Management

“สมาธิสร้างพลัง” แรงขับที่ซ่อนเร้นสร้างงานคุณภาพสูง

พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล

 

 

หากนึกถึงคำว่า “พลัง” เราคงนึกภาพของพวกที่มีกล้ามเนื้อโต ๆ ตัวใหญ่ ๆ หรือเครื่องจักรกลที่มีขนาดใหญ่พร้อมจะแสดงพลังของมัน ทว่าคนบางคนตัวเล็ก ๆ กลับมีความสามารถอย่างมากในการทำงานและรับผิดชอบงานสำคัญได้อย่างน่าทึ่ง

 

     เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำการ “รีเฟรช” (Refresh) พนักงานหรือช่วงที่ต้องทำการเพิ่มศักยภาพพนักงาน เราคงต้องทำการตรวจสอบความสามารถเดิมของพนักงานก่อนว่า ณ ปัจจุบันพวกเขาพัฒนาขีดความสามารถอยู่ในระดับไหน มีใครบ้างที่ยังคงนิ่งทำงานดีแต่ไม่ปรับขยับตัวเองให้ทันกับความรู้และความก้าวหน้าของรูปแบบงานที่ลูกค้าต้องการตามกระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนไป พนักงานบางคนเข้าใจถึงการกระตุ้นตัวเองให้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถเพื่อที่จะสร้างผลงานออกมาให้ประจักษ์ต่อสายตาผู้บริหาร แต่บางคนเข้าใจเพียงว่าการทำงานตามหน้าที่นั่นคือดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาที่อาจต้องเจอกับคนที่ทำงานด้วย ไม่ต้องมีใครมาอิจฉากับงานที่ดีของเขา พนักงานทั้งสองกลุ่มปะปนกันอยู่ในองค์กรเมื่อไรเราคงไม่มองว่ามันเป็นการรักษาสมดุลกันแต่น่าจะปรับให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันจะดีกว่า

 

“เข้าใจตรงกัน” งานเดินหน้า

 

          คำกล่าวสั้น ๆ ที่เรามักใช้กันเมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็คือ “เข้าใจตรงกันนะ” แต่เข้าใจตรงกันจริง ๆ หรือเปล่าก็ต้องติดตามการทำงานกันต่อไปจนกว่างานจะแล้วเสร็จ ทีนี้พนักงานที่ทำงานจะเข้าใจตรงกันกับผู้บริหารหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องสรุปให้เข้าใจกันก่อนด้วยการประชุม พูดคุยและดึงความสามารถของพนักงานแต่ละคนออกมาให้ได้เร็วที่สุด เพราะนั่นคือการประเมินผลงานเบื้องต้นว่างานที่มอบหมายควรจะออกมาในระดับที่น่าพอใจเพราะพนักงานที่รับมอบงานมีความเข้าใจในงานที่มอบให้และสอดคล้องกับนโยบายขององค์กร

               

          พนักงานหลายคนพอได้รับมอบหมายงานแล้วมักจะนึกถึง “งานต้องการเมื่อไร ?” “จะเอางานแบบไหน?” “มีตรวจงานกี่รอบ?” เหล่านี้เป็นเรื่องที่พนักงานส่วนใหญ่คำนึงถึง นั่นหมายความว่าพนักงานที่รับมอบงานต้องการที่จะทราบว่าต้องทำให้เสร็จตอนไหน เอาแบบไหน แล้วตรวจทำให้ลูกค้าพึงพอใจกี่รอบ มันไม่ใช่เรื่องผิดแต่มีกี่คนที่รับมอบงานแล้วจะพยายามทำสุดความสามารถ พยายามสร้างสรรค์งานออกมาให้ดีที่สุดด้วยวิธีการที่มีกระบวนการนำเสนอชัดเจน พยายามตรวจสอบคุณภาพงานตลอดเวลาและมีการประสานงานกันเพื่อให้งานออกมาตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

               

