Special Report

กสอ. ปูพรมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่ยุทธศาสตร์ชาติ 4.0

กองบรรณาธิการ

 

 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ขานรับยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่โมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” เร่งส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม อาทิ หุ่นยนต์ เพื่อการอุตสาหกรรม แขนกลประกอบเครื่องจักร เป็นต้น

 

     โดยในปี 2558 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าอุตสาหกรรมรวมกว่า 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 1.1 ล้านล้านบาท และคาดว่าปี 2559 จะมีแนวโน้มเติบโตสูงร้อยละ 6.5 ต่อปี ทั้งนี้ การส่งเสริมดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย อาทิ กลุ่มอาหารและการเกษตร กลุ่มเทคโนโลยีการแพทย์ กลุ่มหุ่นยนต์และอุปกรณ์บังคับต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กสอ. มีโครงการส่งเสริมและพัฒนาในอุตสาหกรรมดังกล่าว อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม โครงการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ รวมงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท

 

 

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันประเทศไทย เข้าสู่โมเดล ประเทศไทย 4.0 เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value-Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้ก้าวเข้าสู่ยุคที่ให้ความสำคัญ กับการผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์ 3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4.กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ดังกล่าว

 

          ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นส่วนที่สำคัญ รวมทั้งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนและทำหน้าที่ต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งจะยิ่งทวีความสำคัญในด้านบทบาทและมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไปในอนาคต

 

          นายพสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สู่ยุทธศาสตร์ประเทศดังกล่าว จะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่  

 

  • กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หมายถึง การนำชิ้นส่วนหรือกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไปต่อยอด ในอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับการผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทั้งอุตสาหกรรมขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าไมโครชิพเพื่อการควบคุมชุดคำสั่ง เป็นต้น

 

  • กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต หมายถึง การนำชิ้นส่วนหรือกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้เกิดระบบการควบคุมอัจฉริยะในขั้นตอนการผลิตของอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งจะช่วยทำหน้าที่ต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างหลากหลาย รวมทั้ง ก่อประโยชน์จากโอกาสในการเพิ่มความคุ้มค่าต่อการลงทุน รวมไปถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อาทิ หุ่นยนต์ในระบบการผลิตอัตโนมัติ แขนกลประกอบเครื่องจักร เป็นต้น

 

 

 

          ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อให้เป็น ซูเปอร์คลัสเตอร์ ทั้งการผลักดันนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต รวมทั้งขยายฐานการลงทุนของบริษัทที่อยู่ในไทย ให้เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2558 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออกกว่า 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 1.1 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนในการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 9.45 แสนล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2559 จะมีการเติบโตมากกว่าร้อยละ 6.5 ต่อปี โดยปี 2560 กสอ. มีแนวทางการดำเนินงานและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม โครงการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ การพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท และมีเป้าหมายพัฒนาสถานประกอบการให้ได้ประมาณ 200 กิจการ/2,000 คน 

 

 

นายสมควร ฉายศิลปรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมมิท อิเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ จำกัด

 

          ด้าน นายสมควร ฉายศิลปรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมมิท อิเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ จำกัด ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ซัมมิท อิเล็คโทรนิค เป็นธุรกิจที่ดำเนินการโดยคนไทย 100 % ผลิตแผงวงจรเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุปกรณ์เสริมในรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นเสมือนหัวใจหรือสมองของอุปกรณ์เครื่องใช้ดังกล่าวทั้งหมด โดยบริษัทดำเนินการมาแล้วกว่า 30 ปี มีกลุ่มลูกค้ามากกว่า 30 ราย ผลิตสินค้ามาแล้วกว่า 100 ล้านชิ้น สำหรับอุปกรณ์ดังกล่าวที่มีการใช้งานในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ล้วนมาจากการผลิตโดยบริษัทของคนไทยแทบทั้งสิ้น ทั้งนี้ยอดขายในปีที่ผ่านมาของซัมมิทฯ มีมูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท สัดส่วนในการดำเนินธุรกิจแบ่งเป็น การรับจ้างผลิตร้อยละ 25 การรับซื้อและผลิตชิ้นส่วนร้อยละ 65 และส่วนที่เหลือร้อยละ 10 เป็นการออกแบบการผลิตเองโดยบริษัท ซึ่งเป็นด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าร้อยละ 90 และรถยนต์ร้อยละ 10 โดยผลิตให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลกมากมาย อาทิ นิสสัน, ฮอนด้า, โซนี่, พานาโซนิค เป็นต้น

         

          นายสมควร กล่าวต่อว่า ในอนาคตที่กำลังจะเข้าสู่ยุค IOT (Internet of Thing) หรือ การเชื่อมโยง ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เนื่องจากเป็นตัวควบคุมอุปกรณ์แทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นชนิดมีสาย หรือชนิดไร้สาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันโลกได้ถูกเชื่อมโยงข้าหากันทั้งจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การพัฒนาของเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน จึงทำให้ทิศทางการพัฒนาไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ต้องเร่งพัฒนาและก้าวไปอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ทางบริษัทได้เตรียมพร้อมกับวิวัฒนาการดังกล่าวที่จะทำการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ IOT หรือแม้แต่การเข้าสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า ทางซัมมิทฯ ก็มีความพร้อมกับการร่วมก้าวเดินพัฒนาเรื่องของชิ้นส่วนและแผงวงจรซึ่งจะเป็นหัวใจและสมองที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงและสั่งการการทำงานในส่วนนั้น

 

 

          นอกจากนี้ทางบริษัทยังให้ความเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทางปริษัทและอีกหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับการเปลี่ยนแปลงจากการที่รับจ้างธรรมดา มาเป็น ODM และ OBM หรือ การผลิตที่มีการสร้างแบรนด์ของตัวเอง และการผลิตที่มีรูปแบบการพัฒนาดีไซน์รูปแบบสินค้าได้เอง ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้น ในทางอุตสาหกรรม โดยแผนขั้นต่อไปของบริษัทคือการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสู่การออกแบบแบรนด์สินค้า เพื่อคนไทย รวมทั้งยุทธวิธีที่จะทดแทนการนำเข้าสู่การผลิตด้วยฝีมือคนไทย ออกแบบและสร้างแบรนด์โดยคนไทย โดยบริษัทได้กำหนดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาใน 3 ทิศทาง คือ 1.การเพิ่มยอดขายให้เข้าสู่ธุรกิจหมื่นล้าน ด้วยนวัตกรรมการออกแบบและสร้างแบรนด์ของตนเอง 2.การลดข้อผิดพลาดด้วยการพัฒนาเครื่องจักรที่มีความแม่นยำในการผลิต และ 3. การควบคุมห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ซึ่งมีนวัตกรรมที่เรียกว่า Smart Plan ที่จะเป็นตัวช่วยในการยกระดับธุรกิจและยกความสามารถของศักยภาพมนุษย์ ให้สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ดังที่มีการตั้งเป้าไว้ ทั้งนี้ บริษัทยังได้มีการพัฒนาบุคลากรในองค์กรที่มีความรู้ความสามารถ ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ภายใต้โครงการ SEC INNOVATION AWARDS โดยเป็นการดัดแปลงและพัฒนาแนวคิด ให้เกิดนวัตกรรมที่ทันสมัย ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการช่วยองค์กรลดต้นทุน ทั้งในด้านเวลาและแรงงาน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ และความคุ้มค่าในการดำเนินธุรกิจ พร้อมเป็นแนวทางที่สำคัญในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามเป้าหมาย นายสมควร กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด