พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล
หากนึกถึงคำว่า “พลัง” เราคงนึกภาพของพวกที่มีกล้ามเนื้อโต ๆ ตัวใหญ่ ๆ หรือเครื่องจักรกลที่มีขนาดใหญ่พร้อมจะแสดงพลังของมัน ทว่าคนบางคนตัวเล็ก ๆ กลับมีความสามารถอย่างมากในการทำงานและรับผิดชอบงานสำคัญได้อย่างน่าทึ่ง
เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำการ “รีเฟรช” (Refresh) พนักงานหรือช่วงที่ต้องทำการเพิ่มศักยภาพพนักงาน เราคงต้องทำการตรวจสอบความสามารถเดิมของพนักงานก่อนว่า ณ ปัจจุบันพวกเขาพัฒนาขีดความสามารถอยู่ในระดับไหน มีใครบ้างที่ยังคงนิ่งทำงานดีแต่ไม่ปรับขยับตัวเองให้ทันกับความรู้และความก้าวหน้าของรูปแบบงานที่ลูกค้าต้องการตามกระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนไป พนักงานบางคนเข้าใจถึงการกระตุ้นตัวเองให้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถเพื่อที่จะสร้างผลงานออกมาให้ประจักษ์ต่อสายตาผู้บริหาร แต่บางคนเข้าใจเพียงว่าการทำงานตามหน้าที่นั่นคือดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาที่อาจต้องเจอกับคนที่ทำงานด้วย ไม่ต้องมีใครมาอิจฉากับงานที่ดีของเขา พนักงานทั้งสองกลุ่มปะปนกันอยู่ในองค์กรเมื่อไรเราคงไม่มองว่ามันเป็นการรักษาสมดุลกันแต่น่าจะปรับให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันจะดีกว่า
“เข้าใจตรงกัน” งานเดินหน้า
คำกล่าวสั้น ๆ ที่เรามักใช้กันเมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็คือ “เข้าใจตรงกันนะ” แต่เข้าใจตรงกันจริง ๆ หรือเปล่าก็ต้องติดตามการทำงานกันต่อไปจนกว่างานจะแล้วเสร็จ ทีนี้พนักงานที่ทำงานจะเข้าใจตรงกันกับผู้บริหารหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องสรุปให้เข้าใจกันก่อนด้วยการประชุม พูดคุยและดึงความสามารถของพนักงานแต่ละคนออกมาให้ได้เร็วที่สุด เพราะนั่นคือการประเมินผลงานเบื้องต้นว่างานที่มอบหมายควรจะออกมาในระดับที่น่าพอใจเพราะพนักงานที่รับมอบงานมีความเข้าใจในงานที่มอบให้และสอดคล้องกับนโยบายขององค์กร
พนักงานหลายคนพอได้รับมอบหมายงานแล้วมักจะนึกถึง “งานต้องการเมื่อไร ?” “จะเอางานแบบไหน?” “มีตรวจงานกี่รอบ?” เหล่านี้เป็นเรื่องที่พนักงานส่วนใหญ่คำนึงถึง นั่นหมายความว่าพนักงานที่รับมอบงานต้องการที่จะทราบว่าต้องทำให้เสร็จตอนไหน เอาแบบไหน แล้วตรวจทำให้ลูกค้าพึงพอใจกี่รอบ มันไม่ใช่เรื่องผิดแต่มีกี่คนที่รับมอบงานแล้วจะพยายามทำสุดความสามารถ พยายามสร้างสรรค์งานออกมาให้ดีที่สุดด้วยวิธีการที่มีกระบวนการนำเสนอชัดเจน พยายามตรวจสอบคุณภาพงานตลอดเวลาและมีการประสานงานกันเพื่อให้งานออกมาตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
การทำงานที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุดและทำงานโดยมีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความผิดพลาด ช่วยให้งานมีการแก้ไขน้อยลงและการดึงความตั้งใจของพนักงานมาร่วมกันทำงานจะเป็นการสร้างสมาธิในการทำงานอันเป็นส่วนสำคัญที่สร้างประสิทธิผลของงาน ทีมงานไหนที่พนักงานแต่ละคนทำงานแบบให้เสร็จไปวัน ๆ ไม่วิเคราะห์งานที่ทำว่าต้องทำอย่างไรให้เสร็จทันและมีคุณภาพดีที่สุดก็ย่อมจะกลายเป็นทีมงานที่ขาดคุณภาพไปเรื่อย ๆ เพราะเหมือนทำงานอยู่กับที่ ต่างกับทีมงานที่มีความมุ่งมั่นมีสมาธิกับงานที่ทำ เข้าใจตรงกันแล้วก็ทำออกมาอย่างที่เข้าใจ ตรวจสอบ รักษาคุณภาพการผลิต สมาธิเข้ามามีส่วนสำคัญในการสร้างพลังขับเคลื่อนได้อย่างน่าทึ่งได้ถ้าเราสร้างหรือฝึกพนักงานให้เข้าใจถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวอยู่แล้วเพียงแต่ยังไม่ได้นำออกมาใช้อย่างเต็มศักยภาพเท่านั้นเอง
ตีโจทย์แตก
หากถามถึงความพึงพอใจของลูกค้าองค์กรว่าคืออะไร ก็คงจะตอบได้ง่าย ๆ ว่ามันคือผลงานที่ออกมาตรงกับความต้องการมากที่สุด แต่ทว่าลูกค้าบางรายต้องการคำว่าเหนือความคาดหมายหรือดีกว่าที่อยากได้แต่ก็ไม่ได้ระบุมาให้ทราบว่าเขาต้องการอะไรอีก แต่มีความคาดหวังไว้เท่านั้น เรื่องนี้เป็นผลมาจากความคิดเองของลูกค้าส่วนหนึ่ง มาจากผลงานหรือชื่อเสียงที่มีมาก่อนหน้านี้ส่วนหนึ่ง ดังนั้นการทำงานภายใต้ความกดดันอย่างไม่ตั้งใจจึงเกิดขึ้น การทำงานอย่างเต็มที่โดยมีเกณฑ์มาตรฐานวางไว้จึงไม่ยากที่จะสร้างคุณภาพที่สูงกว่ามาตรฐาน การนำสมาธิในการทำงานมาเพิ่มศักยภาพทีมงานจึงเป็นเรื่องที่น่ากระทำ โดยการทำงานในเบื้องต้นต้องทำอย่างรอบคอบ เข้าใจชัดเจนก่อน นั่นก็คือทราบถึงความต้องการที่แน่ชัดของลูกค้า ต้องทำอย่างไรเขาจึงจะพอใจกับผลงาน และสร้างความพึงพอใจที่สูงขึ้นอย่างไร การทราบเงื่อนไขหรือรายละเอียดของงานจึงช่วยลดความกังวลในการทำงานและมีสมาธิที่ดีมุ่งทำงานให้ได้ตามเป้าหมายหรือตามความต้องการ
การตีโจทย์หรือตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าต้องการจึงนับเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยให้คุณภาพงานออกมาดีและดีเกินคาดได้ไม่ยาก ดังนั้นหากต้องการเห็นผลงานที่น่าพึงพอใจก็ต้องมองเห็นภาพของงานที่สร้างขึ้นจากความต้องการต่าง ๆ ของลูกค้าก่อน สมาธิของพนักงานจึงต้องสร้างให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ผลงานที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จะเสริมสร้างความมั่นใจในการทำงานและส่งผลดีต่อสุขภาพจิตซึ่งก็เป็นผลส่งเสริมต่อเนื่องให้สมาธิในตัวของพนักงานทุกคนดีขึ้นเรื่อย ๆ
การนำวิธีดึงเอาสมาธิการทำงานมาเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ใช้ดึงความสามารถของคนเราออกมาใช้อย่างเต็มที่ ดังนั้นหากองค์กรใดมีพนักงานที่ต่างทำงานกันตามหน้าที่ทำให้เสร็จ ๆ ไป ก็ย่อมที่จะได้คุณภาพงานในระดับผ่านมาตรฐานหรือได้ตามที่ลูกค้าต้องการเท่านั้น ซึ่งหากเจอกับคู่แข่งขันที่สร้างงานได้พึงพอใจและดีเกินความคาดหมาย นั่นย่อมหมายถึงโอกาสที่จะเสียลูกค้าหรือกลายเป็นองค์กรที่ขาดคุณภาพเมื่อเทียบกับองค์กรในสายงานหรือการผลิตเดียวกัน... คงต้องมีสมาธิกันมากขึ้นแล้วนะครับ