          การทำงานที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุดและทำงานโดยมีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความผิดพลาด ช่วยให้งานมีการแก้ไขน้อยลงและการดึงความตั้งใจของพนักงานมาร่วมกันทำงานจะเป็นการสร้างสมาธิในการทำงานอันเป็นส่วนสำคัญที่สร้างประสิทธิผลของงาน ทีมงานไหนที่พนักงานแต่ละคนทำงานแบบให้เสร็จไปวัน ๆ ไม่วิเคราะห์งานที่ทำว่าต้องทำอย่างไรให้เสร็จทันและมีคุณภาพดีที่สุดก็ย่อมจะกลายเป็นทีมงานที่ขาดคุณภาพไปเรื่อย ๆ เพราะเหมือนทำงานอยู่กับที่ ต่างกับทีมงานที่มีความมุ่งมั่นมีสมาธิกับงานที่ทำ เข้าใจตรงกันแล้วก็ทำออกมาอย่างที่เข้าใจ ตรวจสอบ รักษาคุณภาพการผลิต สมาธิเข้ามามีส่วนสำคัญในการสร้างพลังขับเคลื่อนได้อย่างน่าทึ่งได้ถ้าเราสร้างหรือฝึกพนักงานให้เข้าใจถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวอยู่แล้วเพียงแต่ยังไม่ได้นำออกมาใช้อย่างเต็มศักยภาพเท่านั้นเอง

 

ตีโจทย์แตก

 

          หากถามถึงความพึงพอใจของลูกค้าองค์กรว่าคืออะไร ก็คงจะตอบได้ง่าย ๆ ว่ามันคือผลงานที่ออกมาตรงกับความต้องการมากที่สุด แต่ทว่าลูกค้าบางรายต้องการคำว่าเหนือความคาดหมายหรือดีกว่าที่อยากได้แต่ก็ไม่ได้ระบุมาให้ทราบว่าเขาต้องการอะไรอีก แต่มีความคาดหวังไว้เท่านั้น เรื่องนี้เป็นผลมาจากความคิดเองของลูกค้าส่วนหนึ่ง มาจากผลงานหรือชื่อเสียงที่มีมาก่อนหน้านี้ส่วนหนึ่ง ดังนั้นการทำงานภายใต้ความกดดันอย่างไม่ตั้งใจจึงเกิดขึ้น การทำงานอย่างเต็มที่โดยมีเกณฑ์มาตรฐานวางไว้จึงไม่ยากที่จะสร้างคุณภาพที่สูงกว่ามาตรฐาน การนำสมาธิในการทำงานมาเพิ่มศักยภาพทีมงานจึงเป็นเรื่องที่น่ากระทำ โดยการทำงานในเบื้องต้นต้องทำอย่างรอบคอบ เข้าใจชัดเจนก่อน นั่นก็คือทราบถึงความต้องการที่แน่ชัดของลูกค้า ต้องทำอย่างไรเขาจึงจะพอใจกับผลงาน และสร้างความพึงพอใจที่สูงขึ้นอย่างไร การทราบเงื่อนไขหรือรายละเอียดของงานจึงช่วยลดความกังวลในการทำงานและมีสมาธิที่ดีมุ่งทำงานให้ได้ตามเป้าหมายหรือตามความต้องการ

 

          การตีโจทย์หรือตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าต้องการจึงนับเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยให้คุณภาพงานออกมาดีและดีเกินคาดได้ไม่ยาก ดังนั้นหากต้องการเห็นผลงานที่น่าพึงพอใจก็ต้องมองเห็นภาพของงานที่สร้างขึ้นจากความต้องการต่าง ๆ ของลูกค้าก่อน สมาธิของพนักงานจึงต้องสร้างให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ผลงานที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จะเสริมสร้างความมั่นใจในการทำงานและส่งผลดีต่อสุขภาพจิตซึ่งก็เป็นผลส่งเสริมต่อเนื่องให้สมาธิในตัวของพนักงานทุกคนดีขึ้นเรื่อย ๆ

 

การนำวิธีดึงเอาสมาธิการทำงานมาเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ใช้ดึงความสามารถของคนเราออกมาใช้อย่างเต็มที่ ดังนั้นหากองค์กรใดมีพนักงานที่ต่างทำงานกันตามหน้าที่ทำให้เสร็จ ๆ ไป ก็ย่อมที่จะได้คุณภาพงานในระดับผ่านมาตรฐานหรือได้ตามที่ลูกค้าต้องการเท่านั้น ซึ่งหากเจอกับคู่แข่งขันที่สร้างงานได้พึงพอใจและดีเกินความคาดหมาย นั่นย่อมหมายถึงโอกาสที่จะเสียลูกค้าหรือกลายเป็นองค์กรที่ขาดคุณภาพเมื่อเทียบกับองค์กรในสายงานหรือการผลิตเดียวกัน... คงต้องมีสมาธิกันมากขึ้นแล้วนะครับ

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด