการสงออกปลาสวยงามของหางหุนสวนจํากัด New Place และการประยุกตใชระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการการสงออกปลาสวยงามดวยโปรแกรม ERP Open Source Ofbiz โดยแบงขั้นตอนออกเปน 3 ขั้นตอน ไดแก 1.ขั้นตอนการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับผูบริหาร ผูจัดการ และหัวหนาแผนก/ฝาย ของหางหุนสวนจํากัด New Place ผลวิจัยพบวา กระบวนการดําเนินงาน ประกอบดวย 4 ดาน คือ 1. ดานวิธีการสั่งซื้อปลาสวยงามจากลูกคา 2. ดานวิธีการสั่งซื้อปลาสวยงามของกิจการ 3. ดานการขนสงและการสงออกปลาสวยงาม และ 4. ดานการชําระเงินของลูกคา 2.ขั้นตอนการประยุกตใช ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการการสงออกปลาสวยงามดวยโปรแกรม ERP Open Source Ofbiz ประกอบดวย ฟงกชั่นกลุมผูใช้ ฟงกชั่น ฝายบุคคล ฟงกชั่นหมวดหมู ฟงกชั่นรายการสั่งซื้อสินคา ฟงกชั่นคลังสินคา ฟงกชั่นขนสง และฟงกชั่นบัญชี และ 3.ขั้นตอนการประเมินประสิทธิภาพกับผูบริหาร ผูจัดการ และหัวหนาแผนก/ฝายของหางหุนสวนจํากัด New Place ผลการประเมินพบวา การประเมินประสิทธิภาพของระบบดานความตองการของผูใชมีประสิทธิภาพอยูในระดับมาก การประเมินประสิทธิภาพของระบบดานความงายตอการใช มีประสิทธิภาพอยูในระดับปานกลาง การประเมินประสิทธิภาพของระบบ ดานประสิทธิภาพของการแสดงผล มีประสิทธิภาพอยูในระดับมาก การประเมินประสิทธิภาพของระบบดานความปลอดภัย มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับมาก การประเมินประสิทธิภาพดานการใชงานตอหนาที่การทํางานมีประสิทธิภาพอยูในระดับมาก และยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางานไดดี สามารถลดขั้นตอนในการดําเนินงานของระบบ ลดตนทุนในการดําเนินกิจการและสามารถใชงานผานเว็บเทคโนโลยีที่มีความสะดวก ความรวดเร็วในการใชงานของระบบ

 

มุ่งประยุกต์ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์

 

          • การจัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Purchasing)

 

          มีวัตถุจุดประสงค์เพื่อบริหารงานด้านเอกสารการจัดซื้อและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานในการจัดซื้อแต่ละครั้ง เป็นการออกแบบในลักษณะเว็บตลาดศูนย์กลางของผู้ขายเพื่อนำเสนอสินค้าพัสดุ โดยระบบเป็นตัวกลางในการควบคุมความถูกต้องของการจัดซื้อ แบ่งเป็น 2 ระบบย่อยได้แก่

 

          1. ระบบการเลือกสินค้าพัสดุเพื่อจัดซื้อ โดยให้ผู้ขายสามารถมาลงทะเบียนพร้อมสร้างรายการสินค้าในหมวดต่าง ๆ ทางเจ้าหน้าที่จัดซื้อสามารถมาเลือกสินค้าเพื่อทำการสอบราคาได้

 

          2. ระบบเอกสารการจัดซื้อ หลังจากระบบได้สร้างใบสอบราคาขึ้น ระบบจะสร้างสถานะกำกับเอกสารตั้งแต่ใบสอบราคา ใบเสนอราคา จนกระทั่งใบสั่งซื้อ เมื่อมีการส่งเอกสาร รับเอกสาร จะมีการปรับสถานะของเอกสารทุกครั้ง ซึ่งการส่งใบเสนอราคา และเปิดซองราคา จะไม่สามารถทำได้ จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนดเนื่องจาก จะมีการตรวจสอบวันเวลาทุกครั้งที่เรียกเอกสารขึ้นมา ทำให้มั่นใจได้ว่า ระบบไม่มีการสูญเสียการติดต่อ และไม่มีการทุจริตโดยผู้ใช้ระบบได้

                               

          ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญด้วยกัน 8 ขั้นตอนดังแสดงในรูปที่ 2

 

 

รูปที่ 2 แสดงขั้นตอนของการประยุกต์ใช้การจัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Purchasing)

 

          ขั้นตอนที่ 1 Contract Agreed with Purchasing เป็นขั้นตอนที่ผู้ซื้อทำสัญญาตกลงการจัดซื้อจากผู้จัดหา (Supplier) ขั้นตอนที่ 2 Supplier and Catalogue Added to e-P System เป็นขั้นตอนที่ผู้จัดหาและรายสินค้าวัตถุดิบถูกเพิ่มเข้าไปในระบบ e-P System ขั้นตอนที่ 3 Requisitioner Places Orders from Catalogue เป็นขั้นตอนการระบุการจัดซื้อผู้จัดหาที่ต้องสั่งซื้อจากแคตาลอก ขั้นตอนที่ 4 Requisition Approved Through Workflow เป็นขั้นตอนการอนุมัติใบขอเสนอซื้อผ่านขั้นตอนการทำงาน ขั้นตอนที่ 5 Converted into pdf purchase order and emailed to supplier เป็นขั้นตอนการแปลงเป็นใบสั่งซื้อเป็น pdf และส่งใบสั่งซื้อดังกล่าวไปยังผู้จัดหาทาง e-mail ขั้นตอนที่ 6 Goods/services Delivered by Supplier เป็นขั้นตอนที่สินค้า/บริการจะถูกจัดส่งไปยังผู้ซื้อโดยผู้จัดหา ขั้นตอนที่ 7 Receipts/approval made by requisitioner เป็นขั้นตอนการจัดทำใบเสร็จรับเงิน/การอนุมัติโดยผู้จัดหา ขั้นตอนที่ 8 Invoice matched against purchase order criteria and paid เป็นขั้นตอนการออกใบแจ้งหนี้ รายการการสั่งซื้อและให้ผู้ซื้อชำระเงิน

 

          • พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)

 

          พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) คือ การทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น การซื้อขายสินค้าและบริการ การโฆษณาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในทุกช่องทางที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรทัศน์ วิทยุ หรืออินเทอร์เน็ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร โดยการลดบทบาทองค์ประกอบทางธุรกิจลง เช่น ทำเลที่ตั้ง อาคารประกอบการ โกดังเก็บสินค้า ห้องแสดงสินค้า รวมถึงพนักงานขาย พนักงานแนะนำสินค้า พนักงานต้อนรับลูกค้า เป็นต้น

 

          ประเภทของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

  1. Business to Business หรือ B2B หมายถึง การทำการค้าระหว่าง Business (ผู้ทำการค้า) กับ Business (ผู้ทำการค้า) โดยอาจเป็นผู้ประกอบการในระดับเดียวกัน หรือต่างระดับกันก็ได้ เช่นผู้ผลิตกับผู้ผลิต ผู้ผลิตกับผู้ส่งออก ผู้ผลิตกับผู้นำเข้า หรือผู้ผลิตกับผู้ค้าส่งและค้าปลีก
  2. Business to Consumer หรือ B2C หมายถึง การทำการค้าระหว่าง Business (ผู้ทำการค้า) กับ Customer (ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ) เช่น การขายสินค้าอุปโภคบริโภค
  3. Consumer to Business หรือ C2B หมายถึง การทำการค้าระหว่างCustomer (ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ) กับ Business (ผู้ทำการค้า)เช่น ลูกค้าซื้อหนังสือกับร้านค้า
  4. Consumer to Consumer หรือ C2C หมายถึง การทำการค้าระหว่าง Customer (ผู้บริโภค) กับ Customer (ผู้บริโภค)
  5. Business to Government หรือ (B2G) หมายถึง ธุรกิจการบริหารการค้าของประเทศเพื่อเน้นการบริหารจัดการที่ดีของรัฐบาล

           องค์ประกอบของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

 

          องค์ประกอบที่สำคัญของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถแสดงดังในรูปที่ 3 ข้างล่างนี้

 

 

รูปที่ 3 แสดงองค์ประกอบของระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce)

 

          Merchant ร้านค้าที่ต้องการขายสินค้าและ/หรือบริการผ่านระบบ Internet โดยเปิด Home Page บน Web Site ของตนเอง หรือฝาก Home Page ไว้กับ Web Site หรือ Virtual Mall ต่าง ๆ เพื่อขายสินค้าและ/หรือบริการผ่านระบบของธนาคาร โดยร้านค้าจะต้องเปิดบัญชีและสมัครเป็นร้านค้าสมาชิก E-Commerce กับธนาคารก่อน

           

          Customer ลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้า และ/หรือบริการได้ด้วยบัตรเครดิต บัตรเครดิตวีซ่า หรือมาสเตอร์การ์ดจากทุกสถาบันการเงินทั่วโลก ระบบหักบัญชีเงินฝากของธนาคาร (Direct Debit)

           

          Bank ทำหน้าที่เป็น Payment Gateway คือตรวจสอบ และอนุมัติวงเงินของผู้ถือบัตร เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้า และ/หรือบริการทาง Internet ผ่านระบบของธนาคาร และธนาคารจะโอนเงินค่าสินค้า และหรือบริการนั้น ๆ เข้าบัญชีของร้านค้าสมาชิก 

           

          TPSP Transaction Processing Service Provider เป็นองค์กรผู้บริหารและพัฒนาโปรแกรม การประมวลผลการชำระค่าสินค้า และ/หรือบริการผ่าน Internet ให้กับร้านค้า หรือ ISP ต่าง ๆ ผ่าน Gateway โดย TPSP สามารถต่อเชื่อมระบบให้กับทุก ๆ ร้านค้า หรือทุก ๆ ISP และทำการเชื่อมต่อระบบชำระเงินผ่าน Gateway ของธนาคาร

           

          ISP Internet Service Provider เป็นองค์กรผู้ให้บริการเชื่อมต่อระบบการสื่อสารทาง Internet ให้กับลูกค้า ซึ่งอาจเป็นร้านค้าหรือผู้ใช้ Internet ทั่วไป โดย ISP รับและจดทะเบียน Domain หรือจะจัดตั้ง Virtual Mall เพื่อให้ร้านค้านำ Home Page มาฝากเพื่อขายสินค้า

           

          ประโยชน์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มี 3 ด้านด้วยกันคือ ผู้ซื้อ/ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ/ผู้ขาย และเศรษฐกิจและสังคม โดยมีรายละเอียดที่สำคัญคือ

 

          ผู้ซื้อ/ผู้บริโภค

  • มีแหล่งข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบราคา และบริการประกอบการตัดสินใจจัดซื้อสินค้า บริการอย่างเพียงพอ
  • ได้รับสินค้าอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว

 

          ผู้ประกอบการ/ผู้ขาย

  • ประหยัดเวลา และขั้นตอนทางการตลาดตลอดจนสามารถเปิดให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมงและให้บริการได้ทั่วโลก
  • สามารถทำกำไรได้มากกว่าระบบการขายแบบเดิม เนื่องจากต้นทุนการจัดจำหน่ายต่ำกว่าทำให้ได้กำไรจากการขายต่อหน่วยเพิ่มขึ้น
  • มีช่องทางการจัดจำหน่ายมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • สามารถนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าได้เป็นจำนวนมาก และสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ในลักษณะการตลาดแบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive Market)
  • สามารถปรับปรุง (Update) ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการได้ตลอดเวลา
  • สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ซื้อหรือลูกค้า เช่น ชื่อ ที่อยู่ พฤติกรรมการบริโภค สินค้าที่ต้องการ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการทำวิจัยและวางแผนการตลาดสำหรับใช้ในการผลิตสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น
  • ลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รวมทั้งค่าเช่าพื้นที่ขายหรือการลงทุนในการสร้างร้าน ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนของธุรกิจต่ำลง
  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรธุรกิจ ในเรื่องของความทันสมัยและเป็นโอกาสที่จะทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

 

          เศรษฐกิจและสังคม

  • ลดต้นทุนของกระบวนการโลจิสติกส์ในกระแสการแข่งขันยุคโลกาภิวัฒน์
  • จัดเก็บรายได้เพื่อไปพัฒนาสังคมได้มากขึ้น

 

บทสรุป

 

          เนื่องจากในปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีจำนวนมากในประเทศไทย และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและเนื่องจากในปัจจุบันได้มีแนวโน้มที่มีผลกระทบต่อการบริหารการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ การเติบโตภาคบริการ การเปลี่ยนแปลงผลผลิต การแข่งขันระดับโลก การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและสภาพแวดล้อม จรรยาบรรณ และความหลากหลายของแรงงาน ทำให้การบริหารโลจิสติกส์ (Logistics) โดยผ่านกระบวนการที่สำคัญ 5 ส่วนคือ การวางแผน (Plan) การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ (Source) การผลิต (Make) การจัดส่ง (Deliver) และการส่งคืน (Return) ขาดการบริหาร จัดการที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะต้องมุ่งบริหารจัดการกระบวนการโลจิสติกส์ของวิสาหกิจ SMEs ไทย โดยประยุกต์ใช้ 3 ขั้นตอนที่สำคัญ โดยเริ่มจากฐานรากที่มั่นคง แข็งแรง ซึ่งเกิดจากการมุ่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโลจิสติกส์ ประยุกต์ใช้ Open Source ERP ประยุกต์ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ คือ การจัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Purchasing) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) จะทำให้ SMEs ไทยสู่ Globalization

 

เอกสารอ้างอิง
1. https://www.blogger.com/profile/15310147878392969862

2. ทศพล ประเสริฐโส, วีรพัฒน์ เศรษฐ์สมบูรณ์ และ เศรษฐภูมิ เถาชารี. (2555). การลดความสูญเปล่าในโรงสีข้าวด้วยเทคโนโลยีโลจิสติกส์ กรณีศึกษาโรงสีข้าวสหกรณ์การเกษตรบรบือ จำกัด. การประชุมสัมมนาวิชาการด้านการจัดการโซ่คุณค่าและโลจิสติกส์ครั้งที่ 12. (หน้า 327-338). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. กาญจนา กาญจนสุนทร. (2549). การศึกษาเบื้องต้นเพื่อพัฒนาระบบ ERP ที่เหมะสมสำหรับ SMEs ในจังหวัดปราจีนบุรี. Industrial Technology Review, 12(158), 157-161
4. ฐิฏิณัฏฐ์ หลักชัยกุล. (2550). การศึกษาการนำซอฟต์แวร์การวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจมาใช้ในองค์การ: กรณีศึกษาผู้บริหารในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี. Industrial Technology Review, 13(168), 174-175.
5. ธนสิทธิ นิตยะประภา และอรสา เตตวัฒน. “การพัฒนาระบบจัดการการส่งออกปลาสวยงามโดยการประยุกต์ใช้โปรแกรม ERP Open Source”, Journal of Community Development Research. 4(1): 14–27, 2011

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด